บทที่ 3การจัดตั้งห้างหุ้นส่วน

ความหมายของห้างหุ้นส่วน

             ในการดำเนินธุรกิจโดยทั่วไปมี 3 รูปแบบ คือ กิจการเจ้าของคนเดียว กิจการห้างหุ้นส่วน และบริษัทจำกัด ซึ่งกิจการห้างหุ้นส่วนเป็นรูปแบบการประกอบธุรกิจการค้าที่นิยมกันมาก เพราะมีวิธีการจัดตั้งง่ายกว่าบริษัทจำกัด และใช้เงินทุนจำนวนน้อย เหมาะสำหรับกิจการค้าขนาดกลางและขนาดย่อม มีบุคคลที่ร่วมมาลงทุนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ผลกำไรที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจก็จะนำมาแบ่งปันกันตามอัตราที่ตกลงในสัญญาการจัดตั้งห้างหุ้นส่วน ความหมายของห้างหุ้นส่วน ห้ างหุ้นส่วน (Partnership) ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1012 บัญญัติไว้ว่า อันว่าสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน ด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น

             จากบทบัญญัติดังกล่าว สามารถสรุปลักษณะที่สำคัญของห้างหุ้นส่วนได้ดังนี้

             1.  ต้องมีสัญญาระหว่างบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป

             2.  ต้องมีการเข้าทุนกัน ซึ่งบุคคลที่เป็นหุ้นส่วนทุกคนจะต้องลงทุนด้วยกัน สิ่งที่นำมา ลงทุนในห้างหุ้นส่วนอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกันก็ได้ คือ

                    2.1  เงินสด

                    2.2  สินทรัพย์อื่น เช่น ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ ลูกหนี้ สินค้า เป็นต้น

                    2.3  ลงแรงงาน แรงงานในที่นี้อาจเป็น แรงกาย ชื่อเสียง สติปัญญา ความรู้ ความสามารถ

             3.  ต้องกระทำกิจการร่วมกัน คือ ร่วมกันดำเนินการอย่างเดียวกัน

             4.  ต้องมีความประสงค์ที่จะแบ่งกำไรที่ได้จากกิจการที่ทำตามที่ตกลงกันในสัญญา ประเภทของ  ห้างหุ้นส่วน  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1013 ได้กำหนดห้างหุ้นส่วนออกเป็น 2 ประเภทคือ ห้างหุ้นส่วนสามัญ และห้างหุ้นส่วนจำกัด

              1. ห้างหุ้นส่วนสามัญ

              ห้างหุ้นส่วนสามัญ (Ordinary Partnership) คือ ห้างหุ้นส่วนประเภทซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกันในหนี้สินของห้างทั้งหมดโดยไม่จำกัดจำนวน เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้เป็นหุ้นส่วนใช้หนี้จากสินทรัพย์ส่วนตัวได้ และผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนมีสิทธิที่จะจัดการกับห้างหุ้นส่วนได้ ห้างหุ้นส่วนสามัญจำแนกเป็น 2 ประเภท คือ

                  1.1 ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิได้จดทะเบียน มีสภาพเป็นบุคคลธรรมดา คำนำหน้าชื่อห้างหุ้นส่วนใช้คำว่า ห้างหุ้นส่วนสามัญถ้าไม่ได้ระบุลงในสัญญาห้าง ตามกฎหมายให้ถือว่า ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนมีสิทธิที่จะจัดการกับห้างหุ้นส่วนได้

                  1.2 ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน มีสภาพเป็นนิติบุคคล แยกต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วน คำนำหน้าชื่อห้างหุ้นส่วนใช้คำว่า ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลห้างหุ้นส่วนประเภทนี้มีผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกเดียวคือหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด โดยผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้สินทั้งปวงของห้างหุ้นส่วน โดยไม่จำกัดจำนวน และในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันเอง จะตกลงให้มีผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคนเป็นผู้จัดการของ ห้างหุ้นส่วนก็ได้

             2. ห้างหุ้นส่วนจำกัด

              ห้างหุ้นส่วนจำกัด (Limited Partnership) คือ ห้างหุ้นส่วนประเภทที่มีผู้เป็นหุ้นส่วน 2 จำพวก ได้แก่

                 2.1 หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด ได้แก่ ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคน ซึ่งต้องรับผิดในบรรดาหนี้สินทั้งปวงของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวน และหุ้นส่วนจำพวกนี้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างได้

                 2.2 หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ได้แก่ ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคน ซึ่งรับผิดจำกัดเพียงจำนวนเงินที่ตนรับว่าจะลงทุนในห้างหุ้นส่วนเท่านั้น และเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างไม่ได้

คำแนะนำการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลและห้างหุ้นส่วนจำกัด

จะจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดได้อย่างไร

                การจัดตั้งห้างหุ้นส่วนนั้น เกิดจากการที่บุคคลตั้งแต่  2 คนขึ้นไป ตกลงที่จะทำการค้าร่วมกันโดยมุ่งหวังที่จะแบ่งผลกำไรจากการดำเนินกิจการค้านั้น  การจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดแบ่งออกได้เป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 ทำความตกลงระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนในเรื่องสำคัญๆ

                ห้างหุ้นส่วนจำกัดเป็นรูปแบบการประกอบกิจการค้าที่มีคนหลายคนเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างประกอบการค้า ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนจึงควรทำความตกลงกันในเรื่องสำคัญๆ ดังต่อไปนี้ไว้ก่อนให้ชัดเจน

                       1. จำนวนเงินลงทุนหรือสิ่งที่ผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคนจะนำมาลงทุน โดยผู้เป็นหุ้นส่วนสามารถลงทุนด้วยเงิน ทรัพย์สิน หรือแรงงานก็ได้ (ยกเว้นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดจะลงทุนด้วยแรงงานไม่ได้) แต่การลงทุนด้วยทรัพย์สินหรือแรงงาน ต้องตีราคาเป็นจำนวนเงินและกำหนดระยะเวลาชำระเงินหรือสิ่งที่ผู้เป็นหุ้นส่วนจะนำมาลงทุน ซึ่งควรชำระให้ครบก่อนการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด

                       2. กำหนดขอบเขตหรือกรอบของกิจการค้าที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดจะประกอบกิจการ หรือที่เรียกว่า วัตถุประสงค์ในปัจจุบันส่วนมากจะกำหนดวัตถุประสงค์ไว้หลายๆ กิจการ เพื่อความคล่องตัวในการเพิ่มหรือปรับเปลี่ยนกิจการค้า จะได้ไม่ต้องเสียเวลาในการดำเนินการจดทะเบียนเพิ่มหรือเปลี่ยนวัตถุที่ประสงค์แต่การจดทะเบียนวัตถุที่ประสงค์ไว้เป็นหลายๆ กิจการ นั้นอาจไม่เป็นผลดี เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้บริหารประกอบกิจการค้าที่ไม่เป็นไปตามแนวทางที่ตนถนัดและให้อำนาจกว้างขวางมากเกินไป

                       3. แต่งตั้งหุ้นส่วนผู้จัดการ (หุ้นส่วนผู้จัดการคือ ผู้ที่จะมีอำนาจกระทำการแทนห้างหุ้นส่วนจำกัดซึ่งต้องแต่งตั้งจากหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดเท่านั้น)

                       4. การแบ่งส่วนผลกำไรและขาดทุน

                       5. เรื่องอื่นๆ เช่น หลักเกณฑ์และวิธีการเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาจัดตั้งห้างเดิม สถานที่ที่จะใช้เป็นที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ ข้อจำกัดในการใช้อำนาจของห้างหุ้นส่วนผู้จัดการ และการตั้งผู้ชำระบัญชี  เป็นต้น

ขั้นตอนที่ 2 ขอตรวจสอบและจองชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด

                ในปัจจุบันมีการประกอบกิจการในรูปแบบของห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด และบริษัทมหาชนจำกัด เป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อมิให้เกิดความสับสนเกี่ยวกับชื่อที่คล้ายหรือซ้ำกัน ให้ผู้ที่ประสงค์จะจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนขึ้นใหม่ตรวจสอบชื่อที่ต้องการจองว่า ชื่อดังกล่าวต้องไม่เหมือนหรือมีเสียงเรียกขานตรงกัน หรือคล้ายคลึงกันกับชื่อที่ได้จองหรือได้จดทะเบียนไว้ก่อนแล้ว หรือขัดระเบียบสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางว่าด้วยการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2555 ข้อ 38(1)-(11) ด้วยตนเอง และนำใบแจ้งผลการจองชื่อไปประกอบการขอจดทะเบียนต่อไป

ขั้นตอนที่ 3 จัดทำคำขอจดทะเบียนและเอกสารประกอบ

                เมื่อได้จองชื่อแล้ว ให้ผู้ขอจดทะเบียนต้องจัดทำตราสำคัญของห้างหุ้นส่วน กรอกรายละเอียด (โดยวิธีการพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ดีดหรืคอมพิวเตอร์) ในแบบพิมพ์คำขอจดะเบียนให้ครบถ้วนถูกต้องตรงตามความเป็นจริงในแบบพิมพ์คำขอจดทะเบียน

ขั้นตอนที่ 4  การยื่นขอจดทะเบียน

                การยื่นขอจดทะเบียนทำได้ 2 วิธี คือ

                1. ยื่นคำขอจดทะเบียนพร้อมเอกสารประกอบต่อนายทะเบียน กรณีนี้หุ้นส่วนผู้จัดการจะไปยื่นขอจดทะเบียนด้วยตนเองหรือมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปดำเนินการแทนก็ได้

                2. ยื่นขอจดทะเบียนทางอินเทอร์เน็ตที่ www.dbd.go.th เพื่อให้นายทะเบียนตรวจพิจารณาคำขอจดทะเบียนก่อน และเมื่อผ่านการตรวจและตอบรับว่าคำขอจดทะเบียนถูกต้องแล้วให้ผู้ขอจดทะเบียนสั่งพิมพ์ (print out) เอกสารคำขอจดทะเบียนดังกล่าวให้ผู้เป็นหุ้นส่วนลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของห้างหุ้นส่วน หลังจากนั้นก็นำไปยื่นขอจดทะเบียนที่สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทหรือส่งทางไปรษณีย์ ซึ่งขั้นตอนนี้จะมีความรวดเร็วกว่ากรณีการยื่นจดทะเบียนตามข้อ 1 มาก เนื่องจากนายทะเบียนจะตรวจเอกสารคำขอจดทะเบียนที่นำมายื่นนั้น ว่ามีข้อความถูกต้องตรงกับที่ยื่นไว้ทางอินเทอร์เน็ตหรือไม่เท่านั้น

ข้อมูลที่ใช้

                1. ชื่อของห้างหุ้นส่วน

                2. วัตถุประสงค์ของห้าง

                3. ที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่และ/หรือสาขา

                4. ชื่อ ที่อยู่ อายุ สัญชาติ และสิ่งที่นำมาลงหุ้น

                5. ชื่อผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ (ต้องเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด)

                    กรณีเป็นหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ผู้เป็นหุ้นส่วนสามารถเข้าเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้ ทุกคน

                6. ข้อจำกัดอำนาจหุ้นส่วนผู้จัดการ (ถ้ามี)

                7. ตราสำคัญของห้าง

                8. รายการอื่นๆ ที่เห็นสมควรให้ประชาชนทราบ (ถ้ามี)

เอกสารและหลักฐานที่ต้องใช้ในการจดทะเบียน

                ในการขอจดทะเบียนต้องเตรียมเอกสารหลักฐานดังต่อไปนี้

                1. คำขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน (แบบ หส.1)

                2. แบบคำรับรองการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน

                3. รายการจดทะเบียน (แบบ หส.2) /ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ใช้เฉพาะหน้า 1 และ 3

                4. วัตถุประสงค์ (แบบ ว.)

                5. แบบ สสช.1 จำนวน 1 ฉบับ

                6. แบบจองชื่อนิติบุคคลที่ยังไม่เกินกำหนด

                7. แผนที่แสดงที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ และสถานที่สำคัญบริเวณใกล้เคียงโดยสังเขป

                8. สำเนาหลักฐานการรับชำระเงินลงหุ้นที่ห้างหุ้นส่วนได้ออกให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วน

               9. กรณีห้างหุ้นส่วนมีผู้เป็นหุ้นส่วนเป็นคนต่างด้าวลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนไม่ถึงร้อยละ 50 ของเงินลงหุ้น ให้ส่งเอกสารหลักฐานที่ธนาคารออกให้ เพื่อรับรองหรือแสดงฐานะการเงินของผู้เป็นหุ้นส่วนที่มีสัญชาติไทยแต่ละรายการประกอบคำขอจดทะเบียน โดยเอกสารดังกล่าวต้องแสดงจำนวนเงินที่สอดคล้องกับจำนวนเงินที่นำมาลงหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละราย

                10. สำเนาบัตรประจำตัวของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน

                11. สำเนาหลักฐานการเป็นผู้รับรองลายมือชื่อ (ถ้ามี)

                12. หนังสือมอบอำนาจ (กรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนไม่สามรถยื่นขอจดทะเบียนได้ด้วยตนเองก็มอบอำนาจให้บุคคลอื่นดำเนินการแทนโดยทำหนังสือมอบอำนาจและปิดอากรแสตมป์ด้วย) สำเนาเอกสารประกอบคำขอจดทะเบียนทุกฉบับ ต้องให้ผู้ขอจดทะเบียนอย่างน้อยหนึ่งคนรับรองความถูกต้อง ยกเว้นสำเนาบัตรประจำตัวหรือหลักฐานการเป็นผู้รับรองลายมือชื่อผูขอจดทะเบียน ให้ผู้เป็นเจ้าของบัตรหรือผู้ขอจดทะเบียนอย่างน้อยหนึ่งคนเป็นผู้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้อง

สถานที่จดทะเบียน

                 1. สำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ยื่นจดทะเบียนได้ที่ ส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลาง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ชั้น 4  ถนนนนทบุรี 1  จังหวัดนนทบุรี หรือสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าทั้ง     6 เขต

                 2. สำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่จังหวัดอื่น ยื่นจดทะเบียนได้ที่สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดที่บริษัทมีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่

                 3. ยื่นจดทะเบียนทางอินเทอร์เน็ตที่ www.dbd.go.th

ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า