รัฐบาลมีวัตถุประสงค์อย่างไรจึงต้องทำงบประมาณขาดดุลในปีใดปีหนึ่ง

เฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala

เรื่องปัญหาเงินคงคลัง มี 3 ประเด็นที่ต้องพิจารณาแยกกัน ดังนี้

1 มุมที่แสดงปัญหาต่อความยั่งยืนทางการคลัง มุมที่หนึ่ง "เงินคงคลังที่ลดลง เป็นการแสดงว่ารัฐบาลถังแตกหรือไม่"

ผมตอบว่าเงินคงคลังเป็นยอดบริหารเงินสดในมือ การที่มียอดลงลง ในตัวของมันเอง ไม่ได้บอกว่ารัฐบาลถังแตก และในการบริหารเงินสดที่เหลือนั้น ถ้าเห็นว่ามีน้อยไป รัฐบาลก็สามารถกู้เข้ามาตุนไว้ในมือได้ ประชาชนจึงไม่ควรจำเป็นต้องกังวลในจุดนี้มากเกินไป

2 มุมที่แสดงปัญหาต่อความยั่งยืนทางการคลัง มุมที่สอง "การเก็บรายได้เป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่"

วิธีวิจารณ์แง่มุมนี้ ต้องติดตามตัวเลขอย่างละเอียด ว่าการเก็บรายได้ต่อ จีดีพี เป็นไปตามงบประมาณที่ตั้งไว้หรือไม่ ถ้าเป็น ความเสี่ยงต่อการยั่งยืนทางการคลัง ก็อยู่ในกรอบที่ตั้งเป้าหมายไว้
ผมเองไม่ได้ติดตามการเก็บรายได้ แต่คาดว่าอาจจะไม่ได้หลุดไปจากเป้ามากนัก

3 มุมที่แสดงปัญหาต่อความยั่งยืนทางการคลัง มุมที่สาม คือ "ตัวเลขขาดดุลงบประมาณ"
รัฐบาลใดที่ดำเนินการขาดดุลงบประมาณมากๆ ก็ไม่ต่างอะไรกับครอบครัวที่มีเงินเดือน เดือนละ 20,000 บาท แต่ใช้จ่ายเดือนละ 30,000 บาท

ยิ่งขาดดุลงบประมาณมาก ก็ยิ่งต้องกู้เงิน ยิ่งต้องเป็นหนี้ เป็นการสร้างภาระทิ้งไว้ให้แก่รุ่นลูกรุ่นหลาน

ตัวเลขขาดดุลงบประมาณในรัฐบาล คสช. ปรากฏว่าบานตะไทออกไปแล้ว

อ.เดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า

"ในช่วงปีงบประมาณ 2550-2556 ซึ่งเรามีอยู่ด้วยกัน 5 นายกรัฐมนตรี ในช่วงนั้น เราขาดดุลงบประมาณเฉลี่ยปีละ 289,703 ล้านบาท หรือเท่ากับร้อยละ 12.6 ของเงินรายได้ของรัฐบาลในแต่ละปี (พูดง่ายมีเงิน 100 แต่จ่าย 112 บาท)

แต่ในช่วงรัฐบาลของท่าน (ปีงบประมาณ 2558 และ 2559) ท่านขาดดุลงบประมาณเฉลี่ยปีละ 395,145 ล้านบาท (หรือขาดดุลเพิ่มขึ้นจากเดิมปีละเกือบหนึ่งแสนล้านบาท) ซึ่งเทียบเป็นร้อยละ 17.1 ของเงินรายได้ของรัฐบาลในแต่ละปี

เพียงแค่ช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 นี้ ท่านขาดดุลงบประมาณไป 418,282 ล้านบาท มากขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 111,346 ล้านบาทเลยทีเดียว

ซึ่งในประเด็นการขาดดุลงบประมาณนี้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลังไม่ได้ชี้แจงใดๆ ส่วนท่านนายกรัฐมนตรีก็ตอบนักข่าวด้วยฉุนเฉียวว่า มีคนขอให้รัฐบาลช่วยเยอะ รัฐบาลจึงตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องดังกล่าว"

ทั้งนี้ การเปรียบเทียบตัวเลขขาดดุลแต่ละรัฐบาล ยังมีตัวเลขที่ซ่อนอยู่และอาจจะเหลื่อมจากรัฐบาลหนึ่ง ไปอีกรัฐบาลหนึ่ง เช่น สมมุติอาจมีขาดทุนหนี้สูญในแบงก์รัฐ หรือขาดทุนโครงการจำนำข้าว ที่เกิดในรัฐบาล ก. และต้องมีชดเชยด้วยงบประมาณในรัฐบาล ข. เป็นต้น ซึ่งผมไม่มีตัวเลขนี้

นอกจากนั้น การขาดดุลที่เกิดจากงบลงทุน ก็ไม่น่าตกใจเท่ากับการขาดดุลจากงบประจำ เพราะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จะสร้างรายได้แก่ประเทศในอนาคต ทำให้รัฐเก็บภาษีได้มากขึ้นต่อไป

แต่ที่น่าห่วงใยมากที่สุด คือการขาดดุล เพื่อโครงการประชานิยม ประเภทเพื่ออุ้มการอุปโภคบริโภค ประเภทแจกเงินคนจน ประเภทช้อบช่วยชาติ ฯลฯ เพราะใช้เงินแล้ว เงินหายต๋อมไปเลย
การขาดดุลเพื่อโครงการประชานิยม ไม่แตกต่างจากการกู้เงิน แบบ "เต้นกิน รำกิน" ที่เกิดขึ้นในประเทศลาตินอเมริกา

การที่นายกรัฐมนตรี ให้คำอธิบายว่า ต้องใช้จ่ายประชานิยมเพราะ "มีคนขอให้รัฐบาลช่วยเยอะ รัฐบาลจึงตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องดังกล่าว" นั้น ผมเห็นว่าไม่ใช่วิธีบริหารการคลังที่ดี

อ.เดชรัต วิจารณ์ว่า "รัฐบาล คสช.จึงควรมีการกำหนดกรอบการขาดดุลงบประมาณให้ชัดเจน ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของรัฐบาล คสช.เอง เพราะการขาดดุลงบประมาณที่มากขึ้น และมากขึ้นเรื่อยๆ จะกลายเป็นการสร้างภาระให้กับรัฐบาลและประชาชนไทยในอนาคต

มิฉะนั้น บทแรกของยุทธศาสตร์ชาติในอนาคต อาจต้องเริ่มต้นจากการยุทธศาสตร์การใช้หนี้ที่ก่อกันในวันนี้"

ผมเห็นด้วยอย่างมาก และเป็นข้อวิจารณ์ที่รัฐบาล คสช. ควรรับไปปรับปรุงด่วน และควรให้กระทรวงการคลังเสนอโครงการมองไปข้างหน้าว่า จะสามารถนำประเทศทะยอยกลับสู่การคลังสมดุลในส่วนของงบประจำได้อย่างไร เมื่อใด

ทั้งนี้ ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญนั้น ผมเคยเสนอแนวคิดว่า วิธีป้องปรามประชานิยมแบบโอเวอร์ ที่ทำได้ง่ายที่สุด ก็คือการห้ามรัฐบาลกู้เงิน เพื่อชดเชยขาดดุลงบประมาณจากรายจ่ายประจำ
คือให้กู้ได้เฉพาะสำหรับโครงการลงทุน ซึ่งจะปิดประตูประชานิยม ให้ทำได้เฉพาะที่ไม่เกินรายได้ของรัฐบาลเท่านั้น

แต่ผมส่งข้อเสนอนี้ไปให้ผู้ใหญ่ในรัฐบาลระดับรองนายกรัฐมนตรี และผู้ใหญ่ระดับอดีตนายกรัฐมนตรีเพื่อไปให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญ แต่คาดไม่ถึงว่า จะมีการแหวกแนวคิดนี้อย่างหนักในรัฐบาล คสช.

การใช้จ่ายประชานิยมเพื่ออุปโภคบริโภค มีผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ตัวเลข จีดีพี สูงขึ้นก็จริง และทำให้รัฐบาลเป็นที่นิยมชมชอบของประชาขนก็จริง
แต่ไม่มีอะไรที่เป็นของฟรีในโลก

เพียงแค่ภาระการใช้หนี้ จะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลต่อไปเท่านั้น

หมายเหตุ - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และประธานกรรมการคณะกรรมการกำกับตลาดทุน และเป็นประธานกลุ่ม ก.ล.ต. อาเซียน (ACMF) 2 สมัย

เศรษฐกิจ

26 ธ.ค. 2564 เวลา 7:20 น.2.1k

รัฐบาลเคาะแผนการคลังระยะปานกลางปีงบประมาณ 66 - 69 พบยังขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากคงมาตรการทางการคลัง พยุงการฟื้นตัวจากโควิด ในปี 2569 ขาดดุลงบสุงสุดถึง 7.36 แสนล้านบาท ขณะที่ทั้งแผนมองการเติบโตจีดีพีสูงสุด 2.9 -4.2% เผยแผนคุมรายจ่ายภาครัฐไม่ให้เกิน 4%

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมาโดยมีหัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจทั่วประเทศรับฟัง 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สถานการณ์โควิดในประเทศมีทิศทางดีขึ้นเป็นลำดับ รวมทั้งกระจายการฉีดวัคซีนให้ประชาชนคืบหน้าทำให้ทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคได้ในปี 2565 ในขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมีเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 3.1 ล้านล้านบาท งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 3.07 แสนล้านบาท และเงินกู้จาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 5 แสนล้านบาท ที่จะสิ้นสุดในปีงบประมาณ 2565 

ทั้งนี้เพื่อให้การใช้จ่ายภาครัฐผ่านงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้ต่อเนื่องควบคู่ไปการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13

สำหรับการจัดทำคำของบประมาณปี 2566 ต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกกับประเด็นการพัฒนาภายใต้ 13 หมุดหมาย ของร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เพื่อเพิ่มศักยภาพประเทศในการรับมือกับความเสี่ยงต่างที่อาจกระทบรุนแรง

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 21 ธ.ค.2564 เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2566-2569) โดยมีรายละเอียดสำคัญคือในส่วนประมาณการเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2566-2569 คาดว่าจีดีพีขยายตัว 2.8-4.2% 

ปี 2566 จีดีพีจะขยายตัว 3.2-4.7% (ค่ากลาง 3.7%) ปี 2567 จีดีพีจะขยายตัว 2.9-3.9% (ค่ากลาง 3.4%) ส่วนปี 2568-2569 จีดีพีจะขยายตัว 2.8-3.8% (ค่ากลาง 3.3%)

ทั้งนี้กระทรวงการคลังรายงานว่าการจัดทำงบประมาณในระยะปานกลางมีความจำเป็น โดยต้องทำนโยบายการคลังแบบขยายตัวผ่านการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและสังคมจากโควิด-19 ที่กระทบเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตประชาชน ซึ่งผลต่อเนื่องถึงภาคการคลังทำให้เกิดภาระที่สะสมต่อภาคการคลัง

นอกจากนี้ มีความเสี่ยงที่จะทำให้การแพร่ระบาดกลับมารุนแรง ซึ่งภาครัฐอาจจำเป็นต้องดำเนินมาตรการบรรเทาผลกระทบเพิ่มเติม รวมทั้งเตรียมความพร้อมรับมือแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก (Global Megatrends) ที่จะกระทบการเปลี่ยนแปลง เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิากาศ และโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัยที่จะกระทบการดำเนินนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งการจัดเก็บรายได้และการจัดสรรงบประมาณ

สำหรับการคาดการณ์สถานะทางการคลังพบว่าปีงบประมาณ 2566-2569 รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 2566 จัดเก็บรายได้รัฐบาล 2.49 ล้านล้านบาท มีรายจ่ายงบประมาณ 3.185 ล้านล้านบาท ต้องตั้งงบประมาณขาดดุล 6.95 แสนล้านบาท 

ปีงบประมาณ 2567 จัดเก็บรายได้ 2.56 ล้านล้านบาท มีรายจ่าย 3.27 ล้านล้านบาท ต้องตั้งงบประมาณขาดดุล 7.1 แสนล้านบาท 

ปีงบประมาณ 2568 จัดเก็บรายได้ 2.72 ล้านล้านบาท มีรายจ่าย 3.36 ล้านล้านบาท ต้องตั้งงบประมาณขาดดุล 7.23 แสนล้านบาท

ปีงบประมาณ 2569 จัดเก็บรายได้ 2.72 ล้านล้านบาท มีรายจ่าย 3.456 ล้านล้านบาท ต้องตั้งงบประมาณขาดดุล 7.36 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ การคาดการณ์รายรับรายจ่ายภาครัฐมาจากสมมติฐานสำคัญ เช่น สัดส่วนงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 2.0-3.5% ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้มีสัดส่วน 2.5-4.0% ของวงเงินงบประมาณ ค่าใช้จ่ายบุคลากรมีอัตราเพิ่มโดยเฉลี่ยไม่เกิน 4.0% โดยใช้มาตรการให้หน่วยรับงบประมาณที่มีเงินรายได้นำมาสมทบ"

นอกจากนี้ ครม.สั่งการด้วยว่าเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการคลังทั้งระยะสั้น ระยะปานกลางและระยะยาว รัฐบาลมุ่งบริหารจัดการเพื่อเพิ่มศักยภาพทางการคลังทั้งด้านรายได้ รายจ่ายและหนี้สาธารณะ ควบคู่ไปกับการรักษาวินัยทางการคลัง