ย่อหน้าที่สองของย่อความ

การเขียนย่อความ

          การเขียนย่อความ เป็นการเก็บความเรื่องหรือข้อความที่นักเรียนได้อ่านหรือได้ฟังจากสื่อต่าง ๆ มาเขียน โดยยังคงเนื้อความที่สำคัญและจำเป็นสำหรับเรื่องราวนั้น

          ข้อความเรื่องหนึ่ง ๆ ที่ได้อ่านหรือฟังนั้น ประกอบด้วยใจความและพลความ ใจความหมายถึง เนื้อความสำคัญที่จะขาดไปมิได้ ส่วนพลความ หมายถึง ความปลีกย่อยที่สามารถตัดออกได้ เช่น การยกตัวอย่าง การเปรียบเทียบ การขยายความด้วยวงเล็บ

          ส่วนประกอบของย่อความ ย่อความประกอบด้วยส่วนสำคัญ ๒ ส่วน ได้แก่ ส่วนนำ และส่วนใจความสำคัญของเรื่อง

          - ส่วนนำเป็นแบบขึ้นต้นย่อความเพื่อบอกที่มาของเรื่องให้ผู้อ่านทราบ

          - ส่วนเนื้อเรื่อง เป็นส่วนเนื้อหาที่เรียบเรียงแล้ว มีย่อหน้าเดียว

          ความสำคัญของการย่อความ

          ย่อความมีความจำเป็นในชีวิตประจำวันเพราะจะทำให้การเจรจา การสื่อสารสัมฤทธิ์ผล  ทั้งด้านกิจธุระ  การศึกษาเล่าเรียน  คำให้การ การเขียนบันทึก การประชุม รายงาน  ประกาศ  แจ้งความ   จดหมาย  เรียงความ  เช่น ย่อบันทึกการประชุมทำให้ผู้อื่นได้ทราบสาระสำคัญในการประชุมครั้งนั้น ๆ ใช้เตือนความจำ เช่น จดย่อคำอธิบายของครู จดย่อความรู้จากการฟังและการอ่าน ทำให้ไม่ต้องอ่านทวนซ้ำทั้งเล่ม ใช้ตอบข้อสอบแบบอัตนัย ใช้เล่าเรื่องย่อให้ผู้อื่นฟังเป็นต้น  สรุปอย่างสั้น ๆ ได้ว่า “สะดวกต่อการบันทึก จดจำ และนำไปใช้”

          วิธีการย่อความ
          ๑. อ่านเรื่องอย่างละเอียดตลอดเรื่อง ถ้ามีประโยคหรือข้อความใดที่สงสัย ก็ต้องอ่านทบทวนและตีความให้แตก อย่าปล่อยให้เนื้อความตอนใดผ่านไปโดยที่ยังเข้าใจไม่ชัดเจน
          ๒. เมื่ออ่านจนจบเรื่องจนจำได้และเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดเป็นอย่างดี ให้เขียนบันทึกลำดับเรื่องที่ย่อ โดยไม่อ่านต้นฉบับเดิมเลย และใช้สำนวนของผู้ย่อความเอง
          ๓. นำเรื่องที่บันทึกไว้มาเรียบเรียงให้ต่อเนื่องกัน และทบทวนดูว่า ยังมีความตอนใดที่ยังตกหล่นอยู่อีกหรือไม่ ถ้ามีให้เพื่มเติมจนใจความครบถ้วน
          ๔. ตรวจทานแก้ไขเนื้อความให้ต่อเนื่องกันด้วยภาษาที่กระชับรัดกุม
          ๕. การย่อความนั้นอาจย่อ ๓ ใน ๔ หรือ ๑ ใน ๓ ของต้นเรื่องเดิม แล้วแต่ความต้องการ การย่อความที่ดีนั้นจะต้องมีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับจุดมุ่งหมายของผู้เขียนอย่างครบถ้วน ถูกต้อง อีกทั้งยังต้องเรียบเรียงด้วยภาษาที่กระชับ ไม่มีข้อความที่เป็นการยกตัวอย่างการเปรียบเทียบ การใส่วงเล็บ หรือข้อความในเครื่องหมายคำพูด

          การเขียนแบบขึ้นต้นย่อความสำหรับงานเขียนประเภทต่าง ๆ 

         ๑. งานเขียนประเภทบทร้อยกรองต่าง ๆ เช่น โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย ต้องบอกประเภทของบทร้อยกรอง ชื่อเรื่อง ผู้แต่ง ที่มา ว่ามาจากหนังสืออะไร หน้าใด

         รูปแบบ

          ย่อ.....(ประเภทของร้อยกรอง).......เรื่อง......(ชื่อบทร้อยกรอง).......ของ......(ผู้แต่ง).............

ตอน.....(ชื่อตอน)......จาก.......(ชื่อหนังสือ)........หน้า.......(เลขหน้า)........ความว่า     

          .................(ใจความ)...................................................................................
................................................................................................................................
          ตัวอย่าง

          ย่อ นิทานคำกลอน เรื่อง พระอภัยมณี ของ สุนทรภู่ ตอน พระอภัยมณีหนีผีเสื้อสมุทร จากหนังสือเรื่องพระอภัยมณี หน้า ๑๔๕- ๑๖๐ ความว่า 

          พระอภัยมณีอยู่กับผีเสื้อสมุทรจนมีลูกอยู่ด้วยกัน คือสินสมุทร.......

๒. งานเขียนประเภทร้อยแก้ว เช่น นิทาน ตำนาน บทความ สารคดี ต้องบอก ประเภทของความเรียงร้อยแก้ว ชื่อเรื่อง ผู้แต่ง ชื่อหนังสือ หน้าใด

          รูปแบบ

          ย่อ.....(ประเภทของความเรียงร้อยแก้ว).......เรื่อง......( ชื่อเรื่อง).......ของ.......(ชื่อผู้แต่ง).....
จาก.......(ชื่อหนังสือ)........หน้า.......(เลขหน้า)........ความว่า 

          .................(ใจความ)...................................................................................

................................................................................................................................

          ตัวอย่าง

          ย่อ บทความ เรื่อง กรุงเทพฯ เมืองสีเขียว ปลอดขยะ ของ สุนิรินธน์ จิระตรัยภพ จากเนชั่น สุดสัปดาห์  ปีที่  ๑๗ ฉบับที่ ๘๕๙ วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ หน้า ๑๕ ความว่า

          กรุงเทพเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย และเป็นเมืองที่ติดอันดับน่าท่องเที่ยว....................

          ๓. งานเขียนประเภท ประกาศ แถลงการณ์ กำหนดการณ์ ระเบียบคำสั่ง ให้บอกชื่อประเภท ชื่อเรื่อง ผู้แต่ง วัน เดือน ปี

         รูปแบบ

          ย่อ.....(ประเภทของงานเขียน).......เรื่อง......( ชื่อเรื่อง)..............ของ.......(ชื่อผู้แต่ง)........
วัน เดือน ปี ............. ความว่า

           .................(ใจความ)..............................................................................

.............................................................................................................................

          ย่อ กำหนดการ เรื่อง พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ของ สำนักพระราชวัง (วัน เดือน ปี) ระหว่างวัน  ที่ ๑๔-๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ความว่า

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีเสด็จพระราชดำเนินยังพิธีเพื่อ..............

๔. งานเขียนประเภท พระราชดำรัส พระบรมราโชวาท โอวาท ปาฐกถา สุนทรพจน์ คำปราศัย ให้ระบุว่าพระราชดำรัส พระบรมราโชวาท โอวาท ฯลฯ เป็นของใคร แสดงแก่ใคร ชื่อเรื่อง โอกาส สถานที่ วัน เดือน ปี

รูปแบบ

ย่อ.....(ประเภทของงานเขียน)....... ของ.......(ชื่อผู้แต่ง)........ พระราชทานแก่.................
เรื่อง......( ชื่อเรื่อง)..............ในโอกาส............................เมื่อวันที่............. ความว่า

          .................(ใจความ).................................................................

..........................................................................................................................

ตัวอย่าง

         ย่อ พระราโชวาท ของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาส พิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประจำปีการศึกษา ๒๕๔๙  ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตองครักษ์ จังหวัดนครนายก เมื่อ วันจันทร์  ที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๔๙ ความว่า

         ขอให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาพึงตระหนักไว้ว่าทุกท่านเป็นผู้ซึ่ง..............

๕. งานเขียนประเภทจดหมาย ให้ระบุว่าเป็นจดหมายของใคร ถึงใคร ชื่อเรื่อง วัน เดือน ปี

รูปแบบ

           

ย่อจดหมายของ.....(ผู้เขียน).......ถึง......( ผู้รับ).......เรื่อง.......(ชื่อเรื่อง)........ วัน เดือน ปี ..........
ความว่า
          .................(ใจความ)................................................................................
...............................................................................................................

           ตัวอย่าง

           ย่อจดหมายของ นายแพทย์ประเวศ วะสี ถึง บรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชน เรื่อง การดำรงชีวิตตามแนวพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียง วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ ความว่า

         พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระอัฉริยภาพและทรงห่วงใยพสกนิกร..............

           ๖. หนังสือราชการ ให้ระบุว่า เป็นหนังสือราชการของใคร ถึงใคร ชื่อเรื่อง เลขที่หนังสือ วัน เดือน ปี

          รูปแบบ

          ย่อหนังสือราชการของ.........(ผู้เขียน).......ถึง......( ผู้รับ)......เรื่อง.......(ชื่อเรื่อง)........
เลขที่......(เลขที่หนังสือ)...... วัน เดือน ปี ............. ความว่า

        ................(ใจความ)....................................................................
...........................................................................................................................

          ตัวอย่าง

          ย่อหนังสือราชการของ กระทรวงศึกษาธิการ ถึง มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เรื่อง ขอเชิญสัมมนาเรื่อง “แนวโน้มการพัฒนามหาวิทยาลัยในอีก ๒๐ ปีข้างหน้า” เลขที่ ศธ ๒๕๕๑/๒๓๔ ลงวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ ความว่า

         จากการพัฒนาทางด้านการศึกษาเพื่อก้าวเข้าสู่ความเป็นสากล..............

เทคนิคในการสังเกต

เนื้อหาของบทความไม่ว่าจะเป็นในบทพูดหรือบทเขียน แบ่งออกเป็น ๓ ลักษณะ  ดังนี้ 

         ๑. ข้อเท็จจริง คือ เรื่องราวหรือเหตุการณ์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทำอะไร  ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร มีสภาพ มีลักษณะ มีขนาด มีปริมาณ ที่สามารถพิสูจน์ได้ เช่น   “นายวิโรจน์  ประพฤติดี สอบได้ที่ ๑”

         ๒. ข้อคิดเห็น  คือ ข้อความแสดงความเชื่อ หรือแสดงแนวคิด หรือแสดงความรู้สึกที่ผู้กล่าวมีต่อบุคคลใด หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  ไม่อาจพิสูจน์ได้ เพราะเป็นเรื่องของความรู้สึกนึกคิดของผู้พูดหรือผู้เขียน เช่น “นายวิโรจน์ ประพฤติดี คงขยันเรียน”

         ๓. ข้อความแสดงอารมณ์ความรู้สึก เป็นข้อความที่ทำให้ผู้ฟังหรือผู้อ่านรู้ได้ว่าผู้ส่งสารมีอารมณ์หรือความรู้สึกอย่างไร เช่น เศร้าโศก เหงา ดีใจ ฯลฯ เช่น “ผมสะท้อนใจทุกครั้งที่เอาผลการเรียนไปให้คุณแม่ ผมไม่เคยทำตามที่ท่านหวังได้เลยสักครั้ง”

ตัวอย่างย่อความ

เรื่องพ่อค้า ๒ คน

           พ่อค้าคนหนึ่ง มีความจำเป็นต้องเดินทางไปค้าขายยังแดนไกล  เขามีความเป็นห่วงในทรัพย์สินและบ้านเรือนของเขาเป็นอันมาก แต่ก็จำเป็นที่จะต้องไป  เขามีเพื่อนบ้านเรือนเคียงอยู่คนหนึ่งซึ่งได้คบกันมาเป็นเวลานาน  เพราะมีฐานะเป็นพ่อค้าเช่นเดียวกันกับเขาในครั้งนี้เนื่องจากเขาจะเดินทางเป็นเวลานานมาก  จึงคิดว่าควรจะฝากของมีค่าของเขาไว้เสียกับเพื่อนบ้านเพื่อจะได้เป็นที่ปลอดภัยจากการถูกขโมย  คิดดังนั้นแล้วเขาก็นำเงินแท่งหนักถึงหนึ่งร้อยกิโลกรัม  บรรจุใส่ถุงผ้าอย่างดีนำไปฝากเพื่อนบ้านตามที่คิดไว้  แล้วก็ออกเดินทางไปค้าขายตามความตั้งใจเดิม

          หลังจากวันเดินทางหนึ่งเดือนพอดี  พ่อค้าผู้นั้นก็ได้กลับมาถึงบ้านเดิม  เขารีบตรงไปหาเพื่อนบ้าน และออกปากขอเงินแท่งที่เขาได้ฝากไว้  เพื่อนบ้านเขาร้องว่า   “เงินทองเพื่อนนะหรือ ?  อนิจจา.... เราเสียใจจริงๆ  ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกันดี  หนูมันกินเสียจนหมดแล้วซี  เราดุด่าว่าคนของเรามากมาย  เพราะไม่ค่อยระวังรักษาทรัพย์สินที่เพื่อนนำมาฝากไว้  แต่ก็นั่นแหละอะไรจะเกิดขึ้นกับใครก็ได้ทุกเวลาไม่ใช่หรือ? ”  พ่อค้าผู้นั้นแม้จะรู้สึกประหลาดใจเต็มทีแต่ก็ทำเป็นซื่อ  เชื่อถือในเรื่องโกหกที่เขารับฟังจากเพื่อนบ้าน  แต่ในใจของเขานั้นครุ่นคิดหาอุบายที่จะนำเงินแท่งทั้งหมดของเขาคืนมาให้ได้

            หลายวันต่อมาพ่อค้าผู้นั้นบังเอิญได้พบกับบุตรชายอายุประมาณ  ๑๐ ขวบ  ของเพื่อนบ้านซึ่งโกงเงินของเขาไป  จึงได้พาตัวเด็กไปซ่อนไว้ที่บ้านของเขาเองโดยไม่มีใครรู้เห็น  แล้วตัวเขาเองก็ออกไปเชิญเพื่อนบ้านคนนั้นให้ไปรับประทานอาหารเย็นร่วมกับเขา  แต่ชายพ่อค้าพ่อของเด็กรีบบอกว่า  “ขอโทษด้วยเถิด ขอให้ฉันได้ขอโทษในการที่ต้องปฏิเสธความใจดีของเพื่อนในครั้งนี้สักครั้งเถิด”  ชายเพื่อนบ้านกล่าวด้วยน้ำตานองหน้า  ส่วนพ่อค้าแกล้งทำหน้าฉงนอย่างไม่เข้าใจ  ชายเพื่อนบ้านจึงเล่าให้ฟังต่อไปว่า  “ฉันเห็นจะหมดความสุขไปชั่วชีวิตนี้เสียแล้ว  ฉันมีลูกเพียงคนเดียวเท่านั้นเอง  ฉันรักเขายิ่งกว่าตัวฉันเองเสียอีก  แต่ว่าโธ่เอ๋ย! อนิจจา... ฉันคงไม่เห็นหน้าเขาอีกแล้ว  เขาหายไปไม่รู้ว่าใครมาลักพาเขาไปเสียแล้ว”  กล่าวจบเพื่อนบ้านของพ่อค้าก็ปล่อยโฮออกมาอีกโดยไม่ละอายเลยแม้สักนิด  เมื่อเห็นดังนั้นพ่อค้าจึงเอ่ยขึ้นว่า 

            “ก็เรื่องนี่แหละที่เราชวนเพื่อนมากินอาหารเย็นด้วยกัน  เพื่อจะได้ปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรดี  เพราะเมื่อวานนี้ตอนตะวันตกดิน  เราได้เห็นนกเค้าแมวตัวหนึ่งถาลงมาโฉบเอาลูกชายของท่านบินหายไปในอากาศ  เราช่วยเขาไว้ไม่ทัน  เพราะมันมืดมองไม่เห็นถนัดว่า  นกตัวนั้นมันพาลูกชายของเพื่อนบินไปทางไหน ? ”

              ชายผู้เป็นพ่อของเด็กที่หายไปพูดขึ้นว่า “เพื่อนจะให้เราเชื่อได้อย่างไรกัน?  นกเค้าแมวตัวเล็กนิดเดียวเท่านั้นเองจะสามารถโฉบเอาลูกของเราซึ่งมีน้ำหนักมากมายอย่างนั้นไปในอากาศได้อย่างไรกัน?  เพื่อนเอาเรื่องอะไรมาเล่าให้เราฟังกันนี่? ความจริงแล้วลูกเราน่าจะเป็นฝ่ายที่จับนกเค้าแมวตัวนั้นมาขังไว้มากกว่า  ที่จะถูกมันโฉบแล้วพาหายไปในอากาศอย่างที่เพื่อนบอกให้ฟัง”  ชายพ่อค้าตอบว่า  “อันนี้เราก็ไม่รู้จะบอกเพื่อนอย่างไรดี  แต่มันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ  เพราะเราก็ได้เห็นมากับตาของเราเอง  แต่ก็รู้สึกว่าไม่น่าสงสัยอะไรเพราะมันน่าจะเป็นไปได้ที่นกเค้าแมวตัวเล็กๆ โฉบเอาลูกของเพื่อนไปได้  เพราะหนูตัวเล็กๆ ก็ยังสามารถกินเงินแท่งซึ่งมีน้ำหนักตั้งร้อยกิโลไปได้อย่างสบายๆ นี่นา”  พ่อของเด็กเริ่มเข้าใจว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร  จึงได้รีบวิ่งกลับไปที่บ้านนำเอาเงินแท่งทั้งหมดมาคืนให้พ่อค้าไป  แล้วเขาก็รับตัวลูกชายคืนไป

                                “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  อุบายของเราอาจทำลายตัวเราเองได้เช่นเดียวกัน”

                                      (คัดจากนิทานอีสป  รวบรวมโดย วิณณา หน้า ๗๖ – ๘๐)

 เมื่ออ่านแล้วอาจพิจารณาได้ดังนี้

                ย่อหน้าที่ ๑ 

ประโยคใจความสำคัญ        -พ่อค้าคนหนึ่งต้องเดินทางไปค้าขายแดนไกล  เขาจึงเอาเงินแท่งหนักหนึ่งร้อย กิโลกรัมไปฝากเพื่อน

ประโยคพลความที่เด่น       -เพื่อนอยู่บ้านใกล้กัน  สนิทสนมกันมานาน

                ย่อหน้าที่ ๒

ประโยคใจความสำคัญ         -๑ หนึ่งเดือนต่อมาเขากลับบ้านและไปทวงเงินแท่งคืน เพื่อนไม่มีจะคืน  

                              -๒ พ่อค้าทำเป็นเชื่อคำพูด  และคิดอุบายในใจ              

ประโยคพลความที่เด่น          -๑ เพื่อนบอกว่าหนูกัดกินเงินหมดแล้ว สุดวิสัยที่จะช่วยได้

                                -๒ พ่อค้าคิดอุบายที่จะเอาเงินคืนมา

                ย่อหน้าที่ ๓

ประโยคใจความสำคัญ       -๑ หลายวันต่อมาพ่อค้าจับลูกเพื่อนไปขังไว้               

                                -๒ พ่อค้าไปเชิญเพื่อนมารับประทานอาหารด้วยกัน

                                -๓ เพื่อนปฏิเสธ

                                 -๔ พ่อค้าบอกว่าเห็นนกเค้าแมวคาบลูกชายเพื่อนไป

ประโยคพลความที่เด่น        -๑ พ่อค้าพบลูกเพื่อนโดยบังเอิญจึงจับไปขังไว้       

                                 -๒ เพื่อนกำลังเศร้าโศกที่ลูกหายไป

                ย่อหน้าที่ ๔

ประโยคใจความสำคัญ       -๑ เพื่อนไม่เชื่อพ่อค้า                              

                                 -๒ พ่อค้าบอกว่าเห็นมากับตา               

ประโยคพลความที่เด่น        -๑ เพื่อนไม่เชื่อว่านกเค้าแมวจะคาบลูกชายได้    

                                 -๒ พ่อค้าเปรียบเทียบว่าหนูตัวเล็กๆ ยังกินเงินแท่งได้

ย่อความได้ ดังนี้

               ย่อนิทาน เรื่องพ่อค้าสองคน  ของอีสป จากหนังสือนิทานอีสป  รวบรวมโดยวิณณา หน้า ๗๖- ๘๐  ความว่า

                พ่อค้าคนหนึ่งต้องเดินทางไปค้าขายยังแดนไกล  เขาจึงเอาเงินแท่งหนักหนึ่งร้อยกิโลกรัมไปฝากไว้กับเพื่อนพ่อค้าซึ่งอยู่บ้านใกล้กันและสนิทสนมกันมานาน  หลังจากนั้นหนึ่งเดือนเขากลับมาแล้วรีบไปหาเพื่อนเพื่อรับเงินแท่งที่ฝากไว้คืน  เพื่อนบ้านบอกว่าหนูกัดกินเงินของเขาหมดแล้ว  สุดวิสัยที่จะช่วยได้ พ่อค้าทราบว่าเพื่อนของเขาพูดเท็จจึงคิดอุบายที่จะเอาเงินคืนมา  หลายวันต่อมาเขาได้พาบุตรชายของเพื่อนไปซ่อนไว้ที่บ้านของเขา  แล้วไปเชิญเพื่อนบ้านให้มารับประทานอาหารกับเขา  เพื่อนบ้านปฏิเสธเพราะกำลังมีความทุกข์ที่ลูกชายหายไป  พ่อค้าจึงบอกว่าเขาเห็นนกเค้าแมวคาบลูกชายของเพื่อนไป แต่เขาช่วยไว้ไม่ทัน  เพื่อนของเขาไม่เชื่อว่านกเค้าแมวคาบลูกชายเขาได้  พ่อค้าบอกว่าไม่น่าแปลกใจเลยเพราะหนูตัวเล็กยังกัดกินเงินแท่งได้  เพื่อนเขาจึงเข้าใจและรีบวิ่งกลับไปบ้านนำเงินแท่งทั้งหมดมาคืน  และรับตัวลูกชายของตนกลับไป