คุณธรรมสำคัญที่ปรากฏในเรื่องสามก๊กคือด้านใด

น้อยคนที่จะบอกว่าไม่รู้จัก ‘สามก๊ก’ เพราะวรรณคดีเรื่องนี้เรียกว่าเป็นวรรณกรรมจีนสุดคลาสสิกที่หลายคนแนะนำให้ลองอ่านดูสักครั้งในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่ วัยกลางคนไปจนถึงวัยเก๋าอย่างคุณปู่คุณย่าของเราเลยทีเดียว

นิตยสารศิลปะวัฒนธรรมได้เขียนถึงเหตุผลที่สามก๊กสามารถครองใจผู้คนมานานแสนนานว่า ยุคสามก๊ก มีระยะเวลาไม่ถึง 100 ปี แต่นับว่าเป็น ‘ยุคทอง’ ของการเกิดบุคคลที่ประสบความสำเร็จในประวัติศาสตร์จีน ทั้งด้านการเมือง สติปัญญา ความกล้าหาญ และคุณธรรม โดยที่ไม่มีใครเด่นกว่าใคร แต่เป็นการแย่งชิงและคานอำนาจกันระหว่าง 3 แคว้น (ก๊ก) ยุคนี้จึงกลายเป็นยุคที่มีสีสันและมีเรื่องราวชวนติดตามมากมายซึ่งวันนี้เราได้นำความสนุกและแง่คิดดี ๆ จากสามก๊กมาฝากเพื่อน ๆ กัน จะมีเรื่องราวอะไรบ้างนั้น ไปดูพร้อมกันเลยดีกว่า !

สำหรับใครที่อยากเรียนเรื่องสามก๊กแบบเต็ม ๆ เน้น ๆ ไปตำกันได้ที่แอปพลิเคชัน StartDee เลย

คุณธรรมสำคัญที่ปรากฏในเรื่องสามก๊กคือด้านใด

ผู้แต่งสามก๊ก

ก่อนจะไปอ่านเนื้อเรื่อง เรามาดูเบื้องหลังเรื่องสามก๊กกันก่อนดีกว่า ซึ่งผู้เรียบเรียงต้นฉบับเรื่องสามก๊กนี้ มีชื่อว่า ล่อกวนตง หรือ หลอกว้านจง นักประพันธ์ชาวจีนผู้มีฝีมือทั้งการแต่งนิทาน และบทละครร้อง (งิ้ว) โดยล่อกวนตงได้นำเนื้อหาของตันซิ่ว (ผู้เขียนจดหมายเหตุสามก๊ก) มาแต่งใหม่ เรียกว่า สามก๊กจี่ทงซกเอี้ยนหงี ต่อมาเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ได้นำสามก๊กมาแปลเป็นฉบับภาษาไทย และได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรให้เป็นยอดของวรรณคดีประเภทนิทาน 

เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ผู้แปลสามก๊กนี้ นับเป็นกวีคนสำคัญในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เพราะมีผลงานทั้งร้อยแก้ว และร้อยกรองที่เพื่อน ๆ หลายคนอาจจะเคยได้ยินมาบ้าง เช่น ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์กุมาร และกัณฑ์มัทรี ราชาธิราช อิเหนาคำฉันท์ กากีคำกลอน ฯลฯ

 

ที่มาของยุคสามก๊ก และวรรณคดีสามก๊ก

วรรณคดีสามก๊กที่เราอ่านหรือเรียนกันในชั้นม.6 นี้ เป็นเรื่องแต่งที่อิงจากพงศาวดารจีนในยุคสามก๊ก (ค.ศ.220-ค.ศ.280) เริ่มต้นขึ้นในช่วงปลายสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ขณะที่พระเจ้าเลนเต้เริ่มเสื่อมอำนาจจึงเกิดกบฏโจรโพกผ้าเหลืองขึ้น ซึ่งโจรเหล่านี้ได้ทำลายทั้งสถานที่ราชการและผู้คนแทบทุกพื้นที่ของประเทศ จนราชสำนักไม่อาจต้านทานได้ไหว จึงมอบอำนาจทางการปกครองและการทหารให้กับเจ้าเมืองต่าง ๆ เกิดเป็นช่องว่างให้แต่ละเมืองเริ่มสะสมกองกำลังของตนเอง และเริ่มสู้รบกันเองเพื่อขยายอำนาจ

หลังจากการสู้รบและความแตกแยกที่เกิดขึ้นเป็นเวลานาน จักรวรรดิจีนได้แบ่งแยกออกเป็น 3 แคว้น (ก๊ก) ได้แก่ วุยก๊ก (WEI) จ๊กก๊ก (SHU) และง่อก๊ก (WU) ซึ่งเป็นที่มาของการสิ้นสุดราชวงศ์ฮั่น และเป็นจุดเริ่มต้นของยุคสามก๊ก 

 

แนะนำตัวละครสามก๊ก ตอนกวนอูไปรับราชการกับโจโฉ

พอจะรู้ที่มาที่ไปของสามก๊กคร่าว ๆ แล้ว ถึงเวลาทำความรู้จักกับตัวละครหลักในเรื่องสามก๊ก ตอน กวนอูไปรับราชการกับโจโฉกันแล้ว ซึ่งในตอนนี้มีตัวละครหลัก ๆ 4 ตัว ด้วยกัน ได้แก่

  1. โจโฉ (วุยก๊ก) : เป็นผู้ต่อกรกับเหล่าโจรโพกผ้าเหลือง และเคยพยายามลอบฆ่าตั๋งโต๊ะ แต่ไม่สำเร็จ จึงแยกตัวออกมาเพื่อสะสมกำลังพล จนกลายเป็นอุปราชแห่งวุยก๊ก โจโฉโดดเด่นเรื่องความเป็นผู้นำ เฉลียวฉลาด และเป็นที่ยำเกรงของลูกน้อง เขาเชี่ยวชาญด้านการรบ รู้จักใช้คน และรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ทำให้สามารถครอบครองพื้นที่ของแผ่นดินจีนไว้ได้มากที่สุด
  2. เล่าปี่ (จ๊กก๊ก) : มีพี่น้องร่วมสาบานคือ กวนอู และเตียวหุย เล่าปี่เป็นคนแก้ปัญหาได้รวดเร็ว รักพี่น้อง และเป็นที่รักของผู้คนรอบข้าง ก่อนหน้านี้เล่าปี่เคยเป็นเจ้าเมืองชีจิ๋ว ก่อนจะสามารถครอบครองดินแดนที่ชื่อว่า จ๊กก๊ก ได้ในที่สุด 
  3. กวนอู (จ๊กก๊ก) :  ครองเมืองแห้ฝือ เป็นผู้ดูแลภรรยาของเล่าปี่ (พี่สะใภ้) มีความโดดเด่นด้านความซื่อสัตย์ และกตัญญู ซึ่งต่อมาผู้คนได้ยกย่องและบูชากวนอูในฐานะเทพเจ้าผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งความภักดี ความซื่อสัตย์ และความกตัญญู
  4. เตียวเลี้ยว (วุยก๊ก) : ทหารคนสำคัญของโจโฉ มีวาทศิลป์ รู้จักการเจรจา เป็นผู้ที่เสนอความคิดเห็นได้อย่างมีเหตุผล รวมทั้งเป็นผู้เกลี้ยกล่อมให้กวนอูมาอยู่กับโจโฉ และยังทำให้กวนอูเคารพนับถือในความสามารถและความซื่อสัตย์แม้จะไม่ได้อยู่ฝ่ายเดียวกันก็ตาม

คุณธรรมสำคัญที่ปรากฏในเรื่องสามก๊กคือด้านใด
ภาพเทพเจ้ากวนอู เทพเจ้าแห่งความกตัญญูและซื่อสัตย์ (ขอบคุณภาพจาก samuiholiday.com)

 

สรุปสามก๊ก ตอนกวนอูไปรับราชการกับโจโฉ

สามก๊ก ตอนกวนอูไปรับราชการกับโจโฉในบทความนี้ นับเป็นตอนที่ 22 ตามฉบับแปลของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ซึ่งสรุปเนื้อหาได้ดังนี้

โจโฉต้องการยกทัพไปปราบเล่าปี่ที่เมืองชีจิ๋ว เมื่อเล่าปี่รู้ จึงเขียนจดหมายขอความช่วยเหลือไปยังอ้วนเสี้ยวเพื่อนรัก แต่อ้วนเสี้ยวปฏิเสธการออกรบ โดยอ้างว่ายังไม่พร้อม แต่ยินดีช่วยเหลือในทางอื่น ๆ เล่าปี่กังวลใจมากเพราะหากออกรบตอนนี้ กำลังพลของตนเองต้องไม่เพียงพออย่างแน่นอน เล่าปี่จึงปรึกษาเตียวหุย ทหารผู้สาบานตนเป็นพี่น้องกับเล่าปี่และกวนอู เตียวหุยเลยอาสาออกไปปล้นค่ายของฝั่งโจโฉ เพื่อให้ฝ่ายนั้นมีเสบียงไม่เพียงพอและยุติการออกรบ 

ระหว่างที่โจโฉเดินทัพมา ได้เกิดเหตุการณ์ลมพายุพัดธงชัยบนเกวียนหัก โจโฉใจคอไม่ดี เลยไปปรึกษาโหรคู่ใจซึ่งทำนายไว้ว่า “ธงหักแบบนี้ต้องระวังการถูกปล้นค่ายนะ !” โจโฉได้ยินดังนั้นจึงไม่นิ่งนอนใจ รีบวางแผนรับมือไว้ก่อน โดยแบ่งทหารออกเป็น 11 กอง 8 กองแรกให้ไปล้อมรอบค่าย 8 ทิศ ส่วนอีก 1 กองให้อยู่ในค่ายตามเดิม และอีก 2 กองให้ไปดักเมืองของข้าศึกที่เมืองแห้ฝือกับเมืองชีจิ๋ว เมื่อแบ่งทหารทั้ง 11 กองเรียบร้อยแล้ว เตียวหุยก็เดินทางมาถึงค่ายของโจโฉ แต่แทนที่จะได้บุกปล้นค่ายตามที่มุ่งหมายไว้ตั้งแต่แรก เขาก็ดันถูกทหารที่แอบซุ้มอยู่ล้อมไว้ทั้ง 8 ทิศ  เมื่อเตียวหุยเริ่มรู้ว่าตัวเองหลงกลอุบายของฝั่งโจโฉ เตียวหุยเลยสู้สุดใจตีฝ่าวงล้อมหนีขึ้นเขาไป ส่วนเล่าปี่ที่ขี่ม้าตามมานั้น ก็ต้องตีฝ่าวงล้อมออกไปจากกองทัพของโจโฉเช่นกัน แต่เขาได้หนีไปอยู่กับอ้วนเสี้ยวเพื่อนรักแทน 

เมื่อโจโฉยึดเมืองเสี่ยวพ่าย กับเมืองชีจิ๋วได้แล้ว ก็คิดจะยึดเมืองแห้ฝือต่อ แต่เสนาธิการทหารได้เตือนโจโฉว่า ที่เมืองแห้ฝือมีกวนอูปกครองอยู่ และคอยดูแลภรรยาของเล่าปี่ทั้งสองคน (นางกำฮูหยิน และนางบิฮูหยิน) ซึ่งมีศักดิ์เป็นพี่สะใภ้ของกวนอู อีกทั้งกวนอูยังเป็นที่ยำเกรงของผู้คนมากมาย เพราะเก่งกาจทั้งเรื่องการสงคราม และมีไหวพริบเป็นเลิศ เสนาธิการบางคนจึงเสนอว่าให้ไปเกลี้ยกล่อมกวนอูมาเป็นพวกแทนจะดีกว่า แต่บางคนกลับไม่เห็นด้วยเพราะคิดว่ากวนอูต้องไม่ยอมอย่างแน่นอน  ระหว่างการถกเถียงของเหล่าเสนาธิการ เตียวเลี้ยว ทหารคู่ใจของโจโฉได้ขออาสาไปเจรจากับกวนอูด้วยตนเองเพราะเตียวเลี้ยวเคยรู้จักกับกวนอูมาก่อน น่าจะช่วยเจรจาได้ไม่ยากนัก แต่ปัญหาคือ จะทำยังไงให้กวนอูออกมาจากเมือง เทียหยกจึงเสนอว่าให้จ้างทหารของเล่าปี่ที่จับได้ไปเป็นไส้ศึกในเมืองของกวนอู พร้อมกับส่งทหารอีกกองหนึ่งไปยืนอยู่ที่หน้าเมือง

เมื่อโจโฉได้ยินดังนั้น ก็พยักหน้าเห็นด้วย รีบส่งทหารที่จับมาส่วนหนึ่งไปเป็นไส้ศึก ส่วนทหารอีกกองหนึ่งให้ไปยืนหน้าประตูเมืองคอยด่าทอกวนอู จนกวนอูทนไม่ไหว พาทหารออกมารบหน้าเมือง เมื่อกวนอูออกมา ปรากฏว่าโดนทหารจากฝ่ายของโจโฉล้อมไว้เรียบร้อย กวนอูตกใจ จะหนีกลับเข้าไปในเมืองก็ไม่ได้ เลยต้องหนีขึ้นเขาไป ทำให้โจโฉยึดเมืองแห้ฝือได้สำเร็จ ส่วนเตียวเลี้ยวเองก็มีโอกาสได้ไปเจรจากับกวนอูที่อยู่บนเขา ซึ่งการเจรจาครั้งนี้ กวนอูเสนอเงื่อนไข 3 ข้อ ได้แก่

  1. ขอเป็นข้าขึ้นต่อพระเจ้าเหี้ยนเต้เท่านั้น 
  2. ขอปฏิบัติดูแลพี่สะใภ้ และขอเบี้ยหวัดของเล่าปี่มอบให้แก่พี่สะใภ้ทั้งสอง 
  3. ถ้ารู้ว่าเล่าปี่อยู่ที่ใด จะไปหาในทันที

ตอนแรกโจโฉไม่ยอมรับเงื่อนไขสามข้อ แต่เตียวเลี้ยวได้เกลี้ยกล่อมโจโฉด้วยนิทานโบราณที่ชื่อว่า ‘นิทานอิเยียง’ ซึ่งมีเรื่องราวดังนี้

คุณธรรมสำคัญที่ปรากฏในเรื่องสามก๊กคือด้านใด

ภาพนิทานอิเยียงตอนฟันเสื้อของเซียงจู (ขอบคุณภาพจาก https://www.epochtimes.com/b5/17/8/18/n9544309.htm)

อิเยียง เป็นมือสังหารมากความสามารถ รับราชการอยู่กับคิเป๊กผู้สนับสนุนและดูแลอิเยียงอย่างดีมาตลอด ทำให้อิเยียงภักดีต่อคิเป๊กเสมอมา จนกระทั่งคิเป๊กถูกเซียงจูฆ่าตาย อิเยียงผู้ภักดีจึงแก้แค้นด้วยการพยายามลอบสังหารเซียงจู ซึ่งการลอบสังหารครั้งแรกไม่สำเร็จ แต่เซียงจูก็ยอมปล่อยอิเยียงไปเพราะรู้สึกนับถือในความกตัญญูของอิเยียงต่อมาเพื่อนของอิเยียงแนะนำให้เขาแฝงตัวเข้าไปรับใช้เซียงจู เพื่อลอบสังหารอีกครั้ง แต่เขากลับปฏิเสธ เพราะคิดว่าการรับใช้เซียงจูนับเป็นการทรยศหักหลังคิเป๊กเช่นกัน ต่อมาอิเยียงได้พยายามสังหารเซียงจูแบบซึ่งหน้าอีกครั้ง แต่ก็ถูกจับได้ และยอมให้เซียงจูสังหารตน โดยให้เหตุผลว่าเซียงจูก็มีบุญคุณที่ยอมปล่อยเขาไปครั้งก่อนเช่นกัน แต่ก่อนตาย อิเยียงขอเสื้อของเซียงจูมาฟันให้ขาด เพื่อแสดงถึงความซื่อสัตย์และการแก้แค้นให้คิเป๊ก เมื่อเขาฟันเสื้อของเซียงจูเรียบร้อยก็ชักกระบี่มาเชือดคอตนเองตาย ทำให้เซียงจูและเหล่าทหารที่เห็นเหตุการณ์รู้สึกเศร้าสลดใจ แต่ก็นับถือความซื่อสัตย์กตัญญูของอิเยียงในเวลาเดียวกัน

 

เตียวเลี้ยวเล่านิทานเรื่องนี้โดยหวังว่าหากโจโฉชุบเลี้ยงกวนอูอย่างดีแล้วโจโฉจะได้เป็นดังคิเป๊กผู้มีพระคุณ ส่วนกวนอูจะได้ป็นดั่งอิเยียงผู้ซื่อสัตย์กตัญญู เมื่อโจโฉได้ฟังดังนั้น ก็ยอมรับเงื่อนไขทั้งสามข้อ ส่วนกวนอูก็ยอมมาอยู่กับโจโฉตามข้อตกลง

คุณธรรมสำคัญที่ปรากฏในเรื่องสามก๊กคือด้านใด

ภาพการเจรจาให้กวนอูมาเป็นพวกโจโฉ (ขอบคุณภาพจาก blogspot)

ระหว่างนั้นโจโฉพยายามซื้อใจกวนอูด้วยวิธีต่าง ๆ  แต่กวนอูก็ยังคงหนักแน่นและภักดีต่อเล่าปี่ เพราะได้สาบานตนกันไว้แล้ว อย่างเหตุการณ์ที่โจโฉชวนกวนอูมากินโต๊ะ (การกินเลี้ยงบนโต๊ะ ด้วยอาหารอย่างดี) โจโฉสังเกตเห็นว่าเสื้อผ้าของกวนอูทั้งเก่าและขาดจึงมอบเสื้อใหม่ให้กวนอู แต่กวนอูกลับใส่เสื้อตัวใหม่ไว้ข้างใน ตัวเก่าไว้ข้างนอก โดยให้เหตุผลว่า อยากจะใส่เสื้อเก่าที่เล่าปี่ให้ไว้ข้างนอกเพื่อดูต่างหน้า และไม่อยากให้ผู้คนครหาว่าได้หน้าแล้วลืมหลัง หรือตอนที่โจโฉให้ม้าเซ็กเธาว์แก่กวนอู กวนอูก็ดีใจมากเพราะเมื่อรู้ว่าเล่าปี่อยู่ที่ไหนจะได้ใช้ม้าพละกำลังมากตัวนี้ขี่ไปหาเล่าปี่ให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ทำให้โจโฉน้อยใจเป็นอย่างมาก แต่กวนอูก็ได้ให้เหตุผลว่า แม้โจโฉจะมีบุญคุณกับตนมาก แต่เล่าปี่มีบุญคุณกับตนมาก่อนและกวนอูก็ได้สาบานตนเป็นพี่น้องกับเล่าปี่ไปแล้ว  เมื่อรู้ว่าซื้อใจกวนอูไม่ได้  ซุนฮกจึงเสนอโจโฉว่าให้เลี้ยงกวนอูไว้ และไม่ต้องให้กวนอูทำอะไร กวนอูจะได้ไม่ต้องแทนคุณแก่โจโฉ และอยู่กับโจโฉต่อไปได้โดยไม่เกิดความขัดแย้งกัน

 

คุณค่าด้านเนื้อหา

  • เป็นประโยชน์ต่อราชการในสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะในยุคสมัยนั้นยังมีสงครามและการสู้รบกับดินแดนต่าง ๆ สามก๊กจึงเป็นวรรณคดีที่เปรียบเสมือนตำราที่ถ่ายทอดกลยุทธ์การทำสงคราม ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการคน การทำงาน การวางแผนให้แยบคายต่าง ๆ 
  • เป็นแบบอย่างในการแปลหนังสือ เพราะสำนวนภาษายังอ่านเข้าใจง่ายและสละสลวย ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ซึ่งนับว่าเป็นวรรณคดีแปลแสนคลาสสิกของคนหลายยุคสมัยเลยทีเดียว

 

คุณค่าด้านวรรณศิลป์

  • การใช้สำนวนเปรียบเทียบที่คมคาย เพิ่มอรรถรสในการอ่าน และทำให้เข้าใจความคิดและความรู้สึกของตัวละครได้อย่างชัดเจน 
  • บทสนทนาที่มีวาทศิลป์ มากกว่าบทสนทนาโต้ตอบกันทั่วไป คือการสอดแทรกแง่คิดหรือความคมคายเข้าไปในประโยคในบทสนทนานั้นด้วย
  • มีการแต่งแบบนิทานซ้อนนิทาน เห็นได้จากการสอดแทรกนิทานโบราณอย่าง ‘นิทานอิเยียง’ เพื่อเป็นตัวอย่างเรื่องความซื่อสัตย์และกตัญญู ซึ่งนับเป็นกลวิธีการแต่งที่ซับซ้อนมากขึ้น และทำให้ผู้อ่านได้เรียนรู้นิทานโบราณของจีนอีกเรื่องหนึ่งไปด้วย

 

คุณค่าด้านสังคม

  • สะท้อนค่านิยมเรื่องความซื่อสัตย์และกตัญญู เห็นได้จากตัวละครในเรื่องที่ยกย่องการกระทำของอิเยียงที่ภักดีจนยอมแก้แค้นพร้อมสละชีวิตเพื่อคิเป๊ก รวมทั้งการยกย่องกวนอูผู้ภักดีต่อเล่าปี่ 
  • สะท้อนความเชื่อเรื่องโชคลาง และโหราศาสตร์  เห็นได้จากตอนที่โจโฉเชื่อและวางแผนตามคำทำนายของโหรที่บอกว่า ธงหักแสดงถึงการปล้นเสบียงในค่ายของโจโฉ
  • สะท้อนกลยุทธ์การทำสงครามที่มากกว่าการสู้รบ แม้สงครามจะมีภาพลักษณ์ของการเสียเลือดเนื้อและใช้กำลัง แต่ในเรื่องกลับมีการใช้กลยุทธ์การวางแผน ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งทหารเป็น 11 กองของโจโฉ การใช้ผู้ที่มีคุณสมบัตินักการทูตอย่างเตียวเลี้ยวเพื่อเจรจาให้กวนอูมาเป็นพวก มากกว่าจะใช้วิธีการสู้รบ หรือการใช้กลยุทธ์ไส้ศึกและทหารเพื่อหลอกให้กวนอูออกมารบ

เป็นยังไงกันบ้างกับเรื่องราวสามก๊กที่เรานำมาฝากกันในวันนี้ บอกเลยว่าเป็นวรรณคดีที่ดีงามทั้งสำนวนภาษา โครงเรื่องและวิธีการเล่าที่สนุกน่าติดตาม อย่างการสอดแทรกนิทานอิเยียงเข้าไปอีกที แถมสามก๊กตอนนี้ยังให้แง่คิดดี ๆ ทั้งกลยุทธ์การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การรู้จักบริหารคน มอบหมายหน้าที่ให้เหมาะสมกับความสามารถของแต่ละคน การเจรจาต่อรอง ไปจนถึงเรื่องคุณธรรมอย่างความซื่อสัตย์ ความจงรักภักดีเลยทีเดียว 

ถ้าเพื่อน ๆ อยากเรียนเรื่องสามก๊ก ตอนกวนอูไปรับราชการกับโจโฉแบบสนุกและละเอียดมากยิ่งขึ้น ก็สามารถโหลดแอปพลิเคชัน StartDee มาเรียนเรื่องนี้กับครูหนึ่งได้เลย (เราแอบไปดูคลิปในแอปฯ StartDee มาแล้ว บอกเลยว่าสนุกมาก และฟังเพลินสุด ๆ ไปเลย) หรือเพื่อน ๆ ม.6 คนไหนที่อ่านหนังสือเตรียมสอบช่วงนี้ แล้วจำไม่ค่อยได้ จะลองอ่านบทความเกี่ยวกับเคล็ดลับการอ่านหนังสือให้เข้าสมอง หรือเทคนิคการท่องศัพท์ให้จำแม่น ก็อาจจะได้ไอเดียดี ๆ ไปปรับใช้ก่อนสอบกันก็ได้นะ

สำหรับใครที่อ่านเรื่องนี้จบแล้ว ไปต่อกันได้เลยที่บทความ Passive Voice ลิมิตของฟังก์ชัน และเสภาขุนช้างขุนแผน ตอนขุนช้างถวายฎีกา

 

ขอบคุณข้อมูลจากครูธีรศักดิ์ จิระตราชู

คุณธรรมสำคัญที่ปรากฏในเรื่องสามก๊กคือด้านใด

Did you know ?

  • หนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในสมัยสามก๊ก มี 2 ชุด ได้แก่ ชุดแรกคือ ‘สามก๊กจี่’ เป็นจดหมายเหตุประวัติศาสตร์ในยุคสามก๊ก โดยแบ่งเป็น 3 ภาค ใช้วิธีการเล่าเรื่องโดยบรรยายราชประวัติและชีวประวัติของบุคคลแต่ละก๊ก ส่วนชุดที่สองคือ ‘สามก๊กจี่ทงซกเอี้ยนหงี’ เป็น นิทานอิงจากจดหมายเหตุสามก๊ก เรียบเรียงโดยล่อกวนตง และบรรยายเรื่องโดยไล่ตามลำดับปี มีทั้งหมด 20 ตอน โดยสามก๊กชุดนี้เป็นเรื่องที่เราอ่านและเรียนกันในชั้นม.6 ดังนั้น ถ้าเพื่อน ๆ อยากจะอยากจะรู้ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ อาจจะต้องศึกษาเล่มที่เป็นจดหมายเหตุเพิ่มเติม แต่ไม่ว่าจะเป็นฉบับไหน ก็ต้องไม่ลืมใช้วิจารณญาณในการอ่านและรับข้อมูลกันด้วยนะ
  • คำศัพท์สำนวนโบราณที่น่าสนใจในสามก๊ก ตอน กวนอูไปรับราชการกับโจโฉ
    - กินโต๊ะ หมายถึง กินเลี้ยงบนโต๊ะอาหาร 
    - ร้องไห้รักกัน หมายถึง ร้องไห้ด้วยความรักห่วงใยกัน
    - ห่มเสื้อ หมายถึง สวมเสื้อ
    - ได้ใหม่ลืมเก่า หมายถึง พอได้สิ่งใหม่แล้วลืมสิ่งเก่า

 

Reference

ยง อิงคเวทย์. (n.d.). สามก๊กจี่และสามก๊กเอี้ยนหงี. Retrieved July 21, 2020, from http://pioneer.chula.ac.th/~tanongna/history/documents/1_sam.htm

Wittaya. (n.d.). อิเยียง คนต้นแบบของกวนอู. Retrieved July 22, 2020, from https://www.samkok911.com/2013/07/YuRang-GuanYu-Idol.html