เมื่อเกิดภูเขาไฟปะทุควรปฏิบัติอย่างไร

เมื่อเกิดภูเขาไฟปะทุควรปฏิบัติอย่างไร

ภูเขาไฟ
     ภูเขาไฟ เป็นธรณีสัณฐานที่หินหนืดปะทุผ่านขึ้นมายังพื้นผิวของดาวเคราะห์ ภูเขาไฟมักเกิดขึ้นใกล้กับแนวรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลก อย่างไรก็ตาม ยังมีภูเขาไฟที่เป็นข้อยกเว้น เรียกว่า จุดร้อนภูเขาไฟ (Volcanic Hotspot)
การเกิดภูเขาไฟระเบิด
     ""ภูเขาไฟระเบิด"" เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ร้ายแรงอย่างหนึ่ง การระเบิดของภูเขาไฟ แสดงให้เห็นว่าใต้เปลือกโลกลงไปมีความร้อนสะสมอยู่มาก ภูเขาไฟเกิดจากหินหนืดร้อน เหลว (แมกมา) ที่อยู่ในส่วนลึกใต้เปลือกโลก เคลื่อนตัวด้วยแรงดันออกมาสู่ผิวของเปลือกโลก ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ และทางเคมีภายในเปลือกโลกขึ้น อัตราความรุนแรง ของการระเบิดขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการระเบิด ความดันของไอ และความหนืดของลาวา ถ้าลาวาข้นมาก ๆ อัตราความรุนแรงของการระเบิดจะรุนแรงมากตามไปด้วย เวลาภูเขาไฟระเบิด มิใช่มีแต่ลาวาที่ไหลออกมาเท่านั้น ยังมีไอน้ำ ก๊าซ ฝุ่นผงเถ้าถ่านต่าง ๆ ออกมาด้วย พวกไอน้ำจะควบแน่นกลายเป็นน้ำ นำเอาฝุ่นละอองเถ้าต่าง ๆ ที่ตกลงมาด้วยกันไหลบ่ากลายเป็นโคลนท่วมในบริเวณเชิงเขาต่ำลงไป ยิ่งถ้าภูเขาไฟนั้นมีหิมะปกคลุมอยู่ มันจะละลายหิมะ นำโคลนมาเป็นจำนวนมากได้ ภูเขาไฟมักเกิดขึ้นตามแนวขอบของแผ่นเปลือกโลก ตามแนวเทือกเขาริมฝั่งมหาสมุทรของทวีปต่าง ๆ รวมทั้งในบริเวณหมู่เกาะในมหาสมุทร บริเวณรอบ ๆ มหาสมุทรแปซิฟิกจะมีภูเขาไฟเป็นจำนวนมากตามแนวขอบของมหาสมุทรแปซิฟิก จนถูกขนานนามว่าเป็น "วงแหวนแห่งไฟ" (Ring of Fire) นอกจากนี้ก็มีที่มหาสมุทรอินเดียทางตอนเหนือและพบเพียงเล็กน้อยในทะเลแคริเบียน ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และบนเกาะไอซ์แลนด์
การจำแนกภูเขาไฟตามรูปร่าง
ปกติจะมีการจำแนกภูเขาไฟตามรูปร่าง ตามส่วนประกอบที่ทำให้เกิด และชนิดของการประทุ โดยสรุปแล้วเราจะจำแนกภูเขาไฟได้ 4 ลักษณะคือ
          1. ภูเขาไฟแบบกรวยสูง (Steep cone) เกิดจากลาวาที่มีความเป็นกรด หรือ Acid lava cone รูปกรวยคว่ำของภูเขาไฟเกิดจากการทับถมของลาวาที่เป็นกรด เพราะประกอบด้วยธาตุซิลิกอนมากกว่าธาตุอื่นๆ ลาวามีความข้นและเหนียว จึงไหลและเคลื่อนตัวไปอย่างช้าๆ แต่จะแข็งตัวเร็ว ทำให้ไหล่เขาชันมาก ภูเขาไฟแบบนี้จะเกิดการระเบิดอย่างรุนแรง
          2. กรวยภูเขาไฟสลับชั้น (Composite Cone Volcano) เป็นภูเขาไฟซึ่งเกิดจากการสลับหมุนเวียนของชั้นลาวา และเศษหิน ภูเขาไฟชนิดนี้อาจจะดันลาวาไหลออกมาเป็นเวลานาน และจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการประทุอย่างกะทันหัน ภูเขาไฟชนิดนี้ที่มีชื่อ เช่น ภูเขาไฟฟูจิ (ญี่ปุ่น), ภูเขาไฟมายอน (ฟิลิปปินส์) และ ภูเขาไฟเซนต์เฮเลน (สหรัฐอเมริกา)
          3. ภูเขาไฟรูปโล่ (Shield Volcano) เป็นภูเขาไฟที่มีขนาดใหญ่ โดยพื้นฐานแล้วภูเขาไฟชนิดนี้เกิดจาก ลาวาชนิดบาซอลท์ที่ไหลด้วยความหนืดต่ำ ลาวาที่ไหลมาจากปล่องกลาง และไม่กองสูงชัน เหมือนภูเขาไฟชนิดกรวยสลับชั้น ภูเขาไฟชนิดนี้มักจะเป็นภูเขาไฟที่ใหญ่ เช่น ภูเขาไฟ Mauna Loa (ฮาวาย)
          4. กรวยกรวดภูเขาไฟ (Cinder Cone) ภูเขาไฟชนิดนี้จะสูงชันมาก และเกิดจากลาวาที่พุ่งออกมาทับถมกัน ลาวาจะมีความหนืดสูง การไหลไม่ต่อเนื่อง และมีลักษณะเป็นลาวาลูกกลมๆ ที่พุ่งออกมาจากปล่องเดี่ยว และทับถมกันบริเวณรอบปล่อง ทำให้ภูเขาไฟชนิดนี้ไม่ค่อยก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตมากมาย
ประโยชน์ของการเกิดภูเขาไฟ
             - แผ่นดินขยายกว้างขึ้นหรือสูงขึ้น
             - เกิดเกาะใหม่ภายหลังที่เกิดการปะทุใต้ทะเล
             - ดินที่เกิดจากภูเขาไฟระเบิดจะอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุต่างๆ
             - เป็นแหล่งเกิดน้ำพุร้อน
             - การระเบิดของภูเขาไฟช่วยปรับระดับของเปลือกโลกให้อยู่ในภาวะสมดุล
             - การเคลื่อนที่ของลาวาจากการระเบิดของภูเขาไฟ ทำให้หินอัคนีและหินชั้น ซึ่งอยู่ใต้ที่ลาวาไหลผ่าน เกิดการแปรสภาพเป็นหินแปรที่แข็งแกร่งขึ้น
             - แหล่งภูเขาไฟระเบิด ทำให้เกิดแหล่งแร่ที่สำคัญขึ้น เช่น เพชร เหล็กและธาตุอื่น ๆ อีกมากมาย
             - แหล่งภูเขาไฟระเบิดจะเป็นแหล่งดินดีที่เหมาะแก่การเพาะปลูก เช่น ดินที่อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี เป็นต้น
             - แหล่งภูเขาไฟ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น อุทยานแห่งชาติฮาวาย ในอเมริกา หรือแหล่งภูกระโดง ภูอังคาร ในจังหวัดบุรีรัมย์ของไทย เป็นต้น
             - ฝุ่น เถ้าภูเขาไฟที่ล่องลอยอยู่ในชั้นสเตรโตสเฟียร์ ทำให้บรรยากาศโลกเย็นลง ปรับระดับอุณหภูมิของบรรยากาศชั้น โทรโพสเฟียร์ของโลกที่กำลังร้อนขึ้น
ผลกระทบจากการระเบิดของภูเขาไฟ
             - แรงสั่นสะเทือนที่สั่นมาก ทั้งการเกิดแผ่นดินไหวเตือน แผ่นดินไหวจริง และแผ่นดินไหวติดตาม ประชาชนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บนเชิงภูเขาไฟอาจหนีไม่ทันเกิดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน
             - การเคลื่อนที่ของลาวา อาจไหลออกมาจากปากปล่องภูเขาไฟเคลื่อนที่รวดเร็วถึง 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มนุษย และสัตว์อาจหนีภัยไม่ทันเกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง
             - เกิดเถ้าภูเขาไฟ ระเบิดขึ้นสู่บรรยากาศ ครอบคลุมอาณาบริเวณใกล้ภูเขาไฟ และลมอาจพัดพาไปไกลจากแหล่งภูเขาไฟระเบิดหลายพันกิโลเมตร เช่น ภูเขาไฟพินาตูโบระเบิดที่เกาะลูซอนประเทศฟิลิปปินส์ ฝุ่นภูเขาไฟยังตกทางจังหวัดภาคใต้ ของประเทศไทย เช่น จังหวัดสงขลา นราธิวาส และปัตตานี เกิดมลภาวะทางอากาศ และแหล่งน้ำกินน้ำใช้ของประชาชน รวมทั้งฝุ่นภูเขาไฟได้ขึ้นไปถึงบรรยากาศขั้นสตราโตสเฟียร์ ใช้เวลานานหลายปี ฝุ่นเหล่านั้นถึงจะตกลงบนพื้นโลกหมด
             - เกิดคลื่นสึนามิ ขณะเกิดภูเขาไฟระเบิด โดยเฉพาะภูเขาไฟใต้ท้องมหาสมุทร คลื่นนี้จะโถมเข้าหาฝั่งสูงกว่า 30,000 เมตร หลังจากภูเขาไฟระเบิด เถ้าภูเขาไฟจะถล่มลงมา ทำให้พื้นที่ใกล้เคียงถูกทำลาย
ข้อควรปฏิบัติในการรับมือภูเขาไฟปะทุ
         1. ก่อนเกิดเหตุ ควรสร้างช่องทางติดต่อสื่อสารฉุกเฉิน ตกลงกันในครอบครัวว่าจะติดต่อกันอย่างไรด้วยวิธีไหน ถ้าเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน จะไปเจอกันที่ไหน
         2. ติดตามข่าวสารจากทางราชการและเมื่อทางการสั่งอพยพให้อพยพออกจากพื้นที่ทันทีอาจไปรวมตัวกันที่สถานที่หลบภัยทันที
         3. ไม่ควรหลบอยู่ในอาคารสิ่งก่อสร้างเพราะอาจถล่มลงมาจากแผ่นดินไหวหรือเถ้าภูเขาไฟได้
         4. เตรียมอุปกรณ์ยังชีพให้พร้อม
                  - ไฟฉาย และ ถ่านที่ใช้งานได้
                  - ยาสามัญประจำบ้าน และ ต้องรู้วิธีใช้
                  - น้ำ อาหารแห้ง หรืออาหารที่สามารถใช้กินได้ยามฉุกเฉิน
                  - หน้ากากกันฝุ่นหรือหน้ากากอนามัยและแว่นตาเพื่อป้องกันเถ้าของภูเขาไฟ
                  - เสื้อแขนยาว และ กางเกงขายาว วิทยุที่ฟัง AM-FM ได้

เมื่อเกิดภูเขาไฟปะทุควรปฏิบัติอย่างไร

     https://th.wikipedia.org/wiki/ภูเขาไฟ

เมื่อเกิดภูเขาไฟปะทุควรปฏิบัติอย่างไร