ระบบ งบประมาณ ของ ประเทศไทย ในปัจจุบัน

ผ่านพ้นไปแล้วหลังเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมสภาฯ ลงมติรับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2566 วาระที่ 1 งบประมาณก้อนสุดท้ายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ในปีหน้า โดยร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ดังกล่าวมีวงเงิน 3.18 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 17.79% ของ GDP เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปัจจุบันประมาณ 2.74% และรัฐบาลได้ประมาณการรายได้สุทธิไว้ที่ 2.49 ล้านล้านบาท คิดเป็น 13.91% ของ GDP รวมถึงกำหนดวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอยู่ที่ 695,000 ล้านบาทพร้อมกับระบุว่าการขาดดุลงบประมาณจำนวนดังกล่าวยังอยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อวินัยและฐานะทางการคลังของประเทศในระยะยาว

แม้งบประมาณประเทศดูจะเป็นเรื่องซับซ้อน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการจัดทำงบประมาณส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย และสะท้อนให้เห็นอนาคตของเศรษฐกิจไทยท่ามกลางวิกฤตสุขภาพและเศรษฐกิจ

101 ชวน รศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งหลักคิดเอกซเรย์งบประมาณประเทศไทย ตอบคำถามถึงโจทย์ใหญ่ความท้าทายของระบบงบประมาณ และแนวทางในการผ่าตัดระบบงบประมาณไทย

อ่านภาพใหญ่การคลังไทย

ก่อนจะไปเจาะลึกถึงงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 อธิภัทรฉายภาพใหญ่ให้เห็นถึงความท้าทายของภาคการคลังไทยที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการติดกับดักรายได้ปานกลาง สังคมสูงวัย ความเหลื่อมล้ำที่หลายคนบอกว่าจะเกิดภาวะแก่ก่อนรวย และการดำเนินนโยบายขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลมาต่อเนื่องยาวนาน เมื่อเจอวิกฤตทางสุขภาพอย่างโควิด-19 จึงยิ่งซ้ำเติมภาคการคลัง และทำให้ประเทศไทยในปัจจุบันต้องเผชิญภาระการคลังที่เพิ่มมากขึ้น กล่าวคือตัวเลขหนี้สาธารณะเพิ่มจาก 40% ต่อ GDP เป็น 60% ต่อ GDP หลังการกู้เงินตามพระราชกำหนด 2 ฉบับ 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจปัญหาโควิด-19

“ถ้าถามว่าเมื่อมองงบประมาณประเทศไทยในปัจจุบัน แล้วเห็นหน้าตาของประเทศไทยอย่างไร ผมก็อาจจะมองว่าเป็นหน้าตาของคนที่มีหนี้ค่อนข้างเยอะ ในขณะเดียวกันเขาก็กำลังจะเข้าสู่วัยเกษียณ และยังไม่แน่ใจว่าจะหารายได้ต่อไปในอนาคตยังไง” อธิภัทรกล่าว

เพิ่มเพดานหนี้สาธารณะอย่างอิสระโดยรัฐ?

ในระหว่างบทสนทนาได้มีการเอ่ยถึง ‘ความยั่งยืนทางการคลัง’ อันหมายถึงรายได้และรายจ่ายของภาครัฐมีลักษณะสมดุลกับระดับการก่อหนี้สาธารณะอยู่บ่อยครั้ง อย่างไรก็ดีอธิภัทรสะท้อนภาพทางการคลังของประเทศไทยว่ามีรายได้ของประเทศลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องและรัฐบาลมีการดำเนินนโยบายขาดดุลงบประมาณ อธิภัทรให้ข้อมูลว่าการจะพิจารณาว่ารัฐบาลมีวินัยทางการคลังหรือไม่ ส่วนใหญ่จะพิจารณาจากพื้นที่ทางการคลัง (fiscal space) ซึ่งหมายถึงส่วนต่างระหว่างหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่เกิดขึ้นจริงเปรียบเทียบกับเพดานหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่ถูกคำนวณขึ้นว่าประเทศไทยควรจะอยู่ระดับเท่าใด โดย IMF กำหนดให้ประเทศไทยอยู่ที่ 60% ต่อ GDP

ในอดีตประเทศไทยมีหนี้สาธารณะ 40% ต่อ GDP ทำให้มีพื้นที่ทางการคลังอยู่ที่ประมาณ 20% ต่อ GDP ซึ่งถือว่ามากพอสมควรและตัวเลขดังกล่าวทำให้มั่นใจได้ว่ารัฐบาลมีวินัยทางการคลัง เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ประเทศไทยยังมีเบาะรองรับทำให้ไม่เจ็บตัว แต่ความเชื่อดังกล่าวได้เปลี่ยนไป เมื่อวิกฤตโควิด-19 ทำให้ประเทศไทยมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็น 60% ต่อ GDP ภายในเวลาไม่กี่เดือน และส่งผลต่อความหมายของพื้นที่ทางการคลังต่างจากเดิม เมื่อรัฐบาลขยับเพดานหนี้สาธารณะของประเทศไทยขึ้นตามมติรัฐบาลไทย โดยมีการปรับเพดานหนี้สาธารณะจากเดิม 60% ต่อ GDP เป็น 70% ต่อ GDP อธิภัทรให้ความเห็นว่าการปรับตัวเลขดังกล่าวทำให้เพดานหนี้สาธารณะที่เคยเป็นเครื่องมือในการพิจารณาเรื่องวินัยทางการคลังของรัฐถูกลดทอนความสำคัญลงมา ซึ่งนอกจากจะส่งผลต่อกรอบวินัยทางการเงินการคลังที่เดิมออกแบบในบริบทที่มีพื้นที่ทางการคลังมาก ขณะเดียวกันยังส่งผลต่อนักลงทุนต่างประเทศที่เคยเชื่อมั่นในพื้นที่ทางการคลังก็ต้องพิจารณาตัวชี้วัดอื่นในการพิจารณาลงทุนในประเทศไทย

เปิดกระเป๋ารายได้ของรัฐบาล

นอกจากหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงมากขึ้น อธิภัทรยังกล่าวถึงความท้าทายของการคลังไทยที่เป็นโจทย์ใหญ่อย่างรายได้ของรัฐที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนโควิด-19 จากข้อมูลพบว่ารายได้ของรัฐบาลไทยมีแนวโน้มลดลงและไม่ได้อยู่ในระดับที่สูงมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มระดับพัฒนาเดียวกัน กล่าวคือสัดส่วนรายได้ภาษีของรัฐต่อ GDP (tax revenue to GDP) ในช่วง 2011-2012 อยู่ที่ประมาณ 15.7%-15.8% และลดลงต่อเนื่องโดยในปี 2019 ก่อนเกิดวิกฤตสุขภาพสัดส่วนรายได้ภาษีของรัฐต่อ GDP อยู่ที่ 14%

นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบรายได้ภาษีของรัฐต่อ GDP กับกลุ่มประเทศที่มีระดับพัฒนาใกล้เคียงกัน ข้อมูลจากธนาคารโลกชี้ว่ารายได้ภาษีของรัฐต่อ GDP ของประเทศไทยอยู่ที่ 16.1% ต่ำกว่าประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง (upper middle-income) และประเทศรายได้สูง (high-income) ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสะท้อนถึงมีความท้าทายในแง่ของการหารายได้เข้ารัฐ และอธิภัทรให้ความเห็นว่าเป็นหนึ่งในความท้าทายสำคัญทางการคลังที่จะส่งผลการใช้จ่ายงบประมาณเช่นกัน

หากพิจารณาถึงแนวโน้มลดลงของการจัดเก็บภาษีโดยรัฐ หลายคนมองว่ามีสาเหตุมาจากเศรษฐกิจนอกระบบที่คนไทยจำนวนมากไม่ได้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อธิภัทรให้ความเห็นว่าส่วนหนึ่งถูกต้อง เนื่องจากจำนวนประชากรที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ปัจจุบันมีเพียงประมาณ 4 ล้านคนหรือคิดเป็น 10% ของกำลังแรงงานทั้งประเทศ ตัวเลขดังกล่าวถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก แต่นอกจากปัญหาช่องว่างของการปฏิบัติทางภาษีให้ถูกต้อง (compliance gap) ดังกล่าวแล้ว เขายังพบว่าประเทศไทยยังมีช่องว่างเชิงนโยบาย (policy gap) ที่ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษี

อธิภัทรฉายภาพปัญหาผ่านข้อมูลการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษีในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีเพียงปี 1992 รัฐบาลมีการเริ่มใช้ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (vat) ซึ่งเป็นลักษณะการเพิ่มการจัดเก็บภาษี เพื่อหารายได้เข้าสู่รัฐบาล แต่การเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ตลอด 30 ปีที่ผ่านมาล้วนแล้วแต่เป็นการลดอัตราภาษีลง ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างภาษีรายได้บุคคลธรรมดา ทั้งในรูปแบบการลดอัตราภาษีลงหรือขยายฐานรายได้สุทธิ เพื่อยกเว้นภาษีรายได้บุคคลธรรมดา การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น เริ่มลดหย่อนภาษีให้กับผู้ซื้อกองทุน LTF, เริ่มให้สิทธิประโยชน์ SMEs ถาวร เป็นต้น

จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษีดังกล่าวจึงไม่น่าแปลกใจที่แนวโน้มการจัดเก็บภาษีของประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้ประเทศไทยอยู่ในช่วงการเติบโตทางเศรษฐกิจก็ตาม อย่างไรก็ดีรัฐบาลส่วนใหญ่มักจะไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีในลักษณะที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องการรักษาฐานคะแนนเสียง

ในช่วงท้ายอธิภัทรได้มี 3 ข้อเสนอในการจัดเก็บภาษีรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มความยั่งยืนทางการคลัง ได้แก่

1. การเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ปัจจุบันภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ค่อนข้างต่ำหากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีระดับ GDP ต่อประชากรของประเทศใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ดีแม้เป็นแนวทางที่ง่ายที่สุด แต่มีความท้าทายเนื่องจากเป็นภาษีถดถอย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีรายได้น้อยและผู้ที่มีรายได้ปานกลางที่ต้องเสียภาษีในสัดส่วนต่อรายได้สูงกว่าคนรายได้สูง

2. การแก้ไขช่องว่างเชิงนโยบาย (policy gap) ทั้งในภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยเฉพาะในด้านภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ภาครัฐให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุน ซึ่งในอนาคตภาครัฐจำเป็นต้องปรับวิธีคิดให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากทั่วโลกมีการบรรลุข้อตกลงในการการกำหนดภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำของโลก (global minimum tax – GMT) ที่อัตรา 15% เพื่อลดปัญหาการหลีกเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่หันมาลงทุนประเทศที่ภาษีต่ำ หากประเทศไทยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อดึงดูดการลงทุนต่างชาติ แต่ทำให้บริษัทข้ามชาติจ่ายภาษีไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำก็ส่งผลให้บริษัทดังกล่าวต้องไปจ่ายภาษีเพิ่มในประเทศแม่ นอกจากจะทำให้สิทธิประโยชน์ BOI มีความเสี่ยงที่จะสูญเปล่า และยังทำให้รัฐเสียโอกาสในการจัดเก็บภาษีเพื่อพัฒนาประเทศ

3. การเก็บภาษีรายได้จากทุน และการเก็บภาษีกับผู้ที่มีรายได้สูงในประเทศ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก อธิภัทรให้ความเห็นว่าน่าจะมีบทบาทมากขึ้นและควรจะทำมากกว่าการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มที่เป็นยาแรงส่งผลกระทบต่อคนในสังคมค่อนข้างมาก

ส่องงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลไทย

หลังจากพิจารณาความท้าทายทางการคลังที่มีอยู่เดิมแล้ว อธิภัทรกล่าวว่าในการพิจารณางบประมาณของภาครัฐมักจะพิจารณาใน 2 มิติสำคัญด้วยกัน ได้แก่ การจัดสรรงบ (allocation) โดยพิจารณาถึงความสอดคล้องกับทิศทางของประเทศและความยั่งยืนทางการคลัง และความรับผิดชอบของรัฐ  (accountability) ที่สะท้อนความโปร่งใสในการจัดทำงบประมาณ

สำหรับมิติการจัดสรรงบประมาณ อธิภัทรให้ความเห็นว่าการดำเนินนโยบายการคลังของรัฐบาลจำเป็นต้องสอดรับกับความท้าทายทางการคลังที่เกิดขึ้นส่งผลให้รายจ่ายในงบประมาณส่วนหนึ่งจะไม่สามารถลดทอนลงได้ เช่น ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการ, การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อดึงประเทศออกจากกับดักรายได้ปานกลาง, ความจำเป็นในการคงค่าใช้จ่ายสาธารณสุข เพื่อตอบรับกับสังคมสูงวัย เป็นต้น

อีกทั้งเมื่อพิจารณางบประมาณปี 2566 อธิภัทรได้สะท้อนความกังวลถึงรายจ่ายทางการคลังซ่อนเร้น และการจัดสรรงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรที่มีสัดส่วนค่อนข้างสูงคิดเป็น 40.3% ของงบประมาณทั้งหมด โดยตัวเลข 24.2% เป็นงบประมาณรายจ่ายบุคลากร 0.7% ปรากฏในเงินอุดหนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และ 15.4% ปรากฏในงบกลาง ซึ่งตัวเลขดังกล่าวมีแนวโน้มสูงขึ้นเมื่อเข้าสู่สังคมสูงวัย

นอกจากนี้เมื่อพิจารณาลงรายละเอียดในงบกลางพบว่าในช่วง 10 ปีย้อนหลัง ตั้งแต่ปี 2557-2566 งบกลางที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 7% ต่อปี โดยในปีงบประมาณ 2566 งบกลางเกือบ 80% ของประมาณทั้งหมดเป็นงบที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรทั้งจากเบี้ยบำเหน็จ บำนาญ (54.7%), ค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ (12.9%) และงบประมาณกันสำรองข้าราชการ (12.9%)

อธิภัทรเสนอว่างบที่เกี่ยวกับข้าราชการบางส่วนอาจไม่จำเป็นต้องอยู่ในงบกลาง แต่สามารถจัดให้อยู่ในรายจ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรโดยตรง เพื่อลดความเสี่ยงทางการคลัง เนื่องจากรายจ่ายหลายรายการไม่สามารถกำหนดตัวเลขงบประมาณได้อย่างชัดเจน เช่น ค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ ค่าบำเหน็จบำนาญ เป็นต้น พร้อมเสนอถึงการปฏิรูปราชการผ่านการปรับเพิ่มค่าตอบแทนให้สูงขึ้นเทียบเท่ากับเอกชน ดึงดูดให้คนมีความสามารถได้เข้ามาทำงานราชการ เพื่อพัฒนาระบบราชการให้มีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันลดสวัสดิการของข้าราชการที่จะมีผลกระทบต่อความเสี่ยงทางการคลังในอนาคต

นอกจากนี้อธิภัทรยังให้ความเห็นถึงประเด็นวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการจัดสรรงบประมาณที่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดว่าเปรียบเทียบค่อนข้างยาก เนื่องจากความเหลื่อมล้ำในแง่มิติพื้นที่ถูกบิดเบือนด้วยการรวมศูนย์อำนาจในแง่การดำเนินนโยบาย รวมไปถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีหน่วยงานค่อนข้างเยอะ และบางโครงการแม้จะมีการจัดสรรงบประมาณให้กับกรุงเทพมหานคร แต่พื้นที่ต่างจังหวัดใกล้เคียงก็ได้รับประโยชน์ อย่างไรก็ดีสิ่งที่อธิภัทรคาดว่าประชาชนอยากจะเห็นในอนาคตคือการกระจายอำนาจไปให้ท้องถิ่นมากขึ้น โดยเฉพาะอิสระทางการคลังของท้องถิ่น

ผ่าตัดงบประมาณไทย-เพิ่มความโปร่งใสของงบประมาณภาครัฐ

สำหรับมิติความรับผิดชอบของรัฐ (accountability) เป็นหนึ่งตัวชี้วัดที่หลายคนให้ความสนใจในการพิจารณางบประมาณ อธิภัทรให้ข้อมูลว่าประเทศไทยมีคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลวินัยทางการเงินการคลังของรัฐบาลผ่านการกำหนดกฎการคลัง (fiscal rules) ซึ่งนำมาสู่กรอบวินัยการเงินการคลังในการช่วยออกแบบจัดทำงบประมาณ เช่น ระบุสัดส่วนงบลงทุนต่องบประมาณทั้งหมดต้องไม่น้อยกว่า 20% และต้องไม่น้อยกว่าวงเงินขาดดุลทั้งหมด เป็นต้น

อย่างไรก็ดีอธิภัทรชี้ถึงความกังวลที่ทำให้สาธารณชนอาจจะขาดความเชื่อมั่นในระบบการตรวจสอบวินัยทางการคลังของภาครัฐ เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและข้าราชการเป็นคณะกรรมการ เมื่อผู้ตรวจสอบวินัยทางการเงินการคลังและผู้ถูกตรวจสอบเป็นกลุ่มคนเดียวกันจึงอาจจะส่งผลต่อการตรวจสอบถ่วงดุล โดยเขาหยิบยกตัวอย่างในประเด็นการชดเชยภาระการคลังจากมาตรการกึ่งการคลังของรัฐบาล กล่าวคือรัฐบาลให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ดำเนินการตามมาตรการของภาครัฐ เช่น การประกันราคาพืชผลทางการเกษตรหรือการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับเกษตรกร และเมื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจขาดทุนจึงมาขอรับการชดเชยจากรัฐบาลทีหลัง ซึ่งในอดีตมีการกำหนดสัดส่วนงบประมาณต้องไม่เกิน 30% ของงบประมาณทั้งหมด แต่ในปีที่แล้วรัฐบาลขอขยายสัดส่วนเพิ่มเป็น 35% ของงบประมาณทั้งหมดและในปีนี้มีแนวโน้มขยายเพิ่มอีกสะท้อนให้เห็นว่าภาครัฐสามารถขยับตัวเลขได้โดยไม่มีหน่วยงานที่มาถ่วงดุล แตกต่างจากประเทศอื่นที่มีหน่วยงานอิสระที่สามารถตรวจสอบการดำเนินนโยบายอย่างเข้มแข็ง ทั้งการตรวจสอบประสิทธิผลของมาตรการของภาครัฐว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์และตัวชี้วัดหรือไม่ และการวิเคราะห์คาดการณ์ผลกระทบจากการดำเนินนโยบายของภาครัฐเพื่อนำเสนอข้อมูลให้กับสาธารณชนบนสมมติฐานที่มีพื้นฐานความเป็นจริง ปราศจากอิทธิพลทางการเมือง

การผ่าตัดระบบงบประมาณไทยภายใต้ความเห็นของอธิภัทรจึงมีเป้าหมายให้ประชาชนเจ้าของภาษีได้มีความสบายใจว่าเงินภาษีได้ถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้

1. การออกแบบกรอบวินัยทางการเงินการคลังและกฎการคลังที่เหมาะสมกับทิศทางการพัฒนาประเทศและความยั่งยืนทางการคลัง เนื่องจากเดิมทีกรอบวินัยการเงินการคลังถูกออกแบบมาในระบบที่มีพื้นที่ทางการคลังอยู่มากและพึ่งพาเพดานหนี้สาธารณะเป็นตัวแปรควบคุมทางการคลัง (fiscal anchor) ขณะที่ปัจจุบันสถานการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว

2. ก่อตั้งสถาบันการคลังอิสระ (independent fiscal institutions) เพื่อทำหน้าที่ถ่วงดุลและตรวจสอบการดำเนินนโยบายทางการคลังของภาครัฐ เพื่อทำให้มั่นใจว่ารัฐบาลมีความรับผิดชอบของรัฐ (accountability) ขณะเดียวกันต้องไม่จำกัดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมากเกินไป เนื่องจากรัฐบาลมีอำนาจจากประชาชนในการจัดเก็บภาษีและใช้งบประมาณ ซึ่งรูปแบบของสถาบันการคลังอิสระก็อาจจะแตกต่างกันไปตามบริบททางการเมืองของประเทศ เช่น ในสหรัฐอเมริกามีสำนักงานวิเคราะห์และติดตามการใช้งบประมาณแห่งรัฐสภา (Congress Budget Office – CBO) อันเป็นหน่วยงานอิสระนี้ผูกอยู่กับรัฐสภา หรือประเทศอังกฤษตั้งหน่วยงานอิสระที่ชื่อคณะกรรมการประเมินนโยบายการคลัง (fiscal council) ปราศจากอิทธิพลจากรัฐสภาและรัฐบาล เป็นต้น

3. มีการเปิดเผยตัวเลขงบประมาณในโครงการต่างๆ สู่สาธารณชนโดยให้เวลาประชาชนศึกษาข้อมูลดังกล่าวมากขึ้นก่อนการพิจารณาของสภาเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการจัดทำงบประมาณ กล่าวคือมีรายละเอียดข้อมูลที่ประชาชนสามารถตรวจสอบวิเคราะห์จากงบประมาณของภาครัฐ และประชาชนสามารถตั้งคำถามถึงการจัดทำงบประมาณ เพื่อไปสู่การออกแบบงบประมาณที่ระบบราชการมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

  • เศรษฐศาสตร์การคลังเบื้องต้นว่าด้วยเรือดำน้ำ

    พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย เสนอคำถาม 3 ข้อ ในมุมเศรษฐศาสตร์การคลัง ก่อนตัดสินใจซื้อเรือดำน้ำ

  • การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

    พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

  • "ไทยไม่จำเป็นต้องเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อดึงดูดนักลงทุน" : ถกภาษีและการคลังกับอธิภัทร มุทิตาเจริญ

    2 แสนล้านบาทต่อปี หรือราว 2% ของจีดีพี คือราคาที่คาดว่าประเทศไทยต้องจ่ายจากการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อดึงดูดให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย อธิภัทร มุทิตาเจริญ เปิดงานวิจัยล่าสุด สนทนากับ 101 ว่า มาตรการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีสามารถจูงใจนักลงทุนต่างชาติได้จริงหรือ และประเทศไทยมีทางเลือกเชิงนโยบายอื่นๆ อีกหรือไม่

  • เมื่อนโยบายการคลังกำลังฉุดรั้งเศรษฐกิจ

    พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย วิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่นโยบายการคลังกำลังฉุดรั้งเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563

  • ท่องโลกนโยบายสาธารณะและนวัตกรรมการเงินในอเมริกา

    พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย เล่าประสบการณ์การเดินทางทั่วสหรัฐอเมริกา ผ่าน Eisenhower Fellowships เพื่อเรียนรู้แนวทางใหม่ในกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะ และการสร้างนวัตกรรมทางการเงินในโลกที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

  • 101 One-on-One ep15 "ปฏิรูประบบภาษีไทย" กับ อธิภัทร มุทิตาเจริญ

    :: LIVE :: "ปฏิรูประบบภาษีไทย" กับ อธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันจันทร์ที่ 29 ม.ค. เวลาสองทุ่ม ใน 101…

    ปัจจุบันระบบงบประมาณของไทยเป็นแบบใด

    ปัจจุบันของประเทศไทยว่า ระบบงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงานตามยุทธศาสตร์ ( Strategic Performance – Based Budgeting : SPBB ) โดยค านึงถึงความส าเร็จของงานตามเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์

    ระบบงบประมาณ มีอะไรบ้าง

    งบประมาณ.
    บทความ เรื่อง การบริหารงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น.
    1. งบประมาณแบบแสดงรายการ (Line – Item Budgeting).
    2.งบประมาณแบบแสดงผลงาน (Performance Budgeting).
    3.งบประมาณแบบการวางแผน การวางโครงการ และการทำงบประมาณ.
    4.งบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงาน (Performance Based Budgeting : PBB).
    กระบวนการงบประมาณหรือวงจรงบประมาณ.

    การจัดทำงบประมาณแผ่นดินมีกี่รูปแบบ

    รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หมวด 8 ว่าด้วยการเงินการคลังและงบประมาณยังได้กำหนดบทบัญญัติว่าด้วยงบประมาณมีอยู่ 4 ลักษณะ คือ งบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณในเหตุจำเป็นที่ประเทศอยู่ในภาวะสงครามหรือการรบ งบกลาง และเงินนอกงบประมาณ ซึ่งกำหนดในมาตรา 166-170 โดยสรุปดังนี้

    งบประมาณแผ่นดินมีความสําคัญอย่างไร

    การจัดทำงบประมาณแผ่นดินเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้รัฐบาลมีการวางแผนที่จะดำเนินการไว้ล่วงหน้าและรายจ่ายของรัฐบาลเป็นส่วนประกอบของอุปสงค์รวม การวางแผนการใช้จ่ายและการหารายรับจะทำให้สามารถคาดคะเนสภาพเศรษฐกิจในปีต่อไปได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้รัฐบาลบริการการคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพภายในขอบเขตของงบประมาณที่จัดทำขึ้น