เรื่องทรงผม นักเรียน ล่าสุด

กรณีที่วัยรุ่นไทยใช้โซเชียลมีเดียในการเปิดเผยปัญหาและวิพากษ์วิจารณ์กฎระเบียบของโรงเรียน กลายเป็นดราม่าแทบจะรายเดือน สะท้อนให้เห็นประโยชน์ของโลกโซเชียลในการเรียกร้องสิทธิของเด็กๆ และเป็นพื้นที่ให้เด็กได้แสดงความคิดเห็นเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่โรงเรียน

"สมมุติว่าถ้าน้องจะทำผมยาวสักศอกหนึ่ง คนที่เดือดร้อนคือพ่อแม่ ต้องซื้อยาสระผมมาสระให้นักเรียน เวลาเรามานั่งในห้องเรียนผมเราที่ยาวเป็นศอกก็บังเพื่อนอยู่ด้านหลัง นี่คือความรู้สึกของคนอื่น แต่ความรู้สึกของเรา กำหนดแค่สิทธิของเรา แต่ไม่รู้ว่าหน้าที่ที่เราต้องอยู่ในสังคม"

 โดม เดอะสตาร์ และครูทอมสองในคนมีชื่อเสียงที่ออกมาแสดงล้อเลียนถึง กระแส #ทรงผมบังเพื่อน

  • ในปีนี้ 2565 Dove และ Mistine สองแบรนด์ที่กล้าเล่นประเด็นเรื่องรูปลักษณ์และการให้ความสำคัญ ที่จะสร้างความมั่นใจให้นักเรียน ปลดแอกจากกฏที่ละเมิด กดขี่สิทธิส่วนบุคคล ตอกย้ำให้ผู้ใหญ่เปลี่ยนมุมมองกับการครอบงำและตีกรอบให้เด็กๆ ในเรื่องส่วนตัวของพวกเขาได้ลองผิดลองถูก เรียนรู้ค้นหาตัวตนด้วยประสบการณ์ของตัวเอง ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ใหญ่มองว่าถูกหรือผิดในความคิดของพวกเขา 

โดย Dove เลือกใช้ #LetHerGrow ที่มุ่งเน้นในประเด็นเรื่องทรงผมและความมั่นใจ และสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตัวเอง จนเป็นไวรัลที่มียอดวิวขณะนี้ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านครั้ง ในเวลาไม่ถึงเดือน 

ส่วนแคมเปญของ MISTINE ได้ติด #ฉายแสงทุกการเติบโต เพื่อสื่อสารไปถึงคนในสังคมและผู้ที่อยู่ระบบการศึกษาทั้งโรงเรียนและคุณครู ได้ทบทวนบทบาทและการบังคับกฏระเบียบกับนักเรียนในประเด็นเรื่องการสร้างเสริมความมั่นใจผ่านเครื่องสำอางค์ที่เรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติของแต่ละคน 

และล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2565 กลุ่ม นักเรียนเลว ได้ออกแคมเปญ รณรงค์ติด #เสรีทรงผม หน้าโรงเรียนดังทั่วกทม. ต้อนรับการเปิดเทอมแบบ On-site ในวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากต้องปิดยาวตลอดช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อเรียกร้องให้มีการยกเลิกระเบียบทรงผมนักเรียน ให้อิสระกับนักเรียนไทยในการไว้ผมทรงใดก็ได้ ตัดผมทรงใดก็ได้ ทำผมแบบไหนก็ได้ไปเรียน โดยไม่มีการบังคับ  

สรุปรายงานร้องเรียนประจำสัปดาห์ วันที่ 8 พฤษภาคม - 14 พฤษภาคม 2565 จากกลุ่มนักเรียนเลวพบว่า มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาถึง 179 เรื่อง โดย เรื่องทรงผม ยังเป็นเรื่องที่มีเด็กร้องเรียนเข้ามามากที่สุดถึง 133 เรื่อง คิดเป็น 74.30 % ของข้อร้องเรียนทั้งหมด

แม้ว่าจะมี กฏกระทรวง ที่ประกาศออกมาแล้วก็ตาม แต่การหน้างานภาคปฏิบัติยังดูเหมือนว่า หลายๆ โรงเรียนยังยึดถือธรรมเนียมเดิมอยู่อย่างเหนียวแน่น และลงโทษเด็กแบบประจานให้อับอายโดยไม่ได้ตระหนักถึงการละเมิดสิทธิตามหลักสากล รวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครองเอง ที่ไม่ได้รับข้อมูลที่เปลี่ยนไปแล้ว จนมีคลิปหลุดที่แม่และลูกสาวเถียงกันในที่สาธารณะ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่าน โดยที่ไม่ได้เข้าใจที่มาหรือรับฟังความต้องการของเด็กที่เป็นเจ้าของร่างกายและกฏที่ปรับให้เข้ากับยุคสมัยไปนานแล้ว แต่ผู้ใหญ่เองที่ไม่ปรับตัวและอัปเดตข้อมูล 

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาข้อร้องเรียนของนักเรียน นักศึกษา เปิดเผยภายหลังการประชุม ดังนี้

ทรงผมนักเรียน

ที่ประชุมได้พิจารณาร่างระเบียบ ศธ. ว่าการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 โดยมีข้อเสนอแนะแก้ไข 3 ประการ คือ

ประการแรก “บทนำหรือคำปรารภ” แก้ไขเป็น “การปรับแก้ระเบียบฯ การไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 ให้มีความเหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน และสอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชน การคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การมีส่วนร่วม รวมทั้งการป้องกันให้มีการเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ เพราะปัจจุบันสังคมไทยมีการพัฒนาไปมาก และมีความหลากหลายทางเพศมากยิ่งขึ้น”

ประการที่สอง “การแก้ไขระเบียบข้อที่ 4” โดยมีการแยกไว้ว่า การไว้ทรงผมของนักเรียนชายและนักเรียนหญิงมีบทบัญญัติที่แตกต่างกัน ในการแก้ไขครั้งนี้จึงให้มีการไม่เลือกปฏิบัติทางเพศ และสะท้อนถึงความหลากหลายทางเพศสภาพของนักเรียนได้อย่างชัดเจน ไม่ให้มีปัญหาในทางปฏิบัติ ส่วนการดัดผม ย้อมสีผมให้ต่างไปจากเดิม ไว้หนวดหรือไว้เครา ยังคงเป็นข้อห้ามตามเดิม เนื่องจากเห็นว่าอาจทำให้เสียสมาธิในการเรียน

ทั้งนี้ ระเบียบข้อ 4 จะปรับแก้ไขใหม่ให้เป็นดังนี้

“ข้อ 4 นักเรียนจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาว ให้เป็นไปตามความเหมาะสมและรวบให้เรียบร้อย”

ประการที่สาม “การแก้ไขระเบียบข้อที่ 7″ ซึ่งมีจุดอ่อนในเรื่องการออกกฎระเบียบของโรงเรียนโดยไม่ต้องมีการปรึกษาหารือ จึงกำหนดให้มีการเขียนไว้อย่างชัดเจน ดังนี้

“ข้อ 7 ภายใต้บังคับข้อ 4 ให้สถานศึกษาวางระเบียบการไว้ทรงผมของนักเรียนได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ โดยต้องได้รับความเห็นชอบร่วมกันจากคณะกรรมการสถานศึกษา หรือคณะกรรมการบริหารโรงเรียนเอกชน แล้วแต่กรณี

ก่อนดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้สถานศึกษาดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา และเครือข่ายผู้ปกครอง รวมทั้งเผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวไว้ในบริเวณสถานศึกษา หรือระบบสารสนเทศของสถานศึกษานั้น”

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีข้อเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีหนังสือทำความเข้าใจไปยังโรงเรียน คือ

  1. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของนักเรียน โดยใช้กลไกของสภานักเรียน เช่น ให้ผู้แทนสภานักเรียน เข้าร่วมสังเกตการณ์ ในการประชุมของคณะกรรมการสถานศึกษา ตามข้อ 7
  2. ยกแนวปฏิบัติของโรงเรียนที่ดำเนินการมีส่วนร่วม เช่น โรงเรียนรัตนาธิเบศร์
  3. กรณีนักเรียนปฏิบัติไม่ถูกต้องตามระเบียบ การลงโทษต้องคำนึงถึงสิทธิของนักเรียน และเป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนนักศึกษา พ.ศ.2548 และกฎหมายคุ้มครองเด็ก โดย ศธ.ไม่สนับสนุนการกระทำรุนแรงต่อเด็ก ดังนั้นต่อไป “การกล้อนผมเด็ก” จะไม่สามารถกระทำได้

เครื่องแบบนักเรียน

ที่ประชุมได้หารือแนวทางแก้ไขปัญหาเครื่องแบบนักเรียน ตามข้อเรียกร้องของนักเรียน คือ การแต่งกายตามเพศสภาพ ยกเลิกการแต่งเครื่องแบบนักเรียน และเครื่องแบบลูกเสือ ยุวกาชาด เนตรนารี ซึ่งกรณีนี้มี พ.ร.บ.เครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551 และระเบียบ ศธ.ว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551 กำกับอยู่

คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า ระเบียบที่มีอยู่มีความยืดหยุ่นและสามารถประยุกต์ใช้ได้ตามความเหมาะสม เพียงแต่บางโรงเรียนอาจยังไม่มีความเข้าใจ

ดังนั้น ที่ประชุมจะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พิจารณาทำหนังสือซักซ้อมความเข้าใจไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ขอให้มีความยืดหยุ่น โดยใช้ข้อ 15 และ 16 คือ

ข้อ 15 กำหนดว่า สถานศึกษาใดจะกำหนดให้นักเรียนแต่งครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด นักศึกษาวิชาทหาร หรือแต่งชุดพื้นเมือง ชุดไทย ชุดลำลอง ชุดฝึกงาน ชุดกีฬา ชุดนาฏศิลป์ หรือชุดอื่น ๆ แทนเครื่องแบบนักเรียนตามระเบียบนี้ได้ ในวันใด ให้เป็นไปตามที่สถานศึกษากำหนด โดยคำนึงถึงความประหยัดเหมาะสม

ข้อ 16 ที่กำหนดว่าในกรณีมีเหตุจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ ให้สถานศึกษาพิจารณายกเว้น หรือผ่อนผันการแต่งกายเครื่องแบบนักเรียนได้ตามความเหมาะสม และหากจะออกระเบียบใดเพิ่มเติม ให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากคณะกรรมการสถานศึกษา นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา และเครือข่ายผู้ปกครองก่อน

ตั้งคณะทำงานพิจารณาอีก 3 ด้านตามข้อเรียกร้อง

ที่ประชุมได้พิจารณาร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาเพิ่มเติม 3 คณะ โดยจะเสนอรายชื่อทั้ง 3 คณะให้ รมว.ศึกษาธิการ พิจารณาลงนามภายในสัปดาห์หน้า ได้แก่

  1. คณะทำงานด้านการละเมิด การกระทำความรุนแรง และความปลอดภัยในสถานศึกษา มีนายสรรพสิทธ์ คุมพ์ประพันธ์ ตัวแทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นประธาน และมีผู้แทน สพฐ. เป็นเลขานุการ
    โดยมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
    1) ศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นักศึกษา ในประเด็นที่เกี่ยวกับการละเมิด การกระทําความรุนแรง และความปลอดภัยในสถานศึกษา
    2) จัดทําข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และพิจารณาแนวทางในการแก้ปัญหาและช่วยเหลือเยียวยานักเรียน นักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากการละเมิด การกระทําความรุนแรง และการประสบปัญหาด้านความปลอดภัยในสถานศึกษา
    3) ประสานและบูรณาการการดําเนินการร่วมกันระหว่างหน่วยงานและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน
    4) จัดทํากระบวนการติดตามและประเมินผล สรุปรายงานเสนอคณะกรรมการพิจารณาข้อร้องเรียนของนักเรียน นักศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
    5) ดําเนินการอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
  2. คณะทำงานด้านกฎระเบียบที่ล้าหลังของสถานศึกษาที่กระทบต่อนักเรียน นักศึกษา มีนายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการ สกศ. เป็นประธาน และมีผู้แทนปลัด ศธ. เป็นเลขานุการ โดยมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
    1) ศึกษา วิเคราะห์ ข้อมูลจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นักศึกษา ในประเด็นที่เกี่ยวกับ กฏระเบียบที่ล้าหลังของสถานศึกษาที่กระทบต่อนักเรียน นักศึกษา
    2) จัดทําข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และพิจารณาแนวทางในการแก้ปัญหาและช่วยเหลือเยียวยานักเรียน นักศึกษา ที่ได้รับผลกระทบจากการกฎระเบียบที่ล้าหลังของสถานศึกษาที่กระทบต่อนักเรียน นักศึกษา
    3) ประสานและบูรณาการการดําเนินการร่วมกันระหว่างหน่วยงานและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน
    4) จัดทํากระบวนการติดตามและประเมินผล สรุปรายงานเสนอคณะกรรมการพิจารณาข้อร้องเรียนของนักเรียน นักศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
    5) ดําเนินการอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
  3. คณะทำงานด้านการแสดงออกทางการเมืองของนักเรียนในสถานศึกษา โดยนายวิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นประธาน โดยนายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการ กอศ. เป็นเลขานุการ โดยมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
    1) ศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นักศึกษา ในประเด็นที่เกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมืองในสถานศึกษา 2) จัดทําข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และพิจารณาแนวทางในการแก้ปัญหาและช่วยเหลือเยียวยานักเรียนนักศึกษา ที่ได้รับผลกระทบจากการแสดงออกทางการเมืองในสถานศึกษา
    3) ประสานและบูรณาการการดําเนินการร่วมกันระหว่างหน่วยงานและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน
    4) จัดทํากระบวนการติดตามและประเมินผล สรุปรายงานเสนอคณะกรรมการพิจารณาข้อร้องเรียนของนักเรียน นักศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
    5) ดําเนินการอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย

นายวีระ แข็งกสิการ รองปลัด ศธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมในครั้งนี้ มีผู้มีส่วนร่วมจำนวนมาก และมีการถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊ก “ศธ.360 องศา” ซึ่งเป็นการประชุมระบบเปิด ถือเป็นมิติใหม่ของการทำงานโดยการนำของ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ เพราะ ศธ.ได้เปิดรับความคิดเห็นที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ โดยอิงจากมติตัวแทนครู นักเรียน ผู้ปกครอง ผู้บริหารโรงเรียน และผู้ทรงคุณวุฒิ เชื่อว่าจะเป็นผลดีต่อสังคม ตลอดจนสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป