หลักสำคัญของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน คืออะไร

เมื่อปี พ.ศ. 2558 รัฐบาลของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) เพื่อขับเคลื่อนพันธกิจตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ให้เกิดเป็นรูปธรรมภายในปี 2573 ตามที่รัฐบาลไทยได้ร่วมลงนามไว้กับองค์การสหประชาชาติ โดยมีเป้าหมาย 3 ประการ คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจ (economic growth) ความครอบคลุมทางสังคม (social inclusion) และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (environmental protection)

ในปัจจุบัน ประเทศไทยได้ดำเนินการในแต่ละด้านไปมาก ท่านสามารถรับชมวิดีทัศน์เกี่ยวกับความเป็นมา และการดำเนินการของประเทศไทยเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านต่าง ๆ ดังนี้

ความรู้เกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

ประเทศไทยและประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติรวม 193 ประเทศ ได้ร่วมลงนามรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 เพื่อสร้างโลกที่ดี และยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีการบรรลุการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยวาระการพัฒนาดังกล่าว ประกอบด้วย 17 เป้าหมายหลักและ 169 เป้าหมายย่อยซึ่งเชื่อมโยงเกื้อหนุนกัน และมีการกำหนดให้มีตัวชี้วัดเพื่อประเมินความก้าวหน้าของการพัฒนาด้วย

SDGs ทั้ง 17 เป้าหมายหลัก สามารถจัดกลุ่มได้เป็น 5 มิติ คือ มิติการพัฒนาคน มิติสิ่งแวดล้อม มิติเศรษฐกิจและความมั่งคั่ง มิติสันติภาพและความยุติธรรม และมิติความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา

ทั้งนี้ การดำเนินการต่าง ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs ก็เพื่อสร้างโลกแห่งอนาคตที่สดใสให้แก่ประชาชนและลูกหลานของเรา โดยทุกสิ่งจะเป็นจริงได้ เพียงลงมือทำ

“ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมปรับเปลี่ยน สู่ความยั่งยืนของไทยและโลกเรา”

SDGs ในทศวรรษแห่งการดำเนินการอย่างจริงจัง (Decade of Action)

น้บจากวันนี้เป็นต้นไป เรียกได้ว่า เราทุกคนล้วนอยู่ช่วงทศวรรษแห่งการดำเนินการอย่างจริงจัง หรือ The Decade of Action เพราะเราเหลือเวลาอีกเพียง 10 ปีที่ประชาคมโลกจะต้องร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาในด้านต่าง ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกระดับให้ได้ภายในปี 2573 หรือ ค.ศ.2030 ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่การกำหนดนโยบายของภาครัฐ การประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคเอกชน ไปจนถึงการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนทุกคน

SDGs กับเยาวชน

เด็กและเยาวชนทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างโลกให้น่าอยู่ยิ่งขึ้นได้ในวันข้างหน้า โดยเริ่มจากการสร้างค่านิยมบวกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น การส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน การเลือกวิถีชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมกับการลดและต่อต้านพฤติกรรมด้านลบ โดยการปฏิเสธการกลั่นแกล้ง หรือการ Bully และวาทกรรมที่สร้างความเกลียดชัง หรือ Hate Speech แล้วหันมาใส่ใจกับคนรอบข้างและคนใกล้ตัวให้มากขึ้น นำพลังในตัวมาสร้างความเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดีกว่า

วันนี้ คุณสามารถเริ่มต้นทำได้แล้วอย่างง่าย ๆ ตามสไตล์ที่เป็นคุณ เพราะการลงมือทำสิ่งที่ดีเพียงเล็กน้อย จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

SDGs กับภาคธุรกิจ

เมื่อพูดถึงการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ หลายคนมักจะให้ความสำคัญกับการทำกำไรสูงสุด โดยละเลยต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมไป

อย่างไรก็ดี วันนี้ เราต่างปฏิเสธไม่ได้แล้วว่า การทำธุรกิจที่ไร้ความรับผิดชอบต่อสังคม ได้ก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหามลพิษทางอากาศ และทางน้ำ การก่อก๊าซเรือนกระจกที่นำไปสู่ภาวะโลกร้อน ตลอดจนการใช้แรงงานผิดกฎหมายและการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม

ดังนั้น การดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Business จึงเป็นแนวปฏิบัติใหม่เพื่อบรรเทาผลกระทบเชิงลบและส่งเสริมให้ธุรกิจเติบโตไปพร้อมกับสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ เนื่องจากเป็นการตอบโจทย์ของนักลงทุนและผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับธุรกิจที่มีคุณธรรม โดยจะช่วยสร้างผลกำไรในระยะยาว

SDGs กับความหลากหลายทางเพศ (LGBTQI+)

ประเทศไทยมีประชากรกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQI+ จำนวนกว่า 4 ล้านคน คิดเป็น 6% ของจำนวนประชากรทั้งหมด แม้ว่าในมุมมองของกลุ่ม LGBTQI+ ทั่วโลกจะเห็นว่า ประเทศไทยค่อนข้างเปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศและยอมรับกลุ่ม LGBTQI+ อย่างเต็มที่ แต่งานวิจัยของกลุ่มธนาคารโลก คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบริษัท Love Frankie ระบุว่า กลุ่มคนข้ามเพศ 77% หญิงรักหญิง 62.5% และชายรักชาย 49% ในประเทศไทยยังถูกปฏิเสธการรับเข้าทำงานเนื่องจากความแตกต่างทางเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ จะดีกว่าไหม หากคนไทยจะช่วยกันสร้างสังคมที่เปิดกว้างให้ทุกคนมีส่วนร่วมได้อย่างภาคภูมิ

SDGs กับเกษตรกร

เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDGs คือการพัฒนาเพื่อให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล กลุ่มเกษตรกรก็มีส่วนร่วมในการพัฒนาตามแนวทาง SDGs ได้ โดยการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ซึ่งก็คือการทำเกษตรที่ครอบคลุมเรื่องวิถีชีวิตของเกษตรกร กระบวนการผลิต และการจัดการทุกรูปแบบ เพื่อให้เกิดความสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เปลี่ยนจากการทำการเกษตรเชิงเดี่ยวแบบเดิมมาทำเกษตรผสมผสาน การปลูกพืชแปลงใหญ่ การลดการใช้สารเคมี รวมถึงการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเข้าสู่การเป็น smart farmer  ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพในการทำการเกษตร และนำไปสู่การพึ่งตนเองและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรโดยรวม

SDGs กับชีวิตคนเมือง

คุณภาพชีวิตที่ดีไม่ได้หมายถึงความสำเร็จในหน้าที่การงานหรือการมีเงินทองเท่านั้น แต่หมายถึงการมีสุขภาพที่ดี สังคมที่ดีและสิ่งแวดล้อมที่ดีด้วย คุณภาพชีวิตที่ดีจึงเริ่มต้นได้ง่าย ๆ ด้วยการจัดสรรเวลาในแต่ละวันให้เกิดความสมดุล ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และการพักผ่อน

นอกจากนี้ บ่อยครั้งที่การใช้ชีวิตที่แข่งกับเวลาในเมืองใหญ่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในหลายด้าน เช่น มลภาวะทางอากาศและน้ำ ปัญหาขยะ รวมถึงปัญหาด้านสุขภาพต่าง ๆ ดังนั้น หากคนเมืองเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างสมดุลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก็จะช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ในที่สุด

SDGs กับอาหารริมทาง

อาหารริมทาง (Street Food) เป็นเสน่ห์ของประเทศไทยที่ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก ด้วยความหลากหลายของอาหาร ผนวกกับรสชาติที่โดดเด่น และราคาที่ย่อมเยา ทำให้ Street Food ไทยครองใจนักท่องเที่ยวทั่วโลก แต่ทว่าการท่องเที่ยวและการใช้ชีวิตประจำวันของเราได้ก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยขึ้น ด้วยขยะที่เพิ่มมากขึ้นทุกวันจากการใช้ภาชนะแบบใช้ครั้งเดียวอย่างฟุ่มเฟือยและการจัดการขยะที่ไม่ถูกต้อง

ถึงเวลาแล้วที่เราจะพลิกโฉม Street Food ไทยให้มีสุขอนามัยที่ดี สะอาด ปลอดภัย ไม่สร้างมลภาวะ แต่สร้างความประทับใจให้ผู้บริโภค ด้วยการยึดหลัก 3Rs  ได้แก่ การลดการใช้ภาชนะแบบใช้ครั้งเดียว นำภาชนะกลับมาใช้ซ้ำ และเพิ่มการแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ (Reduce Reuse and Recycle) เพียงเราเริ่มที่ตัวเราเองและส่งต่อจิตสำนึกนี้ไปยังคนรุ่นหลัง ก็จะทำให้คุณภาพชีวิตของคุณและคนรุ่นต่อไป พัฒนาไปอย่างยั่งยืน

ติดตามสถานะล่าสุดของการดำเนินการของไทยเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ที่เว็บไซต์ sdgs.nesdc.go.th