เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยมีความสำคัญอย่างไร

แหล่งของการศึกษาข้อมูลและการค้นคว้า
เอกสารที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย

โดย  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรางคณา  ผลประเสริฐ

        แหล่งของการศึกษาข้อมูลและการค้นคว้าเอกสารที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยที่สำคัญ คือ ห้องสมุด เพราะห้องสมุดเป็นที่รวมของหนังสือ ตำรา และเอกสารต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะห้องสมุดมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีทั้งตำรา เอกสาร วารสาร งานวิจัยและวิทยานิพนธ์ของนักศึกษา นอกจากนี้ ยังมีแหล่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีก เช่น สำนักงานสถิติแห่งชาติ  กระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ เป็นต้น  อีกทั้งในปัจจุบันอินเทอร์เน็ตได้เข้ามามีบทบาทในการค้นคว้าเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยมากขึ้น ทั้งนี้แหล่งข้อมูลและการค้นคว้าเอกสารที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย ได้แก่

        1. หนังสือหรือตำรา  ถือว่าเป็นแหล่งค้นคว้าที่ดี เพราะผู้เขียนจะเขียนในเนื้อหาสาระที่ค่อนข้างละเอียดในเรื่องที่เห็นว่ามีความสำคัญ ทำให้ได้ความรู้เกี่ยวกับหลักการ แนวคิด ทฤษฎี ฯลฯ เพื่อใช้เป็นความรู้ในการทำวิจัยต่อไป

        2. รายงานการวิจัยและปริญญานิพนธ์  รายงานการวิจัย (research report) นิยมจัดพิมพ์เป็นเอกสารรูปเล่ม อาจเป็นงานวิจัยเดี่ยวหรืองานวิจัยเป็นคณะ ส่วนปริญญานิพนธ์ถือเป็นรายงานการวิจัยของนักศึกษาแต่ละคนเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเพื่อรับปริญญาขั้นบัณฑิตศึกษา โดยในระดับปริญญาโทอาจเลือกทำวิทยานิพนธ์ (thesis) ภาคนิพนธ์ (term paper) หรือการค้นคว้าอิสระ (independent  study) ส่วนในระดับปริญญาเอกทำวิทยานิพนธ์ (dissertation) ซึ่งนับว่าเป็นแหล่งสำคัญของเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย

        3. สารานุกรม  เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับใช้ศึกษาและตรวจสอบสาระความรู้ในสาขาวิชาการต่างๆ  ที่ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาวิชาได้เขียนไว้โดยสังเขป

        4. แผนและนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง  เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนและนโยบายการวิจัยของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ  ฯลฯ หรือรายงานประจำปีของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

        5. เอกสารรวบรวมบทคัดย่อของงานวิจัยและปริญญานิพนธ์  จะมีบทคัดย่อของงานวิจัยจำแนกตามสาขาต่างๆ ส่วนบทคัดย่อปริญญานิพนธ์บัณฑิตวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนมักจะจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มรายปี หรือรวมหลายปีเข้าด้วยกัน
        6. วารสาร  จะเป็นแหล่งของข้อมูลที่มีเนื้อหาสาระทันสมัยกว่าตำราโดยทั่วไป จึงเป็นประโยชน์มากต่อการศึกษาค้นคว้าในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย วารสารภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่เกี่ยวข้อง

        7.  การสืบค้นจากเครือข่ายอินเทอร์เน็ต  ในปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ในปัจจุบันจึงได้มีการนำเอาเอกสารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ วารสาร เอกสาร ข้อมูลต่างๆ  แสดงไว้ในเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการค้นคว้า ซึ่งทำให้ผู้วิจัยสามารถสืบค้นและจัดการพิมพ์เรื่องที่ตนเองสนใจออกมาได้ตามความต้องการ  โดยผู้วิจัยไม่จำเป็นต้องไปยังแหล่งที่เก็บข้อมูลเอง เพียงแต่ผู้วิจัยต้องศึกษาเกี่ยวกับวิธีการสืบค้นข้อมูลจากเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ  ตัวอย่างเว็บไซต์ที่เป็นแหล่งค้นคว้าเอกสารที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย ดังนี้

www.nrct.go.th     สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาตินำเสนอข่าว แหล่งทุนการวิจัย และข้อมูลข่าวสารการวิจัยของประเทศ
www.trf.or.th      สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จะมีข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและแหล่งทุนการวิจัย
www.tdri.or.th     สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จะมีข้อมูลข่าวสารการวิจัย
www.thailis.or.th แหล่งค้นคว้าข้อมูลวิทยานิพนธ์และงานวิจัยของมหาวิทยาลัย จะมีข้อมูลวิทยานิพนธ์และทุนวิจัยของมหาวิทยาลัยต่างๆ
www.nso.go.th     สำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นแหล่งข้อมูล สถิติที่สำคัญในด้านต่างๆ ของประเทศไทย

ห้องสมุด/สำนักวิทยบริการ หรือสำนักวิจัยของสถาบันการศึกษาต่างๆ เช่น

www.stou.ac.th    มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช                       
www.tu.ac.th       มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์                
www.nida.ac.th    สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์    
www.chula.ac.th  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย                
www.cmu.ac.th   มหาวิทยาลัยเชียงใหม่           
www.bbu.ac.th    มหาวิทยาลัยบูรพา

        นอกจากนี้ ยังมีเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยอีกมากมาย  ขึ้นอยู่กับว่าปัญหาที่ทำการวิจัยเกี่ยวข้องกับอะไร ก็จะสามารถเข้าถึงข้อมูลจากเว็บไซต์ในเรื่องนั้น ๆ ได้โดยตรง ทั้งนี้บางเว็บไซต์จะมีข้อมูลหนังสือ  วารสาร วิทยานิพนธ์  ข้อมูล สถิติ ฯลฯ ในรูปของเอกสารฉบับเต็ม (full text)  ทำให้นักวิจัยสะดวกในการค้นคว้าเนื่องจากสามารถค้นคว้าได้ตลอด 24 ชั่วโมงและสามารถพิมพ์ข้อความออกมาอ่านได้โดยตรง ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทางไปค้นคว้ายังสถานที่เก็บเอกสาร จึงทำให้มีความสะดวกในการค้นคว้ามากกว่าเมื่อสมัยก่อนเป็นอย่างมาก

        อย่างไรก็ตาม การค้นคว้าผ่านเว็บไซต์มีข้อพึงระวัง คือ ความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์นั้นๆ เนื่องจากบางเว็บไซต์ไม่ได้มีการตรวจสอบความถูกต้องและคุณภาพของข้อมูลที่เผยแพร่

..........................................

เอกสารอ้างอิง

ปาจรีย์    ผลประเสริฐ และคณะ (2551) เอกสารศึกษาการวิจัยและการเขียนบทความ เอกสารประกอบการบรรยายหลักสูตรการบริหารงานตำรวจชั้นสูง พิมพ์ครั้งที่ 3, ม.ป.ท.

.............................................