การพัฒนาที่ไม่พัฒนาที่เกิดขึ้นแอ่งสกลนคร

ภาคตะวัน ออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ในบริเวณที่ราบสูง ซึ่งเป็นบริเวณภายในที่ไม่มีทางติดต่อกับทะเล มีแต่เทือกเขาล้อมรอบและมีสภาพคล้ายแอ่งกระทะ ที่เทลาดจากที่สูงทางตะวันตก ลงสู่ที่ลุ่มต่ำทางด้านตะวันออก ที่มีแม่น้ำโขงเป็นขอบเขตทางตะวันตกมีเทือกเขาเพชรบูรณ์ และดงพระยาเย็นกั้นออกจากที่ราบลุ่มเขมรต่ำ ส่วนทางด้านตะวันออก แม้ว่าจะมีลำแม่น้ำโขงกั้นเขตออกจากประเทศลาวก็มีทิวเขาภูพานกั้นเป็นขอบชั้นใน ตัดออกจากบริเวณจังหวัดมุกดาหารผ่านจังหวัดกาฬสินธุ์ และสกลนครไปยังอุดรธานี ทำให้บริเวณที่ราบสูงของภาคตะวันออกเฉียงเหนือแบ่งออกเป็น ๒ แอ่งใหญ่ คือ แอ่งสกลนครทางเหนือ มีลำน้ำสายเล็กหลายสาย เช่น แม่น้ำสงครามและแม่น้ำก่ำ ไหลผ่านไปออกแม่น้ำโขง ส่วนอีกแอ่งหนึ่งคือ แอ่งโคราชอยู่ทางใต้ มีแม่น้ำมูล และแม่น้ำชีตลอดจนลำน้ำที่เป็นสาขาอีกหลายสายหล่อเลี้ยง

ในด้านภูมิอากาศ ทั้งแอ่งสกลนคร และแอ่งโคราช ไม่มีอะไรแตกต่างกัน แต่ในด้านภูมิประเทศ แอ่งสกลนครมีพื้นที่น้อยกว่าแอ่งโคราช ประกอบด้วยพื้นที่ราบเชิงภูเขาภูพาน และบริเวณที่ราบลุ่มต่ำที่อยู่ใกล้มาทางแม่น้ำโขง บริเวณที่ลุ่มดังกล่าวนี้ ในฤดูน้ำแม่น้ำโขงไหลทะลักเข้ามาท่วม ทำให้การเพาะปลูก และการตั้งหลักแหล่งชุมชนของมนุษย์ ไม่ดีเท่ากับบริเวณที่ราบเชิงเขาภูพาน ซึ่งอยู่ทางตอนใต้แอ่งสกลนครนี้ นักโบราณคดีพบหลักฐานว่า เป็นบริเวณที่มีชุมชนมนุษย์เป็นหมู่บ้านมาแล้ว แต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ อย่างน้อยก็มีอายุราว ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว ตั้งหลักแหล่งอยู่ในบริเวณที่ราบเชิงเขาภูพานที่มีลำน้ำสงคราม และสาขา ไหลผ่าน ต่อมาประมาณ ๓,๐๐๐ กว่าปีที่แล้วมา ชุมชนเหล่านี้ก็มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี สามารถหล่อสัมริดขึ้นเป็นเครื่องมือ เครื่องประดับ และอาวุธ นอกจากนั้นยังมีประเพณีฝังศพที่ใช้ภาชนะเขียนสีเป็นเครื่องเซ่นผู้ตาย ชุมชนมนุษย์ที่กล่าวมานี้ รู้จักกันทั่วไปว่า เป็นพวกวัฒนธรรมบ้านเชียง ตามชื่อของหมู่บ้านในปัจจุบันแห่งหนึ่ง ในเขตอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี อันเป็นแหล่งที่พบชุมชนโบราณ และแหล่งฝังศพของมนุษย์ ในยุคก่อนประวัติศาสตร์

จากหลักฐานทางโบราณคดี เราพอกำหนดได้ว่า ชุมชนมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์เหล่านี้ กระจายกันอยู่ตั้งแต่บริเวณอำเภอกุมภวาปี ผ่านอำเภอวาริชภูมิ อำเภอพนา ไปจนเขตอำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ซึ่งอยู่บริเวณรอบหนองหาน สกลนคร การตั้งหลักแหล่งชุมชนในบริเวณนี้ มีสืบเนื่องเรื่อยมา จนถึงสมัยที่เกิดศิลปะแบบทวาราวดี อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖ และศิลปะแบบลพบุรี หรือศิลปะขอมในประเทศไทย อายุประมาณพุทธศตวรรษ ๑๒-๑๘ ดังเห็นได้จากการพบโบราณวัตถุ โบราณสถาน และร่องรอยเมืองโบราณที่มีคูน้ำล้อมรอบเป็นหลักฐานให้เห็น ส่วนในบริเวณที่ราบลุ่มต่ำใกล้กับลำน้ำโขงนั้น ไม่ปรากฏร่อยรอยชุมชนมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ เพราะเป็นบริเวณที่น้ำท่วมถึงในฤดูน้ำ ไม่เหมาะกับการตั้งแหล่งที่พักอาศัยเพิ่งมาเกิดมีชุมชนขึ้น ในสมัยหลังประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓ ลงมา คนส่วนใหญ่ที่อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่ง ก็เป็นพวกคนลาวที่เคลื่อนย้ายลงมาจากเมืองหลวงพระบาง และเวียงจันทน์ ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ในปัจจุบันการตั้งหลักแหล่งของผู้คนในแอ่งสกลนครกระจายอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะบริเวณฝั่งแม่น้ำโขงนั้น มีบ้านเล็กเมืองน้อยเรียงรายอยู่ค่อนข้างหนาแน่น และอาศัยที่ดินตามชายฝั่งแม่น้ำโขงเป็นแหล่งปลูกผัก ยาสูบ และพืชพันธุ์อื่น ที่นอกเหนือไปจากการปลูกข้าว

การพัฒนาที่ไม่พัฒนาที่เกิดขึ้นแอ่งสกลนคร

ภาพถ่ายทางอากาศของเมืองโบราณสมัย ประวัติศาสตร์ ที่มีรูปเป็นสี่เหลี่ยมประกอบด้วยคูน้ำและคันดินที่จังหวัดสกลนคร

แอ่งโคราชมีพื้นที่กว้างขวางกว่าแอ่ง สกลนคร มีทั้งบริเวณที่สูง ทั้งทางตอนเหนือ และตอนใต้ โดยเฉพาะทางตอนใต้นั้น เป็นที่ลาดลงจากเทือกเขาพนมดงรัก ส่วนบริเวณตอนกลางเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำชี (ยาว ๔๔๒ กม.) และแม่น้ำมูล (ยาว ๖๗๒ กม.) ไหลผ่านจากทางตะวันตก ไปออกแม่น้ำโขงทางตะวันออก โดยเฉพาะที่ราบลุ่มของแม่น้ำมูลนั้น มีลักษณะเป็นที่ลุ่มต่ำ น้ำท่วมถึงในฤดูน้ำ พื้นที่ตั้งแต่เขตจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ มหาสารคาม ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานีนั้น ส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณที่มีแม่น้ำมูลและชีหล่อเลี้ยง เป็นที่ราบกว้างใหญ่ที่มีผู้คนเข้ามาตั้งหลักแหล่ง อาศัยมาแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ทีเดียว อย่างเช่น ในบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นต้น คนทั่วไปแลดูว่าแห้งแล้ง แต่แท้ที่จริงแล้ว พบแหล่งชุมชนโบราณของมนุษย์ที่มีมาแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงสมัยทวาราวดี และลพบุรีเป็นจำนวนกว่าร้อยแห่งทีเดียว แสดงว่า เคยเป็นที่อุดมสมบูรณ์ ในสมัยนั้น การตั้งหลักแหล่งชุมชนบนที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงนี้ ดูแตกต่างไปจากบริเวณที่ลุ่มต่ำของแอ่งสกลนคร ซึ่งเพิ่งมีผู้คนอพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานกันในสมัยหลัง

ส่วนในแอ่งโคราช ดูเหมือนประชาชนจะหนาแน่นอยู่ในที่ลุ่มต่ำก่อน แล้วค่อยๆ เคลื่อนย้ายไปอยู่บนที่สูงในภายหลัง อย่างไรก็ตาม หลักฐานทางโบราณคดีที่พบในขณะนี้ ก็แสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ คือ ประมาณ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว มีผู้คนตั้งหลักแหล่งชุมชนหมู่บ้านขึ้น ตามบริเวณที่ราบลุ่มต่างๆ ในแอ่งโคราช ไม่น้อยกว่าสามกลุ่ม แต่ละกลุ่มมีความหนาแน่น และครอบคลุมบริเวณไม่เท่ากัน และมีความแตกต่างกันในด้านวัฒนธรรม ซึ่งแลเห็นได้จากบรรดาภาชนะดินเผาที่ใช้ในการประดับแหล่งฝังศพ กลุ่มชนเหล่านี้ ได้แก่

(๑) กลุ่มโนนชัย ในเขตจังหวัด ขอนแก่น
(๒) กลุ่มทุ่งกุลาร้องไห้ หรือร้อยเอ็ด ในเขตจังหวัดมหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ยโสธร บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ และ
(๓) กลุ่มทุ่งสัมริดในเขตจังหวัดนครราชสีมา

การตั้งหลักแหล่งชุมชนของผู้คนในแอ่งโคราชในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และยุคประวัติศาสตร์ตอนต้นๆ มีลักษณะที่แตกต่างไปจากของแอ่งสกลนครอยู่มาก กล่าวคือ ในแอ่งสกลนคร ชุมชนมักตั้งบ้านเรือนอยู่บนเนินใกล้กับธารน้ำที่มีน้ำไหลลงจากเทือกเขา ภูพานตลอดทั้งปี ทำให้ไม่มีความจำเป็นที่ต้องขุดสระ หรือสร้างอ่างเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง แต่ในเขตแอ่งโคราช ถึงแม้ว่าจะอยู่ในที่ราบมีน้ำท่วมถึง ก็มักเกิดการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง จึงมีความจำเป็นที่ต้องกักน้ำไว้ใช้ โดยเหตุนี้จึงมีการร่วมมือกันของผู้คนในชุมชน ขุดคูน้ำโอบล้อมชุมชนที่อยู่อาศัย เพื่อกักน้ำไว้ใช้ จึงพบร่องรอยของชุมชนโบราณเป็นจำนวนมาก ที่มีคูน้ำขนาดใหญ่ล้อมรอบ บางแห่งมีการขุดคูล้อมถึง ๒ หรือ ๓ ชั้นก็มี ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า การเป็นเมืองโบราณจะต้องมีคูน้ำล้อมรอบเสมอไป เพราะมีเมืองโบราณหลายแห่ง ที่ไม่มีคูน้ำล้อมรอบ เช่น ในแอ่งสกลนคร

เมื่อเปรียบเทียบจำนวนและขนาดของชุมชนโบราณในแอ่งโคราชแล้ว ก็เห็นได้ชัดเจนว่า มีจำนวนมากกว่า อีกทั้งมีหลายๆ แห่งทีเดียวที่มีขนาดใหญ่โตกว่าทางแอ่งสกลนคร แสดงให้เห็นถึงการมีประชากรที่หนาแน่นกว่า และมีสภาพทางสังคม และวัฒนธรรม ที่ซับซ้อนกว่า ทั้งนี้คงเนื่องมาจากการที่บริเวณแอ่งโคราชเอง มีทรัพยากรธรรมชาติที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ในขณะนั้น คือ แร่เหล็ก และเกลือ เพราะปรากฏพบแหล่งถลุงเหล็กขนาดใหญ่เป็นจำนวนมากกว่าร้อยแห่งขึ้นไป บางแห่งก็มีขี้เหล็กกระจายอยู่บนเนิน และเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ส่วนการทำเกลือนั้น ก็พบแหล่งทำเกลือขนาดใหญ่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะท้องที่ในเขตจังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด

การพัฒนาที่ไม่พัฒนาที่เกิดขึ้นแอ่งสกลนคร

ภาพถ่ายทางอากาศของตัวเมืองโคราช ที่มีคูเมืองโบราณสมัยประวัติศาสตร์มีรูปเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ล้อม รอบไปด้วยบ้านเรือนสมัยปัจจุบัน

การผลิตเหล็กและเกลือ นั้น คงไม่ได้ผลิตขึ้น เพื่อใช้ในท้องถิ่น หรือภูมิภาคเท่านั้น คงมีการส่งต่อไปแลกเปลี่ยน หรือขายกับชุมชนบ้านเมืองต่างภูมิภาคที่อยู่ห่างไกลด้วย ยิ่งในสมัยหลังลงมา คือ ยุคต้นประวัติศาสตร์ เช่น สมัยทวาราวดี การติดต่อกับบ้านเมืองภายนอกเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนผลิตผล เช่น เกลือและเหล็ก คงเพิ่มความสำคัญ เป็นเหตุให้มีการรับวัฒนธรรมจากภายนอกเข้ามา โดยเฉพาะศาสนาฮินดูจากแคว้นเจนละ ในแขวงเมืองจำปาสักของลาว และบรรดาบ้านเมืองในอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออก และทิศใต้ ของกลุ่มบ้านเมืองในลุ่มน้ำเจ้าพระยาในภาคกลางที่นับถือศาสนาพุทธ ผลที่ตามมาก็คือ เกิดบ้านเล็กเมืองน้อยขึ้นมากมายในแอ่งโคราช พบชุมชนที่มีคูน้ำ และคันดินล้อมรอบ มีทั้งเมืองใหญ่ และหมู่บ้านขนาดใหญ่มากมาย การเกิดของชุมชนที่เป็นบ้านเมืองนี้ ยังกินเลยเข้าไปถึงบริเวณแอ่งสกลนครอีกด้วย ดังปรากฏ ซากเมืองโบราณในเขตอำเภอกุมภวาปี อำเภอ หนองหาน จังหวัดอุดรธานี และที่หนองหาน อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร

เมื่อเปรียบเทียบการตั้งหลักแหล่งชุมชนบ้านเมือง ระหว่างภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว อาจกล่าวได้ว่า ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความพยายามที่จะดัดแปลง และควบคุมสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ โดยอาศัยเทคโนโลยีมากกว่าทางภาคกลาง ทั้งนี้ก็เพราะต้องต่อสู้กับความขาดแคลนในเรื่องน้ำในฤดูแล้งเป็นสำคัญ ตลอดระยะเวลาอันยาวนานของภูมิภาคนี้ตั้งแต่สมัยปลายยุคก่อนประวัติ ศาสตร์มาจนทุกวันนี้ คือ การที่จะต้องจัดการกักเก็บน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภคตลอดมา การขุดคูน้ำล้อมรอบชุมชน และบ้านเมือง ตั้งแต่สมัยปลายยุคก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงสมัยทวาราวดีนั้น เป็นสิ่งแสดงให้เห็นถึงความพยายามดังกล่าว และความพยายามดังกล่าวนี้ ก็หาได้หยุดนิ่งไม่ หากมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง และค้นหาวิธีใหม่ตลอดมา ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อเข้าสู่สมัยลพบุรี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ เป็นต้นมา ลักษณะชุมชนบ้านเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็เปลี่ยนแปลงไป มีอิทธิพลของอารยธรรม และวัฒนธรรมขอม เข้ามาปะปน ในขณะเดียวกันก็เกิดชุมชนใหม่ๆ ขึ้นตามบริเวณที่สูง ซึ่งในสมัยก่อนหน้านี้ ไม่ค่อยมีสิ่งที่ชัดเจน เกี่ยวกับวัฒนธรรมขอมจากกัมพูชาก็คือ เกิดประเพณีการสร้างปราสาท อันเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู และพุทธศาสนาลัทธิมหายานขึ้นอย่างแพร่หลาย

การสร้างปราสาทนั้น โดยทั่วไปมุ่งหวังให้เป็นศูนย์กลางของชุมชน ซึ่งก็มีทั้งระดับบ้านและเมือง เมื่อมีการสร้างปราสาทแล้ว ก็มีการขุดสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ และอ่างเก็บน้ำที่เรียกว่า สระบัวราย หรือบารายขึ้น โดยเฉพาะการขุดสระบารายนี้เอง ที่มีความหมายต่อการอุปโภค และบริโภคน้ำของคนในชุมชนเป็นอย่างมาก และการที่สระน้ำดังกล่าวนี้ สัมพันธ์กับศาสนสถานก็ถือว่า เป็นของศักดิ์สิทธิ์ด้วย ความศักดิ์สิทธิ์เป็นสิ่งที่ป้องกันไม่ให้ผู้คนนำสัตว์เลี้ยง เช่น วัวและควาย ลงไปอาบน้ำ ทำให้สกปรก ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคระบาด ได้ พัฒนาการชุมชนแบบใหม่ที่มีศาสนสถานและ สระน้ำดังกล่าวนี้แพร่หลายไปทั่ว แม้กระทั่ง บริเวณที่เคยเป็นเมืองมาแล้วแต่สมัยทวาราวดีก็ยัง มีการสร้างและขุดสระทับลงไป อาจกล่าวได้ว่า การขุดสระน้ำหรืออ่างเก็บน้ำที่เรียกว่าบารายนี้ ได้ตอบสนองความต้องการน้ำในฤดูแล้งของคน ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ดีกว่าวิธีอื่นๆ ที่ เคยมีมาแล้ว นอกจากนั้นยังเป็นการรวบรวมผู้คน ให้อยู่ในสังคมที่มีระบบและระเบียบดีกว่าแต่ก่อน นั่นก็คือ ความสัมพันธ์กับศาสนสถานอันเป็นสิ่งที่กษัตริย์ ชุมชน หรือผู้มีอำนาจในการปกครองสร้างขึ้น

การพัฒนาที่ไม่พัฒนาที่เกิดขึ้นแอ่งสกลนคร

ภาพถ่ายทางอากาศของเมืองโบราณสมัยประวัติศาสตร์ในเขตอำเภอกุมภวาปีอำเภอ หนองหาน จังหวัดอุดรธานี การสร้างเมืองในสมัยทวาราวดีที่นิยม สร้างอยู่บนที่สูง ริมบริเวณที่ลุ่มต่ำที่เป็นหนองน้ำธรรมชาติ มีตัวอย่างเช่น เมืองโบราณที่อยู่ริมหนองหาน กุมภวาปี เมืองหนองหานน้อย จังหวัดอุดรธานี เมืองหนองหานหลวง ที่จังหวัด สกลนคร และเมืองกันทรวิชัย ที่อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม เป็นต้น

ลักษณะชุมชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับทางภาคกลางแล้ว จะต่างกันมาก นั่นคือ ทางภาคกลางชุมชนบ้านและเมืองเรียงรายกันอยู่ตามริมแม่น้ำลำคลองเป็นส่วน ใหญ่ แต่ของทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มักกระจายกันอยู่บนโคกเนินที่สูงที่แวดล้อมไปด้วยที่ลุ่มต่ำ ที่ใช้เป็นแหล่งเพาะปลูก และที่เก็บน้ำ โดยเหตุนี้รูปแบบชุมชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงมีลักษณะเป็นกระจุกรวมกันอยู่อย่างหนาแน่น