หลักธรรมใดเป็นทางดำเนินไปสู่การดับทุกข์ได้ตามความหมายของอริยสัจ 4

หลักธรรมใดเป็นทางดำเนินไปสู่การดับทุกข์ได้ตามความหมายของอริยสัจ 4

    อริยสัจ 4 เป็นหลักธรรมสำคัญ ถือเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ครอบคลุมหลักธรรมคำสอนทั้งหมดในพระพุทธศาสนาทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ มีความหมายว่า สัจจะอย่างอริยะ คือ แท้ และแน่นอน เป็นธรรมที่พระพุทธเจ้ายกย่องว่าเป็นยอดธรรม เป็นเสมือนรอยเท้าช้าง คือ ธรรมทั้งหลายรวมลงได้ในธรรมนี้ทั้งหมด

ความหมาย

  1. ทุกข์ แปลว่า สภาพที่ทนได้ยาก
    ได้แก่ ปัญหาต่างๆของมนุษย์ สภาวะของสิ่งทั้งหลายที่ตกอยู่ภายใต้ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่อาจให้ความพึงพอใจเต็มอิ่มแท้จริง พร้อมที่จะก่อปัญหาขึ้นมาได้เสมอ แก่ผู้ที่ยึดติดถือมั่นในสิ่งใดๆไว้ด้วยกิเลส บัณฑิตพึงรับรู้ความจริงเกี่ยวกับทุกข์ตามที่มันเป็นอยู่ และมองดูรู้จักชีวิต รู้จักโลกตามที่มันเป็น (ทุกข์มีไว้ให้เห็น ไม่ได้มีไว้ให้เป็น)

     ทุกข์ในอริยสัจ 4 นั้น มองแคบกว่าทุกข์ในไตรลักษณ์ คือ เพ่งที่ความทุกข์ในจิตใจของมนุษย์ ซึ่งมีต้นตอมาจากกิเลสเป็นเหตุแห่งทุกข์เท่านั้น ส่วนทุกข์ในไตรลักษณ์ มีความหมายกว้าง แสดงถึงสามัญลักษณะทั่วไปของโลกที่แปรปรวนคงสภาพอยู่ไม่ได้ เป็นศัพท์ที่เชื่อมโยงใกล้ชิดกับ อนิจจัง ความไม่เที่ยง และอนัตตา ความไม่ใช่ตัวตนแท้จริง

     (ศัพท์คำว่า ทุกข์ เป็นคำศัพท์สำคัญในพระพุทธศาสนา และใช้ในความหมายที่กว้างและลึกกว่าในภาษาไทยมาก โดยปกติในภาษาไทยเราใช้คำว่า ทุกข์ กับ ความรู้สึกทุกข์ทรมาน หรือ ทุกข์ระทมขมขื่น ซึ่งเป็นความหมายอย่างแคบ ส่วนความหมายอย่างกว้างของ ทุกข์ หมายถึง สภาวะที่คงสภาพอยู่ไม่ได้เพราะถูกบีบคั้นด้วยความเกิดดับไม่เที่ยง ดังนี้แล้วสิ่งต่างๆทั่วไปในโลกจึงมีสภาวะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เสมอเหมือนกัน การทำความเข้าใจศัพท์คำว่า ทุกข์ ให้กระจ่าง จะช่วยให้ผู้ศึกษาไม่เกิดความรู้สึกว่าพระพุทธศาสนามองโลกในแง่ร้าย เมื่ออ่านเนื้อหาบางตอน เช่น “การเกิดเป็นทุกข์” ฯลฯ ทั้งนี้เพราะท่านชี้ไปที่ตัวสภาวะนั่นเอง ไม่ได้หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นความรู้สึกทุกข์ทรมาน)

     กล่าวโดยย่อ ทุกข์ (ในไตรลักษณ์) คือ สภาวะที่ถูกบีบคั้นด้วยความเกิดดับไม่เที่ยง

     กล่าวโดยย่อ ทุกข์ (ในอริยสัจ) คือ ปัญหาต่างๆของมนุษย์อันเกิดจากความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดก็ตามไว้ด้วยกิเลส (อุปาทานขันธ์ 5 เป็นทุกข์)

  1. สมุทัย แปลว่า เหตุแห่งทุกข์
    ได้แก่ ความอยากด้วยกิเลสตัณหา ที่จะยึดถือเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง โดยอาการที่มีเรา ซึ่งจะเสพ จะได้ จะเป็น จะไม่เป็น อย่างนั้นอย่างนี้ ทำให้ชีวิตถูกบีบคั้นด้วยความเร่าร้อน เกลียดชัง หวั่นกลัว หรือเบื่อหน่าย ในรูปใดรูปหนึ่งอยู่ตลอดเวลา ไม่อาจปลอดโปร่งโล่งเบาเป็นอิสระสดชื่นเบิกบานได้อย่างบริสุทธิ์สิ้นเชิง
    (ในธรรมจักรกัปปวัตตนสูตร ท่านตรัสสมุทัย คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ควรทราบว่าแม้จะตรัสเน้นเฉพาะที่ตัณหา ไม่ได้ตรัสกิเลสเหล่าอื่น เช่น โทสะ โมหะ แต่ก็ถือว่าครอบคลุม และเชื่อมโยงถึงกันหมด กล่าวคือ เพราะมีโมหะ ตัณหาต่างๆจึงเกิดได้ เพราะมีตัณหาเมื่อไม่ได้สมดังต้องการจึงเกิดโทสะ เป็นต้น)

    กล่าวลงไปในรายละเอียด อวิชชาและตัณหา ที่ทำให้วางใจ วางตัว สัมพันธ์ต่อชีวิตและโลกอย่างไม่ถูกต้อง อย่างไม่เป็นไปด้วยความรู้ตามเป็นจริง แต่เป็นไปด้วยความยินดียินร้าย ชอบชัง เป็นต้น ตลอดจนกิเลสทั้งหลายที่สืบเนื่องมา เช่น ความกลัว ความถือตัว ความริษยา ความหวาดระแวง ฯลฯ นั่นแหละ คือที่ไหลเนืองมาแห่งปัญหาความทุกข์ของมนุษย์

     ไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมดา และดำเนินไปตามกฎธรรมชาติ การที่คนเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งใดก็ตาม ถ้าเกี่ยวข้องโดยมีกิเลส มีความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้นด้วยกิเลส ก็จะเกิดปัญหา มีทุกข์ขึ้นมา คือ ก้าวจากทุกข์ในสิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ตามธรรมชาติ มาเป็นทุกข์ในใจเรา

     กล่าวโดยย่อ สมุทัย คือ กิเลสทั้งหลายประดามี

  1. นิโรธ แปลว่า ความดับทุกข์
    ได้แก่ ภาวะที่เข้าถึง เมื่อกำจัดอวิชชาสำรอกตัณหาซึ่งเป็นเหตุแล้วทุกข์ที่เป็นผลก็ดับสิ้นไป ไม่ถูกบีบคั้นด้วยความรู้สึกกระวนกระวาย ความเบื่อหน่ายหรือความคับข้องติดขัดอย่างใดๆ หลุดพ้นเป็นอิสระ ประสบความสุขที่บริสุทธิ์ สงบ ปลอดโปร่งโล่งเบา ผ่องใส เบิกบาน ดังเรียกว่านิพพาน (ศัพท์คำว่า “นิโรธ” แปลว่า ดับ, ปลอด, ไม่เกิดขึ้น เป็นคำไวพจน์ของนิพพาน)

     ถ้าเรารู้ทันความจริงของโลกและชีวิต แล้วเปลี่ยนวิธีสัมพันธ์เสียใหม่โดยไม่สัมพันธ์ด้วยกิเลสต่างๆ เป็นสัมพันธ์กับสิ่งทั้งหลายด้วยปัญญา เมื่อพัฒนาปัญญาจนถึงที่สุด สมุทัยก็หายไป กลายเป็นนิโรธ ความคับข้องติดขัดใดๆภายในจิตใจ ก็กลายเป็นความหลุดพ้นเป็นอิสระ ปลอดโปร่งโล่งเบา

     กล่าวโดยย่อ นิโรธ คือ นิพพาน

  1. มรรค แปลว่า ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
    ปฏิปทาที่นำไปสู่ความดับทุกข์ มีองค์ 8 ประการ ที่เรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” เพราะเป็นทางสายกลางซึ่งดำเนินไปพอดีที่จะให้ถึงนิโรธ โดยไม่ติดข้องหรือเอียงไปหาที่สุดสองอย่าง คือ ความหมกมุ่นในกามสุข และการบีบคั้นทรมานตนเองให้เดือดร้อน เป็นกระบวนวิธีพัฒนามนุษย์ไปสู่การมีปัญญา จนกระทั่งไม่ต้องอาศัย อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ในการดำเนินชีวิต ก้าวข้ามการดำเนินชีวิตโดยอาศัยแรงจูงใจจากกิเลส อันเป็นเหตุแห่งทุกข์ ไปสู่การอยู่ด้วยปัญญา ดำเนินชีวิตด้วยแรงจูงใจจากความปรารถนาในสิ่งดีงาม

     กล่าวโดยย่อ มรรค คือ ทางดับทุกข์ มีองค์ 8 ประการ

หลักธรรมใดเป็นทางดำเนินไปสู่การดับทุกข์ได้ตามความหมายของอริยสัจ 4

ทุกข์เพราะยึดมั่นถือมั่นไว้ด้วยกิเลส

     ทุกข์นั้นมีอยู่ในธรรมชาติตามธรรมดาของมัน สิ่งทั้งหลายในโลกเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นธรรมดาตามธรรมชาติของมัน แต่เมื่อไม่รู้ ไม่เข้าใจความจริง เข้าไปยึดมั่นถือมั่นด้วยกิเลส เช่นนี้แล้วเมื่อสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นไว้แปรปรวนไป จึงก่อเกิดเป็นทุกขเวทนาขึ้นในจิตใจของบุคคลผู้ยึดติดถือมั่นนั้น

      ต่อเมื่อรู้ความจริงเข้า จึงค่อยๆคลาย ค่อยๆพ้นออกมา ทุกข์ ก็น้อยลง สุขมากขึ้น จนกระทั่งในที่สุดความทุกข์ในจิตใจหมดไปไม่เหลือ โปร่งโล่ง เป็นอิสระ อยู่เหนือมัน ท่านผู้ปฏิบัติสำเร็จลุล่วงตามธรรม เข้าถึงธรรมแท้จริงแล้ว จึงเป็นอยู่ด้วยจิตใจที่ผาสุขทุกเมื่อ

      ส่วนทุกข์ทางกาย ก็เป็นเรื่องของธรรมชาติไป ใครจะไปแก้ทุกข์ในธรรมชาติได้ (หมายถึงทุกขลักษณะในไตรลักษณ์) สิ่งทั้งหลายคือสังขารเป็นทุกข์ไม่มีใครไปแก้ได้ แต่เมื่อสิ่งทั้งหลายเป็นทุกข์ตามธรรมชาติของมัน ทำไมจึงมาเป็นทุกขเวทนาในจิตใจของเราด้วยล่ะ แสดงว่าเราผิดพลาดไปเอาทุกข์มาใส่ตัวเอง แต่พอเรารู้เท่าทัน เราปฏิบัติถูก เข้าถึงความจริง เข้าถึงธรรมแล้ว ทุกข์ที่มีในธรรมชาติ ก็เป็นทุกข์ตามธรรมชาติไป แต่ไม่เข้ามาครอบงำจิตของเรา จิตใจเราก็ไม่ทุกข์ไปด้วย เป็นอิสระหลุดพ้น

หลักธรรมใดเป็นทางดำเนินไปสู่การดับทุกข์ได้ตามความหมายของอริยสัจ 4

กิจในอริยสัจ : การรู้และทำหน้าที่ต่ออริยสัจ 4 แต่ละข้อให้ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง

     ทุกข์ : ควรกำหนดรู้ ศึกษาให้รู้จัก ให้เข้าใจสภาวะที่เป็นทุกข์ ตามที่มันเป็นของมัน จัดเป็นขั้นเริ่มต้น สำรวจปัญหา รวมถึงเรียนรู้เข้าใจชีวิตซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งปัญหาด้วย

     สมุทัย : ควรละ คือ การกำจัดเหตุแห่งทุกข์ให้หมดสิ้นไป การแก้ไขกำจัดต้นตอของปัญหา จัดเป็นขั้น สืบค้นวิเคราะห์ วินิจฉัยมูลเหตุของปัญหา

     นิโรธ : ควรทำให้แจ้ง หมายถึง การประจักษ์แจ้ง หรือ บรรลุถึงภาวะดับทุกข์ การเข้าถึงภาวะที่แก้ปัญหาได้เสร็จสิ้น บรรลุจุดหมายที่ต้องการ จัดเป็นขั้นเล็งรู้ภาวะหมดปัญหาที่เอาเป็นจุดหมาย ว่าเป็นไปได้อย่างไรและเมื่อไปถึงแล้วผลสำเร็จคืออะไร

     มรรค : ควรเจริญ คือ ทำให้เกิดขึ้นและเจริญเพิ่มพูนขึ้น การกระทำตามมรรควิธีที่จะนำไปสู่จุดหมาย จัดเป็นขั้นรับทราบวิธีการขั้นตอน และลงมือปฏิบัติ มรรคมีความหมายครอบคลุมธรรมภาคปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนา

     เปรียบเทียบอริยสัจ 4 โดยอุปมา : ทุกข์ เหมือน โรค, สมุทัย เหมือน สาเหตุของโรค, นิโรธ เหมือน ความหายโรค, มรรค เหมือน ยารักษาโรค

หลักธรรมใดเป็นทางดำเนินไปสู่การดับทุกข์ได้ตามความหมายของอริยสัจ 4

(สัจญาณ : รู้ความหมาย, กิจญาณ : รู้หน้าที่, กตญาณ : รู้ว่าได้ทำหน้าที่ต่ออริยสัจนั้นแล้ว)

(ที่มาของภาพ : หนังสือพุทธธรรม ฉบับปรับขยาย)

     “ภิกษุทั้งหลาย การรู้การเห็นของเราตามเป็นจริง (ญาณทัศนะ) ครบ 3 ปริวัฏ 12 อาการ ในอริยสัจ 4 เหล่านี้ ยังไม่บริสุทธิ์แจ่มชัด ตราบใด ตราบนั้น เราก็ยังปฏิญาณไม่ได้ว่าเราบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ” (ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร, 4/13-16)

     “ภิกษุทั้งหลาย เพราะไม่ตรัสรู้ ไม่เข้าใจอริยสัจ 4 ทั้งเรา และเธอ จึงได้วิ่งแล่นเร่ร่อนไป (ในชาติทั้งหลาย) สิ้นกาลนานอย่างนี้” (มหาปรินิพพานสูตร, 10/87)

การสอนแบบอริยสัจ

     การสอนแบบอริยสัจ เป็นวิธีการสอนที่วงการการศึกษาโลกยอมรับมาก ถือได้ว่าเป็นต้นแบบของวิธีสอนทุกอย่าง (รวมถึงการปลุกระดมจิตใจด้วย)

  1. จาระไนปัญหา (ทุกข์)
  2. ชี้เหตุแห่งปัญหา (สมุทัย)
  3. บอกจุดหมาย (นิโรธ)
  4. สาธยายวิธีทำการ (มรรค)

ความเชื่อมโยงกันของ ปฏิจจสมุปบาท นิพพาน และอริยสัจ

     ปฏิจจสมุปบาทและนิพพาน เป็นแต่ธรรมล้วนๆ ตามธรรมชาติ ส่วนอริยสัจ คือ ธรรมในรูปที่มนุษย์จะเข้าไปเกี่ยวข้อง หรือที่นำเสนอในเชิงที่เอื้อต่อความเข้าใจและการใช้ประโยชน์ของมนุษย์

     ปฏิจจสมุปบาท เป็นเนื้อหาสำคัญของ อริยสัจ และอริยสัจก็มีความหมายครอบคลุมปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ โดยปฏิจจสมุปบาทเน้นแสดงกระบวนการเกิดทุกข์ และดับทุกข์ ตามธรรมชาติล้วนๆ เป็นมัชเฌนธรรมเทศนา คือ หลักธรรมที่แสดงเป็นกลางๆ ตามที่เป็นไปตามธรรมดาของมัน ส่วนอริยสัจขยายผลถึงการปฏิบัติ วางระบบวิธีที่ทำให้สำเร็จผล และได้แสดงสภาวะของตัวนิโรธหรือนิพพานด้วย ปฏิจจสมุปบาท เป็นตัวกระบวนธรรมแกนกลางของอริยสัจ และเป็นเนื้อหาทางวิชาการ ที่จะต้องศึกษา ในเมื่อต้องการเข้าใจอริยสัจให้ชัดเจนถึงที่สุด จึงเป็นหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาทบทวนหลังจากตรัสรู้ใหม่ๆ

     ในแง่ของการหยั่งรู้ พระพุทธเจ้าทรงเลือกกล่าวคำสอนเฉพาะสิ่งที่เป็นประโยชน์ในการบรรลุธรรมเท่านั้น ท่านเปรียบเหมือนเลือกใบไม้มาหนึ่งกำมือ จากใบไม้ทั้งหมดในป่า ธรรมทั้งหมดที่พระพุทธเจ้าทรงสอน นั่นคือ อริยสัจ 4 โดยมีจุดซึ่งเป็นแก่นแท้เข้าใจยากที่สุดอยู่ที่ปฏิจจสมุปบาทและนิพพาน ถ้าเข้าใจปฏิจจสมุปบาทและนิพพานแล้ว ก็เป็นอันเข้าใจพุทธธรรมทั้งหมด กล่าวได้ว่า ที่จริง สาระสำคัญที่พระพุทธเจ้าต้องการ คือเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท และนิพพานนี่เอง แต่พอมาสื่อกับประชาชน ใช้อริยสัจ 4 เพื่อให้เป็นสิ่งที่เขาปฏิบัติได้ แก้ไขทุกข์ได้สำเร็จ