กฎหมายแรงงาน เกี่ยวกับ นายจ้าง

กฎหมายแรงงาน เกี่ยวกับ นายจ้าง


กระทรวงยุติธรรม เสนอกฎหมายน่ารู้ ตอน : “ถูกให้ออกจากงาน ลูกจ้างต้องได้รับค่าชดเชย”


เงินค่าชดเชยที่นายจ้างจะต้องชดเชย สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ และตามกฎหมายลูกจ้างต้องได้รับค่าชดเชย ดังนี้
1. ค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างกรณีทั่วไป (รวมถึงการเลิกจ้าง เพราะสถานการณ์โควิด - 19)
• หากลูกจ้างทำงานมายังไม่ถึง 120 วัน นายจ้างจะไม่จ่ายค่าชดเชยก็ได้
• หากลูกจ้างทำงานมาแล้ว 120 วัน - 1 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 30 วัน ในอัตราสุดท้าย
• หากลูกจ้างทำงานมาแล้ว 1 - 3 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 90 วัน ในอัตราสุดท้าย
• หากลูกจ้างทำงานมาแล้ว 3 - 6 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 180 วัน ในอัตราสุดท้าย
• หากลูกจ้างทำงานมาแล้ว 6 - 10 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 240 วัน ในอัตราสุดท้าย
• หากลูกจ้างทำงานมาแล้ว 10 - 20 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 300 วัน ในอัตราสุดท้าย
• หากลูกจ้างทำงานมาแล้ว 20 ปีขึ้นไป นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 400 วัน ในอัตราสุดท้าย


2. ค่าเสียหายจากการไม่บอกกล่าวล่วงหน้า
•ค่าเสียหายนี้เกิดในกรณีหากนายจ้าง "ไล่ออก" ทันทีโดยไม่บอกล่วงหน้า ถือว่า นายจ้างทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน นอกจากจะต้องจ่ายค่าชดเชยตามกรณีเลิกจ้างทั่วไป ตามข้อ 1 แล้ว (มาตรา 118) ยังต้องจ่ายค่าเสียหายจากการไม่บอกกล่าวล่วงหน้าด้วย ตามมาตรา 17/1 เป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างในอัตราที่ลูกจ้างได้รับอยู่อัตราสุดท้าย คิดเต็มจำนวนเสมือนหนึ่งว่านายจ้างได้บอกกล่าวล่วงหน้าให้เตรียมตัวก่อนออกจากงาน แต่ค่าเสียหายจำนวนนี้จะคิดอย่างมากที่สุด ไม่เกินค่าจ้างสามเดือน

ข้อมูลจาก : พระราชบัญญัติ คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 มาตรา 118 และมาตรา 17/1

พนักงานหรือแรงงานทุกคนมีสิทธิในการลางาน แต่ว่าจะต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดตามเงื่อนไขของบริษัทและภายใต้กฎหมายแรงงานด้วย เราจะลาหยุดไปเองแบบสุ่มสี่สุ่มห้านั้นไม่ได้ โดนเตือนและถูกเชิญออกได้เร็วแน่นอนหากทำแบบนั้น
วันลา คือ วันที่ลูกจ้างนั้นใช้สิทธิในการลาหยุดงานได้อันเนื่องจากเหตุต่าง ๆ โดยต้องได้รับการอนุญาตจากนายจ้าง ไม่ว่าจะลาอะไรก็ตาม ก็มีทั้ง ลาป่าย ลากิจ ลาไปพัฒนาตัวเอง ลาคลอด ฯลฯ มาดูกันว่าสิทธิในการลาในแต่ละอย่างตามกฎหมายแล้วเป็นแบบไหน จะได้ทำตามกฎได้อย่างถูกต้อง

1. การลาป่วย

สำหรับการลาป่วยตามมาตรา 32 นั้นลูกจ้างมีสิทธิลาได้เท่าที่ป่วยจริง ๆ หากป่วยและลาตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป ที่เป็นวันทำงานจะต้องแสดงใบรับรองแพทย์ หากในกรณีที่แสดงไม่ได้ให้ลูกจ้างชี้แจงให้นายจ้างทราบ ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างในวันลาป่วยเท่ากับค่าจ้างในวันทำงาน ตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 30 วัน/ปี 

ตามมาตรา 57 นายจ้างผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 57 นี้จะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท ตามมาตรา 146 ฉะนั้นแล้วในการลาป่วยก็ต้องทำให้ถูกกฎหมายแรงงานด้วย บางกรณีเราก็ยังได้รับค่าจ้างอยู่เหมือนเดิม

2. การลาไปทำหมัน

เป็นสิทธิที่ลูกจ้างสามารถลาได้เพื่อการทำหมัน ระยะเวลาขึ้นอยู่กับข้อกำหนดและการออกใบรับรองแพทย์ ให้นายจ้างจ่ายค่าตอบแทนในวันลาเพื่อทำหมันเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา ตามใบรับรองแพทย์ (มาตรา 57) นายจ้างผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 57 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท (มาตรา 146)

3. การลากิจ (ธุระอันจำเป็น)

การลาแบบนี้เอาไว้ใช้ในการกรณีที่มีเรื่องฉุกเฉินเร่งด่วนจำเป็นจะต้องลา พนักงานก็สามารถใช้สิทธิในการลากิจได้เพื่อไปทำธุระจำเป็น ซึ่งการลากิจไปทำอะไรนั้นก็จะต้องเป็นธุระที่คนอื่นไม่สามารถจะทำแทนได้ 

และต้องเป็นการลาภายใต้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและตามกฎหมายแรงงาน ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างในวันเพื่อกิจธุระอันจำเป็น เท่ากับในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 3 วัน/ปี หากนายจ้างไม่จ่าย อาจจำต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

4. ลาเพื่อรับราชการทหาร

หลายบริษัทเลยมักจะรับพนักงานที่ผ่านการเกณฑ์ทหารมาแล้วเพื่อเลี่ยงการที่พนักงานจะใช้วันลาข้อนี้นั่นเอง ตามมาตรา 35 ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อรับราชการทหารเพื่อฝึกวิชาชีพทหารได้ตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างในวันลาเพื่อรับราชการทหารเท่ากับค่าจ้างในวันทำงาน ตลอดระยะเวลาที่ลาแต่ไม่เกิน 60 วัน/ปี (มาตรา 58) นายจ้างผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 58 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท  (มาตรา 146)

5. การลาเพื่อไปพัฒนาความรู้

ตามมาตรา 36 ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อฝึกอบรมหรือพัฒนาความรู้ ความสามารถได้ไม่เกิน 30 วันหรือ 3 ครั้ง/ปี ซึ่งลูกจ้างจะต้องมีหลักสูตรและกำหนดวันเวลาที่แน่นอนชัดเจน ลูกจ้างต้องแจ้งต่อนายจ้างไม่น้อยกว่า 7 วันให้ถือเป็นการลาโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งก็ต้องดูเป็นกรณีไป 

6. การลาเพื่อคลอดบุตร

ตามมาตรา 41 ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ มีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตรไม่เกิน 98 วัน/ปี ยื่นคำขอเพื่อลาคลอดล่วงหน้าพร้อมใบรับรองแพทย์ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างในวันลาเพื่อคลอดบุตรเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา ไม่เกิน 45 วัน (มาตรา 59) นายจ้างผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 59 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท (มาตรา 146)

ตามกฎหมายแรงงานแล้วการลาทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นพนักงานก็มีสิทธิในการใช้วันลาตามเหตุสมควร หากบริษัทไหนไม่ให้ลาก็จะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย นอกจากการมีสิทธิลาแล้วในกรณีอย่างอื่นกฎหมายคุ้มครองแรงงานก็ช่วยได้อย่างกรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าตอบแทน จ่ายแต่ไม่ครบ หรือกรณีที่พนักงานเองทำผิดก็มีบทลงโทษอย่างสมควรเช่นกัน