เอกสารกู้ซื้อบ้าน อาชีพอิสระ

เอกสารส่วนตัว

– บัตรประจำตัวประชาชน/บัตรข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ
– ทะเบียนบ้าน
– สำเนาทะเบียนสมรส/ใบหย่า/ใบมรณะบัตร/ใบแจ้งความแยกกันอยู่ (หากมี)
– สำเนาใบเปลี่ยนแปลงชื่อ – สกุล (หากมี)
– สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนคู่สมรส(หากมี)

เอกสารแสดงรายได้

กรณีอาชีพประจำ

– หนังสือรับรองเงินเดือน/หนังสือรับรองสิทธิสวัสดิการ
– สลิบเงินเดือน หรือหลักฐานการรับเงินเดือน ย้อนหลัง 3 เดือน
– Statement เงินฝากย้อนหลัง 6 เดือน
– หลักฐานแสดงฐานะการเงินอื่นๆ (พร้อมตัวจริง)

กรณีอาชีพอิสระ

-Statement เงินฝากย้อนหลัง 12 เดือน
-หลักฐานแสดงฐานะการเงินอื่นๆ (พร้อมตัวจริง)
-สำเนาทะเบียนการค้า/ทะเบียนพาณิชย์/ทะเบียนบริษัท/ทะเบียนนิติบุคคล
-หลักฐานการเสียภาษีเงินได้
-ภาพถ่ายกิจการ 3-4 ใบ
-สำเนาใบประกอบวิชาชีพ
-สำเนาใบเสร็จรับเงินค่าสั่งซื้อสินค้า
-หลักฐานแสดงฐานะการเงินอื่นๆ (พร้อมตัวจริง)

เอกสารหลักประกัน

– สำเนาหนังสือสัญญาจะซื้อจะขาย/สัญญาวางมัดจำ/สัญญาเช่าซื้อการเคหะแห่งชาติ และหนังสือรับรองยอดคงเหลือ (กรณีกู้ซื้อ)
– สำเนาหนังสือสัญญากู้เงิน และสำเนาสัญญาจำนองกับสถาบันการเงินเดิม (กรณีไถ่ถอนจำนองย้ายฯ)
– ใบเสร็จการผ่อนชำระ หรือบัญชีหมุนเวียน ย้อนหลัง 1 หรือ 2 ปี (กรณีไถ่ถอนจำนองย้ายฯ)
– หลักฐานการเป็นเจ้าของอาคาร
– สำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินฉบับกรมที่ดิน
– สำเนาโฉนดที่ดิน/นส.3ก./หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด (อช.2) ทุกหน้า (กรณีซื้อทรัพย์มือสองต้องรับรองสำเนาโดยเจ้าพนักงานที่ดิน)
– ใบอนุญาตปลูกสร้าง/ต่อเติม
– แบบแปลน/พิมพ์เขียว
– ใบประมาณการปลูกสร้าง/สัญญาว่าจ้างก่อสร้าง

การกู้ซื้อบ้านของอาชีพอิสระ

ใครว่าอาชีพอิสระ กู้(บ้าน)ยาก จริงๆแล้ว(โครต) ยากต่างหาก วันนี้เรามีประสบการณ์จริงจากการกู้ซื้อบ้านของคนทำอาชีพอิสระมาเล่าให้ฟัง ประเด็นคือไม่ได้ตั้งใจว่าร้ายแบงก์ใดๆ แค่อยากเล่าประสบการณ์ในการกู้เงินซื้อบ้านของคนที่ไม่ได้ทำงานประจำที่แม้รายได้จะไม่ใช่น้อยๆ แต่พอชื่อมันพ่วงด้วยอาชีพอิสระซะแล้ว คำว่า “ยาก”ก็ตามมาทันที 

ก่อนอื่นต้องบอกว่าที่เราเห็นโฆษณาของหลายๆธนาคารว่า “อาชีพอิสระก็กู้ได้นั้น ในความเป็นจริงในตลาดจะมีแค่ 2-3 ธนาคารเท่านั้นที่ปล่อยกู้(จริง)ให้กับอาชีพอิสระและทุกธนาคารจะมีเงื่อนไขมากมายซ่อนอยู่ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ต้องบอกว่า....โหดแท้!!

ในการกู้ซื้อบ้านของอาชีพอิสระสำคัญที่สุดคือ 50 ทวิ(เอกสารหักภาษี ณ ที่จ่าย)ประเด็นนี้ดูเหมือนจะไม่ยากใช่มั๊ย เพราะเวลารับเงินเราก็ต้องได้ 50 ทวิอยู่แล้ว แต่จริงๆมันยากมากกกก เพราะอะไรมาดูกันค่ะ

แบงก์ที่ 1  : ต้องมีรายได้เข้าบัญชี “ทุกเดือน” และรายได้นั้นต้องมี 50ทวิ เป็นเอกสารกำกับด้วย แต่เงื่อนไขสำคัญกว่านั้น คือ รายได้ต้องเข้าทุกเดือน นั่นคือ สมมติว่าในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาคุณมีรายได้เข้าในเดือนที่ 1, 2 แต่เว้นไปในเดือนที่ 3,4 และมาเข้าอีกทีเดือนที่5 ที่6 ไม่ว่าจะเข้ากี่หมื่นกี่แสนบาทเค้าก็ไม่เฉลี่ยให้นะคะ!! สรุปแบงก์ ที่1 คนอาชีพอิสระที่รายได้เข้าไม่ประจำทุกเดือน “ตกคุณสมบัติ” ค่ะ 

แบงก์ที่ 2 :  เงื่อนไขคล้ายแบงก์แรกคือ รายได้ต้องมี 50 ทวิกำกับด้วย แต่ความโหดก็คือ เงินเข้าบัญชีทุกบาททุกสตางค์ต้องตรงกับ 50ทวิ แล้วเงินนั้นต้องตรงกับชื่อบริษัทที่โอนเงินให้ด้วย เรื่องนี้จริงๆดูเหมือนง่าย แต่ที่มันกลายเป็นยากเพราะบางคน เราเองนี่แหล่ะมีรายได้เข้าจากหลายทาง ดังนั้นพอเจอรายการไหนที่ไม่ตรงขึ้นมาก็“ตกคุณสมบัติ”ทันทีแม้ว่าของเรานั้นรายได้ที่ไม่ตรง50ทวิมีไม่ถึง20%ของรายได้ทั้งหมดด้วยซ้ำ!! (*เราเป็นFreelance อยู่ 3-4 แห่งและมีรายได้จากธุรกิจส่วนตัวด้วยส่วนหนึ่ง) แต่แบงก์นี้มีข้อดีคือ เฉลี่ยรายได้ให้โดยคิดเฉลี่ยจาก 6 เดือนล่าสุด 

แบงก์ที่ 3 : จะว่าหยืดหยุ่นก็ได้จะว่าโหด(กว่า)ก็ถูก เพราะแบงก์นี้ประเมินรายได้ให้แค่ 25% ของรายได้จาก 50ทวิเท่านั้น!! โดยจะดูรายได้ในรอบ 12 เดือน นั่นคือ ถ้ามีรายได้เฉลี่ยที่เดือนละ 10,000 บาท แบงค์นี้จะประเมินว่าคุณมีรายได้ 2,500 บาทเท่านั้น!! ลองคิดเปรียบเทียบดูถ้าคนอาชีพอิสระจะซื้อบ้านกับแบงก์นี้จะต้องมีรายได้มากกว่าพนักงานประจำกี่เท่า??

เล่ามาถึงตอนนี้,คงอยากรู้แล้วใช่มั๊ย ตกลงกู้ได้มั๊ย?กับแบงก์ไหน??ก็เหลืออยู่แบงก์เดียวที่ยังไม่ตกคุณสมบัติ(แบงก์ที่3)นั่นไง แต่งานนี้ถ้าไม่ได้ตัวช่วยก็คงไม่ได้ คือได้น้องซึ่งเป็นข้าราชการมาเป็นผู้กู้ร่วม(คิดว่าคงเป็นเพราะผู้กู้ร่วมนี่แหล่ะที่ทำให้กู้ได้)

และถึงจะผ่านด่าน“คุณสมบัติ”ได้แล้ว แต่ยังมีเงื่อนไขอื่นๆอีกสารพัด ที่ทำให้ยุ่งยากเข้าไปอีก,เท่าที่พอจะเล่าได้ 

  • เรียกหลักฐานต่างๆทั้งอสังหาฯที่ถือครองและเงินฝาก แต่ก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากหลักทรัพย์เหล่านี้นะคะ ไม่ได้ใช้ค้ำประกัน แค่เอาไปดูเฉยๆ
  • ให้ปิดบ้านที่กำลังผ่อนอยู่ถ้ามีมากกว่าหนึ่งหลังให้ปิดหลังที่ยังเหลือหนี้มากที่สุด แต่ไม่รับประกันว่าถ้าปิดหลังเก่าแล้วจะกู้ผ่านมั๊ย!!

(ถ้าปิดบ้านหลังเก่าเราจะกู้ได้วงเงินกู้ต่อหลักประกันมากขึ้นตามเกณฑ์LTV ของแบงก์ชาติ แต่เราเลือกที่จะไม่ปิดเพราะมูลหนี้ยังเหลือเยอะอยู่ เลยได้วงเงินกู้แค่ 70% โดยยอมโปะส่วนต่างเป็นเงินสดส่วนหนึ่งแทน)

  • กู้ 3 ล้านปลายๆแต่ให้ทำประกันคุ้มครองสินเชื่อ 200,000บาท แม่เจ้า!! เบี้ยประกัน>6% ของวงเงินกู้เลยนะนั่น!! เราประเมินแล้วคิดว่าไม่คุ้ม เลยขอทำประกันคุ้มครองแค่ 3 ปี เบี้ยประกัน 1.5 หมื่น,ดอกเบี้ยพิเศษแค่ 25-50 สตางค์ไม่ต้องก็ได้,ไม่เอา(เรื่องประกันคุ้มครองสินเชื่อเนี่ยบอกเลยว่ายัดเยียดขายสุดๆ!!)
  • ฯลฯ ยังมีอีกหลายเรื่องราวที่ล้วนเป็นประสบการณ์แย่ๆระหว่างทำเรื่องกู้ แต่ก็ยังดีที่เราสามารถกู้ได้ 
  • มีเรื่องเดียวที่เราคิดว่าโอเคสำหรับแบงก์นี้คือ แม้จะเป็นการกู้ร่วมแต่สามารถเลือกระบุหลังโฉนดให้เป็นชื่อคนกู้หลักคนเดียวได้

ก่อนจบเรื่องเล่า อยากจะย้ำอีกครั้งว่าการกู้ซื้อบ้านสำหรับผู้กู้ที่ทำอาชีพอิสระนั้น สำคัญที่สุดคือ เอกสารแสดงที่มาของรายได้ ซึ่งต้องเตรียมให้พร้อมให้ครบ เช่น ถ้าคุณรับเป็นเงินสดก็ต้องมีใบรับเงินสด ถ้าเป็นFreelanceแบบครั้งคราว/ไม่ได้ทำสัญญาก็ต้องมีใบรับรองการจ้างงานแทน เป็นต้น และที่ต้องเป๊ะมากๆ คือ 50 ทวิ !!

2 เดือนเต็มกับกับเดินเรื่องยื่นกู้ ยื่นเอกสารเพิ่มเติม ติดตามเรื่อง กระทั่งทราบผลอนุมัติ ตอนนี้กำลังรอเอกสารของผู้กู้ร่วมที่อยู่ต่างจังหวัด ซึ่งเดินทางมาเซ็นสัญญาที่สนญ.ไม่ได้เพราะโควิด-19 ข้าราชการเค้าห้ามเดินทางออกจากพื้นที่

หวังว่าเรื่องเล่าของเราคงจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนอาชีพอิสระที่วางแผนจะกู้ซื้อบ้านในตอนนี้นะคะ เอาใจช่วยให้กู้ผ่านกันทุกคนค่ะ

ขอบคุณเจ้าของเรื่อง : Naiyana Yamarun