หน้าที่ของรัฐบาล ไทย ที่มีต่อ ระบบเศรษฐกิจมี หลาย ประการ ข้อ ใด ไม่ใช่

7 ตุลาคม 2551 นายสมชาย วงค์สวัสดิ์
คำแถลงนโยบาย 
ของ 
คณะรัฐมนตรี 
นายสมชายวงค์สวัสดิ์ 
แถลงต่อรัฐสภา 
วันอังคารที่ 7 ตุลาคม 2551

------------------------------------------------------------------------------------

ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ

ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้กระผมเป็นนายกรัฐมนตรีตามประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ ๑๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๕๑ และแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีตามประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ ๒๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๕๑ นั้น

บัดนี้ คณะรัฐมนตรีได้กำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินเรียบร้อยแล้ว โดยยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรง เป็นประมุข และครอบคลุมถึงแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามบทบัญญัติในหมวด ๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย คณะรัฐมนตรีจึงขอแถลงนโยบายดังกล่าวต่อที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อให้ ทราบถึงเจตนารมณ์ ยุทธศาสตร์ และนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งมั่นจะสร้างความสามัคคี ปรองดอง ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือกันในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองการปกครองของประเทศให้ก้าวหน้า เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยทุกคน

ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีความแข็งแกร่ง มีความอุดมสมบูรณ์ของอาหารและทรัพยากรธรรมชาติ มีภาคอุตสาหกรรมและบริการที่มีความสามารถในการแข่งขันทัดเทียมนานาประเทศ นอกจากนั้นยังเป็นที่ซึ่งประชาชนคนไทยและคนต่างชาติอยู่อาศัยอย่างมีความ สุขมาโดยตลอด

เศรษฐกิจไทยในครึ่งแรกของปีนี้ขยายตัวได้ดีถึงร้อยละ ๕.๗ โดยมีแรงสนับสนุนจากการส่งออกที่ยังขยายตัวในอัตราสูง ราคาสินค้าเกษตรที่สูงเป็นประวัติการณ์และนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น มากจากปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับปัจจัยด้านลบจากภายนอกประเทศที่สำคัญสองประการ คือ ประการแรก ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง ๘ เดือนแรกของปีนี้ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ และสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีรายได้น้อย และประการที่สอง ปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งนับเป็นความเสียหายอย่างรุนแรงครั้งหนึ่งในรอบศตวรรษนี้ และคาดว่าจะมีผลกระทบถึงเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย โดยในระยะแรกคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดหลักทรัพย์ เงินทุนไหลออก และเพิ่มความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และในระยะต่อไปอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศไทยอันเนื่องมาจากการชะลอ ตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบ เช่น จีน ญี่ปุ่น และยุโรป เป็นต้น

นอกเหนือจากปัจจัยภายนอกประเทศ สถานการณ์ในประเทศที่ยังมีความขัดแย้งทางการเมือง ส่งผลให้กระบวนการบริหารประเทศไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ และยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นักท่องเที่ยว และนักลงทุนทั้งในประเทศและจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก

บัดนี้ถึงเวลาแล้ว ที่คนไทยทุกคนจะต้องหันหน้าเข้าหากัน ร่วมกันคิด และร่วมมือกันแก้ปัญหา ด้วยความรักชาติและตระหนักว่าประเทศไทยเป็นของคนไทยทุกคน เพื่อพัฒนาประเทศให้กลับสู่ความมั่นคง สงบสุข และมีเสถียรภาพ เป็นที่เชื่อมั่นของทั้งคนไทยและคนต่างประเทศ และมีความเจริญก้าวหน้าอย่างสมดุลและยั่งยืนต่อไป

รัฐบาลจะดำเนิน “โครงการ จากวันแม่ถึงวันพ่อ ๑๑๖ วัน สร้างสามัคคี” ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดความสามัคคีของคนไทย และในช่วงปลายปีนี้รัฐบาลจะดูแลการจัดงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อย่างสมพระเกียรติตามความมุ่งหวังของประชาชนชาวไทยทุกคน

รัฐบาลให้ความ สำคัญสูงสุดแก่การแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองที่มีอยู่ในสังคมโดยยึดทาง สายกลาง จึงมีความตั้งใจแน่วแน่ในการแก้ไขปัญหาโดยการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อลดความเห็นที่แตกต่างและสร้างความเห็นร่วมกันในเรื่องแนวทางการแก้ไข ปัญหา ตลอดจนสนับสนุนกระบวนการยุติธรรมให้ทำงานอย่างอิสระและเป็นกลไกตัดสินข้อขัด แย้งซึ่งได้เข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย ทั้งนี้ รัฐบาลมุ่งหวังที่จะบรรลุถึงการยุติความขัดแย้งโดยสันติ คงไว้ซึ่งคุณธรรม และวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมไทยในการเอื้ออาทรและการให้อภัยซึ่งกันและกัน

รัฐบาล จะเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศโดยสร้างความมั่นใจของนักลงทุนจากทั้งภายใน และจากภายนอกประเทศ ให้เชื่อมั่นในประเทศไทยว่าเป็นแหล่งลงทุนที่มีความมั่นคง ระบอบการปกครองของประเทศเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุข ยึดมั่นในหลักนิติธรรม และสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดีโดยการปรับปรุง กฎ ระเบียบ ให้เอื้ออำนวยต่อการประกอบธุรกิจ รวมถึงผลักดันการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาความสามารถใน การแข่งขันของประเทศที่ได้เลื่อนชะลอในช่วงเวลาที่ผ่านมาให้เกิดขึ้นอย่าง รวดเร็ว

นอกจากนั้น จะจัดการประชุมผู้นำอาเซียนซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพให้สำเร็จลุล่วงอย่าง ราบรื่นอันเป็นการสร้างความมั่นใจของประชาคมโลกถึงสถานการณ์ที่กลับสู่ความ สงบและสมานฉันท์ของประเทศไทย และในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนจะผลักดันการดำเนินการให้บรรลุกฎ บัตรอาเซียน และวางรากฐานของภูมิภาคในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์ กลาง รวมถึงจะริเริ่มและส่งเสริมความร่วมมือในการสร้างประชาคมการเงินของเอเชีย ต่อไปในอนาคต

นอกจากเรื่องที่มีความสำคัญเร่งด่วนดังกล่าวแล้ว รัฐบาลยังมีภารกิจสำคัญอื่น ๆ ในการบริหารประเทศของรัฐบาล ที่จะวางรากฐานการเจริญเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืน ส่งเสริมภาคการผลิตและบริการให้สามารถปรับตัวไปสู่การผลิตสินค้าและบริการ ที่มีมูลค่าสูงขึ้น และสร้างความสมดุล เสถียรภาพ และภูมิคุ้มกันให้แก่เศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเกี่ยวข้องกับนโยบายในทุกด้าน ตั้งแต่การพัฒนาคนให้มีคุณภาพนำความรู้ การสนับสนุนการออมระยะยาว การส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ที่เหมาะสม การพัฒนาชุมชนให้พึ่งตนเองได้และเชื่อมโยงกับตลาดอย่างเป็นขั้นตอน จนถึงการสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงด้านพลังงาน การดูแลการเคลื่อนย้ายเงินทุน และการเพิ่มความสามารถในการใช้ประโยชน์และต่อยอดเทคโนโลยีให้เข้ากับ ภูมิปัญญาไทยเพื่อนำไปสู่นวัตกรรมและสร้างรายได้ให้แก่ระบบเศรษฐกิจตามหลัก ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นแนวทางหลักในการดำเนินงานของรัฐบาลตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ

รัฐบาลจะบริหารราชการตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจ พอเพียงและบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยแบ่งการดำเนินการเป็น ๒ ระยะ คือ ระยะเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรก และระยะการบริหารราชการ ๓ ปีของรัฐบาลดังต่อไปนี้

๑. นโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรก

๑.๑ สร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและฟื้นฟูประชาธิปไตย โดยการเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกันของประชาชนในชาติให้เกิดความสมัครสมาน สามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มุ่งสร้างจิตสำนึกพลเมืองที่คำนึงถึงหลักเหตุผลเพื่อคนส่วนใหญ่ แสวงหาทางออกที่สร้างสรรค์อย่างสันติ ประนีประนอม และเคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง โดยยึดหลักนิติธรรมและกระบวนการยุติธรรมเพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

๑.๒ แก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยน้อมนำแนวทางพระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มาดำเนินภารกิจด้านการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ด้านการพัฒนาเพื่อปรับปรุงส่งเสริมธรรมาภิบาล ซึ่งรวมถึงการอำนวยความเป็นธรรมและความยุติธรรม ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ ซึ่งรวมถึงการจัดให้มีบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึง โดยให้ภารกิจต่าง ๆ มีความสอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของพื้นที่ วิถีชีวิต วัฒนธรรม และความเชื่อของประชาชน รวมทั้งเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและมีการจัดการอย่างมีเอกภาพ เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย ความสมานฉันท์ และสันติสุขในพื้นที่โดยเร็วที่สุด

๑.๓ ส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาและสร้างสัมพันธไมตรีที่ดีระหว่างประเทศใน ภูมิภาค โดยเร่งแก้ไขปัญหาการกระทบกระทั่งตามแนวพรมแดนผ่านกระบวนการทางการทูต และสร้างกลไกการพัฒนาพื้นที่ชายแดนร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน บนหลักการของการใช้ประโยชน์ร่วมกัน และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของเพื่อนบ้านที่ดีในภูมิภาค

๑.๔ สร้างกลไกในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกิดจากวิกฤตการเงินของโลกที่ส่งผล ต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทั้งการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้าประเทศและออกไปต่างประเทศ และดูแลสภาพคล่องในระบบสถาบันการเงินและตลาดทุนในประเทศ รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานด้านนโยบายการเงินและการคลังอย่างสอดคล้องกัน เพื่อสร้างเสถียรภาพของระบบการเงินและตลาดทุนให้มีภูมิคุ้มกันต่อความผันผวน ของสภาวะการเงินโลก

๑.๕ เร่งสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนและนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศ โดยสร้างบรรยากาศที่ดีสำหรับการลงทุน แก้ไขกฎระเบียบที่เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการลงทุนภายในประเทศและในต่างประเทศ รณรงค์ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของไทย รวมทั้งเสริมสร้างความมั่นใจของนักท่องเที่ยวอย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศและผลักดันให้ประเทศไทยคงความเป็นแหล่งท่อง เที่ยวชั้นนำของโลกอย่างต่อเนื่อง

๑.๖ เร่งรัดการลงทุนที่สำคัญของประเทศ ทั้งโครงการต่อเนื่องและโครงการใหม่ที่มีความพร้อมในการดำเนินการ เช่น การพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนและรถไฟชานเมืองในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รถไฟทางคู่ การพัฒนาบริการรถโดยสารสาธารณะ การพัฒนาพลังงานทดแทน การพัฒนาขีดความสามารถของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานสำคัญอื่น ๆ การพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำและการชลประทาน การลงทุนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ ควบคู่กับการจัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ การลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างระบบบริการสุขภาพที่มุ่งสู่การป้องกันและส่ง เสริมสุขภาพ เป็นต้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยคำนึงถึงวินัยการคลังของประเทศ และมีการดำเนินงานอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้

๑.๗ แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและผู้ประกอบการเนื่องจากภาวะภัยธรรมชาติ ภาวะเงินเฟ้อ และราคาน้ำมัน โดยให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติทั้งในด้านเงินทุนและการสร้างอาชีพ ดูแลระดับราคาสินค้าอุปโภคบริโภค และราคาพลังงานให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่ผู้บริโภคและผู้ผลิต รักษาเสถียรภาพของราคาพลังงานในประเทศไม่ให้ผันผวนจนเกินไป แม้ราคาพลังงานของโลกจะผันแปรมาก พร้อมกับส่งเสริมการประหยัดพลังงานและเพิ่มการใช้พลังงานทางเลือก

๑.๘ จัดตั้งสภาเกษตรกร และสร้างระบบประกันความเสี่ยงให้เกษตร เพื่อให้สภาเกษตรกรเป็นกลไกแทนเกษตรกรในการสื่อสารกับรัฐบาลและร่วมกันพัฒนา เกษตรกรด้วยกันเอง และให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างทั่วถึงและมีระบบประกันความเสี่ยงที่ ช่วยลดความเสี่ยงอันเนื่องมาจากผลกระทบความเสียหายจากภัยธรรมชาติ รวมถึงดูแลราคาสินค้าเกษตรให้มีเสถียรภาพภายใต้การผันแปรอย่างรุนแรงของตลาด โลกและสร้างผลตอบแทนที่เป็นธรรมต่อเกษตรกร

๑.๙ สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุนของชุมชน ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อสร้างโอกาสทางอาชีพ การดูแลและจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นและสงเคราะห์ดูแลสังคมในชุมชน โดยจะเร่งรัดดำเนินโครงการเพิ่มศักยภาพของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ให้มีการบริหารจัดการที่ดี ผลักดันให้มีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลและการจัดสรรงบประมาณตามขนาดประชากร ให้ทั่วถึงทุกหมู่บ้านและทุกชุมชนอย่างมีความต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนในระยะยาว

๑.๑๐ สนับสนุนสินเชื่อรายย่อยให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยและวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม โดยสานต่อโครงการธนาคารประชาชนเพื่อกระจายโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินให้แก่ ประชาชนผู้มีรายได้น้อย สร้างทางเลือกและลดการพึ่งพาแหล่งเงินกู้นอกระบบ สร้างผู้ประกอบการใหม่ และสนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และวิสาหกิจ ผ่านสถาบันการเงินของรัฐ

๑.๑๑ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ โดยสนับสนุนให้ชุมชนเข้าถึงองค์ความรู้สมัยใหม่ แหล่งเงินทุน และพัฒนาความสามารถในการบริหารจัดการ คุณภาพมาตรฐานสินค้าและการตลาด เพื่อเชื่อมโยงสินค้าจากชุมชนสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ สร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายการผลิตระหว่างชุมชน และเชื่อมโยงภาคเอกชนให้มี ส่วนร่วมสนับสนุนผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน

๑.๑๒ เร่งรัดปราบปรามการค้ายาเสพติด ปราบปรามผู้มีอิทธิพล อบายมุข และสิ่งยั่วยุเยาวชน โดยสนับสนุนการปฏิบัติการ “รวมพลังประชาไทย พ้นภัยยาเสพติด” เร่งรัดแก้ไขปัญหายาเสพติด ลดปริมาณผู้เสพยา และป้องกันมิให้กลุ่มเสี่ยงเข้าไปเป็นเหยื่อของยาเสพติด ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนควบคู่กับมาตรการปราบปรามและบังคับใช้กฎหมาย อย่างเป็นธรรม และใช้มาตรการทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมตัดช่องทางการหาเงินทุจริตของ ผู้มีอิทธิพลใน ทุก ๆ ด้าน

๑.๑๓ เร่งรัดปรับปรุงระบบสาธารณสุข โดยพัฒนาระบบประกันสุขภาพให้มีคุณภาพการบริการเพิ่มขึ้น และขยายการบริการให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่ดีอย่างทั่วถึง ตามแนวทาง “โครงการ ๓๐ บาทรักษาทุกโรค”

๑.๑๔ เร่งรัดการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและเพิ่มประสิทธิภาพระบบกระจายน้ำทั้งใน และนอกเขตชลประทาน โดยฟื้นฟูและขุดลอก คู คลอง และแหล่งน้ำธรรมชาติ รวมทั้งพัฒนาแหล่งน้ำผิวดินและใต้ดิน ดำเนินการก่อสร้างระบบชลประทานขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และคลองส่งน้ำขนาดเล็กเข้าไร่นา เพื่อประโยชน์ในการปรับโครงสร้างภาคการเกษตร การบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง ทั้งในพื้นที่ชุมชนเมืองและพื้นที่เกษตรกรรม ส่งเสริมการพัฒนาระบบประปาที่ถูกสุขอนามัย เพื่อการอุปโภคและบริโภคแก่ประชาชนให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ ระบบประปาบาดาล และน้ำสะอาดโรงเรียน และการเพิ่มประสิทธิภาพการกระจายน้ำโดยการพัฒนาระบบชลประทานในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งการผันน้ำเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน

๑.๑๕ เร่งรัดมาตรการและโครงการเพื่อบรรเทาผลกระทบ รวมทั้งการปรับตัวเพื่อพร้อมรับวิฤกตโลกร้อน โดยการปราบปรามการบุกรุกทำลายป่าอย่างเข้มงวด เสริมด้วยการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐ และพิสูจน์สิทธิ์ที่ดินประเภทต่าง ๆ รวมทั้งที่ดิน ป่าไม้ และเร่งพัฒนาฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ โดยเฉพาะการจัดฝายต้นน้ำเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ป่าต้นน้ำ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง การเตรียมการเพื่อป้องกันภัยน้ำท่วมและน้ำแล้ง การเลือกปลูกพืชให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปริมาณน้ำ การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงานทาง เลือกที่สะอาดในภาคการผลิตและบริการ ซึ่งรวมทั้งการใช้พลังงานจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ครัวเรือน ภาคอุตสาหกรรม เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก และการสร้างจิตสำนึกในการตระหนักถึงหน้าที่ในการป้องกันปัญหาโลกร้อนแก่คน ไทยทุกวัยและทุกระดับ

๑.๑๖ จัดทำแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศของโลก การผันผวนของราคาพลังงาน และวิกฤตอาหารของโลก โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมจัดทำแผนแม่บทดังกล่าวเพื่อเป็นแนวทางการพัฒนารองรับ สถานการณ์อย่างเป็นระบบในระยะยาว

ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ

ในส่วนของนโยบายที่จะดำเนินการภายในช่วงระยะ ๓ ปีของรัฐบาลชุดนี้ รัฐบาลจะดำเนินนโยบายหลักในการบริหารประเทศซึ่งปรากฏตามนโยบายข้อที่ ๒ ถึงข้อที่ ๘ ดังต่อไปนี้

๒. นโยบายความมั่นคงของรัฐ

๒.๑ เทิดทูนและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงรักษาไว้ซึ่งพระบรม เดชานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์มิให้ผู้ใดล่วงละเมิดได้ รวมทั้งเสริมสร้างจิตสำนึกประชาชนในชาติให้มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหา กษัตริย์และป้องกันไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือใช้แสวงหาผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม ตลอดจนสร้างบรรยากาศให้เกิดความรัก ความสามัคคี และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของคนในชาติ

๒.๒ เสริมสร้างระบบป้องกันประเทศให้มีความมั่นคง มีศักยภาพในการรักษาเอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งเขตอำนาจรัฐ และผลประโยชน์ของชาติ โดยมุ่งพัฒนาความทันสมัยของอาวุธยุทโธปกรณ์ และเตรียมความพร้อมของกำลังพลในกองทัพ ตลอดจนการผนึกกำลังประชาชนให้มีส่วนร่วมในการรักษาความมั่นคงของประเทศ พร้อมทั้งให้การสนับสนุนภารกิจในการพัฒนาประเทศและการรักษาสันติภาพภายใต้ กรอบกติกาของสหประชาชาติ

๒.๓ พัฒนาระบบการจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมือง แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย และบุคคลที่ยังไม่มีสถานะที่ชัดเจน เน้นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับขบวนการลักลอบเข้าเมืองที่ผู้มี อิทธิพลให้การสนับสนุน ดูแลให้ความเป็นธรรมและเฝ้าระวังไม่ให้เกิดปัญหาที่กระทบต่อความมั่นคงและ ความสงบสุขภายในประเทศควบคู่ไปกับการจัดการแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ที่ไม่มีสถานภาพที่ชัดเจน ภายใต้ความสมดุลระหว่างการรักษาความมั่นคงของชาติกับการดูแลสิทธิขั้นพื้น ฐาน

๒.๔ พัฒนาและเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการป้องกันและ แก้ไขปัญหาการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ รวมทั้งมุ่งพัฒนาระบบริหารจัดการพื้นที่ชายแดนให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาความมั่นคง ตลอดจนการดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และเร่งขจัดเงื่อนไขความไม่เข้าใจกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันทั้งด้านเศรษฐิจ และด้านความมั่นคง

๒.๕ ปฏิรูประบบข่าวกรองให้เกิดประโยชน์ต่อการรักษาความมั่นคงและการเสริมสร้างผล ประโยชน์ของชาติ โดยจัดระบบบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานพลเรือน ตำรวจ ทหาร และให้ความสำคัญแก่ข้อมูลเชิงลึกด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงที่เป็นประโยชน์ต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาของชาติได้อย่างแท้ จริง

๒.๖ พัฒนาระบบการเตรียมพร้อมแห่งชาติ โดยเน้นการบริหารวิกฤตการณ์เพื่อรับมือกับภัยคุกคามด้านต่าง ๆ ทั้งที่เกิดจากภัยธรรมชาติและภัยที่มนุษย์สร้างขึ้นที่นับวันมีแต่จะมากขึ้น โดยมุ่งระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วนให้สามารถดำเนินงานร่วมกันอย่างมี ประสิทธิภาพ เพื่อป้องกัน แก้ไข บรรเทา และฟื้นฟูความเสียหายของชาติที่เกิดจากภัยต่าง ๆ

๓. นโยบายสังคมและคุณภาพชีวิต

๓.๑ นโยบายการศึกษา

๓.๑.๑ ลงทุนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบครอบคลุมการพัฒนาครู หลักสูตร สื่อ เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อผลสัมฤทธิ์ด้านคุณภาพและความรู้ของนักเรียนตามแผนการเรียนการสอนอย่าง สัมพันธ์กับทรัพยากรและปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ อันจะนำไปสู่การสร้างระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชน และการเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาในภูมิภาค

๓.๑.๒ จัดให้คนไทยทุกคนมีโอกาสรับการศึกษาไม่น้อยกว่า 12 ปีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ ผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก รวมทั้งบุคคลออทิสติก เด็กสมาธิสั้น และผู้ด้อยโอกาสอื่น ๆ ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง และเพิ่มโอกาสในการศึกษาต่อผ่านกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาและเชื่อม โยงกับนโยบายการผลิตบัณฑิตเพื่อตอบสนองความต้องการบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถของประเทศ รวมทั้งต่อยอดให้ทุนการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ

๓.๑.๓ ปรับระบบการผลิตและพัฒนาครูให้มีคุณภาพและคุณธรรม มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้ค่าตอบแทนและสวัสดิการที่เหมาะสม พัฒนาหลักสูตรสื่อการเรียนการสอนให้ทันสมัยและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของ โลก ควบคู่กับการส่งเสริมการเรียนภาษาไทยและประวัติศาสตร์ เพื่อสร้างจิตสำนึกในความเป็นไทย พร้อมทั้งขยายบทบาทของระบบการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ผ่านองค์กรต่าง ๆ เช่น สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ ระบบห้องสมุดสมัยใหม่ หรืออุทยานการเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ศูนย์พัฒนาด้านกีฬา ดนตรี ศิลปะ ศูนย์บำบัดและพัฒนาศักยภาพของบุคคลออทิสติก เด็กสมาธิสั้น และผู้ด้อยโอกาสอื่นๆ

๓.๑.๔ ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้อย่าง จริงจัง ส่งเสริมการใช้สื่อการเรียนรู้ทางไกล จัดให้มีการเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอย่างกว้างขวาง จัดหาอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อประกอบแผนการเรียนการสอนของครูให้ โรงเรียนอย่างทั่วถึง ตลอดจนพัฒนาทักษะด้านภาษาต่างประเทศ

๓.๑.๕ พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสถาบันอุดมศึกษาให้มีความเป็นเลิศด้านการศึกษาวิจัย และสร้างสรรค์นวัตกรรม การให้บริการวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง และการผลิตและพัฒนากำลังคน ให้สอดรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาคการผลิตและบริการ พร้อมทั้งเร่งผลิตกำลังคนระดับอาชีวศึกษาให้มีคุณภาพและมีเส้นทางอาชีพที่ ชัดเจนเพื่อสนับสนุนขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านต่าง ๆ เช่น ปิโตรเคมี ซอฟต์แวร์ อาหาร สิ่งทอ บริการสุขภาพ การท่องเที่ยว และการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการ เป็นต้น ตลอดจนจัดให้มีการรับรองสมรรถนะของบุคคลในการประกอบอาชีพและสานต่อการขยาย บทบาทศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน

๓.๑.๖ ส่งเสริมสนับสนุนการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาไปยังเขตพื้นที่การศึกษาและ สถานศึกษา รวมทั้งการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการจัดการศึกษาอย่างกว้างขวาง ด้วยมาตรการที่เป็นรูปธรรม ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้พร้อมรับการถ่ายโอน การจัดการศึกษา ตลอดจนการปรับระเบียบวิธีเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถสนับสนุน การจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพมาตรฐาน

๓.๑.๗ ส่งเสริมกลไกการบริหารจัดการศึกษาทั้งระบบ โดยครอบคลุมระบบการวางแผน การบริหารจัดการ การกำกับดูแล และการติดตามประเมินผล เพื่อนำข้อมูลต่าง ๆ มาใช้ในการปรับกลยุทธ์ของการจัดการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

๓.๒ นโยบายแรงงาน

๓.๒.๑ ฝึกอบรมและพัฒนาคนที่ทำงานแล้วและคนที่ถูกเลิกจ้าง เพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานและสร้างโอกาสการเข้าสู่ภาคการผลิตและบริการที่มี ระดับเทคโนโลยีที่สูงขึ้น หรือมีการบริการบนพื้นฐานความมีไมตรีจิตของไทย และให้มีการฝึกอาชีพให้แก่ประชาชนทั้งในเมืองและชนบทอย่างสอดคล้องกับความ ต้องการ รวมทั้งการเสริมสร้างการประกอบอาชีพอิสระเพื่อสร้างรายได้และแก้ปัญหาความ ยากจน

๓.๒.๒ จัดให้มีระบบเตือนภัยและติดตามสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อการจ้างงาน การเลิกจ้างอันเนื่องจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาคการผลิตและบริการ พร้อมทั้งจัดให้มีการจ้างงานใหม่โดยเร็ว

๓.๒.๓ ให้ความคุ้มครองแรงงานตามกฎหมาย ซึ่งให้ความสำคัญแก่ความปลอดภัยในการทำงานและสวัสดิการแรงงาน การดูแลหลักประกันความมั่นคงแก่ผู้ใช้แรงงาน พร้อมทั้งจัดระบบการคุ้มครองแก่แรงงานนอกระบบให้ครอบคลุมมากขึ้น

๓.๒.๔ ส่งเสริมการมีงานทำของผู้สูงอายุและคนพิการในหลากหลายแนวทาง อาทิ การทำงานแบบบางเวลา การทำงานชั่วคราว การทำงานแบบสัญญาระยะสั้น รวมทั้งการขยายโอกาสการทำงานของผู้สูงอายุที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน

๓.๒.๕ ส่งเสริมแรงงานไทยให้มีฝีมือและมีโอกาสการทำงานในต่างประเทศ รวมถึงดูแลให้แรงงานได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการตั้งแต่ขั้นตอนการจ้างงาน จนถึงระหว่างการทำงานในต่างประเทศ

๓.๓ นโยบายการพัฒนาสุขภาพของประชาชน

๓.๓.๑ เพิ่มคุณภาพของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้ อย่างไม่มีอุปสรรค และจัดให้มีมาตรการลดปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพ และภาวะทุพโภชนาการที่นำไปสู่การเจ็บป่วยเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง หัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิต และอุบัติเหตุจากการจราจร พร้อมทั้งนำมาตรการภาษีการบริโภคสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมาใช้กระตุ้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบุคคลให้ ลด ละ และเลิกพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงต่อสุขภาพ

๓.๓.๒ ลงทุนด้านบริการสุขภาพ โดยการพัฒนาคุณภาพบริการสุขภาพทั้งระบบอย่างมีบูรณาการและเชื่อมโยงกันใน ทุกระดับ การผลิตและพัฒนาแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข รวมทั้งการเพิ่มสิ่งจูงใจ ปรับปรุงระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศให้ทันสมัยและเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่ เกี่ยวข้อง ควบคู่กับการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางบริการสุขภาพ โดยการพัฒนามาตรฐานบริการในระดับสากล การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน และการปรับปรุงกฎหมายให้เอื้อต่อการเป็นศูนย์กลางบริการด้านสุขภาพ

๓.๓.๓ ดำเนินการระบบเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคเชิงรุก เพื่อป้องกันปัญหาการป่วยและตายด้วยโรคอุบัติใหม่ และระบาดซ้ำในคน พร้อมทั้งสร้างขีดความสามารถในการเฝ้าระวัง วินิจฉัย และดูแลรักษาพยาบาลอย่างเป็นระบบที่ประสานเชื่อมโยงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

๓.๓.๔ เพิ่มแรงจูงใจเพื่อสนับสนุนและขยายบทบาทอาสาสมัครสาธารณสุขให้เป็นกำลัง สำคัญของชุมชนในการดูแลเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ การดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล และการเฝ้าระวังโรคในชุมชน ตลอดจนการส่งเสริมสุขภาพของคนในชุมชนเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล รวมทั้งเชื่อมโยงการดำเนินงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

๓.๓.๕ ส่งเสริมให้ประชาชนทุกระดับมีโอกาสออกกำลังกายและสร้างนิสัยรักการกีฬา เพื่อสร้างเสริมสุขภาพและพลานามัยที่ดี รวมทั้งสนับสนุนการจัดการแข่งขันกีฬาในระดับนานาชาติ และพัฒนาทักษะทางด้านกีฬาของนักกีฬาปกติและผู้พิการสู่ความเป็นเลิศที่จะนำ ชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติ

๓.๔ นโยบายศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม

๓.๔.๑ อุปถัมภ์ คุ้มครอง และทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ๆ เพื่อให้มีบทบาทสำคัญในการปลูกฝังให้ประชาชนเข้าใจและนำหลักธรรมของศาสนามา ใช้ในการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม และพัฒนาคุณภาพชีวิต

๓.๔.๒ ฟื้นฟูและสืบสานคุณค่าความหลากหลายของศิลปะและวัฒนธรรมไทยทั้งที่เป็นวิถี ชีวิต ประเพณี ค่านิยมที่ดีงาม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการดูแลรักษาแหล่งอุทยานประวัติศาสตร์ โบราณสถาน พิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อการศึกษาเรียนรู้และใช้ประโยชน์ในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตบนพื้นฐานความ รู้และความเป็นไทย รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาแหล่งประวัติศาสตร์และโบราณสถานให้เป็นมรดกทาง วัฒนธรรมระดับโลก ควบคู่ไปกับการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนให้มากขึ้น

๓.๔.๓ พัฒนาแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมและนันทนาการ เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนไทยเกิดการเรียนรู้ที่ถูกต้อง ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ มีคุณธรรม เอื้ออาทรต่อผู้อื่น และเกิดการเรียนรู้ศิลปะอย่างสร้างสรรค์ เข้าใจถึงคุณค่าซาบซึ้งในความสุนทรีย์ของศิลปะ

๓.๔.๔ ขยายบทบาทและสร้างเครือข่ายความร่วมมือของสภาวัฒนธรรมทุกจังหวัดกับภาคีการ พัฒนาทุกภาคส่วน เพื่อขยายบทบาทสภาวัฒนธรรมทุกจังหวัดเป็นกลไกเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมที่ครอบ คลุมทั้งวิถีชีวิตและสื่อทุกประเภทที่มีผลกระทบต่อการเบี่ยงเบนทางวัฒนธรรม และพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน พร้อมทั้งขจัดสื่อที่เป็นภัยต่อสังคม ขยายสื่อดีเพื่อนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมอย่างเท่าทันสถานการณ์

๓.๕ นโยบายความมั่นคงของชีวิตและสังคม

๓.๕.๑ สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ด้วยบทบาทของครอบครัว ชุมชน สถาบันศาสนา และสถาบันการศึกษา ในการพัฒนาเด็กตั้งแต่แรกเกิดต่อเนื่องทุกช่วงวัย ให้มีจิตใจที่ดีงาม มีทักษะชีวิต มีความรู้คู่คุณธรรม และปลูกฝังคุณค่าที่ดีของวัฒนธรรมไทย รวมทั้งสนับสนุนการทำกิจกรรมทางสังคมร่วมกันควบคู่กับการเปิดพื้นที่สาธารณะ สำหรับกิจกรรมของครอบครัว และการสร้างค่านิยมครอบครัวอบอุ่น

๓.๕.๒ สนับสนุนให้ชุมชนมีบทบาทในการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ เพื่อสร้างความมั่นคงของชุมชน โดยเชื่อมประสานกับบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการสงเคราะห์ ดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ยากไร้ รวมทั้งจัดกิจกรรมที่ครอบครัวมีส่วนร่วม เช่น กิจกรรมด้านกีฬาและนันทนาการ กิจกรรมทำนุบำรุงศาสนา เป็นต้น

๓.๕.๓ สร้างหลักประกันความมั่นคงและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ให้เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส โดยจะขจัดขบวนการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไป ขจัดการเลือกปฏิบัติและการละเมิดสิทธิเด็ก สตรี และคนพิการ ในทุกรูปแบบอย่างเด็ดขาด ส่งเสริมความรู้และอาชีพให้สตรี และคนพิการให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมทั้งเสริมสร้างสวัสดิการทางสังคมแก่ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาสอย่างเหมาะสม

๓.๕.๔ เตรียมความพร้อมสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ ยึดหลักการให้ผู้สูงอายุเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าในระบบเศรษฐกิจและสังคมของ ประเทศ โดยสร้างหลักประกันด้านรายได้และระบบการออมในช่วงวัยทำงานที่เพียงพอสำหรับ ช่วงวัยชรา สร้างพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมกับช่วงวัย และส่งเสริมการใช้ประสบการณ์และภูมิปัญญาของผู้สูงอายุในกระบวนการพัฒนา ประเทศโดยระบบคลังสมอง รวมทั้งขยายการให้เบี้ยยังชีพให้ครอบคลุมคนชราที่ไม่มีรายได้อย่างทั่วถึง

๓.๕.๕ สร้างสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่ในสังคมเมือง และเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง โดยมีการวางผังเมืองอย่างเป็นระบบ ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยสาธารณะและสิ่งแวด ล้อมอย่างเคร่งครัด และจัดให้มีบริการขั้นพื้นฐานอย่างเหมาะสม มีโรงเรียนใกล้บ้านที่มีคุณภาพ มีการสื่อสารคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

๔. นโยบายเศรษฐกิจ

๔.๑ นโยบายการบริหารเศรษฐกิจมหภาค

๔.๑.๑ สร้างความมั่นคงและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของสถาบันการเงินและตลาดทุน โดยวางระบบและยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลสถาบันการเงินและตลาดทุน ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงวิศวกรรมและนวัตกรรมทางการเงิน และสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤตการณ์การเงินโลก

๔.๑.๒ สนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ ดูแลเงินเฟ้อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยภายใต้การผันแปรอย่าง รุนแรงของเศรษฐกิจโลก โดยมีกรอบนโยบายการเงิน และนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่มีเสถียรภาพสอดคล้องกับสถานการณ์และพื้นฐานทาง เศรษฐกิจของประเทศ และสอดประสานกับนโยบายการคลังและตลาดทุน

๔.๑.๓ รักษาวินัยการคลังเพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว ซึ่งครอบคลุมถึงเงินงบประมาณ เงินนอกงบประมาณ งบประมาณของท้องถิ่น ฐานะการเงินของรัฐวิสาหกิจและสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ปฏิรูประบบงบประมาณแผ่นดินทั้งระบบให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศอย่าง บูรณาการ ทั้งนี้ จะเร่งดำเนินการและเตรียมความพร้อมในการออกกฎหมายว่าด้วยการบริหารการคลัง ที่ดี ให้เป็นกลไกในการกำกับและเป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติ

๔.๑.๔ ปรับปรุงระบบภาษีและการจัดเก็บภาษีให้มีความเป็นธรรม มีประสิทธิภาพ และเพียงพอกับรายจ่ายเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต

๔.๑.๕ ส่งเสริมให้มีระบบการออมระยะยาว เพื่อให้ประชาชนมีเงินออมเพียงพอกับการดำรงชีพในยามชรา โดยได้รับอัตราตอบแทนจากการฝากเงินหรือการลงทุนที่เหมาะสมและในระดับความ เสี่ยงที่ยอมรับได้ รวมทั้งเป็นการสร้างฐานเงินออมเพื่อการระดมทุนของประเทศในอนาคต

๔.๑.๖ ปรับปรุงประสิทธิภาพของตลาดทุนให้ทัดเทียมกับตลาดหลักในภูมิภาคและตลาดโลก ทั้งด้านธรรมาภิบาล ราคา และคุณภาพ โดยให้ความสำคัญผ่านการส่งเสริมการออมของประเทศ การเพิ่มบทบาทของตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ในการเป็นแหล่งทุนสำหรับการลงทุน โครงการขนาดใหญ่ของรัฐ และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย และการให้บริการทางการเงินอย่างกว้างขวางทั่วถึง ทั้งนี้จะจัดให้มีกลไกเพื่อกำกับดูแลการพัฒนาตลาดทุนให้สอดคล้องกับการพัฒนา ตลาดเงินและการเชื่อมโยงกับตลาดทุนทั่วโลก

๔.๑.๗ วางกรอบการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่มีแหล่งเงินและรูปแบบการลงทุนที่เหมาะ สม โดยคำนึงถึงวินัยการคลังของประเทศ และสนับสนุนการเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนเพื่อลดภาระการลงทุนของภาครัฐ

๔.๑.๘ พัฒนารัฐวิสาหกิจให้สามารถเป็นกลไกสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนา และการลงทุนของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างฐานรายได้และมูลค่าให้กับทรัพย์สินของรัฐ มีระบบการบริหารจัดการและการกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้หลักธรรมาภิ บาล ทั้งการจัดทำและแยกบัญชีเชิงสังคม ความโปร่งใส และการวัดประสิทธิภาพของการดำเนินงาน รวมทั้งเร่งฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหาฐานะการเงิน

๔.๒ นโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

๔.๒.๑ ภาคเกษตร

๔.๒.๑.๑ พัฒนาการสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการเกษตรอย่างครบวงจร โดยเร่งรัดการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของพืชเศรษฐกิจที่สำคัญให้เหมาะสมกับ สภาพพื้นที่ ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ การฟื้นฟูสภาพแวดล้อมดินและน้ำ รวมทั้งจัดพื้นที่การผลิตพืชอาหารและพืชพลังงานให้เหมาะสม และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชพลังงาน เช่น ปาล์มน้ำมัน อ้อย มันสำปะหลัง เพื่อผลิตพลังงานทดแทนและอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพื่อรองรับวิกฤตอาหารและ พลังงานโลก

๔.๒.๑.๒ พัฒนาการประมง โดยบริหารจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของการประมง พัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั้งประมงชายฝั่งและประมงน้ำจืดในระดับพื้นบ้าน ส่งเสริมความร่วมมือด้านการประมงกับต่างประเทศในน่านน้ำสากล และพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ

๔.๒.๑.๓ เพิ่มศักยภาพการผลิตและการตลาดด้านปศุสัตว์ โดยการพัฒนาการผลิตทุกขั้นตอนให้มีความปลอดภัยและมาตรฐานสากล ปรับปรุงพันธุ์ปศุสัตว์ เช่น โค กระบือ สุกร และอื่น ๆ พัฒนาศักยภาพระบบการเฝ้าระวังป้องกัน ควบคุมโรคสัตว์ พัฒนาศักยภาพการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ และเปิดตลาดสินค้าปศุสัตว์สู่ตลาดโลก

๔.๒.๑.๔ ส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าเกษตร โดยการแปรรูปที่ได้คุณภาพและมาตรฐานสากล เพื่อเชื่อมโยงสู่อุตสาหกรรมการเกษตร และส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร ความปลอดภัยด้านอาหารตามมาตรฐานสากล เร่งรัดการเจรจาข้อตกลงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อป้องกันมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี รวมทั้งให้มีระบบป้องกันและควบคุมการระบาดของโรค ตลอดจนสนับสนุนการแปรรูปสินค้าเกษตรในชุมชน

๔.๒.๑.๕ ส่งเสริมการทำการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ในระดับชุมชนตามแนวพระราชดำริ เพื่อให้ครัวเรือนเกษตรกรมีความมั่นคงทางด้านอาหาร ส่งเสริมการขยายกระบวนการเรียนรู้ระบบเกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน วนเกษตร โครงการอาหารกลางวัน และธนาคารโคกระบือตามแนวพระราชดำริ โดยเกษตรกรและชุมชนเป็นผู้กำหนดทิศทางและแนวทางด้วยตนเอง

๔.๒.๑.๖ ปรับโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตร โดยสร้างระบบนิคมการเกษตร และเร่งรัดการกำหนดเขตการใช้ที่ดิน เพื่อการผลิตและการจัดการสินค้าเกษตรทุกประเภทอย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร รวมทั้งมีความเหมาะสมและสมดุลทั้งด้านอาหารและพลังงานทดแทน ด้วยการบูรณาการหน่วยงานและภาคีความร่วมมือต่าง ๆ เพื่อเพิ่มรายได้เกษตรกร ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ พัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร ตลอดจนสงวนและคุ้มครองพื้นที่การเกษตรจำนวน ๑๓๐ ล้านไร่ สำหรับทำการเกษตรอย่างยั่งยืน

๔.๒.๑.๗ สร้างความเข้มแข็งให้ภาคการเกษตรทั้งระบบ โดยเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพเกษตรกรรุ่นใหม่ทุกระดับวัย ทั้งในด้านการผลิต การบริหารจัดการผลผลิต การบริหารองค์กรเกษตรกรรูปแบบต่าง ๆ ด้วยองค์ความรู้จากนวัตกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และเทคโนโลยีที่เหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาระบบการเรียนรู้ทั้งในและนอกระบบการศึกษา เพื่อเพิ่มศักยภาพของภาคเกษตรให้เป็นฐานรากที่มั่นคงของระบบเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

๔.๒.๒ ภาคอุตสาหกรรม

๔.๒.๒.๑ พัฒนาประสิทธิภาพของภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งสร้างมูลค่าให้แก่สินค้าอุตสาหกรรม โดยบูรณาการความร่วมมือขององค์กรและหน่วยงานของรัฐบาลเพื่อสนับสนุนการพัฒนา อุตสาหกรรม และยกระดับความสามารถ ทักษะแรงงาน มาตรฐานผลิตภัณฑ์ ปรับปรุงการบริหารจัดการของผู้ประกอบการ เพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักรและระบบบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการภายใน กลุ่มอุตสาหกรรม บนพื้นฐานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา

๔.๒.๒.๒ พัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีศักยภาพสูงและมีความได้เปรียบ เช่น อาหาร เหล็ก ยานยนต์ ปิโตรเคมี พลังงาน และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ให้เป็นฐานการผลิตในระดับภูมิภาคและโลก ด้วยการส่งเสริมการลงทุนหรือให้สิทธิพิเศษกับอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ รวมทั้งจัดหาและพัฒนาพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมเพื่อรองรับการ พัฒนาอุตสาหกรรมในระยะ ๒๐ ปีข้างหน้า โดยคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่

๔.๒.๒.๓ สร้างสินค้าที่มีคุณภาพและมาตรฐานเพื่อเพิ่มมูลค่าและคุ้มครองทรัพย์สินทาง ปัญญาให้แก่สินค้าที่ผลิตในประเทศไทย โดยสนับสนุนการพัฒนาทักษะฝีมือผสมผสานกับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น กลุ่มสินค้าแฟชั่น อัญมณีและเครื่องประดับ และสินค้าอื่น ๆ พร้อมทั้งใช้มาตรการด้านการตลาดและสร้างตราสัญลักษณ์สินค้าของไทยให้เป็นที่ นิยมทั้งในประเทศและต่างประเทศ

๔.๒.๒.๔ สร้างและพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งวิสาหกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็ง เพื่อเป็นฐานการผลิตของระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าและศักยภาพในการแข่ง ขันด้วยการสนับสนุนด้านองค์ความรู้และนวัตกรรม รวมถึงการสร้างธรรมาภิบาลในการประกอบการและความรับผิดชอบต่อสังคม

๔.๒.๒. ๕ ส่งเสริมและขยายบทบาทศูนย์บ่มเพาะสำหรับผู้ประกอบการที่มุ่งสร้างสินค้าและ บริการที่มีมูลค่าสูง โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ออกแบบให้มีความเหมาะสมตามศักยภาพในพื้นที่ต่างๆ พร้อมทั้งสร้างศูนย์พัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ตลอดจนสนับสนุนให้มีการนำองค์ความรู้และนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์

๔.๒.๓ ภาคการท่องเที่ยวและบริการ

๔.๒.๓.๑ ผลักดันความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และเอกชน ในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ตลอดถึงคุณค่าทางสังคมจากการท่องเที่ยว โดยพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการท่องเที่ยวให้ยั่งยืน มีความสะดวก สะอาด ปลอดภัย ได้เอกลักษณ์ และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ในเชิงกลุ่มพื้นที่ที่มีศักยภาพสามารถเชื่อมโยง ธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชุมชน ตลอดจนดูแลให้นักท่องเที่ยวปลอดภัยจากอาชญากรรม การฉ้อฉล และอุบัติเหตุที่ควรป้องกันหรือหลีกเลี่ยงได้ ทั้งที่เกิดจากความบกพร่องในการดำเนินงานหรือจากภัยธรรมชาติ รวมทั้งให้ความสำคัญในเรื่องการควบคุมปริมาณนักท่องเที่ยว และผลกระทบสิ่งแวดล้อมในแหล่งท่องเที่ยว

๔.๒.๓.๒ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงการท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดต่าง ๆ ควบคู่กับการส่งเสริมตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพทั้งที่เป็นชาวไทยและชาวต่าง ประเทศ เช่น กลุ่มครอบครัว กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มดูแลรักษาสุขภาพ กลุ่มท่องเที่ยวศรัทธา กลุ่มประชุมและแสดงสินค้า กลุ่มที่มีความสนใจด้านระบบนิเวศ การผจญภัย และกลุ่มสนใจวัฒนธรรมท้องถิ่นและแหล่งประวัติศาสตร์และโบราณสถาน เป็นต้น ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างยั่งยืนของชุมชนในแต่ละท้องถิ่น

๔.๒.๓.๓ ส่งเสริมภาคบริการโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีศักยภาพ เพื่อขยายฐานการดำเนินการและการตลาดสู่ระดับภูมิภาค อาทิ บริการสุขภาพ การศึกษานานาชาติ การบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การก่อสร้าง ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกีฬาและนันทนาการ และธุรกิจรับจ้างบริหารระบบธุรกิจ เป็นต้น รวมทั้งสร้างโอกาสใหม่ให้แก่เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ที่จะเพิ่มมูลค่าให้แก่ ผู้ประกอบการและธุรกิจของคนไทย เช่น ธุรกิจภาพยนตร์ ธุรกิจจัดประชุมและแสดงสินค้า ธุรกิจออกแบบแฟชั่น ธุรกิจที่ใช้ความโดดเด่นทางวัฒนธรรมและความเป็นไทย เป็นต้น โดยจัดทำแผนแม่บทเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาองค์ความ รู้และสร้างนวัตกรรม ความเข้มแข็งของผู้ประกอบการมาตรฐานธุรกิจ บุคลากรและการตลาด

๔.๒.๔ การตลาด การค้า และการลงทุน

๔.๒.๔.๑ ส่งเสริมนโยบายการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ป้องกันการผูกขาดตัดตอน และคุ้มครองผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการในด้านการคุ้มครองและป้องกันการ ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

๔.๒.๔.๒ ปรับปรุงพัฒนากฎหมายและกฎระเบียบที่ส่งเสริมการค้าการลงทุน เพื่อสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดีและสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนทั้งใน ประเทศและจากต่างประเทศ

๔.๒.๔.๓ ดำเนินการตลาดเชิงรุกเพื่อรักษาตลาดเดิมและสร้างตลาดใหม่ เพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกไปตลาดหลัก โดยส่งเสริมการส่งออกและบริการในตลาดใหม่ ได้แก่ จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรปตะวันออก พร้อมทั้งรักษาส่วนแบ่งในตลาดหลักไม่ให้ลดลง โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมสินค้าและบริการที่มีอัตราการขยายตัวสูงในตลาดใหม่

๔.๒.๔.๔ พัฒนาสินค้าและบริการที่สร้างโอกาสใหม่ในการหารายได้ เช่น สินค้าและบริการฮาลาล ซึ่งจะขยายโอกาสในการส่งออก การบริการและดึงดูดการลงทุนและการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ

๔.๒.๔.๕ ขยายความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าภายใต้กรอบความร่วม มือและข้อตกลงทางด้านการค้าในระบบพหุภาคีและทวิภาคี เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการขยายตลาดการค้าระหว่างประเทศ และการค้าชายแดน

๔.๒.๔.๖ สนับสนุนการลงทุนในต่างประเทศในสาขาที่ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพทั้งในการลง ทุนตั้งโรงงานผลิตสินค้า การทำสัญญาสินค้าเกษตรตามข้อตกลง การเปิดสาขา การหาตัวแทนและหุ้นส่วนในต่างประเทศเพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจไทยในต่าง ประเทศ

๔.๓ นโยบายโครงสร้างพื้นฐาน และระบบบริหารจัดการขนส่งมวลชน สินค้าและบริการ

๔.๓.๑ พัฒนาบริการโครงสร้างพื้นฐานให้กระจายไปสู่ภูมิภาคอย่างทั่วถึง เพียงพอ และมีคุณภาพ โดยเฉพาะการจัดให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของ ประชาชน เช่น น้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภค การกำจัดขยะมูลฝอย บริการสื่อสารโทรคมนาคม ที่อยู่อาศัย และถนนในชนบทปลอดฝุ่น เป็นต้น

๔.๓.๒ พัฒนาระบบคมนาคมขนส่งและเชื่อมโยงโครงข่ายการบริหารจัดการขนส่งมวลชน สินค้าและบริการที่สะดวกและปลอดภัย ทั้งพื้นที่ชนบท เมืองและระหว่างประเทศ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการขนส่ง ระบบรางให้สามารถเชื่อมโยงการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ เพื่อลดต้นทุนสินค้าและบริการเพื่อการส่งออก

๔.๓.๓ พัฒนาการขนส่งทางน้ำและกิจการพาณิชยนาวีทั้งภายในและระหว่างประเทศ รวมถึงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกบริเวณพื้นที่ภาคใต้และโครงข่ายเชื่อมโยงอนุ ภูมิภาคเป็นประตูการค้าใหม่ ตลอดจนการพัฒนาท่าเรือชุมชน และกองเรือไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการให้มีการขนส่งทางน้ำเพิ่มขึ้นและ สามารถเชื่อมโยงกับระบบขนส่งอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

๔.๓.๔ พัฒนาท่าอากาศยานสากล ท่าอากาศยานภูมิภาคและอุตสาหกรรมการบินของไทย เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบิน การท่องเที่ยวและการขนส่งสินค้าทางอากาศชั้นนำของเอเชียและโลก

๔.๓.๕ ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องด้านการขนส่ง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งด้านการผลิตและการบริหาร จัดการ

๔.๓.๖ สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ รวมทั้งดำเนินมาตรการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างจริงจัง

๔.๔ นโยบายพลังงาน

๔.๔.๑ เสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้มีพลังงานใช้อย่างเพียงพอต่อการพัฒนา ประเทศ และให้พึ่งพาตนเองทางพลังงานได้มากขึ้น เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน โดยเร่งรัดการสำรวจและผลิตพลังงานภายในประเทศเพิ่มขึ้น เสริมสร้างความร่วมมือและความสัมพันธ์ด้านพลังงานอันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งการลงทุนด้านพลังงานในต่างประเทศ ดูแลวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าให้มีความเหมาะสมต่อภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมในการตัดสินใจพัฒนาพลังงานทางเลือกอื่น ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง

๔.๔.๒ ส่งเสริมให้มีการกำกับดูแลกิจการพลังงานให้ราคาพลังงานในประเทศมีความเหมาะ สม มีเสถียรภาพ ภายใต้การผันแปรอย่างรุนแรงของตลาดโลก สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการลงทุน โดยกำหนดโครงสร้างราคาเชื้อเพลิงให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงตามกลไกตลาดและ เป็นธรรมต่อประชาชน เพื่อก่อให้เกิดการแข่งขันและการลงทุนในธุรกิจพลังงาน พร้อมทั้งดูแลให้กิจการพลังงานมีมาตรฐานคุณภาพ การให้บริการ และความปลอดภัยที่ดี

๔.๔.๓ ส่งเสริมและวิจัยพัฒนาพลังงานทดแทนทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง ด้วยการกำหนดให้พลังงานทดแทนเป็นวาระแห่งชาติ โดยเฉพาะในด้านของเชื้อเพลิงชีวภาพ อาทิ แก๊สโซฮอล์ ไบโอดีเซล การเร่งรัดการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคขนส่งและอุตสาหกรรมให้มากขึ้น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มีศักยภาพในประเทศ รวมทั้งการกำหนดมาตรการส่งเสริมการผลิตและใช้พลังงานทดแทนอย่างเหมาะสม และจูงใจต่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค และมีความสมดุลด้านอาหาร พลังงาน และสิ่งแวดล้อม

๔.๔.๔ ส่งเสริมการอนุรักษ์และประหยัดพลังงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยรณรงค์ส่งเสริมให้เกิดวินัยในการประหยัดพลังงานของคนในชาติ และสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยส่งเสริมให้เกิดมาตรฐานในการออกแบบอาคารประหยัดพลังงาน การเพิ่มมาตรฐานประสิทธิภาพการประหยัดพลังงานของอุปกรณ์ไฟฟ้าเพื่อผู้บริโภค การพัฒนาระบบขนส่งมวลชน รวมทั้งพัฒนาระบบบริหารจัดการการขนส่งสินค้าและบริการให้ใช้ระบบรถไฟฟ้าและ ระบบรางมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิง ลดปัญหามลพิษ และลดปัญหาการจราจรติดขัดในเขตเมือง

๔.๔.๕ ส่งเสริมการพัฒนา ผลิต และใช้พลังงาน ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดมาตรฐานการผลิตพลังงานและมาตรฐานเชื้อเพลิงเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่ง แวดล้อม รณรงค์และส่งเสริมการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน โดยส่งเสริมให้เกิดโครงการกลไกการพัฒนาพลังงานที่สะอาด (CDM- Clean Development Mechanism) ให้เพิ่มมากขึ้น

๔.๕ นโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศ

๔.๕.๑ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น โครงข่ายสื่อสารความเร็วสูง ให้ทั่วถึง เพียงพอ ในราคาที่เหมาะสม เป็นธรรม และแข่งขันได้ เพื่อเป็นโครงข่ายหลักสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยไปสู่สังคมแห่งภูมิปัญญา ช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเขตเมืองและชนบท และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ

๔.๕.๒ พัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องด้านบริการความรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และจัดให้มีกลไกสนับสนุนแหล่งทุนสำหรับผู้ประกอบธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ ขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพ ได้มาตรฐาน และสอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในภูมิภาค

๔.๕.๓ สนับสนุนการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการพัฒนาระบบบริหารจัดการและบริการ ภาครัฐและเอกชน ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์การเชื่อมโยงข้อมูลการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและ บริการ การเตือนภัยและความมั่นคงของรัฐ รวมถึงการป้องกันการเข้าถึงสื่อที่เป็นภัยต่อสังคมโดยเฉพาะต่อเด็กและเยาวชน การบริการการศึกษาและสาธารณสุข ตลอดจนการพัฒนาระบบภูมิสารสนเทศและเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศและจัดทำแผน แม่บทการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐที่ครอบคลุมด้านการลงทุนใน ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ การพัฒนาบุคลากร และการสร้างเครือข่ายในการเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์ของข้อมูลและระบบ เทคโนโลยีสารสนเทศร่วมกัน

๕. นโยบายที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

๕.๑ อนุรักษ์ทรัพยากรดินและป่าไม้ โดยเร่งรัดปราบปรามการบุกรุกทำลายป่า ซึ่งรวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องมือและอุปกรณ์ สร้างขวัญและกำลังใจเจ้าหน้าที่ กำหนดบทลงโทษที่เด็ดขาด การป้องกันการเผาป่า ไร่นา และทำลายหน้าดิน การลดการใช้สารเคมีเพื่อการเกษตร รวมทั้งการฟื้นฟูดินและป้องกันการชะล้างทำลายดินโดยการปลูกหญ้าแฝกตามแนวพระ ราชดำริ รวมทั้งอนุรักษ์ป่าต้นน้ำและป้องกันรักษาป่าที่สมบูรณ์ สนับสนุนให้มีการปลูกและฟื้นฟูป่า และป่าชุมชนตามแนวพระราชดำริ และส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจในพื้นที่ที่เหมาะสม รวมทั้งการทำฝายต้นน้ำลำธารหรือฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริ

๕.๒ บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชนท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนโดยเฉพาะระดับพื้นที่ ให้มีความสมดุลของการใช้ประโยชน์ การถือครอง และการอนุรักษ์ฐานทรัพยากรที่ดิน ป่าไม้ ป่าชายเลน สัตว์ป่า ทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและทรัพยากรธรณี โดยการใช้ระบบภูมิสารสนเทศ เทคโนโลยี ควบคู่กับการปรับปรุงและบังคับใช้กฎหมายตลอดจนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่าง เคร่งครัด รวมทั้งให้ความสำคัญในการเร่งรัดการประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย การกำหนดพื้นที่ศักยภาพแร่ การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง การอนุรักษ์และฟื้นฟูปะการังและหญ้าทะเล การอนุรักษ์และแก้ไขปัญหาเรื่องช้าง และการธำรงรักษาสืบสานทางวัฒนธรรมอย่างจริงจัง

๕.๓ คุ้มครองและฟื้นฟูพื้นที่อนุรักษ์ที่มีความสำคัญเชิงนิเวศ รวมทั้งอนุรักษ์ พัฒนา และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนให้เกิดมูลค่าทาง เศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญในการสำรวจจัดทำฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น ตลอดจนความปลอดภัยทางชีวภาพ และสร้างกลไกการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร พลังงาน สุขภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มสู่เศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับสากลในระยะต่อไป

๕.๔ จัดให้มีมาตรการป้องกันและพัฒนาระบบข้อมูลและเตือนภัยจากภัยพิบัติทาง ธรรมชาติ เช่น อุทกภัย ภัยแล้ง หมอกควัน ไฟป่า ธรณีพิบัติ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และดำเนินมาตรการลดผลกระทบและความเดือดร้อนของประชาชนจากภัยพิบัติทาง ธรรมชาติ รวมทั้งการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากผลกระทบสิ่งแวดล้อม อื่น โดยสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชน

๕.๕ ควบคุมมลพิษทางอากาศ ขยะ น้ำเสีย กลิ่น และเสียง ที่เกิดจากการผลิตและบริโภค ให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเร่งรัดการสร้างระบบบำบัดน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากสังคมเมืองและการ ผลิตในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม การจัดทำระบบกำจัดขยะโดยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการกำจัดขยะและบำบัดน้ำ เสีย การเพิ่มพื้นที่สีเขียว และการลดมลพิษทางอากาศ รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการวิเคราะห์และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการพัฒนา

๕.๖ ดูแลและรักษาคุณภาพน้ำในแม่น้ำและคูคลอง โดยเฉพาะพื้นที่วิกฤตด้านคุณภาพน้ำ เช่น เจ้าพระยา ท่าจีน และทะเลสาบสงขลา โดยการสนับสนุนกลไกและกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การเพิ่มสมรรถนะและความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การส่งเสริมการบำบัดน้ำเสียจากแหล่งกำเนิด และการสนับสนุนการจัดการน้ำเสียชุมชนขนาดเล็ก

๕.๗ ส่งเสริมให้ภาครัฐและภาคเอกชนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อการ อนุรักษ์พลังงาน การจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การผลิตวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ การหมุนเวียนการใช้วัตถุดิบและเทคโนโลยีที่สะอาดและการใช้หลักผู้ก่อมลพิษ เป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลดการก่อมลพิษและลดภาระของ สังคมตามธรรมาภิบาลด้านสิ่งแวดล้อม มีการต่อยอดภูมิปัญญาดั้งเดิมด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม

๕.๘ ส่งเสริมและสร้างความตระหนักและจิตสำนึกทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวด ล้อม โดยการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่การดำเนินกิจกรรมและการปรับพฤติกรรมการผลิต และการบริโภคสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อบรรเทาผลจากการ เปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญแก่ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและ องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนสนับสนุนการดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่จะนำมาสู่การเพิ่ม ประสิทธิภาพในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

๖. นโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรม

๖.๑ ส่งเสริมการนำงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสาขาหลักมาใช้ในการพัฒนา ประเทศ ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีวัสดุ และนาโนเทคโนโลยี รวมถึงเทคโนโลยีอนาคตที่มีการลงทุนไว้แล้ว เช่น เทคโนโลยีอวกาศ และเทคโนโลยีพลังงานทดแทน เป็นต้น โดยให้ความสำคัญแก่การเชื่อมโยงระหว่างภาคเอกชน สถาบันวิจัย และมหาวิทยาลัย ตลอดจนพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจ ซึ่งจะนำไปสู่การวิจัย พัฒนาต่อยอด และมีการใช้ประโยชน์องค์ความรู้และเทคโนโลยีในเชิงพาณิชย์

๖.๒ สร้างเสริมความรู้ความคิดของประชาชนให้มีฐานความคิดเชิงวิทยาศาสตร์ และสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมจากทุนทางสังคม และพัฒนาระบบเชื่อมโยงสถาบันจัดการความรู้ของประเทศทุกระดับให้เป็นเครือ ข่ายทุนทางปัญญาของประเทศเพื่อสนับสนุนการสร้างคุณค่าและนวัตกรรม

๖.๓ เร่งผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีคุณภาพและคุณธรรม เพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง ตลอดจนพัฒนาเส้นทางอาชีพเพื่อรักษาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไว้ใน ระบบ รวมทั้งจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่สามารถดึงดูดบุคลากรที่มีความรู้ชั้น สูงจากต่างประเทศเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้กับบุคลากรไทย

๖.๔ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมให้มีคุณภาพและปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการ และสนับสนุนการสร้างทรัพย์สินทางปัญญาของของคนไทยเพื่อป้องกันมิให้ไทยถูก เอาเปรียบทางเทคโนโลยีจากต่างประเทศ โดยพัฒนาระบบการจัดการทรัพย์สินทางปัญญาให้มีประสิทธิภาพ พัฒนาระบบรับรองมาตรฐานให้ทันสมัย รวมทั้งพัฒนาศูนย์บ่มเพาะธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยี อุทยาน วิทยาศาสตร์ และศูนย์แห่งความเป็นเลิศในสาขาเทคโนโลยีที่สำคัญ

๖.๕ จัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติเชิงบูรณาการและสร้างเครือข่ายการ วิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจฐานความรู้ โดยมีการวิจัยทั้งขั้นพื้นฐานและวิจัยประยุกต์ รวมทั้งให้มีการติดตามประเมินผลนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ และส่งเสริมภาคเอกชนให้มีการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้น

๖.๖ ปรับระบบวิจัยให้ได้มาตรฐานโดยพัฒนาศักยภาพของหน่วยงานวิจัย พัฒนาบุคลากรด้านการวิจัย ส่งเสริมให้มีการกำหนดเส้นทางอาชีพนักวิจัยที่ชัดเจน พัฒนาระบบฐานข้อมูลงานวิจัยและระบบงานวิจัยเชิงบูรณาการเพื่อลดความซ้ำซ้อน โดยสร้างศูนย์และแหล่งเรียนรู้ทางการวิจัย

๗. นโยบายการต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

๗.๑ ส่งเสริมและพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การเงิน การค้าการลงทุน การท่องเที่ยว การคมนาคม ขนส่ง และความร่วมมือด้านอื่น ๆ ภายใต้กรอบความร่วมมืออนุภูมิภาค เพื่อส่งเสริมความเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน

๗.๒ สร้างความสามัคคีและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียนเพื่อให้บรรลุ เป้าหมายในการจัดตั้งประชาคมอาเซียนในฐานะที่ไทยเป็นประธานอาเซียนจนกระทั่ง ถึงสิ้นปี ๒๕๕๒ และส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชียภายใต้กรอบความร่วมมือด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเงินซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วนภายหลังวิกฤตการเงิน ของโลกที่เกิดขึ้นในปี ๒๕๕๑ เพื่อนำไปสู่การเริ่มต้นของการสร้างประชาคมทางการเงินของเอเชีย

๗.๓ ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีและความร่วมมือกับทุกประเทศและองค์กรมุสลิม ระหว่างประเทศ เพื่อให้ประเทศและองค์กรเหล่านี้มีความเข้าใจที่ถูกต้องและสนับสนุนการแก้ไข ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

๗.๔ มีบทบาทที่สร้างสรรค์และส่งเสริมผลประโยชน์ของชาติในองค์การระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเวทีสหประชาชาติและองค์กรระดับภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อรักษาสันติภาพและความมั่นคง ส่งเสริมกระบวนการประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนมนุษยธรรม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตลอดจนร่วมมือในการแก้ไขประเด็นปัญหาข้ามชาติทุกด้านที่ส่งผลกระทบต่อความ มั่นคงของมนุษย์

๗.๕ กระชับความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับประเทศ กลุ่มประเทศ และองค์การเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่มีบทบาทสำคัญของโลก เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในประเทศไทย พร้อมกับการสร้างภูมิคุ้มกันและขีดความสามารถในการแข่งขันให้เศรษฐกิจไทย

๗.๖ สนับสนุนการเข้าถึงในระดับประชาชนของนานาประเทศพร้อมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์ ที่ดีและความร่วมมือทางวิชาการกับประเทศกำลังพัฒนา เพื่อให้ประชาชน รัฐบาล และประชาคมระหว่างประเทศมีทัศนคติในทางบวกต่อประชาชนและประเทศไทย

๗.๗ สนับสนุนการทูตเพื่อประชาชน คุ้มครองผลประโยชน์ของคนไทย ดูแลคนไทยและแรงงานไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะคนไทยที่ประกอบอาชีพและมีถิ่นฐานในต่างประเทศ ส่งเสริมบทบาทและความแข็งแกร่งของชุมชนชาวไทยในการรักษาเอกลักษณ์และความ เป็นไทย

๘. นโยบายการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

๘.๑ ประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดิน

๘.๑.๑ ปรับปรุงการให้บริการประชาชน ด้วยการสร้างนวัตกรรมและนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการให้บริการรูปแบบต่าง ๆ เพื่อลดภาระและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน

๘.๑.๒ พัฒนาระบบงานให้มีความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพโปร่งใส และตรวจสอบได้ ส่งเสริมให้ใช้หลักธรรมาภิบาลเป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการและพัฒนาสมรรถนะ ของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกระดับอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีขีดความสามารถในการปฏิบัติราชการและการส่งมอบบริการสาธารณะ โดยจะเน้นการพัฒนาข้าราชการในตำแหน่งที่มีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์การพัฒนา ประเทศ และสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงในระบบราชการ รวมทั้งวางมาตรการสำหรับประเมินผลการปฏิบัติงานและจ่ายค่าตอบแทนที่เป็นธรรม ตามผลงาน เพื่อให้เกิดขวัญกำลังใจและแรงจูงใจในการพัฒนาผลงาน

๘.๑.๓ พัฒนาคุณภาพชีวิตของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ดีขึ้น เพื่อให้สามารถดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี โดยการเพิ่มเงินเดือน ค่าตอบแทน และสวัสดิการให้เหมาะสมกับความสามารถและประสิทธิภาพการทำงาน รวมทั้งปรังปรุงสวัสดิภาพการทำงานและภาระหนี้สิน เพื่อให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีความสมดุลระหว่างการทำงานกับชีวิต ส่วนตัว

๘.๑.๔ เสริมสร้างมาตรฐานด้านคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ และพัฒนาความโปร่งใสในการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐ พร้อมทั้งป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของข้าราชการและเจ้า หน้าที่ของรัฐอย่างจริงจัง เพื่อให้ข้าราชการเป็นที่เชื่อถือไว้วางใจของประชาชน ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและชุมชน รวมถึงพัฒนาและนำมาตรการทางสังคมมาใช้ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายต่าง ๆ เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบให้หมดสิ้น ตลอดจนสนับสนุนการสร้างค่านิยมของสังคมให้ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริตและ ถูกต้องชอบธรรม

๘.๑.๕ พัฒนาระบบและกำหนดมาตรการเพื่อดึงดูดผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามารับราชการ ด้วยการปรับปรุงระบบค่าตอบแทนและสิ่งจูงใจให้เทียบเคียงหรือแข่งขันได้ใน ตลาดแรงงาน เพื่อให้ระบบราชการเป็นนายจ้างอันเป็นที่หมายปองของผู้สมัครงาน รวมทั้งสนับสนุนให้มีการเคลื่อนย้ายถ่ายโอนกำลังคนทั้งภายในระบบราชการและ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับภาคส่วนอื่น ๆ

๘.๑.๖ สนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพและความ โปร่งใส สามารถแก้ไขปัญหาท้องถิ่นให้สามารถพึ่งตนเองได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน วัฒนธรรมไทยที่ดีงาม ทรัพยากรธรรมชาติและดูแลผู้ด้อยโอกาส ให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยคำนึงถึงความจำเป็นและความเหมาะสมตามศักยภาพของท้องถิ่น และเชื่อมโยงและบูรณาการภารกิจกับแผนชุมชนและแผนระดับต่าง ๆ ในพื้นที่ รวมทั้งเป็นฐานสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาประชาธิปไตยในท้องถิ่นให้เข้มแข็ง

๘.๑.๗ ปรับปรุงการจัดระบบความสัมพันธ์ของราชการบริหารส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นให้มีความเหมาะสม โดยเร่งรัดดำเนินการถ่ายโอนภารกิจของราชการส่วนกลางให้องค์กรปกครองส่วนท้อง ถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น จัดสรรรายได้ให้ท้องถิ่นแต่ละประเภทอย่างเหมาะสม รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการงบประมาณและบุคลากรของท้องถิ่น และส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพึ่งพารายได้ของตนเองได้มากขึ้น

๘.๑.๘ สนับสนุนระบบการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการของผู้ว่าราชการจังหวัด ผ่านกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาแบบบูรณาการของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด วางยุทธศาสตร์การพัฒนาและทิศทางพัฒนาพื้นที่ในอนาคตที่สอดคล้องกับแนวนโยบาย ของรัฐบาลเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ศักยภาพของพื้นที่ และความต้องการของประชาชน

๘.๑.๙ สนับสนุนกระบวนการจัดทำแผนชุมชนให้มีประสิทธิภาพ และสามารถเชื่อมโยงกับแผนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและแผนพัฒนาจังหวัด เพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชน

๘.๑.๑๐ ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมทั้งใน ระดับชาติและท้องถิ่น เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติที่บรรลุตามเป้าหมาย รวมทั้งสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารร่วมเสนอ ความเห็น ปัญหาและแนวทางแก้ไข และมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ

๘.๒ กฎหมายและการยุติธรรม

๘.๒.๑ สนับสนุนการดำเนินการทางกฎหมายของหน่วยงานของรัฐในการให้ความเห็น หรือตรวจสอบการตรากฎหมายของรัฐให้เป็นไปโดยถูกต้องตามหลักนิติธรรม จัดให้มีการพัฒนากฎหมายเพื่อปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย เหมาะสมกับการพัฒนาประเทศและเป็นประโยชน์ต่อสังคม

๘.๒.๒ ดูแลให้มีการปฏิบัติและบังคับใช้กฎหมายอย่างถูกต้อง รวดเร็ว เป็นธรรม และทั่วถึง และส่งเสริมการให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่มีผลกระทบต่อประชาชนและภาค ธุรกิจ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน

๘.๒.๓ พัฒนาปรับปรุงกฎหมายและระบบงานยุติธรรมทั้งทางอาญาและทางแพ่งให้เป็นไปตาม หลักนิติธรรม โดยมีจุดมุ่งหมายให้กระบวนการยุติธรรมทางอาญามีประสิทธิภาพและประสิทธิผลใน การนำผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีและลงโทษตามกฎหมาย บนพื้นฐานของการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเข้มแข็ง รวมทั้งการพัฒนากฎหมายและระบบงานยุติธรรมในทางแพ่งและในด้านอื่น ๆ ที่จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมและสิทธิและเสรีภาพอย่างทั่วถึง และเท่าเทียม ทั้งนี้ จะเร่งดำเนินการจัดตั้งองค์กรเพื่อปฏิรูปกฎหมายและองค์กรเพื่อการปฏิรูป กระบวนการยุติธรรม ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

๘.๒.๔ พัฒนากระบวนการยุติธรรมทางเลือกให้มีระบบการอำนวยความยุติธรรมที่มี ประสิทธิภาพและประสิทธิผลควบคู่กระบวนการยุติธรรมกระแสหลักโดยส่งเสริมให้มี การนำหลักความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ และหลักการระงับข้อพิพาททางเลือกอื่นมาใช้ในการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท ทั้งระบบ ทั้งการดำเนินการในชุมชนโดยยังไม่เข้าสู่ระบบยุติธรรมในชั้นตำรวจ อัยการ และศาล โดยผลักดันให้มีกฎหมายกลางที่สามารถจัดระบบและรองรับการดำเนินการอย่างมี ประสิทธิภาพ บูรณาการและสามารถคุ้มครองสิทธิผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้อย่างเหมาะสม

๘.๒.๕ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในกระบวนการยุติธรรมให้มากขึ้น โดยการนำหลักการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนในลักษณะ “หุ้นส่วน” ภายใต้หลักการยุติธรรมชุมชนมาใช้ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมตัดสินใจ และร่วมดำเนินการในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความยุติธรรม ตั้งแต่ชั้นป้องกันอาชญากรรม การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท จนถึงการดูแลผู้กระทำความผิดที่พ้นโทษและกลับสู่ชุมชน โดยให้มีสำนักงานยุติธรรมจังหวัดเป็นองค์กรกลางในการดำเนินการพัฒนากลไกระบบ งานยุติธรรม ยุติธรรมทางเลือก และสร้างแนวทางในการดำเนินงานร่วมกับภาคประชาชน ศูนย์ยุติธรรมชุมชนหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เป็นไปอย่างบูรณาการสามารถอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนได้อย่างมี ประสิทธิภาพ

๘.๒.๖ พัฒนาระบบและวิธีการปฏิบัติในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดที่เป็นเด็กหรือ เยาวชนและผู้ใหญ่ให้มีความหลากหลายและเหมาะสมต่อกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้ผู้กระทำความผิดได้รับโอกาสในการแก้ไข ฟื้นฟู และสามารถกลับตนเป็นพลเมืองดี ไม่หวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำอีก โดยอยู่บนพื้นฐานของสิทธิและเสรีภาพที่ผู้กระทำความผิดพึงได้รับ

๘.๓ ส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารจากทางราชการและสื่อสาธารณะอื่นได้อย่างกว้างขวาง ถูกต้อง เป็นธรรม และรวดเร็ว

ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ

รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐอย่างจริง จัง โดยรัฐบาลขอชี้แจงว่า การกำหนดนโยบายของรัฐบาลที่กราบเรียนมาแล้วนี้จะเป็นแนวทางดำเนินการในระยะ เวลาสามปีตามความเร่งด่วนของการแก้ไขปัญหาของประเทศ รวมทั้งจะเป็นการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามบทบัญญัติในหมวด ๕ ว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

นอกจาก นี้ เพื่อให้รัฐบาลสามารถบริหารราชการแผ่นดินได้ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย และดำเนินนโยบายจนบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ได้ รัฐบาลจะดำเนินการปรับปรุงหรือกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐ พัฒนาระบบการบริหารจัดการ เสนอร่างกฎหมาย ตลอดจนดำเนินการทุกประการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดินให้มี ประสิทธิภาพ และสามารถบรรลุผลในทางปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่การพัฒนาประเทศ โดยถือเป็นนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลนี้ด้วย

ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ

เมื่อการแถลงนโยบายนี้เสร็จสิ้นแล้ว รัฐบาลจะได้เร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรม โดยจัดทำรายละเอียดของแผนปฏิบัติการ ประกอบด้วย แผนการบริหารราชการแผ่นดิน แผนปฏิบัติราชการของส่วนราชการต่าง ๆ และแผนการตรากฎหมายไว้เป็นคู่มือ และแนวทางการทำงานต่อไป

อนึ่ง รัฐบาลขอเรียนว่า รัฐบาลนี้ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุข โดยถือว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นรากฐานสำคัญในการวางระบบการ บริหารประเทศให้เกิดความมั่นคงและสร้างเสริมหลักประชาธิปไตยที่ถูกต้องและ เหมาะสมเป็นที่ยอมรับของชนในชาติ แต่เนื่องจากระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีการเสนอความคิดเห็นที่แตกต่างกันอย่าง หลากหลายในการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และมีข้อเรียกร้องจากหลายฝ่ายให้มีการปรับปรุงรัฐธรรมนูญด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อปฏิรูปการเมืองให้มีความเหมาะสมและแก้ไขปัญหาของประเทศชาติได้ดียิ่ง ขึ้น รัฐบาลตระหนักดีว่ารัฐธรรมนูญสมควรเกิดขึ้นจากบรรยากาศการมีส่วนร่วมของ ประชาชนทั้งประเทศที่จะกำหนดแนวทางให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพสังคมไทยและ เป็นไปตามความต้องการของประชาชน

ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการศึกษาทบทวนรัฐธรรมนูญเป็นไปตามหลักประชาธิปไตยอย่างแท้ จริง รัฐบาลนี้จึงสนับสนุนแนวทางการปฏิรูปการเมืองโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของภาค ประชาชน เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีสิทธิเลือกตัวแทนของประชาชนในรูปแบบสภาร่างรัฐ ธรรมนูญ โดยการสนับสนุนการแก้ไขมาตรา ๒๙๑ ของรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เป็นผู้ทำหน้าที่อิสระในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งประเทศและนำมา พิจารณาเสนอแนะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นการปฏิรูปการเมืองโดยภาคประชาชน และเป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญด้วยความเห็นชอบของประชาชนโดยตรงต่อไป

ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ

รัฐบาลขอให้ความเชื่อมั่นแก่รัฐสภาอันเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ควบคุม การบริหารราชการแผ่นดินว่า จะบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต มีความมุ่งมั่นที่จะบริหารประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้า ทัดเทียมอารยประเทศ สังคมมีความสามัคคีปรองดอง และภาคภูมิใจในความเป็นไทย ทั้งนี้ โดยยึดประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยเป็นที่ตั้งอย่างแท้จริง

ขอบคุณครับ

บทบาทของรัฐบาลในระบบเศรษฐกิจไทยมีอะไรบ้าง

บทบาททางเศรษฐกิจของรัฐบาล มีดังนี้ - การจัดสรรการใช้ทรัพยากรของสังคม - การกระจายรายได้และความมั่งคั่งของสังคม - การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ.
นโยบายและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อบุคคล ได้แก่ ... .
นโยบายและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อกลุ่มบุคคล ได้แก่.

หน้าที่สําคัญของรัฐบาล คืออะไร

๑. ในด้านหลักการของหน้าที่ของรัฐในหมวดนี้ ถือว่า สอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐอันเป็นหลักการสากล ๔ ประการ กล่าวคือ การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายใน การให้บริการและสวัสดิการทางสังคม การพัฒนาประเทศ และ การป้องกันการรุกรานจากภายนอก

หน่วยงานภาครัฐทำหน้าที่อะไรในระบบเศรษฐกิจ

รัฐบาลจะมีบทบาทค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามบทบาทหน้าที่ของหน่วยรัฐบาล พอสรุปได้ดังนี้ 1) เป็นทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และเจ้าของปัจจัยการผลิตในระบบเศรษฐกิจ 2) อ านวยความสะดวกในด้านปัจจัยพื้นฐาน เช่น บริการด้านสาธารณูปโภค (บริการไฟฟ้า น้าประปา โทรศัพท์ฯลฯ) และสาธารณูปการ (การซ่อม สร้าง บารุงถนน ฯลฯ) ให้แก่ ประชาชน 3) จัดหาราย ...

ระบบเศรษฐกิจทุกระบบทําหน้าที่สําคัญในเรื่องใด

ระบบเศรษฐกิจทำหน้าที่แก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ 3 ประการ คือ 1. ตัดสินใจว่า จะผลิตสินค้าหรือบริการอะไรบ้าง และควรผลิตในจำนวนเท่าใด 2. ตัดสินใจว่าในการผลิตสินค้าหรือบริการเหล่านั้นควรจะใช้วิธีการผลิตอย่างไรจึงจะมีประสิทธิภาพสูงสุด และมีต้นทุนต่อหน่วยต่ำสุด

บทบาทของรัฐบาลในระบบเศรษฐกิจไทยมีอะไรบ้าง หน้าที่สําคัญของรัฐบาล คืออะไร หน่วยงานภาครัฐทำหน้าที่อะไรในระบบเศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจทุกระบบทําหน้าที่สําคัญในเรื่องใด การที่รัฐบาลมีบทบาทในการแทรกแซงราคาและควบคุมราคาข้าวนั้น ส่งผลดีต่อใครมากที่สุด เมื่อใดรัฐบาลจึงควรมีบทบาทในกิจกรรมทางเศรษฐกิจในการ ควบคุมราคา บทบาทหน้าที่ของรัฐบาล 10 ข้อ เฉลย บทบาทของรัฐบาลในการพัฒนาประเทศ บทบาทหน้าที่ของรัฐบาลในระบบเศรษฐกิจ ม 3 เฉลยใบงานที่ 3.2 บทบาทและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของรัฐบาล บทบาทและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของรัฐบาลมีอะไรบ้าง จงอธิบายพร้อมยกตัวอย่างประกอบ