การสนทนาที่คํานึงถึงหลักมารยาทส่งผลดีต่อตนเอง คู่สนทนา และสังคมอย่างไร

มารยาทในการพูด

การพูดมีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์เป็นอันมากไม่ว่าจะอยู่ที่ใดประกอบกับกิจการงานใดหรือคบหา สมาคมกับผู้ใด ผู้ที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจการงาน การคบหาสมาคมกับผู้อื่นตลอดจนการทำประโยชน์แก่สังคม ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีประสิทธิภาพในการพูดทั้งสิ้น การพูดมีความสำคัญต่อตนเอง เพราะถ้าผู้พูดมีศิลปะในการพูดก็จะเป็นคุณแก่ตนเอง ส่วนในด้านสังคมนั้น เนื่องจากเราต้องคบหาสมาคมและพึ่งพาอาศัยกัน การที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขนั้นจำเป็นต้องเป็นคนที่ “พูดดี” คือพูดไพเราะน่าฟังและพูดถูกต้องด้วย

มารยาทในการพูด

การพูดของคนเราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีหลักเกณฑ์ รู้จักกาลเวลา และที่สำคัญต้องคำนึงถึงมารยาทที่ดีในการพูดด้วย
มารยาทในการพูดแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ

1. มารยาทในการพูดระหว่างบุคคล

2. มารยาทในการพูดในที่สาธารณะ
มารยาทในการพูดระหว่างบุคคล มีดังนี้

1. เรื่องที่พูดควรเป็นเรื่องที่ทั้ง 2 ฝ่าย มีความสนใจและพอใจร่วมกัน
2. ไม่พูดเรื่องของตนเองมากจนเกินไป ควรฟังในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งพูด ไม่สอดแทรกเมื่อเขาพูดยังไม่จบ
3. พูดตรงประเด็น อาจออกนอกเรื่องบ้างพอผ่อนคลายอารมณ์
4. เคารพความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่บังคับให้ผู้อื่นเชื่อหรือคิดเหมือนตน

มารยาทในการพูดในที่สาธารณะ

การพูดในที่สาธารณะต้องรักษามารยาทให้มากกว่าการพูดระหว่างบุคคล เพราะการพูดในที่สาธารณะนั้นย่อมมีผู้ฟังซึ่งมาจากที่ต่าง ๆ กัน มีวัยวุฒิ คุณวุฒิ และพื้นฐานความรู้ ความสนใจและรสนิยมต่างกันไปมารยาทในการพูดระหว่างบุคคลอาจนำมาใช้ได้และควรปฏิบัติเพิ่มเติมดังนี้

1. แต่งกายให้สุภาพเรียบร้อยเหมาะแก่โอกาสและสถานที่
2. มาถึงสถานที่พูดให้ตรงเวลาหรือก่อนเวลาเล็กน้อย
3. ก่อนพูดควรแสดงความเคารพต่อผู้ฟังตามธรรมเนียมนิยม
4. ไม่แสดงกิริยาอาการอันไม่สมควรต่อหน้าที่ประชุม
5. ใช้คำพูดที่ให้เกียรติแก่ผู้ฟังเสมอ
6. ไม่พูดพาดพิงถึงเรื่องส่วนตัวของบุคคลอื่นในที่ประชุม
7. ไม่พูดหยาบโลนหรือตลกคะนอง
8. พูดให้ดังพอได้ยินทั่วกันและไม่พูดเกินเวลาที่กำหนด

“มารยาทเป็นเรื่องสำคัญ”

ข้อควรคำนึงในการสื่อสารด้วยการพูด
การพูดให้เหมาะสมกับบุคคล : ต้องวิเคราะห์ในเรื่องต่อไปนี้ คือ วัย เพศ ระดับการศึกษา อาชีพ ความสนใจพิเศษเพื่อเตรียมเรื่องที่จะพูดได้อย่างเหมาะสม
การพูดให้เหมาะกับกาลเทศะ : ควรพิจารณาว่าจะพูดในโอกาสใด การพูดนั้นเป็นทางการมากน้อยแค่ไหน
การพูดให้ผู้อื่นเข้าใจตรงตามความประสงค์ : ควรใช้ภาษาบ่งบอกความต้องการหรือความมุ่งหมายให้ชัดเจน หลีกเลี่ยงการตีความหลายแง่หลายมุม

การพูดที่ดีไม่ว่าจะเป็นการพูดในโอกาสใด หรือประเภทใด ผู้พูดต้องคำนึงถึงมารยาทในการพูด ซึ่งจะมีส่วนส่งเสริมให้ผู้พูดได้รับการชื่นชมจากผู้ฟัง ซึ่งจะช่วยให้ประสบผลสำเร็จในการพูด มารยาทที่สำคัญของการพูดสรุป ได้ดังนี้

  1. ท่าทางในการยืน นั่ง ควรสง่าผ่าเผย การใช้ท่าทางประกอบการพูดก็มีความสำคัญ เช่น การใช้มือ นิ้ว จะช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจเรื่องราวได้ง่ายยิ่งขึ้น
  2. ต้องรักษามารยาทการพูดให้เคร่งครัดในเรื่องเวลาในการพูด พูดตรงเวลาและจบทันเวลา
  3. พูดเรื่องใกล้ตัวให้ทุกคนรู้เรื่อง เป็นเรื่องสนุกสนานแต่มีสาระ และพูดด้วยท่าทางและกิริยานุ่มนวล เวลาพูดต้องสบตาผู้ฟังด้วย
  4. ไม่ควรพูดเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา การเมือง โดยไม่จำเป็น และไม่ควรพูดแต่เรื่องของตัวเอง
  5. ไม่พูดคำหยาบ นินทาผู้อื่น ไม่พูดแซงขณะผู้อื่นพูดอยู่ และไม่ชี้หน้าคู่สนทนา
  6. พูดด้วยวาจาสุภาพ แสดงหน้าตาที่ยิ้มแย้มแจ่มใส
  7. ไม่พูดอวดตนข่มผู้อื่น และยอมรับฟังความคิดของผู้อื่นเป็นสำคัญ
  8. ไม่กล่าววาจาเสียดแทง ก้าวร้าวหรือพูดขัดคอบุคคลอื่น ควรใช้วิธีที่สุภาพเมื่อต้องการแสดงความคิดเห็น
  9. รักษาอารมณ์ในขณะพูดให้เป็นปกติ
  10. ไม่นำเรื่องส่วนตัวของผู้อื่นมาพูด
  11. หากนำคำกล่าวของบุคคลอื่นมากล่าว ต้องระบุนามหรือแหล่งที่มาเป็นการให้เกียรติบุคคลที่กล่าวถึง
  12. หากพูดในขณะที่ผู้อื่นยังพูดไม่จบ ควรกล่าวคำขอโทษ
  13. ไม่พูดคุยกันข้ามศีรษะผู้อื่น
  14. ออกเสียงพูดให้ชัดเจน ดังพอประมาณ อย่าตะโกนหรือพูดค่อยเกินไป
  15. สีหน้า ท่าทางยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นกันเอง ไม่เคร่งเครียด

หลักการของการพูด

มีผู้ให้หลักเกณฑ์ไว้หลายแบบด้วยกัน แต่ก็มีแนวคล้าย ๆ กันแต่จะขอยกแนวทางอย่างย่อ ๆ มาให้พิจารณาเป็นหลักยึด ดังต่อไปนี้

หลักสิบประการของสมาคมฝึกการพูดแห่งประเทศไทย

  1. จงเตรียมพร้อม
  2. จงเชื่อมั่นในตัวเอง
  3. จงปรากฏตัวอย่างสง่าผ่าเผย
  4. จงพูดโดยใช้เสียงอันเป็นธรรมชาติ
  5. จงใช้ท่าทางประกอบการพูดให้พอเหมาะ
  6. จงใช้สายตาให้เป็นผลดีต่อการพูด
  7. จงใช้ภาษาที่ง่ายและสุภาพ
  8. จงใช้อารมณ์ขัน
  9. จงจริงใจ
  10. จงหมั่นฝึกหัด

ของฝาก

จะพูดจาปราศรัยกับใครนั้น
อย่าตะคั้นตะคอกให้เคืองหู
ไม่ควรพูดอื้ออึ้งขึ้นมึงกู
คนจะหลู่ล่วงลามไม่ขามใจ

กลอนสุนทรภู่ บางตอนจาก “สุภาษิตสอนหญิง”

เป็นมนุษย์สุดนิยมเพียงลมปาก
จะได้ยากโหยหิวเพราะชิวหา
แม้นพูดดีมีคนเขาเมตตา
จะพูดจาพิเคราะห์ให้เหมาะความ

กลอนสุนทรภู่ บางตอนจาก “พระอภัยมณี”

การสนทนาที่คํานึงถึงหลักมารยาทส่งผลดีต่อตนเอง คู่สนทนา และสังคมอย่างไร

การสนทนาที่คํานึงถึงหลักมารยาทส่งผลดีต่อตนเอง คู่สนทนา และสังคมอย่างไร

“มารยาท” คำๆนี้เป็นคำที่ทุกคนคงจะคุ้นชิน ถูกปลูกฝังได้ยินกันมาตั้งแต่เรายังเป็นเด็กๆ ที่เริ่มจำความได้ มารยาทกับสังคม วัฒนธรรมค่านิยมนี้เป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังมาอย่างยาวนานเป็นที่สิ่งไม่ว่าจะเป็นสังคมไหนพบเจอผู้คนแบบไหนก็ควรจะต้องระลึกถึงสิ่งนี้ไว้ตลอดเวลา อย่างที่ทราบกันว่ามารยาทเป็นสิ่งที่ดีงามที่ทุกคนควรจะมีแต่ก็ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังละเลยหรือไม่สนใจเกี่ยวกับมารยาทที่ควรมีต่อสังคม หรืออาจจะกระทำไปโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้ที่ได้ฟัง หรือผู้ที่พบเห็น ซึ่งในบทความนี้เราจะมีเรียนรู้ถึงความสำคัญเรื่องมารยาทในการสนทนาว่ามีความสำคัญอย่างไร จะส่งผลต่อชีวิตประจำวันเราอย่างไร

มารยาทมีหลายรูปแบบแต่การดำรงชีวิต อย่างที่เราทราบกันอยู่แล้วว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม ดังนั้นจึงทำให้มนุษย์อย่างเราจำเป็นที่จะต้องมีการสื่อสารหรือสนทนา  ซึ่งหลายคนอาจมองข้ามความสำคัญในการสนทนา หลายคนต้องการเพียงแค่ว่าต้องการพูดสื่อสารเนื้อความนี้ออกไปโดยไม่สนใจว่าคนฟังจะตีความไปในทางไหน และจะทำร้ายจิตใจผู้ฟังหรือไม่ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเหตุให้มารยาทในการสนทนาเป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อไม่ให้คำพูดของเราไปทำร้ายจิตใจผู้ฟังด้วยเหตุผลหลายๆประการจึงต้องมีการกำหนดมาตรฐานสากลในการใช้คำพูดหรือที่เราเรียกกันว่ามารยาทนั่นเอง

เพราะคำพูดบางคำที่เราพูดออกไปโดยไม่ทันได้คิด คนฟังที่ได้ฟังไปแล้วเราก็ไม่สามารถจะแก้ไขเนื้อหาที่เราสื่อสารออกไปได้เลย ซึ่งมารยาทในการสนทนาก็แบ่งออกได้เป็นหลายแบบเช่นกัน ได้แก่

  • การสนทนาตามวัย ในสังคมเราก็มักจะพบปะผู้คนมากมายหลากหลายวัย ซึ่งในการสนทนาหากเราสนทนากับผู้ที่มีระดับอายุที่น้อยกว่า มากกว่า หรือเท่ากันก็ควรจะเลือกใช้ระดับภาษาและการสนทนาที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ที่ได้ฟังไม่เกิดความขุ่นข้องในจิตใจ
  • การสนทนาตามสถานการณ์ การสนทนาตามสถานการณ์ก็คือการที่เราไปอยู่ในงาน หรือโอกาสพิเศษไหนๆที่เกิดขึ้นก็ควรใช้ภาษาให้เหมาะสม เช่น งานศพ ก็ควรสนทนาให้สุภาพให้เกียรติญาติและผู้เสียชีวิตและไม่ใช้คำหยาบคายพูดจาให้ร้ายบุคคลอื่น เป็นต้น
  • มารยาททั่วไปในการใช้คำพูด เช่น การพูดจาสุภาพ ไม่พูดคำหยาบ , ให้เกียรติผู้พูดโดยการเป็นผู้ฟังที่ดี ,ไม่ขัดจังหวะเวลาคนอื่นพูด ,ไม่โต้เถียง , ไม่โอ้อวด เป็นต้น

หากทุกท่านทำได้ตามที่กล่าวมา ก็จะสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุขทั้งผู้พูดและผู้ฟังก็จะทำให้เกิดสัมพันธ์อันดีต่อกันจะช่วยลดโอกาสที่จะเข้าใจผิดในการสนทนาได้อีกด้วยเช่นกันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกท่านมากขอบคุณครับ