เพราะเหตุใดจรวดจึงสามารถเดินทางไปในอวกาศได้

องค์การนาซ่าได้ปล่อยจรวดรุ่นใหม่ (Space Launch System - SLS) เพื่อนำยานโอไรออน (Orion capsule) ออกจากวงโคจรโลก ก่อนพุ่งทะยานไปบินทดสอบวนรอบดวงจันทร์ เพื่อเตรียมนำมนุษย์อวกาศกลับไปเหยียบที่นั่นอีกครั้ง ภายใน 3-4 ปีข้างหน้า ถือเป็นการเริ่มภารกิจ "อาร์ทิมิส 1" อย่างเต็มตัว หลังประสบปัญหาต้องเลื่อนมาหลายครั้ง

การยิงจรวดประสบความสำเร็จ โดยเริ่มยิงออกจากฐานยิงในรัฐฟลอริดา เมื่อเวลา 1.47 น. วันที่ 15 พ.ย. ตามเวลาท้องถิ่นในสหรัฐฯ เกิดขึ้นหลังถูกเลื่่อนมาแล้ว 2 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2022 และวันที่ 3 ก.ย. 2022

สำหรับจรวดรุ่นใหม่ในระบบปล่อยตัวสู่อวกาศที่ใช้ในภารกิจนี้ เป็นจรวดรุ่นที่ทรงพลังที่สุดตั้งแต่หน่วยงานอวกาศสหรัฐฯ เคยพัฒนามา และถูกออกแบบเพื่อส่งนักบินอวกาศพร้อมกับอุปกรณ์กลับไปยังดวงจันทร์ หลังจากภารกิจสำรวจดวงจันทร์ไม่มีมานานถึง 50 ปี

รู้จักภารกิจ "อาร์ทิมิส 1" การซ้อมใหญ่เพื่อเดินทางครั้งประวัติศาสตร์

ภารกิจภายใต้ชื่อ "อาร์ทิมิส 1" (Artemis I ) เป็นเสมือนจุดเริ่มต้นของเส้นทางประวัติศาสตร์สายใหม่ ที่จะนำมนุษยชาติหวนคืนไปประทับรอยเท้าบนพื้นผิวดวงจันทร์อีกครั้ง หลังร้างลาไปนานถึงครึ่งศตวรรษ นับแต่ภารกิจอะพอลโล 17 เมื่อปี 1972 สิ้นสุดลง

นอกจากจะเป็นภารกิจเพื่อการสำรวจอวกาศแล้ว โครงการอาร์ทิมิส 1, 2, และ 3 ยังเป็นภารกิจเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมในสังคมอเมริกัน โดยมีจุดมุ่งหมายให้ผู้หญิงและคนผิวสีเชื้อชาติต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมและบทบาทสำคัญในแวดวง STEM (วิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, วิศวกรรม, คณิตศาสตร์) ที่ผู้ชายผิวขาวครอบครองอยู่ในสัดส่วนที่สูงขึ้น

ภารกิจอาร์ทิมิสทั้งหมด อาจใช้งบประมาณสูงถึง 93,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อการลงหลักปักฐานสร้างอาณานิคมต่างดาวให้มนุษย์ได้อยู่อาศัยกันในระยะยาว โดยเริ่มจากฐานที่มั่นบนดวงจันทร์ ซึ่งจะปูทางไปสู่การนำมนุษย์เหยียบดาวอังคารได้ภายในช่วงทศวรรษ 2030 หรือไม่เกิน 20 ปีข้างหน้านี้

ดังนั้น ภารกิจอาร์ทิมิส 1 และ 2 จึงเป็นเสมือนการ "ซ้อมใหญ่" สำหรับภารกิจอาร์ทิมิส 3 ซึ่งจะนำมนุษย์อวกาศหญิงและชาวอเมริกันที่ไม่ใช่คนผิวขาวคนแรก ลงเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ภายในปี 2025 เป็นอย่างเร็ว

คำบรรยายภาพ,

มนุษย์เหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ครั้งสุดท้ายระหว่างภารกิจอะพอลโล 17 ในปี 1972

แม้ภารกิจอาร์ทิมิส 1 จะยังไม่มีมนุษย์เดินทางไปด้วย แต่มีการนำอุปกรณ์ทดสอบต่าง ๆ ที่จะช่วยตระเตรียมการเดินทางในรอบหน้าให้ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น บรรจุเอาไว้ในตัวยานที่แคปซูลของลูกเรือและที่ส่วนของสัมภาระเพื่อเก็บข้อมูลที่เป็นประโยชน์

มีการใช้หุ่นจำลองแทนมนุษย์อวกาศในที่นั่งลูกเรือ ซึ่งหุ่นนี้สวมชุดป้องกันที่ได้รับการออกแบบใหม่ ทั้งยังติดตั้งเซนเซอร์วัดแรงสั่นสะเทือนและปริมาณรังสีอันตรายที่มาสัมผัสร่างกาย เพื่อปรับปรุงความปลอดภัยให้กับผู้ปฏิบัติหน้าที่เยือนดวงจันทร์ในอนาคต

คำบรรยายภาพ,

สเตฟานี วิลสัน ผู้หญิงผิวสีคนที่สองที่ได้เดินทางสู่อวกาศ เป็นหนึ่งในผู้ที่มีโอกาสอย่างมากที่จะได้กลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่เหยียบดวงจันทร์

ที่มาของภาพ, Bill Stafford / Nasa

คำบรรยายภาพ,

จัสมิน มอกห์เบลี เป็นหนึ่งในผู้ที่อาจจะได้รับเลือกให้เป็นคนลงไปเดินบนดวงจันทร์ครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1972 เธอเข้าร่วมภารกิจสู้รบมากกว่า 150 ภารกิจกับนาวิกโยธินสหรัฐฯ

นอกจากนี้ ยังมีดาวเทียมจิ๋ว CubeSat ขนาดเท่ากล่องรองเท้า ที่จะไปนำไปปล่อยในห้วงอวกาศลึกนอกสถานีอวกาศเป็นครั้งแรก เพื่อทำการทดลองทางชีวภาพซึ่งจะสังเกตปฏิกิริยาของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เช่นยีสต์ สาหร่าย เห็ดรา และเมล็ดพืช ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีพ

ที่มาของภาพ, Bill Stafford / Nasa

คำบรรยายภาพ,

เจสซิกา วัตคินส์ เป็นอีกหนึ่งคนที่อาจเป็นไปได้ว่า จะได้ลงไปเดินบนดวงจันทร์ เธอเป็นนักวิจัยหลังปริญญาเอก ที่สถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย (California Institute of Technology) ซึ่งเป็นที่ที่เธอทำงานเกี่ยวกับ ยานมาร์สคิวริออซิตี (Mars Curiosity)

ภารกิจอาร์ทิมิส 1 จะใช้เวลาทั้งหมด 25 วัน โดยจรวด SLS ที่นำส่งยานนั้น ถูกออกแบบให้มีขนาดใหญ่และทรงพลังเป็นพิเศษยิ่งกว่าที่เคยมีมา เพื่อรองรับภารกิจสำรวจอวกาศที่ยาวนานและต้องขนสัมภาระจำนวนมาก โดยสามารถบรรทุกน้ำหนักได้สูงสุดถึง 95,000 กิโลกรัม ในการทะยานขึ้นสู่วงโคจรระดับต่ำของโลก

คำบรรยายภาพ,

ในปี 1963 วาเลนตีนา เตเรชโควา ของรัสเซีย เป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้เดินทางไปอวกาศ

จรวดที่เป็นแกนกลางของ SLS ติดตั้งเครื่องยนต์ขับดัน RS-25 ทั้งหมด 4 ตัว ขนาบด้วยจรวดขับดันเชื้อเพลิงแข็งอีกคู่หนึ่ง ทำให้แรงขับดันทั้งหมดของจรวด SLS ทรงพลังถึง 39 เมกะนิวตัน เทียบเท่ากับแรงออกตัวของเครื่องบินคองคอร์ดที่มีความเร็วเหนือเสียง 60 ลำรวมกัน ทั้งยังสูงกว่าแรงขับดันของจรวด Saturn V ที่ใช้ในภารกิจอะพอลโลอยู่ 15% และทรงพลังกว่าแรงขับดันของกระสวยอวกาศรุ่นต่าง ๆ ราว 20%

จรวด SLS ที่สูงตระหง่านเกือบ 100 เมตร หรือเท่ากับตึก 32 ชั้น จะนำยานโอไรออนที่กว้างขวางกว่ายานในภารกิจอะพอลโลถึงสองเท่า ขึ้นสู่วงโคจรโลกระดับต่ำด้วยความเร็วเกือบ 40,000 กม./ชม. จากนั้นจรวดขับดันเชื้อเพลิงแข็งและแกนกลางจรวดนำส่งจะแยกตัวออก ปลดปล่อยยานโอไรออนให้เดินทางต่อด้วยเครื่องยนต์ขับดันเชื้อเพลิงเยือกแข็ง ซึ่งเป็นไฮโดรเจนและออกซิเจนเหลว 2.7 ล้านลิตร พุ่งทะยานไปในเส้นทางระหว่างโลกกับดวงจันทร์ที่ยาวไกล 380,000 กม.

เมื่อไปถึงวงโคจรของดวงจันทร์ ยานโอไรออนจะบินวนรอบแรกโดยเฉียดเข้าใกล้พื้นผิวดวงจันทร์ในระยะเพียง 100 กม. จากนั้นจะเข้าสู่วงโคจรที่ใหญ่กว่าเดิม ซึ่งห่างจากพื้นผิวดวงจันทร์ 65,000 กิโลเมตร และเป็นเขตห้วงอวกาศลึกที่ยังไม่มีผู้ใดเคยไปถึงมาก่อน หลังจากนั้นจะมีการโคจรวนรอบโดยเฉียดเข้าใกล้พื้นผิวดวงจันทร์เป็นครั้งสุดท้าย เพื่อเหวี่ยงตัวเข้าเส้นทางกลับสู่โลก

จากนี้อีก 6 สัปดาห์ คาดว่า ยานโอไรออนจะผ่านเข้าชั้นบรรยากาศโลกด้วยความเร็วสูง ทำให้เกิดความร้อนที่ภายนอกยานเกือบ 3,000 องศาเซลเซียส แต่ร่มชูชีพขนาดยักษ์จะช่วยชะลอความเร็วลง จนยานตกลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกนอกชายฝั่งเมืองซานดิเอโกของรัฐแคลิฟอร์เนียอย่างปลอดภัยตามที่กำหนดไว้

เหตุใดต้องใช้เวลาถึงครึ่งศตวรรษเพื่อกลับไปดวงจันทร์ ?

หากภารกิจอาร์ทิมิส 1 สำเร็จลงด้วยดี ภารกิจอาร์ทิมิส 2 จะดำเนินการต่อไปในปี 2024 โดยในคราวนี้จะทดลองส่งมนุษย์อวกาศให้เดินทางไปกับยานโอไรออนด้วย แต่จะยังคงทำการทดสอบเพียงแค่โคจรรอบดวงจันทร์โดยไม่ลงจอด

ส่วนภารกิจอาร์ทิมิส 3 ที่จะเกิดขึ้นในสองปีต่อมา จะส่งมนุษย์อวกาศ 4 คนกลับไปเยือนดวงจันทร์ โดยเลือกผู้หญิงและผู้ชายที่เป็นตัวแทนของความหลากหลายทางเพศและเชื้อชาติเพียง 2 คน ลงเหยียบพื้นและเดินบนดวงจันทร์

คำบรรยายภาพ,

อาร์นัลโด ตามาโย เมนเดซ (ซ้าย) มนุษย์อวกาศชาวคิวบา กลายเป็นคนผิวสีคนแรกที่ได้เดินทางไปอวกาศในปี 1980

นาซาได้วางภารกิจให้มนุษย์อวกาศที่กลับไปเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกในรอบกว่า 50 ปี ออกสำรวจสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการตั้งฐานที่มั่นในระยะยาว รวมถึงการเข้าไปสำรวจในเงามืดบริเวณแอ่งหลุมรอบขั้วใต้ของดวงจันทร์ เพื่อเก็บตัวอย่างน้ำแข็งที่คาดว่า จะนำมาใช้บริโภค รวมทั้งใช้สกัดเอาออกซิเจนเพื่อทำอากาศหายใจ และอาจสกัดเอาไฮโดรเจนจากน้ำแข็งเพื่อเป็นเชื้อเพลิงได้ด้วย

หลายคนอาจสงสัยว่า เหตุใดมนุษยชาติถึงต้องประวิงเวลานานนับครึ่งศตวรรษ กว่าจะเดินทางกลับไปเยือนดวงจันทร์ได้อีกครั้ง คำถามนี้ทำให้คนที่เชื่อในทฤษฎีสมคบคิดกล่าวหาว่า เหตุการณ์ที่มนุษย์อวกาศชาวอเมริกันในภารกิจอะพอลโลลงเดินบนดวงจันทร์นั้น เป็นเพียงการถ่ายทำภาพยนตร์และไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นจริง

คำบรรยายภาพ,

ชาร์ลี แบล็กเวลล์-ธอมป์สัน ผู้อำนวยการยิงปล่อย กำลังประสานงานในภารกิจอาร์ทิมิส

แต่เมื่อพิจารณาบริบททางประวัติศาสตร์และการเมืองในยุคสงครามเย็นแล้ว ช่วงระหว่างปี 1960-1973 สหรัฐฯตัดสินใจทุ่มงบประมาณในโครงการอะพอลโลเกือบ 26,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นมูลค่าเทียบเท่ากับเงิน 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปัจจุบันโดยไม่เสียดาย ก็เพื่อมุ่งจะแซงหน้าสหภาพโซเวียตที่ปล่อยดาวเทียมสปุตนิก 1 ดาวเทียมดวงแรกของโลกขึ้นสู่ห้วงอวกาศได้ก่อนเมื่อปี 1957

อย่างไรก็ตาม สงครามเวียดนามที่ยาวนานและยืดเยื้อในช่วงทศวรรษ 1970 ทำให้ความสนใจต่อการแข่งขันด้านอวกาศของชาติมหาอำนาจจืดจางลง ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ได้สั่งยกเลิกโครงการอะพอลโล ส่วนองค์การด้านอวกาศของสหรัฐฯ ก็หันไปให้ความสนใจต่อปฏิบัติการในวงโคจรระดับต่ำของโลก เช่นภารกิจในสถานีอวกาศนานาชาติหรือการพัฒนากระสวยอวกาศ มากกว่าการส่งคนไปสำรวจยังดวงดาวต่าง ๆ ซึ่งต้องใช้งบประมาณมหาศาล

ความสนใจที่จะหวนคืนสู่การเป็นชาติมหาอำนาจด้านอวกาศกลับมาอีกครั้งในปี 2017 เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศแผนส่งมนุษย์อวกาศกลับไปเหยียบดวงจันทร์ให้ได้โดยเร็ว เขากล่าวว่า "ครั้งนี้เราจะไม่ทำเพียงแค่ปักธงและทิ้งรอยเท้าเอาไว้เท่านั้น"

คำบรรยายภาพ,

ยานโอไรออน เป็นการยิงปล่อยครั้งแรกของโครงการอาร์ทิมิส โดยจะใช้ศูนย์อวกาศเคนเนดีของนาซาในรัฐฟลอริดา

เชื่อกันว่า การตัดสินใจของทรัมป์มีเหตุผลอื่นที่นอกเหนือไปจากแรงจูงใจเชิงชาตินิยม ซึ่งต้องการทำให้สหรัฐอเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งในสายตาชาวโลก โดยเหตุผลที่ว่านี้อาจเป็นแรงจูงใจเชิงธุรกิจ เนื่องจากกิจการด้านเทคโนโลยีอวกาศของเอกชนกำลังมาแรงและมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นทุกขณะ

คำบรรยายภาพ,

บัซซ์ อัลดริน นักบินที่ขับยานไปดวงจันทร์ ปืนบันไดลงมาจากยานเตรียมเดินบนพื้นผิวจันทร์ระหว่างภารกิจอะพอลโล 11

ภารกิจอวกาศเพื่อความเท่าเทียมในสังคม

ประชากรโลกกว่าครึ่งในปัจจุบัน ยังไม่เคยมีโอกาสได้เห็นมนุษย์ในรุ่นของตนก้าวเดินบนดวงจันทร์ แต่ในภารกิจอาร์ทิมิส 3 พวกเขาจะได้พบเห็นสิ่งที่แตกต่างออกไป นั่นก็คือคู่มนุษย์อวกาศที่เป็นผู้หญิงและชายอเมริกันผิวสี จะลงเดินสำรวจบนพื้นผิวดาวบริวารของโลกด้วยกัน

คำบรรยายภาพ,

การเดินทางสู่ดวงจันทร์ครั้งนี้ ใช้เวลาในการเตรียมตัวนานกว่า 10 ปีแล้ว

มนุษย์อวกาศ 18 คนที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมในภารกิจอาร์ทิมิสนั้น ครึ่งหนึ่งเป็นผู้หญิงและอีกครึ่งหนึ่งเป็นชายอเมริกันผิวสี พวกเขาจะเป็นผู้เริ่มต้นบทใหม่ของประวัติศาสตร์การสำรวจอวกาศที่เปิดกว้าง ทั้งยอมรับความหลากหลายทางเพศและเชื้อชาติมากขึ้น ไม่ถูกครอบงำอยู่ภายใต้อิทธิพลของผู้ชายผิวขาวเท่านั้นอีกต่อไป

ตามสถิติเดิมของนาซาที่บันทึกไว้จนถึงเดือน พ.ย. 2021 มีผู้หญิงเพียง 75 คน ในกลุ่มของมนุษย์อวกาศที่เคยออกปฏิบัติภารกิจนอกโลกทั้งหมด 600 คน นอกจากนี้ยังมีชาวอเมริกันผิวดำเพียง 14 คน และชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียอีก 14 คน อยู่ในบรรดาผู้ได้รับคัดเลือกให้ทำหน้าที่นักบินอวกาศของนาซาทั้งหมด 330 คน

ความไม่เท่าเทียมและการกีดกันเลือกปฏิบัตินี้ เกิดขึ้นในสังคมอเมริกันมาเป็นเวลานาน ทำให้คนรุ่นใหม่ในแวดวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเล็งเห็นถึงความสำคัญในการเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งภารกิจอาร์ทิมิสนับเป็นโอกาสอันดีที่จะเริ่มยุคของการสำรวจอวกาศเพื่อทุกคนในสังคม โดยเปิดทางให้ได้เข้าถึงทรัพยากรและความก้าวหน้าในพื้นที่นอกโลกอย่างถ้วนทั่วเท่าเทียมกัน