วิจัยการแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ 5 บท

ปัจจัยที่ควรให้ความสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติให้มั่นคงและยั่งยืนคือ การทำให้ประชากรมีความรู้ โดยเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในปี พ.ศ. 2558 ได้มีการกำหนดนโยบายเร่งด่วนจากคณะกรรมการพัฒนานโยบายและพัฒนาการศึกษา ให้เด็กที่จบประถมศึกษาปีที่ 1 ต้องอ่านออกเขียนได้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2559 กระทรวงศึกษาธิการจึงได้กำหนดนโยบายเพื่อแก้ปัญหาเด็กชั้นประถมศึกษาที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ โดยกำหนดเป้าหมายให้นักเรียนประถมศึกษาปีที่ 1 ต้องอ่านออกเขียนได้ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ต้องอ่านคล่องเขียนคล่อง

จากผลสำรวจการประเมินการอ่านออกเขียนได้ในปี พ.ศ. 2558 – 2559 พบว่านักเรียนในระดับประถมศึกษา ยังมีนักเรียนอ่านไม่ออก อ่านไม่รู้เรื่อง และเขียนไม่ได้อยู่ ซึ่งยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้ และในปี พ.ศ. 2560 สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ดำเนินโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programme for International Student Assessment) หรือ PISA โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพการศึกษาของประเทศสมาชิกและประเทศที่เข้าร่วมโครงการ PISA เพื่อประเมินความรู้และทักษะของนักเรียนในด้านการอ่าน

จากการประเมินพบว่าคะแนนเฉลี่ยการอ่านของ OECD อยู่ที่ 493 คะแนน โดยในกลุ่มบนสุดสิบอันดับแรกมีประเทศเอเชียอยู่ถึง 5 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และมาเก๊า ส่วนคะแนนเฉลี่ยการอ่านของนักเรียนไทย คือ 409 คะแนน อยู่ในช่วงลำดับที่ 56-60 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD และเมื่อพิจารณาแนวโน้มการอ่านของนักเรียนไทย พบว่ามีคะแนนลดลงเมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2553 และ 2556 และมีคะแนนใกล้เคียงกันกับปี พ.ศ. 2546 และ 2549 จากข้อมูลดังกล่าวจึงเป็นตัวชี้วัดสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า เด็กไทยมีปัญหาการอ่านจำนวนมากและเป็นปัญหามายาวนาน อีกทั้งยังมีคุณภาพการเรียนรู้ที่ล้าหลังประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียด้วยกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยต้องพัฒนาการศึกษาอย่างเร่งด่วน

การอ่านและการเขียนภาษาไทยเป็นทักษะพื้นฐานที่สะท้อนความสามารถในการเรียนรู้ของผู้เรียน

แบบเรียนภาษาไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น เป็นแบบเรียนที่มุ่งสอนให้นักเรียนอ่านคำและเนื้อเรื่อง โดยไม่ได้เริ่มจากการเรียนรู้ตัวอักษรและไม่ให้ความสำคัญกับการสอนอ่านพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ และการประสมคำ ส่งผลให้นักเรียนจดจำพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ การอ่านเขียนประสมคำไม่ได้ เพราะไม่ได้เริ่มต้นเรียนอ่านเขียนอย่างเป็นระบบ แต่เรียนโดยอ่านคำจากเนื้อเรื่องที่พบเห็นบ่อย ๆ โดยการจำรูปคำได้ นอกจากนั้น ยังสอนเฉพาะพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ที่มีในบทเรียนเท่านั้น ทำให้นักเรียนรู้จักอักษรไม่ครบทุกตัว และไม่สามารถอ่านคำที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนได้ดี การสอนอ่านแบบดังกล่าวทำให้นักเรียนไม่รู้กระบวนการอ่านเขียนภาษาไทยอย่างถูกต้อง และเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้นักเรียนไทยอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เป็นจำนวนมาก

วิจัยการแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ 5 บท

ผลการวิจัยพบว่า ปัญหาสำคัญของการอ่านและการเขียนภาษาไทยมี 2 ลักษณะ คือ การไม่ออกเสียงในเสียงที่ต้องการ (Omission) เช่น การไม่อ่านออกเสียงพยัญชนะท้าย การออกเสียง ร เรือ และเสียงควบกล้ำ และอีกลักษณะคือ การแทนที่ของเสียง (Substitution) เช่น การสับสนเสียงอักษรสูง-อักษรต่ำ การสับสนพยัญชนะ ร-ล การสับสนพยัญชนะเสียงเดียวกันแต่รูปต่างกัน การสับสนพยัญชนะที่มีรูปร่างคล้ายกัน การใช้ตัวสะกดผิดมาตรา การละตัวสะกด การเพิ่มตัวสะกด การซ้ำตัวสะกด ในด้านการเขียนวรรณยุกต์ เช่น การไม่ใส่รูปวรรณยุกต์ การใส่รูปวรรณยุกต์ผิด การเพิ่มรูปวรรณยุกต์ ส่วนในด้านสระ พบปัญหาการสับสนระหว่างสระเสียงสั้น-ยาว การสับสนสระเปลี่ยนรูป-ลดรูป และสระประสมที่มีส่วนประกอบของรูปสระหลายส่วน ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันและมีความยากต่อการจดจำ นอกจากนั้นยังเกิดจากความไม่แม่นยำในการออกเสียงหรือความเคยชินในการออกเสียงแบบผิดๆ

วิจัยการแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ 5 บท

การศึกษาของนักเรียนต่างด้าว

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มีการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย โดยกำหนดนโยบายให้สิทธิเรียนฟรีในโครงการ “เรียนฟรี เรียนดี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ” ให้แก่นักเรียนไทยและนักเรียนต่างด้าว โดยได้รับสิทธิเท่าเทียมกับนักเรียนไทยทุกประการ ภายใต้การบริหารจัดการตามหลักการที่ว่า

“เด็กทุกคนไม่ว่าจะสัญชาติใดต้องได้รับการดูแลทั้งการศึกษา สุขภาพอนามัย ที่อยู่อาศัย และสิทธิเสรีภาพ ซึ่งเป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้”

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

โดยในปัจจุบันนักเรียนที่มีพ่อแม่เป็นแรงงานต่างด้าว อาทิ กัมพูชา ลาว พม่า เป็นต้น เข้ามาศึกษาในประเทศไทยมีจำนวนมากถึง 1,848,295 คน และมีแนวโน้มว่าแรงงานต่างด้าวจะมีการเคลื่อนย้ายเข้ามาทำงานในประเทศไทยสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้มีนักเรียนต่างด้าวมากขึ้นด้วยเช่นกัน

ปัญหาที่พบมากในโรงเรียนที่มีการเรียนร่วมกันระหว่างนักเรียนไทยและนักเรียนต่างด้าวคือ อุปสรรคทางภาษาระหว่างครูกับนักเรียนและระหว่างนักเรียนด้วยกันเอง ปัญหาการปรับตัวของนักเรียนต่างด้าวที่เข้าเรียนปีแรกใน ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมและสังคมไทย และยังพบว่าเด็กต่างด้าวจำนวนหนึ่งมักจะลงทะเบียนเรียนไม่ทันภายในระยะเวลาที่โรงเรียนกำหนด อันเป็นผลมาจากลักษณะการทำงานของผู้ปกครอง ส่งผลให้โรงเรียนมีจำนวนของนักเรียนที่เข้าเรียนจริงไม่แน่นอน ซึ่งเป็นอุปสรรคในการได้รับทุนอุดหนุนจากภาครัฐอย่างเหมาะสม ส่งผลให้โรงเรียนบางแห่งต้องจัดสรรทุนส่วนอื่นในการอุดหนุนเด็กกลุ่มนี้ นอกจากนี้ยังพบปัญหาในการจัดการศึกษาในโรงเรียนที่มีทั้งเด็กไทยและเด็กต่างด้าว คือ เด็กต่างด้าวไม่มีความรู้ภาษาไทยมากพอ และพบปัญหาในการอ่านและการเขียนภาษาไทยเช่นเดียวกับนักเรียนไทยที่กล่าวมาข้างต้น อันเป็นผลจากความซับซ้อนของภาษาไทย ซึ่งเป็นภาษาที่สองของนักเรียน และการเรียนหรือการถ่ายทอด แบบฝึกหัดตำราเรียนที่อาจจะยังไม่เหมาะสม ทำให้เรียนอ่านเขียนได้ช้ากว่านักเรียนไทย ส่งผลกระทบกับการเรียนการสอนในห้องเรียนทำให้นักเรียนไทยเรียนล่าช้าไปด้วย

จากที่กล่าวมาข้างต้น เห็นได้ว่าปัญหาการอ่านและการเขียนภาษาไทยในระดับประถมศึกษาเป็นปัญหาสำคัญระดับชาติ มีนักเรียนไทยรวมถึงนักเรียนต่างด้าวจำนวนมากที่ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ อีกทั้งปัจจุบันยังขาดแบบเรียนภาษาไทยที่เหมาะสมในการพัฒนาการอ่านเขียนเบื้องต้น ดังนั้นการพัฒนาแบบเรียนภาษาไทยจึงมีความสำคัญมาก โดยในครั้งนี้เราจะมาทำความรู้จักกับวิธี “การจัดการเรียนรู้แบบโฟนิกส์” เพื่อมุ่งหวังให้นักเรียนรู้จักพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ตัวสะกด ซึ่งเป็นพื้นฐานเริ่มต้นที่สำคัญในการสอนให้นักเรียนอ่านออกเขียนได้ ภายใน 1 ปี ซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ อันจะนำไปสู่การสร้างเสริมคุณภาพชีวิตทางด้านการศึกษาแก่นักเรียนไทยและนักเรียนต่างด้าว

วิจัยการแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ 5 บท

การสอนแบบโฟนิกส์

วิธีการสอนอ่านที่ถูกต้องควรเริ่มจากการฝึกอ่านเสียงของตัวอักษร การเรียนรู้พยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ การประสมคำ แล้วจึงสอนอ่านคำและเนื้อเรื่อง ซึ่งสอดคล้องกับวิธีการสอนแบบโฟนิกส์ที่ให้ความสำคัญกับการอ่านออกเสียงตัวอักษร โดยมีกระบวนการสอน 4 ขั้นตอนสำคัญ ดังนี้

ขั้นที่ 1 เรียนรู้เสียงตัวอักษร (Analytic Phonics) โดยครูอ่านออกเสียงตัวอักษรให้นักเรียนฟังช้า ๆ และให้นักเรียนอ่านออกเสียงซ้ำตามครู ยกตัวอย่างเช่น ครูสอนนักเรียนอ่านออกเสียง /ก/ โดยยกตัวอย่างคำที่มี เสียง /ก/ เช่น ไก่กา แกะ เป็นต้น เพื่อให้นักเรียนสามารถออกเสียง /ก/ และจดจำเสียง /ก/ ได้ ฝึกให้ผู้เรียนรู้จักเสียงของแต่ละตัวอักษร เรียนรู้เชื่อมโยงเสียงและวิเคราะห์เสียงของตัวอักษร

ขั้นที่ 2 ฝึกการสอนประสมเสียง (Synthetic Phonics) โดยครูอ่านออกเสียงโดยการสะกดคำและให้นักเรียนฝึกตาม เช่น คำว่า กา มีการประสมเสียงพยัญชนะ /ก/ และเสียงสระ /า/ นักเรียนออกเสียง /ก/ จากนั้นให้นักเรียนออกเสียง /า/ เมื่อประสมเสียง /ก/ กับ /า/ จะสามารถสะกดเป็นเสียง /กา/ เป็นการฝึกผสมเสียงกับตัวอักษรเพื่อให้นักเรียนสามารถอ่านออกเสียงได้ ทำให้นักเรียนเข้าใจเสียงของตัวอักษรแต่ละตัว และผสมเสียงจนสามารถที่จะออกเสียงคำนั้น ๆ ได้ด้วยตนเอง

ขั้นที่ 3 รู้จักการเทียบเคียง (Analogy-Based Phonics) โดยครูให้นักเรียนออกเสียงโดยการแจกลูกคำ เช่น /กา/, /ตา/, /ปา/, /อา/ เป็นการฝึกให้นักเรียนรู้จักเทียบเคียงเสียง และรู้ว่ามีเสียงสระ /า/ เป็นเสียงเดียวกัน นอกจากนี้ยังสามารถใช้การเทียบเคียงเสียงในการสอนเสียงวรรณยุกต์ได้อีกด้วย โดยครูให้นักเรียนอ่านออกเสียงโดยการผันเสียงวรรณยุกต์เช่น /กา/, /ก่า/, /ก้า/, /ก๊า/, /ก๋า/ เป็นการฝึกให้นักเรียนรู้จักการเทียบเคียงเสียง ทำให้นักเรียนรู้จักวิเคราะห์ส่วนประกอบของคำและเทียบเคียงการออกเสียงกับคำ ว่ามีหน่วยเสียงใดที่เหมือนกัน วิธีการนี้จะช่วยให้นักเรียนรู้จักการอ่านคำใหม่ และช่วยในการสะกดคำไปพร้อมกัน

ขั้นที่ 4 หัดอ่านเขียนเข้าใจคำ (Phonics Drill) โดยครูฝึกให้นักเรียนรู้จักการอ่านออกเสียงและการเขียนไปพร้อม ๆ กัน เช่น คำว่า ไก่ นักเรียนสามารถแยกเสียงพยัญชนะต้นได้ว่าเป็นเสียง /ก/ และเขียน อักษร ก ได้หรือคำว่า ไข่ เสียงพยัญชนะต้นคือเสียง /ข/ และนักเรียนสามารถเขียนอักษร ข ได้ และฝึกฝนซ้ำไปซ้ำมาให้เข้าใจความหมายของคำที่อ่านและเขียน จนสามารถอ่านออกและเขียนได้ หรือหากพบคำใหม่นักเรียนสามารถเชื่อมโยงประสบการณ์เดิมกับคำใหม่ได้อย่างมีระบบ

ด้วยกระบวนการข้างต้นในการเรียนรู้แบบโฟนิกส์ จะช่วยให้ผู้เรียนฝึกฝนและได้ฝึกปฏิบัติทั้งการอ่านและการเขียนอย่างมีลำดับขั้นตอนและมีความต่อเนื่อง เรียนรู้จากส่วนประกอบของคำว่าจะต้องประสมด้วยเสียงใดบ้าง ฝึกการเทียบเคียงเสียง เพื่อเชื่อมโยงว่ามีหน่วยเสียงใดที่เหมือนกันบ้าง ฝึกอ่านและเรียนรู้คำต่าง ๆ อีกทั้งได้พัฒนาทั้ง 4 ทักษะ ไปพร้อม ๆ กัน คือ การฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน ซึ่งจากการทดลองในการวิจัย พบว่าเมื่อนักเรียนได้รับการจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการสอนแบบโฟนิกส์แล้ว นักเรียนมีพัฒนาการความสามารถในการอ่านและการเขียนสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะการอ่านพยัญชนะและสระ นักเรียนสามารถจดจำเสียงพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์และสามารถอ่านเขียนได้ทั้งหมดภายในระยะเวลา 1 ปีการศึกษา ซึ่งเป็นไปตามที่กระทรวงศึกษาธิการตั้งเป้าหมายไว้ อีกทั้งผลตอบรับจากทางโรงเรียนยังพบว่า มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้นอย่างชัดเจน จึงมุ่งหวังให้มีการพัฒนาแบบเรียนภาษาไทยที่พัฒนาตามแนววิธีสอนแบบโฟนิกส์ในระดับประถมศึกษาปีที่ 2 และ 3 ต่อไปในอนาคต

อ้างอิงข้อมูลจาก

โครงการวิจัย “การศึกษาปัญหาการอ่านเขียนของนักเรียนไทยและนักเรียนต่างด้าว และการแก้ปัญหาด้วยแบบเรียนที่พัฒนาตามแนววิธีการสอนแบบโฟนิกส์”

หัวหน้าโครงการ : รุ่งอรุณ โรจน์รัตนาดำรง ไชยศรี
สนับสนุนโดย : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

เรียบเรียง นพรดา คำชื่นวงศ์กราฟิก ชนกนันท์ สราภิรมย์