หลัง สงครามโลก ครั้งที่ 2 ญี่ปุ่น

หลัง สงครามโลก ครั้งที่ 2 ญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 : ทนในสิ่งที่ยากจะทนให้พ้นผ่าน…ต่อให้ค่ำคืนนั้นจะมืดมิดแค่ไหน แต่สุดท้ายแล้วพระอาทิตย์จะกลับมาฉายแสงสว่างอีกครั้งหนึ่ง

บทความโดย : หมอแมวน้ำเล่าเรื่อง www.marumura.com

จักรวรรดิญี่ปุ่นต้องการครอบครองทวีปเอเซียและแปซิฟิกจึงเริ่มทำสงครามกับจีน ลุกลามกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงปีค.ศ. 1939-1945 ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในแกนนำสำคัญของฝ่ายอักษะ ทหารญี่ปุ่นมีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวด้วยการยึดคติว่า “ยอมตายไม่ยอมแพ้” ทำให้สงครามภาคพื้นเอเชียแปซิฟิคไม่สามารถจบลงได้ง่าย แม้ช่วงหลังกองทัพญี่ปุ่นเริ่มพ่ายแพ้ แต่ฝ่ายทหารยังคงยืนยันว่าจะใช้แผ่นดินญี่ปุ่นเป็นสมรภูมิตัดสินแพ้ชนะในการรบครั้งนี้

ความสูญเสียครั้งใหญ่ที่เป็นจุดพลิกผันให้ญี่ปุ่นยอมแพ้สงคราม คือ การที่อเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูลูกแรกที่ฮิโรชิม่าในวันที่ 6 ส.ค. 1945 หลังจากนั้นอีก 3 วันได้ทิ้งที่นางาซากิ ทำให้มีผู้เสียชีวิตบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากและมีทรัพย์สินเสียหายมหาศาล แต่ชาวญี่ปุ่นก็ยังนิ่งไม่ยอมแพ้ เพราะทั้งชาติเตรียมตัวตายพร้อมกันไว้แล้ว

ผู้นำในชาติมีความเห็นแตกออกเป็นหลายฝ่าย สุดท้ายองค์จักรพรรดิยอมรับปฏิญญาพ็อทซ์ดัมที่ให้ทหารญี่ปุ่นยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขเพื่อยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่จักรพรรดิญี่ปุ่นมีพระราชดำรัสแก่สามัญชนผ่านการกระจายเสียงทางแผ่นเสียงที่บันทึกเอาไว้ เนื้อหาที่ตรัสไม่มีคำว่า “ยอมแพ้” แม้แต่คำเดียว

หลัง สงครามโลก ครั้งที่ 2 ญี่ปุ่น

ถ้อยความสำคัญขององค์จักพรรดิที่ทำให้ชาวญี่ปุ่นอดทนฟันฝ่าอุปสรรคจนสร้างประเทศกลับมาให้ยิ่งใหญ่ได้ คือ

“อดทนในสิ่งที่เหลือจักทานทน ข่มกลั้นในสิ่งที่ยากจักข่มกลั้น เพื่อถากถางปูทางสู่มหาสันติภาพอันจักยั่งยืนสืบไปนับพันปี”

หลังจบสงครามสหรัฐอเมริกาได้เข้ามาปกครองปฏิรูปทางสังคมและการเมืองในญี่ปุ่นใหม่เกือบหมด
ผู้คนสูญเสียทรัพย์สินและที่อยู่อาศัยจากสงคราม เศรษฐกิจตกต่ำอย่างมาก เงินเฟ้อรุนแรง บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กล้มละลาย ไม่สามารถส่งออกสินค้าไปขายได้ มีภัยธรรมชาติเกิดขึ้นอีกหายครั้ง แต่ไม่ว่าจะเจอกับเรื่องเลวร้ายล้มลุกคลุกคลานเพียงใด ชาวญี่ปุ่นจะสามารถกลับมายืนขึ้นได้ ด้วยพลังแห่งความสามัคคี ความอดทนและพยายาม นอกจากนี้วัฒนธรรมของประชาชนญี่ปุ่นที่มีระเบียบวินัยส่งผลให้การพัฒนาและฟื้นฟูประเทศเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทุกคนต่อสู้และดิ้นรนทำงานกันแบบเอาเป็นเอาตายเพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรีของตนเองกลับคืนมา

สุภาษิตญี่ปุ่นที่หมอชอบมาก คือ “明けない夜はない” แปลว่า “ไม่มีคืนไหนที่จะไม่เช้า”

ต่อให้ค่ำคืนนั้นจะมืดมิดแค่ไหน แต่สุดท้ายแล้วพระอาทิตย์จะกลับมาฉายแสงสว่างอีกครั้งหนึ่ง ไม่มีใครที่จะจมอยู่กับความทุกข์ตลอดไป หากเราอดทนต่อสู้กับเรื่องร้ายที่เกิดขึ้น สักวันเราจะกลับมามีความสุขได้

การที่คนเราต้องเจอกับปัญหาอุปสรรค สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้เราผ่านมันไปได้ คือ การที่มีความสามารถในการฟื้นตัว แม้เจอกับแรงกดดันและความเครียดระดับสูง แต่ยังมีความมั่นใจและมีความหวังในการที่จะฟื้นตัวกลับมา (resilience) เรียกสั้นๆว่า ความยืดหยุ่นทางใจ

>> ทำอย่างไรให้มี “ความยืดหยุ่นทางใจ” (resilience) ที่ดี

@ สร้างความเชื่อมโยงระหว่างตัวเองกับคนอื่น

_ การที่เรารับรู้ได้ว่ายังมีคนที่เข้าใจและเห็นอกเห็นใจเราอยู่ ทำให้เรารู้สึกว่าไม่ได้ถูกทอดทิ้ง ดังนั้นการที่เรามีคนที่ช่วยเหลือประคับประคองจิตใจเราได้จึงเป็นสิ่งสำคัญ

_ บางคนเวลาที่เจอกับเรื่องเครียดจะแยกตัวออกไปอยู่คนเดียว สิ่งที่จะช่วยได้ คือ การพยายามฝืนออกไปเจอกันคนอื่นที่น่าจะดีกับเรา เช่น คนในครอบครัว, เพื่อน, กลุ่ม/สมาคมต่างๆ

_ สังคมของคนญี่ปุ่นมักอยู่กันเป็นหมู่คณะ สามัคคี มีการให้ความช่วยเหลือกัน โดยมีการฝึกกันตั้งแต่เด็ก เช่น การทำงานกันเป็นทีม

@ ดูแลสุขภาพกายและจิตใจให้ดี

_ การมีสุขภาพกายที่ดีมีผลต่อสภาพจิตใจด้วย ในช่วงที่มีความเครียดร่างกายจะมีการทำงานเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นต้องกินให้อิ่ม (เป็นอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน), นอนให้หลับ, ออกกำลังกาย, มีงานอดิเรกที่ทำแล้วผ่อนคลาย โดยที่ไม่ส่งผลเสียต่อร่างกาย เช่น ไม่ไปใช้สารเสพติด

_ ชาวญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมหลายอย่างที่ช่วยดูแลสุขภาพกายให้ดี เช่น “นอนไวตื่นเช้า”, การกินเพื่อรักษาสุขภาพ แต่ละฤดูกาล/เทศกาลจะมีอาหารพิเศษเช่น “โดโย โนะ อุชิโนะฮิ (วันทานปลาไหลของญี่ปุ่น)” ที่มีคุณค่าทางสารอาหารมากในฤดูร้อนที่มีอากาศร้อน

@ ตั้งเป้าหมายที่ทำได้จริง

_ เมื่อเจอกับปัญหาความเครียดต้องตั้งสติให้ได้ก่อน ยอมรับอารมณ์ลบที่เกิดขึ้น เช่น โกรธ, เสียใจ, น้อยใจ หลังจากนั้นค่อยคิดว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร และจะจัดการอย่างไร ค่อยๆ วางแผนแก้ไปทีละอย่าง

_ ตั้งเป้าหมายที่สามารถทำได้จริง เริ่มต้นจากสิ่งง่ายๆที่ทำได้ก่อน เพราะถ้าเป้าหมายยากไปจะทำให้ท้อ และคิดว่าตัวเองแย่ ไร้ความสามารถ

_ เมื่อวางแผนแล้วให้ลงมือทำ ถึงแม้ตอนแรกจะยากที่ต้องฝืนทำ แต่เมื่อทำไปได้แล้วทุกอย่างจะไปได้เรื่อยๆ

_ คนญี่ปุ่นมีความมุ่งมั่นในการทำงานสูง งานที่ได้รับแม้มีปัญหาสักเท่าใดจะต้องทำให้สำเร็จ มีการพัฒนาตนเอง เรียนรู้จากความผิดพลาดเพื่อผลักดันตัวเองให้เก่งขึ้น

@ คิดในสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์

_ สำรวจดูข้อเท็จจริงของเรื่องที่เกิดขึ้น นำมาเทียบกับความคิดที่มีอยู่ เช่น เรากำลังกังวลเกินกว่าเหตุไปมั้ย เราไม่สามารถที่จะปรับเปลี่ยนเรื่องเครียดที่เข้ามาได้ แต่เราปรับมุมมองและการจัดการรับมือที่มีต่อมันได้

_ ยอมรับว่า “ทุกสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลง” เพราะมันเป็นเรื่องตามธรรมชาติ หากยังทำใจตอนนี้ไม่ได้ไม่เป็นไร ให้ค่อยๆทำใจไป ไม่กดดันตัวเองเพราะปัจจัยหลายอย่างเราไม่สามารถควบคุมได้

_ มองหาความหวังที่เป็นสิ่งน่าจะเกิดขึ้นได้มากกว่าย้อนคิดอดีตที่ไม่สามารถกลับไปแก้อะไรได้ เช่น คิดโทษตัวเอง

_ เรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นว่าปัญหาเกิดจากอะไร เพื่อที่ครั้งหน้าจะได้หาทางป้องกันไม่ให้ผิดพลาดซ้ำแบบเดิม

_ นึกถึงเรื่องดีๆในอดีตที่เราเคยเจออุปสรรคแล้วสามารถผ่านมันมาได้ เป็นการบอกกับตัวเองว่าเรามีความสามารถมากพอที่จะผ่านเรื่องร้ายๆไปได้

_ วิกฤติที่เกิดขึ้นเป็นโอกาสที่ทำให้เราได้เรียนรู้หรือสร้างทักษะใหม่ๆ เมื่อเราผ่านมันไปได้เราจะมีความภาคภูมิใจในตัวเอง

_ ความเชื่อของคนญี่ปุ่น “หากทนไหว สิ่งดีงามจะรออยู่” ยามที่ต้องทุกข์ใจต้องพยายามมองในแง่ดี

@ ขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น

_ เราไม่สามารถทำทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง การที่เรารู้ว่าจะขอความช่วยเหลือจากใครในเรื่องนั้นได้ ถือเป็นวิธีการแก้ปัญหาแบบหนึ่ง

_ หากความเครียดที่เกิดขึ้นทำให้จิตใจแย่มาก เช่น ซึมเศร้า, ท้อแท้, สิ้นหวัง, กังวลอย่างมาก, กินไม่ได้, นอนไม่หลับ, สมาธิความจำไม่ดี หรือมีอาการที่เริ่มส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิต แนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์, นักจิตวิทยา

ในอดีตเมื่อ 75 ปีที่ผ่านมา แม้ประเทศญี่ปุ่นจะกลายเป็นเถ้าธุลีจากสงคราม ทุกอย่างขาดแคลนและดูน่าสิ้นหวัง แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่าง รวมไปถึงวัฒนธรรมการใช้ชีวิตของชาวญี่ปุ่นได้ช่วยส่งเสริมให้มีความยืดหยุ่นทางใจที่ดี (resilience) จนทำให้ผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความเลวร้ายมาได้

เราทุกคนสามารถฝึกให้มีความยืดหยุ่นทางใจที่ดีได้ค่ะ:))

บทความโดย : หมอแมวน้ำเล่าเรื่อง www.marumura.com
ทักทายพูดคุยกับหมอแมวน้ำเล่าเรื่องได้ที่ www.facebook.com/sealpsychiatrist

เรื่องแนะนำ :
ซากุระความงามที่ไม่จีรังและความเป็นจริงของชีวิต
วิถีแห่งซากุระญี่ปุ่น
เหมยโรยรา ซากุระเบ่งบาน
สิ่งที่ควรเตรียมเวลาไปชมดอกซากุระ (花見:hanami)
20 สิ่งเกี่ยวกับซากุระที่รู้ไว้เถิดจะเกิดผล
ฤดูใบไม้ผลิญี่ปุ่นกับการเริ่มต้นสิ่งใหม่

คลินิก JOY OF MINDS
ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลรักษาปัญหาด้านสุขภาพจิตโดยเฉพาะ
https://www.facebook.com/Joyofminds/
Tel: 090-959-9304

หลัง สงครามโลก ครั้งที่ 2 ญี่ปุ่น

#ญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 : ทนในสิ่งที่ยากจะทนให้พ้นผ่าน

Tags :
  • สงครามโลกครั้งที่สอง
  • สังคมญี่ปุ่น