แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 2565

ในปี 2565 ประเทศไทยจะมีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 (ต.ค.-ธ.ค.) หรือไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2566 โดยวางเป้าหมายในการพลิกโฉมเศรษฐกิจ หากแต่เมื่อพิจารณาตัวชี้วัดที่วางไว้ยังไม่ท้าทายพอที่จะพลิกโฉมเศรษฐกิจได้

ก้าวเข้าสู่ปี 2565 อย่างเป็นทางการ ผู้เขียนขอใช้โอกาสนี้สวัสดีปีใหม่ขออวยพรให้เป็นปีที่น่าจดจำ สุข สมหวังสำหรับ ท่านผู้อ่านทุกคน

ในปี 2565 ปฏิทินเรื่องนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญมีหลายเรื่องด้วยกัน เรื่องหนึ่งที่จะเกิดขึ้นคือการการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 (ต.ค.-ธ.ค.) หรือไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2566

แผนพัฒนาฯฉบับนี้มีเป้าหมายสำคัญในการ“พลิกโฉมเศรษฐกิจไทย”​มีประเด็นทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ เช่น การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า การเพิ่มรายได้เฉลี่ยประชากร การเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวรายได้สูง การลดความเหลื่อมล้ำอย่างเป็นรูปธรรม เป็นต้น

ปัจจุบันร่างแผนพัฒนาฯฉบับที่ 13 ได้ออกสู่สายตาของสาธารณะหน่วยงานราชการเริ่มศึกษาเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำงบประมาณปี 2566 สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดเวทีระดมความคิดเห็นต่อร่างแผนพัฒนาฯฉบับที่13 หลากหลายพื้นที่และหลายกลุ่มความอาชีพผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมระดมความคิดเห็นในกลุ่มสื่อมวลชนได้ฟังข้อมูลจากการชี้แจงจากท่านวิโรจน์ นรารักษ์ รองเลขาธิการ สศช.ทำให้เห็นถึงความสำคัญของการพลิกโฉมประเทศในช่วงระยะเวลา 5 ปีข้างหน้าว่ามีความจำเป็น และมีความท้าทายรออยู่หลายประการ

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาถึงตัวชี้วัดในแต่ละเป้าหมายทำให้เห็นว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้หลายๆด้านยังเป็นการกำหนดเป้าหมาย “แบบอนุรักษ์นิยม” (Conservative)ขาดการกำหนดเป้าหมายที่ท้าทายเพียงพอที่จะพลิกโฉมเศรษฐกิจไทยเช่น ในเรื่องการปรับโครงสร้างการผลิต และบริการสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม มีการวางตัวชี้วัดว่ารายได้ต่อหัวประชากรจะต้องเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่คนไทยมีรายได้เฉลี่ย 7,216.6 ดอลลาร์เพิ่มขึ้นเป็น 8,800 ดอลลาร์เมื่อสิ้นแผนหรือต้องการให้รายได้เฉลี่ยต่อประชากรเพิ่มขึ้น1,583.4 ดอลลาร์ต่อคนถือว่าน้อยเกินไปหรือไม่หากเทียบกับแนวโน้มค่าใช้จ่ายของประชากร อัตราเงินเฟ้อ และค่าครองชีพที่จะสูงขึ้น

อีกตัวชี้วัดเป้าหมายหนึ่งที่น่าจะน้อยเกินไปคือการกำหนดรายได้ที่จะได้รับจากนักท่องเที่ยวรายได้สูงที่จะเข้ามาทดแทนนักท่องเที่ยวทั่วไปโดยตั้งเป้าเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อวันอีกประมาณ 10% ต่อปี ซึ่งการตั้งเป้าหมายในระดับดังกล่าวถือว่าต้องการให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เข้ามาใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแค่ประมาณ 5,000 - 6,000 บาท จากระดับปกติที่มีการใช้จ่ายอยู่ที่ 5 - 6 หมื่นบาทต่อคนต่อทริป ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ต่ำเกินไปเช่นกันเมื่อเทียบกับนโยบายดึงนักท่องเที่ยวรายได้สูงเข้าประเทศ

เมื่อหารือกันถึงเรื่องตัวชี้วัดรองเลขาธิการ สศช.ยอมรับว่าการกำหนดตั้งชี้วัดและเป้าหมายที่ตั้งไว้ต่ำกว่าที่ควรนั้นมาจากการที่หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในข้อเท็จจริงก็คือบางหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องต่างๆเช่นการเพิ่มผลิตภาพการผลิตนั้นขอตั้งเป้าหมายไว้ให้ต่ำกว่าที่ควร เนื่องจากมองว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน (และอนาคต)บรรลุผลได้ยากหากตั้งเป้าหมายไว้สูงกลายเป็นแรงกดดันที่มีต่อหน่วยงานเอง

ได้ฟังแบบนี้ทำให้รู้สึกเป็นห่วงเกี่ยวกับทัศนคติของหน่วยงานเจ้าของเรื่องที่มีความคิดแบบนี้ และเห็นใจหน่วยงานทำแผนฯและติดตามขับเคลื่อนแผนอย่างสภาพัฒน์

ในสถานการณ์ที่โลกเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ประเทศต่างๆแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตายในเวทีโลก

หากในการทำแผนระดับชาติ ประเทศไทยไม่ตั้งเป้าหมายให้ท้าทาย เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายยกระดับเศรษฐกิจของประเทศน่าเป็นห่วงว่าคำว่า “พลิกโฉมเศรษฐกิจไทย” คงเป็นแต่ข้อความบนกระดาษที่คงไม่ได้เกิดขึ้นจริง

สภาพัฒน์จัดงานสัมนาใหญ่ประจำปี “พลิกโฉมประเทศไทย ก้าวไปด้วยกัน” ย้ำความสำคัญแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 พลิกโฉมประเทศไทย ดันรายได้ต่อหัวประชากรเฉลี่ย 300,000 บาท ต่อคนต่อปี ขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนฐานนวัตกรรม สร้างสมดุลสิ่งแวดล้อมยั่งยืน

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (2566 - 2570) ประกาศใช้วันที่ 1 ต.ค. 2565

กันยายน 2565 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดประชุมประจำปี 2565 เรื่อง “พลิกโฉมประเทศไทย ก้าวไปด้วยกัน” ในรูปแบบการประชุมออนไลน์ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีการพัฒนาและประชาชนทุกภาคส่วน ในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 สู่การพลิกโฉมประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

นายสนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า  การจัดประชุมประจำปี 2565 ของ สศช. มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาประเทศภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ที่ต้องการจะสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเพื่อแก้ไขจุดอ่อนและข้อจำกัดที่มีอยู่ในปัจจุบัน พร้อมกับยกระดับขีดความสามารถเพื่อสร้างสรรค์โอกาสจากบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งหวังที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่ประเทศที่มีสังคมก้าวหน้า และเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นภาพอนาคตที่ทุกคนอยากเห็นและอยากให้เกิดขึ้น สะท้อนผ่านแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13

นายดนุชา  พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำเสนอสาระสำคัญของร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และแนวทางการขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ว่า ภายใต้ความท้าทายของการพัฒนาประเทศที่ต้องเผชิญในระยะต่อไปทั้งในเรื่อง การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัล ความร่วมมือในการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับนานาชาติ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเป็นสังคมสูงวัย ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน โรคอุบัติใหม่และภัยโรคระบาด

ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูงดังกล่าว แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ได้กำหนดทิศทาง การพัฒนาบนพื้นฐานของหลักการแนวคิดที่สำคัญ 4 ประการ ได้แก่ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แนวคิด Resilience เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) และโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อมุ่งสู่วัตถุประสงค์หลักของแผนพัฒนาฯ คือการ “พลิกโฉม” ประเทศไทย สู่ “สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน” โดย สศช. ได้ถ่ายทอดวัตถุประสงค์หลักข้างต้นออกมาเป็นเป้าหมายหลัก 5 ประการ คือ

1.การปรับโครงสร้างสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม เพื่อยกระดับรายได้ประชาชาติต่อหัวเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 300,000 บาทต่อปี

2.การพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่ ให้ดัชนีความก้าวหน้าของคน (HAI) อยู่ในระดับสูง

3.มุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม โดยลดความแตกต่างของความเป็นอยู่ระหว่างกลุ่มประชากรต่ำกว่า 5 เท่า

4.เปลี่ยนผ่านการผลิตและการบริโภคไปสู่ความยั่งยืน โดยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่น้อยกว่า 20%  เมื่อเทียบกับปริมาณปกติที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

และ 5.สร้างความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ทั้งในเรื่อง โรคระบาด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความก้าวหน้าทางดิจิทัล และประสิทธิภาพภาครัฐ

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 2565

ทั้งนี้ แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ได้กำหนดหมุดหมายการพัฒนาไว้จำนวน 13 หมุดหมายเพื่อเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อน มีเป้าหมายและทิศทางที่ช่วยในการสนับสนุนการพลิกโฉมประเทศ ที่ครอบคลุม 4 มิติการพัฒนา ได้แก่

1. มิติภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย

หมุดหมายที่ 1 ไทยเป็นประเทศชั้นนำ ด้านสินค้าเกษตร และเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง มุ่งเน้น ใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับการผลิตและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร

หมุดหมายที่ 2 ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน โดยลดการท่องเที่ยวที่เน้นปริมาณ สร้างการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์

หมุดหมายที่ 3 ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก โดยสร้างความพร้อมให้ผู้ประกอบการไทย ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ และเตรียมโครงสร้างพื้นฐานรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า

หมุดหมายที่ 4 ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง มุ่งเน้นยกระดับบริการทางการแพทย์และสุขภาพ  ด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยีขั้นสูง และอัตลักษณ์ไทย

หมุดหมายที่ 5  ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุน และยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค โดยพัฒนาความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนกับต่างประเทศปรับปรุงระบบคมนาคมและ โลจิสติกส์ ให้เชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ

หมุดหมายที่ 6 ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและอุตสาหกรรมดิจิทัลของอาเซียน มุ่งเน้นผลักดันการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในทุกภาคส่วน ต่อยอดอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไปสู่อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

2. มิติโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม

หมุดหมายที่ 7 ไทยมี SMEs ที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง และสามารถแข่งขันได้ โดยสนับสนุนให้ SMEs เข้าถึงเทคโนโลยีและแหล่งเงินทุนที่เหมาะสม สร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่าง SMEs กับรายใหญ่

หมุดหมายที่ 8 ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน
โดยการกระจายความเจริญไปสู่ระดับพื้นที่ และสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก 

หมุดหมายที่ 9 ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม โดยการสนับสนุนครัวเรือนยากจนให้เข้าถึงการศึกษาและการพัฒนาทักษะอาชีพ ตลอดจนสร้างความคุ้มครองทางสังคมที่เหมาะสมและครอบคลุมคนทุกกลุ่ม

3. มิติความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

หมุดหมายที่ 10 ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ ให้ความสำคัญกับการนำขยะและของเสียมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์ รวมถึงเพิ่มการใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

หมุดหมายที่ 11 ไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมุ่งเน้นปรับการใช้ที่ดินให้เหมาะสม จัดทำระบบจัดการน้ำที่สอดรับกับภูมิประเทศและภูมิอากาศ พัฒนาการแจ้งเตือนภัยให้แม่นยำและทันเวลา

4. มิติปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ

หมุดหมายที่ 12 ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต โดยเพิ่มกำลังคนคุณภาพรองรับภาคการผลิตเป้าหมาย และพัฒนาระบบนิเวศเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต