จิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยาตอนปลายคือข้อใด

4. ผลงานทัศนศิลป์สมัยอยุธยา

วัดพระศรีสรรเพชญ์ อยุธยา

แบบอย่างงานทัศนศิลป์สมัยอยุธยาเจริญขึ้นทางภาคกลางของประเทศไทย มีช่วงเวลาวิวัฒนาการนานถึง 417 ปี แนวคิดและเนื้อหาของผลงานทัศนศิลป์ส่วนใหญ่จะยังคงสะท้อนถึงความศรัทธาในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท มีการสร้างผลงานทัศนศิลป์เป็นจำนวนมากเพื่อถวายแด่พระศาสนา แต่ขณะเดียวกันก็มีการสร้างสรรค์ผลงานสำหรับพระมหากษัตริย์ด้วย โดยเฉพาะการก่อสร้างปราสาทราชวังเพื่อใช้เป็นที่ประทับในกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีความงดงามวิจิตร โดยนำเอาช่างแขนงต่างๆ มาร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้น

จิตรกรรมฝาผนังวัดสุวรรณาราม เพชรบุรี

4.1 ด้านจิตรกรรม

จิตรกรรมในสมัยอยุธยาส่วนใหญ่ จะเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา โดยช่วงแรกจะได้รับอิทธิพลของศิลปะแบบลพบุรี สุโขทัย และลังกาผสมผสานกัน บางภาพจะมีลักษณะแข็งและหนัก ใช้สีดำ ขาว และแดง มีการปิดทองบนภาพบ้างเล็กน้อย เช่น ภาพเขียนบนผนังในกรุพระปรางค์ วัดราชบูรณะ ซึ่งสร้างขึ้นสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ภาพเขียนบนผนังในตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทไธศวรรย์ เป็นต้น แต่ช่วงหลังจิตรกรรมสมัยอยุธยามักวาดภาพที่เกี่ยวกับไตรภูมิ และมีภาพพุทธประวัติประกอบอยู่ด้วย ซึ่งวิธีการเขียนภาพจะเป็นเช่นเดียวกับจิตรกรรมฝาผนังสมัยสุโขทัยที่นิยมใช้สีแดงเข้มเป็นพื้น แต่สมัยอยุธยาจะมีการใช้สีเพิ่มมากขึ้น อาทิ ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดราชบุรี วัดใหม่ประชุมพล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นับตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ.2172–2199) จนสิ้นสุดสมัยอยุธยา จิตรกรรมของอยุธยา แสดงให้เห็นถึงลักษณะของจิตรกรรมไทยแท้อย่างสมบูรณ์ มีการปิดทองบนรูปและลวดลาย เนื้อเรื่องที่เขียนจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับเทพชุมนุม พุทธประวัติ ไตรภูมิ วิธีการเขียนยังคงใช้สีน้อย ภาพมีลักษณะแบน และตัดเส้นด้วยสีขาว และสีดำ

ภาพจิตรกรรมในสมุดข่อย สมัยอยุธยา เกี่ยวกับพุทธประวัติและไตรภูมิ สีส่วนใหญ่ที่ใช้จะเป็นสี แดง ดำ และขาว

4.2 ด้านประติมากรรม

ผลงานที่มีลักษณะเด่นทางด้านทัศนศิลป์ประเภทประติมากรรมในสมัยอยุธยา ที่สำคัญ ได้แก่ การสร้างพระพุทธรูป ซึ่งจำแนกเป็นกลุ่มได้ ดังนี้
1) พระพุทธรูปแบบศิลปะทวารวดีผสมเขมร สร้างขึ้นระหว่างพุทธศตวรรษที่ 17–18 มีพุทธลักษณะที่สำคัญ คือ มีรัศมีเป็นรูปดอกบัวตูม มีจีวรคล้ายแบบทวารวดี มีพระพักตร์เป็นลักษณะสี่เหลี่ยมตามแบบเขมรองค์พระพุทธรูปทำด้วยศิลาหรือโลหะ

2) พระพุทธรูปแบบศิลปะอู่ทอง ศิลปะอู่ทองเป็นศิลปะที่แพร่หลายอยู่แถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างก่อนการสถาปนาอาณาจักรอยุธยา ซึ่งจะมีลักษณะบางอย่างผสมผสานกันระหว่างศิลปะทวารวดีกับศิลปะลพบุรี ซึ่งต่อมาศิลปะอู่ทองก็ค่อยผสมกลมกลืนเปลี่ยนไปเป็นศิลปะแบบอยุธยา ตัวอย่างพระพุทธรูปศิลปะอู่ทอง เช่น หลวงพ่อโตหรือพระพุทธไตรรัตนนายก วัดพนัญเชิง เศียรพระพุทธรูปสำริด วัดธรรมิกราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระพุทธรูปหลายองค์ที่พบในเขตอำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท และจังหวัดสุพรรณบุรี ลักษณะเด่นของพระพุทธรูปแบบอู่ทอง จะมีไรพระศก ชายจีวรหรือสังฆาฏิยาว ปลายตัดเป็นเส้นตรง ปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิราบ

หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ศิลปะสมัยอู่ทอง มีอายุเก่าแก่กว่ากรุงศรีอยุธาถึง 26 ปีเศียรพระประธานวัดธรรมิกราชภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

3) พระพุทธรูปแบบอยุธยา มีการปรากฏแพร่หลายขึ้นตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ลงมาจนสิ้นสุดสมัยอยุธยา พ.ศ.2310 โดยมีพุทธลักษณะที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัย ลักษณะวงพระพักตร์และพระรัศมีของพระพุทธรูปเป็นแบบสุโขทัย ต่างกันคือมีเพียงไรพระศกและชายสังฆาฏิที่ใหญ่ หากเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง พระรัศมีก็ทำเป็นอย่างก้นหอยบ้างเป็นอย่างมงกุฎเทวรูปแบบลพบุรีบ้าง โดยทำเป็นปางต่างๆ ได้แก่ ปางไสยาสน์ ปางมารวิชัย ปางสมาธิ ปางลีลา ปางประทานอภัย และปางป่าเลไลยก์

4) พระพุทธรูปทรงเครื่อง เป็นศิลปะที่นิยมสร้างในช่วงปลายสมัยอยุธยานับตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเป็นต้นมา พระพุทธรูปมักจะมีการแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างสวยงามเหมือนอย่างกษัตริย์ มีทั้งแบบทรงเครื่องใหญ่ และแบบทรงเครื่องน้อย แบบทรงเครื่องน้อยนั้นมักมีกรรเจียกผืนเป็นครีบออกมาเหนือใบพระกรรณ ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของพระพุทธรูปสมัยอยุธยา เช่น พระประธานวัดหน้าพระเมรุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระพุทธรูปประทับยืนปางห้ามสมุทร วัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีผลงานประติมากรรมที่มีความโดดเด่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น บานประตูไม้แกะสลัก ตู้ใส่คัมภีร์พระไตรปิฏก เครื่องราชูปโภคสำหรับกษัตริย์ เป็นต้น

พระพุทธนิมิตวิชิตมาร โมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ จัดเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยอยุธยาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มีปรากฏ อยู่ในปัจจุบันและมีความสมบูรณ์งดงามมาก

4.3 ด้านสถาปัตยกรรม

สถาปัตยกรรมสมัยอยุธยานอกจากจะสร้างขึ้นเพื่อศาสนาแล้ว ยังมีการสร้างเป็นตำหนักสำหรับพำนักอาศัยของเชื้อพระวงศ์ และเป็นอาคารเพื่อว่าราชการอีกด้วย ซึ่งสามารถจำแนกลักษณะสถาปัตยกรรมเด่นๆ สมัยอยุธยาได้ ดังนี้

1) เจดีย์ หมายรวมถึงสถูปด้วย เจดีย์ในสมัยอยุธยาสามารถจำแนกได้หลายรูปแบบไปตามแนวความคิด คติความเชื่อทางศาสนาในแต่ละช่วงเวลา โดยในช่วงระยะแรก อยุธยานิยมสร้างเจดีย์แบบทรงปรางค์ตามธรรมเนียมนิยมที่เคยมีมาก่อน แต่มีการปรับเปลี่ยนรูปทรงองค์ปรางให้มีความเพรียวได้สัดส่วนมากกว่าศิลปะแบบขอม เช่น ปรางค์วัดพระราม ปรางค์วัดพุทไธศวรรย์ เป็นต้น ปรางค์ที่สร้างขึ้นจะมีฐานะเป็นศูนย์กลางของวัด จึงสร้างให้มีขนาดใหญ่ มองเห็นเด่นชัดแต่ไกล และมีการสร้างระเบียงคดเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสล้อมรอบด้วยระยะต่อมาจะมีการสร้างเจดีย์ทรงกลมแบบสุโขทัย เช่น พระเจดีย์ใหญ่ 3 องค์ในวัดพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะได้แบบอย่างมาจากเจดีย์ประธานวัดนางพญา เมืองศรีสัชนาลัย จนถึงช่วงหลัง จึงมีการสร้างเจดีย์แบบศิลปะอยุธยาแท้ คือเจดีย์แบบย่อมุมใหญ่หรือเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง เช่น พระเจดีย์ใหญ่ที่วัดภูเขาทอง พระเจดีย์ศรีสุริโยทัย วัดสวนหลวงสบสวรรค์ แต่ที่งดงามที่สุดจะอยู่ที่วัดชุมพลนิกายาราม อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เจดีย์พระศรีสุริโยทัย พระนครศรีอยุธยา

2) อาคาร นอกจากอาคารที่เป็นแบบไทย ซึ่งเคยสร้างกันขึ้นมาแล้ว ยังเป็นสมัยแรกที่มีการนำเอาแบบอย่างการก่อสร้างสถาปัตยกรรมตะวันตกเข้ามาผสมผสานกับสถาปัตยกรรมไทยด้วย โดยสร้างอาคารแบบก่ออิฐถือปูน มีการวางผังการก่อสร้างอย่างเป็นระเบียบจัดบริเวณให้ร่มรื่น มีลานกว้าง มีการสร้างอ่างเก็บน้ำหรือประปาไว้ใช้ ที่เห็นได้เด่นชัด คือ สถาปัตยกรรมภายในเขตพระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี

3)โบสถ์ วิหาร มณฑป นิยมสร้างให้มีขนาดใหญ่ ยกฐานสูง ผนังด้านข้างทำเป็นช่องแบบลูกมะหวด และแบบหน้าต่าง เสาจะมีการก่อด้วยอิฐเป็นส่วนใหญ่ ทำเป็นเสากลม ปลายเสาตกแต่งด้วยบัวหัวเสาหรือบัวกลุ่มในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย จะทำฐานให้เห็นเป็นแนวแอ่นโค้งรับกับส่วนหลังคาที่ทำซ้อนกันขึ้นไปเป็นชั้นและโค้งมักใช้เสากลมก่ออิฐสอปูน ตรงหัวเสาจะทำเป็นบัวตูม มีการตกแต่งด้วยลายปูนปั้น ในส่วนของซุ้มประตู หน้าบัน หน้าต่าง นิยมแกะสลักไม้ปิดทองประดับกระจก

สำหรับงานทัศนศิลป์สมัยธนบุรีนั้น เนื่องจากมีระยะเวลาสั้นเพียง 15 ปี การสร้างงานทัศนศิลป์มีจำนวนไม่มากขึ้น และรูปแบบส่วนใหญ่ก็ยังคงเหมือนเมื่อครั้งสมัยอยุธยา จึงขอจัดรวมไปไว้ในงานทัศนศิลป์สมัยอยุธยา

บานประตูไม้จำหลัก วัดหน้าพระเมรุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาทวารบาลแกะด้วยไม้บนบานประตูไม้จำหลัก เป็นประตูซุ้มคูหาพระสถูป จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

นักเรียนควรรู้

ไตรภูมิ ได้รับอิทธิพลมาจากวรรณคดีเรื่องไตรภูมิพระร่วงของพญาลิไทย ที่รวบรวมเนื้อหามาจากคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา มีเรื่องราวเกี่ยวกับโลกสัณฐานที่แบ่งโลกออกเป็น 3 ภูมิ คือ
1. กามภูมิ คือ โลกของผู้ที่ยังติดอยู่ในกามกิเลส แบ่งออกเป็นดินแดน 2 ฝ่าย และแบ่งเป็นโลกย่อย ๆ ได้ 11 แห่ง
2. รูปภูมิ เป็นดินแดนของพรหมที่มีรูป มีทั้งสิ้น 16 ชั้น ผู้มาเกิดต้องบำเพ็ญสมาธิจนได้ฌานสมาบัติ
3. อรูปภูมิ เป็นดินแดนของพรหมที่ไม่มีรูป มีแต่จิต หรือวิญญาณ มี 4 ชั้น เชื่อกันว่าผู้ที่มาเกิดในดินแดนทั้ง 3 โลกนี้ มาเกิดตามผลของการทำกรรมหรือทำบุญในชาติก่อน ๆ อันเป็นเหตุให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏอย่างไม่มีวันสิ้นสุด

พระรัศมี หมายถึง ส่วนเสริมให้พุทธลักษณะของพุทธปฎิมา มีความโดดเด่น เดิมเป็นรูปประภามณฑลมีลักษณะกลมล้อมพระเศียร โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่กึ่งกลางระหว่างคิ้ว ภายหลังค่อย ๆ เปลี่ยนไปเป็นดวงกลมเล็ก ๆ เหนือพระนลาฏ ต่อมาเลื่อนขึ้นไปอยู่บนพระเกตุมาลา มีลักษณะเป็นรูปต่อมกลมหรือปลายแหลมดุจดอกมะลิตูม ซึ่งหมายถึง ก้อนแก้ว คือ ดวงปัญญานั่นเอง ต่อมามีการประดิษฐานพระรัศมีเป็นรูปเปลวขึ้น

เครื่องเบญจรงค์ ที่นำมาใช้ในราชสำนักอยุธยาจะร่างแบบแล้วส่งไปทำที่ประเทศจีน เพราะเขียนลวดลายได้ละเอียด ประณีต งดงาม เนื้อดินมีความละเอียด แกร่ง เมื่อเคาะจะมีเสียงดังกังวาน

พระพุทธรูปทรงเครื่อง คือ มีเครื่องประดับ เช่น มงกุฎ กระบังหน้า กรองศอ สังวาล ทับทรวง พาหุรัด ธำมรงค์ เมือพิจารณาจากการประดับเครื่องทรงของพระพุทธรูป สามารถแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ 2 กลุ่มคือ พระพุทธรูปครงเครื่องใหญ่ และพระพุทธรูปทรงเครื่องน้อย

ทวารบาล มาจากคำว่า “ทวาร” ซึ่งแปลว่าประตูหรือช่อง และ “บาล” ซึ่งแปลว่า “เลี้ยง รักษา ปกครอง” ดังนั้น เมื่อแปลรวมกันจึงมีความหมายว่า “ผู้รักษาประตูหรือช่อง” ซึ่งการเขียนภาพทวารบาลนั้นเป็นคติโบราณที่นิยมทำบนบานประตูศาสนสถาน ซึ่งเชื่อว่าทวารบาลมีหน้าที่คอยปกป้องคุ้มครองและพิทักษ์มิให้สิ่งชั่วร้ายต่าง ๆ ผ่านเข้าไปสู่ศาสนสถานได้