การ ทำงาน กับเพื่อนร่วมงาน

ว่ากันว่า “ความสัมพันธ์ที่ดีในที่ทำงาน คือ ที่มาของความสำเร็จ” เพราะไม่ว่าเราจะทำงานในองค์กรประเภทใด ขนาดใด จะเป็นราชการ เอกชน หรือแม้แต่ Startup ก็ย่อมมีวัฒนธรรมองค์กรกันทั้งนั้น สิ่งนี้ถูกหล่อหลอมจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น นโยบายของผู้บริหาร กฏระเบียบขององค์กร การทำหน้าที่ของฝ่ายบุคคล และสิ่งสำคัญอีกประการ คือ “เพื่อนร่วมงาน” นั่นเอง ผลงานความสำเร็จ โดยมากมีพื้นฐานจาก Teamwork แม้แต่ละคนในทีมจะมีหน้าที่ความรับผิดชอบแตกต่างกันไป แต่นอกจากการทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุดแล้ว หากต้องการให้งานเดินหน้าเต็มสูบ ก็ต้องยอมรับและปรับตัวเข้ากับสังคมเพื่อนร่วมงานด้วย

นอกจากการปรับตัวเพื่อสร้างมนุษยสัมพันธ์จะช่วยให้การทำงานภายในทีมลุล่วงไปได้ด้วยดีแล้ว การมีสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนร่วมงานยังช่วยส่งเสริมหน้าที่และตำแหน่งงานของเรา เพราะการร่วมกลุ่มกับเพื่อนร่วมงานเก่ง ๆ เปิดโอกาสให้เรานำจุดแข็ง-จุดอ่อนของเพื่อนร่วมงานมาปรับใช้ นับว่าเป็นทางลัดสู่ความสำเร็จได้อีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งทางลัดสู่ความสำเร็จจากเพื่อนร่วมงานมีอะไรบ้าง มาดูกัน...

1

 

ปฏิบัติกับเพื่อนร่วมงานอย่างที่เราอยากได้รับ 


พูดง่าย ๆ ก็คือ “ทำอย่างไรก็ได้อย่างนั้น” เพราะคงไม่มีใครอยากได้มิตรภาพในการทำงานที่อึมครึม อึดอัด ไม่น่าช่วยเหลือซึ่งกันและกันหรอก ดังนั้น ถ้าเราอยากได้รับการปฏิบัติที่ดีจากเพื่อนร่วมงาน เราก็ควรปฏิบัติต่อเขาอย่างเดียวกัน เช่น แสดงน้ำใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ช่วยหยิบของ ช่วยเปิดประตู ไม่ลืมที่จะทักทาย รวมทั้งรับผิดชอบหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ไม่ให้กระทบเพื่อนร่วมงานและหัวหน้า การปฏิบัติข้างต้นนี้ นอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งในการสานสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงานแล้ว ยังอาจสร้างผลพลอยได้ให้หัวหน้าเห็นผลงานและความสามารถของเรา เป็นคะแนนในการประเมินการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งได้อีกด้วย เรียกว่า ยิงปืนนัดเดียว ได้ทั้ง Teamwork และเลื่อนตำแหน่งกันไปเลย (แต่ถ้าใครเจอเพื่อนร่วมงานที่ชอบทำตัวเป็นใหญ่ ลองอ่านวิธีแก้ไขสถานการณ์ได้

ที่นี่

)

2

 

ร่วมวงพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน  


หลังจากที่เรามีความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนร่วมงาน มีการผูกมิตรและพูดคุยสัพเพเหระกันแล้วนั้น ก็อย่าทิ้งโอกาสอันดีที่จะนำประเด็นเรื่องงานมาพูดคุยกัน ไม่ว่าจะเป็นวิเคราะห์ วิจารณ์ในตัวเนื้องานถึงแนวทางต่าง ๆ เช่น โปรเจกต์ไหนประสบความสำเร็จ ก็ชวนกันถกว่า สำเร็จได้อย่างไร มีจุดพลาดพลั้งตรงไหนอย่างไรบ้าง รวมทั้งวิเคราะห์จุดเด่นจุดด้อยของโปรเจกต์ที่กำลังดำเนินงานกันอยู่ การพูดคุยเช่นนี้ นอกจากเราจะได้ใช้ความคิดเชิงวิเคราะห์ เรายังสามารถมองเห็นภาพรวม และจุดบกพร่องของงานนั้น ๆ ให้เราสามารถพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาได้อย่างทันควัน

ทั้งนี้ การร่วมวงพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานในประเด็นที่กล่าวมานั้น ย่อมต้องอาศัยมนุษยสัมพันธ์ที่ดีมากในระดับหนึ่ง และเป็นเพื่อนร่วมงานที่มองเห็นคุณค่าของตัวงาน มากกว่าการนำเรื่องราวในบริษัทมาซุบซิบนินทากันเท่านั้น

3

 

ยินดีกับเพื่อนร่วมงานเมื่อเพื่อนได้รับโอกาสดี ๆ  


หลายครั้งที่การทำงานในองค์กร เราจะได้เห็นบุคลากรหลากหลายตำแหน่งได้รับการเลื่อนขั้น ปรับตำแหน่ง ปรับฐานเงินเดือน รวมทั้งการได้รับโอกาสที่ดีต่าง ๆ ซึ่งการแสดงความยินดีอย่างจริงใจกับเพื่อนร่วมงานเหล่านี้ เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะพาเราไปสู่ความสำเร็จได้อีกด้วย เพราะเมื่อเราเข้าไปยินดีกับเพื่อนร่วมงาน และพูดคุยถึงความก้าวหน้าของเพื่อนนั้น เราจะได้รับมุมมองดี ๆ เหล่านั้นมาปรับใช้กับตนเองได้ ถ้าใจกล้าพอก็ลองให้เพื่อนร่วมงานติชม แนะนำแนวทางการทำงานของเราด้วยก็จะยิ่งดี แต่ก็ต้องเตรียมตัวเตรียมใจรับข้อเสนอแนะด้านบวกและด้านลบด้วย หากเรามองข้ามความขัดแย้งในตัวบุคคลนี้ แล้วพัฒนาตัวเองได้มากขึ้น ก็นับว่าเราพัฒนาความเป็นมืออาชีพมากขึ้น

ความสามารถที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในที่ทำงานนั้น ไม่ใช่ว่าจะทำกันได้ทุกคน ต่างคนก็มีพื้นเพนิสัยที่แตกต่างกันไป แต่การพัฒนาตนให้เป็นที่ยอมรับของเพื่อนร่วมงาน จะนำมาซึ่งความช่วยเหลือเกื้อกูล ความร่วมมือ ความสุข แล้วเป็นอีกหนึ่งเส้นทางลัดที่เราจะนำมาใช้เพื่อไปสู่ความสำเร็จในวันข้างหน้าได้ เรียกว่า พัฒนาตัวเองไปพร้อม ๆ กับพัฒนามนุษยสัมพันธ์ (IQ & EQ) นั่นเอง

เคยรู้สึกไม่อยากไปทำงานเพราะไม่ชอบหน้าเพื่อนร่วมงานบางคนบ้างหรือไม่? จริง ๆ แล้วมันเป็นเรื่องปกติธรรมดานะคนนั้นอาจเป็นคนที่เราไม่ถูกชะตาตั้งแต่แรกเจอ บางทีก็เพราะเรื่องส่วนตัวที่เขาชอบเข้ามาตอแยวุ่นวาย หรือบางทีก็มาจากปัญหาเรื่องงานที่เคลียร์กันไม่รู้เรื่อง จนสุดท้ายก็เข้าหน้ากันไม่ติด ทำให้เกิดความรู้สึกเหม็นขี้หน้า เกลียดขี้หน้า เขม่นกันไปมา ถือเป็นเรื่องน่าปวดหัวและเสียสุขภาพจิตไม่น้อยเลย

เมื่อเราต้องทำงานกับคนที่เรารู้สึกไม่ชอบหน้า หรือต่างคนต่างก็ไม่ชอบหน้ากัน ทั้งอาจไม่ชอบกันเป็นการส่วนตัว หรือไม่ชอบกันเพราะการทำงาน ปัญหาที่ตามมาอีกอย่างคือการติดต่องานและการทำงานร่วมกัน มันยากอยู่นะที่ต้องทำแบบนั้น แต่ถามว่าจำเป็นไหม จำเป็นมากเลยล่ะ ในเมื่อยังต้องทำงานด้วยกันอยู่ ไม่เช่นนั้นงานก็พัง บริษัทเสียหาย ถูกเรียกไปปรับทัศนคติ แล้วสุดท้ายอาจได้ซองขาวกันทั้งคู่ก็เป็นได้

วิธีแก้ปัญหานี้มีอยู่แค่ 2 วิธี คือ หนีหรือสู้ ถ้าหนีก็คือเปลี่ยนงาน เปลี่ยนที่ทำงานเป็นอันจบ ไปเจอสังคมใหม่ เพื่อนร่วมงานใหม่ ซึ่งอาจจะดีหรือไม่ดีก็ได้ แต่ถ้าคิดจะอยู่ต่อก็ต้องสู้ สู้อย่างไรดีกับเพื่อนร่วมงานที่เขม่นหน้ากัน โต ๆ กันแล้ว จะมาทะเลาะกันแบบเด็ก ๆ ก็ไม่ได้ด้วย ใช้กำลังยิ่งไม่ได้ใหญ่ จึงต้องสู้ด้วยสติปัญญา และวุฒิภาวะทางอารมณ์ จึงจะเป็นต่อในศึกนี้

พูดคุยแค่เรื่องงาน งานจบก็จบกัน

นี่อาจเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดแล้ว คือ การคุยกันเท่าที่จำเป็น ซึ่งมันก็คงมีแต่เรื่องงานเท่านั้น เมื่องานจบก็จบกันไป (จริง ๆ ก็ไม่ได้อยากจะเสวนาด้วยเท่าไร) เพราะถึงเกลียดกันยังไง งานก็ยังต้องทำอยู่ดี แค่รักษาระยะห่างไว้ จะได้ไม่มีเรื่องขัดแย้งกันให้ปวดหัวเพิ่ม ที่สำคัญต้องมีความเป็นมืออาชีพมากพอที่จะวางอคติ ความเกลียดชังไว้ก่อนตอนที่ต้องทำงานด้วยกัน ถ้าเลี่ยงการคุยแบบเผชิญหน้าได้ก็เลี่ยง เลี่ยงไม่ได้ก็เจอกันเฉพาะงานที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น

เตรียมรับมือกับเรื่องเซอร์ไพรส์

ถ้าต่างฝ่ายต่างไม่ชอบหน้ากัน ก็อย่าได้คาดหวังว่าเขาจะปฏิบัติกับเราดี ๆ บางทีอาจจะมีเข้ามาพูดจาแซะให้หงุดหงิด เทงานให้เราทำ ทำงานเอาหน้า หาเรื่องชวนทะเลาะ หรืออาจเลวร้ายถึงขั้นใส่ร้ายแบบในละครเลยก็ได้ สถานการณ์เหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้หมด จึงต้องเตรียมตัวเตรียมใจล่วงหน้าว่าจะมีวันแย่ ๆ กับคนนี้ได้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ดังนั้น เมื่อเราไม่คาดหวังว่าเขาจะมาดี ก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือ วันไหนที่เขาเซอร์ไพรส์เราขึ้นมา จะได้มีทางหนีทีไล่

ติดต่ออะไรมีหลักฐานเสมอ

อาจจะเหมือนดูละครมากเกินไป แต่วิธีนี้ถือเป็นการเซฟตัวเองได้ดีทีเดียว นอกจากการพูดคุยกันเท่าที่จำเป็น ควรต้องหลีกเลี่ยงการคุยงานด้วยปากเปล่า มีหลักฐานยืนยันในการติดต่องานกันทุกครั้งก็จะดีมาก เช่น อัดเสียง แชตคุยงาน อีเมล เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดพลาด คลาดเคลื่อน หรือถูกใส่ความแบบในละคร ไม่ว่าจะเพราะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ถ้าเกิดปัญหาจะได้ชี้แจงหัวหน้าถูก แล้วเราก็มีหลักฐานยืนยันความบริสุทธิ์ใจของเราแล้ว

แสดงความเป็นมิตร แต่ไม่ต้องพยายามจะเป็นเพื่อน

มิตรภาพเป็นสิ่งที่มอบให้ได้กับทุกคน ไม่ว่าเราจะเห็นเขา (หรือเขาเห็นเรา) เป็นศัตรูก็ตาม ถือเป็นมารยาทในการอยู่ร่วมกันกับคนอื่น ๆ ซึ่งไม่จำเป็นว่าต้องสนิทสนมกันแต่ประการใด และการมีมิตรภาพ ก็ไม่จำเป็นต้องจบด้วยการเป็นเพื่อนกัน ฉะนั้น มันอาจจะยากหน่อยที่ต้องใส่หน้ากากเพื่อเป็นมารยาทกับคนที่หายใจร่วมกัน แต่มันก็ยังง่ายกว่าการพยายามจะเป็นเพื่อนกับเขาคนนั้นทั้งที่ในใจก่นด่าเขาอยู่ แบบนั้นมองจากอวกาศดูก็รู้ว่าเสแสร้ง น่าหมั่นไส้ด้วย

คิดในแง่บวก มันก็สนุกไปอีกแบบนะ

ชีวิตที่น่าเบื่อ คือชีวิตที่ไม่มีอะไรให้ตื่นเต้นเลยสักนิด แม้ว่าการมาทำงานจะทำให้ต้องมาพบเจอกับคนที่ทำให้เสียอารมณ์แต่เช้า แต่ลองคิดในมุมบวก (คิดจะบวก) ดูก็ได้ว่าอย่างน้อยมันก็สนุกไปอีกแบบ การทำงานจะได้มีอรรถรสขึ้นมาหน่อย อย่างการวางแผนต่อสู้ด้วยผลงาน หรือเชิดใส่กันไปมา แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ไม่เสียงานเสียการ เอาที่พอดี แค่ให้ชีวิตไม่น่าเบื่อ เลิกงานก็จบทิ้งความเกลียดชังไว้ที่ทำงานไม่ต้องเก็บไปคิดต่อที่บ้าน วันพรุ่งนี้ค่อยว่ากันใหม่