เหตุใดเศรษฐกิจในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเจริญรุ่งเรืองมาก *

excerpt

Show

บทความฉบับพิเศษจาก ๙ นักเศรษฐศาสตร์ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ต่อพระราชกรณียกิจ พระปรีชาสามารถทางด้านเศรษฐศาสตร์ และการพัฒนาประเทศไทย

๑. ในหลวงรัชกาลที่ ๙ กับเศรษฐศาสตร์

ปิติ ดิษยทัต

ตลอดระยะเวลา ๗๐ ปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้วยพระวิริยอุตสาหะเพื่อวางรากฐานการพัฒนาที่มั่นคงให้กับประเทศ สิ่งที่เป็นประจักษ์ คือ พระปรีชาสามารถในการเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่สมบูรณ์แบบและล้ำยุคสมัย หัวใจสำคัญของวิชาเศรษฐศาสตร์ คือ การจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพ เพื่อบรรลุอรรถประโยชน์สูงสุด ผ่านการสร้างระบบแรงจูงใจที่เหมาะสม เป็น ๓ องค์ประกอบที่ตอบโจทย์ ทำอะไร ทำไม และอย่างไรของการบริหารเศรษฐกิจ พระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ในวิชาเศรษฐศาสตร์สามารถเห็นได้ผ่านองค์ประกอบทั้ง ๓ ดังนี้

ในด้านการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ พระองค์ท่านได้ทรงเป็นแบบอย่างในการนำความรู้และประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาประยุกต์เข้ากับนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต โดยใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ในการบริหารจัดการน้ำ นอกจากการสร้างเขื่อนและฝายเพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้อย่างพอเพียงแล้ว ยังมีพระราชดำริให้นำน้ำที่กักเก็บเอาไว้มาใช้ประโยชน์ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า หรือในปรัชญาเกษตรทฤษฎีใหม่ที่เน้นการบริหารจัดการความเสี่ยงของครัวเรือนเกษตรกร โดยวางกรอบการจัดการที่ดิน ที่อยู่ และน้ำในพื้นที่อย่างสมดุล

ในขณะเดียวกัน ทรงมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพของปัจจัยการผลิตทั้งดิน น้ำ และที่สำคัญ คือ คุณภาพของคน โดยทรงตระหนักถึงความจำเป็นในการพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศ ผ่านโครงการในพระราชดำริด้านสาธารณสุขหลายโครงการ รวมทั้งการพระราชทานทุนการศึกษาอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง อีกทั้งมีพระวิสัยทัศน์กว้างไกลในการผลักดันกระบวนการเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง ดังสะท้อนในพระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่นิสิตผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ว่า

“แม้ท่านจะได้เรียนสำเร็จตามหลักสูตรจนได้รับปริญญาแล้วก็ดี ขอให้เข้าใจว่านี่เป็นเพียงชั้นต้นของการศึกษาเท่านั้น ท่านจงพยายามศึกษาและฝึกฝนตนเองต่อไป เพราะสรรพวิทยาการด้านสาขาวิทยาศาสตร์ทั้งหลายนั้น การทดลองค้นคว้าช่วยให้ได้ความรู้ใหม่ ๆ ขึ้นมาอยู่เสมอ ถ้าท่านไม่ศึกษาเพิ่มเติมไว้ต่อไปไม่ช้าท่านจะล้าสมัย”

ในด้านการบรรลุอรรถประโยชน์สูงสุด พระองค์ทรงนิยามอรรถประโยชน์ในความหมายกว้างว่าเป็นการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นอย่างสมดุลทั้งด้านวัตถุ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเน้นความยั่งยืนมากกว่าการหวังผลระยะสั้น ทรงมีสายพระเนตรยาวไกลว่าการพัฒนาที่สมบูรณ์นั้นต้องไม่เพียงมุ่งเน้นแต่การสร้างรายได้ แต่ต้องคำนึงถึงการที่จะทำให้ “ชีวิตของแต่ละคน มีความปลอดภัย มีความเจริญ มีความสุข” เป็นแนวทางการพัฒนาที่มีการแบ่งสรรผลประโยชน์ของการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดความสมานฉันท์ในสังคม และความชอบธรรมของระบบเศรษฐกิจ

ในด้านระบบแรงจูงใจ พระองค์ทรงประยุกต์หลักปรัชญาของพระพุทธศาสนาในการวางกรอบการปฏิบัติที่ยึดทางสายกลาง เน้นความเอื้ออารี สามัคคี การมีส่วนร่วม เพื่อสร้างความหมายและความสุขที่แท้จริงของผู้คนบนพื้นฐานของความพอดีและการรู้จักควบคุมตนเอง เป็นการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและส่งเสริมประชาสังคมให้เป็นสถาบันที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ ดังพระราชดำรัสเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ว่า “สังคมใดก็ตาม ถ้ามีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ด้วยความมุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน สังคมนั้น ย่อมเต็มไปด้วยไมตรีจิตมิตรภาพ มีความร่มเย็นเป็นสุข น่าอยู่”

เศรษฐศาสตร์แท้จริงแล้วเป็นศาสตร์ที่ศึกษาพฤติกรรมและปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ เอกลักษณ์ของพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ คือ การวางปรัชญาเศรษฐศาสตร์ที่ยึด ‘คน’ เป็นที่ตั้ง โดยตระหนักถึงความแตกต่างในระดับปัจเจกชนและความสำคัญของบริบทที่แต่ละคนเผชิญ การที่ทรงยึดมั่นให้คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ได้นำไปสู่กระบวนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมที่สร้างสรรค์ภายใต้ความสัมพันธ์ที่สมดุลระหว่างคนกับเทคโนโลยี คนกับสิ่งแวดล้อม คนกับสังคม และที่สำคัญคนกับตนเอง

ทั้งหมดนี้แสดงถึงพระอัจฉริยภาพที่ทรงเป็นทั้งนักเศรษฐศาสตร์ทฤษฎี ที่มีพระราชดำริและหลักการในการบริหารเศรษฐกิจที่สะท้อนสัจธรรมของมนุษย์ นักเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ ที่สอบทานทฤษฏีและปรับปรุงองค์ความรู้อย่างไม่หยุดนิ่งจากการศึกษาพัฒนาการที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละพื้นที่ และนักเศรษฐศาสตร์ปฏิบัติ ที่นำปรัชญาและข้อมูลเชิงประจักษ์มาดำเนินการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงและยั่งยืนภายใต้โครงการในพระราชดำริกว่า ๔,๐๐๐ โครงการ เป็นความมหัศจรรย์และความยิ่งใหญ่ในวิชาเศรษฐศาสตร์ที่จะถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์โลกและเป็นแรงบันดาลใจแก่ปวงชนชาวไทยตลอดไป

๒. ศาสตร์พระราชากับการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน

สมชัย จิตสุชน

‘ศาสตร์พระราชา’ คือ แนวทางการพัฒนาของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่มีความลุ่มลึก รอบด้าน มองการณ์ไกล และเน้นความยั่งยืนมายาวนานก่อนที่ประชาคมโลกจะตื่นตัวในเรื่องนี้ เป็นแนวทางการพัฒนาที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกหมู่เหล่า องค์ประกอบของศาสตร์พระราชา คือ การศึกษาและสุขภาพ การเพิ่มผลิตภาพการผลิต การค้นคว้าวิจัย การบริหารความเสี่ยง การอนุรักษ์ธรรมชาติ และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แต่ละองค์ประกอบล้วนมีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกผู้คนโดยเฉพาะคนจนและผู้ยากไร้

ความโดดเด่นของศาสตร์พระราชา คือ แนวปฏิบัติที่มีกระบวนการที่มีเอกลักษณ์ คำนึงถึงบริบททางภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ และสังคมของแต่ละพื้นที่ แก้ปัญหาแบบองค์รวม ให้ความสำคัญกับความรู้สึกเป็นเจ้าของโครงการของคนในพื้นที่ ตามหลักการทรงงานข้อที่ว่าการพัฒนาต้อง ‘ระเบิดจากภายใน’

ตัวอย่างเรื่องเอกลักษณ์การทำงานตามแนวศาสตร์พระราชา คือ การแบ่งเป้าหมายเป็น ๓ ขั้นตอน ได้แก่ เพื่ออยู่รอด (Survival) พึ่งตนเอง (Self-reliance) และยั่งยืน (Sustainable) ดังผู้ที่ได้ตามเสด็จพระราชดำเนินเล่าว่าพระองค์ท่านมักทรงตรัสถามชาวบ้านว่า ‘พอมีพอกิน’ หรือไม่ แสดงว่าพระองค์ท่านทรงมีลำดับขั้นการพัฒนาที่ชัดเจน และยังหมายถึงการเอาใจใส่ต่อคนจนที่สุด (Poorest of the poor) ซึ่งมักถูกละเลยโดยภาครัฐและกลไกตลาด

อีกความโดดเด่นของศาสตร์พระราชา คือ เน้นการค้นคว้าวิทยาการเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นวิทยาการด้านน้ำ ด้านดิน การเพาะพันธุ์ใหม่ ๆ การแปรรูป เป็นต้น เป็นสิ่งที่นักพัฒนาในยุคหลังเห็นตรงกันว่า คือองค์ประกอบที่สำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งย่อมหมายถึงการแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืนด้วยเช่นกัน

ส่วนการอนุรักษ์ธรรมชาตินั้น นอกจากจะเป็นการสร้างความยั่งยืนของระบบนิเวศแล้ว ยังมีส่วนช่วยคุณภาพชีวิตของคนยากคนจนที่ต้องพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การหาของจากป่า และที่สำคัญยังช่วยลดผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ที่มักกระทบชีวิตของคนยากจนมากกว่าคนรวย และการที่ศาสตร์พระราชาเน้น ‘ปลูกคน’ ก่อน ‘ปลูกป่า’ นั้นเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดและยั่งยืนกว่ามาตรการปลายทางที่ทำกันอยู่ทั่วไป

ในด้านปัญหาความเหลื่อมล้ำ การยกระดับคุณภาพชีวิตคนจนย่อมมีผลทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลงโดยตรง และในอีกด้านหนึ่ง หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่สอนให้คนมีความซื่อสัตย์ สุจริต หากปฏิบัติตามจะมีส่วนสำคัญในการลดความร่ำรวยที่ไม่ชอบธรรม เช่น ร่ำรวยจากการฉ้อราษฎร์บังหลวง ผูกขาด เอารัดเอาเปรียบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำในไทยสูงมากติดอันดับโลกเช่นทุกวันนี้

หลายประการที่กล่าวถึงข้างต้นล้วนแฝงไว้ด้วยแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนของศาสตร์พระราชา แต่ที่ละเลยไม่กล่าวถึงไม่ได้ คือ การที่พระองค์ท่านทรงให้ความสำคัญกับมิติของจิตใจและทัศนคติการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ตัวอย่างเช่น พระวิริยอุตสาหะที่พระองค์ท่านทรงปฏิบัติตลอดรัชกาลนั้นเป็นแบบอย่างที่หาค่ามิได้ของพระราชหฤทัยที่แน่วแน่และมุ่งมั่น

สิ่งที่ประเทศไทยควรทำ คือ น้อมนำศาสตร์พระราชามาปรับใช้เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งสร้างความรับรู้ในระดับสากลโดยเฉพาะด้านกระบวนการทำงานที่มีเอกลักษณ์ เป็นองค์รวม และคำนึงถึงบริบทของพื้นที่

๓. กษัตริย์แห่งนวัตกรรมกับการพัฒนาการเกษตรและชุมชนไทย

โสมรัศมิ์ จันทรัตน์

“…การเกษตรนี่มีความสำคัญยิ่ง ถ้าไม่มีการเกษตรก็เกือบจะพูดได้ว่า เราจะต้องตายกันหมด เพราะจะไปอาศัยอาหารวิทยาศาสตร์ก็รู้สึกว่าลำบากอยู่และกินไม่ลง แต่ว่าทำไมคนถึงนึกว่า การเกษตรนี่เป็นสิ่งด้อย ที่ไม่สำคัญ ทั้ง ๆ ที่ความจริงเราต้องอาศัยการเกษตรเพื่อชีวิตของเรา …การเกษตรนั้นไม่ใช่เฉพาะการเอาเมล็ดผักไปหยอดในร่อง แล้วมันจะขึ้นมาเป็นผลผลิตที่เหมาะสมได้ หากแต่ต้องอาศัยวิชาการอย่างอื่นทุกด้าน ตั้งแต่การหยอดเมล็ดพันธุ์ลงไปในร่อง จนกระทั่งให้ฝักหรือสิ่งนั้นงอกขึ้นมาเป็นประโยชน์ได้ ต้องอาศัยทุกอย่างในชีวิตของคน คือทุกสาขาของความรู้ที่ต้องผ่านมา…”

พระบรมราโชวาทในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ข้างต้นสะท้อนถึงการทุ่มเทพระวรกายและพระสติปัญญาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ในการบูรณาการหลักเศรษฐศาสตร์ร่วมกับศาสตร์อื่น ๆ เพื่อทรงศึกษา ทรงทดลอง และทรงเข้าพระราชหฤทัยอย่างถ่องแท้ถึงแนวทางการพัฒนาการเกษตร ซึ่งเป็นรากฐานของการพัฒนาครัวเรือน ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ภายใต้เงื่อนไขการใช้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ตลอดระยะเวลา ๗๐ ปีที่ทรงครองราชย์ พระองค์ทรงพลิกฟื้นพื้นที่เกษตรหลายล้านไร่ทั่วประเทศให้อุดมสมบูรณ์และยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยกว่า ๑ ใน ๕ ให้กินดีอยู่ดี และพร้อมที่จะแข่งขันในระบบตลาดได้ ผ่านโครงการในพระราชดำริกว่า ๔,๐๐๐ โครงการและนวัตกรรมที่จดสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยกว่า ๑๐ ชิ้น พระบรมราโชวาทและผลการศึกษาของพระองค์ท่านได้สร้างหลักคิดและแนวปฏิบัติที่สำคัญในการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืนใน ๒ มิติ คือ

เกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน การพัฒนาที่ยั่งยืนเริ่มจากเกษตรกรต้องพึ่งพาตนเองได้ โดยการทำเกษตรแบบผสมผสานที่เน้นหลักการจัดสรรทุน (ทรัพยากร) ที่มีและการบริหารจัดการความเสี่ยงในไร่นา โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นที่ตั้ง ถัดมาต้อง พึ่งกันและกันได้ในชุมชน โดยการรวมกลุ่ม เช่น สหกรณ์ เพื่อต่อยอดในการเข้าถึงแหล่งทุน การผลิต การตลาด การแบ่งปันความเสี่ยง และการเรียนรู้ต่าง ๆ โดยกลุ่มองค์กรเกษตรจะเป็นสถาบันหลักในการพัฒนาและสร้างเสริมทุนสังคม เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจชุมชนให้ได้ ก่อนที่จะขยายสู่ขั้นการลงทุน การใช้งานวิจัยและพัฒนามาสร้างธุรกิจชุมชนอย่างครบวงจรและแข่งขันในระบบตลาดอย่างมีความพร้อม โดยมีผลประโยชน์สูงสุดกระจายกลับคืนแก่คนในชุมชน

การใช้นวัตกรรม การวิจัยและพัฒนาที่ผ่านการทดลองจนเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมมาเป็นเครื่องมือ ด้วยพระอัจฉริยภาพ พระองค์ทรงแสดงให้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า นวัตกรรมที่ถูกสร้างสรรค์จากความคิดที่เรียบง่าย ประหยัด ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น สามารถสร้างคุณอนันต์ต่อการเกษตร เช่น กังหันน้ำชัยพัฒนา โครงการฝนหลวง การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ โครงการแกล้งดิน เป็นต้น การวิจัยและพัฒนาของพระองค์เน้นการบูรณาการความรู้จากหลายศาสตร์วิชา และมีการทดลองหรือโครงการนำร่องในที่เล็ก ๆ ให้เห็นผลก่อนจะนำไปใช้ โดยทรงใช้พระตำหนักจิตรลดารโหฐานเป็นสนามทดลองและศึกษาความคุ้มค่าของนวัตกรรมเพื่อการเกษตรและแนวคิดในการพัฒนาองค์กรและธุรกิจเกษตรต่าง ๆ พระองค์ทรงใช้โครงการในพระราชดำริ เช่น โครงการชั่งหัวมัน โครงการหลวง และศูนย์ศึกษาการพัฒนา ๖ แห่งทั่วประเทศ เป็นแหล่งผสมผสานวิชาการและการปฏิบัติ โดยเป็นแหล่งศึกษาทดลองเพื่อแสวงหาวิธีการพัฒนาที่เหมาะสมสอดคล้องและใช้ได้จริงในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน เป็น ‘ต้นแบบ’ ของความสำเร็จที่จะเป็นแนวทางให้แก่พื้นที่อื่น ๆ เป็นแหล่งความรู้ของเกษตรกร และเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนถ่ายทอดประสบการณ์และแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างมีส่วนร่วมของเกษตรกรและทุกภาคส่วน

คงจะดีไม่น้อยหากทุกภาคส่วนที่จะได้น้อมนำปรัชญาและแนวปฏิบัติของพระองค์ไปทบทวนการวางนโยบาย และการพัฒนาการเกษตรไทยในบริบทปัจจุบันว่าได้ก้าวกระโดดจนอาจเกิดความเปราะบางหรือไม่ และหาทางแก้ไขตามหน้าที่ความรับผิดชอบของตนให้ดีที่สุด เพื่อการพัฒนาการเกษตรและชุมชนไทยอย่างยั่งยืนสมดังพระราชปณิธาน

๔. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์

“…งานด้านการศึกษาเป็นงานที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของชาติ เพราะความเจริญและความเสื่อมของชาตินั้น ขึ้นอยู่กับการศึกษาของพลเมืองเป็นข้อใหญ่ จึงต้องจัดการศึกษาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น…”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ณ วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร ๑๒ ธันวาคม ๒๕๑๒

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเพื่อให้ประชาชนมีทักษะ สามารถพึ่งพาตนเอง และจัดการปัญหาของส่วนรวมได้ ดังจะเห็นได้จากพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาการศึกษา ทรงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาทุกระดับทุกประเภท โดยมีตัวอย่างมากมายตั้งแต่สมัยต้นรัชกาล พระองค์ทรงมีความห่วงใยเป็นพิเศษในชีวิตและอนาคตของเยาวชน โดยเฉพาะกลุ่มที่มาจากครอบครัวที่เสียเปรียบทางด้านเศรษฐกิจและสังคม อยู่ในพื้นที่ชนบท หรือในท้องถิ่นชายแดนห่างไกลการคมนาคม

นอกจากงานด้านการศึกษาแล้ว พระองค์ยังทรงริเริ่มโครงการในพระราชดำริหลายโครงการที่สร้างสรรค์นวัตกรรมและองค์ความรู้เพื่อถ่ายทอดให้พสกนิกรสามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยเฉพาะงานทางด้านการเกษตรและการประมง ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่มีความจำเป็นอย่างมากในการพัฒนาประเทศในระยะแรก อาทิ โครงการฟาร์มตัวอย่าง และศูนย์วิจัยและพัฒนาประมง โครงการเหล่านี้ได้กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้แก่เกษตรกรได้นำเอาองค์ความรู้ไปปรับใช้กับสภาพปัญหาในพื้นที่ของตนเองได้อย่างเหมาะสม ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต เพิ่มรายได้ และลดความเหลื่อมล้ำของสังคม

ในช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมาความเป็นอยู่ของประชาชนไทยดีขึ้นมาก ประเทศไทยได้พัฒนาจากประเทศรายได้ต่ำไปเป็นประเทศที่มีระดับรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง เด็กเกือบทุกคนสามารถเข้าเรียนในระดับประถมศึกษา และอัตราการเข้าเรียนในระดับมัธยมก็เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด อย่างไรก็ดี ภายใต้ระบบเศรษฐกิจที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น การขยายโอกาสทางการศึกษาเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะยกระดับประเทศไทยไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงได้ จำเป็นต้องมีการพัฒนาคุณภาพการศึกษาควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านงานวิจัยและพัฒนา (R&D) ให้ทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เพื่อให้แรงงานไทยมีศักยภาพในการสร้างนวัตกรรม มีทักษะในการใช้และรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากงานวิจัยของธนาคารโลกพบว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนด้าน R&D ของภาครัฐในกลุ่มประเทศ ASEAN+3 เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ ๓๐๐ ในขณะที่ R&D ของภาคธุรกิจมีผลตอบแทนประมาณร้อยละ ๘๐ อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าเสียใจว่าที่ผ่านมาประเทศไทยกลับมีการลงทุนด้าน R&D ที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนเงินลงทุนด้าน R&D ของไทยซึ่งน้อยกว่าร้อยละ ๐.๕ ของ GDP มาโดยตลอด ในขณะที่ประเทศจีนได้เพิ่มสัดส่วนเงินลงทุนด้าน R&D จากร้อยละ ๐.๕ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ มาเป็นร้อยละ ๒.๑ ในปัจจุบัน ส่วนเวียดนามได้ตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนด้าน R&D ไว้ที่ร้อยละ ๒ ภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ ดังนั้น เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาเป็นประเทศที่มีรายได้สูง รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงปฏิบัติไว้เป็นตัวอย่าง

๕. ในหลวงกับวิสาหกิจเพื่อสังคม

ภาวิน ศิริประภานุกูล

แนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งสะท้อนผ่านกระแสพระราชดำรัสและพระราชกรณียกิจนานัปการของพระองค์ ตั้งอยู่บนหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง โดยการพัฒนาในลักษณะนี้มิได้ต้องการผลลัพธ์ที่รวดเร็วและฉาบฉวย หากแต่มุ่งหวังการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างที่คงทน ที่จะทำให้ประชาชนสามารถยืนหยัดอยู่บนลำแข้งของตนเองได้ในระยะยาว

หน่วยธุรกิจในลักษณะวิสาหกิจเพื่อสังคมถูกนำมาใช้เป็นองค์ประกอบสำคัญเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยปวงชนชาวไทยสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ของวิสาหกิจเพื่อสังคมของพระองค์เพื่อนำมาใช้เป็นแบบอย่างในอนาคต โดยบทความนี้จะขอกล่าวถึง บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ซึ่งมีที่มาและลักษณะการดำเนินการที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ แต่มีจุดเริ่มต้นที่เกี่ยวพันกับพระราชกรณียกิจในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ที่ทรงต้องการแก้ปัญหาการปลูกฝิ่นของชาวเขาในพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศ โดยในช่วงเวลาดังกล่าว พระองค์มีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการหลวงพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขาขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนการปลูกฝิ่น อาทิ ท้อ ลิ้นจี่ แอปเปิ้ล มันฝรั่ง เป็นต้น

การดำเนินการของโครงการหลวงสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คนให้หันมาปลูกพืชทดแทนได้ อย่างไรก็ตาม พืชผลทดแทนดังกล่าวมิใช่สิ่งที่ชาวบ้านคุ้นเคย ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาในการจัดหาตลาดเพื่อรองรับผลผลิตดังกล่าว พระองค์จึงมีพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปแก้ไขปัญหา และนำมาซึ่งการจัดตั้ง บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ในที่สุด

การดำเนินการหลักของ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด เป็นการดำเนินการด้านการตลาดให้กับผลผลิตทางการเกษตรในโครงการหลวงอย่างครบวงจร โดยมิได้มุ่งหวังผลกำไร บริษัทมีบทบาทหลักในการยกระดับราคาสินค้าเกษตรของโครงการหลวง ผ่านการแปรรูปสินค้าอย่างมีคุณภาพและการจัดหาช่องทางจัดจำหน่ายที่เข้าถึงผู้บริโภค

เมื่อมองจากจุดตั้งต้นแล้วสามารถกล่าวได้ว่า บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด เป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งยวดที่ป้องกันมิให้ชาวเขาหวนกลับไปปลูกฝิ่นอีกครั้ง บริษัทยังมีบทบาทในการยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวเขาเหล่านั้น รวมไปถึงยังเป็นพื้นที่สำหรับการฝึกฝนเรียนรู้ในการทำธุรกิจอีกด้วย และที่สำคัญอาจกล่าวได้ว่าการจัดตั้งบริษัทเป็นเสมือนการเติมเต็มในสิ่งที่ขาดให้กับโครงการพัฒนา ซึ่งจะส่งผลให้โครงการดังกล่าวสามารถอยู่รอดและเติบโตได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืนในทุกองค์ประกอบ

พระอัจฉริยภาพที่สะท้อนผ่านการดำเนินโครงการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้สมควรอย่างยิ่งต่อการน้อมรำลึกถึง และการนำไปเป็นต้นแบบในการดำเนินงานการพัฒนาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

๖. ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับการดำเนินนโยบายการคลัง

อธิภัทร มุทิตาเจริญ

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้มีพระวิสัยทัศน์กว้างขวาง ทรงตระหนักถึงกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกและผลกระทบในบริบทของประเทศไทย แนวพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พระองค์ท่านพระราชทานแก่พสกนิกรเพื่อให้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข บนหลักความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน สามารถนำมาเป็นบทเรียนสำหรับการดำเนินนโยบายการคลังของประเทศไทยในปัจจุบันได้อย่างดียิ่ง

‘พอประมาณ’ คือ ความพอดี ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป ตั้งอยู่บนความเป็นจริง หลักความพอประมาณนี้ สอนให้ผู้บริหารประเทศตั้งอยู่บนความพอดี ไม่มองโลกในแง่ดีจนเกินไป ใช้ความสมเหตุสมผลในการดำเนินโครงการสาธารณะ ตัวอย่างหนึ่งคือ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ โครงการเหล่านี้ควรที่จะได้รับการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility study) อย่างรอบคอบ โดยใช้สมมติฐานที่ตั้งอยู่บนความเป็นจริงและเปิดเผยให้สาธารณชนตรวจสอบได้ ก่อนการตัดสินใจดำเนินการ

ดั่งพระราชดำรัสในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ “จะทำโครงการอะไร ก็ต้องนึกถึงขนาดที่เหมาะสมที่เรียกว่าอัตภาพ หรือกับสิ่งแวดล้อม ฉะนั้นการที่จะทำโครงการอะไร จะต้องทำด้วยความรอบคอบและอย่าตาโตเกินไป”

‘มีเหตุผล’ คือ คิดไตร่ตรองผลกระทบอย่างรอบด้าน หลักความมีเหตุผลนี้สำคัญยิ่งสำหรับการออกแบบมาตรการการคลังเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ แนวปรัชญานี้ชี้ว่า เราไม่ควรจะมุ่งหวังแค่เพียงผลลัพธ์ในรูปของตัวเลขการขยายตัวของ GDP เท่านั้น แต่ควรที่จะคำนึงถึงผลกระทบในระดับจุลภาค ต่อความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างแท้จริงด้วย ตัวอย่างหนึ่ง คือ โครงการการมอบแรงจูงใจในรูปภาษี หรือตัวเงินอื่น ๆ เพื่อให้ประชาชนเร่งซื้อของ หรือสร้างหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนด รัฐบาลควรที่จะพิจารณาไม่เพียงแค่ประสิทธิผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเพียงไม่กี่ไตรมาสเท่านั้น แต่ยังควรที่จะไตร่ตรองผลกระทบรายบุคคลต่อสภาวะทางการเงินของผู้เข้าร่วมโครงการด้วย

ดั่งพระราชดำรัสในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ “ทฤษฎีว่าถ้ามีเงินเท่านั้น ๆ มีการกู้เท่านั้น ๆ หมายความว่าเศรษฐกิจก้าวหน้า แล้วประเทศก็เจริญมีหวังว่าจะเป็นมหาอำนาจ ขอโทษเลยต้องเตือนเขาว่าจริง ตัวเลขดี แต่ถ้าเราไม่ระมัดระวังในความต้องการพื้นฐานของประชาชนนั้นไม่มีทาง”

‘มีภูมิคุ้มกัน’ คือ สร้างเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่งจากภายใน ลดความอ่อนไหวต่อปัจจัยทั้งในและนอกประเทศ พระองค์ท่านทรงสอนให้คนไทยสร้างรากฐานในการดำรงชีวิต ซึ่งรากฐานนั้นจะมั่นคงได้ต้องอาศัยภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่ง ในบริบทการคลัง ภูมิคุ้มกันหนึ่งที่สำคัญคือการมีพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) ที่มากเพียงพอที่จะรองรับสิ่งต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดฝัน ตัวอย่างหนึ่งคือ การรักษาระดับหนี้สาธารณะไว้ไม่ให้สูงเกินไปจนจำกัดความสามารถของรัฐบาลในการก่อหนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในยามที่จำเป็น

ดั่งพระราชดำรัสในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ “เศรษฐกิจพอเพียงสอนให้เราไม่โลภจนเป็นการผลาญตัวเอง แต่เป็นเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และมีภูมิคุ้มกัน”

จะเห็นได้ว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นสะท้อนความเป็นจริงในบริบทการคลังได้เป็นอย่างดี การดำเนินนโยบายการคลังโดยให้ความสำคัญกับ ๓ ห่วง นั่นคือ ความพอประมาณ การมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกัน ภายใต้เงื่อนไขของการมีความรู้และคุณธรรม จะสามารถนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

๗. ธนบัตรไทยในสมัยรัชกาลที่ ๙

พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม

นับเป็นเวลาถึง ๑๑๔ ปีที่ประเทศไทยได้ใช้เงินกระดาษหรือธนบัตรเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จวบจนมาถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ธนบัตรไทยได้มีวิวัฒนาการครั้งสำคัญที่ควรจะถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การออกใช้ธนบัตรอยู่สามประการ คือ

หนึ่ง การจัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรขึ้นใช้ในประเทศเป็นผลสำเร็จ โดยมีพิธีเปิดโรงพิมพ์ธนบัตร ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๒ ซึ่งเป็นมงคลฤกษ์เดียวกับวันที่ใช้ประกาศให้ตราพระราชบัญญัติธนบัตรสยาม รัตนโกสินทร ศก ๑๒๑ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานและมีพระราชดำรัสดังความว่า

“การที่ทางราชการจัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรขึ้นได้สำเร็จนับเป็นความสำเร็จและความก้าวหน้าขั้นสำคัญของชาติ ทุกคนที่จะดำเนินงานสำคัญนี้ต่อไปควรจะระลึกว่ามีภาระและความรับผิดชอบอย่างหนัก เพราะงานในหน้าที่มีความผูกพันอยู่กับประชาชนทุกคน มีความสำคัญยิ่งทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และการปกครองของประเทศ ความบกพร่องใด ๆ อันจะเกิดขึ้นย่อมกระทบกระเทือนถึงความมั่นคงของบ้านเมืองโดยตรง ดังนั้น จึงต้องสังวรระวังในเรื่องความเสียหายดังกล่าว และพยายามใช้ความรู้ความสามารถ ความสุขุมรอบคอบ พร้อมทั้งความบริสุทธิ์ใจในการปฏิบัติงานอยู่เสมอ”

ก่อนการจัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรขึ้นใช้ภายในประเทศนั้น รัฐบาลได้สั่งพิมพ์ธนบัตรจาก บริษัท โทมัส เดอ ลา รู จำกัด ในประเทศอังกฤษ และการขนส่งธนบัตรที่ผ่านมามักไม่เป็นปัญหามากนัก จนกระทั่งได้เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้น ในช่วงแห่งสงครามนี้เองที่ได้มีการจัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขึ้น ในวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ โดยภารกิจแรกของ ธปท. ที่ต้องเผชิญทันทีเมื่อแรกตั้งคือ ปัญหาขาดแคลนธนบัตรในช่วงสงคราม เนื่องจากบริษัทไม่สามารถจัดส่งมาที่ประเทศไทยได้ ทำให้ทางการไทยจำเป็นต้องพึ่งพิงแหล่งผลิตอื่น ๆ ทั้งจากประเทศญี่ปุ่นที่เป็นพันธมิตรสงครามและจากโรงพิมพ์ภายในประเทศที่ขาดความพร้อมทั้งวัตถุดิบและเทคโนโลยีสำหรับการพิมพ์ธนบัตรให้ยากต่อการปลอมแปลง เวลาดังกล่าวนี้ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความโกลาหลที่สุดในประวัติศาสตร์การออกใช้ธนบัตรไทยรวมถึงปัญหาเงินเฟ้อที่ลุกลามต่อเนื่อง

สอง การออกบัตรธนาคารของธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นใช้เป็นครั้งแรก ตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ ธปท. มีสิทธิ์แต่ผู้เดียวที่จะนำบัตรธนาคารออกใช้แทนธนบัตรของรัฐบาล แม้ว่า ธปท. จะได้เคยติดต่อให้บริษัทโทมัส เดอ ลา รู จำกัด ออกแบบบัตรธนาคารขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๘๘ แต่ก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้เพราะเกรงว่าประชาชนจะไม่คุ้นชินและไม่เชื่อมั่น พร้อมกับสถานการณ์การเงินของประเทศก็ยังไม่มั่นคง จนกระทั่งวาระมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๖๐ พรรษา ธปท. จึงได้ออกบัตรธนาคารชนิดราคา ๖๐ บาทขึ้น โดยประกาศออกใช้เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๐ เป็นจำนวน ๙,๙๙๙,๙๙๙ ฉบับ โดยขนาดของธนบัตรมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ความกว้างยาวด้านละ ๑๕๙ มิลลิเมตร โดยที่ เลข ๑ หมายถึง การออกบัตรธนาคารของ ธปท. เป็นครั้งแรก เลข ๕ หมายถึง เฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ และเลข ๙ หมายถึง รัชกาลที่ ๙

สาม เอกลักษณ์ของธนบัตรที่แสดงถึงความเป็นชาติไทยได้อย่างสมบูรณ์ การที่มีโรงพิมพ์ธนบัตรขึ้นเองนั้น รวมถึงการมีช่างทั้งด้านเทคนิคและด้านศิลปกรรมเป็นคนไทย ได้ทำให้พัฒนาการด้านการออกแบบรูปพรรณของธนบัตรก้าวไกลไปมาก ซึ่งนอกจากจะเสริมสร้างความน่าเชื่อถือและป้องกันการปลอมแปลงแล้ว ยังทรงคุณค่าด้วยลวดลายไทยที่มีความชดช้อยอ่อนหวาน และแสดงถึงสถาปัตยกรรม ศิลปวัฒนธรรมอันดีของไทย จนอาจกล่าวได้ว่า ธนบัตรไทยที่มีพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพิมพ์เป็นภาพประธานด้านหน้าของธนบัตร และในด้านหลังที่เป็นภาพพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ที่ทรงพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ จึงไม่ได้เป็นเพียงเงินกระดาษที่แสดงมูลค่าตามชนิดราคาเท่านั้น หากแต่สะท้อนคุณค่าความเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยไว้อย่างลงตัว

๘. ในหลวงกับแนวคิดด้านเศรษฐกิจมหภาค

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ มีพระอัจฉริยภาพในทางเศรษฐกิจ และทรงเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความสามารถในการประยุกต์เอาหลักวิชาการมาปรับใช้กับสถานการณ์และสภาพแวดล้อมได้อย่างดียิ่ง แม้พระราชกรณียกิจและพระราชดำรัสของพระองค์ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของประชาชน เศรษฐกิจชนบท และการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศ แต่พระองค์ก็ทรงได้แสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญในด้านเศรษฐกิจมหภาค อีกทั้งยังได้พระราชทานแนวความคิดเพื่อเป็นหลักในการดำเนินชีวิตของประชาชน โดยมุ่งให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและความมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทย

ตัวอย่างเช่น ในช่วงที่ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจและแนวทางการแก้ไขในหลายโอกาส ในพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่บุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ พระองค์ได้ทรงวิเคราะห์สาเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจผ่านเรื่องเล่าสนุก ๆ ๗ เรื่อง ซึ่งพอจะสรุปได้ว่าสาเหตุสำคัญของวิกฤตเศรษฐกิจคือ ๑. ความฟุ้งเฟ้อ การใช้จ่ายเกินตัว ๒. การสร้างหนี้ไปใช้ในสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์และไม่เกิดรายได้ ๓. การลงทุนเกินขนาดที่เหมาะสม ๔. การขาดการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม

การวิเคราะห์ของพระองค์ท่าน มิได้ต่างไปจากการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญในปัจจุบัน ที่มองว่าสาเหตุสำคัญของวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก ได้แก่ การสร้างหนี้อย่างรวดเร็วเกินตัว การขาดการบริหารความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ และการใช้จ่ายและลงทุนเกินตัวที่นำไปสู่ปัญหาความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และการพึ่งพิงเงินทุนเคลื่อนย้ายจากต่างประเทศ และนำไปสู่ปัญหาทางเศรษฐกิจในที่สุด

นอกจากนี้ พระองค์ท่านยังได้พระราชทานแนวคิดเรื่องหลักเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมีหลักคิดสำคัญคือ ‘ความพอดี ความมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน’ และคำนึงถึงการบริหารความเสี่ยง เป็นหลักที่มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และนอกจากจะเป็นการสร้างเสถียรภาพให้กับ ‘ชีวิตของแต่ละคน’ แล้ว ยังเป็นการสร้าง ‘เสถียรภาพ’ ให้เศรษฐกิจในภาพรวมหรือเศรษฐกิจมหภาคอีกด้วย ดังพระราชดำรัสที่ว่า “เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็มและลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป”

๙. กษัตริย์นักเศรษฐศาสตร์ นักพัฒนาที่ยิ่งใหญ่

สมประวิณ มันประเสริฐ

“…ในการพัฒนาประเทศนั้นจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น เริ่มด้วยการสร้างพื้นฐาน คือ ความมีกินมีใช้ของประชาชนก่อน ด้วยวิธีการที่ประหยัดระมัดระวัง แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อพื้นฐานเกิดขึ้นมั่นคงพอควรแล้ว จึงค่อยสร้างเสริมความเจริญขั้นที่สูงขึ้นตามลำดับต่อไป …การถือหลักที่จะส่งเสริมความเจริญให้ค่อยเป็นไปตามลำดับ ด้วยความรอบคอบระมัดระวังและประหยัดนั้น ก็เพื่อป้องกันความผิดพลาดล้มเหลว และเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จได้แน่นอนบริบูรณ์…”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๑๗

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเป็นนักเศรษฐศาสตร์ นักพัฒนาที่มีพระอัจฉริยภาพยิ่ง หากเรามองย้อนกลับไปถึงการพัฒนาของประเทศไทยในช่วง ๗๐ ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นขั้นตอนและเกิดจากการวางแผนอย่างมียุทธศาสตร์ มีโครงการในพระราชดำริหลายโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศและเป็นตัวอย่างสำหรับก้าวเดินแรกของการพัฒนาทางเศรษฐกิจไทยในมิติต่าง ๆ เริ่มจากการพัฒนาภาคเกษตร เป็นเกษตรแปรรูป ต่อเนื่องไปยังการพัฒนาอุตสาหกรรม

ถึงแม้การพัฒนาทางเศรษฐกิจดังกล่าวจะเกิดขึ้นในระดับมหภาคเพื่อยกฐานะของประเทศในภาพกว้าง พระองค์ยังทรงเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาควบคู่กันไปในระดับล่าง ไม่ใช่แต่เพียงมุ่งไปข้างหน้าและละเลยผู้ที่อยู่ข้างหลัง มีโครงการหลวงหลายโครงการเกี่ยวข้องกับคนในพื้นที่ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาและสร้างประโยชน์โดยตรงกับประชาชน ดังนั้น การพัฒนาที่เกิดขึ้นจึงมีทั้งแบบ ‘บนลงล่าง’ และ ‘ล่างขึ้นบน’ ซึ่งเป็นการพัฒนาแบบคู่ขนาน (Dual Track) สามารถช่วยลดปัญหาความเลื่อมล้ำทั้งทางด้านรายได้ โอกาส และการเข้าถึงทรัพยากรของคนในประเทศได้เป็นอย่างดี

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ยังมีพระวิสัยทัศน์กว้างไกลว่า เศรษฐกิจในระยะยาวต้องเติบโตจากการพัฒนาองค์ความรู้ ตัวอย่างเช่น ในภาคเกษตรกรรมมีโครงการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวและการมีแปลงนาทดลอง หรือการพัฒนาสินค้าแปรรูปเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น นมอัดเม็ดที่เราต่างคุ้นเคย ดังนั้น พระองค์ท่านจึงทรงมองแบบนักเศรษฐศาสตร์ว่า เมื่อพัฒนาแล้วต้องพัฒนาต่อ นั่นคือมีการใช้ ‘นวัตกรรม’ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาว

เศรษฐกิจพอเพียงบอกเอาไว้ว่า เราควรทำในสิ่งที่เรามีศักยภาพ อย่าทำเกินทรัพยากรที่มี ดังนั้น หัวใจของเศรษฐกิจพอเพียงก็คือ เศรษฐศาสตร์ การพัฒนาทางเศรษฐกิจไม่สามารถยั่งยืนได้หากคนในระบบเศรษฐกิจทำเกินกว่าทรัพยากรและความสามารถของตน ประสบการณ์จากวิกฤตเศรษฐกิจทำให้เรารู้ว่า สาเหตุส่วนใหญ่มาจากความไม่พอเพียง วิกฤตเศรษฐกิจปี พ.ศ. ๒๕๔๐ มีการกู้เงินไปเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์เป็นจำนวนมาก หลายคนไม่ได้มองตนเองว่ามีศักยภาพหรือไม่ แต่กลับทำเพราะเห็นคนอื่นทำกัน หากเราน้อมรับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ เราจะพบว่าการทำตามคนอื่นนั้นจะไม่เกิดขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการกลับมามองที่ตัวเราเองว่ามีศักยภาพหรือไม่ เช่นเดียวกับการพัฒนาประเทศ การเติบโตที่ ‘รวดเร็วเกินไป’ อาจส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว การเติบโตที่เร็วไปในระยะสั้นแต่สิ่งนั้นกลับนำมาซึ่งวิกฤติเศรษฐกิจจะไม่ยั่งยืนเท่ากับการเติบโตที่มีความ สม่ำเสมอ ทั่วถึง และ ‘พอเพียง’

note

ภาพด้านบนบทความนี้ เป็นภาพถ่ายทางอากาศการแปรอักษรต้นข้าวของพ่อ ของชาวบ้าน บ้านฮากไม้ใต้ ต.ป่าแป๋ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๙ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงพระราชทานธนาคารข้าวแห่งแรกให้แก่ชุมชน ซึ่งขยายผลมาจากธนาคารข้าวบ้านป่าแป๋ เพื่อแก้ปัญหาการมีข้าวไม่พอกินของชุมชน บันทึกภาพ โดยนายทินภัทร ภัทรเกียรติทวี – โพควา โปรดักชั่น

เหตุใดเศรษฐกิจในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเจริญรุ่งเรืองมาก

เหตุใดเศรษฐกิจในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเจริญรุ่งเรืองมาก บ้านเมืองมีความสงบสุข ไม่มีสงคราม ทำให้ชาวจีนดูแลการค้าแทนคนไทย ทำสนธิสัญญาเบอร์นีย์กับอังกฤษ

เพราะเหตุใดพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงรับสมัญญานามว่า “ กษัตริย์เจ้าสัว”

เมื่อครั้งที่ทรงกำกับราชการกรมท่า (ในสมัยรัชกาลที่ 2) ได้ทรงแต่งสำเภาบรรทุกสินค้าออกไปค้าขายในต่างประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้นในท้องพระคลังเป็นอันมาก พระราชบิดาทรงเรียกพระองค์ว่า "เจ้าสัว" เมื่อรัชกาลที่ 2 เสด็จสวรรคต มิได้ตรัสมอบราชสมบัติแก่ผู้ใด ขุนนางและพระราชวงศ์ต่างมีความเห็นว่าพระองค์ (ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นกรม ...

เหตุใดเศรษฐกิจในสมัยรัชกาลที่ 3 จึงมีความเจริญรุ่งเรือง

ในสมัยรัชกาลที่ 3 : ได้มีการแก้ไขวิธีการเก็บภาษีอากรใหม่เพื่อให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้ เพราะในสมัยนี้มีศึกสงครามกับข้าศึกภายนอก ดังนั้นรัชกาลที่ 3 จึงได้ทรงตั้งภาษีอากรใหม่ถึง 38 ชนิด เช่น อากรบ่อนเบี้ยจั่น อากรหวย ภาษีเบ็ดเสร็จลงสำเภา ภาษีพริกไทย (ซึ่งเรียกเก็บจากผู้ซื้อและชาวไร่ผู้ปลูก) ภาษีไม้ฝาง ภาษี ...

บทบาทสำคัญของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวตรงกับข้อใดมากที่สุด

พระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีหลายด้านคือ การบริหารและการปกครอง ทรงจัดระเบียบการบริหารประเทศ ตั้งเมืองขึ้นใหม่ 40 เมือง เช่น เมืองขอนแก่น เมืองอุบล เมืองนครพนม ฯลฯ