ผลข้างเคียงของการฉีดสี ct scan

คือ การตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งแพทย์จะฉายรังสีเอกซเรย์ตามร่างกายบริเวณที่ต้องการตรวจ แล้วใช้คอมพิวเตอร์สร้างเป็นภาพฉายลักษณะและอวัยวะภายในร่างกาย เพื่อประกอบการวินิจฉัยหาความผิดปกติของร่างกายต่อไป โดยวิธีการนี้จะได้ภาพที่มีความละเอียดสูงกว่าการเอกซเรย์แบบธรรมดา และสามารถใช้ตรวจอวัยวะภายในร่างกายได้เกือบทุกส่วน

ผลข้างเคียงของการฉีดสี ct scan

ประเภทของ CT scan

  • เอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบภาพตัดขวางพื้นฐาน (Conventional CT Scan) เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์จะหมุนเป็นวงรอบตัวผู้ป่วย เพื่อให้รังสเอ็กซเรย์ผ่านตัวผู้ป่วย 1 รอบ จะได้ภาพ 1 ภาพ โดยเตียงจะเลื่อนไปทีละตำแหน่ง ภาพที่ได้จะถูกนำมาสร้างเป็นภาพตัดขวางของอวัยวะได้ทีละภาพ
  • เอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบเกลียว (Spiral/Helical CT Scan) เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์จะหมุนเป็นวงอยางต่อเนื่องรอบตัวผู้ป่วย เมื่อรังสีเอกซเรย์ผ่านตัวผู้ป่วยจะได้ภาพหลายภาพ ซึ่งใช้เวลาน้อยกว่าแบบพื้นฐาน และได้ภาพที่มีความแม่นยำสูงกว่า

ทำไมต้องทำ CT Scan

แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยทำ CT Scan ในกรณีดังต่อไปนี้

  • ตรวจวินิจฉัยอาการป่วย เช่น ตรวจหาการบาดเจ็บเสียหายของอวัยวะภายใน ภาวะเลือดออกของอวัยวะภายใน การไหลเวียนของเลือด การเกิดลิ่มเลือด รอยแตกร้าวของกระดูก ภาวะสมองขาดเลือด เนื้องอก และเนื้อร้าย
  • ติดตามการรักษาอาการป่วย ทั้งในระหว่างการรักษาและหลังการรักษา เช่น ตรวจดูขนาดของก้อนเนื้องอก ตรวจผลหลังการรักษามะเร็ง
  • ตรวจเป็นแนวทางประกอบการรักษา เช่น ตรวจหาขนาดและรูปร่างของก้อนเนื้อก่อนทำรังสีบำบัด ใช้ CT Scan เพื่อฉายภาพในขณะที่แพทย์ใช้เข็มเจาะถ่ายของเหลวในฝีออก หรือใช้เข็มนำตัวอย่างชิ้นเนื้อออกมาตรวจ

ข้อจำกัดในการทำ CT Scan

  • ตั้งครรภ์ หากไม่ใช่ในกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน แพทย์จะให้ผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ใช้วิธีการอื่นในการตรวจวินิจฉัย เพื่อเลี่ยงไม่ให้รังสีเอกซเรย์ส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้
  • เด็ก ในผู้ป่วยที่เป็นเด็ก ผู้ปกครองควรปรึกษาและรับคำแนะนำจากแพทย์ถึงการเตรียมตัวก่อนให้เด็กเข้าเครื่อง CT Scan หากเด็กยังเล็กมาก หรือรู้สึกตื่นกลัวมาก แพทย์จะให้ยาระงับประสาทเพื่อบรรเทาอาการก่อนทำ CT Scan
  • สแกนเมื่อจำเป็น ผู้ป่วยควรทำ CT Scan เมื่อมีเหตุจำเป็นอันสมควเมื่อผู้ป่วยมีอาการป่วยที่ปรากฏเท่านั้น โดยจะไม่ใช้ CT Scan เพื่อการคัดกรองเบื้องต้น เพราะเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจากการได้รับรังสีเอกซเรย์ และเพิ่มความวิตกกังวลเกินจำเป็น

ขั้นตอนในการทำ CT Scan

การเตรียมตัว 

ผู้ป่วยควรซักถามถึงข้อสงสัยที่มี อย่างสาเหตุ ความจำเป็น ความเสี่ยง และประโยชน์ที่ได้จากการตรวจด้วย CT Scan โดยก่อนทำ CT Scan ผู้ป่วยควรสวมเสื้อผ้าหลวม ๆ ที่ไม่มีส่วนประกอบของโลหะ เช่น ซิป เข็มขัด ถอดแว่นตา ฟันปลอม และไม่สวมใส่เครื่องประดับใด ๆ ในบางกรณี ผู้ป่วยอาจต้องเปลี่ยนใส่ชุดที่ทางโรงพยาบาลจัดให้ เพื่อให้สะดวกต่อการฉายรังสีและการสร้างภาพ

สำหรับผู้ป่วยที่ต้องการเอกซเรย์ช่องท้อง แพทย์อาจแนะนำให้งดอาหารเป็นเวลาหลายชั่วโมงก่อนทำ CT Scan เพื่อไม่ให้รบกวนผลการตรวจ และให้ได้ภาพฉายที่ชัดเจน หรือแพทย์อาจให้รับประทานยาระบายก่อนการทำ CT Scan นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติทางการแพทย์ การแพ้ยา ปัญหา และภาวะทางสุขภาพอื่น ๆ ที่สำคัญ เช่น

  • กำลังตั้งครรภ์ หรือคาดว่าอาจตั้งครรภ์อยู่
  • เป็นหอบหืด
  • เป็นโรคเบาหวาน และกำลังใช้ยาเมทฟอร์มิน (Metformin) ซึ่งอาจต้องปรับเปลี่ยนการใช้ยา 1 วัน ก่อนทำ CT Scan
  • มีปัญหาเกี่ยวกับไต
  • ป่วยด้วยโรคหัวใจ หรือมีภาวะหัวใจล้มเหลว
  • เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัลติเพิล มัยอีโลมา (Multiple Myeloma)
  • มีความวิตกกังวลเป็นอย่างมากก่อนทำ CT Scan
  • เคยสวนแป้งแบเรียม (Barium Enema) เข้าทางทวารหนักแล้วทำการเอกซเรย์มาก่อนหน้าไม่เกิน 4 วัน เนื่องจากแบเรียมจะปรากฏบนฟิล์มเอกซเรย์ ทำให้เห็นภาพฉายได้ไม่ชัดเจน
  • เคยมีประวัติการแพ้สารทึบรังสีที่ใช้ในการทำ CT Scan

ก่อนทำ CT Scan

ในผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจให้สารทึบรังสี (Contrast Material) เข้าไปในร่างกายเพื่อช่วยให้ภาพฉายในบริเวณต่าง ๆ ที่ต้องการตรวจเห็นได้ชัดเจนขึ้น โดยอาจใช้วิธีให้ผู้ป่วยดื่มสารทึบรังสีเข้าไป ฉีดสารทึบรังสีเข้าสู่เส้นเลือด หรือสอดสารทึบรังสีเข้าสู่ลำไส้ผ่านทางทวารหนัก

หากผู้ป่วยมีความวิตกกังวลเป็นอย่างมาก แพทย์อาจให้ยาระงับประสาทเพื่อคลายความกังวลก่อนการเอกซเรย์ โดยผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาดังกล่าวนี้ ต้องเตรียมการให้ญาติหรือบุคคลใกล้ชิดมารับกลับหลังจากเสร็จขั้นตอน เนื่องจากฤทธิ์ของยาจะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถขับขี่ยานพาหนะได้ตามปกติ

การทำ CT Scan

เมื่อเริ่มทำ CT Scan ผู้ป่วยต้องนอนราบลงบนเตียงของเครื่องสแกน เตียงจะถูกเคลื่อนเข้าไปภายในเครื่อง ให้บริเวณที่ต้องการจะสแกนอยู่ตรงกับวงแหวนสแกน และเครื่องจะเริ่มทำการสแกนด้วยการหมุนเพื่อฉายรังสีเอกซเรย์ไปรอบ ๆ ตัวผู้ป่วย โดยที่เครื่องคอมพิวเตอร์จะฉายภาพที่ได้ออกมาเรื่อย ๆ ผู้ป่วยควรผ่อนคลายความกังวล นอนราบนิ่ง ๆ และหายใจตามปกติ ในบางกรณีผู้ป่วยอาจต้องหายใจเข้า หายใจออก หรือกลั้นหายใจตามคำสั่งแพทย์ เพื่อให้ภาพถ่ายรังสีออกมาชัดเจน โดยในระหว่างที่อยู่ในเครื่อง CT Scan ผู้ป่วยสามารถสื่อสารกับแพทย์และนักเทคนิคที่ดูแลการสแกนได้ผ่านอินเตอร์คอม (Intercom: เครื่องสื่อสารด้วยเสียง) และการสแกนจะสิ้นสุดลงภายในเวลาประมาณ 10-20 นาที

ผลการตรวจ CT Scan

หลังทำ CT Scan เสร็จ เครื่องคอมพิวเตอร์จะประมวลภาพออกมา รังสีแพทย์จะอ่านผลที่ได้และรายงานต่อแพทย์ผู้ดูแล ซึ่งแพทย์จะสรุปผลการตรวจและพูดคุยกับผู้ป่วยต่อไป ขั้นตอนนี้จะใช้เวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์ในการทราบผล

ตัวอย่างผลการตรวจด้วยวิธี CT Scan

ตรวจไม่พบผลผิดปกติ

  • อวัยวะต่าง ๆ และเส้นเลือดมีรูปร่าง ขนาดปกติ และอยู่ในตำแหน่งปกติ
  • เส้นเลือดไม่อุดตันหรือถูกปิดกั้น
  • ไม่พบวัตถุหรือสิ่งแปลกปลอม
  • ไม่พบเนื้อเยื่อที่มีการเจริญเติบโตอย่างผิดปกติ
  • ไม่พบการอักเสบหรือการติดเชื้อ
  • ไม่มีเลือดออกหรือไม่มีของเหลวตกค้างสะสมภายในอวัยวะ

ตรวจพบผลผิดปกติ   

  • อวัยวะมีขนาดใหญ่หรือเล็กเกินไป
  • อวัยวะเสียหายหรือติดเชื้อ
  • มีถุงน้ำหรือฝีอยู่ภายในอวัยวะ
  • มีวัตถุหรือสิ่งแปลกปลอมอยู่ภายในอวัยวะ
  • มีนิ่วในไตหรือในถุงน้ำดี
  • หลอดเลือดแดงโป่งพอง
  • เส้นเลือดอุดตัน
  • มีลิ่มเลือดอุดตันในปอด
  • ลำไส้เล็กและท่อน้ำดีอุดตัน
  • ต่อมน้ำเหลืองขยายใหญ่ขึ้น
  • ลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ
  • มีรอยแตกหักของกระดูก
  • มีเนื้องอกหรือเนื้อเยื่อที่เจริญเติบโตผิดปกติในอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับ ตับอ่อน ไต ต่อมหมวกไต ปอด กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ รังไข่ เป็นต้น

การดูแลตนเองหลังทำ CT Scan

หลังทำ CT Scan ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านและทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างการรับประทานอาหาร ดื่มน้ำ หรือขับรถได้ตามปกติ แล้วมาตามนัดหมายเพื่อฟังผลจากแพทย์ ยกเว้นผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาระงับประสาทเพื่อคลายความกังวลก่อนเข้าเครื่องสแกน ซึ่งจะทำให้รู้สึกมึนงงหรือง่วงซึมได้ ควรให้คนมารับกลับ ไม่ควรขับขี่ยานพาหนะด้วยตนเองเพราะอาจเกิดอันตรายได้

ส่วนผู้ป่วยที่ต้องใช้สารทึบแสงช่วยให้การฉายภาพเอกซเรย์ชัดเจนขึ้น หลังทำ CT Scan แพทย์อาจให้อยู่รอดูอาการที่โรงพยาบาลประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อดูว่าผู้ป่วยมีอาการแพ้จากการใช้สารทึบรังสีหรือไม่ โดยผู้ป่วยควรดื่มน้ำในปริมาณมาก เพื่อช่วยให้ไตขับสารทึบรังสีออกจากร่างกายผ่านทางปัสสาวะ

หากผู้ป่วยมีข้อสงสัยประการใด ควรรีบถามและปรึกษาแพทย์ให้ทราบอย่างแน่ชัด และหากพบอาการที่เป็นสัญญาณอันตรายดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  • มีผดผื่นคันหรือบวม
  • หน้าบวม ปากบวม
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • วิงเวียนศีรษะ หรือเป็นลม
  • มีการปัสสาวะลดลงอย่างกะทันหัน
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ หายใจลำบาก

ข้อดีของการทำ CT Scan

  • สามารถสแกนตรวจอวัยวะในร่างกายส่วนใหญ่ได้
  • ไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวดในขณะตรวจสแกน
  • ภาพที่ได้มีรายละเอียดสูงกว่าการทำอัลตราซาวนด์ ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยได้แม่นยำขึ้น
  • สามารถสแกนได้รวดเร็วกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการสแกนแบบ MRI

ข้อเสียของการทำ CT Scan

  • อาจมีวัตถุแปลกปลอมที่รบกวนการแปลผลเอกซเรย์ เช่น เครื่องประดับต่าง ๆ
  • ในขณะสแกน ต้องมีการกลั้นหายใจ ซึ่งผู้ป่วยบางรายไม่สามารถปฏิบัติได้
  • ในการสแกนสมองด้วย CT Scan อาจถูกกระดูกส่วนกะโหลกศีรษะบัง ทำให้แปลผลคลาดเคลื่อนได้
  • ในตำแหน่งอื่น ๆ ที่มีกระดูกอยู่จำนวนมาก เช่น บริเวณกระดูกสันหลัง อาจเกิดการบดบังอวัยวะส่วนที่ต้องการตรวจวินิจฉัย จึงทำให้ภาพที่ได้จาก CT Scan มีโอกาสแปลผลคาดเคลื่อนได้
  • CT Scan ใช้รังสีปริมาณมาก อาจเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจากการได้รับรังสีมากเกินไป

ความเสี่ยงและผลข้างเคียงจากการทำ CT Scan

  • การได้รับรังสีเข้าสู่ร่างกาย อาจเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจากการได้รับรังสีมากเกินไป แต่ยังไม่พบว่าการทำ CT Scan จะส่งผลกระทบที่เป็นอันตรายในระยะยาวได้ และด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบัน มีโอกาสที่ผู้ป่วยจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งจากรังสีใน CT Scan น้อยมาก อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งในผู้ป่วยที่ทำ CT Scan จะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อผู้ป่วยเป็นเด็ก หรือเด็กโต และผู้ที่เข้ารับการตรวจด้วยการฉายรังสีเป็นประจำ
  • ปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารทึบรังสี มีโอกาสที่ผู้ป่วยที่ต้องใช้สารทึบรังสีจะมีอาการแพ้หลังจากได้รับสารเข้าสู่ร่างกาย เช่น มีผดผื่นคัน หายใจติดขัด ปวดท้อง ระบบทางเดินอาหารผิดปกติ เป็นต้น
  • เสี่ยงเกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ รังสีจากการสแกนอาจกระทบต่อทารกในครรภ์และทำให้เกิดความผิดปกติซึ่งเป็นอันตรายต่อเด็กที่จะเกิดมา หากผู้ป่วยตั้งครรภ์ แพทย์จะแนะนำให้ใช้วิธีการอื่นในการตรวจวินิจฉัย
  • เสี่ยงเกิดอันตรายต่อทารกแรกเกิด สารทึบแสงที่อยู่ภายในร่างกายอาจส่งผ่านไปยังทารกในขณะที่ผู้ป่วยให้นมบุตร ทำให้เด็กมีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจากการได้รับสารทึบรังสีเข้าสู่ร่างกาย

    ฉีดสีมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง

    คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นแดง เจ็บปวดและร้อนทั่วร่างกายอาการดังกล่าวจะบรรเทาลงหลังหยุดฉีดสารทึบรังสี อาการ อื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ คือ หนาวสั่น มีไข้เหงื่อออกปวดศีรษะมึนงง อ่อนเพลีย ความดันโลหิตตํ่าหรือสูงกว่าปกติ อาการคัน ลมพิษ จาม ไอ จนถึงอาการสิ้นสติได้ ซึ่งอาการแพ้จนสิ้นสตินี้เกิดขึ้น ในปริมาณน้อยมาก

    การทำ CT scan มีความเสี่ยงใด

    ความเสี่ยงและผลข้างเคียงจากการทำ CT Scan ปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารทึบรังสี มีโอกาสที่ผู้ป่วยที่ต้องใช้สารทึบรังสีจะมีอาการแพ้หลังจากได้รับสารเข้าสู่ร่างกาย เช่น มีผดผื่นคัน หายใจติดขัด ปวดท้อง ระบบทางเดินอาหารผิดปกติ เป็นต้น

    ซีทีสแกน อันตรายไหม

    หลายคนกลัวการสแกนเนื่องจากเป็นการทำงานที่มีรังสีเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคมะเร็งจากการสแกนมีเพียง 1 ใน 2,000 หรือ 0.05 % เท่านั้น เนื่องจากการสแกนไม่จำเป็นต้องทำบ่อย และการสแกนมีปริมาณรังสีไม่มากอย่างที่ทุกคนคิด อย่างไรก็ตามโอกาสการเกิดมะเร็งจากรังสีนั้นจะเสี่ยงกับเด็กหรือผู้มีอายุน้อย ...

    CT scan ต้องฉีดสีไหม

    CT Scan ในการตรวจจำเป็นต้องฉีดสารทึบรังสี (Contrast Material) เพื่อเพิ่มความชัดเจนของภาพ เช่น ในกรณีที่ต้องดูเนื้องอกหรือเส้นเลือด ซึ่งอาจมีผู้รับการตรวจบางรายแพ้สารทึบรังสี หรือมีโอกาสทำให้เกิดพิษกับไตได้ โดยเฉพาะ ในผู้ที่มีภาวะไตเสื่อม ผู้สูงอายุ จึงต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ