วัตถุประสงค์ ของ เงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง

หากใครที่กำลังติดตามการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมถึงเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ที่เป็นต้นกำเนิดของการเงินดิจิทัล คงพอเดาได้ว่า กระแสความร้อนแรงของบล็อกเชนส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในภาคการเงินการธนาคาร รวมไปถึงการปรับตัวเพื่อป้องกันไม่ให้ผลประโยชน์ โอกาส หรือแม้แต่ตัวองค์กรที่อาจถูก disrupt หายไป หากปรับตัวรับไม่ทันกับเทคโนโลยี

เพื่อให้สามารถติดตามสถานการณ์ได้ด้วยความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้น คุณกษิดิศ ตันสงวน รองผู้อำนวยการ กลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ให้เกียรติสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) อธิบายเกี่ยวกับภาพรวมของสกุลเงินดิจิทัล หรือ Digital Currency บทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินดิจิทัล การส่งเสริม Digital Economy นโยบายการเงินในอนาคตเมื่อมีสกุลเงิน โครงการอินทนนท์ที่ ธปท. ริเริ่มผ่านการร่วมมือกับสถาบันการเงินในประเทศไทย และบริษัท R3 (ผู้พัฒนา Blockchain ใน Corda Platform) ในการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลกลางที่ออกโดยภาครัฐ (Central Bank Digital Currency: CBDC) ที่เป็นสกุลเงินในการอำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนให้แก่ธนาคารในกรณีที่มีการโอนเงินข้ามธนาคาร รวมไปถึงที่มาของไทยบาทดิจิทัล (THT) และรายละเอียดที่เกี่ยวข้องเป็นข้อมูลเบื้องต้น

คริปโตเคอเรนซี่ (Cryptocurrency) คือ สกุลเงินที่เข้ารหัสเสมือนจริงอยู่ในระบบดิจิทัล ทำงานบนพื้นฐานระบบการกระจายอำนาจ (Decentralize) ของเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ที่ทุกคนในระบบสามารถรู้ข้อมูลธุรกรรมชุดเดียวกันได้โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง ทำให้สามารถตรวจสอบได้ และมีความปลอดภัยมากขึ้นเมื่อเทียบกับการทำธุรกรรมผ่านสถาบันทางการเงินรวมศูนย์แบบเดิม นอกจากนั้นยังช่วยลดต้นทุนทางการเงิน ทำให้ธุรกรรมโอนมูลค่าระหว่างประเทศเป็นไปได้อย่างสะดวกภายใต้ต้นทุนที่ต่ำลง ผ่านระบบสมาร์ทคอนแทรค (Smart Contract) ที่เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กหรือชุดคำสั่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรม เพราะว่า ชุดคำสั่งนี้เขียนขึ้นให้สามารถดำเนินการได้โดยอัตโนมัติตามคำสั่งเมื่อมีการใส่เหรียญเข้าไป สามารถระบุผู้ซื้อผู้ขายชัดเจน ตรวจสอบ ยืนยัน บังคับใช้ได้ผ่านระบบดิจิทัลปรากฏบนบล็อกเชน โดยไม่จำเป็นต้องมีตัวกลางเช่น ธนาคาร รัฐบาล ตัวแทนต่าง ๆ ทำให้บทบาทของการควบคุมดูแลการเงินของธนาคารไปอยู่ที่ผู้ใช้งานมากกว่าตัวกลางที่คอยกำหนด

ความแปลกใหม่ของนวัตกรรมมักเรียกกระแสความสนใจจากสังคมได้เสมอ แต่การเกิดขึ้นของ สกุลเงินดิจิทัลนั้น มีทั้งข้อดีและข้อเสีย การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลต่าง ๆ หรือที่เรารู้จักกันในนามคริปโตเคอเรนซี่ ไม่ว่าจะเป็น บิทคอยน์ (Bitcoin) อีเธอเรียม (Ethereum) หรือเหรียญอื่น ๆ มีความเสี่ยงและความผันผวนอย่างมาก หากขาดความรู้ความเข้าใจที่ดีพอ อาจเสียประโยชน์จากกิจกรรมนั้น ๆ ได้ ทางผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำให้ศึกษาอย่างถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้กำกับดูแลต้องเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องให้ครบถ้วน และสร้างความตระหนักรู้ หรือ Digital Literacy ให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง

สกุลเงินดิจิทัลไม่ได้เป็นที่สนใจอยู่แค่ในกลุ่มนักธุรกิจและนักลงทุน เพราะธนาคารกลางทั่วโลกต่างก็ศึกษาและทดลองใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อสร้างสกุลเงินดิจิทัลของตัวเองด้วยเช่นกัน Central Bank Digital Currency หรือ CBDC เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางเพื่อเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจ โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ช่วยเพิ่มความโปร่งใส และประสิทธิภาพในการชำระเงิน ประเทศไทยก็เป็นอีกประเทศที่ได้มีการศึกษาและพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของตัวเอง ภายใต้ Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทย และได้มีการทดสอบโอนเงินดิจิทัลข้ามไปยังธนาคารกลางฮ่องกง เป็นสัญญาณที่ดีของระบบเงินดิจิทัลของไทย เมื่อเงินกระดาษที่ประชาชนคุ้นชินกำลังจะอยู่ในรูปแบบเงินดิจิทัลจึงต้องมีการศึกษาอย่างถี่ถ้วน คุณกษิดิศ กล่าวว่า ความปลอดภัยเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าจะเรื่องการปลอมแปลงเงิน แต่เดิมหากเกิดการปลอมแปลงธนบัตร ผลกระทบยังถูกจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่ม/พื้นที่ แต่หากเงินดิจิทัลถูกปลอมแปลงนั้น เป็นเรื่องยากที่จะดูแลควบคุมและประชาชนอาจได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง และความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญในการนำสกุลเงินดิจิทัลนี้ออกไปใช้ เนื่องด้วยช่องว่างทางความรู้ของประชาชนไทยนั้นยังมีมาก หรือ Digital literacy gap ยังไม่ถูกเติมเต็ม จึงเป็นที่น่ากังวลว่า หากนำ ‘บาทดิจิทัล’ ไปใช้อย่างแพร่หลายโดยไม่คำนึงความตระหนักรู้ของประชาชน จะมีกลุ่มคนที่ถูกละทิ้งไว้เบื้องหลังของระบบการเงินนี้ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ไม่มีความรู้เท่าทันเทคโนโลยีต่าง ๆ อาจเป็นช่องทางให้ผู้ไม่ประสงค์ดีเอาเปรียบได้

บทบาทที่สำคัญของ ธปท. คือการกำกับควบคุมการเงินในระบบการเงิน ให้มีความสมดุล ปลอดภัย แต่การเข้ามาของสกุลเงินดิจิทัล สั่นคลอนระบบการเงินในอดีตที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ อย่างเหรียญกษาปณ์และธนบัตร ให้อยู่ในรูปแบบสิ่งที่จับต้องไม่ได้ในระบบดิจิทัล การคำนึงถึงความปลอดภัย เสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้น ไร้พรมแดนมากยิ่งขึ้น สุดท้ายแล้วบทบาทการกำกับดูแลสกุลเงินดิจิทัลของ ธปท. รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) มีหน้าที่กำกับดูแลใกล้เคียงกันแต่มีบทบาทต่างกัน ในกรณีนี้ทาง ธปท. อธิบายว่า บทบาทของ ธปท. นั้น ตามภารกิจหน้าที่ใน พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 เป็นกำลังสำคัญในการรักษาเสถียรภาพการเงินประเทศไทย กำกับดูแลเรื่องของเงิน ควบคุมระบบการเงินมหภาค นโยบายการเงิน การใช้จ่ายต่าง ๆ ในทุกแง่มุมของชีวิตก็จะเข้าไปดูแลในส่วนนั้น ในขณะเดียวกันบทบาทของ กลต. เองก็เป็นในแง่ของการกำกับดูแล ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ ซึ่งสกุลเงินดิจิทัลต่าง ๆ ก็รวมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย ส่วนเรื่องของการลงทุนในสินทรัพย์กับการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลก็เข้าไปบริหารจัดการตามภารกิจหน้าที่ของสำนักงาน เช่น การแลกเปลี่ยนเหรียญระหว่างกันซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายเข้าสู่ระบบการเงินในส่วนนี้ก็จะไม่เข้าข่ายการกำกับดูแลของ ธปท. จึงเป็นหน้าที่ของ กลต.ที่จะต้องควบคุมธุรกิจการแลกเปลี่ยนนั้นให้เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรม ตามอำนาจหน้าที่ในพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 เป็นต้น

หากพูดถึงเรื่องการเงิน ประเด็นสำคัญที่ควรคำนึงถึงเป็นลำดับแรกคือ ความปลอดภัย ความเสี่ยงหรือความไม่ปลอดภัยด้านการเงินที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนเมื่อประเทศไทยจะใช้เงินดิจิทัลในอนาคต มีประเด็นที่น่ากังวล 2 เรื่อง ได้แก่ (1) ความเสี่ยงในภาพรวม ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้เงินที่อาจเปลี่ยนแปลงไป จนทำให้เกิดความเสียหายทั้งส่วนบุคคลและระบบเศรษฐกิจ และ (2) ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยเมื่อเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิทัล เช่น การลืม การถูกขโมยรหัสผ่าน ที่เป็นกุญแจสำคัญในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล รวมไปถึงทรัพย์สินที่เก็บเอาไว้ด้วย ดังนั้น Digital Literacy จึงเป็นสิ่งที่ ธปท. เน้นย้ำถึงการมีความรู้ ความเข้าใจ ให้กว้างและมากที่สุดเพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุ ความผิดพลาดต่าง ๆ เมื่อเวลานั้นมาถึง

ทั้งนี้ สำหรับ ธปท. การปรับใช้เงินดิจิทัลจะเข้ามาแทนที่ระหว่างเงินในรูปแบบที่จับต้องได้กับจับต้องไม่ได้เท่านั้น แต่มูลค่าของเงินในระบบไม่เปลี่ยนไปจากเดิมและไม่ได้กระทบต่อตัวแปรอื่น ๆ ในระบบเศรษฐกิจมาก เช่น การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจมหภาค แต่ในขณะเดียวกัน ธปท. ก็ไม่ได้หยุดนิ่งที่จะเร่งศึกษาถึงบทบาทการเป็นตัวกลางหรือสถาบันทางการเงิน การเปลี่ยนขอบเขตการกำกับดูแลเสถียรภาพ ความเปราะบางของระบบการเงิน ประเด็นการปลอมแปลง รวมไปถึงความมั่นคงปลอดภัย ในการใช้จ่ายด้วยเงินดิจิทัลในอนาคตที่กำลังจะมาถึง รวมทั้งนโยบายการเงินในอนาคตของประเทศเพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าระบบการเงินพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและสะดวกต่อผู้ใช้งานทุกคน

โดยนายจิรเมธ ประเสริฐสุข และนางสาวปัทมพร โวหาร

ฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

อ้างอิงจาก:

  • Central bank digital currencies: foundational principles and core features : https://www.bis.org/publ/othp33.htm
  • อะไรคือ Smart Contract ? แล้วมันทำงานอย่างไร? : https://support.bitkub.com/hc/th/articles/360004414672-อะไรคือ-Smart-Contract-แล-วมันทำงานอย-างไร-
  • พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2510 , สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา : https://www.bot.or.th/Thai/AboutBOT/LawsAndRegulations/DocLib_ThaiLaw/Law_T15_Currency.pdf
  • สรุปสาระสำคัญของพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ : https://www.sec.or.th/TH/Documents/DigitalAsset/digitalasset_summary.pdf)