อิริยาบถของการทําสมาธิมีอะไร บ้าง

ทำในรูปแบบทุกวันสวดมนต์ เดินจงกรม วันละประมาณ 1 ชั่วโมง เวลาเดินก็คอยรู้สึกกายเดินแล้วไปดูจิตที่ไหลไป แต่มักประคองจิต ไม่ค่อยนั่งสมาธิเพราะจิตมักไปเพ่ง และน้อมใจให้ทื่อๆ อึดอัด ปวดหัว ตอนเด็กๆ ทำแล้วสบายไม่เพ่งขนาดนี้ แต่เดี๋ยวนี้พอรู้สึกลมหายใจได้สักครู่ก็เพ่งเลย ในชีวิตประจำวันใช้อิริยาบถเป็นเครื่องอยู่ ชอบหลงไปคิดกับโมโห หงุดหงิดง่าย แต่ก็พอเห็นทันบ้าง แล้วก็กลับมาอยู่กับอิริยาบถครับ บางช่วงชอบคิดเรื่องความตายบ่อยๆ บางทีจิตก็หดหู่ขึ้นมาครับ การปฏิบัติของผมถูกต้องหรือไม่ครับ

 

หลวงพ่อ:

ปฏิบัติก็ถูกนะ ฝึกเรื่อยๆ ไป แต่เวลาความรู้สึกอะไรมันเกิดขึ้นกับจิตใจ อย่าให้ความรู้สึกนั้นครอบงำใจเราได้ อย่างบางทีเราภาวนาไปในบรรยากาศอย่างนี้ ในสังคม ในสภาพแวดล้อมอย่างนี้ บางทีจิตใจมันเหนื่อย มันท้อแท้ มันหดหู่ ให้มีสติรู้ทันไป เราก็จะเห็นความหดหู่ไม่ใช่จิตหรอก ความหดหู่เป็นแค่ความรู้สึกอย่างหนึ่ง เป็นสังขารอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น เฝ้ารู้เฝ้าดูไป จิตเราเป็นแค่คนรู้คนดู ฝึกแล้วต่อไปไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานการณ์อะไร เราจะสามารถอยู่ได้แบบไม่ทุกข์หรอก หรือทุกข์ก็ทุกข์น้อยๆ

ที่ฝึกอยู่ใช้ได้ ฝึกไปแล้วก็ใจเราโกรธ เราก็รู้ ใจเราฟุ้งซ่านเราก็รู้ อย่าไปโมโหมันอีก ตรงที่นั่งสมาธิแล้วก็เครียด สมาธิไม่ได้ทำให้เราเครียดหรอก สิ่งที่ทำให้เราเครียดคือกิเลส เราอยากสงบเร็วๆ อยากสงบนานๆ อะไรอย่างนี้เราจะไปบังคับจิต จิตถูกบังคับจิตมันก็เครียด จิตมันเหมือนเด็ก เราบังคับมันมากมันเครียด ฉะนั้นเราอย่าไปบังคับจิตมากเกินไป ถ้ามีเวลามีโอกาสเราก็ฝึกนั่ง โดยไม่ได้บังคับว่าจิตต้องสงบ นั่งรู้สึกตัวไป นั่งแล้วเห็นร่างกายหายใจไป นั่งแล้วคอยรู้สึกๆ ไป เราจะได้ฝึกได้ทุกๆ อิริยาบถ ให้เราเดินตลอด 24 ชั่วโมง เราเดินไม่ได้มันต้องเปลี่ยนอิริยาบถด้วย

ฉะนั้นพยายามฝึกให้ได้ทุกๆ อิริยาบถจะดีที่สุด แต่เบื้องต้นอย่างน้อยที่สุดแล้วเคลื่อนไหวแล้วรู้สึกๆ ได้ก็ยังดี นอนอยู่ก็ฝึกได้ เราเคลื่อนไหวนอนแล้วก็ขยับเอา ขยับ รู้สึกๆ ก็ทำได้ หลวงพ่อยังเคยทำ บางทีนอนแล้วขยับเท้าๆ อย่างนี้ ขยับ รู้สึก มันไม่ได้มีคุณค่าน้อยกว่าการเดินจงกรมเลย ถ้าจิตเรามีสมาธิพอ คือเห็นรูปเคลื่อนไหวใจเป็นคนดูนั่นเอง ฉะนั้นเรารู้อิริยาบถ รู้ร่างกายที่เคลื่อนไหว ร่างกายที่หยุดนิ่ง มันทำได้ในทุกอิริยาบถอยู่แล้ว ร่างกายที่เคลื่อนไหวไม่จำเป็นต้องว่าต้องนั่ง ต้องเดิน อยู่ในอิริยาบถไหนก็ขยับได้ เคลื่อนไหวได้ ค่อยๆ ดูไป

แล้วที่มันเครียดเพราะเราอยากสงบ เพราะเราอยากดี ถ้าเรารู้ทันเราก็ขยับไปด้วยใจที่เป็นกลาง รับรองว่าไม่เครียดหรอก เราจะทำสมาธิได้ในทุกอิริยาบถ พอจิตเราตั้งมั่นเราเดินปัญญาได้ในทุกอิริยาบถ นั่งก็ได้ เดินก็ได้ นอนก็ได้ สามารถเดินปัญญาได้ บางท่านบรรลุมรรคผลในอิริยาบถนอนก็มี ไม่ใช่ไม่มี ฉะนั้นเราพยายามฝึก ที่ฝึกอยู่ดีนะ อนุโมทนา อดทนไปทุกวันๆ ฝึกไว้

นอกจากการปฏิบัติธรรมด้วยการเดินจงกรมและนั่งสมาธิแล้ว เรายังมีวิธีปฏิบัติที่ไม่ต้องแยกการปฏิบัติออกจากชีวิตประจำวัน ไม่ต้องรอเวลามาเข้าคอร์สแล้วค่อยปฏิบัติจริงจังปีละครั้ง แต่เราเจริญสติได้ตลอดเวลา เรียกว่าการกำหนดอิริยาบถใหญ่และอิริยาบถย่อย

ในแต่ละวันกายของเราอยู่ในอิริยาบถย่อยต่างๆ มากมาย เรียกว่าเราใช้ร่างกายโดยไม่รู้สึกตัว ส่วนอิริยาบถใหญ่เป็นทิศทางแห่งการเคลื่อนไหว ในการวางท่าทางของร่างกายอย่างใกอย่างหนึ่งใน ๔ อิริยาบถ ได้แก่ ยืน เดิน นั่ง นอน ในทุกขณะเราต้องมีอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่ง แม้กระทั่งผู้ที่เคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้ก็สามารถกำหนดอิริยาบถนอนได้

ที่ผ่านมาเราระลึกกันบ้างหรือไม่ว่าขณะนี้เราทำอะไรอยู่ เรายังนอนอยู่ก็รู้ว่าอยู่อิริยาบถนอน เปลี่ยนท่าทางจากนอนเป็นนั่งก็รู้ว่าอยู่ในอิริยาบถนั่ง ถ้าเรามัวแต่คิดฟุ้งไปกับเรื่องต่างๆ นอกตัว เมื่อนั้นเราจะลืมตัวไปชั่วขณะ เราจะไม่รู้สึกตัวเลยว่ากำลังทำอิริยาบถใดอยู่ ยืน เดิน นั่ง หรือนอน ยิ่งคนรุ่นใหม่ที่นิยมใช้เครื่องมือสื่อสารทั้งโทรศัพท์มือถือ ไอโฟน ไอแพด อยู่ตลอดเวลา เขาจะไม่รู้สึกตัวเลยว่ากำลังอยู่ในอิริยาบถใด เพราะใจกำลังจดจ่ออยู่ที่หน้าจอ

จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องยากที่จะฝึกให้รู้สึกตัว ในชีวิตประจำวันเราต้องเดินไปไหนมาไหนอยู่แล้ว เราอาจเลือกกำหนดอิริยาบถเดิรทุกครั้งที่มีการก้าวเท้า ซ้าย - ขวา ซ้าย - ขวา เร็วหรือช้าตามท่าทางที่เดินอยู่ โดยให้ใจจดจ่ออยู่กับการก้าวเดินง่ายๆ เพียงเท่านี้ เมื่อฝึกจนจิตคุ้นชินแล้ว พอจะก้าวเท้าเมื่อไหร่ จิตจะกำหนดอิริยาบถไปเองโดยอัตโนมัติ ซึ่งเราไม่ต้องทำอะไรเลย ใครยังไม่เคยทำก็ลองทำดูไม่เสียหายอะไร จะช่วยให้เรามีสมาธอในการทำงานมากขึ้นด้วย เพราะจิตอยู่กับกาย ไม่วอกแวก ไม่ฟุ้งซ่านคิดโน่นคิดนี่ไปเรื่อยเหมือนอย่างที่เคย

ส่วนอิริยาบถย่อยท่าทางอื่นๆ ที่มีรายละเอียดปลีกย่อยนอกเหนือจากการยืน เดิน นั่ง นอน เป็นการเคลื่อนกายในทุกอิริยาบถ อย่างการทางอาหารก็จะมีอิริยาบถย่อยตั้งแต่ยก ขึ้น ลง หยิบ จับ ตัก อ้า อม ดื่ม กัด เคี้ยว กลืน ขยับ ก้ม เงย เป็นต้น

การที่เราทำอะไรได้ดี เราควรรู้จุดมุ่งหมายของการกระทำนั้นว่าทำไปเพื่ออะไร การดำเนินชีวิตด้วยอิริยาบถต่างๆ หากทำด้วยความสำรวมจะช่วยให้มีสติมากขึ้น ที่ศูนย์วิปัสสนาโพธิวัณณา เราจะฝึกกำหนดอิริยาบถย่อยในการรับประทานอาหาร อวยพรเจ้าภาพ และพิจารณาอาหารก่อนกิน เราจะได้กินอย่างมีสติ ไม่กินด้วยความอยาก เราจะได้ไม่หลงกับรสชาติของอาหาร แต่เพื่อให้มีกำลังในการดำรงชีวิตและการปฏิบัติธรรม ค่อยๆ เคี้ยว ค่อยๆ กลืน กินอย่างสำรวม ช้าๆ ไม่ต้องรีบร้อน เมื่อกินเสร็จแล้วทุกคนต้องล้างเก็บภาชนะของตนเอง ทุกสิ่งที่ทำขอให้ทำโดยมีสติกำกับ

เมื่อกลับไปอยู่ที่บ้าน เรายังสามารถกำหนดอิริยาบถย่อยได้ตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้า ลุกขึ้นเข้าห้องน้ำก้ให้เรารู้ตัวทุกขณะ ตั้งแต่เอื้อมมือหยิบแปรงสีฟัน บีบยาสีฟันใส่แปรง เริ่มแปรงฟัน ด้านซ้าย ด้านขวา ด้านบน ด้านล่าง บ้วนปาก อาบน้ำ ถูสบู่ เช็ดตัว แต่งตัว ทานข้าว จนกระทั่งเดินทางออกจากบ้าน

การฝึกอิริยาบถย่อยทำได้ทุกขณะ ทุกเวลา และทุกสถานที่ จากบ้านเดินทางไปโรงเรียน หรือไปทำงาน อยู่ที่ทำงานทำอะไรบ้าง กลับบ้านทำอะไร ให้เรารู้กายรู้ใจอยู่ทุกขณะ

ขอฝากให้ทุกท่านพิจารณาอิริยาบถย่อย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ยากจนเกินไป เพราะทุกท่านปฏิบัติได้ทุกที่ทุกเวลาเพื่อให้มีสติอยู่เสมอ แล้ว ศีล สมาธิ ปัญญาจะบริบูรณ์

การฝึกสติให้รู้เท่าทันสิ่งต่างๆ ที่เข้ามากระทบจะทำให้เราจะมีสติรู้ตัวเสมอ สติเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องหมั่นฝึกฝนทุกวันเพื่อใช้ในยามคับขัน เช่น ขณะเกิดอุบัติเหตุ หรือแม้ในขะจิตสุดท้ายก่อนสิ้นลมหายใจ การมีสติจะช่วยนำไปสู่สุคติภูมิได้ในที่สุด