ใช้บัตรประชาชนคนอื่น ผิดอะไร

เป็นเด็กไม่มีพ่อ แม่ ป้าที่เลี้ยงมาก็เสียชีวิตไปแล้ว 3 ปีก่อนที่จะเกิดเรื่องไปถามกับญาติที่รู้จักก็ไม่มีใครรู้ว่าเรามาจากไหน บอกแค่ว่าเป็นลูกของน้องชาย เลยไม่รู้ว่าเราเป็นใคร โดนเลี้ยงมาแบบคนจีนได้เรียนหนังสือ

ทำงานบ้านอยู่กับบ้านจนอายุ 19 ถึงได้ย้ายออกมาเช่าบ้านอยู่เองค่ะ ไม่กล้าไปถามตำตรวจว่าเรื่องไปถึงไหนแล้ว

ไม่กล้าถามเจ้าหน้าที่เขตด้วยว่าเป็นยังไง

เจ้าหน้าที่เขตแจ้งว่าเอกสารเราไม่พอเลยต้องยกบัตรให้เค้าไปค่ะ

ตอนนี้ต้องเงียบไว้ กลัวตำรวจจับ

น้าสามีโดนฟ้องเรื่องรับเข้าบ้านแต่อัยการไม่รับฟ้องเพราะไม่รู้เรื่อง

มีลูกอายุ 3.9 ปี เป็นห่วงลูกมาก

ใครรู้รบกวนตอบหน่อยนะค่ะ

+++++++++++++++++++++++++++++++++

สืบเนื่องมาจากคำถามของคุณหนูรี

http://www.gotoknow.org/questions/16108

ขอลองแนะนำดู

ถ้าข้อมูลที่คุณให้มาเป็นความจริง โดยเฉพาะเรื่องอายุ

คุณอายุ ๒๙ ปี เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๓ และถูกยึดบัตรประจำตัวประชาชนโดยเจ้าหน้าที่เขต (กทม.)

แสดง ว่า เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบจากฐานคอมพิวเตอร์ออนไลน์ ว่าตัวคุณมิใช่บุคคลที่แท้จริง (มีการสวมชื่อสวมตัวบุคคลอื่น) เจ้าหน้าทีเขตจึงยึดบัตรประจำตัวประชาชนของคุณไว้  ตั้งแต่ปี ๒๕๕๓

แสดงว่า คุณน่าจะเกิดประมาณ ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ปัจุบัน คุณมีอายุประมาณ ๓๑ -๓๒ ปี

คุณทำบัตรประจำตัวประชาชนที่จ.ราชบุรี เมื่ออายุ ๑๕ ปี ประมาณ พ.ศ. ๒๕๓๙

วิเคราะห์ประมาณว่า

ช่วงประมาณปี ๒๕๓๙-๒๕๔๐ มีการเริ่มเปิดระบบออนไลน์การจัดทำทะเบียนราษฎร์ แรกสุดจะเปิดจังหวัดที่เป็นศูนย์ภาคก่อน เช่น จ.นครราชสีมา ภาค ๓ จังหวัดเชียงใหม่ ภาค .... จังหวัดสงขลา ภาค ....

สำหรับจังหวัดราชบุรี ไม่ทราบว่าเปิดออนไลน์ตอนไหน แต่คิดว่าคงหลังปี ๒๕๔๐ แน่นอน เพราะมิใช่จังหวัดศูนย์ภาค

แสดงว่าที่มีคนพาไปทำบัตรนั้น ไปสวมชื่อ สวมตัวบุคคลอื่น ช่วงแรก ๆ ตรวจสอบไม่ได้ และเป็นการทำบัตรครั้งแรก ๑๕ ปี จึงตรวจสอบไม่ได้

++++++++++++++++++++++++++++++++++

ความ จริงคุณไม่น่าทำเช่นนั้น คุณควรใช้วิธีอื่น คือ ถ้าคุณแน่ใจว่ามีสัญชาติไทย (บิดาหรือมารดามีสัญชาติไทย) คุณก็ขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน หรือขอแจ้งเกิดเกินกำหนดเวลา

แต่ปัญหาของคุณ เข้าลักษณะว่าไม่ทราบว่าใครเป็นพ่อเป็นแม่  เป็นเด็กกำพร้า ผู้อุปการะ (ป้า) ก็ตายไปได้ ๓ ปีแล้ว (ตายประมาณปี ๒๕๕๒ - ๕๓) แสดงว่า คุณมีสัญชาติไทยแน่นอน (ถ้าป้ามีสัญชาติไทย) และคุณหนูรีจะเข้าลักษณะของ "บุคคลไร้รากเหง้า" (ไม่ปรากฏบิดามารดา) ซึ่งสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กำลังดำเนินการแก้ไขเรื่องนี้อยู่ ร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

แต่ การขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน กรณีของคุณหนูรี ก็มิใช่เรื่องง่ายนัก เพราะดำเนินการตามขั้นตอน  เช่น สำรวจเป็นบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน "บุคคลเลข ๐" เสียก่อน (สำรวจไปแล้ว)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เพราะการแอบอ้างใช้รายการผู้อื่น (การสวมชื่อสวมตัวบุคคลอื่น) เป็นความผิดอาญา ประมาณว่า เหตุเกิดปี พ.ศ.๒๕๓๙ อายุความน่าจะ ๑๐ ปี (ขาดอายุความประมาณปี พ.ศ.๒๕๔๙-๕๐) ปีนี้ปี พ.ศ.๒๕๕๖ ถือว่าขาดอายุความแล้ว  อำเภอหรือเขตคงไม่สามารถดำเนินคดีคุณหนูรีได้ แต่คุณก็ต้องตกระกำลำบาก ไม่กล้าไปพบเจ้าหน้าที่ เพราะกลัวเขาจะดำเนินคดีอาญา

เมื่อประมาณปี ๒๕๔๑ ผู้เขียนเคยแจ้งความดำเนินคดีอาญากรณี สวมชื่อบุคคลอื่นไปทำงานประเทศไต้หวัน  ผู้ที่ถูกดำเนินคดีคือ เจ้าตัวที่สวมชื่อบุคคลอื่น โดยอ้างว่าบัตรหาย และ ผู้ที่มารับรองการทำบัตร คือ  ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน (บุคคลผู้มารับรองตัวบุคคล)

มีกรณีที่พิศดาร มากกว่านี้อีก เช่น พี่น้องสวมตัวกัน หรือ ญาติๆยินยอมสวมชื่อสวมตัวกัน (สลับชื่อกันใช้โดยความยินยอม รู้เห็นเป็นใจ)  ด้วยเหตุจะไปทำงานเมืองนอก (ไต้หวัน) กรณีเช่นนี้ก็ผิดกฎหมายอาญา เพราะเป็นการทุจริต

โชค ร้าย คนที่ไปทำงานไต้หวันเพราะสวมชื่อบุคคลอื่น ได้เสียชีวิต (ตาย) เพราะอุบัติเหตุ สถานกงสุล (ไม่แน่ใจว่าที่ฮ่องกง หรือฟิลิปปินส์) ก็ออกใบมรณบัตรให้ จึงมีการจำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนบ้านไป  ความก็เลยแตกว่า คนที่ตายไม่ใช่บุคคลชื่อนี้  ยุ่งใหญ่เลย

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

หรือมี อีกกรณีหนึ่งที่เจอเมื่อประมาณ ปี ๒๕๓๕ ก็คือ พี่สาวไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน ก็แอบใช้ชื่อน้องสาวไปทำบัตรประจำตัวประชาชน (เพราะอายุไล่เลี่ยกัน หน้าตาคล้าย ๆกัน)  และก็ได้บัตรไปใช้ และไปทำงานที่ กทม. โดยมีเอกสารบัตรประจำตัวประชาชนใบนั้นติดตัว และก็ไปสมัครงาน ทำงาน  ต่อมาก็เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ ก็มีการออกใบมรณบัตรโดยสำนักทะเบียนแห่งที่ตาย  แล้วก็มีการส่งสำเนาใบมรณบัตรตอนที่ ๒ มาจำหน่ายตายออกจากทะเบียนบ้าน (กรณีนี้เจ้าบ้านคงไม่กล้ามาจำหน่ายชื่อ เพราะสมยอมกัน) เจ้าหน้าที่ก็จำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๔) ทันที  ความมาแตกเมื่อ เจ้าตัวจริงมาทักท้วงว่ายังไม่ตาย  ยังมีชีวิตอยู่ และกำลังจะเอาหลักฐานทะเบียนบ้านไปให้บุตรใช้ประกอบเข้าโรงเรียน  จึงสอบสวนไล่เลียงลำดับความก็ได้ข้อเท็จจริงตามที่เล่า

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

และเมื่อปีที่ผ่านมา (๒๕๕๓ - ๒๕๕๔) มีกรณีที่พิศดารมาก  อันเกิดจากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ทะเบียนราษฎรสำนักทะเบียนแห่งหนึ่ง (มิใช่สำนักทะเบียนฯ ต้นทาง) เหตุเกิดตั้งแต่ประมาณปี ๒๕๓๔ โดยเจ้าหน้าที่ฯได้จำหน่ายชื่อคนตายของชายคนหนึ่งออกจากทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๔) ผิดพลาด (จำหน่ายชื่อคนตายผิดตัว เช่น นาย ก ตาย แต่ไปจำหน่ายชื่อ นาย ข) เพราะความสับสนเกี่ยวกับชื่อตัว ชื่อสกุล และอายุที่ไล่เลี่ยกัน  เนื่องจากเป็นพี่น้องกัน และใบมรณบัตรไม่ได้ระบุเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลักไว้ โดยเจ้าหน้าหน้าที่ก็มิได้ตรวจดูและสอบถามในรายละเอียด (เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่คงตรวจไม่ได้ เพราะ เป็นการตายโดยอุบัติเหตุ ต่างท้องที่สำนักทะเบียนฯกัน ที่บุคคลที่ตายอาจไม่มีหลักฐานทางทะเบียนฯติดตัว ทำให้มีการแจ้งตายไปตามสภาพ และข้อมูลที่มีเป็นใบมรณบัตรที่ออกไม่ระบุรายละเอียดชัดเจน และเข้าใจว่าบุคคลที่ตายจริงคือพี่ชาย น่าจะเป็นบุคคลที่ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน)  ทำให้น้องชายที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านและอายุใกล้เคียงกันถูกจำหน่ายชื่อว่า "ตาย" ออกจากทะเบียนบ้านไปตั้งแต่ประมาณ ปี ๒๕๓๔ โดยที่เจ้าตัวไม่ทราบ  ต่อมาเจ้าตัวทราบว่ามีความผิดพลาด ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร เมื่อถึงเวลาทำบัตรประจำตัวประชาชนก็ไปแจ้งชื่อของน้องชายอีกคนหนึ่งที่มีอายุห่างกันหลายปี เพื่อทำบัตรประจำตัวประชาชน น้องชายมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านลำดับถัดไป (ปกติชื่อพี่น้องในทะเบียนบ้านจะเรียงลำดับกันไปจากพี่ไปหาน้อง) ความจริงถูกปิดเงียบไปหลายปี เพราะเจ้าหน้าที่ไม่เฉลียวใจ ทราบว่าพี่ชายคนนี้ได้ทำบัตรประจำัตัวประชาชนไปถึง ๒ รอบ (บัตรฯมีอายุรอบละ ๖ ปี) ก็เท่ากับว่าใช้ชื่อน้องชายโดยถูกกฎหมายไปประมาณ ๑๒ ปี ครั้งล่าสุดที่ทำบัตรก็คือประมาณปี พ.ศ. ๒๕๔๔ (บัตรหมดอายุปี ๒๕๕๐) ต่อมาเมื่อระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์มีความสมบูรณ์ สามารถตรวจสอบภาพใบหน้าบุคคลจากฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อเปรียบเทียบกับตัวจริงที่มาถ่ายบัตร (กรณีต่ออายุบัตรฯ) เจ้าหน้าที่ก็พบว่าในฐานข้อมูลการทำบัตรฯ มีบุคคลอีกคนหนึ่งที่หน้าตาคล้าย ๆ กัน แต่น่าจะอายุแตกต่างกัน (อายุน้อยกว่า) เพราะเป็นน้องชายตัวจริงที่อายุห่างกันหลายปี เจ้าหน้าที่จึงได้อายัดบัตรของพี่ชายไว้ เพราะเป็นการสวมชื่อของน้องชายทำบัตรฯ แต่ไม่ได้ดำเนินคดีอาญา คงปล่อยไว้เรื่อยมา

แต่ด้วยความจำเป็นทางทะเบียนราษฎร ชายคนนี้ก็เวียนมาปรึกษาเจ้าหน้าที่ว่าจะทำอย่างไร ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็แนะนำให้ "ขอชื่อเดิมของตนคืน" กล่าวคือ ขอรายการบุคคลของคนที่มีหมายเลขประจำตัวประชาชนที่ถูกจำหน่ายชื่อออกไปแล้วกลับคืนมา (เลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก หมายเลขเดิม) โดยการสอบสวนยืนยันตัวบุคคล และชี้แจงข้อผิดพลาดที่ได้ดำเนินการจำหน่ายรายการบุคคลออกโดยผิดพลาดไป ซึ่งเป็นอำนาจของผู้อำนวยการทะเบียนกลาง กรมการปกครอง ตามปกติ ผอ.ทะเบียนกลาง จะมอบอำนาจให้ ผอ.ศูนย์ภาคฯ (ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ข้อ ๑๐๘) สำหรับคดีอาญาเจ้าหน้าที่ไม่ได้ดำเนินคดี เนื่องจากคดีขาดอายุความแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๔ (นับจากการทำบัตรครั้งล่าสุด เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๔)  และอีกประการหนึ่ง เจ้าหน้าที่ก็เกรงว่าจะถูกสอบสวนทางวินัยกรณีที่กระทำผิดพลาด (วินัยไม่มีอายุความ)

การจะขอเพิ่มชื่อบุคคลใหม่ โดยกำหนดเลขประจำตัวประชาชนใหม่ (เลข ๑๓ หลักใหม่ ได้บุคคลประเภทที่ ๕) มิชอบด้วยระเบียบกฎหมาย และอีกประการหนึ่งหากรายการตรงตามฐานข้อมูลเดิม เช่น ชื่อตัว ชื่อสกุล รายการวันเดือนปีเกิด และชื่อบิดามารดาเหมือนกัน ฐานข้อมูลจะไม่รับ (ยกเว้นกรณีเขาค้อ เขาทราย ที่เกิดวันเดียวกัน บิดามารดาเดียวกัน แต่ต่างชื่อกัน)

(ระเบียบฯ ข้อ ๑๐๘  การเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน (ท.ร. ๑๔) หรือทะเบียนบ้าน (ท.ร. ๑๓) นอกเหนือจากที่ได้กำหนดไว้ในระเบียบนี้ ให้รายงานผู้อำนวยการทะเบียนกลางสั่งการเฉพาะกรณี)

แต่กรณีของคุณหนูรีคงขอใช้รายการบุคคลเดิม เลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลักเดิมไม่ได้ (เข้าใจว่าเป็นบุคคลที่คุณหนูรีสวมชื่อน่าจะเป็นบุคคลประเภท ๓) เนื่องจากรายการบุคคลนั้นมิใช่รายการบุคคลของคุณหนูรีที่แท้จริง

คุณหนูรีต้องกล้าบอกข้อเท็จจริงให้เจ้าหน้าที่รู้ และทราบ เพื่อจะได้แก้ไขปัญหา

และ พยายามไปสืบเสาะหารากเหง้า จากญาติพี่น้อง และคนรู้จัก เพื่อมายืนยันตัวบุคคล  เพื่อจะดำเนินการขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านให้ถูกต้อง  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มี ๒ ประเด็น  คือ

(๑) คุณหนูีรีต้องเกิดในประเทศไทย

(๒) คุณหนูรีต้องมีบิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่ง หรือทั้งสองคน มีสัญชาติไทย (สีบเสาะจากญาติพี่น้องใกล้ชิดที่มีสัญชาติไทย เช่น ลุง ป้า น้า อา ตา ยาย ฯลฯ)

สำหรับคดีอาญา ขาดอายุความแล้ว  เขาคงไม่ดำเนินคดีคุณหนูรีหรอก

(ข้อสังเกต ความผิดอาญาในการใช้หรือแสดงเอกสาร ... อันเกิดจากการกระทำความผิด เป็นความผิดต่อเนื่อง เพราะตราบใดที่มีการใช้เอกสารนั้นอยู่ ก็ยังคงเป็นการกระทำผิดอยู่ตลอดไป)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ลองเข้าไปดูข้อเขียนในโกทูโน เกี่ยวกับเรื่องนี้

ฐานความผิดกรณีสวมตัวทำบัตรประจำตัวประชาชน ก็คือ

พรบ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.๒๕๒๖ แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๕๔

(http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2554/A/034/64.PDF)

(พรบ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๖ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๒๖ - ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๒ มาตรา ๑๔ ใช้คำว่า "ผู้ไม่มีสัญชาติไทยผู้ใด" , พรบ.บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๔๒ มาตรา ๑๔ ใช้คำว่า "ผู้ใด" , พรบ.บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๔ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๔)

มาตรา ๑๔ ผู้ใด
(๑) ยื่นคำขอมีบัตรโดยมิได้มีสัญชาติไทย ด้วยการแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จหรือปกปิด
ข้อความจริงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปีหรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาท
ถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(๒) แจ้งข้อความหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ในการขอมีบัตร
ตามมาตรา ๖ หรือการขอมีบัตรใหม่ตามมาตรา ๖ ตรี หรือการขอมีบัตรใหม่หรือขอเปลี่ยนบัตร
ตามมาตรา ๖ จัตวา อันมิใช่เป็นกรณีตาม (๑) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกิน
หกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(๓) ปลอมบัตรหรือใบรับหรือใบแทนใบรับ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี
หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(๔) ใช้หรือแสดงบัตรหรือใบรับหรือใบแทนใบรับ อันเกิดจากการกระทำความผิดตาม (๑)
(๒) หรือ (๓) ต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
ถ้าผู้กระทำความผิดตาม (๔) เป็นผู้กระทำความผิดตาม (๑) (๒) หรือ (๓) ด้วย ให้ลงโทษ
ตาม (๑) (๒) หรือ (๓) แล้วแต่กรณี แต่กระทงเดียว
ถ้าผู้กระทำความผิดหรือผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔)
เป็นเจ้าพนักงานออกบัตร เจ้าพนักงานตรวจบัตร หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่
สามปีถึงสิบห้าปีและปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท
(มาตรา ๑๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พรบ.บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๔ มาตรา ๑๑)

มาตรา ๖ ผู้ซึ่งต้องมีบัตรตามมาตรา ๕ ให้ยื่นคำขอมีบัตรต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน
กำหนดหกสิบวันนับแต่
  (๑) วันที่อายุครบเจ็ดปีบริบูรณ์
  (๒) วันที่ได้สัญชาติไทย สำหรับผู้ไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิด หรือได้กลับคืนสัญชาติไทย
ตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ
  (๓) วันที่นายทะเบียนเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร
  (๔) วันที่พ้นสภาพจากการได้รับการยกเว้น
(มาตรา ๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พรบ.บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๔ มาตรา ๓)

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา ๑๓๗ ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานซึ่งอาจ ทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

มาตรา ๙๕ ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิด มายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิดเป็นอัน ขาดอายุความ
(๑) ยี่สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุก ตลอดชีวิต หรือจำคุกยี่สิบปี
(๒) สิบห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าเจ็ดปีแต่ ยังไม่ถึงยี่สิบปี
(๓) สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี
(๔) ห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งเดือนถึง หนึ่งปี
(๕) หนึ่งปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งเดือน ลงมาหรือต้องระวางโทษอย่างอื่น
....
+++++++++++++++++++

เพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา ๒๖๔ ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร

มาตรา ๒๖๕ ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิหรือเอกสารราชการ

มาตรา ๒๖๗ ผู้ใดแจ้งให้เจ้าพนักงาน ผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน

มาตรา ๒๖๘ ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา ๒๖๔-๒๖๗

มาตรา ๑๕๗ ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ(ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ)

มาตรา ๘๖ ตัวการ/ผู้สนับสนุน

พรบ.การทะเบียนราษฎร (ใช้บังคับ ๒๒ มีนาคม ๒๕๓๕)

มาตรา ๕๐ ผู้ใด ทำ ใช้ หรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จ หรือกระทำการเพื่อให้ตนเอง หรือผู้อื่นมีชื่อหรือมีรายการอย่างหนึ่งอย่างใดในทะเบียนบ้านหรือเอกสารการทะเบียนราษฎรอื่นโดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในกรณีผู้กระทำผิดตามวรรคหนึ่งเป็นคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท

อ้างอิง

ตามหนังสือสั่งการกระทรวงมหาดไทย ปกปิด ที่ มท ๐๓๑๐.๑/ว ๘ ลงวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๔๔ เรื่อง แนวทางปฏิบัติกรณีมีการกระทำทุจริตทางทะเบียนราษฎรและบัตรประจำตัวประชาชน

ส่วนการทะเบียนราษฎร สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง, "รวมหนังสือสั่งการทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชน."  http://www.pdf-archive.com/2012/03/27/mini/