สงครามการค้า จีน สหรัฐ ผลกระทบ

12.01.2562 | จำนวนผู้เข้าชม 15377

สงครามการค้า จีน สหรัฐ ผลกระทบ

US-CHINA TRADE WAR : สงครามการค้าสหรัฐ-จีน

สหรัฐประกาศสงครามการค้ากับจีน เมื่อวันที่ 22 มี.ค.2018 โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมพ์ ลงนามในคำสั่งขึ้นภาษีสินค้าที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาจากจีน ด้วยการกล่าวหาว่าจีนแอบฉกทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทอเมริกันที่เข้าไปลงทุนในจีน  โดยการบังคับให้ธุรกิจสหรัฐต้องร่วมทุนกับเอกชนจีน แถมยังต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีและเปิดเผยความลับทางการค้าแก่หุ้นส่วนชาวจีนด้วย มิหนำซ้ำ เอกชนอเมริกันยังไม่สามารถเก็บค่าอนุญาตการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินทางปัญญา หรือที่เรียกกันว่า “ค่าไลเซนส์” ในจีนอีกด้วย

สหรัฐกล่าวหาอีกด้วยว่า จีนลักลอบเจาะเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของตน ล้วงเอาข้อมูลที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของอุตสาหกรรมอเมริกัน  เหล่านี้เป็นต้นเหตุให้จีนสามารถผลิตสินค้าโดยใช้เทคโนโลยีอเมริกัน แล้วส่งออกขายทั่วโลก รวมทั้งตลาดสหรัฐ ซึ่งเป็นสาเหตุให้สหรัฐขาดดุลการค้ากับจีนเมื่อปีที่แล้ว เป็นการขาดดุลสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 337,200 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 10.5 ล้านล้านบาท และเรียกร้องให้ลดการขาดดุลลง 100,000 ล้านดอลลาร์หรือราว 3.125 ล้านล้านบาท

ทำไมสหรัฐจ้องเล่นงานจีน

Made in China หรือ中国制造2025 เป็นข้ออ้างที่ทรัมพ์นำมาใช้ในการห้ามมิให้จีนลงทุนในบริษัทไฮเทคของสหรัฐ เหมือนกับตอนกล่าวหาข้ออ้างว่าญี่ปุ่นจะครองครองโลก (megalomaniac) ต่อญี่ปุ่นสมัยยุคทศวรรษ 1980 เพื่อกันท่า Sony และบริษัทอุตสาหกรรมชั้นนำของญี่ปุ่นในตอนนั้นแต่หากสังเกตให้ดี ทางรัฐบาลเยอรมันก็มีการออกโครงการ Industry 4.0 ที่คล้ายคลึงกับ Made in China 2025 แต่ทางสหรัฐกลับไม่ได้ออกมาตรการปกป้องอุตสาหกรรมไฮเทคต่อเยอรมัน

สาเหตุของสงคราการค้า สหรัฐ-จีน

1. ทำเนียบขาวระบุว่า พบการปฏิบัติที่ “ไม่เป็นธรรม” หลายประการของจีน รวมถึงกฎหมายห้ามต่างชาติครอบครองกิจการ นั้นหมายความว่า นักลงทุนต่างชาติที่ต้องการเข้าไปลงทุนในจีนจะต้องมีคนจีนเป็นหุ้นส่วนร่วมด้วย ซึ่งมีผลกดดันให้หลายบริษัทต่างชาติต้องยอมถ่ายโอนเทคโนโลยีให้ เพื่อให้สินค้านั้นเข้าสู่ตลาดจีนได้

2. สหรัฐหวั่นนโยบาย Made in China 2025 ซึ่งจีนพยายามที่จะพัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพสูง และรวมไปถึงสินค้าไฮเทคมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น สินค้ากลุ่มไอที ทั้ง Hardware และ Software และสินค้าชนิดอื่นๆ

3. สหรัฐต้องการที่จะลดการขาดดุลทางการค้ากับประเทศจีน และรวมไปถึงเรื่องของการว่างงานในสหรัฐ ซึ่งการเพิ่มกำแพงภาษีในมุมมองทรัมพ์คือการเพิ่มการจ้างงานในสหรัฐ

สหรัฐจะเจ็บหนักถ้าเปิดศึกการค้า

ขึ้นชื่อว่าสงครามย่อมสร้างความเสียหายให้กับทุกฝ่าย ไม่เว้นแม้แต่ผู้ชนะ สงครามการค้าในยุคโลกาภิวัตน์ก็เช่นเดียวกัน

สำนักข่าว CNBC ทำโพลสำรวจความคิดเห็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงินของบริษัทชั้นนำในสหรัฐ ซึ่งพบว่าเกือบ 2 ใน 3 (65.8%) ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่า กำแพงภาษีของทรัมพ์จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อบริษัทสัญชาติอเมริกันเอง นอกจากนี้เกือบร้อยละ 87 ยังคิดว่ามาตรการเพิ่มอากรขาเข้าสำหรับสินค้าจีนจะไม่ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของสหรัฐ ขณะที่มีเพียงร้อยละ 15.8 เชื่อว่านโยบายของทรัมพ์จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจจีน

เกมยังไม่จบ นักวิเคราะห์เชื่อจีนยังยั้งมือ

แม้หลายคนจะเชื่อว่าจีนมีอาวุธเด็ดมากพอในการเอาคืนสหรัฐ แต่นักวิเคราะห์มองว่าที่ผ่านมาจีนใช้มาตรการภาษีกับสินค้าบางอย่างโดยผ่านการไตร่ตรองมาอย่างรอบคอบแล้ว และอาจหลีกเลี่ยงใช้มาตรการการค้าที่แข็งกร้าวขึ้น เพราะจีนไม่ต้องการให้สถานการณ์ความขัดแย้งบานปลาย เนื่องจากเศรษฐกิจจีนยังต้องพึ่งพาการส่งออกในฐานะพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ประกอบกับจีนยังได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐอย่างมหาศาล นอกจากนี้สหรัฐยังเป็นหนึ่งในคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีน ดังนั้นหากสองฝ่ายทำสงครามการค้ากัน จีนอาจจะเป็นฝ่ายที่เสียหายหนักกว่า

แล้วสหรัฐและจีน เริ่มทำอะไรแล้วบ้างกับสงครามการค้าครั้งนี้?

จีน: เป้าหมาย เพิ่ม GDP, เพิ่มอำนาจ

1. จับมือประเทศที่อยู่ในสมาชิก WTO (องค์การการค้าโลก (World Trade Organization) อย่าง แคนาดา ,สวิตเซอร์แลนด์ ,นอรเวย์ ,ตุรกี ,คอสตาริก้า ,ฮ่องกง ,เวเนซุเอล่า ,สิงคโปร์ ,บราซิล ,เกาหลีใต้ ,เม็กซิโก ,กาต้า ,ไทย ,อินเดีย ,และยุโรป เพื่อที่จะคัดค้านแผนของสหรัฐที่จะเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์

2. ลดการถือพันธบัตรสหรัฐ ตอนนี้ถืออยู่ที่ระดับ 1.18 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ  ลดลงถือครองไป 5.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งพันธบัตรสหรัฐเป็นแหล่งงบประมาณของสหรัฐ

3. ลดภาษีศุลกากรครั้งใหญ่ให้แก่ประเทศตู่ค้ารายอื่น โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคและยานยนต์ โดยจะลดภาษีเหลือ 6.9% จากเดิม 15.7% เพื่อกระตุ้นการนำเข้าจากต่างประเทศ และเพื่อทำให้ประชาชนลดการซื้อของจากสหรัฐ

สหรัฐ: เป้าหมาย เพิ่ม GDP, ลดหนี้, ลดอำนาจจีน

1. ดึงยุโรปกลับมาเป็นเพื่อน โดยทรัมพ์เสนอยุติการเรียกเก็บภาษีรถยนต์จากยุโรป หากยุโรปปรับลดภาษีนำเข้ารถยนต์จากสหรัฐ ซึ่งนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ให้ EU ปรับลดอัตราภาษีต่อรถยนต์ที่นำเข้าจากสหรัฐ ทำให้เสียงของ 28 ประเทศในยุโรป ไม่คิดส่งเรื่องไป WTO

2. แต่หากมีประเทศฟ้อง WTO จำนวนมาก ทรัมพ์อาจตัดสินใจนำสหรัฐออกจาก WTO

3. ขึ้นภาษีจีนเพิ่มอีก 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในสินค้าจีน 6,000 รายการ โดยเริ่มเก็บปลายเดือน ก.ย.2018

แล้วใครได้เปรียบด้านการค้า

ในปี 2016 ทั้งสองประเทศมีมูลค่าการค้าระหว่างกันอยู่ประมาณ 6.0 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยจีนมียอดนำเข้าสินค้าสหรัฐอยู่ที่ 1.299 แสนล้านเหรียญ ขณะที่มียอดส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอยู่ที่ 5.055 แสนล้านเหรียญ สินค้าบางอย่างอาจต้องส่งไปส่งกลับ เช่น เครื่องบิน เพราะว่าต้องใช้อะไหล่บางชิ้นที่ผลิตจากจีน แล้วส่งกลับมาประกอบที่สหรัฐ ก่อนที่จะส่งกลับไปขายในจีนอีกรอบ หรือแม้แต่โทรศัพท์มือถือที่มี Supply Chain เกี่ยวข้องเยอะมาก

หากจีนสามารถชนะสงครามการค้าครั้งนี้ได้ จีนจะสามารถขึ้นเป็นผู้ทางเศรษฐกิจของโลกได้หรือไม่

คำตอบ คือ ยังไม่สามารถเพราะจากข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐและจีน ขนาดเศรษฐกิจของสหรัฐมากกว่าจีนถึง 8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ถูกมองว่าการชนะสงครามการค้าเป็นบันไดอีกขั้นที่ทำให้จีนกำลังใกล้สู่ผู้นำทางเศรษฐกิจของโลกอีกหนึ่งก้าวเท่านั้น

แล้วหากคิดในประเด็นเรื่องผลกระทบที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจโลก มีการคาดการณ์ว่า สงครามการค้าจะกระทบการค้าโลกรวมมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และสำหรับว่าสหรัฐหรือจีนใครได้เปรียบเสียเปรียบ คำตอบของ JPMorgan มีมุมมองว่า สงครามการค้ามีแนวโน้มที่จะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจสหรัฐมากกว่าการการสร้างความเสียหายให้กับจีน

ยุทธศาสตร์ที่ทางการจีนกำหนดออกมาเพื่อรับมือกับสถานการณ์ในเวลานี้น่าสนใจมาก

อย่างแรกที่น่าคิดคือ จีนมองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของ “สงครามเย็นทางเศรษฐกิจ” ไม่ใช่สงครามการค้าที่เอาชนะคะคานกันด้วยกำแพงภาษี หรือจะยุติลงด้วยการเจรจาได้ง่ายๆ

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง บอกกับทุกคนว่า ห้ามโอนอ่อนผ่อนปรนเส้นทางพัฒนาประเทศที่จีนเลือกแล้วเด็ดขาด พูดง่ายๆ ก็คือ จีนจะไม่เปลี่ยนเส้นทางของตัวเอง สืบเนื่องจากสงครามการค้าครั้งนี้ทางที่จีน “เลือกแล้ว” นั่นแน่นอนว่า ย่อมรวมไปถึงแนวทางการพัฒนาประเทศไปสู่ความเป็นเลิศทางอุตสาหกรรมในหลายๆ ด้านเพื่อบรรลุถึงเป้าหมาย “เมด อิน ไชน่า” ภายในปี 2025 อยู่ด้วย แต่ในเวลาเดียวกัน จีนก็ยังเลือกเส้นทางการ “ปฏิรูปเศรษฐกิจ” ของตนเองเอาไว้ด้วยเช่นเดียวกัน เช่นเดียวกับที่จีนยังคงจะยึดถือในแนวทางการค้าเสรีพหุภาคีอย่างแน่วแน่ต่อไป

ภายใต้ท่าทีดังกล่าว จีนต้องทำให้รัฐบาลของนานาประเทศ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศและบริษัทธุรกิจต่างๆ รวมทั้งบริษัทของสหรัฐอเมริกา เชื่อว่า จีนยึดมั่นในแนวทางการค้าเสรีจริงๆ และแสดงให้เห็นว่ายังคงดำเนินการในทางตรงกันข้ามกับที่ทรัมพ์ดำเนินการ นั่นคือ ยังคง “เปิดประเทศ” ให้กับธุรกิจทั่วโลก และยังคงต้องการให้โลกาภิวัตน์รุดหน้าต่อไป

จีนพยายามแสวงหาแนวร่วมกับประเทศอื่นๆ ที่ถูกเล่นงานด้วยสงครามการค้าจากสหรัฐอเมริกาไปพร้อมๆ กัน อย่างเช่น สหภาพยุโรป, แคนาดา และรัสเซีย เพื่อรวมตัวกันต่อต้านสหรัฐ ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนที่สุดคือ ความพยายามเจรจากับอียูเพื่อต่อต้านการทำลาย “ระเบียบการค้าโลก” ของสหรัฐอเมริกา และได้รับการสนองตอบด้วยดี ด้วยการจัดตั้ง “คณะทำงาน” ขึ้น เพื่อปรับปรุงแก้ไขจุดบกพร่องรวมถึงการแก้ไขปัญหาขัดแย้งในองค์การการค้าโลก

ความพยายามเพื่อการรวมกลุ่มประเทศที่ถูกสหรัฐอเมริกาเล่นงานเข้าด้วยกันนั้น ยังไม่แน่ใจนักว่าจะประสบผลสำเร็จ เช่นเดียวกับการที่แม้ว่าจีนจะพยายามอย่างมาก เพื่อแสดงให้เห็นถึงการยึดมั่นในการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจการค้าของตนเอง แต่ก็ยังมีอีกหลายอย่างมากที่ต้องทำเพื่อให้บริษัทและประเทศทั้งหลายที่ต้องการมาลงทุนในตลาดมหึมาของจีนมั่นใจได้

ที่น่าสนใจก็คือ จีนแปรยุทธศาสตร์นี้ออกมาเป็นการปฏิบัติรวดเร็วมาก ตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนที่แล้ว สเตต เคาน์ซิล หรือคณะรัฐมนตรีของจีน ออกแนวปฏิบัติใหม่ต่อรัฐบาลของมณฑลท้องถิ่น “ห้าม” การบังคับบริษัทต่างชาติให้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับฝ่ายจีน หรือการตกลงให้บีเอเอสเอฟ ยักษ์ใหญ่ธุรกิจเคมีภัณฑ์ระดับโลกจากเยอรมนีหอบเงินมาลงทุนสร้างศูนย์ธุรกิจขนาดใหญ่ของตนในกวางตุ้ง มูลค่าการลงทุนสูงถึง 10,000 ล้านดอลลาร์ โดยบีเอเอสเอฟสามารถเป็นเจ้าของได้ 100 เปอร์เซ็นต์เต็มเมื่อเร็วๆ นี้ เป็นต้น

สงครามยักษ์ชนยักษ์สะเทือนไปทั่วโลก ไทยต้องกังวลแค่ไหน

การที่สหรัฐและจีนเปิดศึกการค้าต่อกันยังอาจเป็นชนวนให้ลัทธิกีดกันการค้า (Protectionism) ขยายตัวไปทั่วโลกอย่างหลีกหนีไม่พ้น และปัญหาใหญ่จากกำแพงภาษีก็คือจะทำให้เกิดการเบนทิศทางการไหลของสินค้าไปยังประเทศอื่นแทนเพื่อระบายสต็อกสินค้า ส่งผลให้หลายประเทศอาจต้องเผชิญกับปัญหาสินค้าล้นตลาด ส่วนสินค้าไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐ และจีนก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน

ผลกระทบและโอกาสของสินค้าไทย

1. สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ แผงวงจรไฟฟ้า, กล้องถ่ายรูป, จอ LCD, อุปกรณ์คอมพิวเตอร์, และ CPU (มีสัดส่วนรวม 23% ของการส่งออกจากไทยไปจีนทั้งหมด) ซึ่งจีนใช้สินค้าดังกล่าวในการผลิตโทรศัพท์มือถือ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ และ CPU เพื่อส่งออกต่อไปยังสหรัฐ  

2. พลาสติกขั้นพื้นฐาน (สัดส่วน 10% ของการส่งออกจากไทยไปจีนทั้งหมด) เป็นสินค้าที่จีนใช้ผลิตของเล่นและผลิตภัณฑ์พลาสติกเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐ ทั้งนี้ จีนอาจนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากไทยน้อยลง เนื่องจากจีนส่งออกไปยังสหรัฐ ได้น้อยลง

อย่างไรก็ตาม ไทยอาจได้ประโยชน์จากการปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนของจีนหรือได้ประโยชน์ในกรณีที่สหรัฐนำเข้าสินค้าจากไทยมากขึ้น ถึงแม้ยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าจีนที่จะถูกเก็บภาษีอย่างชัดเจน แต่ทำเนียบขาวระบุว่าจะพยายามจำกัดผลกระทบโดยตรงที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคสหรัฐให้น้อยที่สุด

ผลกระทบทางบวก

หากจีนตอบโต้สหรัฐด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าในกลุ่มเนื้อหมู ผลไม้ ถั่ว ไวน์ และท่อเหล็ก จีนมีแนวโน้มที่จะนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นๆ เพื่อทดแทนการนำเข้าจากสหรัฐ ทั้งนี้ สินค้าในกลุ่มผลไม้ ถั่วและธัญพืช เป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการผลิต และสินค้าของไทยก็เป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวจีน สะท้อนได้จากสัดส่วนการนำเข้าที่สูงถึงร้อยละ 7.7 ของมูลค่านำเข้าทั้งหมดของจีน

ก้าวต่อไปของจีน-สหรัฐ จะเกิดมาตรการตอบโต้กันแบบไหนบ้าง

ฝั่งสหรัฐ Trump บอกว่าเป็นเรื่องงานที่เขาจะชนะในเกมสงครามการค้านี้ เพราะเขาก็เตรียมมาตรการทางภาษีอีก 2.00 แสนล้านเหรียญสหรัฐแล อีก 2.67 แสนเหรียญสหรัฐที่จะใช้กับสินค้าจีนที่นำเข้ามาในสหรัฐ หากจีนไม่ยอมทำตามกระบวนการเพื่อลดดุลการค้าที่เกินสหรัฐอยู่ 3.35 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

หากสหรัฐเลือกเดินเกมขึ้นภาษีอีกจะส่งผลกระทบต่อจีนที่เป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ในโลก ที่สำคัญภาคธุรกิจยังออกมาเตือนว่า จีนอาจจะมีวิธีการเอาคืนผ่านกำหนดเกณฑ์การลงทุนหรือเทขายพันธบัตรของสหรัฐครั้งใหญ่ เป็นต้น ซึ่งปลายเดือน ส.ค.2018 เพิ่งมีการเจรจาการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ แต่ยังไม่เห็นข้อสรุปใหม่ๆ

ด้าน Gao Feng โฆษก กระทรวงพาณิชย์ของจีน บอกว่า หากสหรัฐมีการประกาศใช้มาตรการทางภาษีเพื่อปะทะกับจีน จีนก็จำเป็นที่จะต้องมีมาตรการตอบโต้เช่นกัน

การค้าจีน ส.ค.2018 โตแรงแตะ 4.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ไม่หวั่นสหรัฐขูดภาษี

เมื่อวันเสาร์ (8 ส.ค 2018) ว่าตัวเลขการส่งออกของจีนไปยังสหรัฐอยู่ที่ 4.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เติบโต 13.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ส่วนจีนมีนำเข้าจากสหรัฐ อยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โตแค่ 2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ตัวเลขการค้าจีนในเดือนส.ค. กลายเป็นสถิติใหม่ เพราะจีนเกินดุลสหรัฐ กว่า 3.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น18.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (สถิติเดิมจีนเกินดุลสหรัฐ อยู่ที่ 2.89 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในเดือน มิ.ย. 2017)

ที่น่าแปลกใจคือหลายคนมองว่า จีนน่าจะได้รับผลกระทบจากการเก็บภาษีของสหรัฐที่ตั้งแต่เดือน ก.ค. 2018 ทาง Donald Trump ประธานาธิบดีสหรัฐ กำหนดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจีนสูงสุด 25% มูลค่าประมาณ 3.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และในเดือนส.ค. กำหนดภาษีเพิ่มอีก 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

ทว่าตัวเลขการค้าของจีนที่โตขึ้น เราก็ได้ยินข่าวว่า Trump ขู่จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนอีกมูลค่ากว่า 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เรียกว่าสงครามการค้ายังระอุอยู่เรื่อยๆ ทั่วโลกเลยต้องจับตาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

สรุป

สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ ยังเป็นที่จับตามองไปทั่วโลก เพราะไม่ว่าสหรัฐ ต้ำกำแพงภาษีอะไรมา จีนก็เหมือนจะตอบโต้ให้เท่ากัน แบบตาต่อตาฟันต่อฟัน ซึ่งลาสุดตัวเลขการค้าของจีนก็ยังเกิดดุลสหรัฐ ทำให้ Trump ออกมาขู่ว่าจะขึ้นภาษีใส่จีนอีกเกือบ 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ฝั่งจีนก็ไม่ยอมอาจจะตั้งภาษีกลับไปที่สินค้าสหรัฐเช่นกัน ซึ่งจีนมีกระสุนในมือคือ เขาถือพันธบัตรของสหรัฐอยู่เยอะ อาจจะส่งผลกระทบต่อสหรัฐได้

ที่มา: prachachat.net, thairath.co.th, voathai.com, medium.com, .khaosod.co.th, .matichon.co.th, pptvhd36.com, thaipost.net, bbc.com, brandinside.asia, c af.co.th/trade-war-5, matichonweekly.com, bangkokbiznews.com, ditp.go.th, thaipublica.org, themomentum.co, workpointnews.com, thestandard.co, 2018 China–United States trade war - wikipedia, ustr.gov, theguardian.com, digitalcommerce360.com

รวบรวม / แปล / และเรียบเรียง โดย นายชาติชาย สิงหเดช ที่ปรึกษาสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ

ความเคลื่อนไหวสิ่งทอ, อุตสาหกรรม, สิ่งทอ, เครื่องนุ่งห่ม, Trade War, US-China, สงครามการค้า