เศรษฐกิจตกต่ำโดยสงครามโลกครั้งที่ 1 ตรงกับช่วงสมัยใด

          ในภาวะข้าวยากหมากแพงจากผลกระทบของโรคโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ค่าครองชีพพุ่งสูง สวนทางกับการจ้างงานและเงินเก็บที่ดูเหมือนจะหายากขึ้นทุกทีในขณะนี้ คนไทยส่วนใหญ่ต่างก็พยายามรัดเข็มขัด ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นเช่นการท่องเที่ยวและสินค้าฟุ่มเฟือยออก หันมาใช้ชีวิตกันอย่างสมถะมากขึ้น ยิ่งสำหรับหลาย ๆ คนที่กำลังลำบากแล้ว แม้แต่ปัจจัยที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตอย่างอาหาร ก็ต้องอดทนประหยัดเช่นกัน

          บทความนี้เรามาย้อนดูกันว่า ประเทศที่เคยผ่านวิกฤตมาก่อนในประวัติศาสตร์ อย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งเคยประสบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) เป็นระยะเวลายาวนานถึง 10 ปี เนื่องจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ทหารปลดประจำการทะลักเข้าไปเป็นแรงงานเกษตร ส่งผลให้ค่าแรงตก ซ้ำเกิดตั๊กแตนระบาด ผลผลิตราคาต่ำ คนกู้เงินและปั่นหุ้นกันโดยรัฐบาลไม่สามารถควบคุม ในที่สุดฟองสบู่จึงแตก ตลาดหุ้นถล่มและธนาคารกว่า 9,000 แห่งต้องปิดตัว ถือเป็นวิกฤตเศรษฐกิจครั้งสำคัญที่ส่งผลกระทบรุนแรงไปทั่วโลกระหว่างปี ค.ศ. 1929-1939 (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 7-8) หลังจากนั้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เกิดต่อทันที ในสภาพการณ์ที่ยากลำบากเช่นนั้น ผู้คนเคยต้องประหยัดเรื่องปากท้องกันอย่างไร และสร้างสรรค์เมนูแปลก ๆ อะไรขึ้นบ้าง

          ประธานาธิบดีคนที่ 32 แฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt) ในฐานะผู้นำประเทศขณะนั้น เริ่มประพฤติตนเป็นแบบอย่างโดยตัดงบค่าอาหารของรัฐบาลลง งานจัดเลี้ยงบุคคลสำคัญในทำเนียบขาวเปลี่ยนมาเสิร์ฟอาหารแบบติดดิน เช่น ไข่ต้มปรุงรส มันฝรั่งบด ตับไก่ หัวหอมยัดไส้ ขนมปังไม่ขัดสี สปาเก็ตตี้แครอท ซุปเจลาตินจากการต้มกระดูกสัตว์ ขนมพุดดิ้งที่ทำจากแป้งผสมน้ำแล้วโรยหน้าลูกพรุน เป็นต้น สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง คือ เอเลียนอร์ โรสเวลต์ (Eleanor Roosevelt) ก็ขึ้นชื่อเรื่องมัธยัสถ์ นางคิดค้นเมนูร่วมกับคณะคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอร์เนล เพื่อลดการซื้อเนื้อสัตว์กับผักผลไม้สดซึ่งกำลังขาดแคลน และทำให้ค่าอาหารถูกลงให้ได้มากที่สุด จนกระทั่งทำเนียบขาวใช้งบค่าอาหารเครื่องดื่มรวมเบ็ดเสร็จแล้วหัวละ 7.5 เซนต์ (ประมาณ 2.5 บาท) เท่านั้น

เศรษฐกิจตกต่ำโดยสงครามโลกครั้งที่ 1 ตรงกับช่วงสมัยใด

ภาพที่ 1: เอเลียนอร์ และแฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์

แหล่งที่มาภาพ: Couturier, Brice. “Presidents like FD Roosevelt Are No Longer Made in the United States.” Radio France, 23 Mar. 2018, www.radiofrance.fr/franceculture/podcasts/le-tour-du-monde-des-idees/des-presidents-comme-fd-roosevelt-on-n-en-fait-plus-aux-etats-unis-9717898.

          การขาดแคลนเนื้อสัตว์และผักผลไม้สดทำให้อาหารชนิดต่าง ๆ ที่คนอเมริกันชื่นชอบจำเป็นต้องเปลี่ยนมาใช้สิ่งอื่นทดแทน ในส่วนอาหารคาวนั้น ไส้กรอก ซอสเนื้อ และเนื้อบดอัดเป็นก้อนก่อนนำไปอบ กลายมาเป็นอาหารยอดนิยม เพราะการกินเนื้อสัตว์เป็นชิ้นเป็นอันแบบสเต๊กนั้นแพงเกินไป ราคาสูงราว 22-51 เซนต์ (ประมาณ 7.6-17.6 บาท) ต่อน้ำหนัก 1 ปอนด์ (ประมาณ 4.5 ขีด) แต่พวกไส้กรอกและเนื้อบดนั้นจะใส่อะไรลงไปผสมมากเท่าไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นนม ขนมปัง หัวหอม ถั่วลิสง ถั่วลิม่าเปรู แค่พอให้มีกลิ่นรสของเนื้อหรือเครื่องในอยู่ มักเสิร์ฟกินคู่กับมันฝรั่งซึ่งตอนนั้นราคาเพียง 18-36 เซนต์ (ประมาณ 6-12 บาท) ต่อน้ำหนัก 10 ปอนด์ (ประมาณ 4.5 กิโลกรัม)

         ในส่วนของหวาน รสชาติผลไม้ถูกแทนที่ด้วยการเหยาะน้ำเลมอนหรือน้ำส้มสายชูหมักผลไม้ รวมถึงการใช้กลิ่นและสีผสมอาหารมาแทนวัตถุดิบจริง ขนมพื้นบ้านที่ปกติแม่บ้านอเมริกันอบกันบ่อย ๆ คือ พายแอปเปิล ถึงคราวต้องเปลี่ยนจากใช้แอปเปิลมาเป็นขนมปังกรอบผสมน้ำตาล ปรุงรสด้วยน้ำมะนาว และอบเชยหรือวานิลลาถ้ามี พอจะกล้อมแกล้มจินตนาการว่าไส้พายขนมปังกรอบนั้นเป็นเนื้อแอปเปิลขบเผาะเปรี้ยว ๆ หวาน ๆ ผู้ผลิตขนมปังกรอบรายใหญ่ คือ บริษัทริทส์ แครกเกอร์ส (Ritz Crackers) ก็ช่วยตีพิมพ์สูตร “พายแอปเปิลทิพย์ (Mock Apple Pie)” ลงบนกล่องขนมปังกรอบเสียเลย ซึ่งก็ปรากฏว่า เป็นสูตรที่มีคนติดใจกันเยอะอย่างน่าประหลาดแม้กระทั่งในปัจจุบัน จึงยังคงมีการเผยแพร่สูตรทางเว็บไซต์และสื่อสังคมต่าง ๆ ของบริษัท

เศรษฐกิจตกต่ำโดยสงครามโลกครั้งที่ 1 ตรงกับช่วงสมัยใด

ภาพที่ 2: กล่องพิมพ์สูตรพายแอปเปิลที่ใช้ขนมปังกรอบของริทส์

แหล่งที่มาภาพ: Monello. “Weird Recipes - Ritz Mock Apple Pie.” Southern Maryland Community Forums, Southern Maryland Online, 1 Aug. 2014, forums.somd.com/threads/weird-recipes-ritz-mock-apple-pie.292216/.

           ชาวอเมริกันหันมาปลูกผักสวนครัวเท่าที่ทำได้ และเริ่มลองกินพืชบางชนิดที่ไม่เคยกินมาก่อน ส่วนใหญ่เป็นการทำตามอย่างผู้อพยพต่างชาติซึ่งรู้วิธีปรุงและกินของแปลก ๆ ได้ โดยเฉพาะชาวอิตาเลียน พืชชนิดสำคัญที่เริ่มกินกันในยุคนี้ คือ แดนดิไลออน เป็นหญ้าวัชพืชดอกสีเหลือง งอกง่ายโตเร็วอยู่ตามถนนหนทางและสวนสาธารณะทั่วไป อุดมด้วยวิตามินเอ บี ซี อี เค รวมไปถึงธาตุเหล็ก แมกนีเซียม และโปแตสเซียม สามารถนำใบมาผัดกับน้ำมัน หรือกินสดเป็นสลัด ส่วนผลไม้ในสมัยนั้นยากที่จะเก็บไว้ได้นานอยู่แล้ว และการขนส่งผลไม้ให้ไม่เน่าเสียก็มีกระบวนการฟุ่มเฟือยพอสมควร คนจึงเลือกกินผลไม้แห้งกัน อาทิ ลูกพรุน ซึ่งมีราคาถูกเพียง 3 เซนต์ (ประมาณ 1 บาท) ต่อน้ำหนัก 1 ปอนด์ (ประมาณ 4.5 ขีด) ถือเป็นผลไม้ยังชีพแห่งยุคก็ว่าได้

          นอกจากความพยายามประหยัดอดออมของแต่ละครอบครัว ยังมีความพยายามช่วยเหลือกันของชุมชนด้วย คนยากจนอเมริกันเกิดการจับกลุ่มนำวัตถุดิบอาหารที่ทุกคนหาได้มารวมกัน บ่อยครั้งก็มาจากการลักขโมย แล้วต้มรวมในหม้อใหญ่ เรียกว่า สตูว์มัลลิแกน (Mulligan Stew) วิธีการนี้ริเริ่มมาจากการล้อมวงทำอาหารแบ่งกันและใช้ไฟสร้างความอบอุ่นของพวกทหารตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1805 ซึ่งก็ทำให้ทุกคนอิ่มท้องไปด้วยกันได้ดี แต่บางครั้งก็อาจมีส่วนประกอบที่อันตรายอยู่บ้างเหมือนกัน เป็นต้นว่าใส่สำลีผสมลงไป ปรุงรสด้วยยาสูบ หรือมีเศษผักและเนื้อเก่าเน่าเสียปนอยู่บ้าง แค่พอให้รอดชีวิตไปวัน ๆ หนึ่ง

          สุดท้ายคือความพยายามในเชิงนโยบาย รัฐบาลอเมริกันเพิ่มการแจกจ่ายอาหารให้แก่ผู้คนร่วมกับองค์กรต่าง ๆ เช่น โบสถ์และมูลนิธิเอกชน นโยบายสำคัญที่สุดที่เกิดขึ้นในยุคนี้ คือ โครงการอาหารกลางวันฟรีสำหรับเด็ก ซึ่งภายหลังได้บรรจุเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายกระทรวงเกษตร (National School Lunch Act of 1946) กำหนดให้ส่งผลผลิตทางการเกษตรที่เหลือล้นในฤดูนั้น ๆ มาเป็นวัตถุดิบทำอาหารกลางวันแก่เด็กตามโรงเรียน แทนที่จะปล่อยเข้าสู่ตลาดมากเกินไปแล้วทำให้ราคาผลผลิตตกต่ำ อย่างไรก็ดี ในช่วงเศรษฐกิจซบเซาที่นโยบายเพิ่งเกิดขึ้นมานั้นยังไม่มีใครมีกำลังพอที่จะสนับสนุนการขนส่งและแช่เย็นพืชผลทางการเกษตรได้มากนัก อาหารที่รัฐบาลเลี้ยงเด็ก ๆ ขณะนั้นจึงยังมักจะปรุงจากของแห้งหรือของสำเร็จรูปที่เก็บได้นาน ตัวอย่างเมนูได้แก่ สปาเก็ตตี้หัวหอมราดซอสมะเขือเทศ ขนมปังไม่ขัดสีทาแยม ซุปถั่ว ซุปข้าวบาร์เลย์ หัวผักกาดบด พุดดิ้งช็อกโกแลต

เศรษฐกิจตกต่ำโดยสงครามโลกครั้งที่ 1 ตรงกับช่วงสมัยใด

ภาพที่ 3: การแจกจ่ายอาหารแก่เด็กนักเรียนประถมศึกษา ค.ศ. 1932

แหล่งที่มาภาพ: State Library of New South Wales. “Feeding Primary School Children during the Great Depression in 1932.” ABC News, 3 Apr. 2020, www.abc.net.au/news/2020-04-03/great-depression-children/12120182?nw=0.

          ส่วนพวกคนตกงานและคนไร้บ้าน รัฐบาลสนับสนุนโจ๊กผงที่ผลิตจากนม ธัญพืช และเกลือ ซึ่งเกิดจากโครงการคิดค้นอาหารราคาถูกของนักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยคอร์เนล โจ๊กนี้ผู้ใหญ่คนหนึ่งสามารถกินยังชีพได้เพียงพอเป็นเวลา 1 สัปดาห์โดยใช้งบประมาณเพียง 1 ดอลลาร์ (ประมาณ 35 บาท) เรียกชื่อกันตามชนิดของธัญพืชที่ใช้ผลิต เช่น โจ๊กมิลค์คอร์โน (Milkorno) ผลิตจากข้าวโพด โจ๊กมิลค์วีโต (Milkwheato) ผลิตจากข้าวสาลี เป็นต้น รัฐบาลมีการสนับสนุนอาหารสดและสำเร็จรูปอื่น ๆ อีกเช่นกัน แต่ล้วนเน้นอาหารที่ให้พลังงานมากและมีรสจืดเป็นหลัก เพราะนักเศรษฐศาสตร์ครัวเรือนในรัฐบาลต้องการให้ทุกคนสามารถกินได้หมด และมีแนวคิดว่าหากทำอร่อย คนอาจจะตื่นเต้นพึงพอใจกับอาหารฟรีมากเกินไป ไม่มีแรงกระตุ้นให้ออกไปขวนขวายหางานทำ เพื่อซื้อเครื่องปรุงหรืออาหารอื่นที่ดีกว่านี้ตามใจตน

           ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของสหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่างชั้นเลิศของความทรหดอดทน ความพยายามคิดค้นสร้างสรรค์ของทุกคนทุกฝ่ายให้พ้นวิกฤต และการทำใจ “จมให้ลง” หลังจากที่ทุกอย่างเคยรุ่งเรืองทันสมัย การผลิตอุตสาหกรรมและแนวคิดบริโภคนิยมพุ่งสูงในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 สังคมฟุ้งเฟ้อถึงขั้นเรียกกันว่า “ยุคทองชุบ (Gilded Age)” จู่ ๆ กลับล้มครืนลงมาอย่างไม่เป็นท่า ด้วยเหตุว่าแก่นความแข็งแรงของเศรษฐกิจการเมืองและสังคมภายในนั้นที่แท้แล้วยังกลวง เติบโตตามภาพลักษณ์อันสวยหรูภายนอกไม่ทัน ประกอบกับผลของสงครามโหดร้ายเกินคาดคิด

          การปรับตัวด้านอาหารการกินคืนสู่ความสามัญดังที่ยกมาในบทความนี้ จึงเป็นเครื่องเตือนใจอย่างดีถึงการมีขึ้นมีลงของชีวิต รวมถึงการฝึกประหยัดมัธยัสถ์ ไม่ประมาททางการเงิน ก็เป็นนิสัยที่มีคุณค่า ทั้งต่อความมั่นคงส่วนตัวและต่อการรักษาทรัพยากรโลก ตามคำขวัญของประธานาธิบดีโรสต์เวลต์ที่ว่า “ใช้ให้หมด ใส่จนเปื่อย หาทางใช้มันทำให้ได้ หรือไม่ก็ทำโดยไม่ต้องมีมัน (Use it up, wear it out, make do or do without.)”

บรรณานุกรม

“The Banking Crisis of the Great Depression. The FDIC: A History of Confidence and Stability, Federal Deposit Insurance Corporation (FDIC), www.fdic.gov/exhibit/p1.html#/10.

Cannucciari, Clara, and Christopher Cannucciari. Clara's Kitchen: Wisdom, Memories, and Recipes from the Great Depression. St. Martin's Press, 2009.

D'Alessandro, Mark. History of School Meals in New York City Public Schools. Journal of Child Nutrition and Management, School Nutrition Association, 2019, schoolnutrition.org/uploadedFiles/5_News_and_Publications/4_The_Journal_of_Child_Nutrition_and_Management/Spring_2019/History-of-School-Meals-in-New-York-City-Public-Schools-Spring2019.pdf.

Pearson, Steve. 1930s Cost of Food. The People History, www.thepeoplehistory.com/30sfood.html.

Perry, Kellen. 14 Fascinating Foods People Ate to Get through the Great Depression. Ranker, Ranker, 21 Apr. 2022, www.ranker.com/list/food-during-the-great-depression/kellen-perry.

Shapiro, Laura, et al. Eleanor Roosevelt's Kitchen. The New Yorker, 15 Nov. 2010, www.newyorker.com/magazine/2010/11/22/the-first-kitchen.

Ziegelman, Jane, and Andrew Coe. A Square Meal: A Culinary History of the Great Depression. Harper, 2017.