โครงสร้างสังคม ผังมโนทัศน์

การศึกษาในเรื่องโครงสร้างทางสังคมจะช่วยให้เข้าใจเกี่ยวกับสังคมในแง่มุมต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่ง โครงสร้างทางสังคมมีรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

ความหมายโครงสร้างทางสังคม

โครงสร้างทางสังคม หมายถึง ส่วนต่าง ๆ ที่ประกอบกันเป็นระบบความสัมพันธ์ของสังคมมนุษย์ ส่วนประกอบดังกล่าวจะต้องเป็นเค้าโครงที่ปรากฏในสังคมมนุษย์ทุก ๆ สังคม แม้ว่าจะมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไปในแต่ละสังคมก็ตาม

โครงสร้างของสังคมไทย แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ

1. สังคมชนบท (กลุ่มปฐมภูมิ)

2. สังคมเมือง (กลุ่มทุติยภูมิ)

โดยที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศอาศัยอยู่ในชนบท ซึ่งเป็นสังคมแบบประเพณีนำ และเป็นสังคมเกษตรกรรม ดังนั้นถ้าหากรู้จักสังคมและวัฒนธรรมไทยจะต้องพิจารณาจากโครงสร้างสังคมชนบทเป็นหลัก และ จะต้องพิจารณาถึงอิทธิพลของสังคมและวัฒนธรรม เมืองที่มีต่อสังคมและวัฒนธรรมชนบทประกอบไปพร้อมๆกัน
สังคมชนบท
จัดว่าเป็นโครงสร้างที่สำคัญที่สุดของสังคมไทย เพราะเท่ากับเป็นโครงสร้างของสังคมไทยทั้งหมด สังคมชนบท ได้แก่ การร่วมกลุ่มแบบอรูปนัยของกลุ่มปฐมภูมิ มีการติดต่อกันแบบตัวถึงตัว สภาพแวดล้อมของท้องถิ่นและวัฒนธรรมที่มีอยู่เดิมซึ่งคล้ายคลึงกัน ทำให้สถานภาพและบทบาทของคนในสังคมชนบทไม่แตกต่างกันมาก มีการรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น สมาชิกของสังคมทำหน้าที่สอดคล้องต่อเนื่องกันอย่างราบรื่น และมีค่านิยมในเรื่องคุณความดีทางศาสนาเป็นตัวควบคุมความประพฤติทางสังคมของชนบทหรือที่เราเรียกกันว่าจารีตนั่นเอง
สังคมเมือง ข้อแตกต่างที่เด่นชัดระหว่างสังคมชนบทกับสังคมเมือง

ได้แก่ จำนวนกลุ่มขององค์การที่มีมากในสังคมเมืองหลวง หลักเกณฑ์การพิจารณาสถานภาพทางสังคมของบุคคลในเมืองหลวง ขึ้นกับฐานะทางเศรษฐกิจ อำนาจและความเกี่ยวข้องทางการเมือง และระดับการศึกษาซึ่งผิดจากเกณฑ์ของสังคมชนบท นอกจากนั้นแล้วโครงสร้างชนชั้นทางสังคมในเมืองหลวง คือประกอบด้วยกลุ่มคนที่เป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากตระกูลเก่าและขุนนาง ค่านิยมของคนเมืองหลวงนั้นจะเน้นหนักเรื่องอำนาจและความมั่งคั่งมากกว่าชาวชนบท มีความต้องการยกระดับตัวเอง จากชั้นสังคมเดิมไปสู่
ชั้นที่สูงกว่า โดยอาศัยปัจจัยหลายประการ เช่น ฐานะทางการเงิน การศึกษา อำนาจทางการเมือง และสิทธิต่างๆ

ลักษณะมูลฐานของสังคมซึ่งทำให้สังคมดำรงอยู่ได้ หมายถึง องค์ประกอบหลัก (เสาหลัก) ของสังคมที่เป็นตัวค้ำยันสังคมไว้ให้พยายามสัมพันธ์ของคนในสังคมดำเนินไปได้ ประกอบไปด้วย

- ค่านิยม (Social Value) - บรรทัดฐานทางสังคม (Social Norm)
- สถานภาพ (Status) - บทบาท (Role)

- สถาบันทางสังคม (Social Organization) - การควบคุมทางสังคม (Social Control)

ลักษณะโครงสร้างทางสังคม

โดยทั่วไปโครงสร้างทางสังคมโดยทั่วไป มีลักษณะที่สำคัญ ดังนี้
1. มีการรวมกลุ่มของคนในสังคม ซึ่งแต่ละกลุ่มที่รวมกันต่างมีหน้าที่รับผิดชอบและประสิทธิภาพในการ ทำงานตามที่กลุ่มได้กำหนดเป้าหมายไว้
2. มีแนวทางในการปฏิบัติอย่างเหมาะสมหรือมีกฎเกณฑ์ระเบียบแบบแผนเป็นแนวทางให้ยึดถือร่วมกัน โดยยึดหลักประโยชน์สูงสุดของสังคม
3. มีจุดหมายในการปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ที่ดีและมีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้กับสังคมนั้น
4. มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงได้ กล่าวคือ โครงสร้างของสังคมจะมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทั้งในแง่ของการเพิ่มขึ้นหรือลดลง ในหลายรูปแบบเช่นจำนวนคนอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากการเคลื่อนย้ายประชากรในสังคม หรือ รูปแบบของความสัมพันธ์ของบุคคลภายในสังคมอาจมีการปรับเปลี่ยนไปตามสถานภาพที่ปรับเปลี่ยนไปหรือแม้แต่สภาพแวดล้อมต่าง ๆ ภายในสังคม เป็นต้น

องค์ประกอบโครงสร้างทางสังคม
มีองค์ประกอบ 2 ส่วนที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มสังคม (Social Groups) และสถาบันสังคม (Social Institutions)
1. กลุ่มสังคม
กลุ่มสังคม หมายถึง กลุ่มคนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปมีความรู้สึกเป็นสมาชิกร่วมกัน มีการกระทำระหว่างกันทางสังคม เพื่อตอบสนองความต้องการของสมาชิกในกลุ่มสังคมนั้น ตามบทบาทและหน้าที่ของตนเอง
ลักษณะที่สำคัญของกลุ่มสังคม

1. มีการกระทำระหว่างกันทางสังคมหรือมีความสัมพันธ์ระหว่างกัน (Social interaction) (=มีการปฏิบัติต่อกัน)

2. สมาชิกในกลุ่มต่างมีตำแหน่งและบทบาทหน้าที่แตกต่างกันและประสานบทบาทระหว่างกันมีแบบแผนพฤติกรรมตามบรรทัดฐานของกลุ่ม หรือที่เรียกว่า วัฒนธรรมย่อย (=มีวัฒนธรรมของกลุ่ม)

3. มีความรู้สึกเป็นสมาชิกร่วมกัน ทำให้มีความผูกพันในฐานะที่เป็นสมาชิกของกลุ่มสังคมเดียวกัน (=สนิทสนมรักใคร่กันตามระดับกลุ่ม)

4. มีวัตถุประสงค์ร่วมกันที่สำคัญ คือ เพื่อสนองความต้องการของสมาชิกแต่ละคน และความต้องการของสมาชิกของกลุ่มเป็นส่วนรวม (=มีภารกิจถาวรหรือเฉพาะกิจ)

ลักษณะ

กลุ่มปฐมภูมิ

(สังคมชนบท)

กลุ่มทุติยภูมิ

(สังคมเมือง)

ความสัมพันธ์

ใกล้ชิดสนิทสนม, เป็นส่วนตัว

เป็นไปอย่างเป็นทางการ

การติดต่อกัน

1.โดยตรงและส่วนตัว จึงสามารถแสดงความรู้สึกได้อย่างเต็มที่

2.มีการติดต่อกันยาวนาน

เป็นไปตามกฎเกณฑ์และสถานภาพความสัมพันธ์เฉพาะด้าน

2. สถาบันสังคม
สถาบันสังคม หมายถึง รูปแบบพฤติกรรมของสมาชิกในสังคมเพื่อสนองความต้องการร่วมกันในด้านต่าง ๆ และเพื่อการคงอยู่ของสังคมโดยรวม แบบแผนพฤติกรรมต่าง ๆ เป็นไปตามบรรทัดฐานทางสังคมที่มีความชัดเจนแน่นอน และเป็นไปตามวัฒนธรรมของสังคม
ลักษณะสำคัญของสถาบัน

1) สถาบันสังคมเป็นนามธรรม สถาบันสังคมไม่ใช่ตัวบุคคลหรือกลุ่มคน ไม่ใช่สิ่งของ แต่เป็นแบบแผนพฤติกรรมซึ่งกำหนดขึ้นเพื่อเป็นแบบแผนในการปฏิบัติร่วมกันของสมาชิกทุกคน

2) สถาบันสังคมเกิดจากการเชื่อมโยงบรรทัดฐานต่าง ๆ ทางสังคม ซึ่งได้แก่ วิถีชาวบ้าน จารีต และกฎหมาย โดยเป็นส่วนของวัฒนธรรมในสังคม

3) สถาบันสังคมเกิดขึ้นเพื่อสนองความต้องการในด้านต่าง ๆ ร่วมกันของสมาชิกในสังคม และเพื่อการคงอยู่ของสังคม

4) สถาบันสังคมเกิดจากการยอมรับร่วมกันของสมาชิกในสังคม สถาบันสังคมจึงเป็นระเบียบแบแผน พฤติกรรมที่ชัดเจนและเปลี่ยนแปลงได้ยากเนื่องจากเกิดขึ้นโดยการยอมรับร่วมกันของสมาชิกในสังคม

องค์ประกอบของสถาบันของสังคม

1) กลุ่มสังคม สถาบันสังคมประกอบไปด้วยกลุ่มสังคมต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่สนับสนุนให้การกระทำระหว่างสมาชิกบรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกัน โดยประกอบด้วยสถานภาพหรือตำแหน่งทางสังคม และบทบาทหน้าที่ เพื่อให้แบบแผนพฤติกรรมดำเนินไปสู่วัตถุประสงค์ของกลุ่มสังคมนั้น

2) หน้าที่ของสถาบันทางสังคม หมายถึง วัตถุประสงค์ในการสนองความต้องการของสังคมในด้านต่างๆ ของสถาบันสังคมแต่ละสถาบัน

3) แบบแผนพฤติกรรมในการประพฤติปฏิบัติตนของสมาชิก เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของสถาบันนั้น ได้แก่ บรรทัดฐานทางสังคม ซึ่งประกอบไปด้วยวิถีชีวิต ทำให้กิจกรรมในการดำเนินชีวิตของสมาชิกในสังคมสามารถสนองวัตถุประสงค์ของสถาบันสังคมนั้น

4) สัญลักษณ์ และค่านิยม ทำให้สมาชิกเกิดอุดมการณ์และศรัทธาต่อสถาบันสังคม เช่น ธงชาติ เป็นสัญลักษณ์ของสถาบันการเมืองการปกครอง เสรีภาพและความเสมอภาค เป็นค่านิยมของสถาบันการเมืองการปกครองในสังคมประชาธิปไตย เป็นต้น

สถาบันสังคมที่สำคัญ สถาบันสังคม แยกได้ 5 สถาบัน ดังนี้

สถาบันสังคม หมายถึง สถาบันสังคมซึ่งเกี่ยวข้องกับแบบแผนการสมรส การอบรมเลี้ยงดูบุตร และแบบแผนความสัมพันธ์ระหว่างเพศ ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าถูกต้องตามสังคม

1. สถาบันครอบครัว มีองค์ประกอบ ดังนี้

กลุ่มสังคมในสถาบันครอบครัว ได้แก่ ครอบครัวซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนเดียวกัน เช่น บิดา มารดา บุตร วงศาคณาญาติที่เกี่ยวข้องโดยสายโลหิต หรือการสมรส หรือมีบุตรบุญธรรม

หน้าที่ของสถาบันครอบครัว
1. หน้าที่ผลิตสมาชิกใหม่ให้แก่สังคม เพื่อทดแทนสมาชิกของสังคมที่สิ้นชีวิตลง
2. หน้าที่เลี้ยงดูสมาชิกใหม่ให้มีชีวิตรอด เนื่องจากทารกแรกเกิดและเด็กไม่สามารถดูแลตนเองได้
3. หน้าที่ถ่ายทอดวัฒนธรรมของสังคมไปสู่สมาชิกใหม่ ซึ่งเป็นกระบวนการขัดเกลาทางสังคมเพื่อให้เด็กเติบโตเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม
4. หน้าที่อื่น ๆ ได้แก่ การสนองความต้องการทางจิตใจ ทำหน้าที่ให้ความรักความอบอุ่นสมาชิก
แบบแผนพฤติกรรมในการประพฤติปฏิบัติตนของสมาชิก สถาบันครอบครัวประกอบไปด้วยแบบแผนพฤติกรรมซึ่งเป็นบรรทัดฐานทางสังคม เช่น ประเพณีการหมั้น สมรส เป็นต้น สถาบันครอบครัวในสังคมแต่ละแห่งย่อมมีแบบแผนพฤติกรรมแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมของสังคม เช่นมีประเพณีการสมรสแตกต่างกันไป เป็นต้น

สัญลักษณ์และค่านิยม สัญลักษณ์ของสถาบันครอบครัวที่สำคัญ คือ แหวนหมั้น แหวนแต่งงาน เป็นต้น สถาบันครอบครัวในแต่ละสังคมย่อมมีค่านิยมต่างกันตามวัฒนธรรมของสังคม เช่น สังคมสมัยใหม่ สามีและภรรยามีค่านิยมในการหาเลี้ยงครอบครัวเท่าเทียมกัน การร่วมรับผิดชอบกิจกรรมต่าง ๆ ในครอบครัวอย่างเท่าเทียมกัน

2. สถาบันการศึกษา หมายถึง สถาบันสังคมซึ่งเกี่ยวข้องกับแบบแผนการขัดเกลาและการถ่ายทอดวัฒนธรรม การให้ความรู้ และการฝึกทักษะอาชีพ เพื่อความเป็นสมาชิกที่เหมาะสมของสังคม

กลุ่มสังคมในสถาบันการศึกษา ได้แก่ โรงเรียน มหาวิทยาลัย กระทรวง ทบวง กรม ที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา กลุ่มสังคมเหล่านี้จะประกอบไปด้วยตำแหน่ง หรือสถานภาพทางสังคม เช่น ครู อาจารย์ เป็นต้น

หน้าที่ของสถาบันการศึกษา
1. ถ่ายทอดความรู้ วัฒนธรรม และทักษะ อันจำเป็นในการดำรงชีพของสมาชิกในสังคม
2. สร้างบุคลิกภาพทางสังคมให้แก่สมาชิก สามารถปรับตนในการติดต่อสัมพันธ์กับบุคคลอื่นและปฏิบัติตนให้มีคุณค่าแก่สังคม
3. การกำหนดสถานภาพทางสังคม และชนชั้นทางสังคมสถานภาพจากสถาบันการศึกษา เป็นส่วนประกอบสำคัญประการหนึ่งในการจัดช่วงชั้นทางสังคม
4. หน้าที่ในการผลิตกำลังแรงงานทางเศรษฐกิจ ตามความต้องการทางสังคม
5. หน้าที่ในการสร้างกลุ่มเพื่อนเป็นหน้าที่แฝงของสถาบันการศึกษา ซึ่งก่อให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อนเพื่อสนองความต้องการทางจิตใจของสมาชิกในสังคม
แบบแผนพฤติกรรมในการประพฤติปฏิบัติตนของสมาชิก สถาบันการศึกษาประกอบไปด้วยแบบแผนพฤติกรรมต่าง ๆ เพื่อสนองต่อหน้าที่ต่าง ๆ ของสถาบันดังที่กล่าวมาแล้ว เช่นการจัดระบบการเรียนการสอน เป็นต้น แบบแผนพฤติกรรมดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงให้เหมาะสมแก่ความต้องการของสังคมปัจจุบัน

สัญลักษณ์และค่านิยม สัญลักษณ์ของสถาบันการศึกษา มักปรากฏในองค์การทางการศึกษาต่าง ๆ เช่น เข็มเครื่องหมายของโรงเรียน เป็นต้น แต่ละสังคมย่อมมีปรัชญาและค่านิยมทางการศึกษาต่างกัน

3. สถาบันศาสนา หมายถึง สถาบันที่ทำหน้าที่ช่วยสนองความต้องการด้านเสริมกำลังใจให้แก่สมาชิกในสังคมเพื่อให้ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมด้วยความปกติสุขโดยปฏิบัติตามคติความเชื่อ

กลุ่มสังคมในสถาบันศาสนา ที่สำคัญได้แก่ คณะสงฆ์ และกลุ่มผู้ปฏิบัติธรรม โดยมีตำแหน่งหรือสถานภาพทางสังคมต่างๆ กัน ต่างมีบทบาทหน้าที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันตามสถานภาพทางสังคมดังกล่าว

หน้าที่ของสถาบันศาสนา
1. สร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่สังคม
2. สร้างเสริมและถ่ายทอดวัฒนธรรมแก่สังคม
3. ควบคุมสมาชิกให้ปฏิบัติตามบรรทัดฐานของสังคม
4. สนองความต้องการทางจิตใจแก่สมาชิกเมื่อสมาชิกเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ

แบบแผนพฤติกรรมในการประพฤติปฏิบัติตนของสมาชิก โดยทั่วไปแบบแผนพฤติกรรมในการปฏิบัติของสมาชิกในสังคม ย่อมเป็นไปตามหลักธรรมของศาสนาที่ตนนับถือ และเป็นไปตามประเพณีทางศาสนานั้น ๆ กิจกรรมของประเพณีทางศาสนามีความสำคัญในการสร้างความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสมาชิกในสังคม

สัญลักษณ์และค่านิยม สัญลักษณ์ของสถาบันศาสนาย่อมแตกต่างกันไปตามศาสนาที่สมาชิกยอมรับนับถือ สำหรับค่านิยมของสถาบันศาสนาย่อมแตกต่างกันไปตามหลักของศาสนานั้น ๆ

4. สถาบันเศรษฐกิจ หมายถึง สถาบันสังคมที่เกี่ยวข้องกับแบบแผนการสนองความต้องการเกี่ยวกับความจำเป็นทางวัตถุ เพื่อการดำรงชีวิต เป็นแบบแผนพฤติกรรมทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับ การผลิตการกระจายสินค้าและบริการไปสู่ผู้บริโภค ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต

กลุ่มสังคมในสถาบันเศรษฐกิจ กลุ่มสังคมในสถาบันเศรษฐกิจมีจำนวนมาก เช่น ร้านค้า โรงงานและองค์กรเศรษฐกิจต่าง ๆ แต่ละกลุ่มสังคมเหล่านี้ประกอบไปด้วยตำแหน่งและบทบาทหน้าที่ต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน เช่น ผู้จัดการ พนักงาน กรรมกร เกษตรกร เป็นต้น เพื่อกระทำบทบาทและหน้าที่ดังกล่าว

หน้าที่ของสถาบันเศรษฐกิจ
1. ผลิตสินค้า เพื่อสนองความต้องการของสมาชิกในสังคม ซึ่งประกอบไปด้วยสินค้าพื้นฐานจนถึงสินค้าอำนวยความสะดวก
2. การกระจายสินค้าที่ผลิตได้ไปสู่สมาชิกในสังคมอย่างทั่วถึง
3. การกระจายบริการต่าง ๆ ไปสู่สมาชิกในสังคม
4. การกำหนดสถานภาพทางสังคมและชนชั้นทางสังคม
5. สถาบันทางเศรษฐกิจก่อให้เกิดหน้าที่สำคัญ คือ เป็นพื้นฐานอำนาจทางการเมือง
แบบแผนพฤติกรรมในการประพฤติปฏิบัติตนของสมาชิก สถาบันเศรษฐกิจประกอบด้วยแบบแผนพฤติกรรมที่มีความสำคัญในการดำรงชีวิตร่วมกันของสมาชิกในสังคม เช่น แบบแผนในการผลิตสินค้า แบบแผนของการประกอบอาชีพต่าง ๆ เช่น อาชีพเกษตรกรรมและอาชีพอุตสาหกรรมมีแบบแผนการประกอบอาชีพต่างกัน

สัญลักษณ์และค่านิยม ส่วนใหญ่เป็นสัญลักษณ์ขององค์การของสถาบันเศรษฐกิจนั้น ๆ เช่น เครื่องหมายทางการค้า สำหรับค่านิยมและความเชื่อเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจย่อมแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมของแต่ละสังคม

5. สถาบันทางการเมืองการปกครอง หมายถึง สถาบันสังคมที่เป็นแบบแผนที่เกี่ยวข้องกับการสนองความต้องการของสมาชิกในการดำรงชีวิตตามกฎระเบียบของสังคม ควบคุมให้กลุ่มคนอยู่ในสังคมอย่างสงบสุข

กลุ่มสังคมในสถาบันการเมืองการปกครอง ประกอบด้วยกลุ่มสังคมต่าง ๆ ที่สำคัญ คือ กลุ่มสังคมที่มีการจัดระเบียบอย่างชัดแจ้ง ที่เรียกว่า องค์การ เช่น พรรคการเมือง กระทรวง ทบวง กรม เป็นต้น แต่ละองค์การประกอบด้วยตำแหน่งหรือสถานภาพทางสังคม เพื่อกระทำบทบาทและหน้าที่ตามสถานภาพนั้น

องค์กรของสถาบันการเมืองที่สำคัญ มีดังนี้
1. ฝ่ายนิติบัญญัติ คือ องค์กรที่ทำหน้าที่ออกกฎหมาย
2. ฝ่ายบริหาร คือ องค์กรที่ทำหน้าที่ในการบริหารและการบริการให้แก่สมาชิกโดยส่วนรวม
3. ฝ่ายตุลาการ คือ องค์การที่ทำหน้าที่ตีความกฎหมายในกรณีที่สมาชิกในสังคมเกิดความขัดแย้งระหว่างกัน
4. ฝ่ายองค์กรอิสระ คือ องค์กรที่ประกอบด้วยคณะบุคคลที่ตั้งขึ้นด้วยวิธีปลอดจากอำนาจอิทธิพลของบุคคลที่มีส่วนอาจได้เสียกับกิจการอันเป็นหน้าที่ขององค์กรอิสระนั้น โดยเฉพาะอำนาจของข้าราชการเมืองและข้าราชการประจำ

หน้าที่ของสถาบันการเมืองการปกครอง
1. สร้างระเบียบกฎเกณฑ์ให้แก่สังคม เช่น สถาบันเศรษฐกิจย่อมจะต้องมีกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการเงิน
2. วินิจฉัยข้อขัดแย้งระหว่างสมาชิกในสังคม มีองค์การทางตุลาการคอยให้ความยุติธรรมแก่สมาชิกที่มีความขัดแย้งต่อกัน
3. หน้าที่ในการบริหารองค์การของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น
4. การป้องกันและรักษาความปลอดภัยทั้งภายในสังคมและจากภายนอกสังคม

ลักษณะโดยทั่วไปของสถาบัน
- สถาบันเป็นนามธรรม
- สถาบันแต่ละสถาบันเกิดจากการรวมหน้าที่ด้านเดียวกันไว้รวมกัน
- เปลี่ยนแปลงได้ยาก

การจัดระเบียบทางสังคม

สังคมเป็นที่รวมของบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป เมื่อมีการรวมกลุ่มของกลุ่มบุคคลเพิ่มมากขึ้นสังคมก็ยิ่งมีความแตกต่างในหลายๆ ด้านเกิดขึ้นความแตกต่างดังกล่าว หากมีการควบคุมและจัดระเบียบของกลุ่มและในสังคมที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมแล้ว สังคมก็อาจสับสนวุ่นวายขึ้นได้


ความหมายของการจัดระเบียบสังคม

การจัดระเบียบสังคม เป็นกระบวนการที่สมาชิกได้พัฒนาการกระทำระหว่างกันทางสังคมอย่างมีระเบียบ โดยมีสมาชิกส่วนรวมของสังคมไทยยอมรับเป็นแนวความประพฤติร่วมกันและสืบทอดจนเป็นบรรทัดฐานในการดำรงชีวิตร่วมกันของสมาชิกในสังคม

สาเหตุที่ต้องมีการจัดระเบียบสังคม
1. สมาชิกในสังคมมีความแตกต่างกัน
2. แต่ละคนมุ่งแต่ผลประโยชน์ของตน จนเกิดความขัดแย้งได้

ความจำเป็นที่ต้องมีการจัดระเบียบสังคม
1. เนื่องจากสมาชิกในสังคมมีความแตกต่าง ทั้งในทางกายภาพและในทางสังคม
2. เนื่องจากสมาชิกในสังคมมีวัตถุประสงค์และมีความต้องการร่วมกันในสังคมมนุษย์ทุกๆ สังคมสมาชิกแต่ละคนย่อมมีความต้องการพื้นฐานร่วมกัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องกำหนดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกเพื่อให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์และความต้องการนั้น
3. เพื่อป้องการขัดแย้งระหว่างสมาชิกในสังคม ธรรมชาติของมนุษย์ คือ การต่อสู้ การใช้อำนาจ ดังนั้นจึงต้องมีกฎเกณฑ์เพื่อให้ความสัมพันธ์ของสมาชิกในสังคมราบรื่น


วิธีการจัดระเบียบทางสังคม
1. บรรทัดฐาน
2. สถานภาพ – บทบาท และการจัดชั้นยศ
3. ค่านิยม
4. การขัดเกลาทางสังคม
5. การควบคุมทางสังคม


องค์ประกอบของการจัดระเบียบ

บรรทัดฐานทางสังคม หมายถึง ระเบียบ กฎเกณฑ์ หรือแบบแผนของพฤติกรรมที่สังคมยอมรับเป็นแนวทางให้สมาชิกประพฤติปฏิบัติในแต่ละสถานการณ์ สรุปได้ว่า...

1. บรรทัดฐานทางสังคม เป็นระเบียบ กฎเกณฑ์ หรือแบบแผนของพฤติกรรมที่สมาชิกในสังคมยอมรับร่วมกัน และได้ประพฤติสืบต่อกันมา
2. บรรทัดฐานทางสังคมเป็นระเบียบ กล่าวคือ แบบแผนความประพฤติที่เห็นว่าถูกต้องในสถานการณ์หนึ่งอาจนำไปใช้ในอีกสถานการณ์หนึ่งไม่ได้

ประเภทของบรรทัดฐานทางสังคม
1. วิถีประชา/วิถีชาวบ้าน (Folkways) หมายถึง แบบแผนความประพฤติที่สมาชิกปฏิบัติด้วยความเคยชิน เนื่องจากได้รับการปลูกฝังถ่ายทอดมาตั้งแต่วัยเด็กจนเติบใหญ่ แม้ว่าจะไม่มีการกำหนดโทษผู้ที่ละเมิดฝ่าฝืนอย่างเข้มงวด แต่อาจถูกคนอื่นเยาะเย้ย ถากถาง หรือได้รับการนินทา ทำให้สมาชิกต้องปฏิบัติตามวิถีชาวบ้าน จนเกิดความเป็นระเบียบทางสังคมในที่สุด
2. จารีต (Mores) หมายถึง แบบแผนความประพฤติที่สมาชิกปฏิบัติในสถานการณ์ต่าง ๆ โดยผู้ที่ละเมิดฝ่าฝืนจะได้รับการต่อต้านจากสมาชิกในสังคมอย่างจริงจัง เนื่องจากมีผลกระทบต่อระบบสัมพันธ์ของสมาชิกเป็นส่วนรวม
3. กฎหมาย (Laws) หมายถึง กฎเกณฑ์ของความประพฤติซึ่งสร้างขึ้นโดยองค์การทางการเมืองการปกครอง และโดยได้รับการรับรองจากองค์กรของรัฐ
กฎหมายเป็นกฎเกณฑ์ความประพฤติที่มีลักษณะสำคัญ ดังนี้
1) เป็นกฎเกณฑ์การประพฤติปฏิบัติของสมาชิกในสังคมที่บัญญัติเป็นทางการโดยองค์การของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการบัญญัติกฎหมาย
2) มีการประกาศรายละเอียดของกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร
3) มีองค์การที่หน้าที่ควบคุมให้สมาชิกปฏิบัติตามกฎหมาย
4) มีบทลงโทษผู้ที่ละเมิดฝ่าฝืนกฎหมาย

ข้อสังเกตเกี่ยวกับบรรทัดฐาน
1. บรรทัดฐานแต่ละท้องถิ่นสอดคล้องหรือแตกต่างก็ได้
2. บรรทัดฐานแต่ละท้องถิ่นสามารถเปลี่ยนแปลงได้

3. สังคมชนบทมักใช้จารีตมากกว่า ส่วนสังคมเมืองมักใช้กฎหมายเป็นบรรทัดฐาน


ความสัมพันธ์ของคนในสังคม

สถานภาพ
สถานภาพ (Status) : ตำแหน่งที่ได้รับจากการเป็นสมาชิกของสังคมหรือฐานะทางสังคม (Social Position) ของคนในสังคมที่ถูกกำหนดไว้และดำรงอยู่
สถานภาพทางสังคม หมายถึง ตำแหน่งของบุคคลซึ่งได้มาจากการเป็นสมาชิกของกลุ่มและของสังคม ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการจัดระเบียบสังคม เนื่องจากการกระทำระหว่างสมาชิกในสังคมย่อมเป็นไปตามสถานภาพที่ตนดำรงอยู่

ประเภทของสถานภาพทางสังคม
1) สถานภาพทางสังคมโดยกำเนิด (Ascribed Status) เป็นสถานภาพทางสังคมที่สมาชิกได้รับโดยกำเนิด ที่สำคัญได้แก่ เชื้อชาติ สัญชาติ เพศ (ชายหรือหญิง) อายุและสถานภาพอันเกิดจากการเป็นสมาชิกในครอบครัว เหล่านี้นับเป็นสถานภาพโดยกำเนิดทั้งสิ้น
2) สถานภาพทางสังคมโดยความสามารถของบุคคล (Achieved Status) เป็นสถานภาพทางสังคมที่เกิดจากการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับสถานภาพโดยถือความสามารถตามเกณฑ์ที่สังคมกำหนด
3) ผลอันเกิดจากสถานภาพทางสังคม มีดังนี้
(1) ทำให้เกิดสิทธิและหน้าที่
(2) ทำให้เกิดเกียรติยศจากสถานภาพทางสังคมที่สมาชิกดำรงอยู่
(3) ทำให้เกิดการจัดช่วงชั้นทางสังคม

ที่มาของสถานภาพ
1. สถานภาพที่ติดตัวมา เช่น อายุ, เพศ, ชาติกำเนิด, เชื้อชาติ
2. สถานภาพที่ได้มาภายหลัง เช่น สถานภาพระบบเครือญาติ, สถานภาพทางการศึกษา, อาชีพ
หน้าที่ของสถานภาพ
1 . กำหนดบทบาท
2 . ใช้ในการติดต่อร่วมกันใน สังคมขนาดใหญ่ ๆ
3 . ใช้เปรียบเทียบฐานะสูง – ต่ำทางสังคม

บทบาท
บทบาท (Role) : หน้าที่/พฤติกรรมที่ปฏิบัติตามสถานภาพที่ได้รับ การปฏิบัติบทบาทตามสถานภาพที่เหมาะสมและถูกต้องทำให้ความสัมพันธ์ทางสังคมดำเนินไปได้ด้วยดี

บทบาททางสังคม
1. บทบาททางสังคมเป็นการกระทำตามสิทธิและหน้าที่ตามที่กำหนดในสถานภาพทางสังคม บทบาทและสถานภาพทางสังคมจะทำให้การกระทำระหว่างกันทางสังคมของสมาชิกดำเนินไปอย่างสอดคล้องกลมกลืน และช่วยให้การดำรงชีวิตร่วมกันในสังคมมีความราบรื่น
2. ความสำคัญของบทบาททางสังคม
บทบาททางสังคมก่อให้เกิดการกระทำตามสิทธิและหน้าที่ของสมาชิกในสังคมตามสถานภาพที่ตนดำรงอยู่ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนการรับและการให้ประโยชน์ระหว่างกัน

หากปราศจากการกำหนดบทบาททางสังคม รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในสังคมคงจะขาดระเบียบแลปราศจากทิศทางแน่นอน

บทบาทขัดกัน

สมาชิกในสังคมแต่ละคนมีบทบาทหลายอย่างในเวลาเดียวกัน และการในกระทำอีกบทบาทหนึ่งอาจจะขัดกับอีกบทบาทหนึ่งก็ได้ การขัดกันในบทบาทย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ สมาชิกในสังคมต้องตัดสินใจ ตามวาระและโอกาสที่เกิดขึ้น

ข้อสังเกต
1. สถานภาพ – บทบาทเป็นเรื่องความสัมพันธ์ที่เกี่ยวกับสังคม
2. ทุกคนย่อมมีสถานภาพของตนเองและมีหลายสถานภาพ
3. สถานภาพบางอย่างเป็นสถานภาพที่ต่อเนื่อง
4. ยิ่งสังคมซับซ้อนเพียงใด บทบาทยิ่งแตกต่างไปมากขึ้นเท่านั้น
5. โดยปกติสถานภาพจะบ่งถึงบทบาทเสมอ แต่ในบางสถานการณ์มีสถานภาพอาจไม่มีบทบาทก็ได้
6. การมีหลายสถานภาพก่อให้เกิดหลายบทบาท บางครั้งก็อาจทำให้เกิดบทบาทที่ขัดแย้ง

ค่านิยม

ค่านิยม (Social Value) : สิ่งที่สังคมส่วนใหญ่ยอมรับและเห็นว่ามีคุณค่า เพราะว่าเป็นความสัมพันธ์ที่สังคมยอมรับ หรือเราอาจจะเรียกว่า “กระแสทางสังคม” ก็ได้
ค่านิยมมีทั้งของบุคคล และ ค่านิยมของสังคม

ค่านิยมของสังคม
ค่านิยมของสังคม บางทีเรียกว่า (ระบบคุณค่าของสังคม) หรือ (สัญญาประชาคม)
ค่านิยมของสังคม เป็นหัวใจหรือเป้าหมายที่สังคมปรารถนาที่จะให้เกิดขึ้น เช่น เสรีภาพ ความรักชาติ ความดี ความยุติธรรม

การขัดเกลาทางสังคม
การขัดเกลาทางสังคม (Socialization) หมายถึง การถ่ายทอดวัฒนธรรมแก่สมาชิกวิธีการขัดเกลาทางสังคม
การขัดเกลาทางสังคม คือ การปลูกฝังระเบียบวินัย ความมุ่งหวังให้รู้จักบทบาทและทัศนคติ ความชำนาญหรือทักษะ ทั้งนี้ เพื่อให้สมาชิกอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ด้วยดี การขัดเกลาทางสังคมช่วยให้สมาชิกได้เรียนรู้ และปฏิบัติตามบรรทัดฐานของสังคม การอบรมสั่งสอนของพ่อแม่ ครูอาจารย์ เพื่อนฝูง เพื่อนร่วมอาชีพหรือสื่อมวลชนต่าง ๆ เหล่านี้จะทำให้การกระทำต่อผู้อื่นเป็นไปอย่างเหมาะสมรู้จักปฏิบัติตนในฐานะสมาชิกที่ดีของสังคม ซึ่งจะช่วยให้สังคมมีระเบียบเพิ่มขึ้น
1. การขัดเกลาโดยตรง : โดยการบอกว่าสิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ

2. การขัดเกลาโดยอ้อม : ไม่ได้บอกโดยตรง แต่เราเรียนรู้จากการ กระทำของคนอื่น หรือ ซึมซับจากสื่อ เช่น หนังสือพิมพ์, นิตยสาร, วิทยุ ฯลฯ

การควบคมทางสังคม
การควบคุมทางสังคม (Social Control)

เป็นกระบวนการทางสังคมในการจัดระเบียบพฤติกรรมมนุษย์/สมาชิกในสังคมให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ รวมทั้งการไร้ระเบียบทางสังคม (Social Disorganization) นอกจากนี้ยังต้องรู้อีกหลายๆ เรื่อง เช่น ปรากฏการณ์ทางสังคม (Social Phenomena) ว่ามีความเป็นมาอย่างไร หรือการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Social Change) ว่าจะมีแนวโน้มเป็นไปในทางใดและอะไรเป็นปัจจัยผลักดันเป็นต้น และที่สำคัญที่สุดของสังคมได้แก่ วัฒนธรรม=ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในสังคม อันเป็นแบบแผนของพฤติกรรมที่สังคมยอมรับและสืบทอดกันต่อๆ มา