การแพทย์แผนปัจจุบัน ข้อดี ข้อเสีย

การแพทย์แผนปัจจุบัน คือ อะไร?
การแพทย์แผนปัจจุบัน (conventional medicine) คือ การแพทย์ที่ให้การรักษาทางยา การผ่าตัด รังสีรักษา  ยาเคมีบำบัด และ วิชาแพทย์สาขาต่างๆ โดยวิชาความรู้ด้านแพทยศาสตร์ และการพยาบาล เป็นวิชาความรู้ที่แพทย์ พยาบาล ต้องผ่านการเรียน การสอน การฝึกฝน จากโรงเรียนแพทย์ โรงเรียนพยาบาล เป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ที่พิสูจน์ได้ ตรวจสอบได้ มีแหล่งที่มาจากการศึกษาถูกต้องตามหลักวิชาและหลักสถิติ มีการศึกษาวิจัย  มีการเผยแพร่องค์ความรู้ และมีการรับรองจากองค์กร/ สถาบันต่างๆทั่วโลกว่า ให้ประโยชน์ต่อผู้ป่วยได้จริง


การแพทย์สนับสนุน คือ อะไร?
การแพทย์สนับสนุน (complementary  medicine)  คือ การรักษาโดยวิธีการอื่นที่ไม่ใช่การแพทย์แผนปัจจุบัน  วิธีการรักษาเป็นการรักษาที่ไม่รุนแรง ไม่ใช่แบบรุกราน(invasive) เป็นการรักษาที่ใช้ควบคู่กับการรักษาแผนปัจจุบันได้ ทั้งนี้เพื่อการผ่อนคลาย หรือลดผลข้างเคียงจากการรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบัน เช่น การทำสมาธิ  การนวด  การออกกำลังกาย โยคะ การใช้สมุนไพรบางชนิดในการบรรเทาผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยรังสีรักษา หรือยาเคมีบำบัด แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนใช้การแพทย์สนับสนุน ควรปรึกษาแพทย์แผนปัจจุบันผู้ให้การรักษาโรคมะเร็งก่อนเสมอ เพราะการแพทย์สนับสนุนบางวิธีการ อาจมีผลขัด/ต้าน กับการรักษาโดยการแพทย์แผนปัจจุบัน หรือ เพิ่มผลข้างเคียง/แทรกซ้อนได้ โดยเฉพาะถ้าเป็นการรับประทาน


การแพทย์ทางเลือก คือ อะไร?
การแพทย์ทางเลือก (alternative medicine) คือ การรักษาด้วยวิธีต่างๆ อาจมีทั้งแบบไม่รุกราน และแบบรุกราน และปฏิเสธการรักษาการแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่แพทย์แผนปัจจุบันไม่แนะนำ เพราะยังไม่มีการศึกษาทางการแพทย์ที่สามารถระบุได้แน่ชัดว่า การแพทย์ทางเลือกรักษาโรคมะเร็งได้


การแพทย์ผสมผสาน คืออะไร?
การแพทย์ผสมผสาน (integrative medicine)  คือ การรักษาโดยการรักษาทั้งทางร่างกายและจิตใจไปพร้อมๆกัน ร่วมรักษากับการแพทย์แผนปัจจุบัน เช่น การรักษาโดยแพทย์แผนปัจจุบัน ร่วมกับการทำสมาธิ หรือวิธีผ่อนคลาย อื่นๆ ตามที่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์แผนปัจจุบันซึ่งให้การรักษาโรคมะเร็ง เป็นต้น


การแพทย์องค์รวม คือ อะไร?
การแพทย์องค์รวม (holistic medicine  หรือ wholistic medicine) คือ การรักษาทั้งทางร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ ซึ่งอาจใช้ร่วมกับการรักษาแผนปัจจุบันได้ ถ้าไม่ขัด/ต้านการรักษาแผนปัจจุบัน และผู้ป่วยได้ปรึกษาแพทย์แผนปัจจุบันด้านโรคมะเร็งที่ให้การรักษาผู้ป่วย และได้รับการอนุญาตให้ใช้รักษาร่วมกันได้

ขอบคุณแหล่งข้อมูล https://www.thastro.org/

การแพทย์แผนปัจจุบัน ข้อดี ข้อเสีย

Author: Tuemaster Admin

ทีมงานจากเว็บไซต์ติวกวดวิชาออนไลน์ที่ดีที่สุด !! สำหรับ การเรียนออนไลน์ ม.ปลาย (ม.4, ม.5, ม.6)

การแพทย์แผนปัจจุบัน ข้อดี ข้อเสีย

“หมอ” และ “ยา” ที่ดีที่สุดอยู่ ณ หนใด

            ตะลึง! คนไทยใช้ยา 128 ล้านเม็ดต่อวัน

            กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่าคนไทยใช้ยาเฉลี่ยวันละ 128 ล้านเม็ด รอบ 8 ปี มูลค่าใช้ยาเพิ่มขึ้นกว่า 6 หมื่นล้านบาท ด้านกระทรวงสาธารณสุขเคยใช้นโยบายใช้ไข่แลกกับยาเหลือใช้ของชาวบ้านเพื่อจูงใจคนไทยใช้ยาสมเหตุสมผล โดยในปีงบประมาณ 2556 กระทรวงสาธารณสุขจะเน้นส่งเสริมการดูแลสุขภาพป้องกันไม่ให้ตนเองป่วย ด้วยการรณรงค์เรื่องอาหารสุขภาพและการออกกำลังกายเพื่อลดปริมาณการบริโภคยา ยังมีข้อมูลของกรมการแพทย์ ที่ว่า มูลค่าการใช้ยาเพิ่มขึ้นจาก 36,506 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2543 เป็น 98,375 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2551 มีอัตราเพิ่มเฉลี่ยปีละประมาณ 15% และมีแนวโน้มใช้ยานำเข้าจากต่างประเทศในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จาก 46.06% เป็น 65.54% ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2543-2551 สำหรับจำนวนยาเม็ดที่บริโภคต่อวัน ทั้งยาแผนปัจจุบันและแผนโบราณทั้งที่นำเข้าและผลิตเองในปี พ.ศ. 2553 มีประมาณ 46,900 ล้านเม็ด หรือคนไทยรับประทานยากันวันละ 128 ล้านเม็ด นับว่าเป็นตัวเลขที่น่าตกใจมาก

            จากสถานการณ์การใช้ยาในปัจจุบันที่มีแนวโน้มว่าคนไทยใช้ยาเกินความจำเป็นมากขึ้น ซึ่งอาจจะประกอบจากปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เช่น การรักษาฟรีจากสิทธิต่าง ๆ กระแสการบริโภคยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่สูงขึ้น ด้วยความเชื่อที่ว่ายาเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่จะช่วยแก้ปัญหาด้านสุขภาพได้ แต่ในขณะเดียวกันการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสม แทนที่จะเป็นประโยชน์ก็อาจจะเป็นโทษได้เช่นกัน จากการศึกษาภาพรวมของประเทศพบว่า คนไทยมีค่าใช้จ่ายด้านยาในอัตราส่วนสูงถึง 30% ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมด ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ใช้เป็นอัตราส่วนไม่ถึง 10% ส่วนในภาพย่อยพบว่า คนไทยมีการใช้ยาเกินจำเป็น เช่น อาการท้องเสียจากอาหารเป็นพิษ ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องรับประทานยาฆ่าเชื้อ แต่ก็มีการซื้อยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะมารับประทานกัน

            นอกจากนี้แล้ว คนยุคใหม่ที่นิยมการ "พึ่งตัวเอง" เกี่ยวกับสุขภาพกลายเป็นดาบสองคม เพราะมีทัศนคติที่ว่า สุขภาพที่ดีนั้นสามารถได้มาจากการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อเป็นการป้องกันโรค ซึ่งจากข้อมูลการศึกษาจากฝ่ายแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พบว่าทัศนคติผิด ๆ นี้มีต้นตอมาจากการส่งเสริมการขายยาของบริษัทยาทั้งในและต่างประเทศ โดยบริษัทยามีการให้ข้อมูลเพียงบางส่วนที่เกี่ยวกับโรคและยา แล้วนำเสนอด้วยกระบวนการอย่างซับซ้อนซ่อนเงื่อน ส่งผลต่อการบริโภคอาหารเสริมและยาอย่างไม่เหมาะสมอีกด้วย

            การดูแลสุขภาพด้วยการพึ่งตนเองที่ถูกต้อง ต้องเป็นการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม หรือ Holistic Health เท่านั้น

สุขภาพแบบองค์รวมคืออะไร (What is Holistic Health?)

Susan Walter ประธานของ American Holistic Health Association (AHHA) ได้เขียนบรรยายในเอกสารซึ่งได้ตีพิมพ์ใน Encyclopedia of Body Mind Disciplines ว่าสุขภาพแบบองค์รวม หรือ Holistic Health เป็นการมองสุขภาพว่าเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับทั้งชีวิตมากกว่าการเน้นแค่ความเจ็บป่วยหรือการจัดการกับส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย โดยจะพิจารณาที่ “ตัวคนทั้งคน” ความเกี่ยวเนื่องของร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ รวมถึงปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ที่มีปฏิสัมพันธ์กับคนคนนั้น  

สุขภาพแบบองค์รวมมีพื้นฐานอยู่บนกฎเกณฑ์ที่ว่า “ส่วนรวมทั้งหมดถูกสร้างขึ้นมาจากส่วนย่อย ๆ ที่สัมพันธ์เกี่ยวเนื่องและพึ่งพาต่อกัน” โลกประกอบด้วยอากาศ แผ่นดิน น้ำ พืช และสัตว์ ที่ต้องอาศัยและพึ่งพาซึ่งกันและกัน ไม่สามารถแยกจากกันได้ เพราะถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งสูญเสียหรือถูกทำลายไปจะทำให้ดุลความสัมพันธ์ระหว่างส่วนต่าง ๆ เสียไปซึ่งจะทำให้ส่วนอื่น ๆ ถูกทำลายไปด้วย เช่นเดียวกับชีวิตมนุษย์แต่ละคนจะประกอบขึ้นด้วยร่างกาย (Physical), จิตใจ (Mental), อารมณ์ (Emotional) และจิตวิญญาณ (Spiritual) ถ้าองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งของชีวิตสูญเสียการทำงานไปก็จะส่งผลต่อองค์ประกอบอื่น ๆ ที่เหลือ ในขณะเดียวกันชีวิตและองค์ประกอบของชีวิตแต่ละด้านก็จะเกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กับสรรพสิ่งแวดล้อมรอบตัวเช่นกัน แล้วองค์รวมเองจะเกิดเอกลักษณ์ใหม่ขึ้นที่อาจไม่เกี่ยวกับส่วนประกอบย่อย ๆ เดิม ในลักษณะที่เรียกว่า “The whole is more than the sum of its parts” ซึ่งตรงกับคำกล่าวของโสกราตีส (400 ปีก่อนคริสต์ศตวรรษ) ได้กล่าวเตือนไม่ให้ทำการบำบัดรักษาเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย โดยกล่าวว่า “ส่วนย่อยไม่สามารถจะดีได้ถ้าส่วนทั้งหมดไม่ดี”

ท่าน Koshiro Otsuka ประธาน Japan Holistic Medical Society มองการแพทย์องค์รวมมีรากฐานความคิดที่เน้นความสัมพันธ์เชื่อมโยงอย่างผสมกลมกลืนระหว่างชีวิต สังคม ธรรมชาติ และจักรวาล ได้เน้นให้เห็นว่า การแพทย์แบบองค์รวมคือ การใช้พลังตามธรรมชาติในการเยียวยาและฟื้นฟูร่างกาย กล่าวคือ จะทำอย่างไรจึงจะสามารถดึงพลังชีวิตซึ่งเป็นพลังบำบัดตามธรรมชาติในตัวผู้ป่วยให้เป็นประโยชน์ได้ โดยเชื่อว่า ผู้ป่วยคือผู้ที่จะรักษาตนเองได้อย่างแท้จริง ยาหรือสิ่งอื่น ๆ เป็นเพียงส่วนประกอบที่จะช่วยเหลือเท่านั้น โดยตัวคนไข้เองต้องปฏิบัติตามกฎของธรรมชาติ “หมอ” หรือผู้รักษาจะเป็นเพียงผู้ให้การแนะนำหรือให้กำลังใจ คนไข้จำเป็นต้องเข้าใจในเรื่องสุขภาพอย่างถูกต้องเสียก่อน การฟื้นฟูสุขภาพก็จะสัมฤทธิ์ผล

Canadian Holistic Medical Association ได้นิยามความหมายของสุขภาพแบบองค์รวม โดยเน้นการให้คุณค่าต่อวิถีการดำรงชีวิต และให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้และการสร้างความรับผิดชอบหรือวินัยให้แต่ละบุคคลได้พยายามดูแลตนเองให้มีสุขภาวะที่สมดุลและสมบูรณ์

“สุขภาพของเราจะเป็นแบบเดียวกับที่วิถีชีวิตของเราเป็น” หลักการนี้ได้รับการสนับสนุนจากงานวิจัยของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของประเทศสหรัฐอเมริกา (The U.S. Centers for Disease Control and Prevention) ที่พบว่าปัจจัยที่มีผลกระทบต่อสภาวะสุขภาพของบุคคล (ซึ่งพบว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา) เป็นผลกระทบจากคุณภาพของการบริการเพียงร้อยละ 10 จากกรรมพันธุ์ร้อยละ 18 จากสิ่งแวดล้อมร้อยละ 19 และเป็นผลกระทบจากวิถีการดำเนินชีวิตและพฤติกรรมสุขภาพสูงถึงร้อยละ 53 การตัดสินใจของบุคคลในการเลือก “บริโภค” สิ่งใดเข้าสู่ทั้งทางร่างกายและจิตใจจะมีส่วนกำหนดสภาวะสุขภาพของบุคคลนั้น ๆ เซลล์ของอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายจะถูกแทนที่โดยเซลล์ใหม่ที่เป็นองค์ประกอบของสิ่งที่เรา “บริโภค” เข้าไป ในทำนองเดียวกัน ทัศนคติ อารมณ์ และภาวะจิตใจของเราก็จะถูกสร้างขึ้นมาจากสิ่งที่เราเห็นและได้ยิน ถ้าสืบสาวประวัติย้อนหลังจะพบว่า สาเหตุส่วนใหญ่ของความเจ็บป่วยและการตายก่อนเวลาอันสมควรเกิดจากวิถีการดำรงชีวิตของตน การใช้ยาผิดประเภทและเกินขนาด การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ เป็นสาเหตุอันตรายที่รับรู้กันทั่วไป แต่สาเหตุที่ยังไม่ค่อยรับรู้ หรือยอมรับกันน้อยว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพที่สำคัญก็คือ การบริโภคน้ำตาล คาเฟอีน การมีทัศนคติในทางลบมากเกินไป และปัญหามลพิษในสิ่งแวดล้อม ดังคำกล่าวที่ว่า “You are what you eat”

ข้อจำกัดของการแพทย์แผนปัจจุบัน

แนวความคิดเรื่องสุขภาพแบบองค์รวมได้จางหายไปชั่วคราวจากสังคมตะวันตกในช่วงศตวรรษที่ 20 เนื่องจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่หักเหค่านิยมความเชื่อของคนเกี่ยวกับสุขภาพว่า “ตัวเชื้อโรค” คือสาเหตุของความเจ็บป่วย และต้องใช้ “ยาสังเคราะห์” เพื่อฆ่าเชื้อโรคและแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับสุขภาพ โดยไม่ต้องสนใจต่อวิถีชีวิตและสุขภาพที่ไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ในบางสภาวะของสุขภาพการใช้วิธีรักษาแบบแผนปัจจุบันเป็น “อันตราย” ต่อสุขภาพมากกว่าตัวเชื้อโรคเสียอีก ซึ่ง Moliere Quotes กล่าวไว้ว่า “Most men die of their remedies, not of their illness.” นอกจากนี้โรคเรื้อรังอีกหลาย ๆ โรคไม่ตอบสนองต่อการบำบัดทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประชาชนจึงเริ่มแสวงหาทางเลือกอื่นและหันกลับไปสู่วิถีการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม (Holistic lifestyle) และการบำบัดแบบองค์รวม (Holistic healing) ซึ่งมีเทคนิคทางเลือกต่าง ๆ ให้เลือกมากขึ้น

การแพทย์แผนปัจจุบันหรือการแพทย์แบบชีวภาพ (Biomedicine) ถือว่าร่างกายมนุษย์ประกอบขึ้นจากเซลล์ต่าง ๆ ที่รวมกันเป็นเนื้อเยื่อและอวัยวะ อวัยวะย่อย ๆ แต่ละชนิดนั้นมีหน้าที่ต่าง ๆ กัน สุขภาพดีนั้นเกิดขึ้นจากการที่อวัยวะต่าง ๆ สามารถทำหน้าที่ตามปกติของตนเองและประสานกับอวัยวะอื่น ๆ อันเป็นผลให้กระบวนการทางชีววิทยาดำเนินไปได้ตามปกติ วิทยาการทางการแพทย์ตะวันตกจึงอธิบายปรากฏการณ์ความเจ็บป่วยโดยอาศัยข้อเท็จจริงทางชีววิทยาเป็นสำคัญ โดยสืบค้นให้พบว่าความเจ็บป่วยเกิดมาจากการผิดปกติของอวัยวะใดแล้วก็จะมุ่งเยียวยารักษาเพื่อไปแก้ปัญหาเฉพาะส่วนที่อวัยวะที่ผิดปกตินั้น ๆ ด้วยแนวคิดทางชีวเวชศาสตร์ โดยการยึดถือข้อเท็จจริงเฉพาะทางชีววิทยาเป็นสำคัญในการอธิบายภาวะความเจ็บป่วยและเป็นแนวทางในการแก้ปัญหา มาตรการต่าง ๆ ในการแก้ปัญหาจึงมุ่งไปที่การจัดการให้อวัยวะที่ผิดปกตินั้นสามารถทำหน้าที่ได้ตามเดิม การบำบัดรักษาจึงเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะที่ เช่น การใช้ยาเฉพาะเจาะจงที่ออกฤทธิ์ต่ออวัยวะหรือระบบอวัยวะที่ผิดปกติด้วยวิธีการผ่าตัด การฉายแสง เป็นต้น แนวทางการแก้ไขปัญหาความเจ็บป่วยตามแนวคิดชีวเวชศาสตร์หรือเฉพาะด้านกายภาพเฉพาะหน้าจึงจำกัดตัวอยู่ในขอบเขตของการแก้ปัญหาทางกายแบบแยกส่วนเพียงประการเดียว โดยไม่สามารถเชื่อมโยงการทำงานของอวัยวะทั้งร่างกายได้ ต้องใช้แพทย์เฉพาะทางหลาย ๆ ด้าน ทำให้เกิดปัญหาการประสานงานของแพทย์ต่างสาขา เพราะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนรักษาแต่ละโรคโดยที่ไม่มีใครดูแลรับผิดชอบผู้ป่วยทั้งคน ซึ่งตรงกับคำกล่าวที่ว่า “Cure the disease and kill the patient.” (Sir Francis Bacon)

ระบบการจัดบริการ

ในระบบการแพทย์แบบตะวันตก แพทย์และโรงพยาบาลใหญ่เป็นที่รวมศูนย์ความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ซึ่งเน้นการ “ซ่อมสุขภาพ” มากกว่าการ “ส่งเสริมสุขภาพ” กิจกรรมในสถาบันทางการแพทย์เป็นศูนย์ที่ให้ความสำคัญกับความเจ็บป่วยมากกว่าที่จะมุ่งเน้นป้องกันให้เกิดสุขภาพที่ดี จึงมีลักษณะบริการที่ตั้งรับ คือปล่อยให้มีการเจ็บป่วยแล้วค่อยตามรักษาตามอาการ นอกจากนั้นบริการทางการแพทย์แบบตะวันตกยังจะมีลักษณะเหมือนผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป กล่าวคือมีการจัดระบบบริการแบบแยกส่วน แบ่งแยกการรักษาร่างกายตามอวัยวะส่วนต่าง ๆ โดยมิได้สนใจร่างกายทั้งระบบ จนมีการล้อเลียนว่า ถ้าคุณเจ็บหูขวาต้องรักษากับหมอที่เชี่ยวชาญเฉพาะหูขวา แต่ถ้าหูที่เจ็บเกิดเป็นหูซ้าย คุณจะต้องไปพบหมอเชี่ยวชาญด้านหูซ้ายอีกคนหนึ่ง ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่า วัฒนธรรมการแพทย์ตะวันตกมุ่งเน้นที่รักษาโรค แทนที่จะรักษาคนที่เป็นโรค (The good physician treats the disease, the great physician treats the patient who has the disease : William Osler)

ระบบความสัมพันธ์ของผู้ป่วยและแพทย์

การแพทย์แผนตะวันตกเป็นศาสตร์ที่เน้นบทบาทของผู้เชี่ยวชาญ กล่าวคือ เรื่องสุขภาพในระบบการแพทย์ตะวันตกเป็นเรื่องของแพทย์ผู้ซึ่งมีความรู้ความชำนาญ และเป็นผู้จัดการกับความเจ็บป่วยโดยเทคนิคและวิทยาการทางการแพทย์ บทบาทของผู้ป่วยคือ การให้ความร่วมมือ ขึ้นต่อ และพึ่งพาแพทย์ ผู้ป่วยจึงมีอำนาจต่อรองต่ำ เมื่อมีความไม่พึงพอใจต่อการรักษาพยาบาลของแพทย์ก็จะไม่สามารถต่อรองได้ แต่จะเก็บความรู้สึกไม่พอใจไว้ เหตุการณ์ลักษณะนี้เป็นประสบการณ์โดยตรงของผู้เขียนเอง กล่าวคือ เมื่อต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2513 นี้เอง เมื่อผู้เขียนไปตรวจสุขภาพร่างกายที่แผนกคลินิกพิเศษนอกเวลาของโรงพยาบาลชื่อดังของรัฐแห่งหนึ่ง พยาบาลให้เรียกผู้เขียนว่า “คุณผู้ชาย” เพื่อให้เปลี่ยนชุดของโรงพยาบาล ซึ่งมีลักษณะคล้ายชุดของคนไข้ ทำให้รู้สึกว่าตนเองเป็นคนไข้แล้ว หรือ หนักกว่านั้นคือ เจ้าหน้าที่ห้องตรวจอัลตราซาวนด์เรียกผู้เขียนว่า “คนไข” ผู้เขียนถึงออกปากอุทานตอบไปว่า “ผมเป็นคนไข้ไปแล้วหรือครับ” นี่คือสภาพของโรงพยาบาลที่เห็นผู้บริโภคทุกคนที่มาใช้บริการเป็น “คนไข้” ทำให้ผู้ใช้บริการแทนที่จะได้รับกำลังใจเสริมสร้างสุขภาพ กลับกลายเป็นการซ้ำเติมให้เกิดความรู้สึกหดหู่ สิ้นหวัง ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการมีระยะห่างมากขึ้น ผิดวิสัยวัฒนธรรมของคนตะวันออกที่มีน้ำใจไมตรีต่อกัน คอยช่วยเหลือเกื้อกูล คอยให้กำลังใจกันตลอด

เคล็ดลับสุขภาพดี

คำถามที่มักเกิดขึ้นอยู่เสมอ ๆ ก็คือ ทำอย่างไรถึงจะทำให้สุขภาพแข็งแรง และไม่เจ็บไข้ได้ป่วย นพ.อารีย์ วชิรมโน ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่าปัจจุบันคนไทยมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 70 ปี เมื่อมีอายุยืนยาวขึ้นแต่กลับต้องเผชิญปัญหาโรคภัยที่มากขึ้นตามไปด้วย แต่ทั้งนี้เคล็ดลับในการดูแลสุขภาพให้มีอายุยืนพร้อมกับความสุขนั้น นพ.อารีย์ บอกว่าต้องประกอบไปด้วย 7 อ. ได้แก่ 1. อิทธิบาทสี่ 2. อารมณ์ 3. อากาศ 4. อาหาร 5. ออกกำลังกาย 6. เอนกาย 7. เอาพิษออกจากร่างกาย สำหรับ 2 อ. แรก เป็นความรู้สึกนึกคิดภายในจิตใจ จะต้องฝึกให้เป็นคนมีแนวคิดในเชิงบวก ละเว้นความคิดในแง่ลบหรือมีอารมณ์โกรธ เพื่อร่างกายจะได้หลั่งซูโดฟีนช่วยให้ร่างกายมีสุขภาพดี ดังนั้น สิ่งที่ควรฝึกปฏิบัติคือ ปรับพฤติกรรมยิ้มแย้มแจ่มใส หัวเราะ ร่าเริง เป็นประจำอยู่เสมอ ส่วนเรื่องอากาศต้องอยู่อาศัยในที่มีอากาศบริสุทธิ์ และฝึกหายใจด้วยท้องแบบลึก (Deep breathing) จะป้องกันหรือบรรเทาโรคภูมิแพ้ หอบหืดได้ เรื่องอาหารให้เลือกรับประทานให้ครบ 5 หมู่ รับประทานผักและผลไม้มากกว่าเนื้อสัตว์ ขณะที่ อ. ออกกำลังกายมีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน และต้องหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ออกกำลังกายได้ด้วยการเดิน การก้าวยาว ๆ พร้อมแกว่งแขน หรือเดินขึ้นบันไดแทนการใช้บันไดเลื่อนก็ได้ผลแล้ว ส่วน อ เอนกาย (นอน) นั้นเป็นการฟื้นฟูสภาพร่างกายหลังตรากตรำทำงานในเวลากลางวัน อ. สุดท้ายคือ เอาพิษออกจากร่างกาย หมายถึงการถ่ายอุจจาระ เป็นการกำจัดของเสียที่ร่างกายไม่ต้องการออกจากร่างกาย เพื่อไม่ให้พิษตกค้างอยู่ที่ลำไส้ใหญ่

นพ.อารีย์ แนะนำให้ปฏิบัติ 7 อ. ให้เป็นนิสัยในชีวิตประจำวัน เพราะมีความจำเป็นต่อมนุษย์ทุกคน และหากสามารถปฏิบัติได้อย่างสม่ำเสมอ ย่อมมั่นใจได้ว่าจะมีสุขภาพแข็งแรง ไร้โรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียน สิ่งที่ตามมาก็คือ มีอายุที่ยืนยาวอย่างมีคุณภาพนั่นเอง

หมอที่ดีที่สุด และยาที่ดีที่สุดอยู่ ณ หนใด

เภสัชกร หรือที่รู้จักกันดีว่า “หมอยา” หมายถึงเป็นผู้มีความรู้ทั้งด้านหมอและด้านยาในบุคคลคนเดียวกัน อันเนื่องจากเป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่มุ่งศึกษาเรียนรู้เรื่องของการใช้ “ยา” (ซึ่งหมายถึงยาแผนปัจจุบัน) มาโดยเฉพาะ การกล่าวอ้างว่าเรารู้จักฤทธิ์ของยา รู้จักวิธีใช้ และรู้จักทั้งประโยชน์และโทษของยาเป็นอย่างดียิ่งคงจะไม่ผิด เภสัชกรทุกคนจึงรู้ดีว่ายาทุกตัวล้วนมีประโยชน์แต่ก็แฝงไว้ด้วยโทษข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ทั้งสิ้น ไม่มียาใดปลอดภัยโดยปราศจากอาการข้างเคียง ดังนั้น “ยาที่ดีที่สุด” ในโลกนี้จึงยังไม่ถูกค้นพบ ส่วน “หมอ” ที่ดีที่สุดนั้นก็ไม่ปรากฏชัดว่าเป็นหมอแผนตะวันออกหรือหมอแผนตะวันตกที่จะดูแลสุขภาพของคนเราได้อย่างวิเศษที่สุด หากจะให้ได้สัมฤทธิผลในการรักษา “โรค” คงต้องใช้ทั้งการแพทย์แผนตะวันตกควบคู่กับการแพทย์แผนตะวันออก แต่ก็คงต้องใช้เวลาอีกยาวนานกว่าที่แพทย์ตะวันตกจะยอมรับส่วนดี ๆ ของการแพทย์แผนตะวันออก (แม้ว่าปัจจุบันแพทย์แผนตะวันตกยอมรับการฝังเข็มเป็นส่วนหนึ่งของวงการแพทย์แล้วก็ตาม) แต่กระนั้นก็ตาม ถึงแม้ว่า “หมอ” และ “ยา” จะสามารถรักษาอาการเจ็บป่วยของคนไข้ได้ก็ตาม แต่ก็เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ เภสัชกรในฐานะที่เป็นบุคลากรด้านสาธารณสุข (Health providers) ที่มีหน้าที่ดูแลสุขภาพของประชาชนจึงควรหันมาทำหน้าที่ที่เหนือกว่าหน้าที่ที่นิยามไว้ในกฎหมาย นั่นคือ เภสัชกรต้องหันมาให้คำปรึกษาแนะนำแก่ประชาชนให้รู้จักพึ่งตนเอง ให้ตัวของประชาชนเองมีความรู้ความสามารถในการดูแลปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง เพื่อให้เขาเหล่านั้นมีสุขภาพดี ให้ห่างไกลความเจ็บไข้ได้ป่วยให้มากที่สุดตามหลักการแพทย์แผนตะวันออกที่ว่า Superior doctors prevent the disease. เพราะว่าทั้ง “หมอ” และ “ยา” คงไม่สามารถดูแลประชาชนทุกคนได้ตลอดเวลา จึงต้องสอนให้ประชาชนรู้จักดูแลสุขภาพของตัวเอง (ตลอดเวลา) การให้ปลาแก่คนไข้ก็คงจะหายหิวได้เป็นมื้อเป็นคราว แต่หากสอนให้เขารู้จักจับปลาแล้ว เขาจะมีปลากินตลอดไป ปลาตัวนี้ก็คือ “สุขภาพที่ดี” ของประชาชนนั่นเอง หรือกล่าวได้ว่า “หมอ” และ “ยา” ที่ดีที่สุดก็คือ ตัวของเรานั่นเอง ซึ่งตรงกับคำกล่าวที่ว่า มีเพียงแต่ธรรมชาติบำบัดและหลักการป้องกันมิให้เกิดโรคเท่านั้นที่มีประสิทธิภาพเหนือกว่าระบบสาธารณสุขที่คิดแต่จะพึ่งพาการบำบัดรักษาด้วยยาเพียงประการเดียว

Its natural therapies and preventive approaches are ever as effective and even more pertinent in today’s drug-oriented medical climate. 

            จาก The Yellow Emperor’s Classic of Medicine (the Neijing Suwen) ~240 B.C.

บรรณานุกรม

            - http://www.learners.in.th/blogs/posts/526453

            - http://www.prema.or.th/patient.php?CId=1&Id=190&menu=

            - http://www.komchadluek.net/detail/20120314/125435

            - http://www.ohrm.au.edu/AU%20HEALTH/SevenA.html