แนวทางการแก้ปัญหาภาวะเงินเฟ้อและภาวะเงินฝืดของนโยบายการเงินมีวิธีการอย่างไรบ้าง


Inflation เงินเฟ้อ

เงินเฟ้อ คือ ภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เงินเฟ้อ วัดจาก “ดัชนีราคาผู้บริโภค” คำนวณจากราคาสินค้าและบริการ 430 รายการ ครอบคลุมสินค้าและบริการ 7 หมวดได้แก่ 1. หมวดอาหารและเครื่องดื่ม 2.หมวดเคหสถาน 3.หมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร 4.หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า 5.หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล 6.หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษา 7.หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ในประเทศไทยผู้ที่กำหนดดัชนีราคาผู้บริโภคคือกระทรวงพาณิชย์

เงินเฟ้อกับนโยบายการเงิน โดยทั่วไปธนาคารกลางมักไม่ต้องการให้เงินเฟ้อสูงเกินไป โดยในแต่ละประเทศมีเป้าหมายเงินเฟ้อไม่เท่ากัน เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือประเทศในแถบยุโรป อาจกำหนดเงินเฟ้อไม่เกิน 2% ในขณะที่อินเดียอาจกำหนดเงินเฟ้อที่ 5% เป็นต้น สำหรับประเทศไทย มักกำหนดเงินเฟ้อที่ประมาณ 2% เงินเฟ้อมีผลกระทบกับเศรษฐกิจในหลากหลายมิติ เช่น ผู้บริโภคมักจะรีบซื้อสินค้าในขณะที่สินค้านั้นมีแนวโน้มราคาที่จะสูงขึ้น สิ่งที่ธนาคารกลางจะทำให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่เหมาะสมคือการกำหนดนโยบายการเงิน เช่น เงินเฟ้อสูงเกินไปธนาคารจะขึ้นดอกเบี้ยเพื่อกดอุปสงค์มวลรวมของประเทศลงมา เนื่องจากเมื่อดอกเบี้ยแพงผู้บริโภคอาจจะซื้อน้อยลง หรือนักลงทุนอาจจะลงทุนน้อยลง แต่ถ้าเงินเฟ้อต่ำ ธนาคารกลางจะลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคใช้จ่ายมากขึ้น หรือว่าธุรกิจลงทุนได้ง่ายขึ้น

สรุปคือ เงินเฟ้อต้องไม่เกินเป้าหมายที่ธนาคารกลางของแต่ประเทศกำหนดไว้ หากสูงหรือต่ำเกินไปจะมีมาตรการต่างๆ ออกมาเพื่อปรับเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับเป้าหมายที่วางไว้

Deflation เงินฝืด

เงินฝืด คือภาวะที่ตรงข้ามกับเงินเฟ้อ เป็นภาวะที่ราคาสินค้าและบริการส่วนใหญ่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยอิงจากดัชนีราคาผู้บริโภคว่ามีการลดลงอย่างต่อเนื่องเท่าไรเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางของแต่ละประเทศอาจมีคำนิยามชัดเจนว่าภาวะเงินฝืดต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง เช่น ประเทศในยุโรปดัชนีราคาผู้บริโภคต้องติดลบติดต่อกันนาน 6 เดือน เป็นต้น ภาวะเงินฝืดมักจะเกิดในช่วงเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากผู้บริโภคไม่มีกำลังในการซื้อสินค้าและบริการ เมื่อไม่มีกำลังซื้อสินค้า ตลาดก็จะลดราคาเมื่อราคาสินค้าลดลงมากขึ้น ผู้ผลิตอาจต้องลดอัตราการผลิตลงซึ่งอาจส่งผลกระทบถึงการจ้างงาน เป็นต้น

เมื่อเกิดภาวะเงินฝืด รัฐบาลมักจะมีนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลาย เช่น นโยบายการคลังอาจจะออกมาตรการลดค่าน้ำค่าไฟ ส่วนนโยบายการเงินจากธนาคารกลางมักจะลดดอกเบี้ย เป็นต้น

Reflation การฟื้นตัวของเงินเฟ้อ

การฟื้นตัวของเงินเฟ้อ มักจะเกิดในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำมากๆ รัฐบาลจะใช้นโยบายการคลัง ธนาคารกลางใช้นโยบายการเงินเพื่อทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น โดยมีเป้าหมายคือให้ดัชนีราคาผู้บริโภคขยับขึ้น ในเชิงนโยบายการเงินในช่วงที่เงินเฟ้อขยับขึ้น ธนาคารจะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย เพราะว่าเงินเฟ้อขยับขึ้นแต่ยังต่ำกว่าเป้าหมาย เช่น ดัชนีราคาผู้บริโภคขยับขึ้นจาก -1.1% เป็น 0.75% แต่ดัชนีราคาผู้บริโภคเป้าหมายคือ 1-3% ดังนั้นหากการฟื้นตัวของเงินเฟ้อยังไม่ถึงเป้าหมายธนาคารกลางจะยังคงนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายคือยังจะไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยเป็นต้น

Disinflation ภาวะเงินเฟ้อลดลง

ภาวะเงินเฟ้อลดลงแต่ยังไม่ติดลบ มักจะเกิดในช่วงที่เศรษฐกิจดีมากๆ ธนาคารกลางจึงขึ้นดอกเบี้ยเพื่อให้อุปสงค์มวลรวมในประเทศลดลง เงินเฟ้อจึงลดลงแต่ยังไม่ติดลบ เช่น ถ้าอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 2% เดือนต่อมาลดลงเหลือ 1.75% และ 1.5 % เหลือ 1.2% แต่ยังไปถึงขึ้นติดลบ เป็นต้น

นโยบายก​​​​ารเงิน


หน้าที่สำคัญของธนาคารกลางทุกแห่งคือ การกำหนดนโยบายการเงิน โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ในกรณีของไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (Flexible Inflation Targeting) โดยให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพด้านราคา ควบคู่ไปกับการดูแลการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน 

ประโยชน์ของการรักษาเสถียรภาพด้านราคา

ธปท. เน้นดูแลให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำและไม่ผันผวน เนื่องจากเงินเฟ้อทำให้ค่าของเงินหรืออำนาจซื้อของประชาชนลดลง โดยเมื่ออัตราเงินเฟ้อเร่งขึ้น หรือสินค้ามีราคาแพงขึ้น เงินที่อยู่ในมือของประชาชนจะซื้อสินค้าได้ในปริมาณน้อยลง ซึ่งเมื่อมองในแง่นี้ เงินเฟ้อจึงเป็นเหมือนสิ่งที่ฉุดให้ประชาชนทั้งประเทศยากจนลง นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อที่สูงหรือผันผวนจนเกินไปยังเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกด้วย เพราะส่งผลให้การคาดการณ์ราคาสินค้าในอนาคตเพื่อประโยชน์ในการวางแผนธุรกิจตลอดจนวางแผนการบริโภคและการออมของประชาชนทำได้ยาก ในทางกลับกัน อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำเกินไปจนติดลบ หรือที่เรียกว่าภาวะเงินฝืด ก็ไม่เป็นผลดีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน เพราะเมื่อเกิดภาวะเงินฝืด ประชาชนและธุรกิจจะคาดว่าราคาสินค้ามีโอกาสปรับลดลงอีกในระยะต่อไป จึงไม่ก่อให้เกิดแรงจูงใจบริโภคและลงทุนในปัจจุบัน

กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น

ธปท. ดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่นมาตั้งแต่ปี 2543 ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับที่ธนาคารกลางในหลายประเทศใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นกรอบนโยบายที่เอื้อให้เกิดวินัยในการดูแลเสถียรภาพราคา ผ่านการประกาศเป้าหมายเงินเฟ้อที่ชัดเจน ตลอดจนให้ความยืดหยุ่นต่อการดำเนินนโยบายการเงินในการสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพและยั่งยืน รวมถึงจัดการกับความเสี่ยงต่าง ๆ ต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน ทั้งนี้ การกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อที่นโยบายการเงินต้องพยายามบรรลุเป็นคุณลักษณะสำคัญที่ทำให้นโยบายการเงินมีความชัดเจน (clarity) โปร่งใส (transparency) และสามารถตรวจสอบได้ (accountability) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้นโยบายมีความน่าเชื่อถือ (credibility) และช่วยให้การดำเนินนโยบายการเงินมีประสิทธิผลดียิ่งขึ้น

การตัดสินนโยบายการเงิน

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีหน้าที่กำหนดนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาและสนับสนุนให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้เต็มศักยภาพและยั่งยืน กนง. ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงของ ธปท. 3 ท่าน และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก 4 ท่าน ที่ผ่านกระบวนการคัดเลือกตามที่กฎหมายกำหนด จะประชุมกันปีละ 6 ครั้ง โดยมีการวางกำหนดการประชุมล่วงหน้าหนึ่งปี ในการประชุมแต่ละนัด กนง. จะประเมินภาวะเศรษฐกิจการเงิน ปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ พร้อมทั้งพิจารณาประมาณการแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า ตลอดจนความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน เพื่อตัดสินใจขึ้น/คง/ลด อัตราดอกเบี้ยนโยบาย และแจ้งผลการประชุม กนง. ให้สาธารณชนทราบในช่วงบ่ายของวันที่มีการประชุม 

การสื่อสารผลกา​รตัดสินนโยบายการเงิน

เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจแนวคิดและมุมมองของ กนง. เกี่ยวกับภาวะและแนวโน้มของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงเหตุผลของการตัดสินนโยบายการเงินอย่างละเอียด ธปท. จึงได้จัดทำและเผยแพร่รายงานการประชุม กนง. ฉบับย่อ หลังการประชุมผ่านไปแล้วสองสัปดาห์ รวมถึงจัดทำและเผยแพร่ รายงานนโยบายการเงิน เป็นประจำทุกไตรมาสอีกด้วย

ความหมายของการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

กนง. ใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (ในปัจจุบันคืออัตราดอกเบี้ยธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรแบบทวิภาคีระยะ 1 วัน) เป็นเครื่องมือในการส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงิน ตามปกติแล้ว การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นการส่งสัญญาณของ กนง. ว่า มีความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปจะเร่งตัวขึ้นสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่กำหนดไว้ และ/หรือ เศรษฐกิจเติบโตเกินกว่าศักยภาพ ดังนั้น จึงปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจและฉุดเงินเฟ้อให้ชะลอลง ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นการส่งสัญญาณของ กนง. ว่ามีความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปอาจอยู่ต่ำกว่าเป้าหมาย และ/หรือ เศรษฐกิจจะขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ ดังนั้น จึงปรับดอกเบี้ยลงเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ 

ในการพิจารณาการดำเนินนโยบายการเงิน กนง. จะให้ความสำคัญต่อเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ได้กำหนดไว้ พร้อมทั้งชั่งน้ำหนักข้อดี ข้อเสียของการดำเนินนโยบายการเงิน (policy trade-off) แต่ละทางเลือก เพื่อรักษาความสมดุลระหว่างเป้าหมายด้านเสถียรภาพราคา การเติบโตทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพระบบการเงินอย่างเหมาะสม โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ควรอยู่ต่ำเกินไปจนนำไปสู่การสะสมความเสี่ยงในภาคการเงิน ซึ่งอาจเป็นต้นตอให้เกิดวิกฤตการเงินได้ ในขณะเดียวกัน หากภาคการเงินประสบปัญหา เช่น การขยายตัวของสินเชื่อชะลอลงรุนแรง กนง. อาจพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อให้ภาคการเงินกลับมาทำหน้าที่ปล่อยสินเชื่อได้ตามปกติ

การกำหนดเป้าหมา​​ยของนโยบายการเงิน

การดำเนินนโยบายการเงินของ กนง. ภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น ให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับการดูแลการเติบโตทางเศรษฐกิจและการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน โดย กนง. จะพิจารณารักษาความสมดุลของเป้าหมายด้านต่าง ๆ อย่างเหมาะสม และมีความพร้อมที่จะใช้เครื่องมือในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีอยู่สนับสนุนให้ระดับราคามีเสถียรภาพและเป็นไปตามเป้าหมายและเศรษฐกิจของประเทศเติบโตเต็มศักยภาพและยั่งยืน โดยไม่ก่อให้เกิดความเปราะบางต่อเสถียรภาพระบบการเงิน

ทั้งนี้ ในการกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินประจำปี กนง. จะต้องทำความตกลงร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก่อนที่รัฐมนตรีจะนำเสนอเป้าหมายที่ตกลงร่วมกันต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ โดยในปัจจุบัน คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1-3 เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และสำหรับปี 2565 โดยอัตราเงินเฟ้อในช่วงดังกล่าวเป็นระดับที่เหมาะสมกับบริบทของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เนื่องจาก (1) แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าและในระยะปานกลางจะเคลื่อนไหวอยู่ใกล้เคียงกับขอบล่างของเป้าหมาย สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างช้า ๆ รวมถึงมีความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะปรับเพิ่มขึ้นจากราคาพลังงาน การชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานและปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics)  (2) สามารถยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชนได้ดี โดยในปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินที่กำหนด (well-anchored) และ (3) เป้าหมายแบบช่วงที่มีความกว้างร้อยละ 2 เอื้อต่อการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้สถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ให้มีความยืดหยุ่นเพียงพอในการรักษาเสถียรภาพราคา การขยายตัวของเศรษฐกิจและเสถียรภาพระบบการเงิน

"ในการดำเนินนโยบาย แบงก์ชาติไม่สามารถดำเนินการทุกอย่างได้เพียงลำพัง แต่จำเป็นต้องประสานนโยบายในเชิงเศรษฐกิจมหภาคกับหน่วยงานต่าง ๆ ให้สอดคล้องกัน เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของประเทศ" ดร. ป๋วย อึ้งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย