หนี้สาธารณะเกิดขึ้นเพราะเหตุใด

นับตั้งแต่เกิดโควิด-19 คำว่า ‘หนี้สาธารณะ’ ปรากฏอยู่ในข่าวบ่อยขึ้น และได้รับความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีข่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ก.กู้เงินฉบับใหม่ ที่กำหนดวงเงินไว้ 7 แสนล้านบาท ก่อนที่จะมีการปรับลดตัวเลขเหลือ 5 แสนล้านบาท ออกเป็น ‘พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564’

‘หนี้สาธารณะ’ คำที่ได้ยินบ่อยๆ คำนี้คืออะไร มีองค์ประกอบอะไรบ้าง ส่งผลกระทบอย่างไร ถ้าหนี้สาธารณะสูงเกินเพดานแล้วยังไงต่อ ทำไมบางประเทศมีหนี้สาธารณะสูงเกิน 200 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีก็ยังอยู่ได้ สรุปว่าหนี้สาธารณะสูงสุดได้แค่ไหนกัน

ถ้าคุณก็สงสัยเหมือนกัน ไทยรัฐออนไลน์ชวนหาคำตอบ

รู้จัก ‘หนี้สาธารณะ’ ให้มากขึ้น

หนี้สาธารณะ หมายถึง ภาระหนี้ของภาคสาธารณะที่เกิดขึ้นเมื่อรัฐมีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย โดยผู้ก่อหนี้ขึ้นคือหน่วยงานภาคสาธารณะ ประกอบด้วยรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และสถาบันที่ไม่หวังผลกำไรของรัฐ นอกจากนั้น ยังรวมถึงหนี้ที่ภาคสาธารณะไม่ได้ก่อขึ้นโดยตรง แต่รับโอนมาจากภาคเศรษฐกิจอื่นตามที่รัฐบาลมีนโยบาย หรือทําข้อตกลงไว้

พูดอย่างง่ายๆ หนี้สาธารณะก็คือ ‘หนี้ของประเทศ’ ซึ่งเกิดจากการที่รัฐกู้ยืมเงินเมื่อมีเงินไม่พอสำหรับรายจ่าย

หนี้สาธารณะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามแหล่งที่มาของเงินกู้ ได้แก่

หนี้ในประเทศ (Internal Debt) เป็นหนี้สาธารณะที่กู้มาจากแหลงเงินต่างๆ ภายในประเทศ อย่างภาคเอกชน ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารกลาง สถาบันการเงินอื่น และประชาชน

หนี้ต่างประเทศ (External Debt) เป็นหนี้สาธารณะที่กู้มาจากแหล่งเงินกู้ภายนอกประเทศ ซึ่งอาจกู้จากบุคคล หรือรัฐบาลต่างประเทศ หรือสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เช่น การกู้ยืมจากธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF)

ประเภทหนี้หรือแหล่งที่มาของเงินกู้มีความสำคัญค่อนข้างมาก เพราะจะทำให้เกิดผลแตกต่างและทิศทางตรงข้ามกันใน 3 เรื่องที่สำคัญดังนี้

1. การกู้เงินต่างประเทศส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของจำนวนเงินในประเทศ หากรัฐบาลกู้เงินจากต่างประเทศเข้ามา ในประเทศเราก็จะมีเงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้น มีเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น และ ‘อำนาจซื้อ’ ของประเทศจะสูงขึ้น แต่การกู้เงินในประเทศไม่ได้ทำให้จำนวนเงินในประเทศเปลี่ยนแปลง เพียงแต่เกิดการโยกย้ายเงินจากภาคเอกชนไปอยู่กับภาคสาธารณะ และเมื่อมีการชำระหนี้เงินก็จะย้ายจากภาคสาธารณะกลับไปสู่ภาคเอกชน

2. หนี้ต่างประเทศต้องกู้เป็นเงินตราต่างประเทศ จะเสี่ยงต่ออัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่า-แข็งค่า และส่งผลต่อจำนวนเงินที่ต้องชำระหนี้ กล่าวคือ หากครบกำหนดชำระหนี้ในขณะที่เงินบาทอ่อนค่า รัฐบาลไทยก็ต้องชำระหนี้สาธารณะเป็นจำนวนมากขึ้นกว่าที่คำนวณไว้ ณ เวลากู้ แต่ในทางตรงข้าม หากครบกำหนดชำระหนี้ในขณะที่เงินบาทแข็งค่า ก็จะส่งผลดีให้ไทยชำระหนี้เป็นจำนวนเงินที่น้อยลงกว่าที่คำนวณไว้ ณ เวลากู้

3. สิ่งที่อาจจะมาพร้อมกับเงินกู้จากต่างประเทศก็คือ เงื่อนไขที่เจ้าหนี้กำหนดให้รัฐบาลที่เป็นลูกหนี้ต้องปฏิบัติ เช่น มีข้อตกลงว่าจะต้องซื้อสินค้าจากประเทศผู้ให้กู้ หรือถ้ากู้เงินจากธนาคารโลก ก็ต้องรับเงื่อนไขที่ธนาคารโลกจะเข้ามาควบคุมการดำเนินงานตามโครงการกู้อย่างใกล้ชิด

จะเห็นว่าหนี้ต่างประเทศค่อนข้างเสี่ยงต่อการเกิดผลด้านลบ จึงมีการกำหนด ‘กรอบวินัยการเงินการคลัง’ ไว้ว่า หนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต้องไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของหนี้สาธารณะทั้งหมด (ปัจจุบันอยู่ที่ 1.18 เปอร์เซ็นต์) และภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต้องไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ของรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ (ปัจจุบันอยู่ที่ 0.06 เปอร์เซ็นต์)

หนี้สาธารณะส่งผลอย่างไรกับประชาชน

ความเกี่ยวข้องโดยตรงระหว่างประชาชนกับหนี้สาธารณะเป็นลักษณะเดียวกันกับความเกี่ยวข้องระหว่างประชาชนกับงบประมาณแผ่นดิน คือ ประชาชนจ่ายภาษีเป็นรายได้ของรัฐ ให้รัฐนำไปใช้เป็นงบประมาณแผ่นดิน และงบประมาณสำหรับชำระหนี้สาธารณะ นอกจากนั้นประชาชนบางคนมีความเกี่ยวข้องกับหนี้สาธารณะในฐานะ ‘เจ้าหนี้’ โดยการซื้อพันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง ตราสารหนี้ต่างๆ

ประชาชนเป็นทั้งผู้มีส่วนได้และผู้มีส่วนเสียจากหนี้สาธารณะ ผลกระทบจากหนี้สาธารณะ ไม่ว่าทางบวกหรือทางลบ ล้วนส่งผลต่อประชาชนทั้งสิ้น หากรัฐบาลนำงบประมาณจากการกู้หนี้มาใช้พัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะโดยการสร้างสาธารณูปโภค ลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐาน ใช้เพื่อการจ้างงาน หรือใช้ไปกับการส่งเสริมกระตุ้นเศรษฐกิจ ประชาชนก็จะได้รับประโยชน์ต่างๆ เหล่านั้น แต่หากหนี้สาธารณะทำให้เกิดผลลบทางเศรษฐกิจ ประชาชนก็ได้รับผลกระทบอย่างยากจะเลี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการที่เศรษฐกิจชะลอตัว หดตัว

หากประเทศมีหนี้สาธารณะสูง รัฐบาลอาจจะเพิ่มอัตราภาษีเพื่อจัดเก็บรายได้ให้ได้มากขึ้น นี่ก็เป็นผลกระทบอย่างหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน หรือกรณีเลวร้ายมากๆ คือ หากประเทศมีหนี้สาธารณะสูงขณะที่เศรษฐกิจตกต่ำ รัฐบาลไม่มีความสามารถชำระหนี้ ประเทศก็อาจถึงขั้นล้มละลาย เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ธุรกิจล้ม คนตกงาน

ทั้งนี้ หนี้สาธารณะจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหรือไม่ มากหรือน้อยอย่างไร ไม่ได้ขึ้นอยู่กับมูลค่าหนี้เพียงปัจจัยเดียว แต่ประสิทธิภาพในการใช้เงินที่กู้มานั้นเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ มีการศึกษาพบว่า กลุ่มประเทศที่การเติบโตของเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากหนี้สาธารณะสูงสุดไม่ใช่กลุ่มประเทศที่มีหนี้สาธารณะสูงที่สุด

ตอนนี้หนี้สาธารณะไทยเป็นอย่างไร

ประเทศไทยมีหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 จำนวน 8,472,186.98 ล้านบาท คิดเป็น 54.28 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี โดยภาคที่ก่อหนี้มากที่สุดก็คือภาครัฐบาล ซึ่งหนี้รัฐบาลยังแบ่งแยกย่อยออกเป็น 3 ส่วน คือ หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง หนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ และหนี้เงินกู้ล่วงหน้าเพื่อปรับโครงสร้างหนี้

ส่วนดอกเบี้ยของหนี้สาธารณะคงค้างมีทั้งหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยลอยตัว หนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยแปรผันตามเงินเฟ้อ และหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่

ในจำนวนหนี้สาธารณะรวมทั้งหมด 8,472,186.98 ล้านบาท มีองค์ประกอบของหนี้ในสัดส่วน ดังนี้

- หนี้รัฐบาล จำนวน 7,380,114.92 ล้านบาท คิดเป็น 87.11 เปอร์เซ็นต์

- หนี้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 799,090.17 ล้านบาท คิดเป็น 9.43 เปอร์เซ็นต์

- หนี้รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) จำนวน 285,537.53 ล้านบาท คิดเป็น 3.37 เปอร์เซ็นต์

- หนี้หน่วยงานของรัฐ จำนวน 7,624.36 ล้านบาท คิดเป็น 0.09 เปอร์เซ็นต์

- หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จำนวน 0 บาท คิดเป็น 0 เปอร์เซ็นต์

หนี้สาธารณะเกิดขึ้นเพราะเหตุใด

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนหนี้ที่ก่อจากหน่วยงานไหน ล้วนแต่เป็นหนี้สาธารณะที่ใช้เงินภาษีของประชาชนไปชำระทั้งสิ้น นี่จึงเป็นเหตุผลที่ประชาชนจำนวนมากออกมาวิพากษ์วิจารณ์ทุกครั้งที่รัฐบาลกู้เงิน ซึ่งทำให้ตัวเลขหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น

เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลเพิ่งออก ‘พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564’ หรือ พ.ร.ก.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท ซึ่งส่งผลต่อประมาณการหนี้สาธารณะ ณ เดือนกันยายน 2564

หากคำนวณหนี้สาธารณะบนสมมติฐานที่ว่า พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท กู้เต็มวงเงินแล้ว บวกกับการกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท อีก 100,000 ล้านบาทภายในปีงบประมาณ 2564 จะทำให้ ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 มีหนี้สาธารณะคงค้าง 58.56 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี แต่ถ้ารัฐบาลกู้เงินเต็มจำนวน 500,000 ล้านบาทภายในปีงบประมาณ 2564 จะทำให้หนี้สาธารณะ ณ ปีงบประมาณ 2564 สูงเกินเพดาน

ดังนั้น คาดว่ารัฐบาลจะยังไม่กู้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 500,000 ล้านบาทเต็มวงเงินก่อนวันที่ 30 กันยายน 2564 เพื่อให้หนี้สาธารณะยังไม่เกินเพดานภายในไปนี้ อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณ 2565 หนี้สาธารณะจะเกิน 60 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีอย่างแน่นอน

หนี้เกินเพดานแล้วอย่างไรต่อ หนี้สูงแค่ไหนคือไม่ไหวแล้ว

เมื่อกรอบวินัยการเงินการคลังของไทยกำหนดให้หนี้สาธารณะไม่เกิน 60 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ถ้าเกินแล้วรัฐบาลจะทำอย่างไรต่อไป?

คาดการณ์ว่าจะมีการแก้ไขเพดานหนี้สาธารณะให้สูงขึ้น เพื่อไม่ให้หนี้สาธารณะในระยะใกล้นี้เกินกรอบวินัยการเงินการคลัง

การทบทวนกรอบวินัยการเงินการคลังนั้นกำหนดรอบการทบทวนไว้รอบละ 3 ปี ซึ่งปี 2564 นี้เป็นปีที่ครบรอบการทบทวนกรอบวินัยการเงินการคลังพอดี จึงคาดว่าจะมีการขยายเพดานหนี้สาธารณะก่อนในปีนี้ แล้วจึงกู้เงิน ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 500,000 ล้านบาทเต็มวงเงินหลังจากขยายเพดานหนี้แล้ว

หนี้สาธารณะของไทยที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เนื่องจากต้องทุ่มงบประมาณไปกับการรับมือ แก้ปัญหา เยียวยาผลกระทบจากระบาดของโควิด-19

รายงาน Fiscal Monitor Reports โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ที่เปิดเผยเมื่อเดือนเมษายน 2564 ระบุว่า หนี้สาธารณะทั่วโลก ณ สิ้นปี 2563 อยู่ที่ 97.3 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ซึ่งเพิ่มขึ้น 13 เปอร์เซ็นต์จากระดับก่อนเกิดโควิด-19 คาดการณ์ว่าในปี 2564 หนี้สาธารณะทั่วโลกจะพุ่งขึ้นเป็น 98.9 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี แล้วเพิ่มเป็น 99 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีในปี 2565 และจะถึง 99.5 เปอร์เซ็นต์ในปี 2567

ประเทศที่มีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงที่สุดในโลก ณ สิ้นปี 2563 คือ ญี่ปุ่นที่มีหนี้สาธารณะมากถึง 256.2 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มเป็น 256.5 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีในปี 2564 นี้

เห็นตัวเลขเหล่านี้แล้วชวนสงสัยว่า ถ้าหนี้สาธารณะเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 97.3 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี และประเทศที่มีหนี้สูงถึง 256.2 เปอร์เซ็นต์ก็ยังอยู่ได้ แล้วหนี้สูงขนาดไหนจึงจะถือว่าเป็นวิกฤติหนัก ไม่ไหวแล้ว หรือว่ามีปัจจัยและเงื่อนไขอื่นใดอีกบ้างที่เราควรรู้นอกจากตัวเลขสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพี?

คำตอบคือ ใช่ หนี้สาธารณะสูงได้มากสุดเท่าไหร่ ต้องพิจารณาหลายปัจจัยและเงื่อนไขที่เกี่ยวพันกันอยู่ ซึ่งมีรายละเอียดค่อนข้างซับซ้อน ยกตัวอย่างปัจจัยต่อไปนี้

ปัจจัยอันหนึ่งคือ ต้องดูว่าเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ อยู่ในระดับไหน หากเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (Advanced Economies) ก็สามารถมีหนี้สาธารณะได้สูงกว่ากลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา (Emerging and Developing Economies) เพราะประเทศพัฒนาแล้วมีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงกว่า ดังนั้นถึงแม้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่สูงเท่ากัน ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบเท่ากัน ญี่ปุ่นก็เป็นหนึ่งในประเทศพัฒนาแล้ว จึงสามารถมีหนี้สาธารณะสูงถึงระดับนั้นได้

อีกปัจจัยหนึ่งคืออัตราดอกเบี้ย หากทิศทางอัตราดอกเบี้ยโน้มต่ำกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ จะทำให้ค่าสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีลดลงโดยอัตโนมัติ และหากประเทศไหนมีหนี้ที่อัตราดอกเบี้ยคงที่ในอัตราต่ำ ก็จะทำให้มีภาระหนี้ต่ำกว่าประเทศที่หนี้มีอัตราดอกเบี้ยสูง

สมมติว่า 2 ประเทศมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูง 70 เปอร์เซ็นต์เท่ากัน แต่ประเทศหนึ่งมีหนี้ที่อัตราดอกเบี้ยถูกกว่า ประเทศนั้นก็มีภาระหนี้ที่ต้องชำระต่ำกว่า ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นมีหนี้ที่อัตราดอกเบี้ยต่ำมาก

ปัจจัยต่อมาคือ หนี้ต่างประเทศ เป็นปัจจัยอัตโนมัติที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงหนี้คงค้าง หากสกุลเงินในประเทศแข็งค่าขึ้นก็จะทำให้มูลค่าหนี้ลดและสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีลดลงด้วย ในทางกลับกัน หากสกุลเงินในประเทศอ่อนค่า ก็จะทำให้มูลค่าหนี้เพิ่มขึ้นและสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้น ก็ต้องไปดูในรายละเอียดด้วยว่าประเทศนั้นๆ เป็นหนี้นอกประเทศมากหรือน้อย หากเป็นหนี้ต่างประเทศมากก็เสี่ยงที่จะเดือดร้อนมากกว่าประเทศที่หนี้ต่างประเทศน้อย

และอีกปัจจัยที่เข้ากับสถานการณ์ในบ้านเราตอนนี้มากๆ คือ หนี้สาธารณะที่กู้มานั้นถูกใช้ไปเพื่ออะไร? หากใช้ไปกับการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ แล้วได้ผล-ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว จีดีพีโตขึ้น ก็จะทำให้สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีลดลงไปเองโดยอัตโนมัติ

หลายปัจจัยเหล่านี้บอกเราว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีนั้นแปรผกผันเพิ่มขึ้นหรือน้อยลงได้แม้จำนวนเงินกู้เท่าเดิม ดังนั้นหนี้สาธารณะสูงได้เท่าไรนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยมากๆ ต้องดูเป็นรายเคสไป

บทความนำเสนอในงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทยประจำปี 2557 เรื่อง ‘สร้างรากฐานความยั่งยืนทางการคลัง...สู่เสถียรภาพระบบการเงินไทย’ โดย ฐิติมา ชูเชิด, ศราวัลย์ อังกลมเกลียว และปัณฑา อภัยทาน อธิบายไว้ว่า หลักการสำคัญของความยั่งยืนทางการคลัง คือ ประเทศสามารถบริหารจัดการภาระหนี้และรักษาระดับหนี้สาธารณะให้อยู่ในวิสัยที่ควบคุมได้ในระยะยาว ซึ่งไม่มีเกณฑ์เพดานหนี้ที่ตายตัว แต่จะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศและช่วงเวลา

ที่ผ่านมา นานาชาติยึดเอาตัวเลข 90 เปอร์เซ็นต์เป็นมาตรฐานค่าลิมิตว่าหนี้สาธารณะไม่ควรสูงไปกว่านี้ ซึ่งตัวเลขนี้มาจากงานศึกษาวิจัยชื่อว่า Growth in a Time of Debt โดย คาร์เมน เอ็ม. ไรน์ฮาร์ต (Carmen M. Reinhart) และ เคนเนธ เอส. โรกอฟฟ์ (Kenneth S. Rogoff) ที่พบว่า ประเทศในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีระดับหนี้สาธารณะสูงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี การเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ -0.1 เปอร์เซ็นต์ หรือเศรษฐกิจหดตัวเล็กน้อย ส่วนประเทศเศรษฐกิจใหม่หรือประเทศกำลังพัฒนา การมีหนี้สาธารณะจากแหล่งเงินต่างประเทศ (external debt) ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี จะทำให้การเติบโตของจีดีพีติดลบไป 2 เปอร์เซ็นต์

แต่ตัวเลข 90 เปอร์เซ็นต์ที่ยึดถือกันมาจากการศึกษาของสองนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง ถูกหักล้างในเวลาต่อมาโดยบทความชื่อว่า Does High Public Debt Consistently Stifle Economic Growth? A Critique of Reinhart and Rogoff ซึ่งเป็นความร่วมมือของ โธมัส เฮิร์นดอน (Thomas Herndon), ไมเคิล แอช (Michael Ash) และ โรเบิร์ต พอลลิน (Robert Pollin)

โธมัส เฮอร์ดอน นำข้อมูลสถิติจากการศึกษาวิจัยของไรน์ฮาร์ตและโรกอฟฟ์มาตรวจสอบและคำนวณใหม่ พบว่าการศึกษาวิจัยของไรน์ฮาร์ตและโรกอฟฟ์มีความผิดพลาดที่ส่งผลต่อนัยสำคัญของผลการศึกษา

การคำนวณใหม่ของเฮิร์นดอน (คำนวณแบบถ่วงน้ำหนักข้อมูลทั้งหมด ต่างจากที่ไรน์ฮาร์ต และโรกอฟฟ์เลือกคำนวณบางช่วงเวลาและมีการเว้นบางประเทศ) พบว่า กลุ่มที่หนี้ต่ำกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี จีดีพีโต 4.2 เปอร์เซ็นต์, กลุ่มที่มีหนี้ 30-60 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี จีดีพีโต 3.1 เปอร์เซ็นต์, กลุ่มที่มีหนี้ 60-90 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี จีดีพีโต 3.2 เปอร์เซ็นต์ ส่วนกลุ่มที่หนี้เกิน 90 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี จีดีพีโต 2.2 เปอร์เซ็นต์

และถ้าหากคำนวณโดยแบ่งช่วงเวลา ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะต่างออกไป เนื่องจากบริบทต่างๆ ในแต่ละช่วงเวลาก็เป็นตัวแปรหนึ่งที่มีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ

เฮิร์นดอนจึงสรุปแย้งว่า ไม่มีความเชื่อมโยงที่ชัดเจน-ไม่เป็นการแปรผันตรงระหว่างการเติบโตของเศรษฐกิจกับระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพี อย่างที่ไรน์ฮาร์ต และโรกอฟฟ์สรุปไว้

การหาคำตอบว่า หนี้สาธารณะสูงแค่ไหนที่ถือว่าไม่ไหวแล้ว หรือค่าสูงสุดที่หนี้สาธารณะจะสูงได้คือเท่าไหร่ ตอนนี้จึงหาได้เพียงคำตอบที่ไม่มีข้อสรุปตายตัว ปัจจุบันตัวเลขนี้ยังเป็นข้อถกเถียงในแวดวงเศรษฐศาสตร์โลก และในระหว่างที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ หลายๆ ประเทศก็ยังคงใช้ตัวเลขเดิมที่เคยใช้กันมา ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนายึดตัวเลข 60 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีเป็นเพดานกรอบความยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะหาข้อสรุปได้หรือไม่ แต่หากพิจารณาหลายๆ ปัจจัยที่ได้กล่าวถึงไปก่อนหน้านี้ อาจจะพอพูดได้ว่า หนี้สาธารณะของประเทศสามารถสูงที่สุดได้แค่ไหน ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับผู้บริหารประเทศนั้นๆ ด้วยว่าสามารถบริหารเศรษฐกิจของประเทศให้มีศักยภาพที่จะเติบโตแค่ไหน.

หนี้สาธารณะคืออะไร มีสาเหตุมาจากอะไร

หนี้สาธารณะ ความหมายของหนี้สาธารณะหนี้สาธารณะ” หมายถึง “การกู้ยืมเงินของรัฐบาลเมื่อรัฐบาลมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย จึงจําเป็นต้องกู้เงินมาใช้จ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลของประเทศกําลังพัฒนา แต่เดิมเรามักมีความรู้สึกเกี่ยวกับการก่อหนี้ยืมสินไปในทางที่ไม่ดี ครัวเรือนใดมีหนี้สินล้นพ้นตัวแสดงว่าฐานะการเงินไม่ดี สังคม ...

ข้อใดเป็นเหตุผลที่รัฐบาลก่อหนี้สาธารณะ

วัตถุประสงค์ในการก่อหนี้สาธารณะ ตามพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ได้กำหนดให้กระทรงการคลังกู้เงินได้เฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์อย่าง ใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ (1) ชดเชยการขาดดุลงบประมาณ หรือเมื่อมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ (2) พัฒนาเศรษฐกิจและสังคม (3) ปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ GDP 1 (4) ให้หน่วยงานอื่นกู้ต่อ

หนี้สาธารณะ สําคัญอย่างไร

แล้วจะเป็นอย่างไรเมื่อรัฐบาลสร้าง “หนี้สาธารณะ” เพิ่ม การสร้างหนี้อย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้ในอนาคตประชาชนมีรายได้มากขึ้น ในภาพรวมประเทศจะมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็จะยิ่งทำให้สามารถเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น ก็จะมีเงินจ่ายคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยที่กู้ยืมมาได้อย่างไม่มีปัญหานั่นเอง

หลักในการก่อหนี้สาธารณะมีอะไรบ้าง

หลักการจัดการการก่อหนี้สาธารณะ 1. การให้ได้เงินกู้ครบถ้วนตามวงเงินที่ก าหนด 2. การประหยัดค่าใช้จ่ายและได้อัตราดอกเบี้ยต ่าสุด 3. การให้ได้การกระจายของภาระหนี้ที่สม ่าเสมอ 4. การให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางการเงินของประเทศ 5. การรักษาตลาดของหลักทรัพย์รัฐบาลให้คงอยู่ในความสนใจ หรือเป็นที่นิยมของตลาด 6. การกระจายเงินกู้