จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างไร

ผู้สูงอายุอย่างอยู่บ้านทำอะไรดี เป็นไปได้ไหมว่า เราจะใช้โอกาสนี้ทำประโยชน์ สร้าง คุณภาพชีวิต ให้เกิดกับตัวเองและคนอื่น โดยใช้เวลาที่มีอยู่คิดทบทวน ไตร่ตรองสิ่งต่างๆ สะสางเรื่องที่ค้างคา เพื่อเตรียมความพร้อมในอนาคต เราจึงมีคำแนะนำดีๆ มาฝาก กับ 5 สิ่งที่อยากให้ผู้สูงอายุลองกลับไปคิดทบทวนเพื่อเพิ่ม คุณภาพชีวิต ให้ดียิ่งขึ้น จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย

1. บริหารการเงิน

จริงอยู่ว่า เงินไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต แต่เงินก็เป็นปัจจัยที่มีผลต่อ คุณภาพชีวิต ของทุกคน อย่างไรก็ตาม ยังแฮปปี้ไม่อยากให้พี่ๆ โฟกัสที่จำนวนตัวเลขสักเท่าไร เพราะเงินมากหรือน้อยในความคิดของแต่ละคนอาจต่างกันสิ่งสำคัญกว่าคือ เราบริหารเงินได้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของเราแค่ไหน หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ไม่เคยคิดเรื่องการเงินของตัวเองอย่างจริงจังมาก่อน ช่วงนี้ที่กำลังอยู่บ้านว่างๆ อาจเป็นโอกาสดีที่จะกลับมาคิดหาวิธีจัดการการเงินของตัวเองเป็นต้นว่า ทบทวนการวางแผนการเงินหลังเกษียณ คำนวณเงินที่ต้องใช้ว่าสอดคล้องกับเงินออมของเราหรือไม่ ปรับปรุงแผนการออมและการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะได้มีเงินใช้สอยอย่างไม่ติดขัดตลอดวัยเกษียณ

2. เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์

ทุกคนรู้ดีว่า อาหารการกินเป็นก้าวแรกของการดูแลสุขภาพ แต่จะมีสักกี่คนที่สามารถหักห้ามใจไม่กินอาหารที่ไม่ดี และหันมาเลือกกินแต่อาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งมักจะอร่อยน้อยกว่า แถมทุกวันนี้ อะไรๆ ก็ง่ายดายไปเสียหมด อยากกินอะไรก็สามารถกดสั่งจากแอปพลิเคชันบนมือถือได้เลย ที่สำคัญคือมาส่งถึงหน้าบ้านอีกด้วย และด้วยความที่ทุกอย่างสะดวกสบายขนาดนี้ เราจึงต้องฝึกหักห้ามใจ อย่าตามใจปากจนเกินไป ลองหันกลับมาทบทวนพฤติกรรมการกินของตัวเอง อาจเริ่มง่ายๆ ที่การดื่มน้ำเปล่า ลองดูว่าดื่มครบ 8-10 แก้วต่อวันหรือไม่ ฝึกทำอาหารสุขภาพ และกินอาหารตามสูตร 2:1:1 (ผัก 2 ส่วน ข้าวหรือคาร์โบไฮเดรต 1 ส่วน โปรตีน 1 ส่วน) เป็นต้น

3. หมั่นทำกิจกรรมอยู่เสมอ

กิจกรรมในที่นี่หมายถึงทุกกิจกรรมที่ทำใน 1 วัน ลองสังเกตตัวเองว่า เราทำอะไรบ้างใน 1 วัน ตั้งแต่ลืมตาตื่นตอนเช้า จนถึงเตรียมตัวเข้านอน เราได้ทำกิจกรรมที่ใช้สมองและขยับร่างกายบ้างรึเปล่า หรือปล่อยให้ตลอดทั้งวันหมดไปกับการดูโทรทัศน์และเล่นมือถือ หากเป็นอย่างหลังล่ะก็ อาจต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสียแล้ว ลองออกมายืดเส้นยืดสายรับวิตามินดีในยามเช้าหรือตอนเย็นๆ หากิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายทำดูบ้าง เช่น การเดิน การวิ่ง หรือการทำสวน กิจกรรมที่ต้องใช้สมองอย่าง การเล่นบอร์ดเกม เกมฝึกสมองออนไลน์ หรืออ่านหนังสือ และสุดท้าย พยายามเข้านอนให้เป็นเวลา เพื่อตื่นเช้าขึ้นมาจะได้สดชื่น

4. ดูแลบ้านให้น่าอยู่

ทั้งๆ ที่ ‘บ้าน’ เป็นสถานที่ที่เราใช้เวลาอยู่ค่อนข้างมาก แต่หลายคนกลับมองว่าบ้านเป็นเพียงที่ซุกหัวนอนหรือโกดังเก็บของเสียมากกว่า และด้วยความคิดแบบนี้นี่เองที่ทำให้เราเผลอละเลยไม่ใส่ใจดูแลบ้านเท่าที่ควร เมื่อบ้านไม่ได้รับการดูแล มีข้าวของวางระเกะระกะ สภาพทรุดโทรม บรรยากาศไม่น่าอยู่ ก็ย่อมพานทำให้ผู้ที่อยู่อาศัยไม่มีความสุข ถ้าบ้านของคุณกำลังประสบปัญหานี้ อย่าเพิ่งเศร้าใจไป ลองใช้เวลาช่วงนี้ในการทำความสะอาด จัดบ้าน ทิ้งข้าวของที่ไม่จำเป็น รวมถึงวางแผนรีโนเวทบ้านใหม่อาจจะชักชวนลูกหลานมาวางแผนปรับปรุงบ้านไปพร้อมๆ กัน ก็จะทำให้บ้านน่าอยู่สำหรับสมาชิกทุกคนในครอบครัว

5. ไม่ละเลยความสัมพันธ์

ความสัมพันธ์เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพและความสุขในชีวิตของมนุษย์ ดังนั้น สิ่งสุดท้ายอยากให้คุณกลับมาลองทบทวนเป็นพิเศษ คือเรื่องของความสัมพันธ์ทั้งความสัมพันธ์กับคนรอบตัว ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว หรือแม้แต่ความสัมพันธ์กับตัวเอง ลองสังเกตดูว่าตอนนี้ความสัมพันธ์ของเราต่อทุกคนรวมถึงตัวเองเป็นอย่างไรบ้าง ดีไม่ดีอย่างไร หากไม่ดีเราจะทำให้มันดีขึ้นได้อย่างไร เพราะการมีความสัมพันธ์ที่ดีมีคุณภาพ จะสร้างความสุขที่แท้จริงได้อย่างแน่นอน

ทั้งๆ ที่เราอาจจะไม่รู้ (อย่างชัดเจน) ว่า “คุณภาพชีวิตที่ดี” คืออะไร แต่เรามักจะยึดเอาคำว่า “คุณภาพ” เป็นหลัก จึงเข้าใจกันเองว่า อะไรที่มี “คุณภาพ” สิ่งนั้นมักจะเป็นของดีและมีราคาเสมอ

แม้ว่า “คุณภาพชีวิต” (Quality of Life) จะมีความหมายแตกต่างกันไปตามการรับรู้และความเข้าใจของแต่ละคน

Advertisement

แต่ก็พอจะสรุปได้ว่า “คุณภาพชีวิต” มักจะหมายถึง “การกินดีอยู่ดี” ซึ่งครอบคลุมถึงการมีรายได้ที่มั่นคง มีการงานที่ดี มีการศึกษาดี มีชีวิตครอบครัวที่อบอุ่น มีสุขภาพแข็งแรง มีเสรีภาพ และมีความปลอดภัยในการดำรงชีวิต เป็นต้น

แต่ผู้คนจำนวนไม่น้อยมักจะเอา “คุณภาพชีวิต” ไปผูกติดกับเรื่องของ “การ (มี) เงิน” หลายคนเชื่อว่าเมื่อมีรายได้มากขึ้น คุณภาพชีวิตก็จะดีขึ้น เพราะสามารถจับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้น มีบ้าน มีเสื้อผ้า มีสิ่งอำนวยความสะดวก มีการศึกษาสูง ไปทานอาหารดีๆ ได้ ไปท่องเที่ยวได้ หาหมอดีๆ ได้ และอื่นๆ อีกมากมาย ที่ทำให้ชีวิตมีความสะดวกสบายขึ้น มีความสุขมากขึ้น และได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้น ในขณะที่อีกหลายคนมองว่า การมีรายได้ดีต้องแลกกับงานที่หนักขึ้น เครียดขึ้น ทำให้เวลาที่อยู่กับครอบครัวน้อยลง อันเป็นเหตุให้คุณภาพชีวิตลดลง

เรื่องของคุณภาพชีวิตที่ว่านี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ให้ความหมายของ “คุณภาพชีวิต” เมื่อ พ.ศ.2540 ว่า “คุณภาพชีวิต คือ การดำรงชีวิตของมนุษย์ในระดับที่เหมาะสมตามความจำเป็นพื้นฐานในสังคมหนึ่ง ในช่วงเวลาหนึ่งๆ องค์ประกอบของความเป็นพื้นฐานที่เหมาะสม อย่างน้อยก็น่าจะมีอาหารที่เพียงพอ มีเครื่องนุ่งห่ม มีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม มีสุขภาพกายและจิตใจดี ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งได้รับการบริการพื้นฐานที่จำเป็น ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อประกอบการดำรงชีพอย่างยุติธรรม”

Advertisement

ส่วน UNESCO ได้ให้ความหมายของ “คุณภาพชีวิต” เมื่อ ค.ศ.1981 ว่า “คุณภาพชีวิตเป็นความรู้สึกของการอยู่อย่างพอใจต่อองค์ประกอบต่างๆ ของชีวิตที่มีส่วนสำคัญมากที่สุดของบุคคล”

โดยสรุปแล้ว “คุณภาพชีวิต” หมายถึง การดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี มีความสุข มีความสมบูรณ์ ทั้งร่างกายและจิตใจ สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและสังคมที่ตนอยู่ได้อย่างดี ขณะเดียวกันก็สามารถเผชิญปัญหาต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งสามารถใช้ศักยภาพส่วนบุคคลสร้างสรรค์พัฒนาตนเองและสังคมให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข

ทั้งหมดทั้งปวงนี้ ผมเห็นว่า “คุณภาพชีวิต” สามารถแยกได้เป็น 2 ลักษณะ ลักษณะแรก คือ คุณภาพชีวิต (ภายใน) อันเกี่ยวกับการดำรงชีวิตส่วนบุคคลและครอบครัว ส่วนลักษณะที่สอง คือ คุณภาพชีวิต (ภายนอก) อันเกี่ยวกับการทำงาน (Quality of Work Life) และการดำรงชีวิตในสังคม

คุณภาพชีวิตส่วนบุคคล เกิดจาก “การเลือกและการตัดสินใจ” ของตัวเราเองที่เป็นเจ้าของชีวิต ส่วนคุณภาพชีวิตในการทำงานและสังคม มักจะเกิดจาก “การจัดสรรให้” หรือการบริหารจัดการให้เกิดขึ้นโดยเจ้าของกิจการหรือผู้บริหารจัดการโรงงาน (สำนักงาน)

ทุกวันนี้ แม้เราจะสามารถกำหนดคุณภาพชีวิตส่วนบุคคลได้ แต่เรื่องของคุณภาพชีวิตในการทำงานและสังคม (ซึ่งมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตส่วนบุคคล) นั้น เราคงจะกำหนดเองไม่ได้ (ง่ายๆ) ครับผม !