ใครคือผู้พระราชนิพนธ์โคลงสุภาษิตโสฬสไตรยางค์

เพื่อน ๆ คงได้ยินฟังคุณพ่อคุณแม่เล่านิทานอีสปให้ฟังกันบ้างตอนเด็ก ๆ วันนี้เราขอพาเพื่อน ๆ มาย้อนวัยกลับไปหานิทานอีสปอีกครั้งในโคลงสุภาษิตอิศปปกรณำ ที่รัชกาลที่ ๕ ทรงร่วมแปลมาจากนิทานกรีก เนื้อเรื่องจะเหมือนหรือต่างกันยังไง เตรียมตัวไปเรียนกันได้เลย และนอกจากโคลงสุภาษิตอิศปปกรณำแล้ว ยังมีโคลงสุภาษิตโสฬสไตรยางค์ และโคลงสุภาษิตนฤทุมนาการให้เพื่อน ๆ เรียนกันด้วยนะ เนื้อหาน่าสนใจไม่แพ้กันเลย โดยโคลงสุภาษิตทั้ง ๓ เรื่องนี้คือส่วนหนึ่งในโคลงสุภาษิตพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นเอง 

ขอบอกไว้ก่อนเลยว่าโคลงสุภาษิตพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นบทเรียนที่ยาวมากจริง ๆ เราแนะนำให้เรียนกันในแอปพลิเคชัน StartDee กับครูไตเติ้ลน่าจะเหมาะกว่า ฟังเพลิน ๆ เข้าใจง่าย แถมละเอียดกว่าด้วยนะ ไปดาวน์โหลดกันเลย

ใครคือผู้พระราชนิพนธ์โคลงสุภาษิตโสฬสไตรยางค์
จุดมุ่งหมายในการแต่ง

เพื่อรวบรวมโคลงสุภาษิตที่รัชกาลที่ ๕ มีส่วนร่วมในการแต่งทั้งหมด ๑๑ เรื่องด้วยกัน ได้แก่ 

๑. สุภาษิตบางปะอิน

๒. โคลงกระทู้สุภาษิต

๓. สุภาษิตเบ็ดเตล็ด

๔. สุภาษิตสอนผู้เป็นข้าราชการ

๕. สุภาษิตโสฬสไตรยางค์

๖. สุภาษิตนฤทุมนาการ

๗. โคลงว่าด้วยความสุข

๘. วชิรญาณสุภาษิต

๙. พระราชปรารถความสุขทุกข์

๑๐. สุภาษิตพิพิธธรรม

๑๑. สุภาษิตอิศปปกรณำ

แต่ในบทเรียนนี้ จะยกมาให้เพื่อน ๆ ชั้นม.3 เรียนกันแค่ 3 เรื่อง คือ สุภาษิตโสฬสไตรยางค์ สุภาษิตนฤทุมนาการ และสุภาษิตอิศปปกรณำ เท่านั้น

 

โคลงสุภาษิตโสฬสไตรยางค์

เกิดจากการนำคำว่า โสฬส ซึ่งหมายถึง ๑๖ และไตรยางค์ ซึ่งหมายถึง ๓ ส่วน มารวมเข้าด้วยกัน หมายถึง สิ่งที่ควรแสวงหาหรือควรละเว้น ซึ่งจะประกอบไปด้วยโคลง ๑๖ บท ในโคลงแต่ละบทจะมีสิ่งที่ควรแสวงหาและควรละเว้นอยู่อย่างละ ๓ สิ่ง

ฉันทลักษณ์ที่ใช้ในการแต่งคือ โคลงสี่สุภาพ ประกอบไปด้วยบทนำ ๑ บท เนื้อเรื่อง ๑๖ บท และบทสรุปอีก ๑ บท โดยแต่เดิมต้นฉบับของเนื้อเรื่องที่ใช้ในการแต่งโคลงสุภาษิตโสฬสไตรยางค์นั้นเป็นภาษาอังกฤษ รัชกาลที่ ๕ ได้โปรดให้กวีในราชสำนักแปล ซึ่งก็คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร และพระองค์ได้ทรงตรวจแก้ รวมถึงพระราชนิพนธ์โคลงบทนำเพิ่มเติม

 

โคลงสุภาษิตนฤทุมนาการ

เกิดจากการนำคำว่า นฤ หมายถึง ไม่มี ทุ หมายถึง ไม่ดี มนา (มน) หมายถึง ใจ และการ หมายถึง สภาพ มารวมกัน ซึ่งหมายถึง กิจ ๑๐ ประการที่ผู้ประพฤติยังไม่เคยเสียใจ โดยใช้ฉันทลักษณ์ในการแต่งคือ โคลงสี่สุภาพ ประกอบไปด้วยบทนำ ๑ บท เนื้อเรื่อง ๑๐ บท และบทสรุปอีก ๑ บท

เช่นเดียวกับโคลงสุภาษิตโสฬสไตรยางค์ ที่แต่เดิมต้นฉบับของเนื้อเรื่องนี้เป็นภาษาอังกฤษ แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เป็นผู้ลงมือแปลด้วยพระองค์เอง

 

โคลงสุภาษิตอิศปปกรณำ

ร.๕ ได้ทรงแปลนิทานอีสปของกรีก จากต้นฉบับภาษาอังกฤษ จำนวน ๓๔ เรื่องและร่วมแต่งสุภาษิตประกอบนิทานร่วมกับกวีอีก ๓ ท่าน คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) และพระยาราชสัมภารากร

 

แปลโคลงสุภาษิตโสฬสไตรยางค์

ว่าด้วยความสามอย่าง

ปราชญ์แสดงดำริด้วย

ไตรยางค์

โสฬสหมดหมวดปาง

ก่อนอ้าง

เป็นมาติกาทาง

บัณฑิต แสวงเฮย

หลังสวัสดิ์ขจัดทุกข์สร้าง

สืบสร้องศุภผล

 

บทนำที่กล่าวถึงสามสิ่งสิบหกหมวด เป็นแม่บทของบัณฑิตที่ช่วยขจัดความทุกข์ สร้างความดีงาม เพื่อเป็นที่สรรเสริญสืบไป

 

คำศัพท์สำคัญ

ไตรยางค์ หมายถึง สามส่วน

โสฬส หมายถึง สิบหก

มาติกา หมายถึง แม่บท

สร้อง (ซ้อง) หมายถึง สรรเสริญ

ศุภผล หมายถึง ผลของความดี

 

บทที่ ๑ สามสิ่งที่ควรรัก

ควรกล้ากล้ากล่าวถ้อย

ทั้งหทัย แท้แฮ

สุวภาพพจน์กายใน

จิตพร้อม

ความรักประจักษ์ใจ

จริงแน่ นอนฤา

สามสิ่งควรรักน้อม

จิตให้สนิทจริง

 

สำหรับสามสิ่งที่ควรรักนั้น ได้แก่ ความกล้า ความสุภาพ และความรักใคร่ อันหมายถึงความกล้าที่จะพูดอย่างความจริงใจ มีความสุภาพอ่อนน้อมจากภายใน และมีความรักใคร่ปรองดองกับเพื่อน ๆ

 

คำศัพท์สำคัญ

สุวภาพ หมายถึง สุภาพ

 

บทที่ ๒ สามสิ่งที่ควรชม

ปัญญาสติล้ำ

เลิศญาณ

อำนาจศักดิ์ศฤงคาร

มั่งขั้ง

มารยาทเรียบเสี่ยมสาน

เสงี่ยมเงื่อน งามนอ

สามสิ่งควรจักตั้ง

แต่ซ้องสรรเสริญ 

 

สำหรับสามสิ่งที่เรามีแล้ว จะเกิดการชื่นชมต่อผู้พบเห็น ได้แก่ อำนาจทางปัญญา เกียรติยศ และความมีมารยาทดี โดยการมีปัญญาที่ดีจะช่วยแก้ไขปัญหาได้ เมื่อมีเกียรติยศ ย่อมสร้างความมั่งคั่งตามมา และหากมารยาทดีและสง่างาม ย่อมมีผู้สรรเสริญ

 

คำศัพท์สำคัญ

ศฤงคาร หมายถึง สิ่งที่ก่อให้เกิดความรัก

มั่งขั้ง (ขั้งในที่นี้เป็นคำโทโทษ) หมายถึง มั่งคั่ง

เสี่ยมสาน หมายถึง เสงี่ยมงาม

ซ้อง หมายถึง ร้องสรรเสริญ

 

บทที่ ๓ สามสิ่งที่ควรเกลียด

ใจบาปจิตหยาบร้าย

ทารุณ

กำเริบเอิบเกินสกุล

หยิ่งก้อ

อีกหนึ่งห่อนรู้คุณ

ใครปลูก ฝังแฮ

สามสิ่งควรเกลียดท้อ

จิตแท้อย่าสมาน

 

สามสิ่งที่เราควรเกลียด ได้แก่ ความดุร้าย ความยิ่งกำเริบ และความอกตัญญู เพราะสามสิ่งนี้ เป็นหนทางแห่งความเสื่อม หากพบเจอคนประเภทนี้ ก็ไม่ควรผูกสัมพันธ์ด้วย

 

คำศัพท์สำคัญ

ห่อน หมายถึง ไม่

สมาน หมายถึง เชื่อม, ผูกพัน

 

บทที่ ๔ สามสิ่งที่ควรรังเกียจติเตียน

ใจชั่วชาติต่ำช้า

ทรชน

ทุจริตมารยาปน

ปกไว้

หึงจิตคิดเกลียดคน

ดีกว่า ตัวแฮ

สามส่วนควรเกียจใกล้

เกลียดซ้องสมาคม

 

สามสิ่งที่เราควรรังเกียจติเตียนคือ ความชั่วเลวทราม มารยา และความฤษยา โดยเฉพาะคนที่มีจิตใจชั่วช้า คนที่ทุจริตและมีมารยาปกปิดไว้ รวมไปถึงคนที่อิจฉาคนที่ดีกว่าตน คนสามแบบนี้ เราไม่ควรเกี่ยวข้อ หรือคบหาด้วย

 

คำศัพท์สำคัญ

ทรชน หมายถึง คนชั่วร้าย

ซ้อง หมายถึง เกี่ยวข้อง

 

บทที่ ๕ สามสิ่งที่ควรเคารพ

ศาสนาสอนสั่งให้

ประพฤติดี

หนึ่งยุติธรรมไป่มี

เลือกผู้

ประพฤติเพื่อประโยชน์ศรี

สวัสดิ์ทั่ว กันแฮ

สามสิ่งควรรอบรู้

เคารพเรื้องเจริญคุณ

 

สามสิ่งที่เราควรเคารพคือ ศาสนา ที่สอนให้เราประพฤติดี ความยุติธรรม ที่สอนให้เราไม่เลือกข้าง หรือฝักใฝ่ฝ่ายใด และการสละประโยชน์ตนเอง ซึ่งก็คือการประพฤติปฏิบัติเพื่อเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม

 

คำศัพท์สำคัญ

ไป่ หมายถึง ไม่

เรื้อง (เรือง) หมายถึง โด่งดัง

 

บทที่ ๖ สามสิ่งที่ควรยินดี

สรรพางค์โสภาคย์พร้อม

ธัญลักษณ์

ภาษิตจิตประจักษ์

ซื่อพร้อม

เปนสุขโสดตนรัก

การชอบ ธรรมนา

สามสิ่งควรชักน้อม

จิตให้ ยินดี 

 

สามสิ่งที่ควรยินดี ได้แก่ความงาม ความซื่อตรง และความเป็นไทแก่ตน เนื่องจากการมีรูปร่างที่เรียกว่ามีลักษณะที่ดี และการพูดอย่างซื่อตรงตามใจคิดถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี และความมีอิสระเสรีก็ถือเป็นสิ่งที่ดีเช่นกัน เพราะคือความสามารถในการทำทุกอย่างได้โดยไม่ถูกบังคับ

 

คำศัพท์สำคัญ

สรรพางค์ หมายถึง ทั่วทั้งตัว

ธัญลักษณ์ หมายถึง ลักษณะดี

ภาษิต หมายถึง คำพูดที่ดี

โสด หมายถึง อิสระ

 

บทที่ ๗ สามสิ่งที่ควรปรารถนา

สุขกายวายโรคร้อน

รำคาญ

มากเพื่อนผู้วานการ

ชีพได้

จิตแผ้วผ่องสำราญ

รมยสุข เกษมแฮ

สามสิ่งควรจักให้

รีบร้อนปรารถนา 

 

สามสิ่งที่เราควรปรารถนา คือ ความสุขสบาย ซึ่งในที่นี้หมายถึง การไม่เจ็บป่วย การไม่มีโรค การมีมิตรสหายที่ดี เมื่อถึงเวลาเราเดือดร้อน เราสามารถพึ่งพาได้ และการมีใจที่บริสุทธิ์แจ่มใส ก็จะสามารถทำให้ร่างกายสบาย และมีความสุขได้นั่นเอง

 

คำศัพท์สำคัญ

รมย (รมย์) หมายถึง น่าบันเทิงใจ

 

บทที่ ๘ สามสิ่งที่ควรปรารถนา

ศรัทธาทำจิตหมั้น

คงตรง

สงบระงับดับประสงค์

สิ่งเศร้า

จิตสะอาดปราศสิ่งพะวง

วุ่นขุ่น หมองแฮ

สามส่วนควรใฝ่เฝ้า

แต่ตั้งอธิษฐาน

 

สามสิ่งที่เราควรอ้อนวอนขอหรือตั้งจิตอธิษฐานเพื่อให้มีอยู่ตลอดไป คือ ความเชื่อถือ ความสงบ และใจบริสุทธิ์ เพราะการมีศรัทธาหรือความเชื่อถือ จะทำให้จิตใจของเรามั่นคง ตั้งมั่น ในขณะที่ความสงบ จะทำให้เรายับยั้งความต้องการต่าง ๆ ในจิตใจ ไม่ฟุ้งซ่าน และหากเรามีจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์ เราก็จะไม่มีสิ่งที่ต้องพะวง และไม่เศร้าหมองนั่นเอง

 

คำศัพท์สำคัญ

จิตหมั้น (หมั้น ในที่นี้เป็นรูปโทโทษ) หมายถึง ใจมั่นคง

 

บทที่ ๙ สามสิ่งที่ควรนับถือ

ปัญญาตรองตริล้ำ

ลึกหลาย

ฉลาดยิ่งสิ่งแยบคาย

คาดรู้

มั่นคงไม่คืนคลาย

คลอนกลับ กลายแฮ

สามสิ่งควรกอบกู้

กับผู้นับถือ

 

สามสิ่งที่เรานับถือ หรือควรนำกลับมาให้กับผู้ที่เรานับถือ คือ ปัญญา ความฉลาด และความมั่นคง เพราะปัญญาคือความรอบรู้ เมื่อมีความรู้ ย่อมต้องเกิดความฉลาดในการนำความรู้ไปใช้ และควรมีจิตใจที่มั่นคง ไม่โคลงเคลงกลับไปกลับมานั่นเอง 

 

คำศัพท์สำคัญ

คลอน หมายถึง ไหว, โคลงไปโคลงมา

 

บทที่ ๑๐ สามสิ่งที่ควรชอบ

สุจริตจิตโอบอ้อม

อารี

ใจโปร่งปราศราคี

ขุ่นข้อง

สิ่งเกษมสุขเปรมปรี-

ดาพรั่ง พร้อมแฮ

สามสิ่งสมควรต้อง

ชอบต้องยินดี

 

สามสิ่งที่เราควรชอบและยินดีคือ ความอารีด้วยใจสุจริต ความใจดี และความสนกสนาน เพราะความมีจิตใจโอบอ้อมอารีด้วยใจสุจริตที่แท้ แจ่มใส และปลอดโปร่งจากสิ่งไม่ดี จะทำให้สิ่งที่ดี ความสุขสนุกสนาน ก็จะเข้ามาพร้อมในทุก ๆ ด้านนั่นเอง 

 

บทที่ ๑๑ สามสิ่งที่ควรสงสัย

คำยอยกย่องเพี้ยน

ทุกประการ

พักตร์จิตผิดกันประมาณ

ยากรู้

เร็วรัดผลัดพลันขาน

คำกลับ พลันฤๅ

สามส่วนควรแล้วผู้

พะพ้องพึงแคลง

 

สามสิ่งที่เราควรสงสัยอย่าได้ประมาท คือ คำยอ ที่อาจไม่ใช่ความจริงทุกประการ คนหน้าเนื้อใจเสือ ที่หน้าไม่เหมือนใจ ยากที่จะหยั่งรู้ และคลามพลันรักพลันจืด คือคนที่กลับคำเร็ว จากรักเปลี่ยนเป็นไม่รักอย่างรวดเร็ว

 

คำศัพท์สำคัญ

พักตร์ หมายถึง หน้า

 

บทที่ ๑๒ สามสิ่งควรละ

เกียจคร้านการท่านทั้ง

การตน ก็ดี

พูดมากเปล่าเปลืองปน

ปดเหล้น

คำแสลงเสียดแทงระคน

คำหยาบ หยอกฤๅ

สามสิ่งควรทิ้งเว้น

ขาดสิ้นสันดาน

 

สามสิ่งที่ควรละคือ ความเกียจคร้าน การพูดจาไร้สาระ และไม่ควรกล่าวว่าเสียดแทงหรือพูดคำหยาบใส่ผู้อื่น เพราะนับว่าเป็นการไร้มารยาท

 

คำศัพท์สำคัญ

เหล้น (ในที่นี้เป็นรูปโทโทษ) หมายถึง เล่น

 

บทที่ ๑๓ สามสิ่งควรจะกระทำให้มี

หนังสือสอนสั่งข้อ

วิทยา

เว้นบาปเสาะกัลยาณ์

มิตรไว้

หนึ่งขลาดปราศโทสา

คติห่อ ใจเฮย

สามสิ่งควรมีให้

มากยั้งยืนเจริญ

 

สามสิ่งที่เราควรจะกระทำให้มีคือ หนังสือดี เพื่อนที่ดี และอารมณ์ใจเย็นดี เพราะหนังสือคือแหล่งรวมความรู้ต่าง ๆ มากมาย ส่วนเพื่อนที่ดี ก็ควรแสวงหาเอาไว้ และควรทำใจให้ปราศจากความโกรธ สามสิ่งนี้จะนำพาเราไปสู่ความเจริญนั่นเอง 

 

คำศัพท์สำคัญ

วิทยา หมายถึง ความรู้

โทสาคติ หมายถึง ความลำเอียงเพราะความโกรธ

 

บทที่ ๑๔ สามสิ่งควรจะหวงแหนฤๅต่อสู้เพื่อรักษา

ความดีมีชื่อทั้ง

ยศถา ศักดิ์เฮย

ประเทศเกิดกูลพงศา

อยู่ยั้ง

คนรักร่วมอัธยา-

ศัยสุข ทุกข์แฮ

สามสิ่งควรสงวนตั้ง

ต่อสู้ผู้เบียน

 

สามสิ่งที่เราควรจะหวงแหนและต่อสู้เพื่อรักษา คือ ชื่อเสียงยศศักดิ์ บ้านเมืองของตน และมิตรสหาย เพราะเกียรติศักดิ์จะเป็นที่เชิดหน้าชูตาให้วงศ์ตระกูล ส่วนบ้านเมืองที่เป็นต้นกำเนิดของวงศ์ตระกุลของเรา ก็ควรที่จะรักษาไว้ และควรรักษามิตรภาพระหว่างมิตรสหายไว้ด้วยเช่นกัน 

 

คำศัพท์สำคัญ

กูลพงศา หมายถึง วงศ์ตระกูล

 

บทที่ ๑๕ สามสิ่งควรจะหวงแหนฤๅต่อสู้เพื่อรักษา

อาการอันเกิดด้วย

น้ำใจ แปรฤๅ

ใจซึ่งรีบเร็วไว

ก่อนรู้

วาจาจักพูดใน

กิจสบ สรรพแฮ

สามสิ่งจำทั่วผู้

พิทักษ์หมั้นครองระวัง

 

สามสิ่งที่เราควรครองไว้หรือควบคุมให้ได้ คือกิริยาที่เป็นในใจ ความมักง่าย และวาจา กล่าวคือ เราควรเก็บสิ่งที่เกิดขึ้นในใจ ไม่ควรแสดงออกให้ใครรู้ อย่าด่วนมักง่าย ตัดสินใจโดยไม่ตริตรองให้ดี และที่สำคัญควรระวังคำพูดนั่นเอง

 

คำศัพท์สำคัญ

ครอง หมายถึง ควบคุมให้ได้

 

บทที่ ๑๖ สามสิ่งควรจะเตรียมเผื่อ

สิ่งใดในโลกล้วน

เปลี่ยนแปลง

หนึ่งชราหย่อนแรง

เร่งร้น

ความตายติดตามแสวง

ทำชีพ ประลัยเฮย

สามส่วนควรคิดค้น

คติรู้เตรียมคอย

 

สามสิ่งที่เราควรจะเตรียมเผื่อ หรือเตรียมตัวเผชิญหน้ากับมันคือ อนิจจัง ความชรา และมรณะ โดยอนิจจังคือความไม่เที่ยง เพราะทุกสิ่งบนโลกล้วนมีการเปลี่ยนแปลง ส่วนความแก่เถ้าและชรา ก็เป็นสิ่งเข้ามาในชีวิตอย่างรวดเร็ว และสุดท้าย ทุกคนย้อมก้าวเข้าสู่ความตายในสักวัน ดังนั้น เราจึงควรเตรียมตัวเพื่อรับความเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึง

 

คำศัพท์สำคัญ

เร่งร้น หมายถึง มาโดยเร็ว

 

บทสรุป

จบสามสิบหกเค้า

คะแนนนับ หมวดแฮ

หมวดละสามคิดสรรพ

เสร็จสิ้น

เป็นสี่สิบแปดฉบับ

บอกเยี่ยง อย่างแฮ

ตามแบบ บ่ ขาดหวิ้น

เสร็จแล้วสมบูรณ์

 

จากโคลงสรุปบทข้างต้น สามารถถอดคำประพันธ์ได้ว่า จบกันไปแล้วสำหรับโคลงสุภาษิตโสฬสไตรยางค์ ที่มีทั้งหมดสิบหกหมวด ซึ่งแต่ละหมวดมีสามข้อ รวมเป็นสี่สิบแปดข้อ ที่มีไว้เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับผู้คนทั้งหลาย หากใครปฏิบัติครบถ้วน ไม่ขาดสักข้อ นับว่าผู้นั้นเป็นคนที่สมบูรณ์พร้อมนั่นเอง 

 

คำศัพท์สำคัญ

หวิ้น (ในที่นี้เป็นคำโทโทษ) หมายถึง วิ่น

ใครคือผู้พระราชนิพนธ์โคลงสุภาษิตโสฬสไตรยางค์


แปลโคลงสุภาษิตนฤทุมนาการ

กิจ ๑๐ ประการที่ผู้ประพฤติยังไม่เคยเสียใจ

บัณฑิตวินิจแล้ว

แถลงสาร สอนเอย

ทศนฤทุมนาการ

ชื่อชี้

เหตุผู้ประพฤติปาน  

ดังกล่าว นั้นนอ

โทมนัสเพราะกิจนี้       

ห่อนได้เคยมี

 

โคลงบทนำนี้กล่าวถึงบัณฑิตผู้รู้แจ้งที่ได้กล่าวถึงกิจที่ผู้ประพฤติยังไม่เคยเสียใจ ๑๐ ประการ หากประพฤติปฎิบัตตามกิจเหล่านี้ จะไม่เกิดความทุกข์ใจแน่นอน

 

คำศัพท์สำคัญ

ทศ หมายถึง สิบ

ห่อน หมยถึง ไม่

 

กิจข้อที่ ๑ เพราะความดีทั่วไป

ทำดีไป่เลือกเว้น  

ผู้ใด ใดเฮย

แต่ผูกไมตรีไป

รอบข้าง

ทำคุณอุดหนุนใน

การชอบ ธรรมนา

ไร้ศัตรูปองมล้าง

กลับซ้องสรรเสริญ

 

การทำความโดยไม่เลือกกระทไกับผู้ใดผู้หนึ่ง รู้จักผูกไม่ตรีกับทุกคน จะทำให้เราไม่มีศัตรู และมีแต่คนยกย่องสรรเสริญ

 

คำศัพท์สำคัญ

ไป่ หมายถึง ไม่

ซ้อง หมายถึง สรรเสริญ

 

กิจข้อที่ ๒ เพราะไม่พูดร้ายต่อใครเลย

เหินห่างโมหะร้อน

ริษยา

สละส่อเสียดมารษา

ใส่ร้าย

ตำหยาบจาบจ้วงอา-

ฆาตขู่ เข็ญเฮย

ไปหมิ่นนินทาบ้าย

โทษให้ผู้ใด

 

เพราะการไม่พูดร้ายกับใคร จึงทำให้อยู่ห่างไกลจากความโมโหและความอิจฉานอกจากนั้น ยังไม่ควรพูดส่อเสียดโกหก ใส่ร้าย พูดคำหยาบจาบจ้วง อาฆาตผู้อื่น และไม่นินทาเพื่อก่อโทษให้กับคนอื่นอีกด้วย

 

คำศัพท์สำคัญ

มารษา หมายถึง คำปด, คำเท็จ

บ้าย หมายถึง ป้าย

 

กิจข้อที่ ๓ เพราะถามฟังคำก่อนการตัดสิน 

ยินคดีมีเรื่องน้อย

ใหญ่ไฉน ก็ดี

ยัง บ่ ลงเห็นไป

เด็ดด้วน

ฟังตอบขอบคำไข

คิดใคร่ ครวญนา

ห่อนตัดสินห้วนห้วน

เหตุด้วยเบาความ

 

การได้ฟังเรื่องราวต่าง ๆ ไม่ว่าจะเล็กหรือน้อย ไม่ควรเชื่อทันที ควรฟังความและคิดให้ใคร่ครวญให้ดีก่อน ไม่คิดหรือตัดสินใจในทันที เพราะถือว่าเชื่อง่ายและขาดความรอบคอบนั่นเอง

 

คำศัพท์สำคัญ

คดี หมายถึง เรื่อง

 

กิจข้อที่ ๔ เพราะคิดเสียก่อนจึงพูด

พาทีมีสติรั้ง

รอคิด

รอบคอบชอบแลผิด

ก่อนพร้อง

คำพูดพ่างลิขิต

เขียนร่าง เรียงแฮ

ฟังเพราะเสนาะต้อง

โสตทั้งห่างภัย

 

ก่อนที่จะพูดต้องมีสติและคิดก่อน เราควรจะรอบคอบ รู้จักมองสิ่งที่ผิดและถูก เพราะการพูดให้เหมือนกับการเขียนที่เรียบเรียงมาแล้ว หากฟังแล้วไพเราะถูกหู ย่อมไม่เป็นภัยต่อตัวผู้พูด

 

คำศัพท์สำคัญ

พาที หมายถึง คำพูด

พร้อง หมายถึง คำพูด

พ่าง หมายถึง เพียง, เช่น

ต้องโสต หมายถึง ถูกหู, น่าฟัง

 

กิจข้อที่ ๕ เพราะอดพูดในเวลาที่โกรธ

สามารถอาจห้ามงด

วาจา ตนเฮย

ปางเมื่อยังโกรธา

ขุ่นแค้น

หยุดคิดพิจารณา

แพ้ชนะ ก่อนนา

ชอบผิดคิดเห็นแม้น

ไม่ยั้งเสียความ

 

เราควรห้ามตัวเองไม่ให้พูดเมื่อยังรู้สึกว่าตัวเองโกรธอยู่ ควรหยุดคิดและพิจารณาก่อนว่า เมื่อพูดแล้วจะเป็นฝ่ายแพ้หรือฝ่ายชนะ หากไม่รู้จักยับยั้ง จะทำให้เสียหายได้นั้นเอง

 

กิจข้อที่ ๖ เพราะได้กรุณาต่อคนที่ถึงอัปจน

กรุณานรชาติผู้

พ้องภัย พิบัติเฮย

ช่วยรอดปลอดความกษัย

สว่างร้อน

ผลจักเพิ่มพูนใน

อนาคต กาลแฮ

ชนจักชูชื่อช้อน

ป่างเบื้องปัจจุบัน

 

การมีเมตตากรุณาต่อผู้ที่ประสบภัยให้รอดจากความเสื่อม สิ้นความทุกข์ร้อน ผลที่ได้รับจะเพิ่มพูนขึ้น ผู้คนจะเชิดชู ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

 

คำศัพท์สำคัญ

นรชาติ หมายถึง คน

ความกษัย หมายถึง ความเสื่อม

สว่างร้อน หมายถึง สิ้นความทุกข์ร้อน

ป่าง หมายถึง ปาง, เมื่อ

 

กิจข้อที่ ๗ เพราะขอโทษบรรดาที่ได้ผิด

ใดกิจผิดพลาดแล้ว

ไป่ละ ลืมเลย

หย่อนทิฐิมานะ

อ่อนน้อม

ขอโทษเพื่อคารวะ

วายบาด หมางแฮ

ดีกว่าปดอ้อมค้อม

คิดแก้โดยโกง

 

เมื่อกระทำการสิ่งใดพลาดแล้ว ไม่ควรที่จะลืมหรือละเลย ควรที่จะหย่อนทิฐิมานะ มีความอ่อนน้อม ควรรู้จักขอโทษเพื่อลดความบาดหมางลง ดีกว่าคิดแก้ปัญหาด้วยการพูดปดและโกหก

 

กิจข้อที่ ๘ เพราะอดกลั้นต่อผู้อื่น

ขันตีมีมากหมั้น

สันดาน

ใครเกะกะระราน

อดกลั้น

ไป่ฉุนเฉียวเฉกพาล

พาเดือด ร้อนพ่อ

ผู้ประพฤติดั่งนั้น

จักได้ใจเย็น

 

การมีความอดทนอดกลั้นเป็นนิสัยต่อผู้ที่มารุกราน ไม่ฉุนเฉียวเหมือนคนพาล ผู้คนที่ประพฤติปฏิบัติดังนี้ เรียกได้ว่าเป็นคนใจเย็นนั่นเอง

 

คำศัพท์สำคัญ

ขันตี หมายถึง ความอดทนอดกลั้น

หมั้น (ในที่นี้เป็นรูปโทโทษ) หมายถึง มั่น

สันดาน หมายถึง นิสัยที่มีมาตั้งแต่กำเนิด

 

กิจข้อที่ ๙ เพราะไม่ฟังคำคนพูดเพศนินทา

ไป่ฟังคนพูดฟุ้ง

ฟั่นเฝือ

เท็จและจริงจานเจือ

คละเคล้า

คือมีดเที่ยวกรีดเถือ

ท่านทั่ว ไปนา

ฟังจะพาพลอยเข้า

พวกเพ้อรังควาน

 

ไม่ควรฟังคนที่พูดเพ้อเจ้อ พูดจริงบ้าง เท็จบ้าง ปะปนกันไป เปรียบเสมือนมีดที่กรีดระรานคนอื่นไปทั่ว แล้วยังพาลพาให้เราเข้าไปเป็นพวกเพื่อพูดเหลวไหลไปด้วย 

 

คำศัพท์สำคัญ

เพศ หมายถึง การประพฤติปฏิบัติ

เพศนินทา หมายถึง ผู้ที่ชอบนินทา

ฟั่นเฝือ หมายถึง คลุมเครือ ไม่แน่ชัด

 

กิจข้อที่ ๑๐ เพราะไม่ฟังคำคนพูดเพศนินทา

อีกหนึ่งไป่เชื่อถ้อย

คำคน ลือแฮ

บอกเล่าข่าวเหตุผล

เรื่องร้าย

สืบสอบประกอบจน

แจ่มเท็จ จริงนา

ยังบ่ด่วนยักย้าย

ตื่นเต้นก่อนกาล

 

การไม่หลงเชื่อถ้อยคำคน หรือข่าวร้ายที่มีคนมาบอก ควรที่จะสืบเสาะเรื่องราวให้ชัดเจนก่อนที่จะตื่นเต้นไปเสียก่อน

 

บทสรุป

ข้อความตามข่าวแก้

สิบประการ นี้นอ

ควรแก่ความพิจารณ์

ทั่วผู้

แม้ละไป่ขาดปาน

โคลงกล่าว ก็ดี

ควรระงับดับสู้

สงบบ้างยังดี

 

ข้อความที่กล่าวมาทั้ง ๑๐ ประการนี้ ควรที่จะให้ทุกคนพิจารณาและปฏิบัติตาม แม้จะขาดไปบ้างบางข้อ แต่ก็ควรที่จะรู้จักระงับจิตใจ แม้ทำเพียงบางช้อ ก็ถือว่ายังดี

 

แปลโคลงสุภาษิตอิศปปกรณำ

ราชสีห์กับหนู

อย่าควรประมาทผู้

ทุรพล

สบเคราะห์คราวขัดสน

สุดรู้

เกลือกเขาสบร้ายดล

ใดเหตุ มีแฮ

มากพวกคงมีผู้

ระลึกเค้าคุณสนอง

 

ข้อคิดจากเรื่องราชสีห์กับหนู คือ อย่าประมาทผู้ที่มีกำลังน้อย เพราะอาจพบกันคราวเดือดร้อนอย่างคาดไม่ถึง เขาเหล่านั้นอาจผ่านเข้ามาพบเห็นพอดีและช่วยเหลือเราได้ ดังนั้น การมีพวกมาก ก็อาจช่วยให้มีผู้ระลึกคุณมาตอบแทนเราในตอนที่ลำบากได้

 

คำศัพท์สำคัญ

ทุรพล หมายถึง ผู้มีกำลังน้อย

สบ หมายถึง พบ

เกลือก หมายถึง เผื่อ

 

บิดากับบุตรทั้งหลาย

เชื้อวงศ์วายรักร้อย

ริษยา กันเฮย

ปรปักษ์เบียนบีฑา

ง่ายแท้

ร่วมสู้ร่วมรักษา

จิตร่วม รวมแฮ

หมื่นอมิตร บ มิแพ้

เพราะพร้อมเพรียงผจญ

 

ญาติพี่น้องที่ไม่รักและคอยอิจฉากันนั้น ศัตรูสามารถเบียดเบียนได้โดยง่าย แต่หากร่วมสู้ร่วมรักษาพร้อมใจกัน ศัตรูมาพร้อมกันเป็นหมื่นเป็นแสนก็ย่อมไม่แพ้

 

คำศัพท์สำคัญ

ปรปักษ์ หมายถึง ศัตรู

เบียนบีฑา หมายถึง เบียดเบียน

อมิตร หมายถึง ศัตรู

 

สุนัขป่ากับแกะ

ชาติกักขฬะดุร้าย

สันดาน

คงจะหาสิ่งพาล

โทษให้

ถึงจะกล่าวคำหวาน

คำชอบ ก็ดี

หาญหักเอาจนได้

ดั่งข้อเข้าประสงค์

 

คนที่มีความดุร้าย หยาบคายเป็นสันดาน มักจะพาลว่ากล่าวโทษทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ถึงแม้จะพูดดีกับเขาอย่างไรก็ตาม เขาก็จะใช้อำนาจจนได้ในสิ่งที่เขาต้องการ

 

คำศัพท์สำคัญ

กักขฬะ หมายถึง หยาบคายมาก

 

กระต่ายกับเต่า

เชื่อเร็วแรงเรี่ยวทั้ง

เชาวน์ชาญ เชี่ยวแฮ

แม้นประมาทมละการ

ก็ล้า

โฉดช้าอุตส่าห์หาญ

ห่อนหยุด ยั้งเฮย

ดังเต่ากระต่ายท้า

แข่งช้าชนะเร็ว

 

คนที่เชื่อมั่นในเรี่ยวแรงและมีความฉลาดนั้น หากประมาทละเลย ก็ล้มเหลวได้ แต่คนช้าและโง่ที่มีความพยายามไม่หยุดยั้ง มักจะทำงานสำเร็จ ดังเช่นเต่าที่วิ่งแข่งชนะกระต่าย

 

คำศัพท์สำคัญ

เชาวน์ชาญ หมายถึง ปัญญา, ความคิด

มละ หมายถึง ล้า

โฉด หมายถึง โง่

 

เนื้อหายาวก็จริง แต่ก็อ่านสนุกไม่น้อยเลยนะ แถมโคลงสุภาษิตแต่ละบทก็ให้ข้อคิดที่ดีและแตกต่างกัน ซึ่งเพื่อน ๆ สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้เลยล่ะ