วิธีกําหนดลมหายใจ นั่งสมาธิ

คำถาม:

ส่งการบ้านครั้งแรก ปฏิบัติตามแนวทางของหลวงพ่อมาประมาณ 3 ปี ภาวนาโดยการดูลมหายใจเข้า-ออก บ่อยครั้งจะติดสมถะ จึงเปลี่ยนมาดูร่างกาย ขอความเมตตาหลวงพ่อช่วยชี้แนะด้วยค่ะ

หลวงพ่อ:

ไม่ต้องแนะมากคนนี้ ที่ภาวนาอยู่ใช้ได้ ดีแล้วล่ะ จิตมันตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้ผู้ดู ระวังอันเดียวว่าจิตมันไม่เข้าฐาน เวลามันตั้งอยู่นี่ บางทีมันอยู่นอกฐาน ลองหายใจสิ ลองหายใจสบายๆ อย่าดึงจิต อย่าไปยุ่งกับจิต หายใจเฉยๆ รู้สึกไหม ตรงนี้กับตะกี้ไม่เหมือนกัน เมื่อกี้จิตมันยังอยู่ข้างนอก พอมันเข้ามาอยู่ตรงนี้เห็นไหมว่ามันทุกข์ มันจะเริ่มรู้ทุกข์ แต่ถ้าจิตไปอยู่ข้างนอกจะไม่เห็นทุกข์ ทำไมไม่เห็นทุกข์ ทุกข์ไม่ได้อยู่ตรงนี้ ทุกข์อยู่ที่กายที่ใจนี้

ฉะนั้นถ้าจิตเราตั้งมั่นจริงๆ จิตอยู่กับกายกับใจจริงๆ เราจะเห็นทุกข์ ถ้าไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็นธรรม เห็นทุกข์ถึงจะเห็นธรรม แต่ที่ฝึกมานี่ใช้ได้แล้ว สมาธิของหนูนี่ดีแล้วล่ะ ฝึกมาได้ดีแล้ว ระมัดระวังอันเดียว เวลาจิตมันไม่เข้าฐาน ให้รู้ทันมัน อย่างตอนนี้จิตออกจากฐานแล้วรู้สึกไหม เวลาจิตออกจากฐานไม่ต้องทำอะไร หายใจไปสบายๆ เดี๋ยวมันเข้ามาเอง แต่ถ้าอยากจะให้มันเข้า มันจะแน่นไปหมดเลย ถ้าแน่น แสดงว่าผิดแล้ว แสดงว่าเราไปบังคับมันแล้ว นี่ตรงนี้บังคับแล้ว ไปหัดต่อ ที่ฝึกอยู่ใช้ได้ ดี

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
18 กรกฎาคม 2564

วิธีการแบบพุทธดั้งเดิมสำหรับการสงบจิตใจคือ การเพ่งสมาธิที่ลมหายใจ  ในการฝึกฝนทางพระพุทธศาสนา มีการหายใจและแบบฝึกหัดการหายใจหลากหลายแบบมาก ซึ่งเกือบทุกแบบที่ผมคุ้นเคยนั้นอาศัยการหายใจทางจมูก ไม่ใช่ทางปาก และหายใจอย่างนุ่มนวลตามธรรมชาติ แทนที่จะใช้กำลังบังคับ

วิธีการบางแบบในกลุ่มนี้อาศัยการกักลมหายใจ และสำหรับบางแบบก็ไม่มีการกักลมหายใจ  บางครั้งเราหายใจเข้าและหยุดลมหายใจนั้นไว้ และบางครั้งเราก็หยุดการหายใจชั่วขณะในขณะหายใจออก  ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ที่แท้จริงของแบบฝึกหัดการหายใจนั้น ๆ และลักษณะที่เราหายใจ

วิธีดั้งเดิมสำหรับการสร้างความสงบคือ การใช้วัฏจักรการหายใจออกและหายใจเข้า  และเราสามารถหยุดชั่วขณะในระหว่างลมหายใจออก เพราะโดยธรรมชาติแล้ว การทำเช่นนี้จะทำให้เราหายใจเข้าได้ลึกขึ้นโดยไม่ต้องบังคับตัวเอง  สำหรับวิธีการสร้างความสงบที่เรียบง่ายที่สุดนี้ เราจะไม่กลั้นลมหายใจในระหว่างการหายใจเข้า ถึงแม้ว่าจะมีวิธีการแบบอื่นที่ทำแบบนี้ก็ตาม  และเหตุผลในการใช้วัฏจักรการหายใจดังกล่าว  ผมหมายถึงว่าจริง ๆ มีเหตุผลมากมายสำหรับการใช้วัฏจักรการหายใจออกและเข้า  แต่จุดนี้คือเหตุผลหลัก นั่นคือหากเราต้องการทำให้ความคิดของเราเงียบสงบลง วิธีนี้ต้องอาศัยสมาธิเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากวิธีการนับแบบนี้แตกต่างจากวิธีที่คนส่วนใหญ่มักจินตนาการวัฏจักรการหายใจ และเพราะว่าวิธีนี้ต้องใช้สมาธิและความใส่ใจเพิ่มมากขึ้น เราก็ไม่เหลือพื้นที่ให้คิดถึงสิ่งอื่นนัก  จึงช่วยสร้างความสงบให้จิตใจได้นั่นเอง 

นี่เป็นวิธีการแบบดั้งเดิม  แต่สิ่งที่ผมค้นพบจากประสบการณ์ส่วนตัวก็คือ ชาวตะวันตก โดยเฉพาะเวลาเดินทางมาเรียน จะมาจากวันที่เต็มไปด้วยความเครียดสูง  พวกเขาทำงานหนักมาตลอดวันและมักจะเป็นงานที่มีความกดดันสูงด้วย  จากนั้นพวกเขาก็ต้องรับมือกับการจราจรและสิ่งต่าง ๆ เพื่อเดินทางมาถึงการเรียนที่จัดสอนในเวลาตอนเย็น ซึ่งกรณีนี้จะไม่เกิดขึ้นหากเราพูดถึงพุทธศาสนิกชนแบบดั้งเดิมในประเทศอินเดีย หรือทิเบต หรือเวลาที่เราตื่นนอนตอนเช้าและนั่งลงเพื่อฝึกสมาธิ  เพราะฉะนั้นหากสิ่งแรกที่คุณขอให้ชาวตะวันตกผู้เต็มไปด้วยความเครียดทำทันทีที่เขามาถึงศูนย์พระพุทธศาสนาคือ การเพ่งสมาธิไปยังวิธีการหายใจ ซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากวิธีปกติที่พวกเขาทำ  หากพวกเขาเครียดอยู่แล้ว สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นคือความเครียดนั้นจะยิ่งทวีคูณขึ้นไปอีก เพราะวิธีนี้มันน่าสับสน

ในเมื่อจุดประสงค์ของแบบฝึกหัดการหายใจอย่างแรกคือการทำให้จิตใจสงบลง ผมจึงแนะนำให้ผู้ปฏิบัติชาวตะวันตกที่มาจากพื้นฐานที่มีความเครียดสูงว่า หากการนับวัฏจักรลมหายใจแบบออก จากนั้นจึงหยุดสักพัก แล้วหายใจเข้านั้นน่าสับสนสำหรับพวกเขา และทำให้พวกเขารู้สึกเครียดมากขึ้น แบบฝึกหัดนี้ย่อมไม่บรรลุจุดประสงค์  ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลใดที่เราต้องยืนยันการใช้วิธีนี้ในบริบทดังกล่าว  สำหรับสถานการณ์แบบนี้ ผมแนะนำว่าถ้าวิธีการสังเกตลมหายใจแบบดั้งเดิมทำให้พวกเขารู้สึกเครียด พวกเขาก็สามารถใช้วิธีการนับวัฏจักรลมหายใจแบบตะวันตกมากขึ้นก็ได้ ซึ่งก็คือการหายใจเข้า แล้วจึงหายใจออก โดยไม่หยุดชั่วขณะ ทั้งหมดนี้นับเป็นหนึ่งวัฏจักร

ดังนั้น เพื่อทำให้จิตใจเราสงบลง เราก็สามารถเพ่งสมาธิไปที่วัฏจักรการหายใจและนับการหายใจได้หากจิตใจเราฟุ้งซ่านเสียเลย  แต่หากจิตใจเราไม่ได้ฟุ้งซ่าน หรือค่อนข้างสงบและพร้อมอยู่แล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องนับลมหายใจ

พูดอีกอย่างก็คือ ในการปฏิบัติตามแนวทางธรรมะแบบดั้งเดิมนั้น เรามีวิธีการสามอย่างที่สามารถใช้ได้  ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของผู้ฝึก ซึ่งผู้ฝึกจะต้องประเมินผลตัวเองว่าวิธีใดเหมาะสมกับตัวเองที่สุด  ดังนั้น

  • หากเรามีความเครียดสูง ให้นับลมหายใจตามแบบตะวันตกทั่วไป  หายใจเข้า-ออกนับเป็นหนึ่งรอบ
  • หากเราไม่ได้เครียดมาก แต่จิตใจเราไม่มุ่งเน้น ให้ใช้วิธีการนับลมหายใจแบบดั้งเดิม นั่นคือหายใจออก หยุดชั่วขณะ แล้วจึงหายใจเข้า
  • หากจิตใจเราค่อนข้างสงบอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องนับลมหายใจ แค่เพ่งสมาธิไปยังลมหายใจก็พอ

เมื่อนำวิธีเหล่านี้ไปปฏิบัติ สิ่งที่เราสังเกตได้ในส่วนนี้คือ เราต้องมีความอ่อนไหวกับตนเองและใช้วิธีการที่เหมาะสม  สิ่งหนึ่งที่ยอดเยี่ยมมากเกี่ยวกับหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาคือ คำสอนเหล่านี้อุดมไปด้วยวิธีการมากมาย เราจึงมักพบวิธีการหลายแบบเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายเฉพาะอย่าง  จุดนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการฝึกความอ่อนไหวเช่นกัน  เราจำเป็นต้องฝึกพัฒนาความอ่อนไหวในตัวเราเกี่ยวกับภาวะทางอารมณ์ที่แท้จริงของเราในช่วงเวลานั้น ๆ และเมื่อเราได้เรียนรู้วิธีการหลายแบบสำหรับการบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ให้สำเร็จแล้ว เราก็สามารถเลือกใช้วิธีการที่เหมาะสมได้  และถ้าวิธีที่เลือกไม่ได้ผล เราก็ลองใช้วิธีอื่น  เพราะฉะนั้นเรามาเพ่งสมาธิไปที่ลมหายใจโดยใช้วิธีการใดก็ได้ในสามวิธีนี้เพื่อสร้างความสงบกัน

[นั่งสมาธิ]

นอกจากนี้ในช่วงแรกของการสร้างความสงบ เราสามารถลืมตา มองบริเวณพื้น หรือว่าจะหลับตาก็ได้  พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้สอนทั้งสองวิธีนี้  หลักคำสอนของพระพุทธศาสนาแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่  สำหรับสายเถรวาท ซึ่งเป็นส่วนของสายหินยานที่ยังคงเหลืออยู่  เรามักจะนั่งสมาธิด้วยการหลับตา  สำหรับสายมหายาน ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่อีกกลุ่มหนึ่ง เรามักจะนั่งสมาธิด้วยการลืมตา โดยมองไปยังปลายจมูกหรือมองไปที่พื้น  แต่ถ้าเรามองไปที่พื้นตามทิศทางของปลายจมูกแล้ว ตาของเราก็จะเพ่งเพียงแค่เบา ๆ ไม่ได้เพ่งอย่างจริงจัง

ตอนนี้เราต้องมีความอ่อนไหวกับตัวเองอีกครั้ง แต่ถ้าเรารู้สึกเครียดหรือกระสับกระส่ายมาก ๆ การนั่งสมาธิโดยการหลับตานั้นจะง่ายกว่า  แต่ถ้าเราค่อนข้างสงบอยู่แล้ว เราควรลืมตาโดยมองไปยังพื้น เพราะเราไม่ได้ต้องการแค่ความสงบเวลาเราหลับตาและปิดกั้นโลกทั้งหมดออกไป  เราต้องการที่จะมีความสงบและผ่อนคลายในขณะที่รับมือกับโลกและผู้อื่นด้วย  ดังนั้นการนั่งสมาธิแบบลืมตาจึงเอื้อต่อลักษณะนี้

ขั้นตอนต่อไปคือการยืนยันแรงจูงใจของเราอีกครั้ง  บ่อยครั้งเราคิดถึงจุดนี้ในลักษณะการตรวจสอบเหตุผลทางอารมณ์ หรือเหตุผลทางจิตวิทยาของการมาฝึกหรือมานั่งสมาธิในครั้งนี้  ทำไมฉันถึงทำแบบนี้?  เพราะรู้สึกผิดงั้นหรือ?  ฉันทำสิ่งนี้เพราะได้รับแรงกดดันจากกลุ่มเพื่อนหรือเปล่า?  ทำสิ่งนี้เพราะโอกาสทางสังคม เพราะยึดติดกับกลุ่ม หรืออย่างที่ผมเรียกว่า “ติดพระธรรม” (Dharma-junky) เพื่อมารับพลังจากผู้นำที่ทรงเสน่ห์หรือเปล่า?  หรือว่าคุณตกหลุมรักอาจารย์ผู้ฝึกเข้าให้ คุณจึงมาที่นี่เพราะความยึดติด  นี่ไม่ใช่สิ่งที่เน้นย้ำในแนวทางการปฏิบัติพระพุทธศาสนาเลย  นี่เป็นแนวทางแบบตะวันตกมากกว่าและแน่นอนว่ามันก็มีประโยชน์

แต่ในแนวทางปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม เมื่อเราพูดถึงการยืนยันแรงจูงใจอีกครั้ง เราหมายถึงการยืนยันเจตนาของเราอีกครั้ง  แรงจูงใจทางพระพุทธศาสนาอยู่ในหมวดหมู่ของเจตนา  พูดอีกอย่างก็คือ เรามาที่นี่เพื่อมาทำอะไร?  เรามีเจตนาอย่างไร?  เป้าหมายของเราคืออะไร?  เราสามารถมองจุดนี้ในลักษณะเป้าหมายที่เป็นไปได้สามอย่างที่เราต้องการบรรลุในการมาที่นี่ก็ได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เหมาะสม  แล้วเราก็ต้องมีความอ่อนไหวต่อตัวเองและซื่อสัตย์ต่อตัวเองด้วย  เป้าหมายของเราคืออะไรกันแน่  จุดมุ่งหมายของเราคืออะไร  เพราะมันง่ายที่ใครสักคนที่ถือว่าตัวเองเป็นชาวพุทธจะพูดว่า “ฉันทำสิ่งนี้เพราะจะได้บรรลุการตรัสรู้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตทั้งปวง”  นี่เป็นเพียงแค่คำพูดเท่านั้น

เพราะปราศจากความเข้าใจที่แท้จริงว่าการก้าวเป็นพระพุทธเจ้านั้นหมายความว่าอย่างไร และหากปราศจากการมีความปรารถนาอย่างจริงใจที่จะเป็นปลดปล่อยแม้แต่แมลงทุกตัวในจักรวาลนี้ออกจากการเวียนว่ายตายเกิดแล้ว แค่พูดว่า “เอาล่ะ ฉันมุ่งเป้าหมายไปที่การตรัสรู้เพื่อช่วยเหลือทุกสรรพสิ่ง” ก็ไร้ความหมาย  ดังนั้นจึงมีประสิทธิภาพมากขึ้นที่จะเป็นจริงและจริงใจในสิ่งที่เป็นเป้าหมายแท้จริงของเรา ดังนั้นจึงมีเป้าหมายที่เหมาะสมสามประการ  ประการหนึ่งอาจจะเป็นว่าเราสนใจที่จะพยายามพัฒนาความสัมพันธ์ของเราในชาตินี้เท่านั้น เราจึงมาที่การฝึกนี้ในลักษณะของวิธีบำบัดที่แนะนำทางพระพุทธศาสนา

หรือเราอาจจะมองจากมุมมองของ พระธรรมเบาๆ (‘Dharma-lite’) ซึ่งก็จะเป็นว่า “ฉันทำสิ่งนี้เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ของฉันในชาตินี้ แต่ฉันมองว่าสิ่งนี้เป็นบันไดนำไปสู่การบรรลุการปลดปล่อยและการตรัสรู้”  หรือเราสามารถปฏิบัติจากมุมมองของหลักธรรมอย่างจริงจังก็ได้ ซึ่งก็จะเป็น “ฉันทำการฝึกนี้เพื่อเป็นขั้นตอนไปสู่การปลดปล่อยและการตรัสรู้”  เพราะฉะนั้นไม่ว่าเป้าหมายหรือจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของเราคืออะไร ก็ให้ยืนยันสิ่งนั้น ถ้าเราจริงใจกับเป้าหมายของเรา เราก็จะทุ่มเทกับเป้าหมายได้ง่ายขึ้นมาก มิฉะนั้นถ้าเราก็จะไม่มีความจริงใจเกี่ยวกับเป้าหมายของเรา แล้วสิ่งที่เราทำอยู่ก็จะกลายเป็นเพียงเกมอย่างหนึ่งเท่านั้น

เราจึงทำการตัดสินใจอย่างมีจิตสำนึกในการฟังด้วยสมาธิ  หากความใส่ใจของเราล่องลอยไปที่อื่น เราก็พยายามดึงมันกลับมา  หากเราเริ่มง่วง เราก็พยายามปลุกตัวเอง  เราสามารถปรับปรุงท่านั่งของเราให้นั่งหลังตรงแต่ไม่ใชจนเกร็งหลังได้ ถ้าท่านี้ช่วยให้เรามีสมาธิมากขึ้น  สำหรับการเพิ่มพลังขึ้น ถ้าระดับพลังของเราต่ำไปสักหน่อย ให้เพ่งไปที่จุดระหว่างคิ้วทั้งสองข้าง โดยสายตาของเรามองขึ้นไปและศีรษะอยู่ในระดับปกติ  และถ้าเรารู้สึกประหม่าหรือตึงเครียดเล็กน้อย ให้เพ่งไปยังสะดือ โดยสายตามองลงและศีรษะคงอยู่ในระดับปกติ  เพื่อให้พลังงานของเรามีรากฐาน ในขณะที่เราหายใจเข้าตามปกติ เรากลั้นหายใจไว้จนกระทั่งเราต้องปล่อยลมหายใจออก

การตัดสินใจหรือการกำหนดเจตนาอย่างมีจิตสำนึกในการเพ่งสมาธิมาจากคำสั่งสอนในการบรรลุสมาธิของเมตไตรย โดยตรง  การปรับพลังงาน ซึ่งใช้การมุ่งเน้นไปยังบริเวณระหว่างคิ้วและสะดือนั้น มาจากหลักคำสอนของกาลจักร  เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าจะไม่มีชุดเบื้องต้นทางพระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมที่นำวิธีการเหล่านี้มารวมกัน ทั้งหมดล้วนมาจากหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น  แต่สาเหตุหลัก ๆ ที่ผมนำวิธีเหล่านี้มารวมกันในลักษณะนี้เนื่องจากสิ่งที่ผมพบ กล่าวคือชาวตะวันตกส่วนใหญ่มาถึงที่สอนโดยมีความเครียดสูงและวิธีการเบื้องต้นชุดนี้ก็ช่วยในจุดนี้ได้  เราต้องมีชุดวิธีการเบื้องต้นที่เหมาะสมกับชีวิตที่เต็มไปด้วยแรงกดดันของเรา