สารสนเทศสำหรับผู้บริหารที่ดีควรมีลักษณะอย่างไร

ผู้บริหารระดับสูงเป็นผู้กำหนดทิศทางในอนาคตขององค์กร การวางแผนและการตัดสินใจของผู้บริหารจึงมีความสำคัญต่อการอยู่รอด และเติบโตขององค์กร โดยอาศัยความชำนาญ ประสบการณ์ และรู้จักใช้เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยสนับสนุนการตัดสินใจได้อย่างถูกต้องและทันต่อเหตุการณ์

บทบาทของผู้บริหาร

  1. บทบาทในการสร้างความสัมพันธภาพที่ดี  การประสานงานกับบุคคลภายในและภายนอกองค์การจึงควรมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีทั้งกับผู้บริหารด้วยกันเอง ผู้ร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชา และบุคคลภายนอก
  2. บทบาทด้านข้อมูลข่าวสาร ผู้บริหารเป็นทั้งผู้รับและผู้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร จึงต้องมีการตรวจสอบข้อมูล ความน่าเชื่อถือ ผู้บริหารควรมีความรู้ มีความสามารในการถ่ายทอดข้อมูลในการถ่ายทอดข้อมูลเพื่อให้เกิดภาพพจน์ที่ดีต่อองค์การ
  3. บทบาทด้านการตัดสินใจ มีความสามารในการตัดสินใจ คาดการณ์ล่วงหน้า สามารถควบคุมสถานการณ์ แก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง ทันต่อเหตุการณ์

การตัดสินใจของผู้บริหาร  แบ่งออกเป็น 4 ลักษณะ คือ

  1. การตัดสินใจเชิงกลยุทธ์  กำหนดวิสัยทัศน์ ภารกิจ วัตถุประสงค์ ทิศทางในการดำเนินงาน
  2. การตัดสินใจเชิงยุทธวิธี  กำหนดแนวทางในการดำเนินงาน
  3. การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า  ตัดสินใจแก้ปัญหาเพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อภาพพจน์ และการดำเนินธุรกิจ
  4. การตรวจสอบและควบคุม  ตรวจสอบและควบคุมการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้

ลักษณะข้อมูลสำหรับผู้บริหารระดับสูง

                ข้อมูลที่ได้มาจากแหล่งภายในและภายนอกองค์การที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจ ข้อมูลต้องกลั่นกรอง และคัดเลือกก่อนที่นำมาวิเคราะห์ในเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ ผู้บริหารจะนำผลที่ได้จากการวิเคราะห์มาพิจารณาการดำเนินงานขององค์การว่าเป็นเช่นไร  จะทำการปรับปรุง แก้ไขปัญหา การสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับองค์การได้หรือไม่ จึงทำการตัดสินใจแก้ปัญหา ปรับกลยุทธ์ วางแผนการดำเนินงาน

ข้อมูลสำหรับผู้บริหารระดับสูง

                ผู้บริหารระดับสูงเป็นผู้กำหนดวิสัยทัศน์ ภารกิจ กลยุทธ์ และนโยบายขององค์การ ต้องอาศัยข้อมูลทั้งภายใน และภายนอกองค์การ ผู้บริหารได้รับข้อมูลจาก 3 แหล่ง ดังนี้

  1. ข้อมูลภายในองค์การ (Internal Data)  มีประโยชน์ต่อการบ่งชี้ผลการปฏิบัติงาน (Key Performance Indicators : KPI)  ประกอบด้วย
    1. ข้อมูลจากกระบวนการดำเนินงาน (Transaction Processing Data) แสดงถึงการปฏิบัติงานขององค์การ การควบคุม การตรวจสอบ และการแก้ปัญหาโดยทั่วไป
    2. ข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงเป้าหมายหรือผลการดำเนินงาน ของแต่ละส่วนงาน หรือโครงสร้างต่าง ๆ ขององค์การ เช่น งบประมาณ แผนค่าใช้จ่าย เป็นต้น
  • ข้อมูลภายนอกองค์การ (External Data) มีผลกระทบต่อการดำเนินงานขององค์การ เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการของลูกค้า ข้อมูลคู่แข่งขันในการดำเนินธุรกิจ ฯลฯ
  • ข่าวสารที่ใช้ติดต่อสื่อสารระหว่างกัน  ระหว่างผู้บริหารระดับสูงด้วยกัน ระหว่างผู้บริหารกับพนักงาน ระหว่างพนักงานในองค์การ หรือระหว่างองค์การอื่นๆ เช่น ข่าวสารจากสื่อมวลชนต่าง ๆ
  • ความหมายของระบบ ESS

                    ระบบสารสนเทศสำหรับผู้บริหาร (Executive Support System : ESS) เป็นระบบสนับสนุนการตัดสินใจโดยเฉพาะสำหรับผู้บริหารระดับสูง เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจแบบไม่มีโครงสร้าง โดยระบบจะให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ทันสมัยตามความต้องการเพื่อใช้กำหนดวิสัยทัศน์ ภารกิจ กลยุทธ์ วัตถุประสงค์ และเป้าหมาย การวางแผนระยะยาว

                    ระบบ ESS บางครั้งเรียกว่า EIS เป็นระบบที่ให้สารสนเทศสำหรับผู้บริหารระดับสูงเช่นกัน แต่ระบบ ESS จะรวมความสามารถเพิ่มเติมด้านการสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์

    ลักษณะของระบบ ESS

    1. ให้สารสนเทศที่มีประโยชน์ต่อการวางแผนกลยุทธ์  ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์ต่อการวางแผน และตัดสินใจของผู้บริหารระดับสูง เช่น ข้อมูลการบ่งชี้ผลการปฏิบัติงาน (Key Performance Indicators : KPI)  ช่วยให้เห็นความเป็นไปของธุรกิจ และเป้าหมายในการบริหารอย่างชัดเจน เตรียมพร้อมการรองรับสถานการณ์ทันท่วงที ได้เปรียบจากคู่แข่งขัน และส่วนแบ่งการตลาดที่เพิ่มขึ้น
    2. ง่ายต่อการเรียนรู้และใช้งาน  โดยผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องมีความรู้มาก หรือทักษะสูงด้านคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศก็สามารถเรียนรู้ และใช้งานได้ง่าย มีอุปกรณ์ช่วยให้ใช้ระบบได้คล่องตัว เช่น การใช้เมาส์ ระบบสัมผัส อาจมีเมนูสำหรับอธิบายการใช้งาน และแก้ปัญหาด้วยตนเอง (Self-help Menu) วิธีการเรียกดู สืบค้นข้อมูลง่าย ไม่ซับซ้อน
    3. เชื่อมโยงกับแหล่งข้อมูลภายนอก สามารถเชื่อมโยงระหว่างสื่อหลายมิติ (Hypermedia) หรือเชื่อมโยงเข้ากับเว็บไซต์ต่าง ๆ เพื่อให้ผู้บริหารรับทราบข้อมูลที่สำคัญจากแหล่งภายนอก เช่น ภาวะเศรษฐกิจ ความต้องการตลาด ความต้องการลูกค้า เป็นต้น สามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์เพื่อประกอบการตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว
    4. สามารถประมวลผลในรูปแบบที่ไม่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้า  ESS มีการจัดเตรียมข้อมูล และเครื่องมือเพื่อให้ผู้บริหารเรียกดูข้อมูลในลักษณะภาพรวมแบบกว้าง (Aggregate/Global Information)  และสามารถเรียกดูสารสนเทศในลักษณะเฉพาะเจาะจงในรายละเอียดของข้อมูลเป็นลำดับลงมาตามความต้องการ (Drill-down Ability) ระบบสามารถวิเคราะห์ข้อมูลเฉพาะกิจได้อย่างรวดเร็ว(Ad Hoc Analysis) และนำเสนอรายงานให้ผู้บริหารได้หลายรูปแบบ
    5. พัฒนาเฉพาะสำหรับผู้บริหาร ระบบได้รับการออกแบบเป็นแบบเฉพาะสำหรับผู้บริหารในการเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ดูได้บ่อยครั้งมีขั้นตอนที่เข้าถึงง่าย ไม่ต้องจดจำคำสั่งและใช้เวลามากในการทำงาน