ออกแบบ โคก หนอง นา โมเดล 3 ไร่

  • ธันยพร บัวทอง
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

9 พฤษภาคม 2022

ออกแบบ โคก หนอง นา โมเดล 3 ไร่

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ,

จงดี อุตมะ กับโคกหนองนาที่มีชื่อของลูกสาวเป็นเจ้าของแปลง ใน อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม

"เขาบอกให้ทำแบบคนจน" หญิงเกษตรกรวัยกลางคนจากมหาสารคาม บอกกับบีบีซีไทยหลังจากกลุ่มราชการที่มาเยี่ยมชมโครงการโคกหนองนาในที่ดินของเธอกลับไปกันหมดแล้ว

จงดี อุตมะ เกษตรกรวัย 49 ปี ชาวบ้านดอนหันพัฒนา ต.นาทอง อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม เป็นหนึ่งในผู้ที่นำที่ดินของตัวเองราว 3 ไร่ เข้าร่วมโครงการโคกหนองนากับกรมพัฒนาชุมชน (พช.) ซึ่งมีเงื่อนไขว่าต้องใช้ที่ดินผืนนี้ทำเกษตรด้วยวิถีโคกหนองนาต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี

แดดร้อนระอุต้นเดือน ก.พ. ปั๊มน้ำบาดาลจากไฟฟ้าแผงโซลาเซลล์ที่ลงทุนเอง 50,000 บาท สูบน้ำขึ้นมาไม่ขาดสาย ปลายสายยางหย่อนลงที่ก้นบ่อ ด้วยความหวังของจงดีว่าจะทำให้ชั้นดินชุ่มน้ำและเริ่มเก็บน้ำได้

  • รายงานพิเศษโคกหนองนา (1): วิวัฒน์ ศัลยกำธร เล่าเรื่องโครงการพระราชทานของ ร.10 จากเรือนจำสู่วังดุสิต
  • รายงานพิเศษโคกหนองนา (2): โครงการพระราชดำริสู่โครงการรัฐบาล ใครขับเคลื่อน "โคกหนองนาโมเดล"
  • ร.10 : โปรดเกล้าฯ พ.ร.ฎ.จัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ ฉบับที่ 2
  • อุทยานเฉลิมพระเกียรติ ร.9 บนพื้นที่อดีตสนามม้านางเลิ้ง กับ 5 เรื่องน่ารู้

หลังจากเริ่มขุดบ่อมาตั้งแต่เดือน ก.ย. 2564 แม้จะมีฝนตกลงมาแล้ว แต่บ่อที่ขุดลงบนผืนดินปนทรายของจงดีก็ยังเก็บน้ำไม่ได้ จงดีอยากขออนุญาตเจ้าหน้าที่เปลี่ยนมาเลี้ยงกบที่ไม่ต้องการน้ำมากเท่ากับการเลี้ยงปลา ส่วนการปลูกพืชผัก เธอเห็นใช้น้ำบาดาลรดก็น่าจะเพียงพอ

"เขา (พัฒนาชุมชน) ถามว่าขออะไรบ้าง แม่อยากได้พลาสติกมาคลุม เลี้ยงปลาไม่ได้ก็ไม่เป็นไร…แล้วน้ำมันก็เซาะดินลงไป (ในบ่อ) หมดแล้ว เลยว่าอยากจะเลี้ยงกบ เพราะว่าไม่ได้ใช้น้ำเยอะ"

แต่เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนกลับบอกให้เธอเดินหน้าปรับปรุงบ่อน้ำ และยังแนะนำด้วยว่าให้ "ทำแบบคนจน" คือใช้เงินให้น้อยที่สุด ไม่ต้องจ้างแรงงานหรือเสียเงินเช่าเครื่องจักร ขณะที่วิศวกรอาสาที่มาดูสภาพพื้นที่ บอกว่าจงดีน่าจะต้องใช้เวลาราว 3 ปีในการปรับปรุงบ่อ จึงจะกักเก็บน้ำได้

ที่ดินของจงดีเป็นหนึ่งในที่ดินกว่า 25,000 แปลง ที่ร่วมโครงการโคกหนองนาโมเดลของ พช. ภายใต้งบประมาณเงินกู้โควิด-19 เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก 4,787.916 ล้านบาท

ร่วมโครงการ

แปลงโคกหนองนาของจงดี กลายเป็น "กรณีศึกษา" ของพัฒนาชุมชนจังหวัด และกลุ่มเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ เพราะสภาพปัญหาของบ่อน้ำ

ครอบครัวของจงดีมีอาชีพหลักคือทำนา และปลูกผักอินทรีย์ในแปลงเล็ก ๆ เป็นอาชีพเสริม และยังเช่าที่ดินเพาะต้นกล้าพันธุ์เมล็ดแตงโมขายให้บริษัทต่างชาติซึ่งทำรายได้ในฤดูกาลล่าสุดราว 90,000 บาท

เธอบอกว่าที่ต้องทำงานหลายอย่างเพราะเงินเดือนผู้ใหญ่บ้านของสามีวัย 58 ปี นั้นไม่พอใช้ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

จงดีเล่าว่าเธอเห็นรูปโคกหนองนาจากที่คนส่งมาให้ดูในแอปพลิเคชันไลน์ จึงอยากลองทำบ้าง เพราะที่ดินแปลงนี้ เดิมปลูกมันสำปะหลังและแคนตาลูป แต่ไม่คุ้มทุน

"เห็นเพื่อนทำแบบพอเพียง ในหลวงพาทำ แม่ก็ว่าเพียงพอแล้ว มีหนี้ ธ.ก.ส. แต่ไม่มาก...ทำให้พอมีกินก็พอ"

สำหรับผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการโคกหนองนา ช่วงเริ่มต้นโครงการ รัฐจะจัดงบประมาณค่าขุดบ่อน้ำและขุดปรับที่ดินเพื่อทำโคกและคลองไส้ไก่บนพื้นที่ขนาด 3 ไร่ให้เป็นโคกหนองนารวมเป็นเงิน 104,000 บาท โดย พช. จะจ่ายให้ผู้รับเหมาโดยตรง ส่วนเจ้าของที่ดินต้องเข้ารับการอบรมทั้งทฤษฎีและภาคปฏิบัติในหลักสูตร 5 วัน

จงดีพบว่า โครงการโคกหนองนามีวิถีการทำเกษตรกรรมแตกต่างจากการทำนาปีและไร่แตงโมที่สร้างรายได้ให้เธอ

"บททดสอบความเพียร"

"พยายามทำอะไรที่ไม่ใช้เงิน" รักษ์เผ่า พลรัตน์ วิศวกรจิตอาสา จากสมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น บอกระหว่างลงพื้นที่

ด้วยหลักการนี้ เครือข่ายวิศวกรอาสาและเจ้าหน้าที่ พช. จึงแนะนำวิธีการแก้ปัญหาบ่อน้ำเก็บน้ำไม่อยู่ด้วย "วิธีการธรรมชาติ" โดยในเดือน ธ.ค. 2564 สมาชิกเครือข่ายเกษตรกรรมได้มาร่วมกันย่ำขี้วัวลงบนพื้นบ่อ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ใช้ในการอุดชั้นหินดินทรายทำให้พื้นดินรองรับน้ำได้

ทว่าหลังจากผ่านไป 2 เดือน ในต้นเดือน ก.พ. 2565 บ่อยังเก็บน้ำไม่ได้

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ,

วิศวกรอาสา ลงพื้นที่แปลงโคกหนองนาของนางจงดี พร้อมกับเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนของมหาสารคาม เมื่อต้นเดือน ก.พ. 256

รักษ์เผ่า วิศวกรจิตอาสาที่ลงพื้นที่พร้อมกับ พช. จึงแนะนำให้จงดีปรับแต่งบ่อที่เสียหายจากการถูกน้ำฝนกัดเซาะ จากนั้นจึงให้ พช. ประสานเครือข่ายเกษตรกรในจังหวัดมาร่วม "เอามื้อ" (ร่วมลงแรง) ย่ำมูลสัตว์ อีกครั้ง

"การย่ำขี้ (มูลวัว, ควาย) การอุดรูรั่วที่บอก ครั้งเดียวไม่ได้ครับ มันต้องทำซ้ำกันอย่างน้อย 2-3 ครั้ง บางแปลง 3 ปี ถึงจะเก็บน้ำอยู่ อันนี้แสดงถึงอะไรครับ เราทำโครงการของในหลวงทฤษฎีใหม่ ในหลวงขึ้นชื่อว่าเป็นตัวอย่างต้นแบบของความเพียร เพราะฉะนั้นตอนนี้ที่เราทำเป็นบทพิสูจน์ว่า เราเพียรพอหรือไม่ เราย่ำปีนี้ไม่ได้ ปีต่อไปก็พยายามทำ มันก็จะค่อย ๆ เก็บน้ำได้..." รักษ์เผ่ากล่าว และเล่าให้บีบีซีไทยฟังเพิ่มเติมว่าเขาเคยเจอปัญหาเช่นเดียวกันนี้ที่อีกอำเภอหนึ่ง ใช้เวลาแก้ปัญหาอยู่ 8 เดือน ก็เริ่มเก็บน้ำได้

"ที่เราทำกันมาทั้งหมด มันทำให้คนไทยตื่นรู้นะว่า สิ่งที่ในหลวงสอน สอนให้มีความเพียร ไม่มีโครงการไหนหรอกครับ ทำมาแล้วจะเป็นไปตามตำราแล้วก็ทำได้สมบูรณ์แบบ"

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ,

เสาธงชาติไทย และป้ายคำปฏิญาณตนที่ตั้งอยู่ในแปลงโคกหนองนา

สำหรับจงดี ความเพียรอย่างเดียวไม่พอ เพราะเธอต้องหาขี้วัวมาให้เพียงพอด้วย ย่ำขี้วัวครั้งแรกเธอไปขอขี้วัวจากคนเลี้ยงวัวในหมู่บ้าน แต่ครั้งนี้เธอไม่แน่ใจว่าจะหาขี้วัวได้เพียงพอหรือไม่ เจ้าหน้าที่ พช. จึงรับปากว่าจะช่วยเธอหาขี้วัวจากหมู่บ้านอื่น

จงดีสันนิษฐานว่าเหตุที่บ่อยังเก็บน้ำไม่ได้หลังการย่ำขี้วัวครั้งแรก เพราะเธอหาขี้วัวมาได้น้อยเกินไป

ห่างออกไปกว่า 70 กิโลเมตรจากโคกหนองนาของจงดี บีบีซีไทยไปเยือนโคกหนองนาขนาด 3 ไร่ ของ สมอน ก่านแก้ว เกษตรกรและผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ต.ดอนงัว อ.บรบือ จ.มหาสารคาม ซึ่งเต็มไปด้วยพันธุ์ไม้สวนครัว ล้านบวบด้านหน้าอวดลูกน้อยใหญ่ บ่อน้ำ-คูน้ำรอบที่นาขนาดย่อมมีน้ำเต็มบ่อ โรงเรือนด้านหลังปลูกผักสวนครัวหลายชนิด

สมอนบอกว่าเข้าร่วมโครงการโคกหนองนาโมเดลเพราะอยากลองเปลี่ยนวิถีทำเกษตรแต่เดิมที่เคยทำนาแต่ขาดทุนทุกปี และหวังว่าโคกหนองนาของเขา จะเป็นพื้นที่ต้นแบบให้คนมาศึกษาหรืออาจจะเป็นที่ท่องเที่ยว เพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

เสียงจากอีสาน

พช. ดำเนินโครงการโคกหนองนาโมเดลมาแล้ว 1 ปี มีทั้งผู้ที่ทำสำเร็จ สามารถพลิกฟื้นผืนดินพึ่งพาตนเอง และผู้ที่ยังวนเวียนอยู่กับการแก้ปัญหาอย่างกรณีของจงดี ทว่าเช่นเดียวกับหลาย ๆ โครงการของรัฐที่ผ่านมา โครงการโคกหนองนาวงเงินเกือบ 4,800 ล้านบาทนี้ มีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาที่พบระหว่างการขุดบ่อและปรับที่ดินในหลายพื้นที่ โดยหลายกรณีมีการนำเสนอผ่านสื่อสาธารณะอย่างสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสตลอดปี 2564

ไทยพีบีเอสรายงานว่าได้รับข้อมูลจากกลุ่มผู้รับเหมาว่า พวกเขาต้องจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่รัฐในบางพื้นที่ เพื่อแลกกับการได้ทำโครงการ แต่เมื่อพบว่าโครงการขุดยาก เบิกเงินได้น้อย จึงทำให้ผู้รับเหมาแจ้งเตือนกันให้ทิ้งงาน

ศูนย์ข่าวภาคอีสานของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสรายงานด้วยว่า ผู้รับเหมาบางส่วนแม้ได้รับค่าจ้าง แต่พบว่าบางแปลงได้ค่าขุดประมาณ 45,000 บาท ทั้งที่รัฐตั้งงบประมาณไว้ที่ 104,000 บาท ซึ่งนอกจากจะขาดทุนแล้ว บรรดาผู้รับเหมายังรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ,

โคกหนองนาของ สมอน ก่านแก้ว เกษตรกรและผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ต.ดอนงัว อ.บรบือ จ.มหาสารคาม

"ตอนทำเราทำเต็มที่ บอกให้เราไปแก้ เราก็แก้ ไม่รู้กี่รอบ ช่างก็ออกมาดูว่าโอเคผ่าน พอเงินเข้าบัญชี 40,000 บาท จากงบ 104,000 บาท แล้วผมจะเหลืออะไร..." ผู้รับเหมารายหนึ่งให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอส

แต่อีกด้านหนึ่ง ชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการก็พบปัญหาที่เกิดจากผู้รับเหมาเช่นกัน

บีบีซีไทยได้รับข้อมูลจากผู้ร่วมโครงการใน จ.ร้อยเอ็ด ว่าเจอปัญหาผู้รับเหมาขุดไม่ได้ตามแบบโคกหนองนาโมเดลที่กำหนด ทำให้เกิดปัญหาดินสไลด์หรือไม่ได้สัดส่วน เมื่อขอให้แก้ไข ผู้รับเหมากลับทิ้งงานไปเลย

ปัญหาอยู่ที่ไหน

นอกจากปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณจาก พช. แล้ว ปัญหาเกี่ยวกับการปรับที่ดินเป็นโคกหนองนายังอยู่ที่ความยากของการขุดให้ได้ตามแบบที่กำหนด เพราะที่ดินและสภาพดินแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน

"พอเป็นดินทราย ต้องขุดตื้น ๆ พอมันขุดตื้น ๆ ก็ต้องไปขุดคลองไส้ไก่ให้มันเยอะ ๆ เพื่อจะได้ครบลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ที่เขากำหนดปริมาณดินไว้ 4,000 ลบ.ม. ต้องมีบ่อ 2 บ่อกับคลองไส้ไก่ ถ้าบ่อ 2 บ่อรวมกันได้ 1,000 ลบ.ม. เหลืออีก 3,000 ลบ.ม. ให้เอาไปทำเป็นคลองไส้ไก่ทั้งหมด จึงต้องขุดคลองไส้ไก่ยาวประมาณ 1,500 เมตร ซึ่งพบว่ามันเป็นไปไม่ได้เพราะที่ดินมันมีอยู่แค่ 3 ไร่ ขุดไปขุดมา เลี้ยวไปเลี้ยวมา จนหมดพื้นที่ก็ยังไม่ได้ แสดงว่าแบบที่ออกมาไม่มีความเหมาะสม" โฆษิต เหลาสุวรรณ คณะกรรมการธรรมาภิบาลภาคธุรกิจเอกชน จ.มหาสารคาม ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี บอกกับบีบีซีไทย

โฆษิตกล่าวด้วยว่าเมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ลงไปตรวจสอบ พบว่ามีปัญหาเรื่องปริมาณดินที่ต้องได้ตามกำหนด จึงเป็นที่มาของการปรับแก้ลดค่างานลงแล้วให้ผู้รับเหมาคืนเงินครึ่งหนึ่งจากงบประมาณที่ได้ 104,000 บาท

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ,

บ่อที่ยังเก็บน้ำไม่ได้ ทำให้ครอบครัวจงดีต้องเจาะน้ำบาดาลขึ้นมา หวังเติมลงไปที่ก้นบ่อน้ำ และยังใช้รดน้ำต้นไม้ที่ปลูกในแปลง

หลังจากนั้นจึงเกิดการร้องเรียนจากผู้รับเหมาว่าถูกเรียกรับเงินเพื่อที่จะได้รับการว่าจ้าง โดยต้องจ่าย 20-25% ของเงินจัดจ้าง เมื่อเงินค่าจ้างขุดเหลือเพียงครึ่งหนึ่งจากงบประมาณ ผู้รับเหมาจึงเห็นว่าไม่คุ้มที่จะทำ

"เบิกเงินได้แค่ 50,000 บาท แล้วก็ต้องไปเสียค่าใต้โต๊ะ 25,000 เท่ากับได้เงินแค่ 25,000" โฆษิตกล่าวกับบีบีซีไทย

"คนร้องก็ไม่กล้าเปิดเผยตัว เพราะว่าต่างคนต่างมีความผิด เพราะกฎหมายเรื่องการจ่ายสินบน คนจ่ายก็ผิด คนรับก็ผิด ก็ไม่มีใครยืนยันตัวตน เพราะกลัวไม่ได้งานอีกในอนาคต" โฆษิตกล่าว

คณะกรรมการธรรมาภิบาลภาคธุรกิจเอกชน จ.มหาสารคาม ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า คนที่เข้าร่วมโครงการโคกหนองนาโมเดลส่วนใหญ่เป็นฝ่ายปกครอง

"บางอำเภอประกาศไปแล้ว แต่ชาวบ้านไม่มาสมัคร ก็เลยกลายเป็นผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน กำนันมาสมัครเสียส่วนใหญ่" เขาบอกกับบีบีซีไทย

กรมการพัฒนาชุมชน : "เป็นงบประมาณที่ใหญ่มาก และเป็นที่สนใจ"

นายสมคิด จันทมฤก อธิบดี พช. ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยเมื่อเดือน ก.พ. ว่าโครงการโคกหนองนาน่าจะเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่สุดที่ พช. เคยได้รับงบประมาณมาดำเนินการ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากงบประมาณประจำปีของ พช. ที่ได้กว่า 5,000 ล้านบาท ที่รวมเงินเดือนข้าราชการแล้ว

"เป็นงบประมาณที่ใหญ่มาก และเป็นที่สนใจ เป็นความคาดหวังของหน่วยงานต่าง ๆ" นายสมคิดกล่าว

ณ เดือน ก.พ. 2565 มีการเบิกจ่ายงบประมาณในภาพรวมแล้วกว่า 84% หรือกว่า 4,067 ล้านบาท

สำหรับปัญหาเกี่ยวกับการขุดที่ดินทำโคกหนองนา อธิบดี พช. ยอมรับว่าพบว่ามีปัญหาในบางจังหวัดภาคอีสาน เช่น ขุดดินขึ้นมาไม่ได้ตามปริมาณที่กำหนด หรือขุดแล้วกักเก็บน้ำไม่ได้ ส่วนภาคกลางและภาคใต้ พบปัญหาเรื่องฝนที่ตกต่อเนื่องทำให้ขุดไม่ได้ เมื่อขุดไปแล้วเจอน้ำชะ ทำให้เกิดปัญหาดินสไลด์

ส่วนการจัดจ้างผู้รับเหมาในพื้นที่ภาคอีสานและค่าขุดดิน อธิบดี พช. ยืนยันกับบีบีซีไทยว่า พช. ดำเนินการตามระเบียบกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างและโปร่งใส

"กรณีที่ขุดแล้วได้ (ดิน) น้อยกว่าปริมาณที่เขียนโครงการไว้ ยกตัวอย่างเช่นบอกว่า ขนาด 3 ไร่ ต้องขุด 4,000 ลบ.ม. แต่ขุดได้จริง 3,000 ลบ.ม. ก็ต้องเบิกแค่นั้น แต่ถ้าบางที่ขุดได้มากกว่า ขุดเกินก็จะต้องเบิกได้เพียงเท่าที่งบประมาณมี"

"เครื่องมือประเมินความสุข" วัดผลโคกหนองนา

เมื่อถามถึงการประเมินความสำเร็จของโครงการ นายสมคิดกล่าวว่าผลลัพธ์คือการที่ผู้ร่วมโครงการได้ใช้ประโยชน์จากการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ มีเหตุผลพอประมาณ มีภูมิคุ้มกันที่ดี มีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น มีเครือข่ายที่ร่วมกันทำงาน และเกิดวัฒนธรรมความรักสามัคคีในชุมชน

เขาบอกว่า แม้เป็นผลลัพธ์เชิงนามธรรมที่ต้องดูในระยะยาว แต่สามารถใช้ "เครื่องมือประเมินความสุข" ที่ พช.ใช้ คือ การประเมินความจำเป็นขั้นพื้นฐาน (จปถ.) อันมีตัวชี้วัดเกี่ยวกับรายได้และคุณภาพชีวิต ความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย สุขอนามัย การศึกษา เป็นต้น

"อย่างเช่นเรื่องรายได้ รายได้ต่อหัว ณ ปัจจุบันวัดที่ 38,000 บาทต่อคนต่อปี พอทุก ๆ ปีเราก็จะไปวัดดู รายได้เพิ่มขึ้นไหมจาก 5 ปีที่แล้ว ก็ค่อยมาดู"

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำถามถึงโครงการขนาดใหญ่

ด้าน วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรืออาจารย์ยักษ์ ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง และผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ แสดงความเห็นเกี่ยวกับปัญหาของโคกหนองนาในปีที่ผ่านมาว่า การจัดบุคลากรและขบวนการประชาชนในแต่ละพื้นที่ยังไม่เพียงพอ และต้องให้เวลากับกระบวนการสร้างคน ส่วนข้อติดขัดระหว่างหน่วยงานและระเบียบราชการแก้ไขด้วยการให้อำนาจตัดสินใจในพื้นที่ โดยให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ

"ถ้ามีทักษะ จัดขบวนการประชาชนในพื้นที่ จัดทัพออกสัก 5 ทีมออกคุย พาไปดูงาน เขาก็เก็ท (เข้าใจ) ปั๊บ ลุยขุด เอา (คนขับ) รถขุดมาเทรน (ฝึกอบรม) พอทุกคนเข้าใจหมด เอารถขุดมาทำ คุณก็ไม่ต้องไปเหนื่อยตรวจ" อาจารย์ยักษ์ ซึ่งเป็นคนสำคัญคนหนึ่งที่ผลักดันโครงการโคกหนองนา ให้สัมภาษณ์สื่อถึงแนวทางการแก้ปัญหาขุดโคกหนองนา

เนื่องจาก พช. เป็นหน่วยงานที่ไม่ใหญ่นัก เมื่อต้องมารับผิดชอบโครงการสำคัญที่ใช้งบประมาณก้อนโตขนาดนี้ เขาคิดว่า "เกินกำลัง" ที่ พช. จะทำไหวหรือไม่ วิวัฒน์ตอบว่า "ไม่ใหญ่เกินกำลัง... ถ้าผมเป็นอธิบดี (พช.) ผมจะทำมากกว่านี้ 5 เท่า"

"เราเชื่อว่าเป็นโอกาสทองของประเทศ ที่มีพระประมุขสนพระทัยอย่างจริงจัง เวลาท่านทำเรื่องอะไร ท่านเกาะติดนะ อันนี้เป็นข้อดี แน่นอนเราก็เหนื่อยเอา แต่ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ผมเต็มใจเหนื่อย เลยต้องช่วยกันทุกช่องทาง" วิวัฒน์กล่าวถึงองคาพยพที่ร่วมกันผลักดันโคกหนองนา

หมายเหตุ: รายงานนี้เป็นตอนที่ 3 ของรายงานพิเศษชุด "โคกหนองนา สู่ยุคใหม่ของโครงการพระราชดำริสถาบันกษัตริย์" ซึ่งมีทั้งหมด 3 ตอน

  • โคกหนองนา (1): วิวัฒน์ ศัลยกำธร เล่าเรื่องโครงการพระราชทานของ ร.10 จากเรือนจำสู่วังดุสิต
  • โคกหนองนา (2): โครงการพระราชดำริสู่โครงการรัฐบาล ใครขับเคลื่อน "โคกหนองนาโมเดล"