หากรัฐบาลประกาศขึ้นภาษีรถยนต์

และที่สำคัญ เพื่อให้ประเทศไทยได้เป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกที่สำคัญของโลกในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2558 ที่ได้เห็นชอบในหลักการข้อเสนอ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automotive) ที่จะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth)

อีก 2 ปีต่อมา คือวันที่ 28 มี.ค. 2560 ครม.ได้มีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์นั่งที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยให้เกิดผลเป็นรูปธรรม จากนั้นจึงมีการแต่งตั้ง คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือ (บอร์ดอีวี)

บอร์ดอีวีเห็นว่าการที่จะให้ประเทศไทยเป็นฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก จำเป็นจะต้องมีการสร้างขนาดตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้ได้ก่อน จึงต้องมีการออกมาตรการสนับสนุนให้คนในประเทศหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

เพราะรถยนต์ไฟฟ้ามีราคาสูงเมื่อเทียบกับรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป หรือรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน ดังนั้น จึงต้องออกมาตรการช่วยให้ราคาจำหน่ายของรถยนต์ไฟฟ้าต่ำลง เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจ

มารู้จักกับโลกรถยนต์ไฟฟ้า

เมื่อเอ่ยถึงรถยนต์ไฟฟ้า หรือ “อีวี” ในโลกรถยนต์ปัจจุบันได้จัดแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1.รถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% หรือ Battery Electric Vehicle (BEV) รถยนต์ประเภทนี้จะใช้กระแสไฟฟ้าจากแบตเตอรี่จ่ายตรงไปยังมอเตอร์ไฟฟ้าเพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนรถยนต์แบบเดียวโดยไม่มีเครื่องยนต์ที่ใช้พลังงานประเภทน้ำมัน ซึ่งรถยนต์ประเภทนี้ต้องอาศัยการเสียบปลั๊กชาร์จไฟฟ้าเข้ามาเป็นพลังงานเท่านั้น

ปกติรถยนต์ไฟฟ้าประเภทนี้จะสามารถวิ่งได้ในระยะทางราว 300-400 กม.ต่อการชาร์จเต็ม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของแบตเตอรี่ที่ติดตั้งมาภายในรถยนต์

สำหรับการชาร์จไฟเข้าแบตเตอรี่สามารถใช้ผ่านตู้ชาร์จแบบธรรมดา หรือ AC Charge ซึ่งเป็นไฟฟ้ากระแสสลับที่สามารถติดตั้งที่บ้าน นอกจากนี้ยังสามารถชาร์จไฟผ่านสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบเร็ว หรือ DC Charge ได้ตามสถานีชาร์จต่างๆ

จุดเด่นของรถยนต์ประเภทนี้ คือ ค่าบำรุงรักษาต่ำกว่ารถยนต์แบบใช้น้ำมัน 2-3 เท่าตัว และค่าใช้จ่ายด้านพลังงานต่อการใช้งานในทุก 1 กิโลเมตรต่ำกว่าถึง 2 เท่าตัว

ตัวอย่างรถ BEV ที่มีจำหน่ายขณะนี้ เช่น เทสลา, ปอร์เช่ ไทคันน์, อาวดี้ อี-ทรอน, นิสสัน ลีฟ, ฮุนได ไอโอนิก เอ็มจี แซดเอสอีวี, เอ็มจี อีพี และออร่า กู๊ดแคท เป็นต้น

2.รถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าแบบปลั๊ก-อิน ไฮบริด (PHEV) รถยนต์ประเภทนี้จะใช้กระแสไฟฟ้าจากแบตเตอรี่จ่ายตรงไปยังมอเตอร์ไฟฟ้าเพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนรถยนต์ควบคู่ไปกับการทำงานของเครื่องยนต์ที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากน้ำมัน ซึ่งคล้ายคลึงกับการทำงานของรถยนต์แบบไฮบริด

นอกจากนี้ รถยนต์ PHEV ยังสามารถที่จะใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่เพียงอย่างเดียวได้ ซึ่งก็จะคล้ายคลึงกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% หรือ BEV แต่มีระยะทางในการใช้ที่จำกัด

รถยนต์ PHEV ต้องอาศัยการเสียบปลั๊กชาร์จไฟฟ้าเข้ามาเป็นพลังงานแบบรถ BEV หรือใช้การทำงานของเครื่องยนต์มาทำหน้าที่ปั่นไฟฟ้ามาเก็บเป็นพลังงานไฟฟ้าสำรองได้

สำหรับการชาร์จไฟเข้าแบตเตอรี่สามารถใช้ผ่านตู้ชาร์จแบบธรรมดา หรือ AC Charge ซึ่งเป็นไฟฟ้ากระแสสลับที่สามารถติดตั้งที่บ้าน และผ่านสถานีอัดประจุไฟฟ้าตามสถานีชาร์จต่างๆ

ตัวอย่าง รถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊ก-อิน ไฮบริด ที่มีจำหน่ายขณะนี้ อาทิ เมอร์เซเดส เบนซ์ ซี 350 อี และเมอร์เซเดส เบนซ์ อี 350 อี, บีเอ็มดับเบิลยู 530 อี และบีเอ็มดับเบิลยู 330 อี, มิตซูบิชิ เอาต์แลนเดอร์ และเอ็มจี เอชเอส พีเอชอีวี

และ 3.รถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าแบบไฮบริด (Hybrid-HEV) รถยนต์ประเภทนี้มีเครื่องยนต์ที่ใช้พลังงานน้ำมันเป็นหลัก แต่มีมอเตอร์และแบตเตอรี่ที่คอยช่วยเสริมการทำงานของเครื่องยนต์เช่นเดียวกับรถยนต์แบบ Plug-in Hybrid แต่ไม่สามารถชาร์จไฟฟ้าได้โดยตรง โดยปกติรถยนต์ประเภทนี้จะมีการชาร์จไฟฟ้าเข้าสู่แบตเตอรี่จากการทำงานของเครื่องยนต์ เมื่อมีพลังงานแบตมากพอ ก็สามารถนำไฟฟ้ามาขับเคลื่อนมอเตอร์เพื่อช่วยการทำงานของเครื่องยนต์

ตัวอย่าง รถยนต์ประเภทไฮบริดในท้องตลาด อาทิ โตโยต้า คัมรี่ ไฮบริด, โตโยต้า อัลพาร์ด ไฮบริด, ฮอนด้า แอคคอร์ด ไฮบริด และอีกหลายรุ่นของรถยนต์ทั้ง 2 บริษัทนี้

สำหรับแพ็กเกจที่รัฐบาลไทยได้ออกมาช่วยเรื่องภาษีและเงินสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าเมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมานั้น ครอบคลุมเฉพาะรถยนต์ประเภทที่ 1

นั่นก็คือ รถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% หรือ BEV

รัฐจัดให้ทั้งลดทั้งแถม

โดยเมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา ครม.ได้มีมติเห็นชอบแพ็กเกจช่วยเรื่องภาษีและเงินสนับสนุนเพื่อให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าถูกลง ซึ่งจะเป็นการจูงใจผู้บริโภคให้มาซื้อรถยนต์ประเภทนี้กันมากขึ้น

เพื่อให้ได้เป้าหมาย “30/30 ” ที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติตั้งไว้ คือ ในปี ค.ศ. 2030 หรือปี พ.ศ.2573 จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30% ของการผลิตรถยนต์ในประเทศ โดยผลิตประเภทรถยนต์นั่งไฟฟ้าและรถกระบะไฟฟ้า 725,000 คัน และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 675,000 คัน

ครม.ได้เห็นชอบใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 3,000 ล้านบาท ให้กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลังดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ และเห็นชอบให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดหาแหล่งงบประมาณในปีงบประมาณ 2566-2568 วงเงินประมาณ 40,000 ล้านบาท จากแหล่งงบประมาณที่เหมาะสมเพื่อดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า

พร้อมทั้งอนุมัติให้กรมสรรพสามิตคืนเงินสำหรับผู้รับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ตลอดจนให้ออกประกาศกระทรวงการคลังเพื่อดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์

สำหรับมาตรการสนับสนุน มีทั้งมาตรการทางภาษี และมาตรการที่ไม่ใช่ทางภาษี

ได้แก่ 1.กรณีรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน (รถยนต์นั่ง) ประเภท BEV (รถไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่) ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท ให้ปรับลดอากรศุลกากรในปี 2565-2566

ดังนี้ การนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปทั้งคันที่ได้รับสิทธิพิเศษทางอากรศุลกากรภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรี กรณีมีอัตราอากรไม่เกิน 40% ให้ได้รับการยกเว้นอากร ส่วนกรณีเกิน 40% ให้ลดอัตราอาการลงอีก 40%

ขณะที่การนำเข้าทั่วไป ให้ได้รับการลดอัตราอากร จาก 80% เหลือ 40%

และปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์นั่ง ประเภท BEV จากเดิม 8% เหลือ 2% ในปี 2565-2568

ส่วนมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี ปี 2565-2568 กรมสรรพสามิตจะมีเงินอุดหนุน 70,000 บาทต่อคัน สำหรับรถยนต์นั่งที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง

และช่วยเงินอุดหนุน 150,000 บาทต่อคันสำหรับรถยนต์นั่งที่มีขนาดแบตเตอรี่ ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป ครอบคลุมทั้งกรณีรถยนต์ที่ผลิตในประเทศ (CKD) และการนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปทั้งคัน (CBU)

2. รถยนต์นั่ง ขนาดแบตเตอรี่ 30 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงขึ้นไป ประเภท BEV ที่ราคาขายปลีกแนะนำมากกว่า 2 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท ปรับลดอากรศุลกากรในปี 2565–2566 การนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปทั้งคัน (CBU) ที่ได้รับสิทธิพิเศษทางอากรศุลกากรภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรี

กรณีมีอัตราอากรไม่เกิน 20% ให้ได้รับการยกเว้นอากร

กรณีอัตราอากรเกิน 20% ให้ลดอัตราอากรลงอีก 20%

ส่วนการนำเข้าทั่วไปให้ได้รับการลดอัตราอากรจาก 80% เหลือ 60%

ขณะเดียวกันปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์นั่งประเภท BEV จากเดิม 8% เหลือ 2% ในปี 2565-2568

3.กรณีรถยนต์กระบะ ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท ให้เงินอุดหนุน 150,000 บาทต่อคัน เฉพาะรถยนต์กระบะที่ผลิตในประเทศ (CKD) และมีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป

และ 4.กรณีรถจักรยานยนต์ ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 150,000 บาทต่อคัน กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตตามมูลค่า 1% สำหรับรถจักรยานยนต์ประเภท BEV ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กรมสรรพสามิตประกาศกำหนด

และให้เงินอุดหนุน 18,000 บาทต่อคัน สำหรับรถจักรยานยนต์ ประเภท BEV ครอบคลุมทั้งกรณีรถจักรยานยนต์ที่ผลิตในประเทศ (CKD) และการนำเข้ารถจักรยานยนต์สำเร็จรูปทั้งคัน (CBU)

เริ่มรับส่วนลดตั้งแต่ มี.ค.นี้

“ลวรณ แสงสนิท” อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวถึงกรณีที่ ครม.ได้อนุมัติมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หรือรถยนต์อีวีนั้น กรมสรรพสามิตจะออกประกาศภาษีที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการต่อไป คาดว่าจะมีการลงนามสัญญาความร่วมมือกับค่ายรถยนต์ที่เข้าร่วมโครงการได้ในช่วงเดือน มี.ค. นี้ และบริษัทรถยนต์จะทยอยจัดโปรโมชันส่งเสริมการขายออกมาได้เลย

ทั้งนี้ ในปีแรกจะใช้งบประมาณ 3,000 ล้านบาท เพื่ออุดหนุน และหากมีความต้องการมากกว่านั้น จะมีการพิจารณาขอขยายกรอบงบประมาณอีกครั้ง

ส่วนวงเงินที่เหลืออีก 40,000 ล้านบาท ครม.ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง และ สศช. เป็นผู้จัดหาแหล่งงบประมาณ ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายว่าในปี 2573 ต้องมีการผลิตรถยนต์อีวี 30% ของกำลังการผลิตรถน้ำมัน

อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าวย้ำว่ามาตรการส่งเสริมการใช้รถอีวีในครั้งนี้ แตกต่างจากนโยบายรถยนต์คันแรก เพราะเป็นการให้เงินส่วนลด ตั้งแต่ 70,000-150,000 บาท ให้บริษัทรถยนต์ที่ทำสัญญาเข้าร่วมโครงการกับกรมสรรพสามิต ไปจัดทำโปรโมชันส่งเสริมการขายเอง

เช่น รถที่นำเข้าจากจีน ราคา 1 ล้านบาท หากทำสัญญาการเข้าร่วมโครงการร่วมกับกรมสรรพสามิตแล้ว จะได้ส่วนลด 150,000 บาท ราคารถจะเหลือ 850,000 บาท โดยบริษัทจะต้องสำแดงหลักฐานการซื้อขาย

เมื่อตรวจสอบแล้วว่าปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดแล้ว กรมสรรพสามิตจะคืนเงินให้เป็นรายไตรมาสต่อไป

โดยใน 1-2 ปีแรกจะเป็นการทดลองตลาด ผู้จำหน่ายรถยนต์ จะรู้ว่ารถยนต์รุ่นไหนเป็นรุ่นที่ได้รับความนิยม เหมาะที่จะนำมาผลิตในประเทศไทย แต่ในปีที่ 3-4 จะต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถอีวีในประเทศ ชดใช้คืนตามจำนวนที่นำเข้ามา

“หากไม่สามารถทำได้ตามสัญญาก็จะมีบทลงโทษ ซึ่งจะมีค่าปรับด้วย เบื้องต้นได้หารือกับบริษัทรถยนต์ทุกราย ต่างให้ความสนใจเข้ามาร่วมโครงการ”

งานนี้ไม่หมูตู้

ดังนั้น จากมติ ครม.เมื่อวันที่ 15 ก.พ.2565 ในการออกแพ็กเกจส่งเสริมการใช้และการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ โดยมีทั้งช่วยในเรื่องภาษีและเงินสนับสนุนเพื่อให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าถูกลงนั้น

ก็ไม่ใช่ว่ารถยนต์ไฟฟ้า หรือ BEV ทุกคัน ที่จะได้รับอานิสงส์จากมาตรการนี้

แม้ว่าจะอยู่ในสเปกทั้งเรื่องราคารถและขนาดแบตเตอรี่ก็ตาม

เพราะรถยนต์ไฟฟ้า หรือ BEV ที่จะได้รับการช่วยเหลือทั้งในเรื่องภาษีและเงินสนับสนุน จะต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ตั้งใจผลิตในประเทศเท่านั้น

โดยคำว่าผลิตหรือประกอบรถยนต์ไฟฟ้า หรือ BEV นั้น ก็ต้องดูในรายละเอียดของเงื่อนไขด้วยว่าจะเข้าข่ายหรือไม่ โดยเฉพาะในส่วนของการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ

ไม่ใช่แค่นำชิ้นส่วนสำเร็จรูปมาจากต่างประเทศ แล้วมาขันนอตในบ้านเรา อย่างนี้ก็ไม่ถือว่าผลิตในประเทศ

เนื่องจากจุดมุ่งหมายสำคัญของการออกมาตรการดังกล่าวก็เพื่อให้ประเทศไทยได้เป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกที่สำคัญของโลกในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

ขณะเดียวกัน การที่บริษัทรถยนต์จะเข้าร่วมโครงการนี้ จะต้องมีภาระในการวางเงินค้ำประกัน (ของวงเงินที่คาดว่าจะได้) ของรถยนต์ไฟฟ้าทุกคันที่จำหน่ายออกไป วางไว้กับกรมสรรพสามิตก่อน

จากนั้นเมื่อมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยจริงๆเมื่อใด บริษัทรถยนต์ถึงจะได้เงินค้ำประกันในส่วนนี้คืนกลับไป (โดยไม่ได้ดอกเบี้ย)

ด้วยเหตุนี้ บริษัทรถยนต์ทั้งหลายที่หวังจะได้รับส้มหล่นจากมาตรการนี้จึงต้องคิดหนักหลายตลบว่าคุ้มหรือไม่คุ้มในการเข้าร่วมโครงการ!!!

ทีมเศรษฐกิจ