การจัดการ ทรัพยากรธรรมชาติ และ สิ่งแวดล้อม 7R

เมื่อพูดถึงปัญหาใหญ่ในปัจจุบันนี้ ‘ภาวะโลกร้อน’ จัดเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่หลายๆคนคงเคยได้ยินกันมานาน โดยภาวะที่ผิดปกตินี้ เป็นเรื่องใกล้ตัวของเราทุกคน ซึ่งส่งผลต่อการดำรงชีวิตประจำวันของผู้คนเกือบทุกๆด้าน เพราะมนุษย์มีการใช้พลังงาน ในด้านต่างๆ มากขึ้น ทั้งการใช้พลังงานด้านการเกษตร , ใช้พลังงานในชีวิตประจำวัน ,ใช้พลังงานด้านอุสาหกรรม เป็นต้น หากแต่มนุษย์กลับหลงลืมรักษาธรรมชาติให้ลดน้อยลง ทำให้ภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรงขึ้นในทุกๆปี

ภาวะโลกร้อน คือ เรื่องของเรา ‘ทุกคน’

การจัดการ ทรัพยากรธรรมชาติ และ สิ่งแวดล้อม 7R

แต่ถึงอย่างไรก็ตามสังคมยุคใหม่หันมาให้ความสนใจในเรื่องของ ‘ภาวะโลกร้อน’ กันมากขึ้น และหนึ่งในหลักการที่ช่วยลดภาวะโลกร้อนได้จากในชีวิตประจำวัน คุณคงเคยได้ยิน หลักการ 4R มาบ้าง ซึ่งนั่นก็คือ Reduce , Reuse , Recycle และ Repair หากแต่ด้วยของเสีย มีจำนวนมากขึ้นทุกๆปี จึงมีการพัฒนาระบบการจัดการเพิ่มมากขึ้น เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างเป็นรูปธรรม ที่เรียกว่า หลัก ‘7R’

"ขยะ" จากสิ่งของชิ้นเล็ก ๆ ที่กลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ หรือพูดว่าเข้าขั้นวิกฤตก็ไม่ผิดนัก โดยกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีปริมาณขยะมากถึง 27.8 ล้านตัน หากคิดเป็นค่าเฉลี่ยต่อคนแล้วละก็ อยู่ที่ประมาณ 1.15 กิโลกรัมต่อคนต่อวันเลยทีเดียว

เมื่อพูดถึงเรื่อง "ขยะ" อาจจะคิดไปว่าคือของเสียหรือสิ่งปฏิกูลที่รอการกำจัด และอยู่ในความรับผิดชอบของภาครัฐที่จะต้องเข้ามาจัดการดูแลในส่วนนี้ ซึ่งจริง ๆ แล้ว "ขยะ" เกิดจากสิ่งของหรือเศษวัสดุเหลือใช้ในชีวิตประจำวันที่รอนำไปกำจัดทิ้ง เช่น เศษอาหาร กล่องโฟม ขวดพลาสติก กระดาษ ฯลฯ หากแยกให้ถูกวิธีก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้มากมาย ทั้งทำปุ๋ยหมัก อาหารสัตว์ รวมถึงผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า

สาเหตุที่ทำให้ขยะมีปริมาณมากขึ้นก็มาจากปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่

1. จำนวนประชากรมากขึ้น หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ยิ่งมีจำนวนคนมากขึ้นเท่าไร จำนวนขยะก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว เพราะขยะเกิดจากสิ่งของที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา ซึ่งมีทั้งส่วนที่เรานำไปใช้ประโยชน์ และส่วนเกินที่ต้องนำไปกำจัดทิ้ง

2. กำจัดขยะผิดวิธี การกำจัดขยะไม่ใช่แค่การทำให้ขยะหายไปจากบ้านของเรา เช่น กองทิ้งบนดินรกร้าง นำไปเผากลางแจ้ง ทิ้งลงสู่ทะเล-แม่น้ำลำคลอง หรือจบแค่การทิ้งลงถังขยะเท่านั้น เพราะนอกจากจะทำให้ขยะเพิ่มขึ้นแล้ว ยังส่งผลให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาแบบไม่รู้จบ

3. การนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ยังมีน้อย แม้ในตอนนี้หลาย ๆ องค์กรจะมีการรณรงค์เรื่องการนำขยะกลับมารีไซเคิล แต่ก็ยังช่วยกำจัดขยะได้เพียงบางส่วนเท่านั้น

หลายคนอาจคุ้นเคยกับวิธีการจัดการขยะด้วยหลัก 3R คือ Reduce Reuse และ Recycle กันมาบ้างแล้ว แต่ด้วยพฤติกรรมคนสมัยใหม่ที่ต้องอยู่บ้านกันมากขึ้น จึงหันมาพึ่งพาบริการส่งอาหารและการสั่งสินค้าออนไลน์ ทำให้ปริมาณขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วทิ้ง (Single-use plastics) ที่ย่อยสลายยาก ดังนั้นหลัก 3R อาจยังไม่ครอบคลุมการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เราจึงอยากชวนให้ทุกคนหันมาใช้หลัก 7R ที่มีเป้าหมายเพื่อลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกนำมาผลิตวัสดุต่าง ๆ การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุดก่อนจะกลายเป็นขยะ และลดปริมาณขยะมูลฝอยในครัวเรือนที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศโลก

จัดการขยะด้วยหลัก 7R ได้แก่

1. Reduce คือ การลดการใช้ เลือกบริโภคและใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็นให้เกิดประโยชน์สูงสุด วิธีนี้จึงช่วยทั้งลดปริมาณขยะ ซึ่งวิธีการ Reduce เป็นวิธีในหลัก 7R ที่สามารถทำได้ง่ายที่สุดและช่วยชะลอทรัพยากรธรรมชาติที่จะถูกนำมาใช้ตั้งแต่ต้นทาง

2. Reuse คือ การนำวัสดุกลับมาใช้ซ้ำ จนกว่าจะหมดอายุการใช้งาน

3. Recycle คือ การนำวัสดุที่หมดสภาพแล้วมาแปรสภาพหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ คืนชีพให้ขยะสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง

4. Replace คือ การใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแทนที่การใช้พลาสติกหรือโฟมแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง แม้วิธีนี้ยังก่อให้เกิดขยะอยู่บ้าง แต่ดีกว่าการใช้พลาสติกหรือวัสดุที่ย่อยสลายยาก โดยหันมาเลือกใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ที่มั่นใจว่าย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ช่วยลดการใช้ทรัพยากรตั้งแต่ต้นทาง เช่น บรรจุภัณฑ์จากใบตอง ภาชนะใส่อาหารจากชานอ้อย หลอดดูดน้ำจากกระดาษ ฯลฯ

5. Refill คือ การเลือกใช้สินค้าแบบเติม ไม่เพิ่มขยะเกินความจำเป็น โดยทุกคนสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมในการซื้อของอุปโภค – บริโภคที่ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก เช่น เครื่องดื่ม อาหารแห้ง เครื่องสำอาง สบู่ ยาสระผม ผงซักฟอก ฯลฯ มาเป็นซื้อแบบเติมขวดเก่าแทนการซื้อใหม่ รวมถึงเลือกซื้อผลิตภัณฑ์หรือสินค้าขนาดใหญ่ขึ้น แทนการซื้อสินค้าที่มีปริมาณน้อยซึ่งใช้บรรจุภัณฑ์หลายชิ้น ซึ่งนอกจากจะลดพลังงานในกระบวนบรรจุผลิตภัณฑ์และลดปริมาณขยะพลาสติกที่จะนำเข้าบ้านแล้ว ยังช่วยลดรายจ่ายของเราได้อีกด้วย

6. Repair คือ การซ่อมแซมให้ใช้งานได้ใหม่และใช้อย่างคุ้มค่าก่อนที่จะตัดสินใจซื้อของใหม่ เพราะหลายครั้งเมื่อของในบ้านเสียหรือใช้งานไม่ได้ ด้วยความเคยชินเราก็มักจะนำไปทิ้งและหาซื้อของใหม่มาทดแทนทันที แต่มาลองเปลี่ยนพฤติกรรมโดยการลงมือซ่อมแซมสิ่งของเท่าที่ทำได้ก่อนทิ้งเป็นขยะ เช่น การเย็บเสื้อผ้าที่ขาดเล็กน้อย ทาสีเฟอร์นิเจอร์เก่า ซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านที่ชำรุด ฯลฯ รวมถึงควรใช้สิ่งของอย่างทะนุถนอมเพื่อยืดอายุการใช้งานให้ยิ่งนานขึ้น

7. Return คือ การเลือกอุดหนุนสินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์หมุนเวียน โดยเลือกใช้บรรจุภัณฑ์สามารถส่งบรรจุภัณฑ์กลับสู่ผู้ผลิตได้ เช่น การใช้ขวดแก้วแทนขวดพลาสติกสามารถคืนขวดได้ หรือการนำขวดน้ำพลาสติกส่งคืนที่ตู้บริการตามจุดต่าง ๆ เป็นต้น และอีกวิธีที่ง่ายต่อผู้บริโภคก็คือการเลือกสินค้าที่ได้รับการรับรองว่ามีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ฉลากเขียว ฉลากลดโลกร้อน ฉลากลดคาร์บอน ฉลากคาร์บอนฟุตปริ้นต์