ข้อ ใด คือ สาเหตุ ที่ ทำให้ สหรัฐอเมริกา เข้า รวม สงครามโลก ครั้ง ที่ 2

สาเหตุของสงครามโลกครั้งที่ 2

ทั้งนี้สาเหตุของสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้มีอยู่ทั้งหมด 5 ประการดังนี้

1. สนธิสัญญาสันติภาพทั้งหลายโดยเฉพาะสนธิสัญญาแวร์ซายล้วนแต่ไม่ได้แก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศในเรื่องดินแดน เศรษฐกิจ และอาณานิคม อันเป็นสาเหตุที่ทำให้สงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้น มิหนำซ้ำสนธิสัญญาสันติภาพเหล่านี้ยังก่อให้เกิดความขัดแย้งในกรณีที่คล้ายคลึงกันเมขึ้นอีกหลายกรณี

2. การปกครองระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถที่จะหยั่งรากฐานลงในประเทศยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกได้  ทั้งนี้บรรดาประเทศที่เกิดใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ในภูมิภาคนี้ล้วนแต่ปกครองโดยระบอบเผด็จการทั้งสิ้น ยกเว้นประเทศเชโกสโลวะเกียเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องด้วยอุดมการณ์ของประชาธิปไตยกับเผด็จการแตกต่างกันมาก ดังนั้นการแบ่งแยกทางหลักการและอุดมการณ์ยิ่งทำให้การรักษาสันติภาพเป็นไปโดยความยากลำบากมากขึ้น

3. การเคลื่อนไหวที่จะสถาปนาสันติภาพที่ยั่งยืนในโลกของประเทศต่างๆ ในแง่ของการปฏิบัติเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ดังจะเห็นได้จากการก่อตั้งองค์การสันนิบาติชาติและการทำสนธิสัญญาสันติภาพต่างๆ นั้นล้วนแต่ไม่ประสบความสำเร็จในการรักษาสันติภาพไว้ได้ ทั้งนี้เพราะฝ่ายประชาธิปไตยไม่กล้าที่ตัดสินใจในการใช้กำลังเพื่อรักษาข้อสัญญาเอาไว้ ส่วนฝ่ายเผด็จการเองก็ไม่มีความซื่อสัตย์และความจริงใจในการที่จะรักษาสัญญาเอาไว้  ดังนั้นการที่ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และ ฝรั่งเศส ละเลยต่อการรุกรานของกลุ่มประเทศฝ่ายอักษะ อันได้แก่ เยอรมนี  ญี่ปุ่น และอิตาลี ที่มีต่อประเทศเล็กๆ อื่นๆ ทำให้กลุ่มอักษะยิ่งได้ใจ มิหนำซ้ำสหภาพโซเวียตที่ไม่ไว้ใจทั้งประเทศฝ่ายประชาธิปไตยกับกลุ่มประเทศอักษะอยู่แล้วก็ไม่ได้สนใจสันติภาพของโลกเท่าไหร่ นอกจากการขยายอำนาจและลัทธิคอมมิวนิสต์ของตนต่อไป

4. เยอรมนีภายใต้การนำของพรรคนาซี ได้ถูกปล่อยให้สร้างแสนยานุภาพอย่างมหาศาล ในขณะเดียวกันที่อังกฤษและฝรั่งเศสไม่ได้เตรียมพร้อมทางทหารเท่าที่ควร

5.  ญี่ปุ่นได้เข้ารุกรานและขยายอำนาจในตะวันออก โดยการยึดครองแมนจูเรียของจีนซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่ากฎบัตรขององค์การสันนิบาตชาติตลอดจนสนธิสัญญาสันติภาพต่างๆนั้นไม่ได้มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง ทำให้เยอรมนีและอิตาลีเห็นว่าสนธิสัญญาต่างๆไม่มีความหมายใดๆ ดังนั้นจึงกระทำการตามรอยญี่ปุ่นอย่างรวดเร็ว

สถานการณ์ก่อนการเกิดสงครามโลกครั้ง ที่ 2   มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นดังต่อไปนี้

การรุกรานของญี่ปุ่นในเอเชียตะวันออก

                ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1931 ญี่ปุ่นได้ยกเลิกพันธะสัญญาต่างๆที่ได้ทำต่อสหรัฐอเมริกา ตามนโยบายเปิดประตู ด้วยการรุกรานแมนจูเรียของจีน และด้วยความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพของกองทัพญี่ปุ่นทำให้สามารถเอาชนะจีนได้ในที่สุดและยึดแมนจูเรียไว้ได้ทั้งหมด และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น  แมนจูกัว และแต่งตั้งรัฐบาลหุ่นขึ้นปกครองในปี ค.ศ. 1932

                การกระทำเช่นนี้ของญี่ปุ่นทำให้ประเทศต่างๆในยุโรป รวมทั้งสหรัฐอเมริกาได้ยื่นของประท้วงการกระทำในครั้งนี้ของญี่ปุ่นแต่ญี่ปุ่นเองก็ไม่ได้สนใจกับข้อประท้วงของบรรดาประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกาเลย ในที่สุดสหรัฐอเมริกาจึงได้ประกาศ หลักการสติมสัน (Stimson Doctrine) โดยมีสาระสำคัญคือสหรัฐอเมริกาไม่รับรู้และไม่รับรองการเปลี่ยนแปลงเขตแดนในเอเชียตะวันออกที่ได้มาโดยการใช้กำลัง นั่นก็คือไม่รับรองแมนจูกัวของญี่ปุ่น แต่ถึงกระนั้นหลักการสติมสันก็ไม่สามารถที่จะทำให้ญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงท่าทีหรือนโยบายของตนแต่อย่างใด

                ในส่วนขององค์การสันนิบาตชาติได้ประชุมกันและลงมติประณามการรุกรานจีนของญี่ปุ่น แต่ญี่ปุ่นก็ไม่ได้สนใจกับคำประณามนั้นแต่อย่างใด และเมื่อเห็นองค์การสันนิบาตชาติมีท่าทีที่รุนแรงกับตนก็ตัดสินใจลาออกจากการเป็นสมาชิกองค์การสันนิบาตชาติ และหันมาเตรียมความพร้อมที่จะใช้กำลังทหารขยายอำนาจของตนออกไปอีก

การสร้างอำนาจของเยอรมนี

                ผลของสนธิสัญญาแวร์ซายส์ทำให้เยอรมนีต้องเผชิญหน้ากับความตกต่ำทางเศรษฐกิจและความเสื่อมโทรมทางสังคม แม้ว่าสหรัฐอเมริกาและอังกฤษจะเข้าช่วยเหลือในด้านเศรษฐกิจแก่เยอรมนีแต่สถานการณ์เศรษฐกิจของเยอรมนีก็ยังไม่ดีขึ้น  โดยใน ค.ศ. 1930 ความตกต่ำทางเศรษฐกิจและสังคมของเยอรมนีก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เป็นเหตุให้  ฮิตเลอร์ (Hitler) และพรรคสังคมนิยมแห่งชาติ (National Socialist) ได้ฉวยโอกาสเข้ามาปกครองประเทศและเข้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของเยอรมนี โดยให้สัญญาว่าจะทำให้เยอรมนีหลุดพ้นจากพันธะหรือการผูกขาดของสนธิสัญญาแวร์ซายส์ และจะรวมเผ่าพันธุ์ของเยอรมนีเข้าไว้เป็นชาติเดียวกันภายใต้รัฐบาลที่เข้มแข็ง

                และในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปี ฮิตเลอร์ก็สามารถกุมอำนาจทางการเมืองและการทหารไว้ได้ทั้งหมด รวมทั้งสามารถแก้ไขปัญหาภายในประเทศตามที่ได้สัญญาเอาไว้กับประชาชนได้สำเร็จเป็นขั้นๆไป

                ค.ศ. 1935 ฮิตเลอร์ให้ราษฎรในแคว้นซาร์ออกเสียงว่าจะรวมกันกับเยอรมนีหรือฝรั่งเศส โดยการออกเสียงนี้เป็นไปอย่างถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญาแวร์ซายส์และเป็นผลทำให้เยอรมนีได้แคว้นซาร์มาเข้าร่วมได้สำเร็จ และในอีก 2 เดือนต่อมา ฮิตเลอร์ก็ประกาศอย่างเปิดเผยว่าเยอรมนีได้สร้างกองทัพอากาศอันเป็นการละเมิดต่อสนธิสัญญาแวร์ซายส์เรียบร้อยแล้ว

                โดยการที่เยอรมนีละเมิดสนธิสัญญาแวร์ซายส์อย่างจงใจเช่นนี้ ทางด้านกลุ่มประเทฝ่ายพันธมิตรก็ยังไม่สนใจที่จะเอาเรื่องกับเยอรมนี ทั้งนี้ก็เพราะว่าบรรดาประเทศฝ่ายพันธมิตรเองก็ต่างไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน รวมทั้งกลัวว่ารุสเซียซึ่งมีระบบการปกครองแบบสังคมนิยมจะหันมารุกรานตนจึงต้องการที่ใช้เยอรมนีเป็นเครื่องถ่วงดุลกับรุสเซีย โดยเฉพาะอังกฤษนั้นนอกจากจะไม่ขัดขวางเยอรมนีในการละเมิดสนธิสัญญาแวร์ซายส์แล้วยังเปิดโอกาสให้เยอรมนีสร้างกำลังรบทางทะเลขนาด 35 ส่วนใน 100 ของกองทัพเรืออังกฤษ และยังเปิดโอกาสให้เยอรมนีสร้างกองทัพเรือดำน้ำอีกด้วย

การรุกรานของอิตาลีในเอธิโอเปีย  

ทางด้านมุสโสลินีแห่งอิตาลีได้เริ่มงานใน ค.ศ. 1927 โดยประกาศว่า ในปี ค.ศ. 1935 เขาจะสร้างเสริมอิตาลีให้อยู่ในฐานะที่สูงส่งเพื่อทำให้ประเทศอื่นๆเคารพต่อสิทธิและผลประโยชน์อันชอบธรรมของอิตาลี นอกจากนี้เขายังมีแนวคิดที่จะสร้างจักรวรรดิโรมันขึ้นใหม่ให้รุ่งเรืองเหมือนในอดีตโดยการขยายอาณาเขตของออกไปยังดินแดนต่างๆ โดยประเทศแรกที่อิตาลีสนใจก็คือ เอธิโอเปีย หรือ อบิสซิเนีย ซึ่งเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาตินานาชนิด แต่มีกำลังทหารอ่อนแอและตั้งอยู่ระหว่างดินแดนที่เป็นอาณานิคมของอิตาลี 2 แห่ง คือ แคว้นอิริเซีย และ โซมาลีแลนด์

                ใน ค.ศ. 1935 อิตาลีส่งกองทัพเรือเข้าโจมตีเอธิโอเปีย และยึดครองไว้ได้สำเร็จในปีเดียวกัน ด้าน พระเจ้าไฮส์เลเซลัสซี แห่งเอธิโอเปียได้ยื่นฟ้องต่อองค์การสันนิบาตชาติว่า อิตาลีรุกรานเอธิโอเปียและขอให้องค์การสันนิบาตชาติช่วยเหลือเอธิโอเปีย ทั้งนี้องค์การสันนิบาตชาติได้ประชุมกันและลงมติประณามอิตาลีว่าเป็นชาติรุกราน และให้ดำเนินการลงโทษด้วยการแซงชัน ( Sanction)  คือ ไม่ให้ชาติสมาชิกขายอาวุธ อนุมัติสินเชื่อ และส่งสินค้าทุกชนิดให้แก่อิตาลี แต่ถึงกระนั้นอิตาลีก็ไม่ได้เกรงกลัวกับทลงโทษนี้แต่อย่างใด แต่กลับเร่งมือเข้ารุกรานเอธิโอเปียจนยึดครองได้สำเร็จดังที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้น

สงครามกลางเมืองในสเปน

                ใน ค.ศ. 1931 ชาวสเปนได้รวมกันก่อการปฏิวัติโค่นล้มการปกครองแบบกษัตริย์และจัดการปกครองในรูปแบบของสาธารณรัฐ ผลการปฏิวัติครั้งนี้ได้สร้างความยุ่งยากทางการเมืองให้แก่สเปนเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือ มีพรรคการเมืองฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายขึ้นในประเทศและมักมีนโยบายที่ขัดแย้งกันตลอดเวลา

                ต่อมาในปี ค.ศ. 1936 ได้มีการจัดการเลือกตั้งขึ้นซึ่งผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็คือพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายได้รับชัยชนะและได้เข้ามาบริหารประเทศด้วยการจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้น ทางด้านพรรคการเมืองฝ่ายขวานั้นไม่พอใจที่แพ้การเลือกตั้งจึงดำเนินนโยบายขัดขวางรัฐบาลผสมชุดนี้อยู่ตลอดเวลา และยิ่งเมื่อได้รับคำสัญญาจากอิตาลีและเยอรมนีที่จะช่วยเหลือทางด้านอาวุธแล้ว ทำให้พรรคการเมืองฝ่ายขวายิ่งมีกำลังใจมากขึ้น และได้เปลี่ยนชื่อพรรคใหม่เป็น พรรคคณะชาติ และได้เริ่มก่อการปฏิวัติในกลางฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1936 ภายใต้การนำของนายพลฟรังโก (Franco) ส่วนพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายก็ได้รับความช่วยเหลือจากรุสเซียนำไปสู่การเกิดสงครามกลางเมืองขึ้น ในส่วนของ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ได้วางตัวเป็นกลางในเหตุการณ์นี้ โดยผลของสงครามในครั้งนี้ก็คือ พรรคคณะชาติของนายพลฟรังโกได้รับชัยชนะ

สหรัฐอเมริกากับสงครามโลกครั้งที่ 2

การสิ้นสุดความเป็นกลางของสหรัฐอเมริกา

ใน ค.ศ. 1941 สหรัฐอเมริกาเริ่มมีนโยบายช่วยเหลือฝ่ายพันธมิตรมากขึ้น จะเห็นได้จากเมื่อสหรัฐอเมริกาทราบว่าอังกฤษไม่มีเงินสดเพียงพอในการที่จะซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากตนได้

 ดังนั้นรูสเวลต์จึงได้เสนอให้รัฐสภาทราบว่าสหรัฐอเมริกาได้ผลิตอาวุธสงครามเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมากซึ่งสิ่งเหล่านี้รัฐบาลอาจให้อังกฤษหรือประเทศที่ทำสงครามกับเยอรมนี เช่าหรือยืมได้ ซึ่งนโยบายให้เช่า ยืมของรูสเวลต์ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ในที่สุดรัฐสภาได้ออกพระราชบัญญัติเช่า-ยืม (Lend-Lease Act) ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1941 มีสาระสำคัญว่า ให้ประเทศต่างๆที่ทำสงครามกับเยอรมนีสามารถเช่า-ยืม อาวุธสงครามและสิ่งจำเป็นอื่นๆที่จะใช้ในสงครามจากสหรัฐอเมริกาได้ (โดยมีเงื่อนไขว่าต้องคืนให้สหรัฐอเมริกาเป็นจำนวนเท่ากับที่ยืมไป)

การที่สหรัฐอเมริกาออกพระราชบัญญัติฉบับนี้ทำให้ ฮิตเลอร์ไม่พอใจมาก เพราะการทำเช่นนี้เป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สหรัฐอเมริกามีนโยบายช่วยเหลือพันธมิตร และด้วยเหตุนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เยอรมนีทำสงครามทางทะเลกับสหรัฐอเมริกาโดยไม่มีการประกาศสงครามกันก่อน

ปัจจัยในการเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 ของสหรัฐอเมริกา

                ในวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ.1941 เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. คือ นายพลเรือเอกกีจิซาบูโร โนมูโร ได้นำผู้ที่ทำหน้าที่เป็นทูตพิเศษร่วมกับเขาคือ นายซูบูโร กุรุซู เข้าพบกับคอร์เดลฮัล รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา จุดประสงค์ก็เพื่อเป็นตัวแทนรัฐบาลญี่ปุ่นในการที่จะอธิบายและปรับความเข้าใจกับรัฐบาลอเมริกัน ณ กรุงวอชิงตัน ทั้งนี้เนื่องจากสหรัฐอเมริกาได้แสดงท่าทีคัดค้าน การที่ญี่ปุ่นได้ขยายตัวเข้าสู่ดินแดนแถบเอเชียอาคเนย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบแหลมอินโดจีนและกำลังจะขยายเข้าสู่ประเทศต่างๆในภาคพื้นทวีปอย่างเช่น ไทย มลายู พม่า นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังมีจุดประสงค์ที่จะสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐอเมริกาด้วย

                แต่ว่าการเจรจาดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้เพราะญี่ปุ่นเรียกร้องมากเกินไปและสหรัฐอเมริกาเองก็ยืนกรานที่จะไม่โอนอ่อนผ่อนตามข้อเรียกร้องของญี่ปุ่น ในวันที่ 6 ธันวาคม ค.ศ. 1941 ประธานาธิบดีรูสเวลต์ได้มีสาส์นส่วนตัวไปถวายจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่น และชี้แจงเหตุผลให้จักรพรรดิทราบถึงสถานการณ์ซึ่งอาจจะร้ายแรงได้หากญี่ปุ่นขยายอำนาจเข้าไปในเอเชียอาคเนย์

                วันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1941 ทูตพิเศษผู้มีอำนาจเต็มของญี่ปุ่นทั้งสองท่านได้เดินทางมาพบกับรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง พร้อมด้วยสาส์นยื่นคำขาดจากจักรพรรดิญี่ปุ่นซึ่งได้กล่าวหาว่าสหรัฐอเมริกากำลังวางแผนที่จะขยายเขตสงครามออกไปยังดินแดนตะวันออกไกล แลพร้อมกับวางแผนโจมตีสหรัฐอเมริกา โดยในขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกากำลังที่จะให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ชี้แจงถึงข้อกล่าวหาของญี่ปุ่นนั้น กองทัพอากาศของญี่ปุ่นก็ได้โจมตีสหรัฐอเมริกาโดยการทิ้งระเบิดลงที่ฐานทัพเรือของสหรัฐอเมริกาซึ่งตั้งอยู่ที่ เพิร์ล ฮาร์เบอร์ (Pearl Harbour) ในวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ.1941 ทั้งๆที่ยังไม่ได้ประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาเลย

                นอกจากนี้ยังได้ทำการกวาดล้างกองทัพอังกฤษและฝรั่งเศสในแถบเอเชียตะวันออกได้อย่างรวดเร็ว และได้เข้ายึดเกาะกวมของสหรัฐอเมริกา เกาะอ่องกง สิงคโปร์และมลายูของอังกฤษ

                ซึ่งการกระทำของญี่ปุ่นในครั้งนี้ทำให้สหรัฐอเมริกาโกรธมากและได้ประกาศสงครามกับฝ่ายอักษะในค.ศ.1941 พร้อมกับส่งกำลังทหารและเสบียงอาหารเข้าช่วยเหลือฝ่ายพันธมิตรอย่างเต็มที่หลังจากที่ญี่ปุ่นได้โจมตีกองทัพเรือของสหรัฐอเมริกาที่ อ่าวเพิร์ล ฮาร์เบอร์ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ.1941 ซึ่งได้สร้างความตกตะลึงและอัปยศอย่างใหญ่หลวงให้แก่ชาวอเมริกันอย่างมาก ซึ่งทางด้านประธานาธิบดีรูสเวลต์เองก็รู้สึกว่าการกระทำของญี่ปุ่นในครั้งนี้เป็นการกระทำที่อุกอาจ

                ดังนั้นด้วยเหตุนี้สหรัฐอเมริกาจึงตัดสินใจเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้อย่างเต็มตัวและสามารถเอาชนะฝ่ายสัมพันธมิตรได้ในที่สุด

ผลของสงครามโลกครั้งที่ 2

ผลทางสังคม

ชายฉกรรจ์จำนวนกว่า 14 ล้านคนต้องเข้ามาเป็นทหารและอีก 14 ล้านคนต้องโยกย้ายที่อยู่อาศัยและที่ทำกินไปหางานในท้องถิ่นอื่นๆ หรือบางคนก็ย้ายมาอยู่บริเวณที่ใกล้ๆกับกรมกองทหารที่สามีของตนปฏิบัติราชการอยู่

ทั้งนี้ชาวชนบทและชาวเมืองเล็กๆได้พากันเข้ามาหางานทำในโรงงานอุตสาหกรรมทางภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างหนาแน่น รวมไปถึงบริเวณย่านอุตสาหกรรมและกองทหารในภาคตะวันตกกลางและภาคใต้ นอกจากนี้ยังมีแรงงานนิโกรจากชนบทของภาคใต้ได้พากันออกมาหางานทำตามโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไปอย่างรวดเร็ว

การโยกย้ายถิ่นฐานในครั้งนี้ทำให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาในชีวิตครอบครัวทั้งนี้เพราะว่าสงครามทำให้พ่อ แม่ ลูก สามี ภรรยา คู่รัก ต้องพลัดพรากกันเพื่อรับใช้ประเทศชาติ พ่อแม่มีเวลาอบรมเลี้ยงดูลูกน้อยลง นอกจากนี้ยังเกิดปัญหาการสำส่อนทางกามรมณ์ โรคติดต่อ ปัญหาลูกนอกกฎหมาย อัตราการหย่าร้างที่เพิ่มสูงขึ้น รวมไปถึงจำนวนของยุวอาชญากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ผลทางเศรษฐกิจ

สงครามโลกครั้งที่ 2 นี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้รัฐบาลสามารถแก้ปัญหาวิกฤติการณ์เศรษฐกิจตกต่ำของสหรัฐอเมริกาได้เป็นผลสำเร็จ อย่างเช่น ปัญหาเรื่องที่ชาวนาผลิตพืชพันธุ์ธัญญาหารออกมาจนเกินความต้องการของตลาดจนรัฐบาลต้องควบคุมไม่ให้ชาวนาผลิตพืชผลทางการเกษตรในปริมาณที่มากเกินความจำเป็นเพราะถ้ายังปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปจะทำให้ราคาสินค้าเกษตรในประเทศยิ่งตกต่ำมากขึ้นซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชาวนาอย่างมาก แต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มต้นขึ้นปัญหานี้ก็หมดไปเพราะชาวนาอเมริกันสามารถผลิตพืชพันธุ์ต่างๆออกมาได้อย่างเต็มที่เนื่องจากมีตลาดต่างประเทศรองรับอยู่เป็นจำนวนมากเพราะต้องการนำไปใช้เป็นเสบียงในยามสงคราม

                ในส่วนของปัญหาคนว่างงานซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญอีกปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นจากวิกฤติการณ์เศรษฐกิจตกต่ำเช่นกัน แต่เมื่อเกิดสงครามขึ้นก็ช่วยทำให้ปัญหานี้หมดไป เพราะในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในสงครามได้เปิดรับแรงงานจำนวนมากเพื่อเร่งการผลิตจนจำนวนแรงงานไม่เพียงพอกับงานจนต้องมีการเปิดรับแรงงานสตรีเข้ามาทำงานด้วย

                นอกจากนี้รัฐบาลสหรัฐอเมริกายังได้จัดตั้งคณะกรรมการการผลิตเพื่อการสงครามขึ้น โดยให้คณะกรรมการดังกล่าวนี้ทำหน้าที่ในการจัดการการผลิตของอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การดัดแปลงโรงงานผลิตรถยนต์เป็นโรงงานผลิตรถถัง เป็นต้น ทั้งนี้คณะกรรมการชุดนี้ยังมีหน้าที่ในการจัดระเบียบการผลิตว่าจะผลิตอะไรหรือจะผลิตอะไรก่อนหลัง นอกจากนี้ยังควบคุมการใช้น้ำมัน ยาง อาหารและแรงงานอีกด้วย

ผลทางการต่างประเทศ

หลังจากที่สงครามโลกครั้งที่2 สิ้นสุดลงทำให้สหรัฐอเมริกาก้าวเข้าสู่การเป็นมหาอำนาจของโลกและเป็นผู้นำในทางด้านการปกครองแบบประชาธิปไตย

เกิดความขัดแย้งกับโซเวียตรัสเซียในด้านอุดมการณ์ทางการเมืองจนนำไปสู่การเกิดสงครามเย็นในเวลาต่อมา