บทความวิชาการ ภาษาอังกฤษ ตัวอย่าง

เคยไหมที่อ่านเปเปอร์มาแล้ว แต่พออาจารย์ให้มาอภิปรายกันหรือถามคำถามก็ทำไม่ได้ ที่อ่านไปก็เหมือนเข้าใจนะ แต่ทำไมตอบไม่ได้และไม่มีความคิดเห็นเกี่ยวกับเปเปอร์ที่อ่านเลย?

สถานการณ์แบบนี้แทบทุกคนน่าจะเคยเจอมาบ้าง วันนี้เราจะลองมาแชร์วิธีการอ่านบทความภาษาอังกฤษ ให้จับใจความ วิเคราะห์และตั้งคำถามได้ค่ะ

ก่อนอื่น ต้องเข้าใจก่อนว่า บทความวิชาการ=งานวิจัย งานวิจัยมีองค์ประกอบหลัก ๆ 4–5 อย่างคือคำถามวิจัย สมมติฐาน วิธีการ และผล (หรืออาจจะมีการอภิปรายผลด้วย) ดังนั้นคำถามหลัก ๆ ที่ต้องตอบให้ได้เวลาอ่านบทความวิชาการก็คือทั้ง 4 อย่างที่กล่าวไปข้างต้นนี้ค่ะ

คำถามที่ต้องตอบเวลาอ่านบทความ

  1. คำถามวิจัยของบทความนี้คืออะไร
  2. สมมติฐานคืออะไร ทำไมเขาจึงตั้งสมมติฐานแบบนั้น
  3. เขาใช้วิธีอะไร ในการหาคำตอบของคำถามในข้อที่หนึ่ง
  4. ผลที่ได้เป็นอย่างไร ตอบคำถามวิจัยได้หรือไม่ เป็นไปตามสมมติฐานไหม

ทั้งสี่คำถามนี้เป็นสิ่งที่ควรตอบให้ได้ทุกครั้งในการอ่านงานวิจัย นอกจากนี้เราจำเป็นต้องรู้เป้าหมายของการอ่านด้วยค่ะ

ตั้งเป้าหมายในการอ่าน

ต้องรู้ว่าเราจะอ่านบทความนี้ไปเพื่ออะไร การอ่านบทความวิชาการไม่เหมือนการอ่านนิยายที่อ่านไปเรื่อย ๆ การอ่านบทความวิชาการต้องกำหนดเป้าหมายในการอ่านให้ชัดเจนก่อนค่ะ ตอบตัวเองให้ได้ว่า อ่านไปทำไม?

ถ้าบอกว่าหนูอ่านเพราะอาจารย์ให้อ่านค่ะ ก็ต้องเข้าใจให้ได้ว่าอาจารย์ให้เราอ่านทำไม ดูว่าบทความนี้มันมีอะไรเชื่อมโยงกับเรื่องที่เรียนอยู่ตอนนี้

เป้าหมายจะเป็นตัวกำหนดว่าเราควรโฟกัสที่ส่วนไหนของบทความ เช่น บทนำ(ที่มีคำถามวิจัยและสมมติฐาน) ทบทวนวรรณกรรม วิธีดำเนินงาน ผล หรือส่วนอภิปราย

เมื่อทำงานวิจัยจริง ๆ เราไม่ได้อ่านบทความทุกบทความในระดับความละเอียดที่เท่ากัน บางบทความก็อ่านแค่บทนำและผล บางบทความเราสนใจแค่วิธีทำ บางบทความเราสนใจการอภิปรายของเขา นั่นก็เพราะเวลาอ่านแต่ละครั้ง เรามีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะอ่านบทความนี้ไปทำไม

ตัวอย่างเป้าหมาย

  • อ่านเพราะเรากำลังทำเรื่องคล้าย ๆ กัน เลยอยากรู้ว่างานนี้เหมือนหรือต่างจากเราอย่างไร — นี่คือการอ่านเพื่อ “เปรียบเทียบ” — หมายความว่า เราต้องรู้ว่างานวิจัยที่เรากำลังทำอยู่มีคำถามวิจัย สมมติฐาน วิธีการ และผล อย่างไร จากนั้นจึงอ่านเพื่อตอบคำถามทั้งสี่ข้อนี้ แล้วเอาสี่ประเด็นของทั้งสองงานมาเปรียบเทียบกัน การอ่านแบบนี้จำเป็นต้องโฟกัสใน บทนำ วิธีดำเนินงาน (คร่าว ๆ ได้ อาจไม่ต้องละเอียดมากนัก) ผล เป็นหลัก ส่วนที่สนใจน้อยลงมาหน่อยได้คือส่วน ทบทวนวรรณกรรม
  • อ่านเพื่อดูวิธีทำ — ขอยกตัวอย่างจากงานวิจัยของเราเองค่ะ งานเราเป็นงานที่ใช้การทดลองเพื่อหาคำตอบ เวลาออกแบบการทดลองจำเป็นต้องอ่านเปเปอร์จำนวนมากที่ตอบคำถามคล้าย ๆ เรา และดูอย่างละเอียดมาก ๆ ว่าเขาใช้วิธีอะไร เพราะอะไร คุมตัวแปรอะไรบ้าง จำนวนกี่คน สถิติอะไร รายการคำเป็นอย่างไร กี่คำ เลือกคำมาอย่างไร ฯลฯ ในกรณีนี้ เราสนใจที่ บทนำ และวิธีดำเนินงาน เป็นหลัก บทนำ อ่านคร่าว ๆ เพื่อให้เข้าใจว่าเขาถามอะไร ตั้งสมมติฐานอะไรจึงออกแบบงานวิจัยแบบนี้ ส่วนวิธีดำเนินงาน ต้องอ่านอย่างละเอียดมาก ๆ ส่วนอื่น ๆ เช่นทบทวนวรรณกรรมหรือผล อาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่ต้องสนใจมากนัก

นอกจากการมีคำถามและเป้าหมายแล้ว การเข้าใจโครงสร้างของบทความก็เป็นสิ่งที่ช่วยได้มากเวลาอ่านค่ะ เราลองมาดูกันก่อนว่าบทความวิชาการมีโครงสร้างอย่างไร ส่วนไหนที่เป็นส่วนสำคัญ

โครงสร้างของบทความ

บทความที่ดี ในแต่ละย่อหน้าจะประกอบด้วย 1.) ประโยคที่เป็นใจความสำคัญ (topic sentence/main idea) และ 2.) ส่วนที่เป็นรายละเอียดที่ขยาย (details) และในแต่ละย่อหน้าควร/มักจะมีใจความสำคัญแค่ประเด็นเดียว

  1. Topic sentence/ Main idea
  • Topic sentence คือประโยคที่บอกว่าในย่อหน้านี้จะกล่าวถึงประเด็นสำคัญ (main idea) อะไร
  • Topic sentence เป็นกุญแจสำคัญในการทำความเข้าใจเนื้อหา
  • สำหรับบทความวิชาการใจความสำคัญของแต่ละย่อหน้า มักจะปรากฎชัดเจนในประโยคเดียวแต่ไม่เสมอไป
  • บทความที่ดี อ่านแค่ประโยค Topic sentence ของแต่ละย่อหน้าแค่ประโยคเดียว ก็จะเข้าใจเนื้อหาทั้งหมดของบทความได้
  • ดังนั้นเวลาอ่านบทความ มองหา topic sentence ของแต่ละย่อหน้าให้เจอก่อน ชีวิตจะง่ายขึ้นมาก
  • แต่แต่แต่ !!! ก็มีบางครั้งเหมือนกัน ที่ในย่อหน้าอาจไม่มี topic sentence ก็ได้ ในกรณีนี้การหาประเด็นสำคัญของย่อหน้านั้นจึงต้องรวบรวมจากหลายประโยคประกอบกัน

2. details

  • คือส่วนที่มาขยาย topic sentence ไม่ใช่ส่วนสำคัญในย่อหน้า เป็นประโยคที่แม้จะถูกตัดทิ้งไป ใจความสำคัญของย่อหน้านั้นก็ยังคงอยู่อย่างครบถ้วน
  • แนะนำให้ไปอ่านต่อในบทความนี้ หน้า 103 พูดถึงเรื่องตำแหน่งของ topic sentence และ details ไว้ได้ชัดเจนมากค่ะ

เวลาอ่านแต่ละย่อหน้า พยายามหาประเด็นสำคัญของย่อหน้านั้นให้เจอ ต้องรู้ว่าประโยคไหนทำหน้าที่ topic sentence ประโยคไหนคือ detail ตอนเริ่มอ่านแรก ๆ อาจเริ่มจากการจดโน๊ตไว้ในแต่ละย่อหน้าไว้แบบนี้

ประเด็นสำคัญ: ____________________________________________
detail(1): ________________________________________________
detail(2): ________________________________________________
detail(3): ________________________________________________

เช่น

The rules of conduct during an examination are clear. No books, calculators or papers are allowed in the test room. Proctors will not allow anyone with such items to take the test. Anyone caught cheating will be asked to leave the room. His or her test sheet will be taken. The incident will be reported to the proper authority. At the end of the test period, all materials will be returned to the proctor. Failure to abide by these rules will result in a failing grade for this test.

ประเด็นสำคัญ: The rules of conduct during an examination are clear.
detail(1): No books, calculators or papers are allowed in the test room.
detail(2):… (ประโยคต่อจากนั้นทั้งหมดคือ detail 2, 3, 4,…หมดเลยค่ะ เพราะเป็นรายละเอียดที่มาขยายประเด็นสำคัญว่า กฎในการสอบมีอะไรบ้าง

เราเองเวลาอ่านมักจะไฮไลท์ประโยค topic sentence ของแต่ละย่อหน้าไว้ให้ชัดเจน จะได้ไม่งง ส่วนดีเทลก็ข้ามๆไปได้บ้างค่ะ