อานิสงส์การนั่งสมาธิ พุทธวจน

อานิสงส์การนั่งสมาธิ พุทธวจน

เรื่องของบุญกุศล​ พระพุทธเจ้าก็จัดลำดับ
ของอานิสงส์ไว้...

ให้ทานกับสัตว์เล็กสัตว์น้อย
มดปลวกต่างๆก็มีอานิสงส์

แต่ให้ทานกับสัตว์ที่ใหญ่ขึ้นมา​
ก็มีอานิสงส์ ที่สูงกว่า

ให้ทานกับมนุษย์​ แม้ยังไม่มีศีล
มนุษย์ทุศีล ก็มีอานิสงส์ที่สูงกว่า

แต่ว่าให้ทานกับมนุษย์ที่มีศีล
ก็จะมีอานิสงส์ ที่สูงกว่านั้นขึ้นไปอีก

ให้ทานกับมนุษย์ที่มีสมาธิ ทรงฌาน
ก็จะมีอานิสงส์ ที่พอกพูนขึ้นไปกว่านั้น

ให้ทานกับพระอริยบุคคล​ พระโสดาบัน
ก็จะมีอานิสงส์ ที่สูงกว่าขึ้นไปอีก
ไล่ลำดับไปเรื่อยๆ

ให้ทานกับพระสกทาคามี อนาคามี อรหันต์
ก็จะสูงขึ้นไป

เรียกว่า ถวายทานกับพระอนาคามี 100 ครั้ง
ยังไม่เท่ากับการถวายทาน แด่พระอรหันต์ครั้งหนึ่ง ลำดับชั้นก็จะสูงขึ้นไป

ถวายทานกับพระอรหันต์ 100 ครั้ง
ก็ยังไม่เท่ากับการถวายแด่
พระปัจเจกพุทธเจ้าครั้งหนึ่ง

ถวายแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า 100 ครั้ง
ก็ยังไม่เท่ากับการถวาย
แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้งหนึ่ง

ถวายแด่พระพุทธเจ้า อานิสงส์สูงกว่า
แล้วก็สิ่งที่สูงกว่านั้น ก็คือ

การถวายเป็นสังฆทาน แก่หมู่พระภิกษุสงฆ์
มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน
มีอานิสงค์สูงกว่าที่กล่าวมาทั้งหมดเลย

เพราะว่าเริ่มเป็นสังฆมณฑลแล้ว

ถวายสังฆทาน 100 ครั้งก็ยังไม่เท่ากับ
การถวายวิหารทาน เสนาสนะที่อยู่อาศัย
ที่เป็นสาธารณประโยชน์
เกื้อกูลแก่การปฏิบัติธรรมต่างๆ

ถวายวิหารทาน 100 ครั้ง
ก็ยังไม่เท่ากับการให้ธรรมเป็นทาน
มีอานิสงส์สูงกว่า ก็ไล่สเตปขึ้นมา

เรื่องของอานิสงค์ของบุญกุศล
สูงสุดคือ " ธรรมทาน " อันนี้จัดอยู่ใน
หมวดรวมทั้งหมดของทาน คือการให้

มีอานิสงค์ที่สูงกว่าทานไหม? ....มี

พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็น “มหาทาน”
มหา แปลว่า ใหญ่... เป็นการให้ทานอันยิ่งใหญ

ก็คือ การรักษาศีล งดเว้นจากการเบียดเบียน
ไม่ทำให้ตนเอง และผู้อื่นเดือดร้อน

พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็น “มหาทาน "
เป็นการให้อภัยทาน ให้ความไม่เบียดเบียน
ให้ความไม่มีเวรมีภัย แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย

ผู้ที่มีปกติไม่เบียดเบียนใคร
อยู่ที่ไหนที่นั่นก็ร่มเย็น จริงไหม?

ถ้าทุกคนในประเทศเรา ในโลกนี้มีศีล
ไม่เบียดเบียนกัน ร่มเย็นไหมล่ะ

ต้องมีทหาร ต้องมีตำรวจไหม
ต้องมีอาวุธสงครามต่างๆไหม

ก็ไม่จำเป็นต้องสิ้นเปลืองกับสิ่งต่างๆเหล่านี้
การไม่เบียดเบียน พระพุทธเจ้าตรัสว่า...
เป็นมหาทาน เป็นการให้ทานอันยิ่งใหญ่

เพราะฉะนั้น เรื่องของบุญกุศล
อย่าไปคิดเรื่องของการต้องเสียเงินอะไร

เจตนาที่งดเว้น อานิสงค์ก็สูงกว่ามาก
มีอานิสงส์ที่สูงกว่านี้ไหม?

รักษาศีล อย่างนี้ 100 ปีก็ยังไม่เท่ากับ
จิตสงบเกิดสมาธิแม้เพียงชั่วขณะหนึ่ง

เริ่มเข้าสู่ภาคของการภาวนา และสูงกว่า
เกิดสมาธิชั่วขณะหนึ่งเนี่ยโยม
อานิสงส์สูงกว่าที่กล่าวมาทั้งหมดเลย

ที่เราฝึกปฏิบัติกันเป็นการสร้างบารมีที่ไพบูลย์มาก

เจริญสมาธิฌานสมาบัติ 100 ปี
อานิสงส์ ก็ยังไม่เท่ากับ
#เกิดวิปัสสนาญาณ

เกิดการรู้เห็นตามความเป็นจริง
แม้เพียงชั่วขณะหนึ่ง สูงกว่าไหม?

เจริญสติปัฏฐานจนเกิดวิปัสสนาญาณแม้เพียงชั่วขณะหนึ่ง บุญกุศลมากกว่าที่กล่าวมาทั้งหมดเลย

เพราะว่า จะเริ่มเป็นไปสู่การสลัดคืน
เข้าสู่ความบริสุทธิ์แล้ว

เพราะฉะนั้น การที่พาฝึกในทุกๆวัน
ฝึกสติปัฏฐานจนเกิดวิปัสสนาญาณ
และสลัดคืนเข้าสู่ความบริสุทธิ์

มันเป็นการเพิ่มบารมีธรรมอย่างสูงสุด
ให้แก่ทุกคน เพราะฉะนั้นฝึกตามในทุกๆวัน

ท่านจะได้สามารถมีบารมีธรรมที่ใช้ชำระตน
ชำระล้างบาปและอกุศลธรรมจนหมดสิ้นไปได้

โดย พระมหาวรพรต กิตติวโร

การนั่งสมาธิที่ถูกต้องเป็นอย่างไร?

การนั่งสมาธิ ในมุมมองของตะวันตก มักใช้คำว่า "Concentration" และ "Meditation" ที่สื่อความหมายถึงการทำสมาธิให้จิตใจสงบ เพื่อเคลียร์หัวให้โล่ง จะได้มีสติจดจ่อมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียน หรือการทำงาน

โดยในปัจจุบัน ยังนิยมนำมาปรับใช้กับการเล่นโยคะ ซึ่งการกำหนดลมหายใจให้ร่างกายสัมพันธ์กับจิตใจก็ถือเป็นท่าโยคะ ที่ช่วยเสริมให้ปอด และกะบังลมแข็งแรง

ส่วนวัฒนธรรมตะวันออกก็มี "ชี่กง" และ "ไทชิ" ที่เป็นส่วนหนึ่งของศิลปะการต่อสู้ และฝึกสร้างสมดุลให้ร่างกายผ่านลมหายใจเข้า-ออก

อานิสงส์การนั่งสมาธิ พุทธวจน

สำหรับการนั่งสมาธิในทางพระพุทธศาสนา นอกจากต้องการความสงบ ทำให้มีสติและเกิดปัญญาแล้ว ยังมีจุดประสงค์ในด้านการวิปัสสนา เช่น อานาปานสติ ที่สอนให้พิจารณาลมหายใจเข้า-ออก และตระหนักรู้ปัจจุบันขณะอยู่ตลอดเวลา รวมถึงเมื่อฝึกนั่งสมาธิไปเรื่อยๆ ก็จะมีการแบ่งขั้นกรรมฐานต่างๆ อีกมากมาย

ทั้งนี้ จุดร่วมของการนั่งสมาธิก็คือ การทำจิตใจให้สงบ และจดจ่ออยู่กับปัจจุบัน นั่นเอง เมื่อเป็นเช่นนั้น การตั้งใจทำงาน ก็ถือว่าเป็นการทำสมาธิอย่างหนึ่งเช่นกัน

การนั่งสมาธิมีกี่แบบ และท่านั่งพื้นฐานที่ควรรู้

การนั่งสมาธิมีหลายแบบ และหลายระดับ ซึ่งในแต่ละระดับก็อาจมีฐานต่างๆ อีกมากมาย ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการนั่งสมาธิเจริญกรรมฐาน ว่าต้องการเพียงความสงบในจิตใจ หรือต้องการฝึกปฏิบัติเพื่อให้รู้แจ้งเห็นธรรม โดยการนั่งสมาธิในระดับ "ญาณ" ก็จะต้องมีผู้รู้มาคอยชี้แนะในการปฏิบัติ

แต่หากจะแบ่งการนั่งสมาธิแบบพื้นฐาน สามารถแบ่งออกเป็น 3 แบบ ได้แก่
1. ขณิกสมาธิ : การทำสมาธิแบบชั่วครู่ เป็นขั้นพื้นฐานสำหรับบุคคลทั่วไปที่ต้องการสมาธิในการเรียน และทำงาน มีสติรู้ตัวตนว่ากำลังทำอะไรอยู่
2. อุปจารสมาธิ : การทำสมาธิในระยะเวลาที่นานขึ้น สำหรับผู้ที่กำลังจะได้ฌาน และนิมิตต่างๆ ตามความเชื่อในพระพุทธศาสนา
3. อัปปนาสมาธิ : การทำสมาธิขั้นแน่วแน่ เข้าถึงฌาน สามารถข่มกิเลสได้ ถือว่าเป็นสมาธิขั้นสูงสุด

อานิสงส์การนั่งสมาธิ พุทธวจน

ท่านั่งสมาธิแบบพื้นฐาน ผู้ปฏิบัติควรเลือกนั่งในพื้นที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก โดยนั่งขัดสมาธิขาไขว้กันทับฝ่าเท้า มือวางซ้อนทับกัน หลังตรง หน้าตรง ไม่ก้มหรือเงยหน้า หลับตา พร้อมๆ กับค่อยๆ กำหนดลมหายใจเข้าออก วิธีแนะนำสำหรับผู้เริ่มต้น เมื่อหายใจเข้าให้กำหนด "พุท" และหายใจออกให้กำหนด "โธ" เพื่อให้จิตใจจดจ่อกับลมหายใจ

การนั่งสมาธินอกจากช่วยให้เรามีสมาธิ และสติในการปฏิบัติงานต่างๆ ในชีวิตประจำวันมากขึ้นแล้ว ยังเป็นการลดความเครียด คลายความวิตก ฝึกความอดทนอดกลั้น ขจัดความคิดลบที่รบกวนจิตใจ และช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น

ส่วนที่หลายคนอาจจะกำลังสงสัยว่า การนั่งสมาธิได้บุญอย่างไร? ชาวพุทธเชื่อว่าการนั่งสมาธิเป็นการสร้างอานิสงส์ เนื่องจากในขณะที่เรากำลังนั่งสมาธิ จิตไม่ฟุ้งซ่าน ตัดละกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่มีจิตอกุศลไปชั่วขณะ เมื่อนั่งสมาธิเสร็จก็มักจะอุทิศส่วนกุศลไปให้บิดา-มารดา รวมถึงสรรพสัตว์ทั้งหลายด้วย จึงถือว่าเป็นพลังบุญประการหนึ่งที่ได้รับจากการนั่งสมาธิ

อานิสงส์การนั่งสมาธิ พุทธวจน

สำหรับผู้ที่ฝึกปฏิบัตินั่งสมาธิขั้นพื้นฐาน ก็สามารถนั่งแบบเริ่มต้นได้ง่ายๆ เพียงครั้งละ 5-10 นาที เพื่อให้จิตใจสงบ จดจ่อกับสมาธิในการเรียน และทำงาน หลังจากนั้นค่อยเพิ่มระยะเวลาให้นานขึ้นก็ได้