ลักษณะการประกอบธุรกิจ CP ALL

ท่ามกลางบริบททางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา บริษัทจึงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเสี่ยงและความต่อเนื่องทางธุรกิจ เพื่อให้องค์กรสามารถก้าวไปสู่เป้าหมายได้เป็นผลสำเร็จ รวมถึงปรับตัวและเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นใหม่ได้ในทุกสถานการณ์

บริษัทกำหนดกรอบการบริหารความเสี่ยง (Enterprise Risk Management Framework) เพื่อใช้ในการดำเนินงานโดยอ้างอิงมาตรฐานสากล

กรอบการบริหารความเสี่ยงซีพีเอฟ

ทั้งนี้ ในปี 2561 บริษัทมีความเสี่ยงสำคัญและกลยุทธ์ในการจัดการความเสี่ยงรวม 7 ด้าน

1. ความเสี่ยงใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

การเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมอย่างพลิกผัน (Disruptive Innovation)

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน ประกอบกับการมีความคิดสร้างสรรค์ ทำให้สิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นโมเดลทางธุรกิจใหม่ หรือสินค้ารูปแบบใหม่ที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งผู้บริโภคสมัยใหม่ก็พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงหรือทดลองในสิ่งใหม่ง่ายขึ้น ธุรกิจหรือสินค้าใหม่จึงมีโอกาสในการขายได้มากขึ้นตามไปด้วย นวัตกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นใหม่เหล่านี้ อาจส่งผลต่อโมเดลทางธุรกิจ หรือปริมาณความต้องการสินค้าที่บริษัทผลิตได้

การบริหารความเสี่ยง

บริษัทตระหนักถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค และเล็งเห็นถึงความพร้อมของผู้บริโภคที่จะเปลี่ยนแปลงไปทดลองสิ่งใหม่ๆ บริษัทจึงคาดว่าตลาดจะมีการแข่งขันด้านนวัตกรรมในการผลิตสินค้าและบริการที่เพิ่มสูงมากขึ้น จึงได้เตรียมการโดย

  • ปลูกฝังค่านิยมองค์กร “สร้างสรรค์สิ่งใหม่” เพื่อการปรับปรุง การสร้างสิ่งใหม่ และการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนทั้งในรูปของการพัฒนากระบวนการ การพัฒนาสินค้าและบริการ

  • ส่งเสริมบรรยากาศในการทำงานที่กระตุ้นความคิด การทดลองทำ และการเรียนรู้

  • จัดทำโครงการพิเศษต่างๆ เพื่อให้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถได้เข้ามาร่วมกันพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ ทดลองทำเพื่อให้เห็นผลลัพธ์ ก่อนที่จะนำออกสู่ตลาด

  • จัดตั้งสำนักวิจัยอาหาร เพื่อนำผลการวิจัยมาใช้ต่อยอดสู่การพัฒนาอาหาร

  • มีหน่วยงานด้านพัฒนาสินค้าทั้งในรูปของเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากตัวสัตว์ และอาหาร เพื่อสร้างความแตกต่างในสินค้า และเป็นทางเลือกแก่ผู้บริโภค

  • ฝึกอบรมบุคลากรให้เข้าใจในการเปลี่ยนแปลงแบบ Disruptive เพื่อใช้เป็นฐานสู่การต่อยอดความคิดใหม่

ภัยจากโลกไซเบอร์ (Cyber Crime)

รูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัทพึ่งพิงเทคโนโลยีมากขึ้น มีการนำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้กระบวนการผลิต นำระบบงานต่างๆ เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และมีการเชื่อมโยงระบบงาน และฐานข้อมูลทั้งภายในและภายนอกองค์กร ดังนั้น ระบบงาน เครือข่ายคอมพิวเตอร์ และฐานข้อมูลของบริษัทอาจถูกรุกรานจากบุคคลภายนอก โดยมุ่งหวังที่จะโจรกรรมข้อมูลสำคัญของบริษัท ลูกค้า และพนักงาน หรือมุ่งทำลายระบบความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งอาจส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ ความน่าเชื่อถือ และชื่อเสียงของบริษัทได้

การบริหารความเสี่ยง

บริษัทเล็งเห็นถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากระบบงานหยุดชะงัก หรือข้อมูลที่สำคัญโดยเฉพาะข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อการแข่งขัน เช่น สูตรอาหาร รายชื่อลูกค้า แผนกลยุทธ์ หรือข้อมูลของพนักงาน รั่วไหลออกไปยังบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง บริษัทจึงดำเนินการในเรื่องต่างๆ ดังนี้

  • ประกาศใช้นโยบายและมาตรฐานการปฏิบัติงานความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศ

  • จัดลำดับชั้นสารสนเทศของแต่ละหน่วยงาน และจัดอบรมหลักการและแนวปฏิบัติในการจัดลำดับชั้นสารสนเทศตั้งแต่พนักงานเริ่มเข้าทำงาน

  • สื่อสารแนวปฏิบัติที่เหมาะสมแก่พนักงานของบริษัทเกี่ยวกับการใช้งานระบบ การจัดการสารสนเทศ รวมถึงเมื่อพบการระบาดของไวรัส หรืออีเมลที่ไม่เหมาะสม

  • คัดเลือก และพัฒนาระบบงานโดยพิจารณาถึงความปลอดภัยของระบบตามมาตรฐานสากล

  • ตรวจสอบการเข้าเครือข่ายโดยบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง และทวนสอบระบบความปลอดภัยอย่างต่อเนื่องโดยร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาภายนอก

2. ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์

ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ

อุณหภูมิของโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เพราะการเพิ่มขึ้นของประชากร การขยายตัวทางเศรษฐกิจ และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ส่งผลให้เกิดสภาวะเรือนกระจก และเกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสภาวะดังกล่าวกลายเป็นวิกฤตการณ์ที่อุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารต้องเผชิญ และเป็นความท้าทายในการดำเนินธุรกิจอย่างมากทั้งด้านการจัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้มีคุณภาพตามที่กำหนด มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการ และในราคาที่เหมาะสม หรือการเลี้ยงสัตว์ในสภาพอากาศที่แปรปรวน ซึ่งหากบริหารจัดการไม่เหมาะสม อาจส่งผลต่อต้นทุนการผลิต และประสิทธิภาพในการเลี้ยงสัตว์ได้

การบริหารความเสี่ยง

การดำเนินธุรกิจของบริษัทจะคำนึงถึงผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดกระบวนการ โดยมีเป้าหมายเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ โดยดำเนินการในด้านต่างๆ ดังนี้

  • พัฒนาความมั่นคงในการจัดหาวัตถุดิบทางการเกษตร ตั้งแต่การติดตามความสมดุลของอุปสงค์และอุปทานของวัตถุดิบ วิจัยและพัฒนาเพื่อค้นคว้าวัตถุดิบทดแทน และส่งเสริมศักยภาพของคู่ค้าวัตถุดิบทางการเกษตร

  • พัฒนาผลิตภัณฑ์โดยการให้ความสำคัญในการสร้างมูลค่าของผลิตภัณฑ์ในด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับฉลาก Carbon Footprint ฉลากลด Carbon Footprint หรือฉลากลด Water Footprint เป็นต้น

  • ลดการใช้พลาสติกจากปิโตรเลียมชนิด Polyethylene Terephthalate (PET) แล้วใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกชนิด Polylactic Acid (PLA) ซึ่งผลิตจากพืช และสามารถย่อยสลายได้เอง

  • พัฒนากระบวนการบริหารจัดการภายในด้วยการนำหลัก 4Rs (Reduce-Reuse-Recycle-Replenish) มาใช้ภายใต้มาตรฐานและกระบวนการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อม และพลังงานซีพีเอฟ (CPF Safety Health Environment and Energy Standard: CPF SHE&En Standard) รวมถึงการกำหนดเป้าหมาย และตัวชี้วัดต่างๆ เช่น การลดปริมาณการใช้พลังงานต่อหน่วยการผลิต การลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การลดปริมาณของเสียที่กำจัดโดยวิธีการฝังกลบและเผาต่อหน่วยการผลิต

  • ประเมินความเสี่ยงและโอกาสที่จะเกิดขึ้นจากการทำ Scenario Analysis ตามคำแนะนำของ The Task Force on Climate-related Financial Disclosure (TCFD)

  • สนับสนุนกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของหน่วยงานภาครัฐ

ปริมาณและความเพียงพอของน้ำ

โลกเผชิญวิกฤตการณ์ขาดแคลนน้ำมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดสถานการณ์ภัยแล้งที่นับวันจะทวีความรุนแรงและเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ดังนั้น การดำเนินธุรกิจของบริษัท ซึ่งจำเป็นต้องใช้น้ำที่มีคุณภาพ อาจได้รับผลกระทบทั้งจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในการบำบัดน้ำให้ได้ตามคุณภาพ และต้นทุนการซื้อน้ำเพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจ

การบริหารความเสี่ยง

ด้วยความสำคัญของทรัพยากรน้ำที่มีผลต่อความต่อเนื่องในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร บริษัทจึงให้ความสำคัญในการพัฒนาแหล่งน้ำ และการบริหารจัดการแหล่งน้ำในทุกขั้นตอนการดำเนินธุรกิจ ตั้งแต่

  • การคัดเลือกสถานที่ตั้งของสถานประกอบการบนพื้นฐานของการพิจารณาความเสี่ยงด้านสาธารณูปโภคที่จำเป็น

  • ประเมินพื้นที่ที่มีความเสี่ยงด้านการขาดแคลนน้ำ (Water Stress Areas) ด้วยเครื่องมือ Global Water Tool ของสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (World Business Council for Sustainable Development : WBCSD) โดยดำเนินการทั้งสถานประกอบการของบริษัท และขยายผลไปยังสถานที่ตั้งของคู่ค้าธุรกิจที่มีปริมาณการใช้น้ำสูง พร้อมทั้งกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการ

  • ร่วมรับฟังข้อกังวลของชุมชนเกี่ยวกับการใช้น้ำ และนำมาใช้ในการจัดทำแผนการบริหารความเสี่ยงด้านน้ำ

  • กำหนดตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน โดยมีเป้าหมายเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำ เช่น ปริมาณการใช้น้ำต่อตัวสัตว์ต่อวัน เปอร์เซ็นต์การนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ในกระบวนการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการผลิต เป็นต้น

  • มุ่งสร้าง อนุรักษ์ และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ เช่น โครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง

สิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทาน

การเคารพในหลักสิทธิมนุษยชน ไม่ใช้แรงงานทาส แรงงานบังคับ และแรงงานที่ได้จากกระบวนการค้ามนุษย์ ยังคงเป็นสิ่งที่ทุกกิจกรรมในห่วงโซ่อุปทานต้องให้ความสำคัญ และปฏิบัติให้สอดคล้องตามหลักสากล แต่ห่วงโซ่อุปทานในการผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าและบริการสู่ผู้บริโภคนั้น มีผู้เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก เช่น เกษตรกร คู่ค้าวัตถุดิบ บริษัทในฐานะผู้ผลิตอาหารสัตว์-ตัวสัตว์-อาหาร ผู้ขนส่ง และคู่ค้าที่เป็นผู้กระจายสินค้า เป็นต้น ซึ่งอาจมีผู้เกี่ยวข้องบางรายไม่ปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะส่งผลต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ รวมถึงการจำหน่ายสินค้าของบริษัทได้

การบริหารความเสี่ยง

แรงงานบังคับในห่วงโซ่อุปทาน แรงงานต่างด้าวในห่วงโซ่อุปทาน และสุขภาพ ความปลอดภัย และความเป็นอยู่ของพนักงานและผู้รับเหมาในสถานประกอบการ เป็นประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญของบริษัท (Salient Human Rights Issues) ดังนั้น บริษัทจึงมุ่งมั่นบริหารจัดการประเด็นดังกล่าวอย่างต่อเนื่องตลอดห่วงโซ่อุปทาน เริ่มจาก

  • การประกาศใช้นโยบายด้านสิทธิมนุษยชน

  • การตรวจประเมินสถานะด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Due Diligence Process)

  • การถ่ายทอดนโยบายการจัดหาอย่างยั่งยืนสำหรับคู่ค้าธุรกิจและแนวปฏิบัติสำหรับคู่ค้าธุรกิจ ตลอดจนฝึกอบรม ให้ความรู้ และสนับสนุนคู่ค้าธุรกิจให้ตรวจประเมินตนเองด้านความยั่งยืน

  • ดำเนินการตรวจประเมินคู่ค้าหลักด้านความยั่งยืน และจัดหาวัตถุดิบทางการเกษตรจากแหล่งที่มาที่รับผิดชอบ

  • ดูแลสุขอนามัย ความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในสถานที่ปฏิบัติงานตามกฎหมาย และมาตรฐานต่างๆ

  • ส่งเสริมให้พนักงานทำงานแบบมีส่วนร่วม และเคารพในความแตกต่าง มุ่งปฏิบัติต่อพนักงานและคนงานบนพื้นฐานของความเท่าเทียม เป็นธรรม

ทั้งนี้ การดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนของบริษัทสอดคล้องกับมาตรฐานสากลต่างๆ เช่น

  • ข้อกำหนดขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO)

  • ข้อกำหนดแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact)

  • แนวทางของสหประชาชาติว่าด้วยการดำเนินธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principle on Business and Human Rights : UNGP)

  • กฎหมาย และระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องในทุกประเทศที่บริษัทเข้าไปดำเนินกิจการ

การลงทุนและผลการดำเนินงาน

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทเน้นขยายการลงทุนในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ทั้งในธุรกิจผลิตอาหารสัตว์ เลี้ยงสัตว์ และธุรกิจผลิตอาหารเพื่อการบริโภค โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายฐานการผลิต และลดปัญหาด้านระเบียบข้อบังคับของประเทศคู่ค้าที่มีต่อประเทศไทย ซึ่งเป็นฐานการผลิตหลักในธุรกิจอาหารของบริษัท ดังนั้นจึงเกิดความท้าทายตั้งแต่การตัดสินใจลงทุน จนกระทั่งธุรกิจสร้างรายได้และผลตอบแทน ซึ่งอาจมีปัจจัยต่างๆ เข้ามากระทบและส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุน หรือการไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดหวัง เช่น ภาวะเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงนโยบายของภาครัฐ การแข่งขันทางการตลาดที่เข้มข้น เป็นต้น

การบริหารความเสี่ยง

การตัดสินใจลงทุนของบริษัท จะมีคณะกรรมการที่พิจารณากลั่นกรองก่อนการตัดสินใจดำเนินการ ซึ่งจะพิจารณาถึงความเกี่ยวเนื่องกันหรือความสอดคล้องกันกับธุรกิจเดิมของบริษัท ความคุ้มค่าในการลงทุน ความเหมาะสมของช่วงเวลา แหล่งที่มาของเงินลงทุน รวมถึงข้อกฎหมายของประเทศนั้นๆ และในกรณีที่มีการควบรวมกิจการ จะมีกระบวนการจัดทำ Due Diligence เพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบเชิงลึกในหลายๆ ด้าน เช่น ด้านกฎหมาย ด้านบัญชีและการเงิน และด้านมูลค่าทางธุรกิจของบริษัท เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ

นอกจากนี้ บริษัทมีการกำหนดกลยุทธ์ในการดำเนินงานและเป้าหมายในแต่ละประเทศ พร้อมทั้งมีการติดตามผลการดำเนินงานเป็นระยะๆ เพื่อประเมินผลการดำเนินงานและทบทวนแผนกลยุทธ์ให้สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย

3. ความเสี่ยงด้านการดำเนินงาน

คุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า

พฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใส่ใจในอาหารที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย รวมถึงสนใจตัวช่วยในการดูแลสุขภาพมากขึ้น โดยเน้นบริโภคอาหารที่สดใหม่ ผ่านการปรุงแต่งให้น้อยที่สุด นอกเหนือไปจากรสชาติ ความหลากหลาย และความสะดวกสบาย จากแนวโน้มพฤติกรรมเหล่านี้ จึงเกิดเป็นความท้าทายในการผลิตและจำหน่ายสินค้าของบริษัทที่ต้องตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งในด้านคุณภาพ ความปลอดภัย คุณค่าทางโภชนาการ และความอร่อยไปพร้อมๆ กัน อีกทั้งภาครัฐยังมีการออกกฎหมายอาหารเพิ่มมากขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยในอาหารที่จัดจำหน่ายในประเทศ ตลอดจนคุ้มครองผู้บริโภค ดังนั้น หากสินค้าของบริษัทมีคุณภาพ และความปลอดภัยไม่สอดคล้องตามข้อกฎหมาย หรือความคาดหวังของลูกค้า อาจทำให้ไม่สามารถจัดจำหน่ายได้ เสียชื่อเสียง และกระทบต่อผลการดำเนินงาน

การบริหารความเสี่ยง

บริษัทมีเจตนารมณ์ในการยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยในสินค้าตลอดกระบวนการ เพื่อสุขภาพอนามัยที่ดีของผู้บริโภค ด้วยการพัฒนาสินค้าและบริการให้ก้าวทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลง ผ่านกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตจนกระทั่งถึงการส่งมอบสินค้าและบริการสู่มือผู้บริโภค โดย

  • ประกาศนโยบายการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์อย่างมีความรับผิดชอบ และนโยบายคุณภาพซีพีเอฟ

  • ทุ่มเทในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอาหารสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ และการผลิตอาหารสำหรับการบริโภค รวมถึงการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและสุขภาวะที่ดีขึ้น

  • วิจัยและพัฒนาสินค้าโดยคำนึงถึงคุณภาพและความปลอดภัย ความต้องการของผู้บริโภค และสอดคล้องกับข้อกฏหมาย

  • นำระบบมาตรฐานสากลด้านคุณภาพมาใช้ ตลอดจนพัฒนามาตรฐานอาหารซีพีเอฟ (CPF Food Standard) ให้เป็นระบบเดียวกันตลอดห่วงโซ่อุปทาน

  • ปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) อย่างเคร่งครัด เพื่อปกป้องสุขภาพของคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมตามหลักการ “สุขภาพหนึ่งเดียว” (One Health)

  • นำเครื่องตรวจสอบสิ่งแปลกปลอมเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต ตลอดจนตรวจประเมินคุณภาพของสินค้า

  • พัฒนาระบบการตรวจสอบย้อนกลับแบบดิจิทัลที่รวดเร็ว และแม่นยำมากยิ่งขึ้น

  • จัดให้มีระบบจัดการข้อร้องเรียน พร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาในการจัดการตามระดับความรุนแรงของเหตุการณ์

  • สื่อสารข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่ชัดเจน และเพียงพอผ่านสื่อต่างๆ และบนฉลากสินค้า

  • พัฒนาแผนการเรียกคืนผลิตภัณฑ์ (Product Recall Plan) ไว้รองรับในกรณีที่พบปัญหาด้านสินค้าในระดับวิกฤต

โรคระบาดในสัตว์ โรคระบาดที่เชื่อมโยงมาสู่คน

โรคระบาดในสัตว์ยังคงเป็นเหตุการณ์ที่สามารถสร้างความเสียหายต่อธุรกิจการเลี้ยงสัตว์ และธุรกิจอาหารสัตว์ได้ ซึ่งโรคที่พบในปัจจุบันก็มีทั้งโรคที่สามารถบริหารจัดการได้แล้ว หรือบางโรคอยู่ระหว่างการบริหารจัดการ เช่น โรคกุ้งตายด่วน (Early Mortality Syndrome : EMS) โรคไมโครสปอร์ลิเดียในกุ้ง (Enterocytozoon Hepatopenaei : EHP) เป็นต้น ในขณะที่ยังมีโรคที่พบการระบาดในประเทศอื่นที่ต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การระบาดอย่างใกล้ชิด เช่น โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever) เป็นต้น เพราะหากมีการแพร่ระบาดเข้ามาในประเทศ ย่อมสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรม และกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัท นอกจากนี้ หากโรคระบาดนั้นสามารถติดต่อมาสู่คนได้ ธุรกิจอาหารก็จะได้รับผลกระทบเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคอาจกังวลในความปลอดภัย จึงชะลอ หรืองดการบริโภคในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

การบริหารความเสี่ยง

บริษัทมีระบบการบริหารจัดการภายใน ตั้งแต่การติดตามข้อมูลข่าวสารของโรค การค้นคว้าและวิจัยถึงปัจจัยการเกิดโรค การพัฒนาพันธุ์สัตว์ให้มีความต้านทานโรค การออกแบบระบบการเลี้ยงให้ตัวสัตว์อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม รวมถึงการให้สัตว์ได้รับอาหารที่มีคุณภาพเหมาะสมกับการเจริญเติบโตในแต่ละช่วงเวลา และนำระบบเตือนภัยการระบาดของโรคเข้ามาใช้เพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถเพิ่มมาตรการบริหารจัดการในเชิงป้องกันได้อย่างทันท่วงที และหากพบการระบาดของโรค บริษัทก็มีแผนบริหารจัดการในสถานการณ์วิกฤตรองรับไว้ด้วย

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและอุตสาหกรรมในการให้ความคิดเห็น และสนับสนุนการดำเนินการต่างๆ เพื่อสกัดกั้นการแพร่กระจายของโรคที่พบในประเทศอื่น แต่ยังไม่มีการระบาดในไทย

ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านห่วงโซ่อุปทาน

การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าที่มีคุณภาพในปริมาณ และช่วงเวลาที่ต้องการ แต่ห่วงโซ่อุปทานของบริษัทมีผู้เกี่ยวข้องหลายกลุ่ม และมีจำนวนมากทั้งภายนอก และภายในองค์กร ดังนั้นการบริหารจัดการให้ทุกฝ่ายมีเป้าหมายตรงกัน และปฎิบัติตามบทบาทของตน จึงกลายเป็นความท้าทายที่บริษัทจะต้องประสานความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพราะหากไม่สามารถปฏิบัติได้อย่างเหมาะสมแล้ว อาจส่งผลต่อคุณภาพและความปลอดภัยในสินค้า ความคุ้มค่าในการใช้ทรัพยากร และความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทานได้

การบริหารความเสี่ยง

บริษัทมุ่งมั่นในการบริหารห่วงโซ่อุปทานให้มีประสิทธิภาพเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยดำเนินการในด้านต่างๆ ดังนี้

  • ด้านความร่วมมือกับเกษตรกร และคู่ค้าธุรกิจ: บริษัทได้แบ่งปันนโยบายด้านการจัดหาอย่างยั่งยืนและแนวปฏิบัติสำหรับคู่ค้าธุรกิจ ควบคู่ไปกับการให้ความรู้เกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีของบริษัทและมาตรฐานสากลแก่คู่ค้าธุรกิจ ตลอดจนให้คู่ค้าธุรกิจหลักประเมินตนเอง รวมถึงการเข้าตรวจประเมินคู่ค้า โดยบริษัท มุ่งหวังให้วัตถุดิบหลักทางการเกษตรทั้งหมดผ่านการจัดหาจากแหล่งผลิตที่รับผิดชอบและตรวจสอบย้อนกลับได้ นอกจากนี้ บริษัทยังร่วมดำเนินโครงการกับภาครัฐ คู่ค้าธุรกิจ และเกษตรกรเครือข่าย เพื่อสร้างความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทาน เช่น โครงการเกษตรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความรู้ด้านการเพาะปลูกอย่างถูกวิธีตามมาตรฐานสินค้าเกษตร การเข้าร่วมขับเคลื่อน Seafood Task Force เพื่อผลักดันห่วงโซ่อาหารทะเลที่ยั่งยืน เป็นต้น

  • ด้านการบริหารจัดการภายในในฐานะผู้ผลิต: บริษัทมีการปรับโครงสร้างการบริหาร พัฒนากลยุทธ์และกำหนดตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน ปรับปรุงกระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง และนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยในการทำงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และมีต้นทุนที่เหมาะสม

  • ด้านโลจิสติกส์: บริษัทมีหน่วยงานด้านโลจิสติกส์ทำหน้าที่ควบคุมการขนส่งสินค้า โดยการจ้างผู้ขนส่งภายนอกให้ดำเนินการ ซึ่งบริษัทจะมีเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือก ตลอดจนกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงานที่ผู้ขนส่งต้องปฏิบัติในระหว่างการขนสินค้าของบริษัท

ความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์

1. ความผันผวนของราคาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์

ในช่วงที่ผ่านมาภาครัฐมีการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับวัตถุดิบอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น เช่น การกำหนดสัดส่วนการนำเข้า ข้าวสาลีต่อข้าวโพดเพื่อการเลี้ยงสัตว์ที่ต้องซื้อภายในประเทศ การกำหนดภาษีนำเข้าปลาป่น และกากถั่วเหลือง การประกันราคากากถั่วเหลือง เป็นต้น จึงทำให้ต้นทุนอาหารสัตว์สูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันในตลาดการค้าโลก นอกจากนี้ ประเด็นด้านข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ก็อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความผันผวนได้เช่นกัน

ปี 2560 - 2561 ราคาเฉลี่ยของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ในประเทศมีดังนี้

หน่วย: (บาท/กิโลกรัม)

ประเภทวัตถุดิบ

ราคาเฉลี่ยภายในประเทศ

ปี 2560

ปี 2561

ข้าวโพด 8.2 9.8
กากถั่วเหลือง 15.9 16.5
ปลาป่น 32.8 41.0

การบริหารความเสี่ยง

การใช้วัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ที่ดี ย่อมส่งผลต่อคุณภาพของอาหารสัตว์ คุณภาพของเนื้อสัตว์ และคุณภาพของอาหารเพื่อการบริโภคที่บริษัทผลิตและขายตลอดห่วงโซ่อุปทาน บริษัทจึงให้ความสำคัญกับคุณภาพของวัตถุดิบเป็นลำดับแรก ส่วนประเด็นด้านราคาเป็นประเด็นรองที่บริษัทต้องบริหารจัดการโดย

  • วางแผนความต้องการวัตถุดิบอาหารสัตว์แต่ละชนิดให้แม่นยำ เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการวางแผนการจัดซื้อ

  • พัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้านจัดซื้อและจัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ รวมถึงพัฒนาระบบการพยากรณ์ปริมาณวัตถุดิบที่มีอยู่ทั่วโลก

  • ดำเนินนโยบายจัดซื้อวัตถุดิบจากแหล่งผลิตในประเทศเป็นลำดับแรก โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่ที่โรงงานอาหารสัตว์ตั้งอยู่ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง

  • พัฒนาคู่ค้าด้วยการให้องค์ความรู้ในการผลิตเพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิต

  • ค้นคว้าและวิจัยวัตถุดิบทดแทน

2. ความผันผวนของราคาสัตว์มีชีวิตและสินค้าเนื้อสัตว์

ภาวะที่ปริมาณตัวสัตว์และเนื้อสัตว์ ไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ย่อมส่งผลต่อความผันผวนของราคา แต่การคาดการณ์อุปทานในตลาดโลกก็เป็นไปได้ไม่ง่ายนัก เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น การเกิดโรคระบาด ภัยธรรมชาติ หรือการขยายธุรกิจในอุตสาหกรรม จากปัจจัยดังกล่าว หากบริษัทไม่สามารถบริหารจัดการตัวสัตว์ และเนื้อสัตว์ได้อย่างเหมาะสม ย่อมส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัท

การบริหารความเสี่ยง

การขยายสู่ธุรกิจอาหารแปรรูป และอาหารสำเร็จรูป เป็นกลยุทธ์ในการบริหารความผันผวนของราคาสัตว์มีชีวิต และเนื้อสัตว์ที่บริษัทนำมาใช้ โดยที่บริษัทสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ตลอดจนเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคได้ โดยบริษัทจะเน้นให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ตลาด และความต้องการของผู้บริโภค เพื่อให้ทราบถึงแนวโน้มความต้องการของสินค้า จากนั้นจึงนำข้อมูลมาใช้ในการค้นคว้าและพัฒนาสินค้าให้มีความโดดเด่น และแตกต่างจากคู่แข่งขันทั้งด้านคุณภาพ ความปลอดภัย และคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อให้สินค้าเป็นที่ต้องการ

นอกจากนี้ บริษัทยังต้องบริหารเนื้อสัตว์ทั้งหมดด้วยการร่วมกันวางแผนการขาย การผลิต และการขยายธุรกิจให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนด้านราคาขาย

ด้านบุคลากร

บริษัทมีการดำเนินธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ และมีเป้าหมายการขยายธุรกิจในต่างประเทศมากขึ้น ดังนั้นการมีบุคลากรที่มีคุณภาพจะช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ตลอดจนทำให้บริษัทเติบโตได้อย่างยั่งยืน แต่ด้วยสถานการณ์ทางธุรกิจในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการมีบุคลากรหลากหลายช่วงวัย เชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมทำงานร่วมกัน บริษัทจึงจำเป็นต้องบริหารบุคลากรให้เหมาะสมตั้งแต่การสรรหาและคัดเลือก การพัฒนา การบริหารผลตอบแทนและการจูงใจให้บุคลากรยังคงอยู่ร่วมงานกับบริษัท เพื่อให้องค์กรสามารถก้าวสู่การเป็นผู้นำ และสร้างความสุขให้กับพนักงาน แต่หากบริษัทไม่สามารถบริหารบุคลากรได้อย่างเหมาะสม ย่อมส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขัน และการขยายธุรกิจได้

การบริหารความเสี่ยง

การบริหารจัดการบุคลากรเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่บริษัทให้ความสำคัญในทุกกระบวนการเพื่อให้ได้ “คนเก่ง คนดี” ที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมองค์กร CPF Way และสามารถนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมายได้ โดยเริ่มจาก

  • การวางผังโครงสร้างองค์กร และความต้องการพนักงานในแต่ละงาน

  • การสรรหาและคัดเลือกบุคลากรให้เหมาะสมกับลักษณะงาน และวัฒนธรรมองค์กร

  • พัฒนาองค์ความรู้และทักษะความสามารถ เสริมสร้างโอกาสในการเรียนรู้ ผ่านการฝึกอบรมและสัมมนาในห้องเรียน การเรียนรู้งานโดยการปฏิบัติจริง (On the Job Training) และการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์

  • ให้สวัสดิการ ความก้าวหน้าในงาน และผลตอบแทนที่สอดคล้องตามค่างาน และหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย

  • ปฏิบัติต่อบุคลากร บริหารความคาดหวัง และสนองความต้องการอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม

  • บริหารความแตกต่างและหลากหลาย เพื่อให้บุคลากรสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น

  • สร้างโอกาสในการแบ่งปันแนวคิด และจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ปลอดภัย เพื่อสร้างความสุขและความผูกพันองค์กร

การคอร์รัปชัน

ภาครัฐมีการประกาศพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งมีการระบุฐานความผิดไว้ทั้งผู้ให้และผู้รับสินบน ดังนั้น บริษัทในฐานะนิติบุคคลแห่งหนึ่งจึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามประกาศดังกล่าว และหากบริษัทปฎิบัติไม่สอดคล้อง ย่อมส่งผลต่อการละเมิดกฎหมาย อันอาจนำมาสู่การเสียชื่อเสียง และเสียค่าปรับได้

การบริหารความเสี่ยง

ภาครัฐและบริษัทมีเป้าหมายที่สอดคล้องกันในการขจัดปัญหาการคอร์รัปชัน ซึ่งทำให้เกิดต้นทุนที่ไม่จำเป็น บริษัทจึงมีการดำเนินการในด้านต่างๆ โดย

  • ประกาศใช้นโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน และนโยบายกำกับดูแลกิจการที่ดี

  • ปลูกฝัง “ความซื่อสัตย์” ให้แก่กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และคนงาน ซึ่งถือเป็น 1 ในค่านิยมองค์กร CPF Way

  • ออกแบบระบบงาน และการเบิกจ่ายอย่างรัดกุมเหมาะสมต่อการปฏิบัติงาน

  • รวบรวมรายการเอกสารที่ต้องขออนุญาต ขั้นตอนการขอ ระยะเวลาดำเนินการ และเอกสารประกอบที่ต้องใช้ รวมถึงการวางแผนงานให้เหมาะสมกับช่วงเวลาที่ต้องการ

  • ประเมินความเสี่ยง อันเกิดจากการไม่สามารถปฏิบัติได้ตามข้อกำหนดของหน่วยงานราชการ และกำหนดมาตรการจัดการเพิ่มเติม

  • กำกับดูแลการปฏิบัติงานโดยหัวหน้างาน ตรวจสอบการเบิกจ่ายโดยหน่วยงานบัญชีและการเงิน และหน่วยงานตรวจสอบภายใน

  • เปิดช่องทางการแจ้งข้อมูล เบาะแส ข้อร้องเรียน หรือข้อเสนอแนะ ผ่านเว็บไซต์ของบริษัท

ความผันผวนของตลาดการเงิน

ในช่วงปี 2561 ที่ผ่านมา ภาวะเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่อัตราการว่างงานลดต่ำลง อย่างไรก็ตามตลาดการเงินโลกยังคงมีความผันผวนอันเนื่องมาจากความกังวลต่อข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ประกอบกับธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกามีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจำนวน 4 ครั้ง ซึ่งปัจจัยต่างๆ ส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทมีความผันผวนเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ และต้นทุนการระดมทุนในตลาดการเงินปรับตัวสูงขึ้น บริษัทจึงมีการพิจารณาความเหมาะสมของการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากรายรับของบริษัทโดยส่วนใหญ่อยู่ในรูปเงินตราต่างประเทศ ทั้งรายรับจากการขายของกิจการในต่างประเทศ รายรับจากการส่งออกสินค้าของกิจการในประเทศไทย ตลอดจนการได้รับเงินปันผลจากการลงทุน เป็นต้น นอกจากด้านรายรับแล้ว บริษัทก็มีรายจ่ายสกุลเงินต่างประเทศซึ่งเกิดจากการซื้อวัตถุดิบเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการผลิต การนำเข้าวัสดุสิ้นเปลือง เครื่องจักร และอุปกรณ์บางส่วน รวมถึงการมีรายจ่ายเพื่อการลงทุนในต่างประเทศ นอกจากนี้เงินกู้ยืมบางส่วนก็อยู่ในรูปสกุลเงินตราต่างประเทศ ดังนั้นบริษัทจึงจำเป็นต้องบริหารจัดการรายรับและรายจ่ายให้เหมาะสม รวมถึงบริหารต้นทุนการกู้ยืมเพื่อลดผลกระทบดังกล่าวข้างต้น โดยในปี 2561 ซีพีเอฟและบริษัทย่อยในประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าไปจำหน่ายในต่างประเทศเป็นจำนวน 33,520 ล้านบาท หรือร้อยละ 6 ของรายได้จากการขายรวม และมีมูลค่าการนำเข้าวัตถุดิบจำนวน 25,566 ล้านบาท หรือร้อยละ 5 ของต้นทุนขายรวม

สำหรับการบริหารจัดการภาระดอกเบี้ยนั้น ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิรวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้นรวมอยู่ที่ 1.68 เท่า ซึ่งในจำนวนหนี้สินทั้งหมดนั้น มีบางส่วนเกิดจากการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน และการออกตราสารทางการเงิน ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในรูปของดอกเบี้ยจ่าย ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มอาจจะขยับตัวสูงขึ้นในอนาคต บริษัทจึงต้องพิจารณาทางเลือกในการระดมทุน รูปแบบการจ่ายผลตอบแทน หรือช่วงเวลาที่ต้องการระดมทุน เพื่อให้เกิดภาระด้านดอกเบี้ยจ่ายในระดับที่เหมาะสม และสอดคล้องกับนโยบายของบริษัท

การบริหารความเสี่ยง

บริษัทมีการกำหนดให้สายงานบัญชีและการเงินเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบดูแล วางแผนบริหารการเงิน ตลอดจนให้คำแนะนำปรึกษากับสายงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรับและการใช้จ่ายเงินตราสกุลต่างประเทศ นอกจากนี้บริษัทได้กำหนดนโยบายด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงในอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ โดยเน้นไม่แสวงหากำไร รวมถึงกระจายความเสี่ยงจากการรับหรือจ่ายเงินตราต่างประเทศเป็นแบบหลากหลายสกุลเงินที่สำคัญทั่วโลก ตลอดจนมีมาตรการในการบริหารรายได้และรายจ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศในสกุลเงินต่างๆ ให้สอดคล้องกัน (Natural Hedge) สำหรับการบริหารอัตราดอกเบี้ยนั้น บริษัทจะกู้ยืมเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งทำให้บริษัททราบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง แต่บริษัทก็มีการกู้ยืมโดยมีอัตราดอกเบี้ยลอยตัวส่วนหนึ่ง ซึ่ง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 บริษัทมีเงินกู้ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยลอยตัวจำนวน 60,099 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18 ของยอดเงินกู้รวมทั้งหมด โดยหากอัตราดอกเบี้ยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกๆ ร้อยละ 1 จะส่งผลให้บริษัทมีภาระดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 601 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังได้กำหนดนโยบายด้านอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทตามงบการเงินรวม และปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าวอย่างเคร่งครัด อีกทั้งยังระมัดระวังในการตัดสินใจต่างๆ จึงกำหนดให้สายงานบัญชีและการเงินติดตามภาวะอัตราดอกเบี้ย รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ทั้งนี้ การตัดสินใจในทางเลือกใดนั้นจะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ หรือผู้มีอำนาจอนุมัติ ซึ่งได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนในนโยบายและระเบียบปฏิบัติทางการเงิน

ถึงแม้ว่าบริษัทจะกำหนดกรอบการบริหารความผันผวนทางการเงินแล้วก็ตาม แต่ในความเป็นจริง มาตรการจัดการต่างๆ ก็อาจไม่สามารถทำให้ความผันผวนทางการเงินลดลงจนอยู่ในระดับที่บริษัทยอมรับได้ บริษัทจึงอาจนำอนุพันธ์ทางการเงินเข้ามาใช้เพิ่มเติมในการจัดการกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ย ซึ่งการใช้เครื่องมือทางการเงินเหล่านี้ ต้องดำเนินการโดยผู้ได้รับมอบหมาย และผ่านความเห็นชอบจากผู้มีอำนาจอนุมัติเท่านั้น

ความเสี่ยงด้านกฎหมาย และระเบียบทางการค้า

บริษัทดำเนินธุรกิจทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ รวมถึงมีการส่งออกสินค้าไปจำหน่ายทั่วโลก การปฏิบัติตามกฎหมายของแต่ละประเทศถือเป็นพื้นฐานการดำเนินธุรกิจที่ต้องปฏิบัติ ซึ่งในปัจจุบันแต่ละประเทศมีการออกกฎหมายใหม่ รวมถึงมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายบ่อยมากขึ้น บางครั้งกฎหมายที่ออกอาจไม่ชัดเจน ทำให้ต้องอาศัยการตีความ การใช้ภาษาต่างประเทศในกฎหมายของต่างชาติ ทำให้อาจเข้าใจได้ไม่ดีพอ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นความท้าทายในการดำเนินงานของบริษัทที่ต้องศึกษา ปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และปฏิบัติให้สอดคล้อง เพื่อให้ยังคงได้รับสิทธิในการประกอบธุรกิจ รวมถึงลดความเสี่ยงจากการทำผิดกฎหมาย ซึ่งอาจทำให้ต้องจ่ายค่าปรับ ถูกสั่งปิดสถานประกอบการชั่วคราว หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต

นอกจากนี้ ประเทศคู่ค้าในปัจจุบันที่บริษัทส่งสินค้าไปจำหน่ายก็มีการออกระเบียบทางการค้า เพื่อปกป้องคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศ หรือคุ้มครองสุขภาวะของประชาชน ทั้งในรูปแบบของการกำหนดภาษีศุลกากร (Tariff Barriers) และมาตรการที่มิใช่ภาษีศุลกากร (Non-tariff barriers) เช่น การกำหนดโควต้า การกำหนดมาตรฐานของสินค้าที่เข้มงวดมาก ทำให้บริษัทอาจมีค่าใช้จ่ายในการผลิตและการจัดการสินค้าตลอดห่วงโซ่อุปทาน ส่งผลกระทบต่อยอดขาย และความสามารถในการแข่งขัน

การบริหารความเสี่ยง

บริษัทมีหน่วยงานกลาง เช่น สำนักกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ สำนักความปลอดภัย อาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อม และพลังงาน สำนักกฎระเบียบอาหาร สำนักประกันคุณภาพ เป็นต้น ซึ่งทำหน้าที่ติดตามกฎหมายเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้อง และสื่อสารกับผู้ปฏิบัติงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

  • ติดตามกฎหมาย และระเบียบต่างๆ

  • ศึกษา สื่อสาร ให้คำแนะนำแก่ผู้บริหาร และหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง

  • ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประเมินความเสี่ยงอันเกิดจากการปฏิบัติไม่สอดคล้องตามกฎหมาย เช่น ประเมินความเสี่ยงจากพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560

  • ประสานงานกับบริษัทที่ปรึกษาภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อช่วยให้ความคิดเห็นในเชิงลึก

  • กำกับดูแลการปฏิบัติงานของสายธุรกิจให้สอดคล้องกับกฎหมาย ระเบียบต่างๆ

อย่างไรก็ดี การมีหน่วยงานกำกับดูแลอาจช่วยบริษัทในการตรวจติดตามการปฏิบัติตามกฎหมายได้ระดับหนึ่ง แต่อาจไม่สามารถครอบคลุมการดำเนินธุรกิจของบริษัทได้ทั้งหมด บริษัทจึงออกแบบระบบการทำงาน และตรวจติดตามการปฏิบัติงานเพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทได้ปฎิบัติสอดคล้องตามกฎหมายของทุกประเทศที่บริษัทมีการดำเนิน ธุรกิจหรือส่งสินค้าไปจำหน่าย รวมถึงการมุ่งเน้นให้บุคลากรทุกคน มีจริยธรรม จรรยาบรรณในการทำงานผ่านการปลูกจิตสำนึกในค่านิยม CPF Way การปรับปรุงคู่มือจริยธรรมในการทำงาน และการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง

ความเสี่ยงด้านภาพลักษณ์และชื่อเสียงขององค์กร

สื่อสังคมออนไลน์เป็นช่องทางการสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็ว และมีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก ดังนั้น หากมีข่าว หรือเหตุการณ์ด้านลบปรากฎในสื่อ ซึ่งอาจเกิดจากข่าวในอุตสาหกรรม ข่าวลือที่ไม่เป็นความจริง การเผยแพร่ข้อมูลของบริษัทที่คลาดเคลื่อน หรือเกิดจากการดำเนินธุรกิจที่ผิดพลาด หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ย่อมส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงของบริษัท

การบริหารความเสี่ยง

บริษัทมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส มีความรับผิดชอบต่อสังคม ทำประโยชน์ต่อชุมชน ตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียอย่างเหมาะสม และปฏิบัติตามกฎหมายของแต่ละประเทศที่เข้าไปลงทุนและส่งสินค้าเข้าไปจำหน่าย บริษัทจึงเน้นพัฒนาบุคลากร และกระบวนการทำงานภายใน ตลอดจนดำเนินโครงการต่างๆ ผ่านการ

  • ปลูกจิตสำนึกด้านการมีจริยธรรมและความซื่อสัตย์ เพื่อเป็นพื้นฐานในการปฏิบัติงานของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน

  • ปรับปรุงและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภายในและการสื่อสารทั้งในสภาวะปรกติ และกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่ปรกติ

  • จัดทำโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการซีพีเอฟ ปลูก-ปัน-ป้อง ป่าชายเลน เพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวัน โครงการซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงอาหารในเด็กและเยาวชน เป็นต้น

  • สำรวจความคาดหวัง และความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้เสียอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการปรับปรุงการดำเนินงาน

ความเสี่ยงจากการที่ซีพีเอฟมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ถือหุ้นซีพีเอฟมากกว่าร้อยละ 25 ของจำนวนหุ้นที่ออกจำหน่ายแล้วทั้งหมด

ณ วันที่ 7 มีนาคม 2562 บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และบริษัทย่อย ถือหุ้นซีพีเอฟรวมกันคิดเป็นร้อยละ 48.93 ของจำนวนหุ้นที่ออกจำหน่ายแล้วทั้งหมดของซีพีเอฟ จึงอาจทำให้วาระที่กฎหมายหรือข้อบังคับกำหนดให้ต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน ไม่ผ่านการลงมติ หากบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และบริษัทย่อยงดออกเสียงหรือลงคะแนนเสียงไม่เห็นด้วยในวาระดังกล่าว

การบริหารความเสี่ยง

บริษัทและคณะกรรมการบริษัทยึดมั่นในการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม และคำนึงถึงประโยชน์ต่อบริษัทและผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญดังนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่บริษัทประกาศใช้และมีการกำหนดขั้นตอนปฏิบัติ และระดับอำนาจอนุมัติในการดำเนินการด้านต่างๆ ของบริษัทไว้ โดยหากต้องขอมติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นในการเข้าทำรายการใดๆ ก็ตาม วาระดังกล่าวต้องผ่านการกลั่นกรองจากผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ก่อนที่เลขานุการบริษัทโดยได้รับมอบหมายจากประธานกรรมการ จะบรรจุเข้าเป็นวาระการประชุมคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณา และให้ความเห็นในรายการนั้นๆ สำหรับประกอบการพิจารณาลงมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้น

ทั้งนี้ ในหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้นจะระบุความเห็นขอธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิตมีอัตราการหมุนเวียนของแงคณะกรรมการบริษัทอย่างเพียงพอและเหมาะสม เพื่อให้ผู้ถือหุ้นได้ทราบความเห็นของกรรมการต่อรายการดังกล่าว และสามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานประกอบการตัดสินใจต่อไป และจากแนวทางปฏิบัติดังกล่าว บริษัทจึงเชื่อมั่นว่าผู้ถือหุ้นรายใหญ่จะออกเสียงลงคะแนนในทิศทางเดียวกันกับความเห็นของคณะกรรมการบริษัทในแต่ละวาระ นอกจากนี้ กรณีบริษัทมีการเข้าทำรายการที่เกี่ยวโยงกันซึ่งต้องขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นที่มีส่วนได้เสียซึ่งเป็นบุคคลที่เกี่ยวโยงกันตามประกาศที่เกี่ยวข้องของหน่วยงานกำกับดูแล จะไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในวาระดังกล่าว