แหลมมลายูเคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของพวกใด *

ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 ส.ค. – 16 ส.ค. 2550 บทความพิเศษ โดย ภูมิ พิทยา ในเรื่อง ปัญหาชนชาติและศาสนา (4)

 

มาเลเซียเป็นอีกประเทศที่มีปัญหาชนชาติ ซึ่งมีความละเอียดอ่อนและง่ายต่อการถูกปลุกให้เกิดความรุนแรง ปัญหาชนชาติของมาเลเซียมีอยู่เรื่องเดียวเท่านั้น คือความสัมพันธ์ระหว่างคนมลายูกับอีกสองชนชาติใหญ่ซึ่งได้แก่คนจีนกับคนอินเดีย โดยเฉพาะกับคนจีน

ประเทศมาเลเซียประกอบด้วยดินแดนสองส่วน คือส่วนที่ตั้งอยู่บนแหลมมลายูที่เรียกว่ามลายา กับส่วนที่อยู่ภาคเหนือของเกาะบอร์เนียว พลเมืองของมาเลเซียประมาณ 80% อาศัยอยู่ในมลายา

มลายาตอนที่ได้รับเอกราชเมื่อปี 1957 มีสัดส่วนประชากรประกอบด้วยชาวมลายู 49% ชาวจีน 38% ชาวอินเดีย 11% ต่อมาชาวมลายูได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากอัตราการเกิดที่สูงกว่าชนชาติอื่น ส่วนชาวจีนกลับมีสัดส่วนลดลงเรื่อยๆ เพราะมีอัตราการเกิดที่ต่ำกว่าและอพยพไปอยู่ประเทศอื่นจำนวนมาก

สัดส่วนประชากรในมาเลเซียปัจจุบันจึงกลายเป็นชาวมลายู 60% ชาวจีน 25% และชาวอินเดีย 9% นอกนั้นเป็นชาวพื้นเมืองบนเกาะบอร์เนียวและชนชาติอื่นๆ

ชาวมลายูเรียกตัวเองว่า “ภูมิบุตร” ถือเป็นเจ้าของแผ่นดิน พวกเขาได้อพยพเข้ามาสู่แหลมมลายูและหมู่เกาะอินโดนีเซียตั้งแต่ก่อนสมัยคริสตกาล ต่อมาได้รับเอาอารยธรรมจากอินเดีย และได้ก่อตั้งอาณาจักรที่นับถือศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธขึ้นมาหลายแห่งบนเกาะชวา สุมาตราและแหลมมลายู อาณาจักรเหล่านี้มีความเจริญรุ่งเรืองมาก ซึ่งเห็นได้จากความยิ่งใหญ่ของโบราณสถานที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบัน เช่น ปราสาทปรัมบานันและบุโรพุทโธในชวา เป็นต้น

ศาสนาอิสลามเริ่มแพร่เข้าสู่หมู่เกาะอินโดนีเซียและแหลมมลายูเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 13 ชาวมลายูต่างหันไปนับถือศาสนาอิสลาม และได้ก่อตั้งรัฐสุลต่านตามรูปแบบปกครองอิสลามขึ้นมาหลายแห่ง รัฐที่สำคัญที่สุดบนแหลมมลายูคือมะละกา ซึ่งเริ่มก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ.1403 รัฐนี้เป็นจุดเชื่อมต่อของเส้นทางการค้าหลายสายทั้งที่มาจากจีน จากหมู่เกาะอินโดนีเซียและจากอินเดีย จึงสามารถเก็บภาษีสินค้าผ่านแดนได้มากมาย จนกลายเป็นรัฐที่มั่งคั่งที่สุดในภูมิภาคนี้

ในระยะที่ศาสนาอิสลามกำลังแพร่เข้าสู่เอเชียอาคเนย์ เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ชาวยุโรปมีความต้องการสินค้าจากตะวันออกโดยเฉพาะเครื่องเทศอย่างมาก แต่การค้าขายกับตะวันออกถูกกีดกันจากจักรวรรดิออตโตมาน (Ottoman) ของพวกเติร์ก และถูกผูกขาดโดยพ่อค้าเวนิสที่ได้รับสัมปทานจากออตโตมาน ชาวยุโรปชาติอื่นจึงพยายามค้นหาเส้นทางอื่น เพื่อไปค้าขายกับดินแดนตะวันออกโดยตรง

โปรตุเกสเป็นชาวยุโรปชาติแรกที่บุกเบิกเส้นทางไปยังตะวันออก โดยการเดินเรือเลียบชายฝั่งแอฟริกาไปเรื่อยๆ โปรตุเกสใช้ความพยายามนานถึง 80 ปี ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ เมื่อ วาสโก ดา กามา (Vasco Da Gama) นำกองเรือเดินทางอ้อมทวีปแอฟริกาไปถึงอินเดียในปี ค.ศ.1498

หลังจากตั้งหลักที่อินเดียได้แล้ว โปรตุเกสได้สร้างอาณาจักรผูกขาดการค้าที่ครอบคลุมทั่วมหาสมุทรอินเดียขึ้นมา ด้วยการใช้เรือปืนบังคับไม่ให้ชาติอื่นทำการค้า เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากโปรตุเกสเท่านั้น ขณะเดียวกันก็พยายามเข้ายึดดินแดนต่างๆ ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์หรือเป็นศูนย์กลางการค้าที่อยู่รายรอบมหาสมุทรอินเดีย

เรือโปรตุเกสมาถึงมะละกาครั้งแรกในปี 1509 ความมั่งคั่งของมะละกาได้กระตุ้นให้ชาวโปรตุเกสเกิดความโลภที่จะเข้าครอบครอง สองปีต่อมาคือปี 1511 กองเรือโปรตุเกสก็เข้ายึดมะละกาได้สำเร็จ มะละกาจึงนับเป็นอาณานิคมแห่งแรกของชาวยุโรปในเอเชียอาคเนย์ และเหตุการณ์ครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นของการล่าอาณานิคมที่ทำให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ตกเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตกเกือบทั้งหมด

เนเธอร์แลนด์เป็นนักล่าอาณานิคมรุ่นที่สองที่มีบทบาทสำคัญในเอเชียอาคเนย์ต่อจากโปรตุเกสและสเปน เนเธอร์แลนด์ได้เข้ายึดมะละกาจากโปรตุเกสเมื่อปี 1641 จากนั้นอังกฤษก็เข้ามาเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคนี้ อังกฤษได้เกาะหมาก (ปีนัง) ในปี 1786 ได้สิงคโปร์ในปี 1819 และได้มะละกาจากเนเธอร์แลนด์เมื่อปี 1824 อังกฤษได้รวมดินแดนเล็กๆ ทั้งสามแห่งนี้จัดตั้งเป็นอาณานิคมช่องแคบ (Straits Settlements) เมื่อปี 1826 แล้วหาจังหวะขยายอำนาจเข้าสู่ดินแดนส่วนอื่นของแหลมมลายูต่อไป

อังกฤษสบโอกาสเมื่อเกิดความวุ่นวายจากการแย่งชิงบัลลังก์สุลต่านรัฐเประและการปะทะของชาวจีนสองกลุ่มที่สนับสนุนผู้ชิงบัลลังก์สุลต่านคนละฝ่าย ผู้ว่าฯ อังกฤษได้ยื่นมือเข้าไปไกล่เกลี่ยยุติปัญหา แล้วบีบให้เประเซ็นสัญญายอมให้อังกฤษส่งเจ้าหน้าที่มาประจำในราชสำนัก เพื่อให้คำแนะนำในการบริหารราชการที่ฝ่ายเประจะต้องปฏิบัติตาม ยกเว้นกิจการที่เกี่ยวกับศาสนาและประเพณีเท่านั้น

เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 1874 ซึ่งมีผลให้เประตกเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษ หลังจากนั้นอังกฤษก็ได้ทำสัญญาแบบเดียวกันนี้กับรัฐอื่นๆ รัฐมลายูต่างๆ จึงทยอยตกอยู่ใต้อำนาจของอังกฤษ

อังกฤษได้ 4 รัฐมลายูจากไทยเมื่อปี 1909 จากนั้นในปี 1914 อังกฤษได้เซ็นสัญญากับยะโฮร์ ซึ่งเป็นรัฐสุดท้ายที่ยินยอมให้อังกฤษส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำ ดินแดนมาเลเซียส่วนที่เป็นแหลมมลายูจึงอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษโดยเด็ดขาดตั้งแต่บัดนั้น

การปกครองอาณานิคมของอังกฤษต่างกับโปรตุเกสและเนเธอร์แลนด์ตรงที่อังกฤษมิได้มุ่งหวังผลประโยชน์จากการค้าและขูดรีดชาวพื้นเมืองหนักหน่วงเหมือนสองประเทศนั้น อังกฤษได้วางรากฐานการปกครอง ฝึกอบรมชาวพื้นเมืองให้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับล่าง จัดตั้งโรงเรียนสอนวิทยาการสมัยใหม่แก่ชาวพื้นเมือง พัฒนาสาธารณูปโภคต่างๆ และที่สำคัญคือการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ เพื่อให้อาณานิคมสามารถเลี้ยงตัวเองได้

นโยบายของอังกฤษแม้มีจุดมุ่งหมายเพื่อแสวงหาผลประโยชน์สูงสุดจากอาณานิคมและให้ตนอยู่ได้นานที่สุดก็ตาม แต่ก็นับว่าเป็นการปูพื้นฐานที่ดีแก่อาณานิคม ซึ่งช่วยให้ดินแดนอาณานิคมยืนอยู่ได้ค่อนข้างมั่งคงภายหลังได้รับเอกราช

กิจกรรมทางเศรษฐกิจในแหลมมลายูที่อังกฤษให้การส่งเสริมเป็นพิเศษได้แก่การทำเหมือนแร่ดีบุกและการทำสวนยางพารา กิจการทั้งสองชนิดนี้ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก อังกฤษพบว่าชาวมลายูไม่นิยมทำงานรับจ้าง จึงใช้วิธีรับคนจีนและคนอินเดียเข้ามาเป็นแรงงานในเหมืองแร่และสวนยาง คนจีนและคนอินเดียจึงทยอยเดินทางเข้ามาเรื่อยๆ จนกลายเป็นกลุ่มชนสำคัญในแหลมมลายู

คนจีนได้เข้ามาตั้งรกรากในแหลมมลายูตั้งแต่สมัยรัฐสุลต่านมะละกา คนจีนกลุ่มแรกๆ ได้แต่งงานกับสตรีชาวพื้นเมืองและหันไปนับถือศาสนาอิสลาม แต่ยังรักษาวัฒนธรรมประเพณีจีนอย่างเหนียวแน่น ทายาทของคนเหล่านี้ถูกเรียกว่า “บาบ๋า” ซึ่งนับเป็นกลุ่มชนพิเศษกลุ่มหนึ่งของมาเลเซีย

คนจีนเริ่มหลั่งไหลเข้าสู่แหลมมลายูและดินแดนอื่นภายหลังจีนแพ้สงครามฝิ่นครั้งที่สองในปี 1860 รัฐบาลจีนถูกบังคับให้เซ็นสัญญายอมให้ชาติตะวันตกเข้าไปรับสมัครแรงงานจีนไปทำงานต่างประเทศ คนจีนจำนวนมากจึงถูกส่งออกนอกประเทศในฐานะแรงงานสัญญาหรือที่เรียกว่า “ลูกหมู” คนเหล่านี้จะต้องทำงานโดยไม่ได้รับค่าแรงระยะหนึ่งเพื่อชดใช้ค่าเดินทาง จากนั้นถึงจะเป็นอิสระ

คนจีนในแหลมมลายูเกือบทั้งหมดมาจากมณฑลกวางตุ้งและมณฑลฮกเกี้ยน พวกเขาจะเข้ามาอาณานิคมของอังกฤษก่อน แล้วถูกส่งไปทำงานตามที่ต่างๆ เมื่อครบสัญญาส่วนใหญ่จะอพยพเข้าไปเประ สลังงอร์และเนกรีเซมบีลัน ซึ่งเป็นรัฐที่มีเหมืองแร่ดีบุกมาก เพื่อไปเป็นกรรมกรในเหมืองแร่หรือไปร่อนแร่เองในรัฐเหล่านี้

คนอินเดียถูกรับเข้ามาเป็นแรงงานในสวนยางพารา พวกเขาเกือบทั้งหมดเป็นชาวทมิฬ นับถือศาสนาฮินดู นอกจากนี้ ยังมีชาวอินเดียกลุ่มอื่นๆ จำนวนไม่มากที่เข้ามาแหลมมลายูในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐบาล ตำรวจและคนรับใช้ที่ติดตามนายจ้างอังกฤษเข้ามา

ในการปกครองมาลายา อังกฤษได้ดำเนินนโยบายที่ให้คนสามกลุ่มมีการแบ่งแยกกันอย่างชัดเจน ในด้านการเมือง อังกฤษยกย่องฐานะของสุลต่านมลายู รับคนมลายูเข้าไปเป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาล และปลูกฝังให้คนมลายูเกิดความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของประเทศ ส่วนคนจีนและคนอินเดียแทบไม่มีสิทธิทางการเมืองใดๆ

ในด้านเศรษฐกิจ อังกฤษได้ประกาศกฎหมายสงวนที่ดินมลายู ห้ามคนมลายูขายที่ดินให้คนชาติอื่น จึงเท่ากับผูกมัดให้คนมลายูต้องเป็นชาวนาชาวสวนและชาวประมงเท่านั้น ชาวมลายูจึงกลายเป็นกลุ่มคนที่มีฐานะยากจนที่สุด ในขณะที่คนจีนส่วนใหญ่มีอาชีพทำเหมืองแร่ดีบุกและทำการค้า ส่วนชาวอินเดียทำงานในสวนยางและเป็นพนักงานในกิจการต่างๆ ของรัฐ คนจีนกับคนอินเดียแม้ไม่มีที่ดิน แต่ก็มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าคนมลายูชนิดเทียบกันไม่ติด

ในด้านวัฒนธรรม อังกฤษได้จัดตั้งโรงเรียนที่สอนด้วยภาษาอังกฤษแก่บุตรหลานของชนชั้นสูงมลายู และจัดตั้งโรงเรียนที่สอนด้วยภาษามลายูแก่คนมลายูทั่วไป ส่วนการศึกษาของคนจีนและคนอินเดีย อังกฤษไม่ได้สนใจแต่อย่างใด คนสองชนชาตินี้จึงจัดตั้งโรงเรียนขึ้นมาสอนบุตรหลานของตนเอง การศึกษาของสามชนชาตินี้จึงแยกทางกันโดยสิ้นเชิง ทำให้ต่างฝ่ายต่างรักษาวัฒนธรรมของตนไว้ได้อย่างเหนียวแน่น และแทบไม่มีทางหลอมเข้าด้วยกัน

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นได้เข้ายึดมาลายานานเกือบ 4 ปี ญี่ปุ่นได้กดขี่ปราบปรามคนจีนอย่างหนัก ในขณะเดียวกัน กลับส่งเสริมฐานะของคนมลายู ให้คนมลายูมีส่วนร่วมในการปกครองมากขึ้น และได้จัดตั้งกองกำลังอาสาสมัครมลายู ให้เข้าร่วมปราบปรามกองกำลังของพรรคอมมิวนิสต์มาลายาซึ่งมีสมาชิกเป็นคนจีนเกือบหมด การกระทำของญี่ปุ่นได้ก่อให้เกิดความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์กันระหว่างคนมลายูกับคนจีน ความรู้สึกนี้ได้เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดการปะทะรุนแรงก่อนที่สงครามโลกจะยุติ

หลังสงครามโลก ปัญหาเอกราชและฐานะของกลุ่มชนทั้งสามในมลายาเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจและพยายามสร้างเงื่อนไขให้ฝ่ายตนได้ประโยชน์มากที่สุด ในที่สุดความต้องการของชาวมลายูได้รับการยอมรับจากอังกฤษ อังกฤษได้ประกาศจัดตั้งสหพันธรัฐมลายาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 1948 สหพันธรัฐฯ ให้การรับรองสิทธิพิเศษของสุลต่านมลายูและชาวมลายู และจำกัดสิทธิในการเป็นพลเมืองของชาวจีนกับชาวอินเดียด้วยเงื่อนไขเข้มงวด ชาวจีนกับชาวอินเดียแม้จะไม่พอใจ แต่ก็ต้องยอมรับสภาพ

ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชนทั้งสามในมลายาเริ่มดีขึ้นในต้นทศวรรษ 1950 เมื่อผู้นำทางการเมืองของทั้งสามชนชาติต่างเล็งเห็นว่าจะต้องร่วมมือกัน เพื่อให้อังกฤษมอบเอกราชแก่มลายาโดยเร็วและสร้างประเทศที่มีความสมานฉันท์ภายหลังได้รับเอกราช พรรคอัมโนของชาวมลายูกับพรรคสมาคมชาวจีนได้ร่วมมือกันเป็นครั้งแรกในการเลือกตั้งสภาท้องถิ่นที่กัวลาลัมเปอร์เมื่อปี 1952 ผลปรากฏว่าได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น ตั้งแต่นั้นมาสองพรรคนี้จึงผูกติดเป็นพันธมิตรมาตลอด

ต่อมาพรรคคองเกรสอินเดียได้เข้าร่วมพันธมิตรด้วย การเมืองมาเลเซียจึงออกมาในรูปแบบที่ไม่เหมือนประเทศใดในโลกคือ พรรคการเมืองเป็นของชนชาติเดียว แต่มีการสร้างพันธมิตรของพรรคการเมืองต่างชนชาติเพื่อผลในการเลือกตั้ง และหากชนะเลือกตั้งก็จะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน

อังกฤษได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในมาลายาเมื่อเดือนกรกฎาคม 1955 กลุ่มพันธมิตรที่ประกอบด้วยพรรคอัมโน พรรคสมาคมชาวจีนและพรรคคองเกรสอินเดียได้รับชัยชนะเด็ดขาด สามารถกวาดที่นั่งในสภาเกือบหมด ตนกู อับดุล ราห์มัน (Tunku Abdul Rahman) ผู้นำของพันธมิตรได้รับแต่งตั้งเป็นมุขมนตรี หลังจากนั้นผู้นำของทั้งสามพรรคได้เจรจาเกี่ยวกับฐานะของสามชนชาตินี้อีกครั้งหนึ่ง

ในที่สุดก็บรรลุข้อตกลง โดยชาวมลายูยินยอมลดเงื่อนไขการเป็นพลเมืองของชาวจีนและชาวอินเดียลง ส่วนอีกสองชนชาติยอมรับสิทธิพิเศษของชาวมลายู

มลายาได้รับเอกราชสมบูรณ์เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 1957 ความสัมพันธ์ระหว่างสามชนชาติใหญ่ภายหลังเอกราชค่อนข้างราบรื่น โดยที่ต่างฝ่ายต่างยอมรับฐานะและบทบาทของตนเองกับของฝ่ายอื่น ชาวมลายูถือเป็นชนชาติสำคัญที่สุดของประเทศ ประมุขของประเทศเลือกมาจากสุลต่านของรัฐต่างๆ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีส่วนใหญ่เป็นชาวมลายู ภาษามลายูเป็นภาษาราชการ ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ

นอกจากนี้ ชาวมลายูยังได้รับสิทธิพิเศษในการเข้าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาลและสิทธิในการรับอนุญาตประกอบกิจการค้าบางอย่าง ส่วนชาวจีนกับชาวอินเดีย แม้สิทธิทางการเมืองจะไม่เท่าชาวมลายู แต่ก็มีความอิสระในการประกอบอาชีพ โดยไม่มีการจำกัดหรือกีดกันใดๆ ชาวจีนสามารถสร้างความมั่งคั่งจากการค้าและอุตสาหกรรมที่พัฒนาอย่างรวดเร็วภายหลังเอกราช จนกลายเป็นกลุ่มชนที่มีฐานะดีที่สุดในมลายา ส่วนชาวอินเดียมีฐานะรองจากชาวจีน

มลายาได้รวมกับสิงคโปร์ ซาราวักและซาบาห์จัดตั้งเป็นสหพันธรัฐมาเลเซียเมื่อวันที่ 16 กันยายน 1963 สิงคโปร์ถอนตัวออกไปในอีกสองปีต่อมา ในสมัยที่เป็นมาเลเซีย ความสัมพันธ์ของสามชนชาติใหญ่ยังเป็นไปเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

จุดสำคัญที่เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างชนชาติในมาเลเซียเกิดเมื่อปี 1969 ซึ่งเป็นปีที่มีการเลือกตั้งทั่วไป ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าพันธมิตรฝ่ายรัฐบาลเสียที่นั่งในสภาไม่น้อยแก่ฝ่ายค้านที่มีพรรคกิจประชาธิปไตยของคนจีนเป็นแกนนำ ผู้สนับสนุนพรรคกิจประชาธิปไตยได้เดินขบวนฉลองชัยในกัวลาลัมเปอร์และมีการกระทบกระทั่งกับชาวมลายูที่สนับสนุนพรรคอัมโน

ต่อมาเมื่อถึงวันที่ 13 พฤษภาคม ก็กลายเป็นการปะทะนองเลือดระหว่างชาวมลายูกับชาวจีนและชาวอินเดีย แล้วลุกลามไปยังเมืองอื่น เหตุร้ายที่เกิดขึ้นทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 150 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวจีน

เหตุการณ์ครั้งนี้นับเป็นกรณีจลาจลชนชาติที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของมาเลเซีย

หลังเหตุการณ์จลาจล รัฐบาลมาเลเซียได้ศึกษาวิเคราะห์สาเหตุที่นำไปสู่การจลาจล ในที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่า ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างชนชาติเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ชาวมลายู จนนำไปสู่ความเกลียดชังและการนิยมใช้ความรุนแรงต่อชนชาติอื่น ส่วนการแสดงออกที่ไม่มีข้อจำกัดของนักการเมืองและสื่อมวลชนเป็นฉนวนที่นำไปสู่เหตุร้าย ดังนั้น รัฐบาลมาเลเซียภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี ตน อับดุล ราซัค (Tun Abdul Razak) จึงได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาที่เป็นต้นตอของความขัดแย้งทางชนชาติ

มาตรการเหล่านี้ได้รับการสืบทอดและปฏิบัติอย่างแข็งขันในช่วงการปกครองที่นานถึง 22 ปีของนายกรัฐมนตรี มหาธีร์ โมฮัมหมัด (Mahathir Mohamad) จนกลายเป็นหลักการพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างชนชาติในมาเลเซีย

มาตรการสำคัญที่รัฐบาลมาเลเซียประกาศใช้ได้แก่ การห้ามอภิปราย วิจารณ์ ถกเถียงเรื่องละเอียดอ่อนทางชนชาติ เช่น ฐานะและอำนาจของสุลต่าน การใช้ภาษามลายูเป็นภาษาราชการ การประกาศให้ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ สิทธิพิเศษของชาวมลายู เป็นต้น ผู้ฝ่าฝืนจะมีความผิด แม้กระทั่งการอภิปรายในรัฐสภาก็ทำไม่ได้

มาตรการอีกข้อหนึ่งคือการจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน การเสนอข่าวสารของสื่อแขนงต่างๆ ถูกควบคุมอย่างเข้มงวด สื่อสิ่งพิมพ์และสื่อวัฒนธรรมของต่างประเทศที่เข้ามามาเลเซียจะต้องถูกตรวจสอบและวางเงินประกันก่อนแพร่ไปยังสาธารณะ

มาตรการทางเศรษฐกิจเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่มีผลกระทบลึกซึ้งต่อความสัมพันธ์ระหว่างชนชาติ รัฐบาลมาเลเซียได้ทุ่มงบประมาณมหาศาลในการพัฒนาการผลิตทางการเกษตรและปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวมลายูในชนบท รัฐบาลยังซื้อกิจการต่างชาติและจัดตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นมาจำนวนมาก แล้วกระจายหุ้นในรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ให้คนมลายูถือครอง นอกจากนี้ รัฐบาลยังออกกฎหมายกำหนดให้กิจการเอกชนตั้งแต่ขนาดกลางขึ้นไปต้องมีหุ้นของชาวมลายูไม่ต่ำกว่า 30% และต้องมีคนงานมลายูไม่ต่ำกว่า 50%

กฎหมายนี้ได้สร้างความลำบากในการประกอบกิจการของชาวจีนอย่างมาก

ส่วนมาตรการทางสังคมที่สำคัญได้แก่การกำหนดให้มหาวิทยาลัยรับสมัครนักศึกษามลายูก่อนชนชาติอื่น นโยบายนี้มีผลโดยตรงต่อนักเรียนชาวจีนและชาวอินเดียที่มีผลการเรียนดี แต่ไม่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยในมาเลเซีย คนเหล่านี้จึงหันไปเล่าเรียนในต่างประเทศ เมื่อเรียนจบมีจำนวนไม่น้อยไม่ยอมกลับมาเลเซีย

ผลจากการดำเนินมาตรการดังที่กล่าวมา ทำให้ปัญหาชนชาติในมาเลเซียแทบไม่มีโอกาสประทุขึ้นอีก ความสมานฉันท์ของคนในชาติถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี มาเลเซียกลายเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมืองและสังคมสูงประเทศหนึ่งในภูมิภาคนี้

มาตรการทางเศรษฐกิจช่วยให้ฐานะของชาวมลายูกระเตื้องขึ้นมาก จำนวนชนชั้นกลางมลายูเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กิจการขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อประเทศส่วนใหญ่อยู่ในมือคนมลายู แม้รายได้เฉลี่ยของคนมลายูยังน้อยกว่าคนจีนและคนอินเดีย แต่ก็นับว่าดีขึ้นกว่าก่อนมาก

อย่างใดก็ตาม ผลทางด้านลบก็มีไม่น้อยเช่นกัน รัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลทุ่มเงินมหาศาลก่อตั้งขึ้นมา ส่วนใหญ่ตกอยู่ในสภาพขาดทุนและเต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่น เงินกู้ที่ให้เกษตรกรรายย่อยมลายูกู้ยืมส่วนใหญ่กลายเป็นหนี้สูญ ชาวมลายูชั้นบนที่เป็นนักการเมือง ข้าราชการระดับสูงและวงศาคณาญาติของพวกเขาต่างร่ำรวยจากมาตรการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและมาตรการทางเศรษฐกิจอื่นๆ ในขณะที่ชาวมลายูจำนวนไม่น้อยยังมีฐานะยากจนเหมือนเดิม

คนจีนเป็นกลุ่มชนที่ถูกกระทบจากมาตรการทางเศรษฐกิจและสังคมมากที่สุด คนจีนที่เป็นเจ้าของกิจการถูกกีดกันไม่ให้ดำเนินธุรกิจบางอย่างและถูกจำกัดด้วยมาตรการสัดส่วนหุ้นและสัดส่วนคนงาน พวกเขาจึงหาทางออกด้วยการไปลงทุนในประเทศอื่นหรืออพยพไปอยู่ต่างประเทศ

แต่ก็มีคนจีนไม่น้อยที่ใช้วิธีพลิกแพลงทำธุรกิจที่เรียกว่า “อาลีบาบา” อาลีหมายถึงคนมลายู บาบาหมายถึงคนจีน

กิจการแบบนี้คนจีนเป็นผู้ลงทุนทั้งหมดและเป็นผู้บริหาร แต่มีการแบ่งหุ้นจำนวนหนึ่งหรือมอบตำแหน่งกรรมการให้คนมลายูที่มีสายสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจ แล้วใช้คนมลายูเหล่านี้ออกหน้าขอใบอนุญาตหรือสิทธิพิเศษต่างๆ

ธุรกิจจึงลื่นไหลไปได้เหมือนมีคาถาวิเศษของอาลีบาบา

ผลกระทบต่อคนจีนที่เป็นชนชั้นกลางรุนแรงยิ่งกว่าคนจีนร่ำรวยเสียอีก พวกเขานอกจากถูกกีดกันด้านการศึกษาแล้ว ยังถูกกีดกันโอกาสในการทำงานและความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ทั้งในหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจและกิจการที่คนมลายูเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คนจีนกลุ่มนี้จึงเป็นพวกที่อพยพไปอยู่ต่างประเทศมากที่สุด

ส่วนคนจีนระดับล่างที่เป็นกรรมกรก็ต้องเสียโอกาสในการทำงานเพราะมาตรการกำหนดสัดส่วนคนงาน ทั้งที่คนงานจีนมีความสามารถในการแข่งขันสูงกว่าและเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานมากกว่า