ลักษณะของประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

(บทความนี้เขียนขึ้นเมื่อหลายปีมาแล้วและไม่ได้ตามสานการณ์การศึกษาจนถึงปัจจุบัน ข้อมูลจึงบกพร่องอยู่มาก จึงไม่ควรนำไปใช้อ้างอิงอย่างเป็นทางการ)

การศึกษาวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นคล้ายกับการศึกษาประวัติของครอบครัวหรือสายตระกูล ซึ่งชาวบ้านธรรมดาๆ ก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องมีประสบการณ์การศึกษาทางประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการในสถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัย เพราะโดยธรรมชาติของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนั้น มักเริ่มขึ้นจากเรื่องราวบอกเล่าภายในของผู้คนในท้องถิ่นที่ยังคงมีเรื่องราวให้จดจำได้ และนักวิจัยท้องถิ่นสามารถเรียนรู้ได้จากความชำนาญเท่าที่จำเป็น

การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นริเริ่มอย่างจริงจัง ที่อังกฤษในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยเฉพาะหนังสือของ W. G. Hoskins เรื่อง The Making of the English Landscape พิมพ์ครั้งแรกในปี ๑๙๕๕ ทำให้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นที่แพร่หลาย 

ในการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนั้น บันทึกเอกสารสำคัญที่เก็บรักษาไว้หรือตกทอดสู่ลูกหลาน และผู้อาวุโสในสังคม สามารถให้คำแนะนำ กระตุ้น และเป็นหลักฐานหรือผู้ให้ข้อมูลสำคัญ อีกทั้งการเรียบเรียงและรูปแบบการเขียนเปิดกว้างมาก จึงมีนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจำนวนมากที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แต่เป็นผู้ที่อยู่ในพื้นที่และรู้เรื่องราวและรับรู้ในประวัติศาสตร์ในท้องถิ่นของตนเอง

นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นทั้งหมดใช้กระบวนการที่เริ่มจากข้อเท็จจริงพื้นฐานจากหลักฐานในท้องถิ่น แล้ววิเคราะห์รายละเอียดที่มีอยู่มากมาย เช่น เรื่องราวชีวิตประจำวันกว้างๆ บริบททางภูมิศาสตร์ ความรู้ความชำนาญเฉพาะ เช่น อาชีพประจำท้องถิ่น การทำเกษตรกรรม การค้าขาย เป็นต้น แต่ก็มีอยู่บ้างที่ บางคนใช้วิธีการศึกษาที่มีทฤษฎีวิเคราะห์ร่วมเพิ่มเติม

ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในต่างประเทศหลายๆ แห่ง มักดำเนินได้โดยการสนับสนุนจากหน่วยงานท้องถิ่นที่เป็นหน่วยงานการปกครองอย่างเป็นทางการและสมาคมภาคเอกชน รวมทั้งผู้คนในชุมชน นอกจากการค้นคว้า การสัมมนาหรือจัดประชุมในระหว่างนักประวัติศาสตร์ ท้องถิ่นด้วยกัน กิจกรรมหลักอื่นๆ ที่ส่งเสริมงานประวัติศาสตร์ท้องถิ่นให้มีชีวิตชีวาและรับใช้ชุมชนก็คือ การจัดสร้างห้องสมุด, หอจดหมายเหตุ, พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น, การทำสินค้าที่ระลึกในพิพิธภัณฑ์รวมไปถึงหนังสือประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น, CD เพลงพื้นบ้าน, ข้าวของที่ระลึกต่างๆ บางแห่งรวมเอาศูนย์ผลิตภัณฑ์สินค้าหัตถกรรมของกลุ่มชาวบ้านไว้ในสถานที่เดียวกันหรือในบริเวณเดียวกัน ตลอดจนการจัดการท่องเที่ยวเพื่อชมวิถีชีวิต พื้นที่ หรือสถานที่ เช่น อาคารเก่าเพื่อการค้าหรือที่อยู่อาศัยที่อนุรักษ์แล้ว 

เช่น “สมาคมประวัติศาสตร์ท้องถิ่นญี่ปุ่น” [The Japanese Local History Association] ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. ๑๙๕๐ ซึ่งเป็นองค์กรกลางและมีบทบาทหลักในการเชื่อมประสานในหมู่นักวิจัยท้องถิ่น นักวิชาการ ภัณฑารักษ์ และนักประวัติศาสตร์ รวมทั้งองค์กรทางวิชาการในการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นทั่วญี่ปุ่น ในกรณีของประเทศญี่ปุ่นนั้น หน้าที่ความรับผิดชอบอย่างสำคัญขององค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นไม่ว่าจะระดับใดก็ตาม ก็คือมีหน้าที่ในการสร้างสถานที่และดำเนินการรวมทั้งกิจกรรมที่มีความต่อเนื่อง เช่น พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ศิลปะ สวนสาธารณะ City Hall โรงละคร ลดหลั่นกันไปตามสถานะทางเศรษฐกิจของจังหวัด เมือง หรือชุมชนต่างๆ  

ในญี่ปุ่น “ความแตกต่างในความเป็นหนึ่งเดียว” สนับสนุนความหลากหลายทางชีวิตวัฒนธรรมย่อยๆ ที่แสดงออกจากเรื่องราวความเป็นมาหรือประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ระบบสัญลักษณ์ของกลุ่มตระกูล การใช้ภาษาและสำเนียงการพูด บ้านเรือน อาหารการกิน เครื่องนุ่งห่มและวิธีแต่งกาย และกลายเป็นฐานความรู้สำคัญเมื่อเกิดการจัดการท่องเที่ยว พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น และสินค้าต้นกำเนิด โอทอปตามฤดูกาล ซึ่งเป็นพื้นฐานที่แตกต่างไปจากการดำเนินการสร้าง OTOP (โครงการ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ) ในท้องถิ่นต่างๆ ของประเทศไทยที่เพียงตัดยอดรูปแบบที่มิได้คงความหมายของความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น ตามแนวทางที่ต้องใช้ความหลากหลายของท้องถิ่นเป็นอัตลักษณ์ของสินค้าตามที่ควรจะเป็น

ก่อนเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในประเทศไทย

จากการสำรวจเพื่อทำความเข้าใจเบื้องต้นถึงความหมายของการใช้คำว่า “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น” ในประเทศไทยพบว่า การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการศึกษาทางสังคมศาสตร์หลายประการ จึงเลือกลักษณะของรูปแบบการเขียนงานทางประวัติศาสตร์บางประการที่น่าจะมีอิทธิพลต่อการสร้างงาน “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในประเทศไทย” มาพิจารณาโดยย่อ ดังนี้ 

ประวัติศาสตร์อนุภาค [Micro History]

ประวัติศาสตร์อนุภาคเป็นสาขาหนึ่งของวิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งพัฒนาเริ่มแรกในช่วงทศวรรษที่ ๑๙๗๐ การศึกษาประวัติศาสตร์อนุภาคเน้นศึกษาในขอบเขตเล็กๆ เช่น เมืองขนาดเล็กหรือหมู่บ้าน โดยศึกษาข้อมูลในระดับปัจเจกและเน้นเรื่องราวที่มีความสำคัญรองลงมาจากเหตุการณ์ใหญเ เนื่องจากการวิเคราะห์ภาพเหตุการณ์หรือเรื่องราวที่เป็นองค์ประกอบต่างๆ นั้น เป็นรากฐานที่นำไปสู่ความเข้าใจในเหตุการณ์สำคัญๆ ได้

Micro History เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการศึกษาประวัติศาสตร์แบบใหม่หรือ New History เน้นศึกษาเรื่องที่มีคุณค่าและได้รับความสนใจภายในชุมชนท้องถิ่นนั้น ด้วยเหตุนี้เอง ในด้านหนึ่งงานของ Clifford Geertz นักมานุษยวิทยาที่ถูกจัดในกลุ่ม มานุษยวิทยาวัฒนธรรม [Cultural Anthropology] ที่ใช้การศึกษาระบบสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมอธิบายการติดต่อสื่อสารของผู้คน เพิ่มความเข้าใจในสิ่งที่มนุษย์ทำความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตของพวกเขา แนวคิดทฤษฎีีทางวัฒนธรรมและสังคมของเขาส่งอิทธิพลต่อ นักภูมิศาสตร์ นักนิเวศวิทยา นักรัฐศาสตร์ นักมนุษยศาสตร์ จนถึงนักประวัติศาสตร์ในกรณีเดียวกัน

ประวัติศาสตร์แบบใหม่หรือ New History เป็นคำเดียวกับ Nouvelle Histoire เกิดขึ้นจากกลุ่มนักประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสสกุลแอนนาล  [Annales School] รุ่นที่ ๓ ในทศวรรษที่ ๑๙๗๐ 

เมื่อกล่าวถึง New History จึงต้องอ้างถึงนักประวัติศาสตร์ในสกุลแอนนาล [Annales School] ซึ่งใช้การตีความทางประวัติศาสตร์แบบทุกแง่มุม [Total History] เป็นสกุลประวัติศาสตร์ที่ได้ชื่อมาจากวารสารทางวิชาการคือ Annales d’histoire conomique et sociale ที่ก่อตั้งโดย Marc Bloch และ Lucien Febvre ในปี ค.ศ. ๑๙๒๙ โดยใช้วิธีการศึกษาแบบสังคมศาสตร์อย่างเป็นระบบมาใช้ในการศึกษาประวัติศาสตร์ผนวกกับความรู้ทางภูมิศาสตร์ ปฏิเสธการครอบงำของการเขียนประวัติศาสตร์ที่เน้นเรื่องราวทางการเมือง การทูต และการสงคราม รวมทั้งวิธีการเขียนพรรณนาทางประวัติศาสตร์โดยใช้เอกสารทางราชการเป็นแหล่งข้อมูลหลักแบบนักประวัติศาสตร์์ ในยุคศตวรรษที่ ๑๙ 

แม้ว่าจะมีนักประวัติศาสตร์บางคนยังคงทำงานภายใต้รูปแบบการศึกษาของสกุลแอนนาล แต่ทุกวันนี้วิธีการศึกษาแบบแอนนาลก็มีความต่างน้อยลงตามลำดับเมื่อเปรียบเทียบกับนักประวัติศาสตร์ที่ทำงานในด้านประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ  [Cultural History and Economic History]

ในช่วงทศวรรษที่ ๑๙๔๐ และ ๑๙๕๐ Fernand Braudel เป็นนักวิชาการชั้นนำในสกุลแอนนาล งานของเขาจัดว่าอยู่ในช่วงที่สองของการเขียนงานประวัติศาสตร์แบบที่ใช้ปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมขนาดใหญ่มาร่วมวิเคราะห์ เขามีต่อนักประวัติศาสตร์ต่างๆ ทั่วโลกจนถึงยกให้เขาเป็นนักประวัติศาสตร์คนสำคัญในกลุ่มนักประวัติศาสตร์ยุคใหม่ 

โดยเฉพาะงานหนึ่งในสามเรื่องที่ใช้เวลาการค้นคว้าอย่างละเอียดและยาวนานคือ เมดิเตอเรเนียนในยุคพระเจ้าฟิลิปที่ ๒ แห่งสเปน พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒ และตีพิมพ์ต่อมาอีกหลายครั้ง, La Méditerranée et le Monde Méditerranéen à l’Epoque de Philippe II (1949) (The Mediterranean and the Mediterranean World in the Age of Philip II) 

วิธีการศึกษาแบบประวัติศาสตร์อนุภาคนั้น ใช้การศึกษาทางด้านสังคมหรือ ประวัติศาสตร์สังคม [Social History] ซึ่ง ใช้การวิเคราะห์หลักฐานทางประวัติศาสตร์ จาก มุมมองพัฒนาการทางสังคม ซึ่งรวมเอาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ชนชั้น การวิเคราะห์ในแง่มุมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประชาสังคมซึ่งแสดงถึงวิวัฒนาการของบรรทัดฐานทางสังคม พฤติกรรม ฯลฯ ซึ่งต่างไปจากประวัติศาสตร์การเมืองหรือประวัติศาสตร์ทางการทหาร และประวัติศาสตร์ของวีรบุรุษหรือมหาบุรุษในรูปแบบการเขียนประวัติศาสตร์แบบเดิมๆ 

ความต่างของนักประวัติศาสตร์แบบดั้งเดิมกับนักประวัติศาสตร์สังคมก็คือ นักประวัติศาสตร์แต่เดิมจะเน้นการพรรณนา เช่น ใคร ทำอะไร ที่ไหน ส่วนนักประวัติศาสตร์สังคมนั้นจะเน้นการตั้งคำถาม เช่น ทำไมจึงเกิดความเคลื่อนไหวเกิดขึ้น และเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ประเด็นสำคัญอะไรที่สนับสนุนให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น วิธีการศึกษาเช่นนี้ทำให้นักวิชาการสามารถอภิปรายได้อย่างเต็มที่สำหรับแง่มุมที่ยังไม่ได้ให้ความสำคัญหรือมีการศึกษามากนัก

ประวัติศาสตร์สังคมมักถูกอธิบายว่าเป็น ประวัติศาสตร์จากรากหญ้า หรือ ประวัติศาสตร์แบบรากหญ้า [History from Below] การศึกษาประวัติศาสตร์เช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สังคม พัฒนามาจากการศึกษาแบบสกุลแอนนาลและเป็นที่นิยมศึกษากันในช่วงทศวรรษที่ ๑๙๖๐ มุ่งเน้นไปที่มุมมองของบุคคลธรรมดาภายในสังคมและอาณาบริเวณ ซึ่งถูกมองว่าไม่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ นั่นหมายรวมเรื่องราวของกลุ่มผู้หญิง กลุ่มรักร่วมเพศ กลุ่มผู้ใช้แรงงานหรือบ้านเมืองในอาณานิคมของชาวตะวันตกที่ห่างไกล ฯลฯ เพราะเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้คนและกลุ่มคนจำนวนมาก ซึ่งคนเหล่านี้เป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์มากเสียยิ่งกว่าผู้นำ นอกจากนี้ยังมีอิทธิพลจากแนวคิดแบบมาร์กซิสเรื่อง ชนชั้นทางสังคมและเศรษฐกิจคือสิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ การเขียนงานแบบมาร์กซิสทำให้เกิดประวัติศาสตร์ของชนชั้นแรงงานที่เรียกว่า วัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์ [Historical Materialism] ที่ศึกษาการกดขี่ครอบงำการจัดการทรัพยากรพื้นฐานด้วยทุนและรัฐ โดยใช้วิธีวิทยาของ ประวัติศาสตร์จากรากหญ้า  

แนวคิดแบบมาร์กซิสคือหนึ่งในกุญแจสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ในสกุลแอนนาล และมีอิทธิพลอย่างมากต่อการเขียนงานแบบ ประวัติศาสตร์สังคม

ประวัติศาสตร์บอกเล่า [Oral History]

เป็นการเล่าเรื่องผ่านปากคำจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่งและเป็นส่วนหนึ่งของ “ประเพณีบอกเล่า” หรือ Oral Tradition ประวัติศาสตร์บอกเล่าสามารถบันทึกปากคำหรืออธิบายเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ร่วมสมัยต่างๆ แต่สำหรับนักประวัติศาสตร์บางคนถือว่าเป็นหลักฐานที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ ในขณะที่นักประวัติศาสตร์บางกลุ่มเห็นว่ามีความหมายที่คงอยู่และมีการส่งผ่านความหมายนั้น 

เพราะในแต่ละช่วงเวลาผู้คนสร้างความทรงจำขึ้นมาใหม่ๆ ตลอดเวลา ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในความทรงจำนั้น แต่เนื้อเรื่องหลักยังคงอยู่  

นักมานุษยวิทยาที่เก็บข้อมูลประวัติศาสตร์บอกเล่าต้องใช้ความชำนาญและถือคติว่า ต้องหลีกเลี่ยงที่จะถามนำ เพราะคนส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะพูดในสิ่งที่คนสัมภาษณ์ต้องการให้พูดอยู่แล้ว การทำงานประวัติศาสตร์บอกเล่าจึงจำเป็นต้องใจเย็นและสามารถรอได้เพื่อจะได้คำตอบที่ส่งผ่านมาจากเจ้าของเรื่องราวนั้นโดยตรง ปราศจากอคติของผู้สัมภาษณ์เข้าไปเกี่ยวข้อง

นักประวัติศาสตร์บอกเล่าพยายามที่จะบันทึกความทรงจำของผู้คนมากมาย แต่ละคนอาจจะจำผิดพลาดหรือบิดเบือนด้วยเหตุผลส่วนตัว เอกสารทางประวัติศาสตร์จึงถูกนำมาพิจารณาให้เป็นตัวช่วยมากกว่าที่จะเชื่อถือผู้ให้ข้อมูลเพียงคนเดียว ประวัติศาสตร์บอกเล่ามักใช้เป็นวิธีการศึกษาเมื่อทำการศึกษาประวัติศาสตร์จากรากหญ้า [History from below]

ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ [Ethnohistory]

การศึกษาวัฒนธรรมทางชาติพันธุ์และธรรมเนียมของชนพื้นเมืองโดยการบันทึกตัวอย่างทางประวัติศาสตร์ เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆที่อาจจะหรืออาจจะไม่มีอยู่ทุกวันนี้ วิธีการศึกษาใช้ทั้งแนวทางเช่นศึกษารวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์และข้อมูลทางชาติพันธุ์วรรณนา ผู้ศึกษาจะใช้เครื่องมือ เช่น แผนที่ ดนตรี ภาพวาด ภาพถ่าย เรื่องเล่า ประเพณีบอกเล่า สภาพนิเวศ พื้นที่โบราณต่างๆ โบราณสถานและโบราณวัตถุ สิ่งของเครื่องใช้ที่เก็บรวบรวมในพิพิธภัณฑ์ ประเพณีที่ยังคงอยู่ ภาษา ชื่อสถานที่ เป็นต้น นักประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์จึงมีการเรียนรู้ที่จะใช้ความรู้เฉพาะอย่าง เช่น ความรอบรู้เรื่องภาษาศาสตร์ ความเข้าใจปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมในหนทางที่จะสร้างการวิเคราะห์ในแนวลึกได้มากกว่านักประวัติศาสตร์โดยทั่วไป 

ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์คือความพยายามศึกษาอย่างมากให้อยู่บนฐานของการศึกษาแบบองค์รวม/Holistic เป็นวิธีการศึกษาแบบประวัติศาสตร์ที่มีความคุ้มค่ามากที่สุด เมื่อมันสามารถ “รวมเอาความทรงจำและเสียงของผู้คนที่ยังมีชีวิตอยู่เข้าไปด้วย” [Simmons, William S. 1988. Culture Theory in Contemporary Ethnohistory / Ethnohistory]

ประวัติศาสตร์สภาพแวดล้อม [Environmental History]

คือการศึกษามนุษย์และธรรมชาติกับความสัมพันธ์ระหว่างกันที่มีมาในอดีต แม้จะใช้วิธีวิทยาทางประวัติศาสตร์ แต่มักจะหยิบยืมจากงานของนักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการในสาขาอื่นๆ

ประวัติศาสตร์สภาพแวดล้อมโยงใยถึง ประวัติศาสตร์สภาพแวดล้อมทางวัตถุ และ ประวัติศาสตร์สภาพแวดล้อมเชิงวัฒนธรรม / ภูมิปัญญา ซึ่งเน้นที่ภาพตัวแทนของสภาพแวดล้อมที่สัมพันธ์กับสังคม ประวัติศาสตร์สภาพแวดล้อมทางการเมือง เกี่ยวกับกฎเกณฑ์ของรัฐบาล กฎหมาย และนโยบายของรัฐ 

การศึกษาทั้งหมดเน้นเรื่องผลกระทบต่อปัจจัย  ทางสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อการพัฒนาสังคม การ

เปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและมนุษย์ที่เป็นตัวแทนในการเปลี่ยนแปลง แต่ก็มักจะติดอยู่กับการเปลี่ยนแปลงแบบโรแมนติกที่เอาแต่โศกเศร้าเสียใจ 

พัฒนาการของสกุลอันนาลในช่วงทศวรรษที่ ๒๐ มีอิทธิพลมากต่อประวัติศาสตร์สภาพแวดล้อมในฐานะที่เน้นต่างไปจากประวัติศาสตร์การเมืองและภูมิปัญญาผ่านทางการศึกษาเรื่องเกษตรกรรม ประชากร และภูมิศาสตร์ 

ประวัติศาสตร์สภาพแวดล้อมสมัยใหม่เกิดขึ้นในยุคทศวรรษที่ ๖๐ และต้นทศวรรษที่ ๗๐ พร้อมกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม งานช่วงแรกๆ เน้นไปที่สังคมก่อนอุตสาหกรรมและความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นผลมาจากการเมืองระดับประเทศและในท้องถิ่นที่การทำลายความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมที่เคยมีมา เป็นต้น  

ประวัติศาสตร์วัฒนธรรม [Cultural History]

มีการกล่าวถึงคำจำกัดของประวัติศาสตร์วัฒนธรรมมาตั้งแต่ทศวรรษที่ ๗๐ ซึ่งรวมเอาวิธีการศึกษาแบบมานุษยวิทยาและประวัติศาสตร์เพื่อนำและในอเมริกาที่ใกล้เคียงกับการศึกษา American Studies 

ส่วนใหญ่จะศึกษาปรากฏการณ์ร่วมกันของกลุ่มคนที่ไม่ใช่ชนชั้นนำ เช่น งานคาร์นิวัล งานเทศกาล และพิธีกรรมสาธารณะ การแสดงเรื่องราว วิวัฒนาการทางวัฒนธรรมในความสัมพันธ์ของมนุษย์ (แนวคิด วิทยาศาสตร์ ศิลปะ เทคนิควิธี) และความเคลื่อนไหวทางสังคมที่แสดงออกทางวัฒนธรรม เช่น ชาตินิยม 

แนวคิดหลักทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรม เช่น อำนาจ อุดมการณ์ ชนชั้น วัฒนธรรม อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ทัศนคติ เชื้อชาติ มุมมอง และวิธีการของประวัติศาสตร์แนวใหม่ เช่น การแสดงออกของเรื่องราวทางร่างกาย 

ซึ่งการศึกษาจำนวนหนึ่งพิจารณาในเรื่องการปรับตัวของวัฒนธรรมแบบประเพณีไปสู่ยุคแห่งการสื่อสารมวลชน เช่น ทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ วารสาร ภาพโปสเตอร์ จากการพิมพ์สู่แผ่นฟิล์ม และอินเตอร์เน็ต ฯลฯ ที่เป็นวัฒนธรรมของทุนนิยมมีที่มาจากงานแบบประวัติศาสตร์ศิลป์ งานศึกษาสกุลอันนาล สกุลศึกษาแบบ มาร์กซิส ประวัติศาสตร์แบบอนุภาค และประวัติศาสตร์วัฒนธรรมแบบใหม่ 

ผู้ที่ถูกกล่าวถึงและอ้างอิงผลงานบ่อยครั้งในการศึกษาประวัติศาสตร์วัฒนธรรม คือ Jürgen Habermas ในเรื่องพื้นที่สาธารณะ (Public sphere) เขาเป็นที่รู้จักจากแนวคิดเรื่อง ‘เหตุผลการสื่อสาร’ (Communicative rationality)  และ  Clifford Geertz ในเรื่อง thick description ซึ่งหมายถึง พฤติกรรมของมนุษย์ที่ไม่เพียงแต่จะอธิบายเฉพาะเพียงแค่พฤติกรรม แต่ต้องศึกษาบริบทแวดล้อมด้วย ด้วยการพิจารณาดังกล่าว พฤติกรรมเหล่านั้นจึงจะมีความหมายต่อคนภายนอก

ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในประเทศไทย

เมื่อประมวลจากเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับภาพเคลื่อนไหวของการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในรอบกว่า ๓๐ ปีที่ผ่านมา ประเมินจากงานศึกษาที่ปรากฏแล้วจำนวนหนึ่ง เช่น งานของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล “The Changing Landscape of the past : new histories in Thailand since 1973” [Journal of Southeast Asian Studies. Volume: 26. Issue: 1. Publication Year: 1995] 

รายงานวิจัย “โครงการประมวลวิเคราะห์และสังเคราะห์ความรู้เพื่อเขียนตำราเรื่องการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไทย” ของ อาจารย์ยงยุทธ ชูแว่น เสนอต่อสกว. พ.ศ. ๒๕๔๘ “การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น” ของอาจารย์ฉลอง สุนทราวาณิชย์ และ “สถานะของการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น” อาจารย์ฉลองนำสนทนา “จากการเมืองทางปัญญาสู่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น” ของอาจารย์ธิดา สาระยะ ใน “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น”, (สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, ๒๕๒๙) “สังคมไทยในความคิดและความใฝ่ฝันของ

อาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา” ของอาจารย์อานันท์ กาญจนพันธุ์ (สำนักเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๙)  ทำให้เข้าใจพัฒนาการของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในประเทศไทยได้ดังนี้

การเขียนประวัติศาสตร์นิพนธ์แบบพงศาวดารตั้งแต่ต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก็เพื่อวัตถุประสงค์ในการฟื้นฟูบ้านเมือง เพราะพระราชพงศาวดารไปจนถึงการชำระพระราชพงศาวดารของเหตุการณ์บ้านเมืองในสมัยอยุธยาคือการสร้างแผ่นดินให้กลับมั่นคงดังเดิม การแต่งและแปลวรรณคดี ตลอดจนชำระเอกสารต่างๆ จึงมีความจำเป็นตลอดมาในช่วงรัชกาลที่ ๑ ไปจนถึงรัชกาลที่ ๓ 

การเคลื่อนไหวเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเริ่มชัดเจนตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา เพื่ออ้างสิทธิ์ในยุคอาณานิคมที่ต้องมีพรมแดน อาณาเขตที่ชัดเจน และเป็นส่วนหนึ่งของการก่อตัวรัฐชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมและการเมืองในช่วงรัชกาลที่ ๔ และ ๕ นำมาซึ่งการเติบโตของปัญญาชนที่เป็นสามัญชน ประวัติศาสตร์ที่ผูกขาดการสร้างโดยชนชั้นนำเริ่มขยับขยายไปสู่คนธรรมดาที่มีการศึกษาทั้งในท้องถิ่นและที่ศูนย์กลาง แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมจากรัฐแบบโบราณจนกลายเป็นรัฐชาติในช่วงเวลาดังกล่าว ส่งผลการผูกขาดการสร้างประวัติศาสตร์ของชนชั้นนำมากเกินไป ประวัติศาสตร์ถูกนำมารับใช้ชนชั้นนำ เช่น ประวัติศาสตร์ในสกุลดำรงราชานุภาพและประวัติศาสตร์แบบหลวงวิจิตรวาทการ

สำหรับประเทศไทย ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นคำที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ ๒๕๑๐ มีหลักฐานการใช้คำว่า “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น” ในคำนำหนังสือ ประวัติศาสตร์อีสาน ฉบับพิมพ์ครั้งแรกของ เติม  วิภาคย์พจนกิจ โดยอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๓ (ค.ศ. ๑๙๗๐) 

กระบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษามีผลกระทบต่อสังคมหลังเหตุการณ์เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ และ พ.ศ. ๒๕๑๙ ทำให้เกิดกระแสตื่นตัวทางปัญญาโดยเฉพาะการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอย่างกว้างขวาง มีการสร้างประวัติศาสตร์แบบใหม่หรือ New History ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ คือผลของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจในประเทศไทยนับแต่เริ่มใช้แผนพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติในทศวรรษที่ ๕๐ เป็นต้นมา พลังของประวัติศาสตร์แบบใหม่ได้เผชิญหน้ากับสังคมและรัฐไทยแบบใหม่

แม้จะได้รับอิทธิพลวิธีการศึกษาประวัติศาสตร์จากตะวันตก ซึ่งหมายถึงประวัติศาสตร์แบบใหม่หรือ New History ที่มีการศึกษาหลายแนวทาง เช่น ประวัติศาสตร์จากรากหญ้า ประวัติศาสตร์แบบใหม่ ประวัติศาสตร์สังคม ประวัติศาสตร์สภาพแวดล้อม แต่ในประเทศไทยก็ยังคงใช้คำว่า “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น” แบบรวมๆ และคลุมเครือ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดความวาทกรรมและในทางสังคมศาสตร์ เช่น มานุษยวิทยา  มาใช้ร่วมกัน การเกิดขึ้นของประวัติศาสตร์นอกศูนย์กลางหรือประวัติศาสตร์ท้องถิ่นคลี่คลายจนมีแนวทางศึกษาอีกหลายด้าน  เช่น ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์สังคม และประวัติศาสตร์วัฒนธรรม เกิดแนวทางการศึกษาที่กลายเป็นการวิเคราะห์การสร้างวาทกรรมทางประวัติศาสตร์ในอดีต โดยต้องการตอบโต้ “ประวัติศาสตร์แบบจารีต” [Conventional History] สร้างวิธีการศึกษาโดยปฏิเสธ ต่อต้าน รื้อประวัติศาสตร์แบบรวมศูนย์ แบบมหาราช แบบการสงคราม จนกลายเป็นการศึกษาเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ได้มุ่งเน้นแต่เพียงเฉพาะแต่ความสนใจแบบเดิมๆ ดังที่เคยเป็นมา

New History ในประวัติศาสตร์ไทย
การต้านสกุลดำรงฯ และ Total History แบบนิธิ  เอียวศรีวงศ์

อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เห็นว่าประวัติศาสตร์แบบสกุลดำรง-ราชานุภาพเน้นในเรื่องศูนย์กลางของประวัติศาสตร์ที่เมืองหลวงและทำให้ท้องถิ่นหายไป ประวัติศาสตร์ไทยจึงไม่มีอะไรนอกไปจากการเมืองในราชวงศ์ของกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ อาจารย์นิธิอยากให้สอบสวนศึกษาและวิพากษ์วิจารณ์มากกว่านี้ เป็นประวัติศาสตร์แบบทุกด้าน หรือ Total History ศึกษาทุกอย่างในบริบทของพื้นที่และเวลา ประวัติศาสตร์ของอาจารย์นิธิมีในหลายทิศทาง เช่น การศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยาตอนปลาย-ต้นรัตนโกสินทร์ในปลายศตวรรษที่ ๑๘, บรรยากาศของปัญญาชนหลังการเสียกรุง, โลกทัศน์ของชนชั้นนำ, การเมืองแบบเชิดชูสถาบันกษัตริย์ [Machiavellian Politics] ในการสร้างประวัติศาสตร์เพื่อรับใช้ราชวงศ์ใหม่ แต่ละเรื่องล้วนเป็นเรื่องหลักของประวัติศาสตร์แบบเก่า 

แต่เมื่ออยู่ในมือของอาจารย์นิธิกลับสามารถสร้างมุมมองได้อย่างรอบด้านสำหรับงานเขียนเรื่องของพระเจ้าตาก อาจารย์นิธิทำให้ประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานี้เปลี่ยนรูปแบบไป โดยดำรงอยู่ในบริบททางสังคมและการเมือง งานชิ้นนี้ถือว่าทำได้อย่างดี แต่อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ให้ความเห็นจากรายงานการวิจัยของเขาว่า เป็นเรื่องที่น่าแปลกสำหรับในแง่วิชาการทางประวัติศาสตร์ที่ไม่ปรากฏว่ามีการถกเถียงใดเลย โดยให้ความเห็นว่าพลังอำนาจในการเขียนของผู้เขียนและงานชิ้นนี้ทำให้กลายเป็นเรื่องเบ็ดเสร็จเกินไป

ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแบบศรีศักร วัลลิโภดม 

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เติบโตทางวิชาการมาทางสายงานศึกษาประวัติศาสตรแบบโบราณ ที่สัมพันธ์กับงานศึกษาทางโบราณคดีและเมื่อผนวกเข้ากับความรู้ทางมานุษยวิทยาสังคม ทำให้เกิดการศึกษาเฉพาะตน ซึ่งจัดเข้ากลุ่มเข้าประเภทกับแนวทางการศึกษาที่กล่าวมาแล้วได้ยาก แต่เป็นการผสมผสานเพื่อทำความเข้าใจสังคมวัฒนธรรมของมนุษย์ในปัจจุบัน โดยผ่านสภาพแวดล้อม ตำนาน ประวัติศาสตร์บอกเล่า งานโบราณคดี และเอกสารทางประวัติศาสตร์ต่างๆ 

งานของอาจารย์ศรีศักรเสนอว่า ผู้คนและวัฒนธรรมในดินแดนที่เรียกว่าประเทศไทยทุกวันนี้คือคนสยาม โดยเน้นย้ำว่านี่คือประวัติศาสตร์ของ “สยามประเทศ” ซึ่งตรงกันข้ามกับประวัติศาสตร์ไทยที่เป็นประวัติศาสตร์ของเชื้อชาติ “ประวัติศาสตร์ชาติไทย” เพราะอาจารย์ไม่เคยคิดเรื่องการค้นหาต้นกำเนิดของคนไทยในเรื่องเชื้อชาติ “ไต” ซึ่งเป็นเรื่องเสียเวลาเปล่า

อดีตของคนสยามในความคิดของอาจารย์ศรีศักรไม่ใช่ทั้งเรื่องการอพยพเคลื่อนย้ายของชนชาติใดๆ ที่ถูกมองว่าเป็นอื่นและไม่เป็นแนวเส้นตรงจากช่วงสุโขทัยจนถึงกรุงเทพฯ แต่คือกระบวนวิวัฒนาการในการสังสรรค์ทางสังคมมนุษย์และระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม จากยุคการตั้งถิ่นฐานแรกๆ ในช่วงก่อนประวัติศาสตร์จนถึงชุมชนขนาดเล็กๆ เมือง หน่วยทางการเมือง และอาณาจักร จากสังคมหาอาหารป่า ล่าสัตว์ สู่สังคมเกษตรกรรมและการค้า จากระบบเครือญาติแบบง่ายๆ ไปสู่ความสัมพันธ์ทางสังคมที่ซับซ้อน 

อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล กล่าวในรายงานการศึกษาว่า ความสนใจที่เพิ่มขึ้นเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ผ่านมาคือผลลัพธ์จากมุมมองทางประวัติศาสตร์ของอาจารย์ศรีศักรเป็นส่วนสำคัญ เพราะเป็นแนวทางศึกษาเพื่อจะสร้างรัฐแบบไม่รวมศูนย์หรือเป็นประวัติศาสตร์แบบไม่เป็นเส้นตรงดังที่เคยศึกษากันมา ข้อมูลจากท้องถิ่นที่ผ่านการสำรวจและการค้นคว้าอย่างต่อเนื่องจึงทำให้เกิดกระแสความสนใจในงานศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นทั่วประเทศ

ความคาดหวังของอาจารย์ศรีศักรเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมุ่งเน้นไปที่การศึกษาสังคมชาวนา [Peasant Society] เพราะเห็นว่าสังคมพื้นฐานของผู้คนในท้องถิ่นในประเทศไทยอยู่ในสังคมชาวนาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสังคมใหญ่ [Part Society]

อาจารย์ศรีศักรเห็นว่า ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นคือประวัติศาสตร์สังคม ที่แสดงให้เห็นความเป็นมาของผู้คนในท้องถิ่นเดียวกันที่อาจมีความแตกต่างทางชาติพันธุ์ก็ได้ แต่เมื่อเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่เดียวกันตั้งแต่ ๒-๓ ชั่วคนแล้ว ก็จะเกิดสำนึกร่วมขึ้นเป็นคนใน ท้องถิ่นเดียวกัน มีจารีตขนบประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อ และกติกาในทางเศรษฐกิจและสังคมร่วมกัน โดยมีพื้นฐานทางความเชื่อและศีลธรรมเดียวกัน 

การเข้าถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นต้องเข้าถึงและเห็นคนกับพื้นที่ซึ่งมีความสัมพันธ์กันโดยศึกษาโครงสร้างสังคม เก็บข้อมูลจากบุคคลในปัจจุบันให้เห็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคตอย่างต่อเนื่องว่ามีความเป็นมาและเปลี่ยนแปลงอย่างไร และน่าจะเป็นอย่างไรในอนาคต 

การเก็บข้อมูลจากโครงสร้างสังคมดังกล่าวนี้ ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม-สังคม นับเป็นการศึกษาชีวิตวัฒนธรรมที่มีพลวัต เมื่อเข้าถึงคนแล้วจึงเข้าถึงพื้นที่ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยและถิ่นกำเนิดของผู้คนในกลุ่มนั้น การศึกษาพื้นที่ต้องเริ่มจากชื่อสถานที่ทั้งที่เป็นธรรมชาติและวัฒนธรรม การศึกษาเกี่ยวกับชื่อสถานที่หมายถึงการศึกษาบรรดาชื่อสถานที่ต่างๆ ซึ่งคนในท้องที่รู้จักสืบทอดกันมาจนปัจจุบัน เป็นพื้นที่ซึ่งแต่เดิมเป็นนิเวศธรรมชาติ แต่ได้มาปรับเปลี่ยนเป็นนิเวศวัฒนธรรมจากการปรับตัวของผู้คนในชุมชนนั้นเอง

ดังนั้นงานของอาจารย์ศรีศักรจึงไม่ได้ยึดติดแต่เพียงการล้มวิธีการศึกษาในประวัติศาสตร์ราชวงศ์หรือประวัติศาสตร์แบบเส้นตรง แต่เป็นการนำเอาแนวคิดทางมานุษยวิทยาสังคมที่ให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูลโครงสร้างของสังคมโดยพื้นฐานตามท้องถิ่นต่างๆ มาใช้ศึกษาความสัมพันธ์ของคนกับธรรมชาติ คนกับคนด้วยกันเองและคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติหรือความเชื่อ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ครอบคลุมการศึกษาทุกมิติในสังคมของมนุษย์ที่อยู่เป็นชุมชน จึงสามารถกล่าวไดว่า ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของอาจารย์ศรีศักรคือการศึกษาสังคมท้องถิ่นนั้น เป็นประวัติศาสตร์สังคมของท้องถิ่นต่างๆ นั่นเอง

ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของสุเทพ สุนทรเภสัช

จากบทความเรื่อง “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น : การศึกษาประวัติศาสตร์ระดับจุลภาค” เป็นบทความที่เสนอในงานสัมมนาเรื่อง “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น” จัดโดยสมาคมประวัติศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๒๒ อาจารย์สุเทพสรุปว่า ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นคือประวัติศาสตร์สังคมของชุมชนท้องถิ่น ซึ่งต้องมีการศึกษาในระดับชุมชน [Community] ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในอาณาเขตที่แน่นอน มีความผูกพันร่วมกัน เช่น ระบบความเชื่อหรือพิธีกรรมต่างๆ และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นการศึกษาแบบ Micro History

อีกทั้งเสนอว่านักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่จะทำงานได้ดีที่สุด จำเป็นต้องมีลักษณะบางประการ เช่น มีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติอย่างเพียงพอ หมายถึงเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างท้องถิ่นกับภายนอก ควรจะต้องมีสำนึกเกี่ยวกับภูมิประเทศ [Topographic Sense] และควรมีความสามารถด้านการประพันธอย่างดี ซึ่งข้อเสนอในขณะนั้น ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นกำลังเป็นแนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์ที่ใหม่ที่สุดในประเทศไทย

ประวัติศาสตร์เน้นมวลชน / ประวัติศาสตร์จากรากหญ้า  ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของ ธิดา สาระยา

ความพยายามสร้างแนวคิดและการหาคำอธิบายเรื่อง ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เป็นข้อเสนอทางวิชาการจากอาจารย์ธิดา สาระยา ซึ่งยกคุณค่าทางการเมืองให้แก่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นโดยเสนอการต่อสู้ของผู้อยู่เบื้องล่าง หรืออาจจะเรียกได้ว่าผู้เป็นรากหญ้าของสังคมที่สร้างประวัติศาสตร์ของตนเองจากยุคปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ จนถึงช่วงของจิตร ภูมิศักดิ์ ในช่วงทศวรรษที่ ๑๙๕๐ 

อาจารย์ธิดาเสนอว่า ประวติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นประวัติศาสตร์ของมวลชน เพราะประวัติศาสตร์ท้องถิ่นคือประวัติศาสตร์ของสังคมท้องถิ่นซึ่งมวลชนเป็นตัวละคร โดยประวัติศาสตร์สังคมที่เน้นในเรื่องมวลชน ในความหมายของอาจารย์ มวลชนก็คือ “ท้องถิ่นที่อยู่ในชนบท” 

แต่มีนักวิชาการหลายท่านเห็นว่างานประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของอาจารย์ธิดาไม่ได้ลงลึกและมีรายละเอียดไปถึงมวลชนหรือรากหญ้าแต่อย่างใด 

สำหรับในความคิดของอาจารย์ธิดา สาระยา ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแม้จะเป็นการโต้ตอบกับประวัติศาสตร์กระแสหลัก แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธ แต่ได้ยึดไว้เป็นหลัก แต่ก็มุ่งหวังว่าจะสามารถข้ามไปให้พ้นและใช้วิธีแบบสหวิทยาการหรือ Interdisciplinary โดยรอคอยผู้มีฝีมือที่จะใช้ศาสตร์เหล่านี้อย่างช่ำชองในการแสวงหาความจริง

สำนักคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองแนวประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมชุมชนของฉัตรทิพย์ นาถสุภา

อาจารย์ฉัตรทิพย์มักประกาศตนว่า มีการทำงานแบบ สกุลฉัตรทิพย์ ในเวทีทางวิชาการจนกลายเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่ามีการทำงานศึกษาประวัติศาสตร์ในสกุลฉัตรทิพย์ ซึ่งแตกต่างจากนักวิชาการท่าอื่นอยู่บ้าง งานของสกุลฉัตรทิพย์ต่อต้านงานเขียนประวัติศาสตร์แบบชาติและราชวงศ์ จนทำให้พลัดเข้ามาสู่งานศึกษาทางประวัติศาสตร์ 

.

โดยการใช้ประเด็นหัวข้อ subjects ในการศึกษาใหม่ ใช้วิธีวิทยาแบบจิตร ภูมิศักดิ์ ในการศึกษาศักดินาไทย แต่ขณะที่จิตรโต้แย้งและต่อต้านทางการเมืองอย่างชัดเจน สกุลฉัตรทิพย์มีลักษณะแบบนักวิชาการที่เคร่งครัดและเป็นระบบมากกว่าโดยไม่มีนัยทางการเมืองปรากฏชัดแต่อย่างใด 

อดีตของไทยจึงกลายเป็นเรื่องการผลิตชนชั้นทางเศรษฐกิจ ภาษีชาวนา ชนชั้นกลาง ทุน ระบบเจ้าที่ดิน วีรบุรุษของรัฐสมบูรณาญา-สิทธิราช ก็กลายเป็นผู้ผูกขาด การค้นหารูปแบบการเช่า กาฝากของระบบทุน และการเป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาพงศาวดารและจดหมายเหตุก็ให้ข้อมูลอีกทางหนึ่งในเรื่องการค้า ภาษี การค้าสำเภา การค้าทั่วไป เชื้อพระวงศ์ผู้มีอำนาจ เป็นการแบ่งช่วงอดีตอยู่บนพื้นฐานของลักษณะการผลิตและรูปแบบของระบบทางเศรษฐกิจสังคม ซึ่งมีลักษณะซ้ำๆ เป็นแบบเดียวกันในช่วงก่อนการเปิดประเทศ (สนธิสัญญาเบาริ่ง – พ.ศ. ๒๓๙๘) โดยมองภาพของอดีตและรัฐไทยนั้นไม่มีสิ่งใดต้องชื่นชมยกย่อง เพราะทำลาย ขัดขวาง และเป็นจุดเริ่มต้นของความอ่อนแอของชุมชนชาวบ้านในปัจจุบัน 

วาทกรรมของอาจารย์ฉัตรทิพย์ในเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่นคล้ายกับของอาจารย์ธิดา แต่ที่เหมือนกันคือ ท้องถิ่นหมายถึงมวลชน แต่ชัดเจนกว่าตรงที่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจะต้องเรียนรู้จากชุมชนหมู่บ้าน การศึกษาจากภายในมักจะเสนอมุมมองของชาวรากหญ้า ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นนำ ท้องถิ่น และศูนย์กลางเป็นเรื่องภายนอกที่ไม่ได้รับความสนใจ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจะต้องเป็นตัวอย่างของพัฒนาการทางสังคมเศรษฐกิจของชุมชน 

และสำหรับอาจารย์ฉัตรทิพย์ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นคือประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของหมู่บ้าน

การวิจัยที่หมู่บ้านในคีรีวงศ์โดยอาจารย์ฉัตรทิพย์และนักวิชาการในกลุ่ม เช่น พรพิไล เลิศวิชา เสนอทฤษฎีอนาธิปัตย์ของการพัฒนา ซึ่งเป็นแนวคิดแบบสังคมนิยมแบบหนึ่งที่เน้นในอุดมติแบบพื้นบ้านและองค์กรขนาดเล็ก การต่อต้านอำนาจรัฐและการพัฒนาจากเมืองหลวง โดยชูแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนคืออนาธิปัตย์นิยม [Anarchism] แม้จะใช้ทฤษฎีแบบมาร์กซิส แต่ก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากว่า ไม่มีหมู่บ้านแบบนั้นจริงๆ ในโครงสร้างทางสังคมในอดีตและปัจจุบันของประเทศไทย

แต่สำหรับอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ปฏิเสธแนวคิดในเรื่อง กึ่งฟิวดัล/กึ่งอาณานิคมของอาจารย์ฉัตรทิพย์และคนอื่นๆ โดยการศึกษาเรื่อง “วัฒนธรรมกฎุมพี” ของอาจารย์นิธิโต้แย้งว่า บริเวณกรุงเทพฯ และที่ราบภาคกลางเป็นพื้นที่ซึ่งมีความเคลื่อนไหวสูงมาก่อน ค.ศ. ๑๘๕๕ แล้ว (หมายถึงก่อนสยามเซ็นสนธิสัญญาเบาวริ่งกับอังกฤษ) ชนชั้นกลางก่อนยุคทุนนิยมมีอย

และมีพลวัตอย่างชัดเจน ปี ค.ศ. ๑๘๕๕ เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เกิดชนชั้นกลางอย่างเป็นกลุ่มก้อน ซึ่งทั้งสองประการนี้ท้าทายต่อแนวคิดเรื่องสังคมวิถีการผลิตแบบเอเชีย [Asiatic mode of Production] ที่อาจารย์ฉัตรทิพย์นำทฤษฎีนี้มาใช้

สำหรับประวัติศาสตร์หมู่บ้าน อาจารย์นิธิกล่าวว่า ในขณะที่นักมานุษยวิทยาชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของหมู่บ้านที่เผชิญกับพลังใหม่ๆ ที่มาจากภายนอก แต่อาจารย์ฉัตรทิพย์ไม่ต้องการอธิบายว่าเศรษฐกิจหมู่บ้านไทยได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เพราะกำลังพยายามอธิบายว่าเศรษฐกิจไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

แม้ว่าการศึกษาแบบสกุลฉัตรทิพย์จะแม่นยำ และใช้ทฤษฎีมาก

กว่าผู้ใด แต่ไม่เคร่งครัดสำหรับระเบียบวิธีวิจัยที่ชัดเจน เช่น มองข้ามข้อจำกัดของการใช้ข้อมูลจากปากคำของชาวบ้าน และ มองข้ามระบบความสัมพันธ์ภายในและภายนอก เนื่องจากกักขังตนเองอยู่กับปากคำของชาวบ้านมากเกินไป 

จนทำให้งานในกลุ่มนี้สร้างความเคลือบแคลงสงสัยและดูไม่น่าเชื่อถือในสภาพสังคมที่ชาวบ้านผู้อยู่ในชุมชนอย่างแท้จริงลุกขึ้นมาทำงานหรือเขียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของตนเองอย่างคึกคัก และเริ่มตรวจสอบข้อมูลของนักวิชาการต่างๆ และพบความคลาดเคลื่อนที่ชัดเจนปรากฏอยู่

การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในมิติทางวัฒนธรรม 

ข้อเสนอของอานันท์ กาญจนพันธุ์

อาจารย์อานันท์ กาญจนพันธุ์ เสนอว่าการศึกษาท้องถิ่นอาจเริ่มจากประวัติศาสตร์วัฒนธรรมได้ เพราะเผยให้เห็นโลกของการต่อสู้และการผสมผสานทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับการให้ความหมาย คุณค่า และชีวิตจิตใจของชาวบ้าน

มิติทางวัฒนธรรมหมายถึงการเคลื่อนไหวทางความคิดที่มนุษย์พยายามสร้างความหมายเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ทำให้เกิดการครอบงำอุดมการณ์หลัก

การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในมิติทางวัฒนธรรม หมายถึงการศึกษาประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ทางความคิดเกี่ยวกับอำนาจในสังคม โดยเห็นผ่านวาทกรรมหรือการแสดงออกทางสัญลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่งแต่สื่อความหมายที่มีนัยต่างกัน เช่น ชาติพันธุ์ ชนชั้น และเพศ โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น ๒ แนวทางใหญ่ๆ คือ ประวัติศาสตร์ชาติพันธ์ุ, Ethnohistory และชาติพันธุ์วรรณนา, Ethnography หรือมานุษยวิทยาเชิงประวัติศาสตร์, Historical Ethnography หรือ Historical Anthropology (แนวความคิดและวิธีการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในมิติทางวัฒนธรรม, ๒๕๓๘. งานที่เป็นตัวอย่างคือ “พิธีไหว้ผีเมืองและอำนาจรัฐในล้านนา”  ที่พิมพ์ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗

ปัญหาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในปัจจุบัน

การศึกษามานุษยวิทยาและประวัติศาสตร์ในประเทศไทยในเบื้องต้นพบว่ามีความคล้ายคลึงและเชื่อมโยงการศึกษาไว้ด้วยกันอย่างแยกไม่ออก เพียงแต่วิธีการนำหลักฐานและวิธีการศึกษานั้นจะเน้นไปที่เอกสาร คำบอกเล่า การใช้โครงสร้างสังคมหรือหลักฐานอื่นใด

ก่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจ พ.ศ. ๒๕๐๒ ไม่นาน มีการศึกษาของนักมานุษยวิทยาที่ศึกษาหมู่บ้านของไทย เช่น งานของ Lauriston Sharp ที่บางชันในปี ๑๙๕๓, Jack Potter เรื่องโครงสร้างสังคมของ งานประวัติศาสตร์สังคมและเศรษฐกิจที่ชัดเจนช่วงแรกๆ คือ การศึกษาสังคมชาวนาที่บางชัน ชานเมืองกรุงเทพฯ Bang Chan : Social History of a Rural Community ในปี ๑๙๗๘ ของ Lauriston Sharp และ Lucien Hanks, งานของ Moreman เรื่อง Chiangkam’s Trade and the “old days” ในปี ๑๙๗๕ และ Rural Society and the Rice Economic in Thailand (1880-1930) ในปี ๑๙๗๕ ของ Davis Bruce Jonhston 

จากนั้นก็มีผลงานของ ดร.ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ โดยมีการนำเอาแนวคิดทางมานุษยวิทยาไปวิเคราะห์ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ เรื่อง การศึกษาองค์กรทางสังคมของไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น การศึกษาโลกทัศน์และแนวการเขียนประวัติศาสตร์ล้านนาไทยของอาจารย์อานันท์ กาญจนาคพันธุ์ เป็นต้น ดังนั้นการศึกษาทั้งสองศาสตร์นี้จึงไม่ควรถูกแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด แต่สามารถนำมาใช้เพื่อการศึกษาท้องถิ่นและอดีตของท้องถิ่นร่วมกันได้อย่างมีพลัง

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาในกรณีของความเป็นมาและมิติทางสังคมของสภาพแวดล้อม เนื่องจากสัมพันธ์กับการต่อสู้ของท้องถิ่นในเรื่องอำนาจและสิทธิในการใช้ทรัพยากรที่ถูกเอาเปรียบจากรัฐและทุนต่างๆ โดยการผลักดันเพื่อทรัพยากรจะได้กลับมาเป็นสมบัติของชุมชน “ดังที่เคยเป็นมาในประวัติศาสตร์” 

ข้อเสนอเหล่านี้แพร่หลายไปสู่แนวคิดของกลุ่มนักพัฒนาเอกชนในภาคเหนือและเคลื่อนไหวไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ ด้วย เช่น การศึกษาประวัติของชุมชนตามลุ่มน้ำต่างๆ โดยเน้นศึกษาเรื่องการจัดการทรัพยากรของชาวบ้าน พิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และมนุษย์กับมนุษย์ ซึ่งอาจจะจัดเป็น Environmental History ด้วย เช่น งานศึกษาการฟื้นฟูและจัดการลุ่มน้ำแม่ตาช้าง เป็นต้น

งานชิ้นเริ่มต้นที่พยายามสำรวจสถานภาพการศึกษานิเวศประวัติศาสตร์ในประเทศไทย โดยใช้ระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมเป็นฐานหลักในการศึกษาประวัติศาสตร์เรื่อง นิเวศประวัติศาสตร์ : พรมแดนความรู้ (๒๕๔๕) อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ในช่วงที่ี่สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศกลายเป็นความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในนโยบายสาธารณะที่สัมพันธ์ทั้งในระดับรัฐและชุมชน แต่ก็ยังเป็นเพียงการเร่ิมต้นศึกษาที่ไม่มีฐานข้อมูลจำนวนมากรองรับแต่อย่างใด จนอาจจะไม่สามารถอ้างอิงได้ว่าสภาพการณ์ของประวัติศาสตร์ในเชิงสิ่งแวดล้อมปรากฏเป็นดังที่นำเสนอเท่านั้น

ปรากฏการณ์ สัมมนาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

แรงกระเพื่อมของความสนใจในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นคือปรากฏการณ์ที่สำคัญที่สุดของวิชาการทางประวัติศาสตร์ในประเทศไทยในช่วงทศวรรษที่ ๘๐ 

ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๑-๒๕๓๔ มีการสัมมนาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ๔๖ ครั้ง ใน ๓๒ จังหวัดหรือมากกว่านั้น และนักวิชาการจากกรุงเทพฯ มักเข้าร่วมและแสดงบทบาทที่สำคัญ อาจารย์ศรีศักรถูกเชิญไปมากกว่า ๒๐ ครั้ง ตามด้วย ดร.ประเสริฐ ณ นคร สุจิตต์ วงษ์เทศ ธิดา สาระยา และนิธิ เอียวศรีวงศ์ 

หัวข้อการสัมมนามีรูปแบบที่คล้ายกัน เริ่มจากสภาพภูมิศาสตร์ สภาพแวดล้อม การตั้งถิ่นฐานโบราณหรือเมืองโบราณในพื้นที่ การสัมมนาเน้นไปที่พื้นที่ในจังหวัดที่มีเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์และยุคประวัติศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์แห่งชาติ อาจจะพิเศษไปบ้างถ้าจังหวัดนั้นมีบทบาทเด่นชัดในประวัติศาสตร์แห่งชาติในช่วงนั้นๆ หลังจากนั้นคือประวัติศาสตร์การเมือง ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ วรรณกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรม ศิลปะ งานช่าง ประเพณีท้องถิ่น และมีประเด็นที่มีลักษณะพิเศษของท้องถิ่นนั้นๆ อีกนิดหน่อย

.

อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล สังเกตว่า ในขณะที่นักวิชาการจากกรุงเทพฯ มักใช้วิธีวิทยาทางประวัติศาสตร์แบบสมัยใหม่ แต่นักวิชาการท้องถิ่นยังคงใช้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์แห่งชาติโดยไม่มีความขัดแย้งหนักแต่อย่างใด

ภายหลังประวัติศาสตร์ท้องถิ่นยังคงเป็นเรื่องราวที่มีพลวัตของผู้มีอำนาจทางการเมือง ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องราวทางสังคมหรือเป็นสิ่งที่นิยมกันเท่านั้น โดยวิจารณ์ไว้ว่า การสัมมนาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมีพลังในการท้าทายรัฐไทย ซึ่งไม่ใช่การต่อต้าน แต่ในฐานะที่ร่วมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการเล่าเรื่องของชาติ และตอบสนองทางการเมืองแก่รัฐบาลเพื่อสร้างฐานะทางเศรษฐกิจเพื่อการท่องเที่ยว และสร้างภาพว่าประเทศไทยคือประเทศที่ร่ำรวยทางวัฒนธรรม 

.

ความผิดพลาดเหล่านี้เกิดขึ้นหลายครั้งแต่ไม่มีใครสนใจ เพราะข้อเท็จจริงที่ว่านักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหรือนักประวัติศาสตร์อื่นๆ นั้นเป็นชนชั้นกลาง มีชีวิตที่ถูกครอบงำโดยประวัติศาสตร์ราชวงศ์และประวัติศาสตร์ชาติ 

น่าสนใจมากที่เห็นประวัติศาสตร์ทำให้เกิดประเด็นปัญหาได้ เช่น ประวัติศาสตร์ปัตตานี สมาชิกคนหนึ่งของที่ประชุมเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแนะนำว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้ามุมมองของผู้ต้องการแบ่งแยกดินแดนนั้นรวมอยู่ด้วย ซึ่งในปัจจุบัน เมื่อเวลาผ่านไปจากการวิจารณ์ของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแบบผู้ก่อการรุนแรงที่ไม่ได้ถูกตรวจสอบความถูกต้องแบบการศึกษาประวัติศาสตร์ แต่ถูกนำมาใช้บอกเล่าประวัติศาสตร์ของผู้ถูกกดขี่เป็นอันดับแรกในการสร้างความรู้สึกร่วมในขบวนการ RKK หรือ Runda Kumpulan Kecil เป็นหน่วยรบขนาดเล็กที่เรียกว่า หน่วยคอมมานโดของขบวนการก่อความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้การสัมมนาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในพื้นที่ต่างๆ ก็ทำให้เห็นตัวตนของผู้สนใจในประวัติศาสตร์ตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศที่อาจจะไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อนในหน้าของการเขียนหรือศึกษาประวัติศาสตร์ของประเทศไทย

เครื่องมือทางการเมืองและเศรษฐกิจ
วัฒนธรรมชุมชนและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

ในช่วงท้ายๆ ของสงครามเย็นในทศวรรษที่ ๑๙๘๐ รัฐไทยปลอดภัยจากความรู้สึกถูกรุกล้ำจากเพื่อนบ้าน มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจมากขึ้น ภายใต้บริบทของผู้คนที่หลากหลายและวัฒนธรรมของความอดทนอดกลั้น วัฒนธรรมแบบรวมศูนย์และความทรงจำเริ่มที่จะเปิดพื้นที่สู่ท้องถิ่นมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอเมื่อพิจารณากลับไปเหตุการณ์ความรุนแรงใน ๓ จังหวัดภาคใต้ ที่ยังไม่ได้มีการศึกษาและทำความเข้าใจผู้คนและท้องถิ่นจนสร้างความเข้มแข็งให้กับประวัติศาสตร์ของผู้ที่ถูกมองและคิดว่าตนเอง “เป็นอื่น” และนำเอาประวัติศาสตร์ส่วนที่ถูกตัดทอนและคัดเลือกไปใช้เพื่ออบรมให้เกิดความบีบคั้นอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นอย่างรุนแรงเช่นนี้มาก่อนในประวัติศาสตร์ของสยามประเทศหรือประเทศไทยในเวลาต่อมา

แต่อย่างไรก็ตาม รัฐไทยปล่อยให้มีความนิยมแบบพหุลักษณ์มากขึ้น ซึ่งยังคงเป็นแนวคิดหลักในทุกวันนี้

ผู้ที่มีส่วนในโครงการประวัติศาสตร์ท้องถิ่นทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีภูมิปัญญาของท้องถิ่น การศึกษาท้องถิ่นไม่เป็นเพียงการทำลายการเล่าเรื่องแบบศูนย์กลางเท่านั้น แต่เป็นการเล่าเรื่องมาจากภายใน โดยแม้ว่าการฟื้นอัตลักษณ์ท้องถิ่นอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการระลึกถึงอดีตมากกว่าที่จะเป็นการอ้างอัตลักษณ์ที่ต่างออกไป เพราะยังไม่มีการจัดการ วิพากษ์วิจารณ์และสร้างความหมายใหม่ให้เกิดขึ้นแก่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเหล่านั้นในหมู่คนในท้องถิ่นเอง

กลายเป็นว่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ควรมีีพลังเชิดชูพลังของชุมชนท้องถิ่นแบบที่อาจารย์ฉัตรทิพย์และอาจารย์นิธิคาดหวัง กลายเป็นผลผลิตของการหวนหาอดีตที่ครอบงำเท่านั้น เพราะความรู้ทางประวัติศาสตร์นำมาซึ่งการเปิดตลาดของชนชั้นนำในการสร้างผลผลิตสู่สาธารณะ การมีส่วนร่วมและการบริโภคชั่วครู่ชั่วยาม กระแสที่เกิดขึ้นจากการสร้างอดีตหรือการหวนหาอดีตให้เป็นการค้าไม่ได้นำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งในการทำวิจัยหรือแม้แต่ความเข้มแข็งในหมู่ผู้คนท้องถิ่นแต่อย่างใดความต้องการแบบประวัติศาสตร์พร้อมสร้างสำหรับการบริโภคสาธารณะนั้น ไม่ใช่การทำงานประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่แท้จริง ขณะที่ประวัติศาสตร์ที่เป็นการค้าเพิ่มขึ้นและประวัติศาสตร์ถูกทำให้เป็นที่นิยม แต่นักศึกษา หลักสูตรการเรียน อาชีพ ทุน ถูกสั่นคลอนด้วยความรู้ทางประวัติศาสตร์แบบการค้าและอุตสาหกรรมของการหวนหาอดีต สภาพแบบฟองสบู่ เช่น การนิยมในตลาดเก่า ตลาดโบราณ การสร้างตลาดน้ำแบบปลอมๆ หรือการท่องเที่ยวหรือสร้างที่พักแบบโฮมสเตย์ เป็นแนวโน้มทั้งที่รัฐสนับสนุน (โครงการสร้างมูลค่า Creative Thinking) และชาวบ้านในท้องถิ่นใช้เพื่อการสร้างรายได้ให้กับตนเอง

นโยบายการให้ทุนวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและการสร้างองค์ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในปัจจุบันทุกวันนี้ ไม่มีแนวทางแน่ชัดในสถาบันการศึกษาระดับชาติ แต่ปรากฏในสถาบันการศึกษาระดับท้องถิ่นที่พยายามสร้างองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ซึ่งสุ้มเสียงเหล่านี้เงียบหายไปอย่างเห็นได้ชัด หลังจากปรากฏการณ์สัมมนาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหมดลง ทั้งที่มีการเปิดสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาขึ้นมาอีกเป็นจำนวนมากก็ตาม  

อย่างไรก็ตามการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยในระยะหนึ่ง (ราวสิบปีที่ผ่านมานี้) ทำให้เห็นการกระจายของทุนสู่การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในกลุ่มท้องถิ่นต่างๆ ทั้งนักวิชาการในสถาบัน กลุ่มองค์กรชาวบ้านมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และมักควบคู่ไปกับกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นต่างๆ

การหยุดชะงักของงานทดลองเพื่อสร้างความรู้แบบงานวิจัยลงไปสู่ท้องถิ่น แม้จะมีองค์กรรองรับที่จะศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหรือการนำเอาการศึกษาท้องถิ่นไปใช้ เช่น การสนับสนุนให้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในชุมชน แต่ก็ก้าวหน้าไปได้ช้าๆ เนื่องจากรูปแบบของการทำงานแบบนักวิชาการที่เน้นวิธีวิทยามากกว่าเนื้อหาจากเหตุการณ์ 

การใช้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเพื่อการเมืองของผู้ถูกกดขี่ ในกรณีของสามจังหวัดภาคใต้ที่ถูกยกขึ้นมาเป็นข้ออ้าง ทำให้เกิดความรุนแรงของผู้ต่อต้านรัฐ สร้างสถานการณ์อย่างไร และจะมีการแก้ไขในประเด็นเหล่านี้อย่างไร เปรียบกับสถานการณ์ในแพร่ซึ่งใช้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นต่อรองเพื่อสร้างโอกาสและรายได้แก่ตนเองและต่อรองเพื่อสร้างประวัติศาสตร์ใหม่แก้ต่างแก่สายตระกูลของอดีตเจ้าเมืองและคนชั้นนำในจังหวัด ในลำพูนมีการศึกษา การจัดกิจกรรมและเขียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแบบท้องถิ่นนิยม โดยเฉพาะกรณีชาติพันธุ์นิยมกลุ่มคนยองที่ครอบงำความเป็นคนลำพูนกำลังจะนำไปสู่ความขัดแย้งภายในอย่างไรหรือไม่ก็น่าจะรอดูคำตอบความเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวนี้ต่อไปในอนาคต

ปัจจุบันนี้สินค้าทางประวัติศาสตร์ของการหวนหาอดีตไปรับใช้การเมืองท้องถิ่น เช่น การสร้างงบประมาณในการก่อสร้างอาคารสถานที่เพื่อรองรับ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น หรือการจัดสร้างตลาดน้ำ ตลาดโบราณเพื่อรองรับการท่องเที่ยว โดยไม่มีเนื้อหาหรือความเข้าใจความเป็นมาในท้องถิ่นของตนเองแต่อย่างใด แต่เป็นการจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้จ่ายในโครงการต่างๆ เท่านั้น

การเชื่อมต่อของนักวิชาการส่วนกลางหรือภายในพื้นที่กับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจการเมืองในท้องถิ่นยังไม่พบกัน เพราะต่างฝ่ายต่างใช้ประโยชน์โดยที่ยังไม่มีการต่อรองและปรับตัวร่วมกัน ข้อมูลทางวิชาการประวัติศาสตร์ถูกนำไปใช้เพื่อตอบสนองนักการเมืองและผู้มีโอกาสในสังคมท้องถิ่นมากกว่า ซึ่งการศึกษาเหล่านี้จะไม่เป็นการทำงานเพื่อนำไปสู่การศึกษาอย่างจริงๆ แต่เพียงเติมเต็มเอาความหวนหาอดีตให้ยาวนานขึ้นและการสร้างผลกำไรที่มากขึ้นเท่านั้นเอง 

ความเคลื่อนไหวทางสังคมในหลายปีที่ผ่านมาที่ผู้คนในท้องถิ่นหวนกลับไปทบทวนตนเองเพื่อทำความรู้จักตนเองใหม่ กลายเป็นแนวโน้มของการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่น่าจับตามอง เพราะเริ่มมีการนำเอาแนวคิดของนักวิชาการ เช่น จากงานของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ไปใช้เพื่อการทำงานของนักพัฒนาในองค์กรเอกชนของท้องถิ่น สร้างมิติความรู้ความเข้าใจในท้องถิ่น บ้านเมืองของตนเอง ในเรื่องของ “มาตุภูมิหรือแผ่นดินเกิด” ให้เข้าใจในสิ่งที่ตนเองเป็นและคงอยู่ เข้าใจปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมภายใน  เป็นการปกป้องรักษาท้องถิ่นของตนเองด้วยความเข้าใจอย่างแท้จริง ถือเป็นการคลี่คลายเพื่อนำเอาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไปใช้งานเพื่อสังคมท้องถิ่นอย่างชัดเจน และน่าจับตามองพัฒนาการของความเคลื่อนไหวเหล่านี้ต่อไป