การเคลื่อนไหวแบบอยู่กับที่ ประโยชน์

ไปวิ่งคนเดียวก็อาจจะรู้สึกเหงา ๆ อยู่บ้าง หรือบางครั้งฝนตกแพลนไปวิ่งที่สวนสาธารณะจำต้องล่ม ก็ทำเอาหงุดหงิดใจไม่น้อย ถ้าคุณผู้อ่านเคยมีประสบการณ์แบบนั้น วันนี้ Hello คุณหมอ ขอแนะนำวิธีออกกำลังกายด้วยการ วิ่งอยู่กับที่ ค่ะ เป็นกิจกรรมที่ใช้พื้นที่น้อย ประหยัดเวลา และไม่ต้องหงุดหงิดในวันที่อากาศไม่เป็นใจด้วย แต่ การวิ่งอยู่กับที่ ดีต่อร่างกายยังไงนั้น มาติดตามกันที่บทความนี้เลย

วิ่งอยู่กับที่ คืออะไร

การวิ่งอยู่กับที่ คือการวิ่งในระดับเดียวกันกับการวิ่งเหยาะ ๆ คือจะไม่วิ่งเร็วแบบการวิ่งกรีฑา แต่ก็ไม่ช้าเหมือนกับการเดินหรือเดินเร็ว อยู่ในระยะเดียวกันกับการวิ่งเหยาะ ๆ หรือวิ่งจ๊อกกิ้ง แต่จะวิ่งอยู่กับที่ไม่มีการเคลื่อนตัวไปข้างหน้า

เรามักพบเห็นกับการออกกำลังกายแบบนี้ในช่วงวอร์มอัพร่างกายก่อนเริ่มเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย เป็นรูปแบบการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอและแอโรบิคที่ประหยัดสถานที่ในการออกกำลังกายน้อย สามารถทำที่ไหนก็ได้ ประหยัดเวลา และลดความเสี่ยงเรื่องสภาพอากาศไม่เป็นใจ

การวิ่งกับวิ่งอยู่กับที่ต่างกันอย่างไร

การวิ่งอยู่กับที่ เป็นการวิ่งที่ใช้กล้ามเนื้อต่างจากการวิ่งชนิดอื่น ๆ โดยจะไม่ใช้กล้ามเนื้อสำหรับวิ่งไปข้างหน้าแบบการวิ่งทั่ว ๆ ไป แต่จะลงน้ำหนักไปที่เข่า ขา ข้อเท้า เท้า และนิ้วเท้ามากกว่า อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การวิ่งอยู่กับที่จะไม่ใช้กล้ามเนื้อในการเคลื่อนไหวไปข้างหน้า และใช้ความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อแต่ละส่วนที่น้อยกว่าการวิ่งปกติ แต่การเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อในองศาเดิมติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ ก็ทำให้รู้สึกเหนื่อยล้าและเสียเหงื่อได้ไม่แพ้กับการออกกำลังกายแบบอื่น ๆ

วิ่งอยู่กับที่กับการเดินต่างกันแค่ไหน

การเดินกับการวิ่งอยู่กับที่ เป็นกิจกรรมที่เน้นการใช้กำลังขา แต่จะมีความแตกต่างกันตรงที่ ถ้าเป็นการเดินปกติหรือเดินเพื่อออกกำลังกาย จะช่วยบริหารในส่วนของกล้ามเนื้อแฮมสตริง (Hamstring) และกล้ามเนื้อสะโพก

ขณะที่การวิ่งอยู่กับที่จะได้ช่วงกลุ่มกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า (Quadriceps) น่อง และกล้ามเนื้อสะโพก ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้วการออกกำลังกายด้วยการวิ่งอยู่กับที่จะได้บริหารกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้าและน่องได้ดีกว่าการเดิน ซึ่งถ้าต้องการเน้นบริหารช่วงขาเป็นพิเศษ การวิ่งอยู่กับที่ ถือว่าเป็นการออกกำลังกายที่บริหารช่วงขาได้ดีกว่า

ประโยชน์ของการ วิ่งอยู่กับที่

การวิ่งอยู่กับที่ ประหยัดทั้งเวลา สถานที่ อุปกรณ์ รวมถึงยังไม่ต้องกังวลเรื่องสภาพดินฟ้าอากาศที่ถ้าฝนตกก็เป็นอันต้องยกเลิกแพลนการวิ่งประจำวันไป การวิ่งอยู่กับที่จึงถือว่าตอบโจทย์ในเรื่องของความสะดวกและความคล่องตัวมากกว่า เนื่องจากแทบไม่ต้องลงทุนอะไรมากมาย ขอแค่กายพร้อมและใจพร้อมด้วยก็ทำได้ทันที แต่นอกจากเหตุผลดี ๆ ในเรื่องของความง่ายต่อการลงมือทำแล้ว การวิ่งอยู่กับที่เป็นประจำ ก็ช่วยเสริมสุขภาพดี ๆ ได้เช่นเดียวกัน ดังนี้

ช่วยเผาผลาญแคลอรี่

วิ่งอยู่กับที่เป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิคชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นรูปแบบการออกกำลังกายที่มีส่วนช่วยในการเผาผลาญแคลอรี่ได้เป็นอย่างดี โดยถ้าคุณต้องการเผาผลาญ 50 แคลอรี่่ คุณจำเป็นจะต้องวิ่งอยู่กับที่ให้ได้ประมาณ 1,000 ก้าว แต่ถ้าต้องการเผาผลาญ 300 แคลอรี่ คุณจะต้องวิ่งให้ได้ 6,000 ก้าววิ่ง หรือหากคิดเป็นนาทีคือจะต้องวิ่งอยู่กับที่ 10 นาที คุณจะสามารถเผาผลาญแคลอรีได้ประมาณ 189 แคลอรี่ และสามารถเผาผลาญได้ประมาณ 530 แคลอรี่ ถ้าวิ่งอยู่กับที่ 1 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม การวิ่งแบบนี้จำเป็นจะต้องใช้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อช่วงขามากหน่อย ดังนั้น เพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บควรสลับวิ่งช้าบ้างเร็วบ้าง หรือควรปรึกษากับแพทย์ก่อนเพื่อคำนึงถึงความเหมาะสมและความปลอดภัย

ดีต่อเข่าและข้อต่อ

การวิ่งเหยาะ ๆ อยู่กับที่ บริหารข้อต่อและข้อเข่าได้ดีกว่าการออกไปวิ่งจ๊อกกิ้งนอกบ้าน เนื่องจากการวิ่งที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายไปข้างหน้า ร่างกายจำเป็นจะต้องเผชิญกับสภาพพื้นผิวที่แข็ง ซึ่งจะเป็นการลดแรงกระแทกต่อหัวเข่าและข้อต่อ ขณะที่ การวิ่งอยู่กับที่ และยกเข่าขึ้นลงในจุดเดิมซ้ำ ๆ จะมีแรงกระแทกในระดับปานกลางซึ่งดีต่อการบริหารข้อต่อและหัวเข่ามากกว่า

เสริมความแข็งแรงต่อกล้ามเนื้อ

วิ่งอยู่กับที่เป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิคชนิดหนึ่งที่ต้องใช้การเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อเดิม ๆ อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะทำให้กล้ามเนื้อที่ได้รับการบริหารนั้นมีความแข็งแรงมากขึ้น และสามารถยืดหยุ่นกล้ามเนื้อได้ดีขึ้นด้วย

กระตุ้นอัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจ

การวิ่งอยู่กับที่ แม้จะทำน้อยแต่ก็ถือว่าได้ประโยชน์มาก เนื่องจากเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิคที่ต้องใช้ออกซิเจนเพื่อการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย ดังนั้นในการวิ่งแต่ละครั้ง จึงเป็นการกระตุ้นการทำงานของหัวใจและการหายใจเพื่อให้สูดเอาออกซิเจนเข้าร่างกายในปริมาณมาก และลำเลียงไปยังอวัยวะต่าง ๆ เพื่อหล่อเลี้ยงร่างกาย

ข้อแนะนำสำหรับการ วิ่งอยู่กับที่

  • กรณีมีโรคประจำตัวควรปรึกษากับแพทย์ก่อนว่าเหมาะสมที่จะออกกำลังกายด้วยการวิ่งหรือไม่
  • วอร์มอัพร่างกายก่อนเริ่มต้นการวิ่งอยู่กับที่เสมอ เพื่อยืดหยุ่นร่างกายและป้องกันการบาดเจ็บขณะออกกำลังกาย
  • ควรวิ่งบนพรมหรือเบาะสำหรับออกกำลังกาย เพื่อลดแรงกระแทกที่รุนแรง
  • ระยะแรกไม่ควรหักโหม แต่ควรเริ่มจากวิ่ง 10 นาที แล้วค่อย ๆ เพิ่มเวลาเป็น 15 นาที หรือ 20 นาที เมื่อเข้าที่เข้าทางแล้วค่อยเพิ่มเวลาให้มากขึ้น
  • ในการวิ่งไม่จำเป็นต้องวิ่งเร็วแบบการวิ่งแข่ง แต่ใช้ระยะเดียวกันกันการวิ่งเหยาะ ๆ หรือจ๊อกกิ้ง และสามารถสลับเร็วสลับช้าได้
  • การวิ่งอยู่กับที่ เป็นการออกกำลังกายที่มีการใช้กล้ามเนื้ออย่างต่อเนื่อง จึงเสี่ยงต่ออาการเจ็บปวดตามกล้ามเนื้อขาอย่าง สะโพก เข่า น่อง หรือเท้า จึงไม่ควรวิ่งด้วยความเร็ว และถ้าหากรู้สึกบาดเจ็บควรหยุดวิ่งทันที

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด