นโยบาย ตรีนุช เทียนทอง doc

วันที่ 29 มีนาคม 2564 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วย ผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้าง สังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมต้อนรับ นางสาวตรีนุช เทียนทอง เนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ณ บริเวณห้องโถงอาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

โดยในช่วงเวลา 8.00 น. นางสาวตรีนุช เทียนทอง (รมว.ศธ.) เดินทางถึงกระทรวงศึกษาธิการ โดยมี ผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้าง สังกัด กระทรวงศึกษาธิการ ให้การต้อนรับ หลังจากนั้นได้เดินทางเข้าสักการะพระพุทธรูปประจํากระทรวง (พระพุทธบารมีศักดิ์สิทธิ์ สยามิศรจักรี สัฏฐีอนุสรณ์ศึกษาทรรังสรรค์) ศาลพระภูมิ และพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 6 ต่อมา รมว.ศธ. เดินทางถึงห้องประชุมราชวัลลภ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อมอบนโยบายและแนวทางดำเนินงานในการพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพต่อไป

รมว.ศึกษาธิการคนใหม่เข้ากระทรวงมอบนโยบายให้ผู้บริหารระดับสูงไปปฎิบัติ ชูวาระเร่งด่วน 7 ด้าน และ 12 นโยบายที่ต้องขับเคลื่อนในภาวะการระบาดของโควิด

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายให้ผู้บริหารระดับสูง ศธ.ว่า ศธ.เป็นพื้นที่ของทุกคน ซึ่งมีเป้าหมายร่วมกัน คือ การมีผู้เรียนเป็นเป้าหมายแห่งการพัฒนา โดยการทำให้ผู้เรียนมีวิธีคิดและทักษะที่เป็นสากลสอดคล้องกับพลวัตในศตวรรษที่ 21 ควบคู่ไปกับสำนึกและความเข้าใจในความเป็นไทย ผ่านการมีความพร้อมด้านเทคโนโลยี ทั้งในเชิงโครงสร้างและในเชิงการเรียนรู้ (Learning)

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการตระหนักถึงความสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2561 - 2580) ประเด็นการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพมนุษย์ จึงนำเสนอนโยบายการจัดการศึกษาทั้ง 12 ข้อ ประกอบด้วย 1.การปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ให้ทันสมัย และทันการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 212.การพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครูและอาจารย์ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษาให้มีสมรรถนะทางภาษาและดิจิทัล 3.การปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลแห่งชาติ (NDLP) และการส่งเสริมการฝึกทักษะดิจิทัลในชีวิตประจำวัน

4.การพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารและการจัดการศึกษา โดยการส่งเสริมสนับสนุนสถานศึกษาให้มีความเป็นอิสระและคล่องตัว การกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาโดยใช้จังหวัดเป็นฐาน 5.การปรับระบบการประเมินผลการศึกษาและการประกันคุณภาพ พร้อมจัดทดสอบวัดความรู้ และทักษะที่จำเป็นในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาทั้งสายวิชาการและสายวิชาชีพ6.การจัดสรรและการกระจายทรัพยากรให้ทั่วถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการระดมทรัพยากรทางการศึกษาจากความร่วมมือทุกภาคส่วน 7.การนำกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) และกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF) สู่การปฏิบัติ 8.การพัฒนาเด็กปฐมวัยให้ได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาเพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย

9.การศึกษาเพื่ออาชีพและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 10.การพลิกโฉมระบบการศึกษาไทยด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการจัดการศึกษาทุกระดับการศึกษา 11.การเพิ่มโอกาสและการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา และผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ และ 12.การจัดการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย โดยยึดหลักการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

นอกจากนั้น ได้มีนโยบายเร่งด่วน(Quick Win) อีก 7 ด้านประกอบด้วย 1.เรื่องความปลอดภัยของผู้เรียน 2.หลักสูตรฐานสมรรถนะ 3.Big Data 4.ขับเคลื่อนศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) 5.พัฒนาทักษะทางอาชีพ 6.การจัดเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับประชาชนทุกช่วงวัยให้มีคุณภาพและมาตรฐาน และ 7.การจัดการศึกษาสำหรับผู้ที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ซึ่งทั้ง 7 ด้านเพื่อตอบสนองในสถานการณ์ โควิด-19 ที่มีการเรียนการสอนออนไลน์มากยิ่งขึ้น ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเตรียมผู้เรียนให้มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ปัญหาความปลอดภัยของสถานศึกษาและปัญหาความเหลื่อมล้ำของโอกาสในการศึกษาที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

และเมื่อเวลา 08.09 น.สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ พระพุทธบารมีศักดิ์สิทธิ์สยามิศรจักรีสัฏฐีอนุสรณ์ ศึกษาทรรังสรรค์ พร้อมสักการะเครื่องบูชาศาลพระภูมิ รวมทั้งถวายสักการะ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

ขณะเดียวกันเมื่อเวลา 08.05 น. มีต้องแทนกลุ่มนักเรียนเลว เดินทางมามอบของที่ระลึกให้แก่ รมว.ศธ.คนใหม่ โดยภายของที่ระลึกดังกล่าวในเป็นเค้กรูปอาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงการเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ รมว.ศธ.ว่า เป็นการแบ่งเค้กเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง

จากนั้นเมื่อนางสาวตรีนุช ได้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงศึกษาธิการเรียบร้อยแล้ว จึงรับของที่ระลึกจากกลุ่มนักเรียนเลว พร้อมทั้งกล่าวตอนหนึ่งว่า กลุ่มนักเรียนเลว ถือเป็นเยาวชนและเป็นประชาชนคนไทย ดังนั้นสิ่งไหนที่ต้องการเสนอแนะเรื่องใด และเยาวชนส่วนรวมได้ประโยชน์ด้วย ตนก็ยินดีรับไปขับเคลื่อน ทั้งนี้ทุกคนเปรียบเสมือนเหมือนลูก เหมือนหลาน หากมีเรื่องอะไรก็สามารถพูดคุยกันได้

ทั้งนี้นางสาวตรีนุช ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ตอนหนึ่งว่า ตนมีวาระเร่งด่วน 4 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.การผลักดันโรงเรียนคุณภาพของชุมชนและการพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นการสานต่อนโยบายเดิมของศธ.ที่ต้องการขับเคลื่อนให้แต่ละชุมชนได้มีโรงเรียนที่มีคุณภาพอย่างน้อย 1 โรงเรียนขึ้นไป ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของโอกาสในการศึกษา 2.ความปลอดภัยของสถานศึกษา โรงเรียนทุกแห่งในประเทศไทยถือเป็น พื้นที่ปลอดภัย จากการบูลลี่และการทารุณกรรมเด็ก 3.ความรู้เรื่องดิจิทัลและทักษะที่จําเป็นในศตวรรษที่ 21 โดยจะประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลแห่งชาติ และระบบฐานข้อมูลการศึกษา (Big Data) และ 4.การขับเคลื่อนภาพลักษณ์ที่ดีของการอาชีวศึกษา โดยจะมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์สถาบันอาชีวศึกษาที่มีมาตรฐานชั้นนําในระดับประเทศให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง 

นางสาวตรีนุช กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ตนมีนโยบายการทำงานในรูปแบบของ TRUS คือ ความไว้วางใจที่จะทำให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง ผู้เรียน และประชาชน กลับมาให้ความไว้วางใจการทํางานของ ศธ.อีกครั้งด้วยการสร้างความรับผิดชอบ มีความโปร่งใสในการทำงาน ทำงานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และยึดผู้เรียนเป็นเป้าหมายแห่งการพัฒนา ซึ่งผ่านความพร้อมด้วยการมีเทคโนโลยีทางการศึกษาที่ทันสมัย 

“ดิฉันยืนยันว่าจะมีการสานต่อแผนการศึกษาจังหวัด ซึ่งเป็นนโยบายเดิมของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีต รมว.ศธ. เพราะเป็นนโยบายที่ดีและสร้างโรงเรียนให้มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ส่งกำลังใจและฝากให้มีการสานต่อโครงการของ ศธ.ที่ทำไว้เดิมให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งนโยบายต่างๆ ดิฉันคงไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะวางระยะเวลา ว่า จะดำเนินการให้จับต้องได้ภายในกี่เดือน แต่จะทำงานด้านการศึกษาให้ดีที่สุด ซึ่งต้องขอประชุมร่วมกับผู้บริหารศธ.ก่อน ส่วนการทำงานร่วมกับ รมช.ศธ.ทั้งสองคนนั้น ดิฉันไม่มีปัญหาหรือข้อกังวลอะไร และพร้อมร่วมทำงานกับข้าราชการทุกคน ซึ่งจะเปิดรับฟังทุกข้อเสนอแนะจากทุกฝ่ายทีเกี่ยวข้อง”รมว.ศธ. กล่าว

สำหรับประเด็นที่สังคมมองว่าตนได้รับตำแหน่งในกระทรวงที่ใหญ่และเป็นรัฐมนตรีฝึกหัดนั้น นางสาวตรีนุชกล่าวว่า  ไม่หนักใจและมองว่า ศธ.เป็นกระทรวงใหญ่ที่มีความท้าทาย และมีปัญหาหลากหลาย ซึ่งเรื่องใดที่ต้องการให้แก้ไขอย่างเร่งด่วนคงทำไม่ได้ในทันที แต่จะมีวิธีบริหารจัดการแก้ไขปัญหอย่างเป็นระบบแน่นอน