ความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ 2560

ในขณะที่นักการเมืองทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านทำทีสนับสนุนเสียงของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนบนท้องถนนที่เรียกร้องให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านกลไกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ด้วยการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาช่วงปลายเดือนนี้ แต่กว่า ส.ส.ร. จะเกิดขึ้นได้ เงื่อนไขเดิมที่กำหนดว่าต้องได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ว. 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง ในการลงมติผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ในวาระ 1 และ 3 ยังอยู่

คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธาน สะท้อนปัญหาการดำรงอยู่ของ ส.ว. ทั้ง 250 คนไว้ว่า "การแก้ไขที่ขัดกับความต้องการของคณะผู้ปกครองประเทศที่มีเสียงสนับสนุนจากวุฒิสภาจะทำไม่ได้เลย" และเปรียบเปรย ส.ว. ชุดปัจจุบันเป็น "กลไกป้องกันไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้โดยง่าย"

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเตรียมพิจารณารายงานของ กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ ในวันที่ 10 ก.ย. นี้ หลังพวกเขาใช้เวลานาน 8 เดือนเต็ม ในการพิจารณาศึกษารัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งมีเนื้อหา 16 หมวด 279 มาตรา ทว่าในหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ทาง กมธ. เห็นว่า "ไม่มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาศึกษา" จึงข้ามไปเริ่มพิจารณาตั้งแต่หมวด 3

ในวันส่งมอบรายงานที่มีความหนา 145 หน้า ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภา เมื่อ 31 ส.ค. นายพีระพันธุ์กล่าวยอมรับว่า ไม่มีหลักการันตีว่ารายงานฉบับนี้จะถูกนำไปพิจารณาเป็นเนื้อหาของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ยืนยันว่ามีความเป็นกลาง

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ รัฐสภา

คำบรรยายภาพ,

รายงานการศึกษาของ กมธ. แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนแรก เป็นรายงานของ กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนที่ 2 เป็นรายงานของคณะอนุ กมธ. และส่วนที่ 3 เป็นการสรุปความคิดเห็นของประชาชนและนักศึกษา

บีบีซีไทยสรุปประเด็นสำคัญ ๆ ที่ปรากฏในรายงานฉบับนี้ กมธ. ตั้งข้อสังเกตและสะท้อนปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไว้อย่างไร และเสนอแนะทางแก้ไขกติกาสูงสุดอย่างไรบ้าง

สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย

ปัญหา : มาตรา 25 มีลักษณะจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ด้วยการกำหนดว่าต้องไม่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ เนื่องจากคำว่า "ความมั่นคงของรัฐ" ถูกตีความได้หลายมิติ และรัฐอาจยกมาเป็นข้ออ้างในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้

ข้อเสนอ : 1. ให้ตัดข้อความที่ว่า "เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย" ออก หรือ 2. ตัดข้อความว่า "ไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย" ออก แล้วใช้ข้อความว่า "ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น และไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมของประชาชน" แทน หรือ 3. ตัดข้อความว่า "ความมั่นคงของรัฐ" ออก แล้วใช้ "การดำรงอยู่ของรัฐ" แทน

สิทธิในการปกป้องการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ

ปัญหา : มาตรา 49 มีความมุ่งหมายในการป้องกันการรัฐประหารหรือการใช้กำลังล้มล้างการปกครอง ซึ่งเดิมรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 กำหนดให้ยื่นเรื่องผ่านอัยการสูงสุด แต่มีคดีหนึ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประชาชนสามารถยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลได้ ทำให้ "มีการนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อร้องต่อศาลรัฐธรรมนญ" เช่น กรณี ส.ส. เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ก็มีผู้ไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าล้มล้างการปกครอง

ข้อเสนอ : ควรบัญญัติให้ชัดเจนว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ถือเป็นการล้มล้างการปกครอง

คำบรรยายภาพ,

นายณฐพร โตประยูร ได้ยื่นคำร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยกล่าวหาว่ากระทำการล้มล้างการปกครอง ตามมาตรา 49 แห่งรัฐธรรมนูญ หรือที่รู้จักในนาม "คดีอิลลูมินาติ"

ปัญหา : มาตรา 65 กำหนดให้รัฐจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ โดยให้ทบทวนทุก 5 ปี ซึ่งไม่เหมาะสมเพราะสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงตลอด ขณะที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติก็มีอำนาจมากเกินไป เป็นการส่งเสริมให้ฝ่ายประจำอยู่เหนือฝ่ายการเมือง อีกทั้งผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติก็เป็นผู้ใกล้ชิดรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ทำให้กรอบยุทธศาสตร์ชาติมาจากความคิดในลักษณะเดียวกัน และไม่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม

ข้อเสนอ : ปรับลดเวลาทบทวนยุทธศาสตร์ชาติให้เร็วขึ้น เช่น ทุก 1 หรือ 2 ปี และปรับปรุงองค์ประกอบคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ

ปัญหา : ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมเข้าใจยากและไม่สนองเจตนารมณ์ของประชาชน ก่อให้เกิดปัญหาหลายอย่าง เช่น การคิดคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ, เกิดพรรคเล็กจำนวนมาก, เกิดรัฐบาลผสมอ่อนแอและขาดเสถียรภาพ

ข้อเสนอ : ให้กลับไปใช้การเลือกตั้ง 2 ระบบ แยก ส.ส.เขต 400 คน กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน และให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบเพื่อสะท้อนเจตนารมณ์ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

ปัญหา : การที่ ส.ว. ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ทำให้เกิดปัญหาความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่และส่งผลต่อกลไกการตรวจสอบ อีกทั้งการกำหนดให้ ส.ว. มาจากการเลือกไขว้ระหว่างกลุ่มอาชีพยังเป็นวิธีการที่ไม่เหมาะ เพราะผู้เลือกต่างไม่รู้จักกัน ย่อมไม่มีฐานความรู้และเหตุผลในการตัดสินใจเพียงพอ ดังนั้นควรพิจารณาว่าระหว่างการเลือกตั้งทางอ้อมที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 กับการเลือกตั้งทางตรงแบบในรัฐธรรมนูญปี 2540 วิธีใดจะดีกว่ากัน

ข้อเสนอ : ควรแก้ไขประเด็นที่มา ส.ว. ให้ชัดเจนขึ้น และให้คืนอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้ ส.ว. แบบที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2550

ปัญหา : มาตรา 88 และ 89 กำหนดให้พรรคการเมืองเสนอชื่อนายกฯ ในบัญชีไม่เกิน 3 รายชื่อแล้วแจ้งต่อ กกต. เพื่อประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ทาง กมธ. เสียงข้างมากเห็นว่า "ไม่ถือว่าเป็นนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน"

ข้อเสนอ : กมธ. เสียงข้างมากเห็นควรให้นายกฯ ต้องเป็น ส.ส.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

สมาชิกรัฐสภามีมติ 500 ต่อ 244 สนับสนุนให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ

ข้อเสนอ : พรรคต้องประกาศรายชื่อคนที่จะมาเป็นนายกฯ และ รมต. เพื่อให้ประชาชนทราบ และป้องกันไม่ให้นายทุนเข้ามาเป็น รมต. และควรห้ามไม่ให้ รมต. ดำรงตำแหน่ง ส.ส. ในขณะเดียวกันเพื่อให้ทำงานได้เต็มที่

การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 256

ปัญหา : วุฒิสภาชุดปัจจุบันส่วนใหญ่มาจากการคัดสรรของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และมีสถานะรัฐบาลปัจจุบันซึ่งได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญ "การแก้ไขที่ขัดกับความต้องการของคณะผู้ปกครองประเทศที่มีเสียงสนับสนุนจากวุฒิสภาจะทำไม่ได้เลย" ส.ว. ชุดปัจจุบันจึงเปรียบเสมือนกลไกป้องกันไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้โดยง่าย

ข้อเสนอ : กมธ. เสียงข้างมากเห็นควรให้ยกเลิกเงื่อนไขในมาตรา 256 ในการมี ส.ว. เห็นชอบด้วยคะแนน 1 ใน 3 เหลือเพียง "เสียงข้างมากของสมาชิกรัฐสภา" ตามหลักการที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ขณะที่อีก 2 แนวทางที่มี กมธ. เสนอไว้คือ ให้คงเงื่อนไข ส.ว. เห็นชอบ 1 ใน 3 เอาไว้ แต่ใช้ในกรณี ส.ว. ตามบทถาวร ไม่ใช่ ส.ว. ตามบทเฉพาะกาล หรือใช้เสียง 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภา ทว่าต้องใช้กับ ส.ว. ชุดถาวรเช่นกัน

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

ชายแต่งกายคล้ายพระยาพหลพลพยุหเสนา อ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ระหว่างจัดกิจกรรมแสดงพลัง "ทวงคืนมรดกคณะราษฎร ทวงคืนสัญญารัฐธรรมนูญประชาชน"

นอกจากนี้ กมธ. ส่วนใหญ่ยังเห็นชอบให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยจัดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญเกือบทั้งฉบับ ยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2 จากนั้นนำไปทำประชามติ ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ

ฝ่ายค้าน-รบ. แยกกันชงร่างแก้ไข รธน. ถึงมือประธานรัฐสภาแล้ว

นอกจากรายงานของ กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ ถึงขณะนี้มีผู้ยื่นญัตติเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต่อประธานรัฐสภาแล้ว 2 กลุ่มคือ ร่างของ 5 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ และพรรคพลังปวงชนไทย ยื่นญัตติเมื่อวันที่ 17 ส.ค. และร่างของพรรคร่วมรัฐบาล ยื่นญัตติเมื่อวันที่ 1 ก.ย. โดยคาดหมายกันว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาได้ในวันที่ 23-24 ก.ย. นี้

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับนี้ มีเนื้อหารวม 5 มาตราเท่ากัน มีเป้าหมายอยู่ที่การ "ปลดล็อก" เนื้อหาในมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 เพื่อเปิดทางไปสู่การมี ส.ส.ร. ขึ้นมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ภายใต้เงื่อนไขสำคัญคือต้องไม่ไปแตะต้องหมวด 1 และหมวด 2 ทำให้พรรคก้าวไกลได้ขอถอนชื่อในญัตติของฝ่ายค้าน แต่พร้อมลงมติเห็นชอบในวาระแรก และขอแปรญัตติในวาระ 2

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ รัฐสภา

คำบรรยายภาพ,

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล นำทีมยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจากคนอีก 2 กลุ่มคือ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยให้ยกเลิกมาตรา 269-272 ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญปี 2560 เพื่อ "ปิดสวิตช์ ส.ว." ชุดปัจจุบัน เสนอโดยพรรคก้าวไกล โดยให้เหตุผลว่า "ไม่อาจแน่ใจได้ว่ากระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และการจัดตั้ง ส.ส.ร. จะถูกเตะถ่วงไปนานแค่ไหน"

ไม่ว่าบังเอิญหรือจงใจ ข้อเสนอให้ "ปิดสวิตช์ ส.ว." ของพรรคครึ่งร้อยได้สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของกลุ่ม "ประชาชนปลดแอก" ที่ว่าก่อนปิดสมัยประชุมสภา หรือภายในเดือน ก.ย. นี้ ต้องไม่มี ส.ว. 250 คนอีกต่อไป ทว่าขณะนี้พรรคก้าวไกลยังอยู่ระหว่างการล่าชื่อจากเพื่อนร่วมสภาเพื่อรับรองญัตติ ซึ่งต้องใช้เสียง 1 ใน 5 ของ ส.ส. ที่มีอยู่ทั้งหมด หรือ 98 คน เบื้องต้นมี ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์บางส่วนที่ยอมรับว่าตัวเองเป็น "กลุ่มกบฎในพรรค" พร้อมร่วมลงชื่อให้

เช่นเดียวกับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ก็อยู่ระหว่างการล่ารายชื่อประชาชนให้ครบ 5 หมื่นชื่อก่อนเสนอต่อประธานรัฐสภา มีเนื้อหา 13 มาตรา และเพิ่มหมวดใหม่เข้ามาเป็น "หมวดที่ 17 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่" โดย ส.ส.ร.

แม้จำนวน ส.ส.ร. ที่ปรากฏในร่างกฎหมายของกลุ่มต่าง ๆ มีจำนวน 200 คนเท่ากัน แต่มีความแตกต่างกันในรายละเอียดทั้งวิธีการได้มา คุณสมบัติ และส่วนผสม อย่างในร่างของ 5 พรรคฝ่ายค้าน ให้ ส.ส.ร. มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ส่วนร่างของประชาชน ใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ขณะที่ร่างของพรรคร่วมรัฐบาล ให้ 150 คนมาจากการเลือกตั้ง ส่วนอีก 20 คนมาจากการคัดเลือกของรัฐสภา, 20 คนจากการคัดเลือกของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย แบ่งเป็น ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน รัฐศาสตร์/รัฐประศาสนศาสตร์ 10 คน และผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน/การร่างรัฐธรรมนูญ 10 คน และ 10 คนสุดท้าย เป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา ตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกของ กกต.

แต่ประเด็นที่ผู้นำเสนอแต่ละกลุ่มเห็นไม่ตรงกันคือกรอบเวลาในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับที่ 21 ซึ่งต้องใช้เวลาตั้งแต่ 10-15 เดือนเศษ นับจากกระบวนการเฟ้นหา ส.ส.ร. เริ่มต้นขึ้น คนไทยถึงจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่