รามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่ 1

เรื่องย่อรามเกียรติ์

ตัวละคร

คุณค่าที่ได้รับจากเรื่องรามเกียรติ์

รามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่ 1

    บทละครเรื่อง รามเกียรติ์ เป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  เนื้อเรื่องมาจากวรรณคดีของอินเดียเรื่อง รามายณะ อันเป็นวรรณคดีที่สำคัญและมีมานานกว่า ๒๐๐๐ ปีมาแล้ว   ไทยเรานำมาเล่นเป็นหนังและโขนตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง รามเกียรติ์ เป็นกลอนบทละคร แต่ไม่แพร่หลายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงเกรงว่า เรื่อง รามเกียรติ์ จะสูญไปเสียจึงได้ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นและได้โปรดเกล้าฯ ในกวีในสมัยของพระองค์ร่วมนิพนธ์ด้วยหลายตอน   รามเกียรติ์ฉบับพระราชนิพนธ์ฉบับนี้ ถ้าเปรียบเทียบกับวรรณคดีเรื่อง รามายณะ ของอินเดีย

แต่ก็มีที่แตกต่างกันหลายอย่าง เช่น เนื้อเรื่องบางตอน ชื่อตัวละครบางตัว เป็นต้น

เป็นบทละครที่มีเนื้อหาสมบูรณ์ครบถ้วนประกอบด้วยเรื่องน่ารู้ และเรื่องแทรกที่สนุกสนานทั้งยังนำมาปรับปรุงเป็นบทสำหรับการเล่นละครได้อย่างดี ละครไทยแท้ๆ แต่เดิมมักจะเป็นละครรำที่มีท่ารำบอกถึงเรื่องราวตามบทร้อง ดังนั้น ท่า รำและบทร้องจึงมีความหมายสอดคล้องต้องกันทั้งยังเข้ากับทำนองเพลงต่างๆที่ให้ไว้ด้วย เช่น เพลงช้า กราวนอก เสมอ โอด เป็นต้น

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๓๒๕ – ๒๓๕๒) ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ขึ้นเพื่อใช้ในพิธีสมโภชพระนครใหม่  คือ กรุงรัตนโกสินทร์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๒๘ – ๒๓๒๙ เนื้อเรื่องประกอบด้วยเรื่องราวน่ารู้ต่างๆ เริ่มด้วยหิรัญยักษ์ม้วนแผ่นดิน และกำเนิดตัวละครสำคัญๆทั้งฝ่ายยักษ์ ลิง และมนุษย์ แล้วจึงดำเนินเรื่องการสู้รบระหว่างพระรามกับทศกัณฐ์ซึ่งต้องสู้รบกันหลายครั้งกว่าจะได้ชัยชนะเด็ดขาด   ประกอบด้วยเรื่องราวที่น่าตื่นเต้นและเรื่องแทรกที่สนุกสนานบันเทิง เสริมด้วยอารมณ์ขัน ทำให้เรื่องราวมีสีสันเหมาะสมกับการแสดงละคร ทั้งยังให้คติธรรมที่ว่า ธรรมย่อมชนะอธรรม และยกย่องความซื่อสัตย์ ความกตัญญู บทละครเรื่องนี้ได้รับความนิยมจากคนไทยทุกยุคทุกสมัย

ตัวอย่าง จากบทละครเรื่องรามเกียรติ์ ตอนกุมภกรรณลับหอกโมกขศักดิ์ บอกชื่อเพลงโอด ดังนี้

ฯ๒คำฯ โอด
เมื่อนั้น                       ทศเศียรสุริยวงศ์รังสรรค์
เห็นน้องท้าวเจ็บปวดจาบัลย์   กุมภัณฑ์ตระหนกตกใจ
จึ่งมีพระราชบัญชา            เจ้าผู้ฤทธาแผ่นดินไหว
ออกไปรณรงค์ด้วยพวกภัย       เหตุใดจึ่งเป็นดั่งนี้ฯ

รามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่ 1

เรื่องรามเกียรติ์ในการแสดงโขน และในจิตรกรรมฝาผนัง

ในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงมีพระราชประสงค์จะรวบรวมเรื่องรามเกียรติ์ที่กระจัดกระจายให้รวมเป็นเรื่องเดียวกัน จึงมีพระบรมราชโองการให้ประชุมบทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ในรัชกาลที่๑ มีเรื่องราวยืดยาวติดต่อกันไป นับเป็นวรรณคดีไทยเรื่องเดียวที่ยาวที่สุดในวรรณกรรมไทย เพราะต้องเขียนในสมุดไทยถึง ๑๑๗ เล่มสมุดไทย

บทพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเป็นรามเกียรติ์ฉบับไทยที่สมบูรณ์ที่สุด ตอนต้นเรื่องเป็นร่ายสดุดีพระมหากษัตริย์ เนื้อเรื่องแต่งเป็นกลอนบทละครเริ่มตั้งแต่หิรันตยักษ์ม้วนแผ่นดินจนถึงพระรามเสด็จกลับเมืองอยุธยา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายว่าพระราชนิพนธ์บทละครรามเกียรติ์นี้นักปราชญ์ราชบัณฑิตในราชสำนักช่วยกันแต่งเรื่องรามเกียรติ์ที่เคยใช้เป็นบทละครในราชสำนักครั้งกรุงศรีอยุธยาและสูญหายไปเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาถูกทำลายในปี พ.ศ.2310 เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อทรงแก้ไขจนพอพระทัยแล้วก็โปรดเกล้าฯ ให้ประทับตราเป็นฉบับพระราชนิพนธ์ 

เนื้อเรื่องเริ่มตั้งแต่หิรันตยักษ์ได้พรจากพระอิศวรจึงกำเริบม้วนแผ่นดินไปไว้ใต้บาดาล พระนารายณ์จึงอวตารเป็นหมูป่ามาสังหารหิรันตยักษ์แล้วกลับไปบรรทมที่เกษียรสมุทรจนเกิดดอกบัวผุดจากพระนาภี ภายในดอกบัวมีกุมารองค์หนึ่ง พระนารายณ์นำกุมารนั้นไปถวายพระอิศวร พระอิศวรประทานนามว่าอโนมาตันและบัญชาให้สร้างเมืองอยุธยาให้แก่พระกุมาร

เนื้อความตอนต้นกล่าวถึงกำเนิดตัวละครทั้งฝ่ายเมืองอยุธยาและเมืองลงกาตลอดจนตัวละครวานรและเทวดาต่างๆ กำเนิดตัวละครสำคัญของเรื่อง เช่น นนทกมาเกิดเป็นทศกัณฐ์โอรสท้าวลัสเตียน ทศกัณฐ์มีนิสัยเป็นพาลมักก่อความเดือดร้อนให้เทวดาและฤาษีเสมอ ฤาษีทั้งหลายจึงทูลเชิญพระนารายณ์อวตารไปปราบยักษ์ พระนารายณ์อวตารมาเป็นพระรามโอรสท้าวทศรถ สังข์ จักรและบัลลังก์นาค รวมทั้งพระลักษมีตลอดจนเทวดาทั้งหลายก็แบ่งภาคมาเป็นบริวารพระรามด้วย เมื่อพระรามเจริญวัยขณะที่กำลังเล่นในอุทยานได้ใช้กระสุนยิงนางค่อม คนรับใช้พระนางไกยเกษี นางค่อมผูกพยาบาทพระราม ต่อมาเหล่าฤาษีเชิญพระรามไปปราบกากนาสูรและบริวารที่คอยรบกวนเหล่าฤาษี และพระรามได้อภิเษกกับนางสีดาที่เมืองมิถิลา เมื่อพระรามจะอภิเษกเป็นพระยุพราช นางค่อมทูลยุยงพระนางไกยเกษีให้ขอราชบัลลังก์ให้พระพรตครองก่อน และให้พระรามออกเดินป่าเป็นเวลา 14 ปี ท้าวทศรถจำต้องให้พรตามที่นางไกยเกษีขอพระราม นางสีดาและพระลักษณ์ออกจากเมืองอยุธยา ระหว่างที่ผจญภัยในป่า นางสำมะนักขาหลงรักพระรามจึงเข้ายั่วยวนและถูกพระลักษณ์ลงโทษ นางสำมะนักขาไปขอให้ พญาทูษณ์ พญาขร และตรีเศียรพี่ของตนมาแก้แค้น ทั้งสามถูกพระรามสังหาร นางสำมะนักขาจึงนำความไปทูลทศกัณฐ์ ทศกัณฐ์หลงรักนางสีดาจึงให้มารีศแปลงเป็นกวางทองมาล่อนางสีดา เมื่อพระรามออกตามกวางทอง ทศกัณฐ์ก็ลักนางมาไว้ในสวนเมืองลงกา พระรามและพระลักษณ์ออกติดตามจนได้พบหนุมาน หนุมานนำสุครีพมาเฝ้าพระราม พระรามรับปากจะปราบพาลีเจ้าเมืองขีดขินที่ไม่อยู่ในธรรม พระรามได้พลวานรของเมืองขีดขินและเมืองชมพูจึงเตรียมถมถนนไปเมืองลงกา ส่วนทศกัณฐ์ไม่ฟังคำเตือนของพิเภกและขับไล่พิเภกออกจากเมืองลงกา พิเภกจึงมาสวามิภักดิ์กับพระราม ทศกัณฐ์เชิญญาติวงศ์หลายตนมาร่วมรบแต่ถูกสังหารจนหมด ทศกัณฐ์จึงออกรบเองและถูกสังหารในที่สุด เมื่อปราบอสูรเมืองลงกาหมดแล้ว พระรามให้พิเภกครองเมืองลงกาแทนส่วนพระองค์ก็เสด็จกลับเมืองอยุธยา ต่อมาท้าวมหาบาลสหายทศกัณฐ์ยกทัพมาแก้แค้นแต่พลวานรมาช่วยไว้ได้ หลังจากนั้นไพนาสุริวงศ์เป็นกบฏไปเข้ากับท้าวจักรวรรดิให้ยกทัพมายึดเมืองลงกา พระรามให้พระพรตและพระสัตรุดมาปราบ 

ครั้งหนึ่งนางอดูลปีศาจหลอกให้นางสีดาวาดรูปทศกัณฐ์ พระรามเข้าพระทัยผิดสั่งให้นำนางสีดาไปประหาร พระลักษณ์ปล่อยนางไป นางจึงไปอาศัยอยู่กับพระฤาษี จนประสูติพระมงกุฎและฤาษีชุบพระกุมารอีกองค์หนึ่งชื่อพระลบ กุมารทั้งสองเรียนศิลปศาสตร์กับพระฤาษีจนชำนาญ ครั้งหนึ่งได้แสดงฤทธิ์จนสะเทือนไปถึงเมืองอยุธยา พระรามให้ปล่อยม้าอุปการหาตัว พระมงกุฎจับม้าไว้ได้ ภายหลังพระรามทราบว่าพระมงกุฎเป็นพระโอรส นางสีดาไม่ยอมกลับเมืองอยุธยา พระรามแสร้งทำเป็นสวรรคต นางสีดาจึงยอมเข้าเมืองอยุธยา แต่เมื่อทราบว่าโดนหลอกนางก็แทรกแผ่นดินหนีไป พระรามออกประพาสป่าอีกและได้ปราบอสูรอีกหลายตน พระอิศวรต้องการให้พระรามและนางสีดาปรองดองกัน จึงทรงไกล่เกลี่ยและให้อภิเษกกันอีกครั้ง ทั้งสองจึงคืนดีกัน ต่อมาคนธรรพ์มารบกวนฤาษีและโจมตีเมืองไกยเกษ พระรามจึงให้พระมงกุฎและพระลบไปปราบคนธรรพ์ หลังจากนั้นเมืองต่างๆ ก็รุ่งเรืองสืบมา

พุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช, พระบาทสมเด็จพระ. บทละครเรื่องรามเกียรติ์  พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เล่ม 1 – 4. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2540.