ลักษณะในการใช้งานลิขสิทธิ์ คืออะไร พร้อมยกตัวอย่าง

การใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม (Fair Use) เป็นหลักข้อยกเว้นของกฎหมายลิขสิทธิ์ (Copyright Act) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการปกป้องผลประโยชน์อันชอบธรรมของเจ้าของลิขสิทธิ์ กับการรักษาประโยชน์ของสาธารณชนที่จะได้รับจากการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ กฎหมายของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก กำหนดให้บุคคลทั่วไปมีสิทธิใช้วัสดุหรือเนื้อหาของงานอันมีลิขสิทธิ์ได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์และไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใด ๆ หากการใช้งานดังกล่าวเป็นการใช้งานอย่างยุติธรรมและเป็นธรรม ใช้ในขอบเขตอันสมควรและสมเหตุสมผล ไม่เกี่ยวข้องกับการพาณิชย์ ไม่ทำให้กระทบกระเทือนสิทธิอันชอบด้วยกฎหมาย และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการแสวงหาผลประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ของเจ้าของลิขสิทธิ์ การรักษาสมดุลของกฎหมายดังกล่าว เป็นไปเพื่อสนับสนุนให้เกิดการสร้างงานที่มีคุณค่า ส่งเสริมความก้าวหน้าทางการศึกษา ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม

ลักษณะในการใช้งานลิขสิทธิ์ คืออะไร พร้อมยกตัวอย่าง

ข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2429 (ค.ศ. 1886) โดยมีอนุสัญญากรุงเบอร์น ว่าด้วยการคุ้มครองงานวรรณกรรมและศิลปกรรม (The Berne Convention for the Protection of Literary and Artistic Works) ประกอบด้วยสมาชิกจากประเทศต่าง ๆ จากทั่วโลกจำนวนกว่า 174 ประเทศ โดยประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเมื่อปี พ. ศ. 2474 ภายใต้อนุสัญญาฯ ดังกล่าว ได้วางหลักการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม (Fair Use) ไว้ในกฎหมายลิขสิทธิ์ เพื่อให้บรรดาประเทศสมาชิกออกกฎหมายในประเทศของตนได้อย่างสอดคล้องกัน มีการกำหนดขอบเขตให้เจ้าของผลงานลิขสิทธิ์มีสิทธิเฉพาะตัว (Exclusive Right) ได้ภายในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น กำหนดให้บุคคลอื่นสามารถนำข้อมูลเนื้อหาของงานอันมีลิขสิทธิ์ไปใช้ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ภายในขอบเขตของความยุติธรรมและเป็นธรรม ไม่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ และไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทน แต่ต้องแสดงการรับรู้ความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โดยการระบุชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ และ/หรือผู้สร้างสรรค์ ชื่อผลงาน และแหล่งที่มาด้วย (ถ้ามี)

ประเทศสหรัฐอเมริกามีประมวลกฎหมาย Copyright Act of 1976, U.S. Code Title 17, Section 107 ว่าด้วย Limitations on Exclusive Rights: Fair Use แม้ไม่ได้มีการนิยามไว้อย่างชัดเจนว่าอะไรคือ Fair Use แต่มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาความเป็น Fair Use ตามเงื่อนไข 4 ประการ คือ

  1. PURPOSE: พิจารณาวัตถุประสงค์และลักษณะของการนำไปใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ ว่าเป็นการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ หรือนำไปใช้เพื่อการศึกษาโดยไม่หวังผลกำไร
  2. NATURE: พิจารณาลักษณะตามธรรมชาติของงานอันมีลิขสิทธิ์
  3. AMOUNT: พิจารณาจำนวนหรือปริมาณที่นำไปใช้งาน เมื่อเทียบสัดส่วนกับปริมาณงานอันมีลิขสิทธิ์ทั้งหมด และพิจารณาว่า ได้นำส่วนสำคัญที่เป็นหัวใจหลักของงานอันมีลิขสิทธิ์ ไปใช้หรือไม่อย่างไร
  4. EFFECT: พิจารณาผลกระทบที่มีต่อตลาด และมูลค่าของงานอันมีลิขสิทธิ์

นอกจากนั้น ยังมี Section 108 ว่าด้วย Limitations on Exclusive Rights: Reproduction by Libraries and Archives หรือข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์สำหรับผู้ที่ปฏิบัติงานในห้องสมุดและจดหมายเหตุ เป็นมาตราที่เกี่ยวข้องอีกด้วย สำหรับประเทศไทย พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 กำหนดข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ ไว้ดังนี้

มาตรา 32 การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นตามพระราชบัญญัตินี้ หากไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ภายใต้บังคับบทบัญญัติในวรรคหนึ่ง การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามวรรคหนึ่ง มิให้ถือว่า เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้

  1. วิจัยหรือศึกษางานนั้น อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร
  2. ใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือเพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลอื่นในครอบครัวหรือญาติสนิท
  3. ติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น
  4. เสนอรายงานข่าวทางสื่อสารมวลชนโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น
  5. ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาของศาลหรือเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย หรือในการรายงานผลการพิจารณาดังกล่าว
  6. ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏโดยผู้สอนเพื่อประโยชน์ในการสอนของตน อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร
  7. ทำซ้ำ ดัดแปลงบางส่วนของงาน หรือตัดทอนหรือทำบทสรุปโดยผู้สอนหรือสถาบันศึกษา เพื่อแจกจ่ายหรือจำหน่ายแก่ผู้เรียนในชั้นเรียนหรือในสถาบันศึกษา ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นการกระทำเพื่อหากำไร
  8. นำงานนั้นมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการถามและตอบในการสอบ

มาตรา 33 การกล่าว คัด ลอก เลียน หรืออ้างอิงงานบางตอนตามสมควรจากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้ปฏิบัติตามมาตรา 32 วรรคหนึ่ง

มาตรา 34 การทำซ้ำโดยบรรณารักษ์ของห้องสมุดซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หากการทำซ้ำนั้นมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อหากำไร และได้ปฏิบัติตามมาตรา 32 วรรคหนึ่ง ในกรณีดังต่อไปนี้

  1. การทำซ้ำเพื่อใช้ในห้องสมุดหรือให้แก่ห้องสมุดอื่น
  2. การทำซ้ำงานบางตอนตามสมควรให้แก่บุคคลอื่นเพื่อประโยชน์ในการวิจัยหรือการศึกษา

มาตรา 35 การกระทำแก่โปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หากไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อหากำไร และได้ปฏิบัติตามมาตรา 32 วรรคหนึ่ง ในกรณีดังต่อไปนี้

  1. วิจัยหรือศึกษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น
  2. ใช้เพื่อประโยชน์ของเจ้าของสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น
  3. ติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น
  4. เสนอรายงานข่าวทางสื่อสารมวลชนโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น
  5. ทำสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในจำนวนที่สมควรโดยบุคคลผู้ซึ่งได้ซื้อหรือได้รับโปรแกรมนั้นมาจากบุคคลอื่นโดยถูกต้อง เพื่อเก็บไว้ใช้ประโยชน์ในการบำรุงรักษาหรือป้องกันการสูญหาย
  6. ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาของศาลหรือเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย หรือในการรายงาน ผลการพิจารณา ดังกล่าว
  7. นำโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการถามและตอบในการสอบ
  8. ดัดแปลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในกรณีที่จำเป็นแก่การใช้
  9. จัดทำสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อเก็บรักษาไว้สำหรับการอ้างอิง หรือค้นคว้าเพื่อประโยชน์ของสาธารณชน

มาตรา 36 การนำงานนาฏกรรม หรือดนตรีกรรมออกแสดงเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชนตามความเหมาะสม โดยมิได้จัดทำขึ้น หรือดำเนินการเพื่อหากำไรเนื่องจากการจัดให้มีการเผยแพร่ต่อสาธารณชนนั้น และมิได้จัดเก็บค่าเข้าชมไม่ว่าโดยทางตรง หรือ โดยทางอ้อม และ นักแสดงไม่ได้รับค่าตอบแทนในการแสดงนั้น มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หากเป็นการดำเนินการโดยสมาคม มูลนิธิ หรือองค์การอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการสาธารณกุศล การศึกษา การศาสนา หรือการสังคมสงเคราะห์ และได้ปฏิบัติตามมาตรา 32 วรรคหนึ่ง

มาตรา 37 การวาดเขียน การเขียนระบายสี การก่อสร้างการแกะลายเส้น การปั้น การแกะสลัก การพิมพ์ภาพ การถ่ายภาพ การถ่ายภาพยนตร์ การแพร่ภาพ หรือการกระทำใด ๆ ทำนองเดียวกันนี้ซึ่งศิลปกรรมใดอันตั้งเปิดเผยประจำอยู่ในที่สาธารณะ นอกจาก งานสถาปัตยกรรม มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในศิลปกรรมนั้น

มาตรา 38 การวาดเขียน การเขียนระบายสี การแกะลายเส้น การปั้น การแกะสลัก การพิมพ์ภาพ การถ่ายภาพ การถ่ายภาพยนตร์ หรือ การแพร่ภาพซึ่งงานสถาปัตยกรรมใด มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสถาปัตยกรรมนั้น

มาตรา 39 การถ่ายภาพหรือการถ่ายภาพยนตร์หรือการแพร่ภาพซึ่งงานใด ๆ อันมีศิลปกรรมใดรวมอยู่เป็นส่วนประกอบด้วย มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในศิลปกรรมนั้น

มาตรา 40 ในกรณีที่ลิขสิทธิ์ในศิลปกรรมใดมีบุคคลอื่นนอกจากผู้สร้างสรรค์เป็นเจ้าของอยู่ด้วย การที่ผู้สร้างสรรค์ คนเดียวกันได้ทำศิลปกรรมนั้นอีกในภายหลังในลักษณะที่เป็นการทำซ้ำบางส่วนกับศิลปกรรมเดิม หรือใช้แบบพิมพ์ ภาพร่าง แผนผัง แบบจำลอง หรือข้อมูลที่ได้จากการศึกษาที่ใช้ในการทำศิลปกรรมเดิม ถ้าปรากฏว่าผู้สร้างสรรค์ มิได้ทำซ้ำหรือลอกแบบ ในส่วน อันเป็นสาระสำคัญ ของศิลปกรรมเดิม มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในศิลปกรรมนั้น

มาตรา 41 อาคารใดเป็นงานสถาปัตยกรรมอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ การบูรณะอาคารนั้นในรูปแบบเดิม มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

มาตรา 42 ในกรณีที่อายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์ใดสิ้นสุดลงแล้ว มิให้ถือว่าการนำภาพยนตร์นั้น เผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในวรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุสิ่งบันทึกเสียง หรืองานที่ใช้จัดทำภาพยนตร์นั้น

มาตรา 43 การทำซ้ำ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติราชการโดยเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย หรือตามคำสั่ง ของเจ้าพนักงานดังกล่าวซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้และที่อยู่ในความครอบครองของทางราชการ มิให้ถือว่า เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้ปฏิบัติตามมาตรา 32 วรรคหนึ่ง

การใช้งานเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา

เมื่อพิจารณาตามหลักของการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม ของกฎหมายลิขสิทธิ์แล้ว การนำเนื้อหาหรือภาพไปใช้ในงานเพื่อการศึกษา (Educational Uses) เช่น การสอนภายในห้องเรียน การจัดทำสื่อการสอนที่ไม่ได้ทำเพื่อการค้า การสอนตามหลักสูตรรายวิชาของสถาบันการศึกษาที่ไม่หวังผลกำไร รวมทั้งการเผยแพร่ความรู้ผ่านการนำเสนอในที่ประชุมวิชาการต่าง ๆ  สามารถนำมาใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต เรียกว่าเป็น Educational Fair Use

อย่างไรก็ตาม ควรระลึกไว้เสมอว่า Educational Purposes ไม่ได้รับประกันว่าจะสามารถยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ทุกกรณี การจัดทำเอกสารประกอบชุดวิชา สำหรับการเรียนในหลักสูตรต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็น Coursepacks หรือการจัดทำรายวิชาออนไลน์แบบ eLearning และ MOOC หากไม่แน่ใจว่าอยู่ในขอบเขตของ Education Fair Use หรือไม่ อาจจำเป็นต้องทำการตรวจสอบและขออนุญาตเป็นกรณีไป

ปริมาณการใช้งานลิขสิทธิ์

แหล่งที่มา: กรมทรัพย์สินทางปัญญา. (2559). หนังสือคู่มือการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม

  1. ภาพยนตร์และโสตทัศนวัสดุเช่น วีดิทัศน์ ดีวีดี เลเซอร์ดิสก์ และซีดีรอมสารานุกรม เป็นต้น

ผู้สอนนำออกให้ผู้เรียนในชั้นเรียนชมได้ไม่จำกัดความยาวและจำนวนครั้ง  สำเนางานที่นำออกฉายต้องเป็นสำเนาที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง เป็นการนำออกฉายในชั้นเรียนโดยไม่แสวงหากำไร และเพื่อประโยชน์ในการเรียนการสอนโดยตรง ผู้สอนทำสำเนาทั้งเรื่องที่จำเป็นต้องใช้เพื่อประโยชน์ในการสอน ณ ขณะนั้นได้ หากได้พยายามใช้วิธีการและมีระยะเวลาอันสมควรแล้ว แต่ไม่สามารถจัดซื้อจัดหาสำเนาภาพยนตร์หรือโสตทัศนวัสดุที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมายได้ ผู้เรียนทำสำเนาภาพยนตร์หรือโสตทัศนวัสดุเพื่อใช้ในการศึกษาได้ไม่เกินร้อยละ 10 หรือ 3 นาที ของแต่ละผลงาน (แล้วแต่ว่าจำนวนใดน้อยกว่ากัน) ทั้งนี้ ภาพยนตร์หรือโสตทัศนวัสดุที่ใช้ในการจัดทำสำเนานั้นต้องมีลิขสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย

  1. งานแพร่เสียงแพร่ภาพ เช่น รายการวิทยุ/โทรทัศน์ เป็นต้น

ผู้สอนทำสำเนาและฉายงานแพร่เสียงแพร่ภาพหรือเทปบันทึกภาพงานเพื่อการเรียนการสอนได้ โดยสถาบันศึกษาใช้เทปบันทึกภาพงานดังกล่าวได้ในระยะเวลา 1 ปีการศึกษา หรือ 3 ภาคเรียน

  1. ดนตรีกรรม

ผู้สอนทำสำเนาในกรณีเร่งด่วน เนื่องจากไม่สามารถซื้อสำเนางานที่มีลิขสิทธิ์มาใช้ได้ทันการแสดงที่จะมีขึ้น ทั้งนี้ จะต้องจัดซื้อสำเนางานที่มีลิขสิทธิ์มาใช้ทันทีที่ทำได้ ทำสำเนาหนึ่งชุดหรือหลายชุดจากท่อนใดท่อนหนึ่งของงาน (Excerpts of Works) เพื่อการศึกษา ไม่ใช่เพื่อนำออกแสดง ทั้งนี้ ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของแต่ละงาน และไม่เกิน 1 สำเนา ต่อผู้เรียน 1 คน ทำสำเนาสิ่งบันทึกเสียงงานเพลง เช่น แถบบันทึกเสียง หรือซีดี จำนวน 1 ชุด โดยสำเนาจากสิ่งบันทึกเสียงที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งผู้สอนหรือสถาบันศึกษานั้นเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์งานสิ่งบันทึกเสียงดังกล่าว เพื่อจัดทำเป็นแบบฝึกหัดสำหรับการร้อง การฟังหรือเพื่อใช้ในการเรียนการสอน  ดัดแปลงสำเนางานเพื่อประโยชน์ในการเรียนการสอนได้ แต่จะดัดแปลงคุณลักษณะสำคัญของงานรวมถึงเนื้อร้องไม่ได้ บันทึกการแสดงของผู้เรียนซึ่งใช้ดนตรีกรรมจำนวน 1 ชุดได้ เพื่อการฝึกซ้อมหรือการประเมินผล โดยผู้สอนหรือสถาบันศึกษาเก็บรักษาบันทึกการแสดงนั้นไว้ได้

  1. รูปภาพและภาพถ่าย

ใช้ได้อย่างน้อย 1 ภาพแต่ไม่เกิน 5 ภาพ ต่อผู้สร้างสรรค์ 1 ราย หรือร้อยละ 10 ของจำนวนภาพของผู้สร้างสรรค์ 1 ราย (แล้วแต่ว่าจำนวนใดน้อยกว่ากัน) ผู้สอนและผู้เรียนดาวน์โหลดภาพจากอินเทอร์เน็ต เพื่อใช้ในการศึกษาได้ (ในปริมาณเท่ากับที่กล่าวข้างต้น) แต่จะอัพโหลดงานนั้นกลับขึ้นบนอินเทอร์เน็ตไม่ได้ หากไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์

  1. วรรณกรรม/สิ่งพิมพ์

การทำสำเนา 1 ชุด สำหรับผู้สอนเพื่อใช้ในการสอน หรือเตรียมการสอนหรือเพื่อใช้ในการวิจัย 1 บท (Chapter) จากหนังสือ 1 เล่ม บทความ (Article) 1 บท จากนิตยสาร/วารสาร หรือหนังสือพิมพ์ เรื่องสั้น (Short Story) หรือเรียงความขนาดสั้น (Short Essay) 1 เรื่อง บทกวีขนาดสั้น (Short Poem) 1 บท ไม่ว่าจะนำมาจากงานรวบรวมหรือไม่ก็ตาม

แผนภูมิ (Chart) กราฟ (Graph) แผนผัง (Diagram) ภาพวาด (Painting) ภาพลายเส้น (Drawing) การ์ตูน (Cartoon) รูปภาพ (Picture) หรือภาพประกอบหนังสือ (Illustration) จากหนังสือ นิตยสาร/วารสาร หรือหนังสือพิมพ์ จำนวน 1 ภาพ

การทำสำเนาจำนวนมากเพื่อใช้ในห้องเรียน ทำได้ไม่เกิน 1 ชุดต่อนักเรียน 1 คน โดยผู้สอน เพื่อใช้ในการสอนหรือการอภิปรายในห้องเรียน โดยสำเนาที่ทำขึ้นจะต้องไม่ยาวจนเกินไป และต้องมีการระบุรับรู้ความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ไว้ในสำเนาทุกฉบับด้วย ดังนี้

ร้อยกรอง  : บทกวี (Poem) ที่ไม่เกิน 250 คำ และเมื่อพิมพ์แล้วไม่เกิน  2 หน้า [หน้าละ 2,000 ตัวอักษร(Character) ตัวอักษรขนาด 16] หรือ บทกวีขนาดยาว ตัดตอนมาได้ไม่เกิน 250 คำ

ร้อยแก้ว : บทความ (Article) 1 บท  เรื่อง (Story) 1 เรื่อง  หรือเรียงความ (Essay) 1 เรื่อง หรือไม่เกิน 2,500 คำ ตอนใดตอนหนึ่ง (Excerpt) ของร้อยแก้วซึ่งไม่เกิน 1,000 คำ หรือร้อยละ 10 ของงานนั้น (แล้วแต่ว่าจำนวนใดน้อยกว่ากัน) แต่ได้อย่างน้อย 500 คำ อย่างไรก็ดี จำนวนที่ระบุไว้นี้ ยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสม เช่น อาจมีความยาวเกินมาเพื่อให้ข้อความของบทกวีจบบทหรือร้อยแก้วจบย่อหน้า เป็นต้น
แผนภูมิ (Chart) กราฟ (Graph) แผนผัง (Diagram) ภาพวาด (Painting) ภาพลายเส้น (Drawing) การ์ตูน (Cartoon) รูปภาพ (Picture) หรือภาพประกอบหนังสือ (Illustration) จากหนังสือ นิตยสาร/วารสาร หรือหนังสือพิมพ์ จำนวน 1 ภาพ

งานที่มีลักษณะเฉพาะ – งานที่อยู่ในรูปของร้อยกรองหรือร้อยแก้ว หรือผสมผสานกันซึ่งมักจะมีภาพประกอบ อาทิ หนังสือเด็ก ทำทั้งฉบับไม่ได้ แต่ใช้ได้ไม่เกิน 2,500 คำ และทำสำเนาตอนใดตอนหนึ่ง (Excerpt) ของงานได้ไม่เกิน 2 หน้าพิมพ์ของงานนั้น หรือไม่เกินร้อยละ 10 ของคำที่ปรากฏในงานนั้น

งานของผู้สร้างสรรค์คนเดียวกัน ทำสำเนาบทกวี (Poem) บทความ (Article) เรื่อง (Story) หรือเรียงความ (Essay) ได้ไม่เกิน 1 เรื่อง หรือสามารถตัดตอนมาจากผลงานของผู้สร้างสรรค์คนเดียวกันได้ไม่เกิน 2 ตอน (Excerpts) หรือทำสำเนาผลงานได้ไม่เกิน 3 เรื่อง จากงานรวบรวมเล่มเดียวกัน หรือจากนิตยสาร/วารสารรวมเล่ม ในเวลา 1 ภาคการศึกษา

แหล่งบริการตรวจสอบลิขสิทธิ์และการใช้งานที่เป็นธรรม (Copyright & Fair Use)

ในกรณีที่มหาวิทยาลัยมหิดลบอกรับเป็นสมาชิกวารสารและฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ทำให้อาจารย์มีสิทธิในเข้าถึงและใช้งานบทความฉบับเต็มได้ แต่หากต้องการนำภาพหรือข้อมูลจากบทความเหล่านั้นไปเผยแพร่ ผ่านการผลิตสื่อการเรียนการสอน ผลิตตำรา จัดทำเอกสารประกอบชุดวิชาที่ใช้สำหรับการเรียนในหลักสูตรต่าง ๆ ที่เรียกว่า Coursepacks, Classroom Handouts, e-Learning, หรือการสอนออนไลน์ด้วยระบบ MOOC และมีการเผยแพร่ไปยังนักศึกษาหรือผู้เรียนในวงกว้าง อาจจำเป็นต้องตรวจสอบสิทธิ์ก่อน ซึ่งจะมีความแตกต่างกันไปตามนโยบายของสำนักพิมพ์เจ้าของลิขสิทธิ์ และวัตถุประสงค์ของการนำไปเผยแพร่

ปัจจุบัน สำนักพิมพ์วารสารชั้นนำจากทั่วโลก มักมีบริการตรวจสอบสิทธิ์ในการนำภาพจากบทความไปใช้และเผยแพร่ โดยมีปุ่มแสดงข้อความปรากฏบนหน้าเว็บของบทความ เขียนว่า “Rights & Permissions” หรือ “Get Rights and Content” หรือ “Request Permissions” เพื่อทำการลิงก์ (Link) เชื่อมโยงต่อไปยังเว็บไซต์ Copyright Clearance Center (CCC) https://www.copyright.com ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญในการตรวจสอบสิทธิ์ ผู้ใช้บริการสามารถกรอกแบบฟอร์มขออนุญาตนำไปใช้ในการผลิตสื่อการเรียนการสอน หรือสั่งซื้อภาพหรือเนื้อหาจากบทความวารสารที่ต้องการ โดยดำเนินการผ่านระบบที่เรียกว่า RightLinks for Permission ระบบดังกล่าวจะคำนวณค่าใช้จ่ายให้ ส่วนใหญ่หากนำภาพหรือข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการเขียนวิทยานิพนธ์ หรือขอใช้ภาพที่ความละเอียดไม่สูง มักได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ถ้าใช้สอนในชั้นเรียน ค่าใช้จ่ายจะขึ้นกับจำนวนนักศึกษา หรืออาจไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่ต้องระบุข้อความ “Reprinted with permission from …” ทั้งนี้ ขึ้นกับนโยบายของวารสารในแต่ละสำนักพิมพ์

แนะนำแหล่งให้บริการตรวจสอบลิขสิทธิ์

  • Copyright Clearance Center (CCC)
  • Copyright Licensing Agency (CLA)
  • Access Copyright
  • Copyright Agency
  • International Federation of Reproduction Rights Organisations (IFRRO)

พัฒนาการของกฎหมายลิขสิทธิ์ในยุคดิจิทัล

กฏหมายลิขสิทธิ์เดิม มุ่งเน้นการคุ้มครองสิ่งพิมพ์และงานวรรณกรรมเป็นหลัก หลักข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ที่เรียกว่า การใช้โดยชอบธรรม (Fair Use) สามารถใช้ได้ผลในสื่อสิ่งพิมพ์ แต่ปัจจุบันการคุ้มครองสิทธิ์ได้ขยายไปยังสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซอฟแวร์ และข้อมูลความรู้ต่าง ๆที่อยู่บนอินเทอร์เน็ต  ทำให้การใช้หลักการดังกล่าวบนระบบอินเทอร์เน็ต มีปัญหาหลายประการ ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 (ค.ศ. 1996) องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก จึงได้จัดทำสนธิสัญญา WIPO Copyright Treaty เพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์บนอินเทอร์เน็ต ในปี พ.ศ. 2541 (ค.ศ. 1998) สหรัฐอเมริกาได้ออกกฎหมาย Digital Millennium Copyright Act (DMCA) มีการกำหนดโทษสำหรับการกระทำหลีกเลี่ยงมาตรการปกป้องเทคโนโลยี (Anti-circumvention) ห้ามใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อหลบเลี่ยงการเข้ารหัส (Encryption) โดยเด็ดขาด ทั้งนี้ มาตรการทางเทคโนโลยี (Technological Protection Measures: TPM) เป็นเครื่องมือที่เจ้าของลิขสิทธินำมาใช้เพื่อควบคุมการใช้ประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ มี 2 ประเภท ได้แก่ มาตรการทางเทคโนโลยีที่ใช้ควบคุมการเข้าถึง (Access Control) และมาตรการทางเทคโนโลยีที่ใช้ควบคุมการทำซ้ำ (Copy Control)

อย่างไรก็ตาม จักรกฤษณ์ และนันทน (2550) ได้แสดงความเห็นเอาไว้ว่า กฎหมายดังกล่าวสร้างอำนาจทางการตลาดให้แก่เจ้าของงาน และมีผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนาที่จำเป็นต้องจัดซื้อหนังสือ ดำรา โปรแกรมคอมพิวเตอร์ บอกรับวารสาร ฐานข้อมูลต่างๆ ซึ่งทางบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์จะทำการใส่รหัสผ่าน  (Password)  หรือใช้เทคโนโลยีเข้ารหัส (Encryption) และกำหนดราคาขายตามอำเภอใจ ทั้งๆ ที่ปรัชญาพื้นฐานของอินเทอร์เน็ต คือการเปิดโกาสให้มีการเข้าถึงข้อมูลโดยเสรี

สำหรับประเทศไทย ในปัจจุบันได้มีการเพิ่มเติมกฎหมายลิขสิทธิ์ ฉบับที่ 2 และ 3 ในปี พ.ศ. 2558 ฉบับที่ 4 ในปี พ.ศ. 2561 โดยนำข้อมูลการบริหารสิทธิ (Rights Management Information: RMI) และมาตรการทางเทคโนโลยี  มาใช้ในการคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์และสิทธิของนักแสดง การบันทึกภาพและเสียงในโรงภาพยนตร์โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ และกำหนดข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์เพิ่มเติมเพื่อประโยชน์ของคนพิการ ให้สามารถทำซ้ำหรือดัดแปลงเพื่อการเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ได้ตามความจำเป็น

บรรณานุกรม

กรมทรัพย์สินทางปัญญา. (2559). คู่มือการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม. http://www.ipthailand.go.th/images/781/manual_copyright.pdf

กรมทรัพย์สินทางปัญญา. (2559). คู่มือการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรมสำหรับบรรณารักษ์และห้องสมุด. http://www.ipthailand.go.th/th/copyright-011/

จักรกฤษณ์ ควรพจน์.(2550). ลิขสิทธิ์ยุคเทคโนโลยีดิจิทัล. http://www.ftawatch.org/sites/default/files/documents/2007_jakkrit_licences.pdf

จักรกฤษณ์ ควรพจน์ และ นันทน อินทนนท์. (2550).  ลิขสิทธิ์ยุคเทคโนโลยีดิจิทัล มาตรการทางเทคโนโลยี และทางเลือกสำหรับประเทศไทย. กรุงเทพ: โครงการ WTO Watch (จับกระแสองค์การค้าโลก). คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537. (2537). http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2537/A/059/1.PDF

พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558. (2558). http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/A/006/7.PDF

พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558. (2558). http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/A/006/14.PDF

พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561. (2561). http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/092/19.PDF

American Library Association. (2015). Copyright Advisory Network. https://librarycopyright.net

Arizona State University Library. (2019). Copyright. https://libguides.asu.edu/copyright/gfa

Copyright Clearance Center. (1995-2020). Copyright & Licensing Experts. https://www.copyright.com

Elsevier. (2020). Permission Guidelines. https://www.elsevier.com/about/policies/copyright/permissions 

Interlibrary Loan: Copyright Guidelines and Best Practices. https://www.copyright.com/wp-content/uploads/2015/03/White_Paper_ILL-Brochure.pdf

Modern Interlibrary Loan Practices: Moving beyond the CONTU Guidelines. https://www.arl.org/wp-content/uploads/2020/08/2020.08.31-modern-interlibrary-loan-practices-moving-beyond-the-CONTU-guidelines.pdf